Wednesday, 21 May 2025
การศึกษา

สหรัฐฯ เล็งแบนวีซ่านักเรียนจีน อ้างเหตุผลความมั่นคง นักวิชาการเตือน อาจทำลายอนาคตนวัตกรรมอเมริกา

(25 มี.ค. 68) ไรลีย์ มัวร์ (Riley Moore) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ได้เสนอร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรชื่อ “Stop CCP VISAs Act” ที่มีเป้าหมายเพื่อห้ามไม่ให้พลเมืองจีนสามารถขอรับวีซ่านักเรียนเข้าสหรัฐอเมริกา โดยให้เหตุผลว่ามาตรการนี้มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศและเพื่อป้องกันการจารกรรมทางเทคโนโลยีและข่าวกรองจากรัฐบาลจีน

มัวร์ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะจำกัดอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสหรัฐฯ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากนักศึกษาจีนที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐจีน

“ทุกปี เราอนุญาตให้ชาวจีนเกือบ 300,000 คนเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาด้วยวีซ่านักเรียน เราเชิญชวนพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาสอดส่องกองทัพของเรา ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของเรา และคุกคามความมั่นคงของชาติอย่างแท้จริง” มัวร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และองค์กรที่สนับสนุนเสรีภาพทางการศึกษา โดยพวกเขาเตือนว่าการจำกัดวีซ่าเช่นนี้อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งผลเสียต่อสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ ที่พึ่งพานักศึกษาต่างชาติในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนา

ขณะที่ แกรี ล็อก (Gary Locke) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่าร่างกฎหมายที่มัวร์เสนอ “ไม่เพียงแต่เหยียดเชื้อชาติ แต่ยังเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ” เพราะการปิดโอกาสนักเรียนจีนจะบ่อนทำลายความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ล็อกเน้นย้ำว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ อาศัยความสามารถของนักวิจัยและนักศึกษาต่างชาติอย่างมาก และการจำกัดวีซ่าจะเป็นการทำร้ายผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง

ด้านรัฐบาลจีนได้ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อร่างกฎหมายนี้เช่นเดียวกัน โดยมองว่าเป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรมและอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดมากขึ้น 

อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่มีความชัดเจนว่ามาตรการนี้จะได้รับการสนับสนุนมากน้อยเพียงใดจากสมาชิกสภาคองเกรสทั้งสองพรรค

ทั้งนี้ การเสนอร่างกฎหมายนี้สะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ เกี่ยวกับบทบาทของจีนในด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงของประเทศ

ม.โตเกียว เปิดคณะใหม่ครั้งแรกในรอบ 70 ปี คณะ ‘วิทยาลัยการออกแบบ’ หลักสูตรควบตรี-โท สอนอังกฤษล้วน รับต่างชาติครึ่งรุ่น

(8 เม.ย. 68) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ประกาศเปิดตัวคณะใหม่ในชื่อ “วิทยาลัยการออกแบบแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว” (UTokyo College of Design) ซึ่งมีกำหนดเปิดการเรียนการสอนในเดือนกันยายน ปี 2027 โดยใช้ ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทุกชั้นปี ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญที่มุ่งสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้สามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายระดับโลกที่ซับซ้อน

คณะใหม่นี้จะเปิดสอนใน หลักสูตรควบระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ระยะเวลา 5 ปี โดยแบ่งออกเป็น การเรียนระดับปริญญาตรีใน 4 ปีแรก และ ระดับบัณฑิตศึกษาในช่วง 1 ปีสุดท้าย 

เนื้อหาหลักสูตรจะครอบคลุมสาขาวิชาหลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา สำรวจและเลือกเรียนตามความสนใจของตนเอง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การออกแบบระบบนโยบายสาธารณะ และความยั่งยืนในระดับโลก

จำนวนรับนักศึกษาอยู่ที่ 100 คน โดยสงวนที่นั่งสำหรับนักศึกษาต่างชาติไว้ถึงครึ่งหนึ่ง เพื่อส่งเสริมความหลากหลายและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม นอกจากนี้หัวหน้าคณะจะเป็นศาสตราจารย์ชาวต่างชาติประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว และมีคณาจารย์ร่วมสอนจากทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ รวมถึงนักวิจัยชั้นนำในหลากหลายสาขา

ศาสตราจารย์เทรุโอะ ฟูจิอิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น เพื่อให้นักศึกษาสามารถ เปลี่ยนความฝันให้เป็นจริง โดยใช้ทรัพยากรและศักยภาพของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่”

สำหรับการเปิดวิทยาลัยการออกแบบในครั้งนี้ นับเป็นการก่อตั้งคณะใหม่ครั้งแรกของมหาวิทยาลัยโตเกียวในรอบเกือบ 70 ปี นับตั้งแต่การจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์เมื่อปี 1958 และสะท้อนถึงแนวทางใหม่ของการศึกษาระดับสูงที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ต่างๆ เพื่อรองรับโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สหรัฐฯ ขีดเส้นตาย ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ 30 เม.ย. นี้ หากไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลวีซ่า เสี่ยงถูกตัดสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ และระงับเงินหนุน 2.7 ล้านดอลลาร์

(17 เม.ย. 68) คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจถูกตัดสิทธิ์ในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลผู้ถือวีซ่าบางราย ซึ่งทางการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”

โนเอมเปิดเผยว่าเธอได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยกำหนดให้ตอบกลับและยืนยันการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ มิเช่นนั้น ฮาร์วาร์ดจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “สิทธิพิเศษในการรับนักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งถือเป็นมาตรการกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้ระงับเงินอุดหนุน 2 รายการที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 99.9 ล้านบาท)

“บางทีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดควรสูญเสียสถานะยกเว้นภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีในฐานะหน่วยงานทางการเมือง หากยังคงสนับสนุนหรือส่งเสริมความผิดปกติทางการเมือง อุดมการณ์ และการก่อการร้าย จำไว้ว่าสถานะยกเว้นภาษีขึ้นอยู่กับการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ!” ทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคาร

ทางด้านโฆษกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว และยืนยันจุดยืนว่า ฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมลดทอนความเป็นอิสระ หรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ตาม โดยจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกแถลงการณ์ว่ามหาวิทยาลัยกำลังพยายามรับมือกับกระแสต่อต้านชาวยิว รวมถึงแนวคิดอคติในรูปแบบอื่น ๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศแนวทางเข้มงวดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล โดยมองว่าการประท้วงบางส่วนมีลักษณะต่อต้านชาวยิวและสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มผู้ชุมนุมแย้งว่า รัฐบาลกำลังพยายามผูกโยงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์เข้ากับความรุนแรงหรือแนวคิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายภายใต้การนำของทรัมป์ ที่กำลังเดินหน้ากดดันมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะผู้ที่มีจุดยืนและท่าทีไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในบริบทของตะวันออกกลาง

ชาวจีนแห่ตั้งรกรากที่โอซาก้า หวังชีวิตใหม่ในดินแดนอาทิตย์อุทัย หลังถูกบีบด้วยหนีภาษีทรัมป์–เศรษฐกิจชะลอ–ระบบการศึกษากดดัน

(8 พ.ค. 68) เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวยืดเยื้อ โดยได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ ทำให้เกิดกระแสการอพยพของชาวจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมืองโอซาก้าในญี่ปุ่นที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม

คำแสลง 'จุน' ที่ใช้กันในจีนซึ่งแปลว่า 'หลบหนีออกนอกประเทศ' สะท้อนความรู้สึกของชนชั้นกลางและผู้มีฐานะที่ต้องการหลีกหนีจากความกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบการศึกษา โดยเฉพาะหลังมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดในช่วงโควิด-19

ญี่ปุ่นกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพราะมีความใกล้ชิดกับจีน ค่าครองชีพต่ำ ค่าเงินเยนอ่อน และระบบการศึกษาที่ผ่อนคลายกว่าจีนอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ระบบสวัสดิการของญี่ปุ่นก็น่าเชื่อถือมากกว่า ทำให้ผู้อพยพรู้สึกมั่นใจในการตั้งรกรากระยะยาว

รายงานระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับประถมในจีนอาจสูงถึง 12 ล้านเยนต่อปี (ราว 2.7 ล้านบาท) ขณะที่ในญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก ส่งผลให้หลายครอบครัวจีนมองว่าการย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของลูก

ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งที่ย้ายมาโอซาก้า ลูกสาวคนโตสามารถปรับตัวกับชีวิตในโรงเรียนญี่ปุ่นได้ดี และรู้สึกว่ามีเวลาสำหรับกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ปกครองกล่าวว่า “ในจีนต้องใช้ความพยายาม 100% เพื่อเข้า ม.ดัง แต่ที่ญี่ปุ่น ลูกผมอาจใช้แค่ 70% แล้วใช้ที่เหลือพัฒนาทักษะชีวิต”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top