Sunday, 19 May 2024
การบินไทย

‘การบินไทย’ ช่วยชีวิตผู้โดยสารหญิงวัย 99 ปี หลังหมดสติในห้องน้ำ ชาวเน็ตแห่ชม!! ‘แพทย์-ลูกเรือ’ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีเยี่ยม

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 ผู้ใช้งานติ๊กต็อก ชื่อ nakokatt หรือ ‘ครูคัท คัทลียา’ คุณครูผู้ฝึกสอนแอร์โฮสเตส และเป็นแอร์โฮสเตสของ ‘การบินไทย’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอแชร์ประสบการณ์การกู้ชีพฉุกเฉินบนเครื่องบิน และบอกเล่าเรื่องราวอันน่าประทับใจที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินโบอิ้ง TG 624 ของ ‘การบินไทย’ เส้นทางบินจากกรุงเทพฯ ไปยังกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 66 โดยระบุว่า…

“เหตุการณ์ทั้งหมด ได้เกิดขึ้นก่อนที่เครื่องบินจะทำการลงจอดประมาณ 1 ชั่วโมง มีผู้โดยสารชายท่านหนึ่ง แจ้งกับลูกเรือว่า คุณแม่วัย 99 ปีของเธอ หมดสติอยู่ในห้องน้ำ หลังจากได้รับข้อมูลจากลูกชายแล้ว ลูกเรือของโบอิ้ง TG 624 จึงได้ทำการช่วยเหลือคุณยายผู้โดยสารที่หมดสติ และทำการตรวจสัญญาณชีพ จากนั้นจึงนำอุปกรณ์ถังออกซิเจนออกมา เพื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยทันที

ขณะเดียวกัน หัวหน้าลูกเรือได้มีประกาศหาแพทย์จากกลุ่มผู้โดยสารบนเครื่องบิน โดยในเที่ยวบินนั้นมีผู้โดยสารที่เป็นแพทย์หลายท่านแสดงตัว และรีบเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยทันที โดยแอร์โฮสเตสอีกคนหนึ่งที่เคยเป็นพยาบาล ทำหน้าที่เป็นลูกมือในการช่วยเหลือแพทย์อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีผู้ฝึกงานด้านบริการการแพทย์การบินและอวกาศ (Air Force Combat Medic) คอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่ายอีกแรงด้วย

จนกระทั่งในที่สุด อาการของคุณยายก็กลับมาเป็นปกติ และยิ้มได้อีกครั้งหนึ่ง ในตอนที่เครื่องบินกําลังทำการลดระดับเพื่อเตรียมลงจอดพอดี”

ครูคัท ยังเล่าเรื่องราวที่น่าประทับใจไว้อีกด้วยว่า “หลังสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ Combat Medic ก็ได้ลุกขึ้นยืน เพื่อแจ้งให้ผู้โดยสารทราบว่า เมื่อสักครู่นี้ได้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และที่สําคัญคือ Combat Medic ได้กล่าวชื่นชมความเป็นมืออาชีพของลูกเรือการบินไทย ในการตอบสนองและรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี”

“ถ้ารอยยิ้มของผู้โดยสาร คือรางวัลสําหรับลูกเรือ รอยยิ้มของคุณยายและญาติๆ ก็คือรางวัลพิเศษสําหรับลูกเรือในเที่ยวบินนี้ รวมถึงลูกเรือการบินไทยทุกๆ คน และนี่คืออีกหนึ่งความภูมิใจของพวกเราชาวการบินไทยค่ะ” ครูคัท กล่าวทิ้งท้าย

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 66 พลิกทำกำไร 16,342 ลบ. เร่งเครื่องฟื้นฟูกิจการเต็มกำลัง พร้อมขานรับนโยบายฟรีวีซ่า

(10 พ.ย. 66) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย โดยระบุว่า...

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6% 

โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0% 

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม) 

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท 

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 8,360 ล้านบาท 

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท 

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 66,115 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 11,237 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,390 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 31,720 ล้านบาท 

ในปัจจุบัน บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 48 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 1 ลำ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 3 ลำ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และไทยสมายล์ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53.3% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 100.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% (การบินไทย 80.0% และไทยสมายล์ 80.4%) สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4% เป็นส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์ 6.50 และ 3.63 ล้านคน ตามลำดับ 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 234,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 36,112 ล้านบาท (18.2%) หนี้สินรวมจำนวน 288,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 19,794 ล้านบาท (7.4%) 

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 54,706 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 16,318 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำและหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 

สำหรับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 แม้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายภูมิภาค แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะปรับตัวรุนแรงขึ้นจากการที่สายการบินต่าง ๆ เริ่มทยอยนำเครื่องบินกลับมาทำการบินในระดับที่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ การกลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกนของสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส การนำเครื่องบินแอร์บัสแบบ A380 กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิกของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า 

ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลาย ๆ เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางทวีปยุโรปและเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย 

ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นไปอย่างล่าช้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดการด้านค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดและมีวินัย เพื่อให้การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

การดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในไตรมาสนี้มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

>>การหารายได้จากการขนส่ง 

เพิ่มจุดบินและความถี่เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณความต้องการ เดินทาง (Demand) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ในเส้นทางซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น

>>การดำเนินการตามแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน

รับมอบเครื่องบินแบบ A350-900 จำนวน 1 ลำ ซึ่งจะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ในเส้นทางสู่ประเทศจีน เพื่อรองรับนโยบาย Free Visi ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) และเพื่อขยายฝูงบินให้รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน 

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการ บริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

>>การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ 

การบินไทยได้ขายเครื่องบินแบบ B747-400 จำนวน 2 ลำ และ A340-68) จำนวน 1 ลำ รวมทั้งเครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 1 เครื่องยนต์ ซึ่งส่งมอบให้กับผู้ซื้อแล้ว 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ได้แก่ บ้านพักกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสำนักงานขายมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับเงินครบถ้วนและได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว

>>การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของกลุ่มบริษัทการบินไทย 

บริษัทฯ รับโอน เครื่องบิน A320-200 จากบริษัท ไทยสมายล์ฯ เพิ่มอีกจำนวน 3 ลำ รวมเป็น 6 ลำ เพื่อเตรียมทำการบินในเส้นทาง ระหว่างประเทศของบริษัทฯ ได้แก่ เดล, มุมไบ, ธากา รวมถึงกัลกัตตา (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม2566 เป็นต้นไป) 

บริษัทฯ ยังทำการบินทดแทนสายการบินไทยสมายล์ ในเส้นทางย่างกุ้ง, เวียงจันทน์, พนมเปญ, อาห์เมคา บัด รวมถึงเกาสงและปีนัง (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป) 

การบินไทยจะทยอยรับโอนอากาศยานจน ครบ 20 ลำ ภายในไตรมาส 1 ของปี 2567 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอากาศยานได้อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนและพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบิน และจัดเที่ยวบินให้ครอบคลุมความต้องการของผู้โดยสารใน ภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสาร

‘ไทยสมายล์’ แจ้งโอนย้าย ‘สำรองที่นั่ง-บริการ’ ไป ‘การบินไทย’ พร้อมเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ เริ่ม 16 ธ.ค. 66

(10 พ.ย. 66) รายงานข่าวแจ้งว่า เฟซบุ๊ก THAI Smile Airways ของบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงการสำรองที่นั่งและบริการต่างๆ ของสายการบินไทยสมายล์ โดยจะเริ่มถูกโอนย้ายไปยังการบินไทยตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยเว็บไซต์ www.thaismileair.com จะให้บริการถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2566

ส่วนห้องจำหน่ายบัตรโดยสารไทยสมายล์ (Smile Service Center) จะให้บริการถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Smile Contact Center) 0-2118-8888 (หรือ 1181) และฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ [email protected] จะให้บริการถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566

ผู้โดยสารสามารถติดต่อขอรับบริการได้โดยตรงที่การบินไทย ได้แก่ เว็บไซต์ www.thaiairways.com ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารการบินไทย (THAI ticketing service) ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (THAI Contact Center) 0-2356-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ [email protected]

ก่อนหน้านี้ การบินไทยได้ทยอยเปิดเส้นทางบินภายในประเทศ แทนสายการบินไทยสมายล์ มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา เริ่มจากเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ภูเก็ต ก่อนที่จะทยอยเข้าไปดำเนินการทั้งหมด จำนวน 9 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี กระบี่ ขอนแก่น นราธิวาส เชียงราย หาดใหญ่ และอุบลราชธานี ซึ่งจะเปิดครบทุกเส้นทางในวันที่ 1 ม.ค. 2567

สำหรับการเปิดเส้นทางบินภายในประเทศของการบินไทย เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่ตัดสินใจยุบแบรนด์สายการบินลูกอย่างไทยสมายล์ ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2555 เป็นต้นมา และโอนเครื่องบิน A320 กลับมาที่การบินไทยทั้งหมด 20 ลำ พร้อมกับทยอยโอนนักบิน ลูกเรือและจุดบินมาด้วย

ก่อนหน้านี้ สายการบินไทยสมายล์ได้ยุบเส้นทางบินกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-สุราษฎร์ธานี ไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

‘การบินไทย’ จับมือ ‘จิม ทอมป์สัน’ ผุด ‘Amenity Kit’ กระเป๋ารักษ์โลก ลายพิมพ์พิเศษ ย่อยสลายได้เอง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม-ส่งเสริมความเป็นไทย

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 66 ‘บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)’ และ ‘จิม ทอมป์สัน’ (Jim Thompson) ร่วมจับมือเปิดตัวกระเป๋าพร้อมชุดสิ่งอำนวยความสะดวก (Amenity kit) แบบใหม่ในคอนเซ็ปต์ ‘รักษ์โลก’ ภายในบรรจุสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อมอบความผ่อนคลายเหนือระดับตลอดเที่ยวบิน สำหรับผู้โดยสายชั้นธุรกิจบนเครื่องบินของการบินไทย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับจิม ทอมป์สัน ในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอชุดสิ่งอำนวยความสะดวกแบบใหม่ สำหรับให้บริการผู้โดยสารชั้นธุรกิจ (Royal Silk) ในเที่ยวบินระหว่างประเทศของการบินไทยที่ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงขึ้นไป ยกเว้นเส้นทางโดยเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่อันน่าประทับใจแก่ผู้โดยสาร โดยเป็นแพ็กเกจกระเป๋าผ้าของ จิม ทอมป์สัน ที่ผลิตจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดดเด่นด้วยลายพิมพ์สุดพิเศษ 6 ลาย ที่ได้รับการออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมไทย และความงามตามธรรมชาติ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากขึ้น อาทิ แปรงสีฟันที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ถุงเท้ารักษ์โลก ลูกกลิ้งน้ำมันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน และผ้าปิดตา

มิตเตอร์แฟรงก์ แคนเซลโลนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมไทย จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการยกระดับความเป็นไทยสู่สากล ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษารากฐานวัฒนธรรมความเป็นไทย

‘การบินไทย’ ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าสู่ ‘Net Zero 2050’ ยก 3 หลักสำคัญ บริหารทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่กระทบแผนฟื้นฟูองค์กร

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TG’ เปิดเผยว่า การบินไทยกำลังเดินหน้าปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ภายใต้แนวคิด ‘Zero Waste Living’ ซึ่งประกอบด้วย หลักการหลัก 3 ประการได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม, FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าแผนธุรกิจด้านความยั่งยืน จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เทียบง่าย ๆ แค่การเปลี่ยนขวดนํ้าพลาสติก PET สู่วัสดุที่รีไซเคิลได้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นราว 20% แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานของการบินไทย ต้องเดินหน้าภายใต้กรอบจำกัดเรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยด้วย

“ถ้าเอาเงินมาใส่ตรงนี้ทั้งหมด มันไม่ได้ เราจะทำในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เราต้องทบทวนก่อน มิฉะนั้นจะกระทบกับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย” นายชาย กล่าว

จากแผนธุรกิจของการบินไทยปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ประกาศไปล่าสุดว่า จะเดินหน้าลุยหาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบภายใน 8 ปี โดยมั่นใจว่า 2566 จะสามารถทำกำไรได้ 2 หมื่นล้านบาท มีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 การบินไทยมีเงินสดสะสมแล้ว 51,153 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 14,795 ล้านบาท

- ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน หลายอย่างการบินไทยได้ดำเนินการมานานแล้ว เช่น การบริหารจัดการขยะอาหารและขยะพลาสติก ที่เดินเน้นการคัดแยกแล้วส่งต่อให้ผู้รับซื้อ แต่ปัจจุบันการบินไทยเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก

ล่าสุด ได้พัฒนาเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง ที่ผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ขวดนํ้าพลาสติกที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกผสมผสานกับเส้นใยไหมธรรมชาติในอัตรา 70:30 ซึ่งเครื่องแบบดังกล่าวใช้ขวด PET จำนวน 54 ขวด ต่อการผลิตชุดไทย 1 ชุด เริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 กับพนักงานต้อนรับหญิงที่รับเข้ามาใหม่ และคาดว่าประมาณกลางปี 2567 จะปรับเปลี่ยนได้ครบทั้งหมด ซึ่งชุดเครื่องแบบใหม่นี้ นอกจากมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลแล้ว ยังมีความคงทน และไม่ต้องซักแห้งเหมือนชุดผ้าไหม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับชุดยูนิฟอร์มเก่าจากพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้ยูิฟอร์มเก่ามาเกือบ 10 ตัน จากเบื้องต้นตั้งเป้าเพียง 2 ตัน ทำให้สามารถนำไปปันเป็นเส้นใยใหม่ ผลิตเป็นยูนิฟอร์มใหม่ได้อีก โดยเสื้อ 1 ตัว ใช้ผ้าเก่า 2 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ได้เสื้อยูนิฟอร์มใหม่ 500 ตัว ซึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานการบินไทยทุกคน และอนาคตมีแผนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด

อีกหนึ่งแนวคิด เป็นการต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียนของการบินไทย คือ การจับมือกับจิม ทอมป์สัน จัดทำ ‘Travel Kit Bag’ ที่นำอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) ผลิตออกมาเป็นกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายไทยพิเศษ 6 ลาย และในกระเป๋า ยังบรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เช่นกัน อาทิ แปรงสีฟัน ถุงเท้า ลูกกลิ้งนํ้ามันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน ผ้าปิดตา และไม้ช้อนรองเท้า

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินอื่น ๆ ที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ช้อนส้อมอะลูมิเนียม ใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก แก้วนํ้า ถาดใส่อาหาร และอื่น ๆ

- ลุยเชื้อเพลิง SAF ปี 2030
ส่วนทางด้านการบิน ได้เปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน รวมทั้งมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดภายใน 5 ปี และอีกหนึ่งโครการที่การบินไทยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและมีผลเป็นที่น่าพอใจคือ การใช้นํ้ามันอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการคือ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล จากสถิติเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์ จะได้ค่าตัวหนึ่ง ที่นำมาใช้งาน ไปใช้เป็นส่วนประกอบการวางแผนการบิน วางแผนการใช้นํ้ามัน และจัดเส้นทางการบิน เพื่อให้ใช้นํ้ามมันอย่างแม่นยำไม่น้อยหรือมากเกินไป

“เรื่องของวิธีการบิน เทคนิคการบิน เช่น เครื่องบินแลนดิ้ง เข้าหลุมจอด ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่อง เป็นการลดใช้นํ้ามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ และเครื่องยนต์ยุคใหม่ ที่ใช้นํ้ามันลดลง”

ส่วนนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) การบินไทยมีแผนที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในเครื่องบืนของการบินไทย ได้มีการใช้นํ้ามัน SAF อยู่บ้าง จากการบินเข้ายุโรป ที่เริ่มบังคับใช้กับผู้ผลิตและบริษัทนํ้ามันแล้ว

“การใช้นํ้ามัน SAF ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เราต้องมีการผลักดันในหลาย ๆ ภาคส่วน จะให้ผู้ใช้เป็นคนผลักดันฝั่งเดียวเกิดได้ยาก นโยบายการใช้ SAF ผู้คุมนโยบาย ผู้ใช้ ผู้ผลิต ก็ต้องมาคุยกัน มันไม่ใช่แค่การบินไทยบอกอยากจะใช้ มันต้องกลับไปดูถึงซัพพลายเชนว่า วัตถุดิบในการผลิต SAF มาจากไหน จะบริหารจัดการกันอย่างไร มีนโยบายอย่างไร”

‘การบินไทย’ เปิดบินในประเทศ 9 เส้นทาง ชดเชย ‘ไทยสมายล์’ หยุดบิน เริ่ม ธ.ค.นี้

(28 พ.ย. 66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศในตารางบินฤดูหนาว 2566 รองรับการเดินทางและการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 9 เส้นทาง

โดยทำการบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 เริ่มวันที่ 29 ตุลาคม 2566 – 30 มีนาคม 2567 ใน ตารางบินฤดูหนาวนี้

การบินไทยกลับมาเปิดเส้นทางบินในประเทศ 9 เส้นทาง มีดังนี้

1.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 35 เที่ยวบิน 
2.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 56 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566) 
3.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุดรธานี ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566)
4.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงราย ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
5.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 28 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)

6.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
7.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-กระบี่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
8.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
9.) เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นราธิวาส ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)

ผู้โดยสารสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รายละเอียดตารางบิน พร้อมสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสารได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานขายการบินไทย

‘การบินไทย’ แจงปมผู้โดยสารโวยซื้อตั๋วชั้นธุรกิจ แต่ได้นั่งชั้นประหยัด เหตุปรับโครงสร้าง บินแทนไทยสมายล์ ขออภัยที่ไม่บอกเงื่อนไขให้ชัด

(9 ธ.ค. 66) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. แจ้งว่า จากข้อร้องเรียนของผู้โดยสารสายการบินไทยที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ กรณีซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจแต่ได้ที่นั่งชั้นประหยัด นั้น

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุม และส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากลจึงได้ประชุมร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจการบิน โดยทำการบินทดแทนสายการบิน ไทยสมายล์ ซึ่งปัจจุบันสายการบินไทยได้ทยอยทำการบินทดแทนเส้นทางบินต่างๆ ของสายการบิน ไทยสมายล์ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการให้บริการรูปแบบใหม่ โดยบัตรโดยสารแบบ Smile Plus ที่สายการบินไทยสมายล์เคยให้บริการนั้น สายการบินไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นบัตรโดยสารแบบ Silk Class ด้วยการเพิ่มบริการต่างๆ ให้เทียบเท่ากับบัตรโดยสารแบบชั้นธุรกิจ (Business Class) ของสายการบินไทย

เช่น เพิ่มน้ำหนักกระเป๋า 40 กิโลกรัม ให้บริการช่องเช็กอินและเกท สามารถพักผ่อนที่เลานจ์ ณ สนามบิน บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน เป็นต้น แต่ยังคงใช้ที่นั่งแบบชั้นประหยัด (Economy Class) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารด้วยการเว้นที่นั่งตรงกลางไว้

อย่างไรก็ตาม การจัดจำหน่ายบัตรโดยสารแบบ Silk Class ในช่วงแรก บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แจ้งข้อมูลเรื่องการให้บริการรวมถึงรูปแบบการจัดที่นั่งอย่างชัดเจน จึงส่งผลต่อการเลือกซื้อบัตรโดยสารของผู้ใช้บริการ

2.บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับทราบถึงข้อร้องเรียนของผู้โดยสารและได้ติดต่อไปยังผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาให้ผู้โดยสารแล้ว

3.บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ตรวจสอบผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสารแบบ Silk Class ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 พบว่า ผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารในคลาสนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เท่านั้น ซึ่งสายการบินไทยจะติดต่อผู้โดยสารเรื่องข้อมูลการเดินทางและรายละเอียดการให้บริการที่ผู้โดยสารจะได้รับ หากไม่เป็นไปตามที่ผู้โดยสารคาดหวัง สายการบินไทยจะพิจารณาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือคืนเงิน ค่าโดยสารตามความต้องการของผู้โดยสาร โดยจะเริ่มต้นจากเส้นทาง กรุงเทพฯ-เกาสงก่อน

4.สำหรับการให้บริการในอนาคต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงบริการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการปรับแผนการจำหน่ายบัตรโดยสาร เพื่อให้สามารถใช้อากาศยานแบบแอร์บัส A320 ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งบริษัทจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบในการเปลี่ยนแปลงต่อไป ในการนี้ CAAT ได้กำชับให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของผู้โดยสารในการเลือกใช้บริการตามความคาดหวังต่อไป

5.บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแก้ไขระบบการจองบัตรโดยสารในเว็บไซต์แล้ว เพื่อให้ผู้โดยสารทราบบริการและลักษณะที่นั่งตรงตามประเภทบัตรโดยสารที่เลือกซื้อ

6. CAAT เน้นย้ำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญเรื่องการแจ้งเงื่อนไขบัตรโดยสารให้ผู้โดยสารรับทราบขณะเลือกซื้อบัตรโดยสาร ดังนั้น CAAT จึงกำหนดให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงวิธีการขายบัตรโดยสาร โดยต้องระบุบริการที่ชัดเจน และจัดทำแนวทางการเยียวยาผู้โดยสารส่งให้ CAAT พิจารณา เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วให้บริษัท ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบต่อไป

‘Boeing’ เล็งจัดหาเครื่องบิน ‘Boeing 787’ ให้ ‘การบินไทย’ หนุนแผนพัฒนาฟื้นฟูองค์กร เพิ่มขีดการแข่งขันตลาดการบิน

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 66 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ‘Boeing’ กำลังมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการหารือกับ ‘การบินไทย’ เพื่อจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้าง ‘Boeing 787 Dreamliner’ ประมาณ 80 ลำให้กับสายการบิน

รายงานที่เกิดขึ้น บ่งชี้ถึงความได้เปรียบของ ‘Boeing’ ที่มีเหนือ ‘Airbus’ ในการเจรจาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแผนการพัฒนาฝูงบินของการบินไทย ซึ่งนี่จะถือเป็นหนึ่งในคำสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างที่สำคัญที่สุดรายการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นจะถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นของ Boeing ในตลาดการบินที่มีการแข่งขันสูง

การเจรจาจัดหาเครื่องบินใหม่นี้ รายงานโดยรอยเตอร์เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน โดยเน้นย้ำถึงความตั้งใจของการบินไทยที่จะขยายฝูงบินด้วยเครื่องบินลำตัวกว้างสูงสุด 80 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 15 ลำ แผนการปรับปรุงฝูงบินนี้ จุดชนวนให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner จาก Boeing และเครื่องบินรุ่น Airbus A350 จาก Airbus ทั้งนี้ Boeing, Airbus และรวมถึงการบินไทย ยังคงงดแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ 

ด้านการบินไทย ตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการปรับปรุงเส้นทางบินในภูมิภาคด้วยฝูงบินที่ได้รับการปรับปรุงใหม่

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเกี่ยวกับขีดความสามารถของผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่อย่าง Boeing และ Airbus ในการเพิ่มการผลิตเครื่องบิน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น การตัดสินใจของสายการบินในการจัดหาฝูงบิน Boeing 787 Dreamliners จำนวนมาก ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของตนในตลาดการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต

'นักธุรกิจหนุ่ม' ด่าการบินไทย โพสต์ขอโทษ รับ!! ทราบข้อเท็จจริง รู้สึกผิดที่ตำหนิโดยไม่รู้

(30 ม.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Ekapak Nirapathpongporn' นักธุรกิจหนุ่มผู้โพสต์ด่าการบินไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความกล่าวขอโทษ ระบุว่า...

สืบเนื่องจากการ Post ข้อความของผมที่มีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ตำหนิการปฏิบัติงานของกัปตันในเที่ยวบินของบริษัท การบินไทย นั้น 

เมื่อผมได้รับทราบข้อเท็จจริงจากผู้มีความรู้ด้านการบินเกี่ยวกับขั้นตอนในการปฏิบัติงานของกัปตัน และทราบว่าสภาพอากาศในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นข้อจำกัดที่ทำให้กัปตันต้องตัดสินใจบินไปสนามบินสำรองเพื่อความปลอดภัยสูงสุด 

ผมมีความรู้สึกเสียใจอย่างที่สุด ที่ได้เขียนข้อความซึ่งไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง จึงได้ประสานกับนายกสมาคมนักบินไทย ขอโอกาสในการเข้าพบกัปตัน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเที่ยวบินดังกล่าว เพื่อกล่าวคำขอโทษ รวมถึงจะประสานเข้าพบฝ่ายบริหารของบริษัท การบินไทย เพื่อขออภัยในสิ่งที่เขียนซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อมาตรฐานของทางสายการบินต่อไป ในช่วงสัปดาห์หน้าหลังจากที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยในทันที

สุดท้าย ผมต้องขออภัยต่อทุกท่านที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันเกิดจากเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผมมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

'คนการบินไทย' เผย!! ผู้โดยสารจงมั่นใจทุกการตัดสินใจของกัปตัน ดีใจ!! ผู้กล่าวตำหนิ 'เข้าใจ' และกล้าออกมาแสดงความรับผิดชอบ

(30 ม.ค.67) จากเฟซบุ๊ก 'Sanong Mingcharoen' โดย กัปตันสนอง มิ่งเจริญ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีการตำหนินักบินและสายการบินจากผู้ใช้บริการที่เป็นนักธุรกิจหนุ่มรายหนึ่ง ซึ่งล่าสุดออกมาขอโทษแล้ว ว่า...

เมื่อวาน ได้อ่าน Post ก็รู้สึกไม่สบายใจ ที่ผู้เขียนขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการบินอย่างมาก 

แต่ส่วนตัวมั่นใจว่า กัปตันตัดสินใจได้เป็นอย่างดี และจากข้อมูลใน Post ของพี่ๆ น้องๆ นักบินที่เขียนถึงหลักคิด และวิธีตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่มีทัศนวิสัยต่ำจนลงสนามไม่ได้ น่าจะทำให้ผู้โดยสารและสาธารณชนรับทราบข้อมูลอีกด้านที่ถูกต้อง

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=7050685725014030&id=100002180183571&mibextid=Nif5oz 

ดีใจที่กล้าออกมาแสดงความรับผิดชอบครับ เชื่อว่า จะเป็นบทเรียนสำคัญในการใช้สื่อ Social ของผู้เขียน หวังว่า ทุกอย่างจะลงเอยด้วยดี มีการเข้าไปขอโทษตามที่แจ้งครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top