Sunday, 19 May 2024
การบินไทย

‘แอร์-สจ๊วด การบินไทย’ รับมือ ‘ผดส.ไม่น่ารัก’ รอจนเครื่องจอดเยอรมนี ตำรวจเข้ารวบทันที

(24 ก.ค. 66) เฟซบุ๊ก My Pride My THAI ได้โพสต์ข้อความเล่าเหตุการณ์บนสายการบินชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยระบุว่า

เหตุเกิดบนเที่ยวบินหนึ่ง…เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19.7.2023 เดินทางจาก BKK~FRA สิ่งที่จะเล่าให้เห็นมีมุมมองให้คิดได้เยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องโพสต์นี้คืออะไร … ติดตามอ่านได้ครับ

เมื่อเที่ยวบินนี้ ออกเดินทางได้สัก 1:30 ชม. บนน่านฟ้าอินเดีย
ในขณะที่ลูกเรือเสิร์ฟเสร็จ จู่ๆ ก็มี ผดส.ชายรูปร่างใหญ่
เดินไปนั่งที่เก้าอี้ ‘long-leg’ โดยไม่ได้ชำระค่าโดยสารเพิ่ม !

ลูกเรือจึงได้แจ้งว่า ให้กลับไปนั่งที่ของตนเอง แล้วยังไงก็ไม่รู้ ผดส.ท่านนั้นเริ่มมีอาการไม่พอใจ และเริ่มขึ้นเสียง ผมนั่งอยู่ห่างจากเหตุการณ์ประมาณ 8 แถว ก็เริ่มสังเกตได้ว่า เขาเริ่ม ‘ไม่น่ารัก’ แล้ว

ผ่านไป 5 นาที ผมสังเกตว่า มีลูกเรือเริ่มนำเอกสารไปชี้แจง
ปรากกฏว่า …สิ่งที่ไม่น่าเชื่อ ก็ได้เกิดขึ้น !

‘ผดส.’ คนนี้ เริ่มเสียงดังและ ‘ทุ่ม’ ของใส่โต๊ะ และ ทำลายเก้าอี้ฝั่งที่เขานั่ง ผมนี่แบบตกใจเลย ต้องออกตัวว่า ลูกเรือพี่เขาเป็นผู้หญิง และ สจ๊วต บนไฟล์ผู้ชายเท่าที่เห็นน่าจะยืนกันแค่สองคน !
ผมก็รู้แล้วล่ะว่า …ความ ‘ท้าทาย’ เริ่มเกิดขึ้นครับ

สิ่งแรกที่เห็นคือ … พี่สจ๊วตท่านแรกเริ่มปกป้องประตูที่เฝ้าแล้ว และเห็นว่าพี่เขาเริ่มโทรคุยกับทางนักบิน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

ผ่านไป 10 นาที เชื่อไหมครับ ผมเตรียมไว้แล้วว่ามีจับกุมหรือมัดตัวแน่นอน ! เพราะ คุกคามคนของเราแล้ว ซึ่งผมเองก็ไม่รู้หรอกว่า ระเบียบต้องจัดการยังไง แต่ปรากฏว่า ?

สิ่งที่ผม ‘เดา’ กลับตรงกันข้าม ลูกเรือ ‘ปล่อย’ ให้เขานิ่งก่อนและ สถานการณ์ที่ตึงเครียดกลับนิ่งลง ! เฮ้ย..คืออะไร ?

ผ่านไป 10 ชม. จนถึงเสิร์ฟอาหารเช้า ลูกเรือทุกท่านดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ! งงดิ ใครๆ ก็งง ผดส.ท่านนั้น ยังเดินมาขอกล้วย กาแฟ และ ทำมาคุยกับคนอื่นได้ เสมือนหนึ่งว่าสิ่งที่เขาทำ เหมือนแค่ฝันไป แต่…

ทีมนักบิน และ ลูกเรือทุกคน ได้ทำการ ‘วางแผน’ ไว้อย่างเรียบร้อยแล้วครับ
ก็คือ … พอเครื่องแตะพื้นปุ๊ปเว้ย จอดเสร็จปุ๊ปใช่ป่ะ
กัปตันประกาศว่า “ท่าน ผดส.โปรดนั่งอยู่กับที่” อย่าเพิ่งลุก
พอรอได้ 2 นาที

จนท.ตำรวจเยอรมันนี 5 นาย อาวุธครบมือ เดินไปยังตำแหน่งของคนนั้น และเข้าจับกุมทันที !
นี่คือกระบวนการที่ทาง กัปตันได้ปรึกษากันแล้วว่า

ถ้าเรา ใส่กุญแจมือ ในช่วงเวลาที่เขาก่อกวน มีการ ‘บาดเจ็บ’ แน่นอน เพราะเขาตัวใหญ่ และไม่ได้เมาด้วย ! ทางทีมจึงเห็นว่า ปล่อยไปก่อน รอเครื่องลง เจอกัน !

จากเหตุการณ์นี้ ที่ผมแอบสังเกต ตั้งแต่เกิดเรื่อง จนถึงปลายทางนั้น ผมปรบมือให้เลยครับ กับการตัดสินใจของหัวหน้าพนักงานต้อนรับ ทีมีความเป็นมืออาชีพมากๆ

ที่ชั่งดูแล้วว่า อะไรควรทำบ้าง สุดยอดครับ ปรบมือให้
สุดท้าย เรื่องที่เกิดขึ้น คงฝากเป็น ‘ประสบการณ์’ ให้พี่ๆ ทุกท่าน ลูกเรือทุกคน และ การบินไทย 🇹🇭 ของเรานั้น ยังคงเป็นสายการบินที่ผมเชื่อมั่นและไว้ใจครับ

สุดยอดครับ ..
19:07:2023

แฟรงค์เฟริต, เยอรมันนี
PS.ผมได้ใส่รูปบางส่วนในคอมเม้นใต้ภาพ และ ผมได้ให้กำลังใจลูกเรือทุกท่านเป็นลายลักษ์อักษรครับ — at Frankfurt Airport

Cr: ขอบคุณเรื่องจาก FB: Kitiphong Santiwatr

'การบินไทย' ตั้งลำ!! โชว์รายได้สวยไตรมาส 2 ปี 66 พา 'บริษัท-บริษัทย่อย' ทำกำไรสูงสุดในรอบ 20 ปี

(11 ส.ค. 66) รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท หรือ 73.7% แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุดในช่วงปี

โดยบริษัทได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและจีน มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%

บริษัท และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,967 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,643 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,262 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 9,307 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,609 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 4,469 ล้านบาท

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 7,515 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นรายได้รวม 344 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 6,457 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 23,361 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยบริษัทเพิ่งรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 2 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน

โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14.0 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 223,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 25,140 ล้านบาท (12.7%) หนี้สินรวมจำนวน 279,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,369 ล้านบาท (3.9%)

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 56,253 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 14,771 ล้านบาท

และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทจึงมีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565

กำไรอื้อ!! ‘การบินไทย’ เปิดกำไรไตรมาส 2 สูงสุดในรอบ 20 ปี

กำไรอื้อ!! ‘การบินไทย’ เปิดกำไรไตรมาส 2 สูงสุดในรอบ 20 ปี กว่า 8.5 พันล้านบาท เปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่าง 6 เดือนแรก ของปี 2566 และ 6 เดือนแรก ของปี 2565 จะแตกต่างกันอย่างไร ไปดูกันเลย!!

‘การบินไทย’ อยู่ระหว่างเจรจาจัดหาเครื่องบินใหม่กว่า 95 ลำ หวังขยายขีดความสามารถการให้บริการในอนาคต

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.66 การบินไทยกำลังเจรจากับทั้ง Boeing และ Airbus เพื่อสั่งซื้อเครื่องบินใหม่มากกว่า 95 ลำ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 15 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 80 ลำ ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามการดำเนินการปรับโครงสร้างใหม่และเตรียมพร้อมรับตลาดการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การบินไทยได้ประกาศว่ากำลังจัดหาเครื่องบิน A321neo จำนวน 10 ลำ และ A350-900 เพิ่มเติมอีก 11 ลำ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงกลางของการฟื้นฟูกิจการ แต่สายการบินก็ต้องการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวรายงานว่า ในเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเครื่องบินใหม่ทั้ง 95 ลำนี้จะเป็นรุ่นใดบ้าง แต่คาดว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ หากเป็นไปตามแผน เครื่องบินใหม่จะทยอยรับมอบในช่วงทศวรรษหลังจากการสั่งซื้อ และนี่จะเป็นคำสั่งซื้อขนาดใหญ่อีกหนึ่งรายการของสายการบินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

Boeing และ Airbus ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น

จากข้อมูลของ planespotters.net ปัจจุบัน ฝูงบินของการบินไทยมีจำนวน 52 ลำ ประกอบด้วย A320-200 จำนวน 4 ลำ A330-300 จำนวน 3 ลำ A350-900 จำนวน 14 ลำ Boeing 777-200ER จำนวน 6 ลำ Boeing 777-300ER จำนวน 17 ลำ Boeing 787-8 จำนวน 6 ลำ และ Boeing 787-9 จำนวน 2 ลำ

ทั้งนี้ สายการบินกำลังอยู่ในระหว่างการควบรวมกิจการของสายการบินในกลุ่ม Thai Smile เข้าดำเนินการภายใต้การบินไทย และรับโอนย้ายเครื่องบิน Airbus A320-200 ที่เหลืออีก 16 ลำ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

‘การบินไทย’ เพิ่มเที่ยวบินจีน รับฟรีวีซ่า  พร้อมเปิดบินในปท.เข้าภูเก็ตไวขึ้น 1 ต.ค.นี้

(11 ก.ย. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังเข้าหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติยินดีและมีความพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณความต้องการเดินทาง (Demand) ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายฟรีวีซ่า Free Visa ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ที่กำลังจะมาถึง

การบินไทยจึงได้ปรับแผนเริ่มทำการบินในเส้นทางกรุงเทพ-ภูเก็ต ไป-กลับ เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม ด้วยเครื่องบินลำตัวกว้าง ซึ่งมีความจุ 292 ที่นั่ง ให้บริการในชั้นธุรกิจ 30 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 262 ที่นั่ง ด้วยความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยมีรายละเอียดเที่ยวบินดังนี้…

- เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต : เที่ยวบินที่ TG201 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 08.00 น. ถึงภูเก็ตเวลา 09.25 น.
- เส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ : เที่ยวบินที่ TG202 ออกจากภูเก็ต เวลา 10.20 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.50 น.

โดยเมื่อรวมกับเที่ยวบินของสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ไป-กลับ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 สัปดาห์ละ 49 เที่ยวบิน รวมเป็นจำนวน 56 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

อีกทั้ง บริษัทฯ ยังมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางสาธารณรัฐประชาชนจีนจาก 25 เที่ยวบิน เป็น 35 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้…

- เส้นทางกรุงเทพฯ-ปักกิ่ง ไป-กลับ ทำการบิน 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566
- เส้นทางกรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ ไป-กลับ ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2566 - 30 มีนาคม 2567
- เส้นทางกรุงเทพฯ-กวางโจว ไป-กลับ ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2566 - 30 มีนาคม 2567
- เส้นทางกรุงเทพฯ-คุนหมิง ไป-กลับ ทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566
- เส้นทางกรุงเทพฯ-เฉิงตู ไป-กลับ ทำการบิน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดตารางการบิน พร้อมทั้งสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสารได้ที่เว็บไซต์ thaiairways.com หรือ สำนักงานขายการบินไทยและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ หรือ THAI Contact Center 0-2356-1111 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

‘การบินไทย’ เผย เที่ยวบินจากจีนเต็มแล้วกว่า 90% รับ ‘ฟรีวีซ่า’ คาด ปลายปีท่องเที่ยวคึกคัก หนุนเงินสะพัดกว่า 1.4 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 66 นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ว่า ขณะนี้ยอดจองเที่ยวบินของการบินไทยจากประเทศจีนเต็มกว่า 90% แล้ว หลังรัฐบาลไทยออกมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) เพื่อการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเป็นเวลาชั่วคราวจนถึง เดือน ก.พ.ปีหน้า

“เราเห็นการเติบโตอย่างมากในแง่ของปริมาณการเดินทางจากจีนสู่ไทย” นายกรกฎ ระบุ

ปัจจุบัน ประเทศไทยพึ่งพานักเดินทางจีนเป็นตัวแปรหลักในการฟื้นการใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากผ่อนคลายนโยบายวีซ่าและขยายอาคารโดยสารแห่งใหม่ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะที่การบินไทย ซึ่งอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 เปิดเผยเมื่อเดือน ก.ย.ว่า มีแผนที่จะเพิ่มเที่ยวบินไปยัง 5 เมืองของจีน เป็น 56 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากเดิมที่มี 49 เที่ยวบิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567 นักเดินทางจากจีนสามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องใช้วีซ่า ขณะที่ไทยในฐานะจุดหมายปลายทางช่วงหยุดยาวยอดนิยมของชาวจีน ก็กำลังหาทางกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชีย

นายกรกฎ เปิดเผยว่า ช่วง 8 เดือนของปี 2566 ยอดนักเดินทางจากจีนเข้าไทย อยู่ที่เพียง 50% ของช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด แต่เขายังคงมั่นใจว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวในระยะยาว และการบินไทยยังเตรียมพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินไป-กลับจีนให้เท่ากับระดับช่วงก่อนโควิดระบาดด้วย

“เราพยายามจะคาดการณ์ล่วงหน้าว่าตัวเลขนี้ (นักท่องเที่ยวจีน) จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งหรือไม่ แต่เราเชื่อว่าเราสามารถกลับไปสู่ระดับที่เคยเป็นในปี 2562 ได้” นายกรกฎ เสริม

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า มาตรการ ‘Visa Exemption’ นี้ จะกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวจีน ให้เดินทางเข้าประเทศไทยรวมประมาณ 4.01-4.4 ล้านคนในปี 2566 และในช่วง 5 เดือนที่มีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 2,888,500 คน สร้างรายได้ให้ประเทศราว 140,313 ล้านบาท

'การบินไทย' จัดงาน Thai Networking 'The Rising of Northern' ส่งเสริมการขายตัวแทนจำหน่ายบัตรจาก 'ประเทศญี่ปุ่น-เกาหลีใต้'

(6 ต.ค.66) นายกรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดกิจกรรม 'THAI Networking' 'The Rising of Northern' เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ กับตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ณ โรงแรม สลิล ริเวอร์ไซด์

โดยกิจกรรมครั้งนี้ บริษัท การบินไทยฯ ได้สื่อสารทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ต่อตัวแทนจำหน่ายจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมทั้ง ชี้แจงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจ และเส้นทางบินของสายการบินไทยสมายล์ และแนะนำเส้นทางบินใหม่สู่อิสตันบูล ประเทศตุรกี ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้

อีกทั้ง นำเสนอผลิตภัณฑ์และการให้บริการบนเครื่องบินรูปแบบใหม่ อาทิ Amenity Kits จาก Jim Thompson ช็อกโกแลตจากกานเวลา และกาดโกโก้ บริการสื่อสาระบันเทิงบนเครื่องบิน และเมนูอาหารไทยแบบ All day dine สำหรับให้บริการผู้โดยสารในชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ที่รังสรรค์โดยเชฟโบ ดวงพร ทรงวิศวะ เจ้าของรางวัลเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย ปี 2013 (Asia’s 50 Best Restaurants 2013) จากการจัดอันดับของนิตยสาร Restaurant 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการขายและการตลาดที่รองรับการขยายเครือข่ายจุดบิน รวมทั้ง วางแผนการขายรองรับเที่ยวบินในตารางบินฤดูหนาว ปี 2566 และเตรียมความพร้อมสำหรับช่วง Low Season ปี 2024

‘การบินไทย’ คว้ารางวัล ‘TTG Travel Hall of Fame’ ควบ ‘Best Inflight Service’ ในงาน TTG Travel Awards 2023

(9 ต.ค. 66) นายกรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับรางวัล TTG Travel Hall of Fame และรางวัล Best Inflight Service ในพิธีประกาศรางวัล ทีทีจี ทราเวล อวอร์ด ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566 (the 32nd TTG Travel Awards 2023) ณ ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

การประกาศรางวัล ทีทีจี ทราเวล อวอร์ด จัดขึ้นทุกปี เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลและองค์กรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ โดยจัดอันดับจากการลงคะแนนของผู้อ่านนิตยสาร TTG Travel Trade Publishing รวมทั้ง TTG Asia, TTG China, TTG India, TTG Mice, TTG Associations, TTG-BT Mice China, และ TTG Asia Luxury

ทั้งนี้ บุคคลหรือองค์กรที่ได้รางวัล TTG Travel Hall of Fame จะเป็นบุคคลหรือองค์กรที่ได้รางวัลเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งการบินไทยได้รับรางวัลสายการบินยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกันครบ 10 ปี และได้รับเกียรติบันทึกใน TTG Travel Hall of Fame ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน

‘การบินไทย’ เตรียมส่ง ‘ถุงน้ำใจ’ 500 ชุด ช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล เพื่อบรรเทาทุกข์-เรียกขวัญกำลังใจ-ย้ำเตือน ‘คนไทยจะไม่มีทางถูกลืม’

(20 ต.ค. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานรับมอบ ‘ถุงน้ำใจ’ จำนวน 500 ชุด จากโครงการ ‘ส่งน้ำใจให้คนไทย ในอิสราเอล’ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม เครือ RBS group และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี นายนพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RBS group เป็นผู้ส่งมอบ พร้อมด้วย นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล นายกรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทยฯ ร่วมรับมอบ ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย

โดย ‘ถุงน้ำใจ’ ประกอบด้วย ขนมคาวหวานต่าง ๆ ที่จะพอช่วยบรรเทาความหิว และสร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับพี่น้องชาวไทยในอิสราเอล ซึ่งจะถูกขนส่งไปในเครื่องบินของการบินไทย และเครื่องบินของกองทัพอากาศ ที่จะทำการบินไปอพยพคนไทยในอิสราเอล โดยได้รับการอำนวยการจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และการบินไทย โดยหลังจากเครื่องบินลงจอดที่ปลายทาง ‘ถุงน้ำใจ’ จะถูกส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ นำไปกระจายส่งมอบให้กับผู้อพยพลี้ภัยสงครามชาวไทย ในศูนย์อพยพลี้ภัย 2 จุด ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถานทูตฯ

ทั้งนี้ จากข้อมูลปัจจุบันระบุว่ามีคนไทยจำนวนทั้งหมด 30,000 คน อยู่ในประเทศอิสราเอล จำนวนที่อพยพสำเร็จไปแล้ว 1,000 คน และได้ลงทะเบียนแจ้งขออพยพแล้วจำนวนมากกว่า 8,000 คน โดยความเป็นอยู่และอาหารการกินของผู้อพยพลี้ภัยชาวไทยนั้น จะได้รับการดูแลจากสถานทูตฯ

โครงการ ‘ส่งน้ำใจให้คนไทย ในอิสราเอล’ นั้น นอกจากเป็นการส่ง ‘ถุงน้ำใจ’ ไปช่วยบรรเทาความหิวแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ในการ ‘ส่งน้ำใจ’ และเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวไทยที่กำลังลำบาก ให้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกลืม

'การบินไทย' รีแคป!! 2 ทศวรรษแห่งการโบยบิน รันธุรกิจเคียงคู่ 'รักษ์โลก' ในทุกกระบวนการ

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าว 'FROM PURPLE TO PURPOSE' การปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) อย่างลงตัว โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ พร้อมด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารร่วมแถลงข่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ 

FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม
FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ได้ถูกนำมาตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล คงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นดังกล่าวจะปรากฏในทุกที่สาธารณะทั่วโลกและทุกชั้นบริการบนเครื่องบิน ในฐานะเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ซึ่งจะสวมใส่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป 

ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯ กำหนดไว้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top