Wednesday, 21 May 2025
การศึกษา

นับถอยหลัง 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ' ในประเทศไทย สถาบันการศึกษาเฉพาะด้านพลังงาน ใต้การผลักดันของ 'พีระพันธุ์'

ปัจจุบัน สถาบันการศึกษามากมาย ต่างพยายามแข่งขันกันเปิดสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ประเทศอย่างถึงที่สุด

นั่นก็เพราะ ในความเป็นจริงแล้ว ที่ผ่านมาการผลิต ‘บุคลากร’ ให้ตรงกับงาน โดยเฉพาะงานที่มีความเป็น ‘เฉพาะด้าน’ ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่มักจะได้สถาบันการศึกษา ‘เฉพาะด้าน’ ภายใต้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘เฉพาะด้าน’ เป็นแรงหนุนสำคัญ

ตัวอย่างที่เห็นปรากฏอยู่ อาทิ คณะวิชาด้านการสาธารณสุขทั้งแพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, นักเทคนิคการแพทย์ และพยาบาล ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งต่างมีโรงพยาบาล เพื่อให้การศึกษาและฝึกฝน หรือแม้แต่ด้านทหาร ก็มีโรงเรียนนายทหารทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนของเหล่าทัพต่าง ๆ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี และสถาบันการบินพลเรือน ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ฯลฯ

ในส่วนของพลังงาน ภายหลังจาก ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการลดราคาพลังงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า แก๊ส ให้ได้ราคาที่มีความถูกต้อง ยุติธรรม และเหมาะสม เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด 

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ตระหนักควบคู่กันนั้นคือ การบริหารจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ ‘รู้จริง’ และ ‘ทำเป็น’ อีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรเหล่านี้ ‘กระทรวงพลังงาน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่อง ‘พลังงาน’ โดยตรง สมควรจะเป็นหน่วยรับผิดชอบและดำเนินการในการจัดตั้งและบริหารจัดการ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ให้เกิดขึ้น

ปัจจุบัน ทุกครั้งที่ ‘พีระพันธุ์’ มีโอกาสได้เจรจาหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐและภาคเอกชนต่างชาติ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ ก็มักจะหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเป็นประเด็นในการเจรจาหารืออยู่เสมอ อาทิ เมื่อ 7 มิถุนายน 2567 นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN (ฉางอาน) ได้เข้าพบ ‘พีระพันธุ์’

ครั้งนั้น ทางฉางอาน ได้แสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ ในการตั้งวิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ โดยกระทรวงพลังงาน โดยทางบริษัทจะร่วมให้การสนับสนุนด้วยการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และการศึกษาของภาคยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย ด้วยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยานยนต์ที่ยั่งยืนของประเทศไทย และเสริมสร้างทักษะแรงงานในท้องถิ่นให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ยุคใหม่ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอะไหล่รถยนต์ภายในประเทศ และการจัดหาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคต และร่วมผลักดันให้ไทยเป็น EV Hub ของอาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นาย Sergey Mochalnikov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่เข้าเยี่ยมคารวะ ‘พีระพันธุ์’ ก็มีการหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือเช่นกัน โดยรัสเซียมีการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นถึงเรื่องของ ‘พลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy)’ ด้วยแนวคิดที่ว่า...

“ความยั่งยืนของพลังงานจะเกิดขึ้นได้ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยผลกระทบเหล่านี้ มีตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ไปจนถึงความขาดแคลนด้านพลังงาน และของเสียที่เป็นพิษ จึงต้องเริ่มคำนึงถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานลม, พลังน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมีความยั่งยืนมากกว่าแหล่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิล พร้อม ๆ ไปกับแนวคิดในการอนุรักษ์พลังงานด้วย”

แม้กระทั่ง ในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ของ ‘พีระพันธุ์’ และคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทย ก็ได้หยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือด้วย ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ยินดีให้การสนับสนุนการจัดตั้ง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ เช่นกัน 

ทั้งนี้เพราะซาอุดีอาระเบียตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งมีแหล่งพลังงานชนิดต่าง ๆ รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนมากมาย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การศึกษาด้านวิศวกรรมพลังงานในซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งทรัพยากรของประเทศและยกระดับเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานต่าง ๆ รวมถึงหมุนเวียนในระดับชาติได้ อันจะช่วยสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศต่อไป

แม้ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ อาจแลดูเหมือนเป็นการแข่งขันกับสถาบันศึกษาทั่วไป แต่เพื่อภารกิจการบริหารจัดการเรื่องของ ‘พลังงาน’ ให้ดีที่สุด จะช่วยเพิ่มบุคลากรที่นอกเหนือ ‘นักคิด-นักทฤษฎี’ แต่จะได้ ‘นักปฏิบัติ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อไทย

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ ที่ไทยจำเป็นต้องมี ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ โดย ‘กระทรวงพลังงาน’ เพื่อให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ผลิตบุคลากรด้านพลังงานทั้งระบบให้ได้ทั้ง ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ แบบ ‘ทันเวลา’ สามารถรองรับต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศ และการใช้พลังงานในภาพรวมทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทยต่อไป 

‘เพชรมงคล’ คนรุ่นใหม่ ปชป.แนะ!! ศธ.จัดตั้งศูนย์ ‘Drop Out’ ดึงเด็กไทยที่หลุดระบบให้จบการศึกษา แบบไม่ต้องเริ่มเรียนใหม่

(2 ส.ค.67) นายเพชรมงคล วัสสุวรรณ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนและคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการแก้ไข เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการ Drop out สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง

การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและตรงจุดไม่ใช่การนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง แต่ต้องนำระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับผู้เรียนไปรองรับผู้ที่หลุดจากระบบการศึกษา

สาเหตุที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คุณแม่วัยใส, ยาเสพติด, เกเร รวมถึงปัญหาความยากจนของครอบครัว ที่ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนได้ ปัญหาครอบครัวที่ซับซ้อน สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวย และรวมไปถึงระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์หรือรองรับกับความแตกต่างหลากหลาย

วันนี้เราต้องยอมรับว่าการศึกษาในปัจจุบันมีต้นทุนสูงมาก และมีหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดเยอะเกินความจำเป็น ซึ่งไม่ตอบโจทย์ เกิดประโยชน์กับตัวผู้เรียนจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็ก หันหลังให้กับการศึกษา หรือหลุดระบบการศึกษาออกไป

จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ ตนเคยให้สัมภาษณ์และเสนอกระทรวงศึกษาธิการไปหลายปีแล้วเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ ‘Drop out’ แก้ไขปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาก็เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยใช้กลไกธนาคารหน่วยกิต สำหรับเด็กที่หลุดระบบการมีต้นทุนเดิม เช่น เวลาศึกษาเดิม หน่วยกิตเดิม นำมาเทียบโอนให้สามารถจบการศึกษาได้ โดยไม่ต้องเริ่มเรียนใหม่ ดังนั้นควรมีโรงเรียนนำร่องทั้งการศึกษาภาคบังคับ ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพเฉพาะทางมาเป็นศูนย์นำร่องในการแก้ไขปัญหานี้

ดังนั้น ควรจัดระบบการศึกษาทางเลือกให้เป็นรูปธรรมและสามารถรองรับนักเรียนที่มีความหลากหลาย ให้ ผู้เรียนได้มีทางเลือกในการเข้าถึงการศึกษาได้ ในความเป็นจริงแล้วระบบการศึกษาต้องตอบโจทย์ผู้เรียน เข้าถึงตัวผู้เรียนมากกว่าการให้ผู้เรียนเข้าถึงเอง ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับยุคสมัยและสภาพเศรษฐกิจด้วย 

สุดท้ายนี้ ตนเชื่ออย่างยิ่งว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คนปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา และควรยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข แม้ว่าปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาจะยังคงเป็นความท้าทายใหญ่ แต่ความพยายามของทุกฝ่ายจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้ และสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับเยาวชนต่อไป

‘เพจดัง’ เผยเรื่องราว ‘ครูบอย’ ไม่ละทิ้ง ‘ลูกศิษย์’ ช่วยหาทุนจนมีโอกาสเรียน หลังเด็กเขียนจดหมายลา ขอไปช่วยแม่รับจ้างเก็บลำไย รายได้วันละร้อยบาท

(23 ส.ค.67) เมื่อการศึกษาต้องเข้าถึงทุกคน จึงกลายเป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดียไม่น้อย หลัง ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน เจ้าของเพจเฟซบุ๊กดัง ‘หมอแล็บแพนด้า’ ได้โพสต์ข้อความและรูปจดหมายที่เขียนเรื่องเล่าของเด็กชายรายหนึ่ง ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนอย่างที่ใจหวัง ต้องเขียนจดหมายลาครู เพื่อไปช่วยแม่รับจ้างเก็บลำไย รายได้วันละร้อยกว่าบาท

โดยข้อความระบุว่า “โอย อยากให้ลองอ่านจดหมายฉบับนี้ครับ เป็นเรื่องราวของ ‘แดง’ เด็กชายบ้านนาเกียนที่ต้องเขียนจดหมายลาครู เพื่อไปช่วยแม่รับจ้างเก็บลำไย รายได้วันละร้อยกว่าบาท และไม่รู้เลยว่าจะได้กลับมาเรียนอีกรึเปล่า

แต่ครูบอย พอได้อ่านจดหมายของลูกศิษย์แล้ว ครูไม่เคยทิ้งเด็กชายแดงเลย พยายามตามกลับไปเรียน และช่วยแนะนำทุนการศึกษา จนแดงได้รับทุนเสมอภาค จนถึงชั้น ม.3 และทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาทำให้แดงได้เรียนต่อ ปวส. สาขาช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคโนโลยีเทคนิคโปลิลานนา เชียงใหม่

พอแดงมีโอกาสได้เรียนในสิ่งที่ชอบก็เลยทำให้แดงมีแรงบันดาลใจที่จะสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง ชีวิตของแดง คือดอกผลที่มีชีวิต เป็นการลงทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่แสนคุ้มค่า

การศึกษาต้องไม่เป็นเส้นทางที่ยากลำบาก เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพ โอกาสการศึกษาต้องไปให้ถึงทุกคน!!! โดยไม่มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคอะไรทั้งนั้น

แต่เชื่อมั้ยครับ แดงยังโชคดีมีครูบอยคอยช่วย เพราะข้อมูล กสศ. ชี้ว่าเด็กไทยกว่า 1.02 ล้านคน หลุดออกนอกระบบการศึกษา ไม่ได้เรียนหนังสือ

ซึ่ง BigData ข้อมูลของเด็กกลุ่มนี้ ทางเลือกการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตเด็กทุกคน และความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จะเป็น Game Changer ตัวเปลี่ยนเกม ที่ช่วยให้โอกาสการศึกษาไปให้ถึงเด็กทุกคน

นี่เป็นหัวข้อสำคัญที่เค้าจะมีการแลกเปลี่ยนในงานมหกรรม All For Education : Education For All รวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน จัดขึ้นวันที่ 23-25 สิงหาคมนี้ ที่ IMPACT Forum เมืองทองธานี

เด็กทุกคนควรได้เรียนนะครับ”

หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับคอมเมนต์จากประชาชนหลั่งไหลเข้ามาชื่นชมครูบอย ที่ได้คอยช่วยเหลือและเพจที่เป็นกระบอกเสียงให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น อาทิ ขอบคุณครูบอยมากนะคะ ขอให้โลกนี้ มีคนแบบครูบอยเยอะ ๆ เลย, คุณครูสุดยอดมากค่ะ, ครูแบบนี้ควรยกย่องมาก ๆ ค่ะ..ต้นแบบที่ดี, อยากให้มีครูแบบนี้หลาย ๆ คน ฯลฯ

‘ครูไทย’ แบกภาระ ‘งานอื่น’ มากกว่า ‘การสอนในห้องเรียน’ กระทบ ‘คุณภาพการศึกษาไทย’ โจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องรีบแก้

การพัฒนาคุณภาพครูเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาทุกยุค ทุกสมัย เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพของประชาชนในประเทศ และเป็นกระดุมเม็ดแรกในการแก้ไขปัญหา ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่เป็นปัญหาคาราคาซังฝังรากลึกของสังคมไทยเสมอมา

แม้ในนโยบายคณะรัฐมนตรีที่นำโดย ‘นางสาวแพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบัน จะไม่ได้กล่าวถึง ‘การพัฒนาคุณภาพครู’ โดยตรง แต่การแถลงนโยบายมีส่วนที่พูดถึงปัญหาของการพัฒนาคุณภาพประชาชนชาวไทยไว้อย่างตรงประเด็นว่า…

“คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 64.7 คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีในทุกทักษะ”

แต่ก็มีชุดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาติดตามมาเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งงานของรัฐบาลจะสำเร็จได้ต้องอาศัยกลไกที่สำคัญคือ ครู ที่เป็นกระดุมเม็ดแรก

>>แล้วขณะนี้ ‘ครู’ มีปัญหาในด้านการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง?

ในการสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู โดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า…ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะวันธรรมดาถึง 84 วัน หรือคิดเป็น 42% จากการสำรวจนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ทำให้การพัฒนาการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความยากลำบาก 

ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัย คือ การวิเคราะห์ผลของการใช้เวลาในการปฏิบัติภาระงานสอนที่มีต่อประสิทธิภาพการสอนของครูในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย ผศ.ดร.จุไรรัตน์ สุดรุ่ง และนางสาวพรทิพย์ ทับทิมทอง โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า อุปสรรคของการทำหน้าที่ครูมาจาก 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1. ภาระหนักนอกเหนือจากการสอน 
2. จำนวนครูไม่เพียงพอ ต้องทำการสอนที่ไม่ตรงกับวุฒิ 
3. ขาดทักษะด้านไอซีที 
4. ครูรุ่นใหม่ขาดจิตวิญญาณ ขณะที่ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว 
5. ครูสอนหนักส่งผลให้เด็กเรียนมากขึ้น
6. ขาดอิสระในการจัดการเรียนการสอน 

จะเห็นได้ว่าปัญหาที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ครูมีภาระงานอื่นนอกเหนือจากการสอนหนักไป โดยภาระงานส่วนนี้มีทั้งการทำธุรการต่าง ๆ การเตรียมความพร้อมรับการประเมินที่มีจำนวนมาก ตลอดจนการทำหน้าที่อื่น ๆ ควบคู่กับการสอนหนังสือ 

>>แล้วครูไทยจะหลุดพ้นจากปัญหา ‘ใช้เวลานอกห้องเรียนเยอะเกินไป’ ได้อย่างไร 

สำหรับประเด็นนี้ จุไรรัตน์ สุดรุ่ง และผัสสพรรณ ถนอมพงษ์ชาติ ได้ระบุไว้ในหัวข้อ ‘การพัฒนาครู : แก้ปัญหาให้ตรงจุด Teacher Development: Solution to the Point’ โดยเสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ 6 ข้อดังนี้

1. คืนครูสู่ห้องเรียน ให้ครูมีหน้าที่สอน ดูแลพัฒนานักเรียนเพียงอย่างเดียว รับผิดชอบนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น ซ่อมเสริมนักเรียนที่มีปัญหาให้มีพัฒนาการที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม 

2. ให้มีฝ่ายบุคลากรสนับสนุนการศึกษาที่ทำหน้าที่ธุรการ การเงิน พัสดุหรืองานสนับสนุนฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งงานแผนงาน งานประกันคุณภาพภายในโรงเรียน และควรกำหนดมาตรฐานวิชาชีพให้เขาได้มีความก้าวหน้าในสายงานที่ปฏิบัติที่แตกต่างไปจากมาตรฐานวิชาชีพครู

3. กำหนดนโยบายให้โรงเรียนจัดการนิเทศภายในอย่างชัดเจนเป็นระบบ มีการกำกับติดตามและประเมินจากหน่วยงานภายนอก

4. กำหนดให้ครูต้องสอบวัตประเมินความรู้ทั้งด้านเนื้อหาวิชาที่สอน วิธีการสอบทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีทุก 3 ปี

5. จัดตั้งศูนย์การพัฒนาครูในเขตพื้นที่การศึกษา มอบหมายให้หน่วยศึกษานิเทศก์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ กำกับติดตามโดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน

6. กำหนดให้มีการประเมินการจัดการเรียนการสอนของครูทุกสิ้นปีการศึกษา โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน และครูต้องนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้เห็นผลในเชิงประจักษ์

และแน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการคืนครูให้นักเรียน คือ นโยบายต้องชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามการเมืองในแต่ละยุค มีมาสเตอร์แพลนที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแล้ว ‘การคืนครูให้นักเรียน’ จะยังคงเป็นภาพฝันในจินตนาการไปอีกนานเท่านาน

สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดงาน 'เรียนรู้ สร้างโอกาส เชื่อมโยงการศึกษากับอุตสาหกรรม'

เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.67) เวลา 08.30 – 15.30 น. ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดงาน 'เรียนรู้ สร้างโอกาส เชื่อมโยงการศึกษากับอุตสาหกรรม' เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงการศึกษาและการพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างโอกาสการจ้างงานให้แก่ผู้เรียนในอนาคต

​โดยในงานได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ฉัตรชาญ ทองจับ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นประธานกล่าวเปิด

​พร้อมกันนี้ยังมีการเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ 'สร้างโอกาสในการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นมืออาชีพในอนาคต' มีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพันธ์ ยิ้มมั่น รองอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, นายประทีป จุฬาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก และ ดร.ปัญญาพล สุพรรณวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.เอ็ม.ซี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายจักรพันธ์ ดาปาน อุปนายก และผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานโครงการและความร่วมมือ สมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

และภายในงานยังมีการเปิดตัว 'ชุดฝึกอบรม TPQI E-Training เพื่อสถานประกอบการ' พร้อมแนะนำ แพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) ที่เป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีการพิธีมอบโล่เกียรติคุณให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการจัดฝึกอบรมและประเมินสมรรถนะบุคคล รวมถึงการมอบประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิวิชาชีพอีกด้วย​

การจัดงานครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียนและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรในทุกระดับให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพและมีงานทำในอนาคต

3 ใน 4 มหาวิทยาลัยอังกฤษวิกฤต เหตุค่าเทอมแพง นศ.ต่างชาติแห่ไปเรียนที่อื่น

(15 พ.ย. 67) หน่วยงานกำกับดูแลการศึกษาระดับสูงเตือนให้มหาวิทยาลัยต้อง ‘เร่งดำเนินการ’ และพิจารณาการควบรวมกิจการหรือแบ่งปันต้นทุนเพื่อความอยู่รอดของสถาบันการศึกษา

มหาวิทยาลัยในอังกฤษกำลังเผชิญวิกฤติทางการเงิน โดยเกือบ3 ใน 4 คาดว่าจะประสบปัญหาขาดทุนในปีหน้า จากการคาดการณ์ของสำนักงานกำกับดูแลการศึกษาระดับสูง (OfS)

ข้อมูลจากสำนักงาน OfS ระบุว่า ในภาคการศึกษาหน้าหลายสถาบันจำเป็นต้องดำเนินการอย่าง 'กล้าหาญและเปลี่ยนแปลง' เพื่อชดเชยรายได้ที่คาดว่าจะลดลงถึง 3.4 พันล้านปอนด์ในปี 2025-26 ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจต้องพิจารณาการควบรวมกิจการหรือการแบ่งปันต้นทุนระหว่างกัน

เซอร์เดวิด เบฮาน ประธาน OfS กล่าวว่า มหาวิทยาลัยควรทำงานร่วมกันให้มากขึ้น เช่น ไม่จำเป็นต้องมีการเปิดสอนหลักสูตรซ้ำซ้อนกันในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน "การที่มหาวิทยาลัยในเมืองเดียวกัน หรือภูมิภาคเดียวกัน แข่งขันกันในด้านหลักสูตรที่เปิดสอนนั้นไม่เหมาะสม" 

การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะเพิ่มค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาภายในประเทศอีก 285 ปอนด์ เป็น 9,535 ปอนด์ต่อปี จะเพิ่มรายได้ 371 ล้านปอนด์ แต่การจ่ายเงินประกันแห่งชาติที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้รายได้ลดลง 430 ล้านปอนด์ ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 โดยการปรับเพิ่มครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากภาวะเงินเฟ้อ

โจ เกรดี้ เลขาธิการสหภาพการศึกษามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกล่าวว่า "การเพิ่มค่าเล่าเรียนที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน"

ซูซาน แลพเวิร์ธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OfS กล่าวว่า รายงานความยั่งยืนทางการเงินของมหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่พวกเขากำลังเผชิญในอนาคต

"ฉันทราบว่ามหาวิทยาลัยรับรู้ถึงความเสี่ยงเหล่านี้และกำลังพยายามหาวิธีแก้ไข การแข่งขันในการรับสมัครนักศึกษาในสหราชอาณาจักรที่เข้มข้นขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งเสียเปรียบ และต้องปรับแผนการรับนักศึกษาเสียใหม่ อีกทั้งการลดลงอย่างรวดเร็วของการสมัครวีซ่านักศึกษาต่างชาติก็ส่งผลกระทบอย่างมากเช่นกัน" แลพเวิร์ธกล่าว

ตัวเลขที่เผยแพร่โดยกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนวีซ่านักศึกษาต่างชาติของอังกฤษในปีนี้ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของวปี 2023 ขณะที่ OfS คาดว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีในสหราชอาณาจักรจะมีจำนวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

รายงานจาก OfS ยังแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่เน้นการวิจัย เช่น กลุ่มรัสเซล (Russell Group) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กหรือมหาวิทยาลัยที่พึ่งพารายได้จากการสอนกำลังประสบปัญหาด้านเงินทุน

การคาดการณ์ของ OfS ชี้ว่า 72% ของสถาบันการศึกษาระดับสูงอาจอยู่ในภาวะขาดทุนภายในปี 2025-26 และ 40% อาจมีเงินสดสำรองไม่ถึง 30 วัน

รายงานของ OfS สอดคล้องกับรายงานข่าวจากเอเอฟพี ที่ระบุว่า ในปี 2020 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรมีนักศึกษาต่างชาติลงทะเบียนเรียนเกือบ 760,000 คน โดยนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากประเทศอินเดีย, จีน และไนจีเรีย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา จำนวนวีซ่านักศึกษาได้ลดลงถึง 5% และระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนที่ผ่านมา คำร้องยื่นขอวีซ่านักศึกษาสำหรับสหราชอาณาจักรลดลงถึง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

การลดลงของจำนวนนักศึกษาต่างชาติเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งเกิดความกังวล เนื่องจากนักศึกษาต่างชาติเป็นกลุ่มที่จ่ายค่าเล่าเรียนสูงกว่านักศึกษาชาวอังกฤษ

องค์กร Universities UK หรือ 'UUK' ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 141 แห่งของสหราชอาณาจักร ออกมาเตือนในที่ประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เงินทุนต่อนักศึกษาอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2547 โดยทุกมหาวิทยาลัยรู้สึกถึง 'วิกฤติทางการเงิน' อย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ในกรุงลอนดอนเริ่มใช้ข้อจำกัดการออกวีซ่านักศึกษาเมื่อปีที่แล้ว

อังกฤษผุดไอเดียปรับเงินผู้ปกครอง หากนักเรียนทำพฤติกรรมแย่

(20 ธ.ค.67) สถาบันวิจัย Tony Blair Institute (TBI) ในอังกฤษเสนอไอเดียต่อรัฐบาลให้ครูมีอำนาจปรับเงินผู้ปกครองของนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในโรงเรียน โดยให้เหตุผลว่าครูควรมีอำนาจในเชิงกฎหมายที่คล้ายกันกับตำรวจปรับผู้ขับขี่ เพื่อบังคับให้ผู้ปกครองเข้าพบและจัดทำแผนปรับปรุงพฤติกรรมของบุตรหลาน

รายงานระบุว่า หากผู้ปกครองไม่ให้ความร่วมมือในการปรับปรุงพฤติกรรมบุตรหลาน ครูสามารถแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาได้ โดยชี้ว่าครูอยู่ในบทบาทที่สามารถสังเกตและปัญหาที่ลึกซึ้งและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันปัญหาในระยะยาวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนและลดวิกฤตการณ์ขาดแคลนครูได้

Alexander Iosad ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมของ TBI กล่าวว่า “ปัจจุบันครูไม่มีอำนาจและไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอในการรับมือกับพฤติกรรมที่ก่อกวนและอันตรายที่เพิ่มขึ้น” พร้อมเสนอให้ฟื้นฟูอำนาจและสนับสนุนครูอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้บริหารโรงเรียนบางรายแสดงความกังวลว่าการให้อำนาจนี้อาจเพิ่มภาระงานและทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองตึงเครียดมากขึ้น พร้อมเสนอให้เพิ่มงบประมาณสำหรับหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมและการสนับสนุนเด็กและครอบครัวที่มีปัญหาแทน

การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Edurio และ Opinium ระบุว่ากว่าครึ่งของครูในอังกฤษต้องเผชิญกับปัญหาการขาดการสนับสนุนในการจัดการพฤติกรรมนักเรียน และน้อยกว่า 10% เชื่อว่าโรงเรียนของตนบังคับใช้กฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ครูมากกว่า 2 ใน 3 ยอมรับว่าการเรียนการสอนในชั้นเรียนมักถูกรบกวนจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียนบางคน

รายงานยังชี้ว่าการรบกวนที่ต่อเนื่องทำให้ครูหมดกำลังใจและส่งผลให้พวกเขาพิจารณาออกจากอาชีพ โดยครูที่เผชิญกับปัญหาพฤติกรรมรุนแรงมีแนวโน้มลาออกสูงเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาดังกล่าว

Pepe Di’Iasio เลขาธิการสมาคมผู้บริหารโรงเรียนและวิทยาลัยในอังกฤษ กล่าวว่า ภาครัฐควรมุ่งเน้นการให้การสนับสนุนเด็กอย่างเหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกและเพิ่มงบประมาณสำหรับการดูแลสวัสดิภาพนักเรียนในโรงเรียน แทนการเปลี่ยนไปลงโทษที่ผู้ปกครอง

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกล่าวว่า “ที่ผ่านมากระทรวงทำงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิดเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและจัดการกับสาเหตุพื้นฐานของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไป”

ยักษ์ธุรกิจการศึกษาจีน ขายมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด หลังซื้อหุ้นเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ไม่ทำกำไรตามคาด

(6 ม.ค. 68) เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2024 บริษัทการศึกษาเอกชนยักษ์ใหญ่ของจีน "อวี่หัว เอ็ดดูเคชัน" (Yuhua Education) ได้ประกาศขายมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดในไทย มูลค่า 240 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 1,060 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการชำระหนี้จากหุ้นกู้แปลงสภาพที่ค้างชำระ

อวี่หัว เอ็ดดูเคชัน (China YuHua) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเจิ้งโจว ดำเนินธุรกิจโรงเรียน 9 แห่งในจีน โดยบริหารงานโดยพ่อลูกตระกูลหลี่ - หลี่ กวงอวี่ และหลี่ ฮว่า

การขายมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดในครั้งนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของบริษัท หลังจากเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่ทวีความรุนแรง

การตัดสินใจขายมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรธุรกิจและการโรงแรมทั้งระดับปริญญาตรีและโท เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทซื้อมหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อ 5 ปีก่อนในราคาที่สูงกว่ามูลค่าเดิมถึง 120 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

โดย China YuHua ยักษ์ธุรกิจการศึกษาจากจีนเข้าซื้อมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด 2019 โดยได้เข้าถือหุ้นใหญ่ประมาณ 49% สำหรับมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดในประเทศไทย ประกอบด้วย วิทยาเขตพระรามเก้า, ศูนย์การศึกษาอโศกแคมปัส และวิทยาเขตหัวหิน มีนักศึกษาราว 5,000-6,000 คน ซึ่งเดิมเป็นของเครือลอรีเอท (Laureate International Universities) โดยทางการจีนได้ส่งทีมผู้บริหารจากจีนคุมการบริหารของมหาวิทยาลัยแบบเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนถึงรายละเอียดถึงเหตุผลการข่ายมหาวิทยาลยดังกล่าว แต่รายงานข่าวระบุว่า มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดสร้างรายได้สุทธิ 31.66 ล้านบาทในปีการศึกษา 2023-2024 แต่เนื่องจากรายได้ที่ไม่สูงมาก การขายในครั้งนี้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลักของอวี่หัวมากนัก

อวี่หัวมีหนี้สินจากหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกในปี 2019 มูลค่า 2.088 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งมีกำหนดชำระในเดือนธันวาคม 2024 การขายมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดจึงช่วยลดภาระหนี้บางส่วนได้ แต่บริษัทยังคงต้องการการปรับโครงสร้างทางการเงินเพิ่มเติม

แม้จะเผชิญกับความท้าทายด้านการเงิน อวี่หัวยังคงตั้งเป้าหมายในการขยายธุรกิจการศึกษาในระดับสากล โดยมีแผนจะดำเนินกิจการต่อไปเมื่อสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงขึ้น

จีนเผยแผน 2024-2035 ปฏิวัติระบบ เล็งเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับโลกใน 10 ปี

(19 ม. ค. 68) พรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีนได้เผยแพร่ “แผนการสร้างประเทศด้านการศึกษา (2024-2035)” ซึ่งเป็นแผนการที่มีการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำภายในปี 2035 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ด้านการศึกษาจะพัฒนาไปในทิศทางใด?

ตั้งแต่การปฏิรูปและเปิดประเทศมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีได้เผยแพร่เอกสารแผนการพัฒนาในรูปแบบของ “แผนการการศึกษา” ซึ่งในแต่ละช่วงเวลามีความสำคัญในการกำหนดทิศทางของกลยุทธ์ วันนี้แผนการสร้างประเทศด้านการศึกษา (2024-2035) ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการสร้างประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำในโลก โดยมีการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สูงขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขยายโอกาสการศึกษาที่หลากหลาย

李永智 (Li Yongzhi) ผู้อำนวยการของ 中国教育科学研究院 (China Academy of Educational Sciences) ได้กล่าวว่า การลดช่องว่างระหว่างพื้นที่ในเมืองและชนบทระหว่างโรงเรียนต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การศึกษามีความสมดุลยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างความสมดุลทั้งในระดับเทศบาลและระดับจังหวัด ด้านการศึกษาในระดับประถมและมัธยม จะเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับประถม โดยมีการพัฒนาโครงสร้างการศึกษาระดับปฐมวัยในช่วงอายุ 2 ถึง 3 ปี ในระดับการศึกษาปริญญาตรี การขยายจำนวนการรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและการขยายการผลิตบัณฑิตในสาขาต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนจะมุ่งเน้น แผนการสองขั้นตอนเพื่อสร้างประเทศการศึกษา แผนการนี้ได้กำหนดแผนที่สองขั้นตอนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ภายในปี 2027 จะมีการบรรลุผลสำเร็จในระยะหนึ่งของการสร้างประเทศด้านการศึกษา
ภายในปี 2035 ประเทศจีนจะสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและมีระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก การปฏิรูปที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา แผนการนี้ยังได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่มีการขาดแคลนหรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และการฝึกอบรมบุคลากรที่ไม่เพียงพอในหลายสาขา

‘ดร.พิริยะ’ มอง!! ไม่ควรใส่ใจ กับการจัดอันดับของ World Population Review ชี้!! เป็นเรื่องของ ‘การรับรู้’ มากกว่าการใช้ ‘ข้อมูลทางสถิติ’ ที่เชื่อถือได้

(23 มี.ค. 68) ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การจัดอันดับของ World Population Review โดยมีใจความว่า ...

‘อย่าไปซีเรียสมากกับการจัดอันดับของ World Population Review’

ทุกครั้งที่มีหน่วยงานไหนจัดอันดับการศึกษาของโลกออกมา และพบว่าประเทศไทยเราอยู่ในอันดับต่ำ (หรือต่ำกว่าประเทศที่เราคิดว่าเราน่าจะสูงกว่า) ก็จะมีสื่อต่างๆ ออกมาประกาศและซ้ำเติมระบบการศึกษา (โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาไทย) เราอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดจากการที่นักข่าวไปขุดผลการจัดอันดับการศึกษาของ World Population Review ที่รายงานว่าประเทศไทยเรามีอันดับการศึกษาที่อันดับ 107 (จาก 203 ประเทศ) โดยต่ำเป็นอันดับ 8 ของอาเซียน (และทีี่ข่าวเอามาขยี้ที่สุดคือต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง สปป.ลาว และเหนือกว่าพม่าและกัมพูชาแต่เล็กน้อยเท่านั้น) https://worldpopulationreview.com/.../education-rankings...
แต่เพื่อความแฟร์แล้ว ในฐานะของนักวิจัย เราควรที่จะต้องไปหาดูก่อนว่า ตัดชี้วัดที่จัดอันดับดังกล่าวนั้นมาจากไหน มันเป็นวิธีการวัดที่น่าเชื่อถือและถูกต้องเพียงใด และมันมี "ความคลาดเคลื่อน (Error) ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเด็นใดได้บ้าง 

เท่าที่พยายามเข้าไปดูถึงวิธีการคำนวณอันดับคร่าวๆ พบว่า World Population Review "ไม่ได้เป็นหน่วยงาน"ที่ทำการคำนวณอันดับดังกล่าว แต่จะไปเอาข้อมูลจากสองแหล่งได้แก่ 1) US News Best Countries report และ 2) the nonprofit organization World Top 20 (หรือพูดง่ายๆ ก็คือ World Population Review ก็เหมือนกับสำนักข่าวเราดีๆ นี่แหละ ไม่ได้ทำเอง แค่เอาที่เขาประกาศมาทำเป็น graphic สวยๆ และเขียนวิเคราะห์คร่าวๆ เฉยๆ)

โดยถ้าเข้าไปดูในส่วนของ US News Best Countries Report (ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหลัก) เป็นรายงานที่ทำในปี 2024 https://www.usnews.com/.../best-countries-for-education ซึ่งเป็นการสำรวจมิติของประเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ Quality of Life, Heritage, Adventure, Citizenship, Open for Business, Entrepreneurship, Social Purpose, และ Cultural Influence (คล้ายๆ กับการสำรวจ Soft Power Index ของ Brandfinance) โดยข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้คน 17000 คนจากประเทศต่างๆ ใน 78 ประเทศ จากนั้นจัดอันดับประเทศเหล่านั้นตามการตอบแบบสำรวจ ส่วนในด้านการศึกษาของแบบสำรวจนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจจะถูกถามคำถามที่ประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น

1) คุณภาพของระบบการศึกษาของรัฐ: ผู้ตอบแบบสำรวจจะประเมินว่าระบบการศึกษาของรัฐในแต่ละประเทศนั้นพัฒนาและมีประสิทธิภาพเพียงใด

2) ความน่าสนใจในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย: ผู้ตอบแบบสำรวจจะประเมินว่าประเทศนั้นๆ มีความน่าสนใจในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยมากน้อยเพียงใด

3) คุณภาพของการศึกษาโดยรวม: ผู้ตอบแบบสำรวจจะประเมินว่าประเทศนั้นๆ มีการให้การศึกษาที่มีคุณภาพสูงเพียงใด
หลังจากนั้นรายงานได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจและนำมาถูกนำมาวิเคราะห์และประมวลผลและทำการใส่น้ำหนักของแต่ละปัจจัย เพื่อให้ได้คะแนนรวมสำหรับแต่ละประเทศ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การจัดอันดับที่ได้นั้นจึงเป็นการจัดอันดับที่เกิดจาก "การรับรู้ (Perception)" ของคนประเทศต่างๆ เกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศนั้น โดยอาศัยคำถามที่เจาะจงเกี่ยวกับคุณภาพและความน่าสนใจของการศึกษาในแต่ละประเทศ โดยการสำรวจได้จัดทำขึ้นระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคมปี 2023

จากข้อมูลคร่าวๆ นี้ก็พอสรุปได้ว่า "เราไม่ควรจะต้องไปใส่ใจกับอันดับที่ World Population Review นี้รายงานออกมา" เพราะมันเป็นเรื่องของ Perception มากกว่าการใช้ข้อมูลทางสถิติที่เชื่อถือได้

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาของเรา ‘ยังไม่ดี’ จริงๆ ซึ่งปัญหามันก็เหี่ยวกับกระทรวงศึกษาเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายบริบทมากๆๆๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งถ้าให้เขียนต่อมันก็จะยาวมากๆ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top