Friday, 4 July 2025
ค้นหา พบ 49177 ที่เกี่ยวข้อง

‘ปชน.’ เล่นบทหยิกแกมหยอกทั้งที่ ‘รัฐบาล’ หมดสภาพ สะท้อน ‘ดีลปฏิญญาฮ่องกง’ ระหว่าง ‘ส้ม -แดง’ มีอยู่จริง

(3 ก.ค. 68) แปลกไหมที่ตอนนี้ จังหวะแบบนี้ของ ‘รัฐบาล’ ที่เรียกว่าหมดสภาพ จนใครที่เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายต้านสามารถขย้ำ 2 พ่อลูกตระกูลชินได้อย่างราบคาบที่สุดนั้น กลับดูสุญญากาศ จนถึงแอบรู้สึกได้ว่า ‘ประเทศไทยตอนนี้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยอย่างงั้นหรือ?’ และ ‘ทักษิณ’ แอนด์ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ก็มีเพียงได้รับเสียงฉันทามติที่มิเห็นชอบในพฤติกรรมที่ผ่านมาเท่านั้นโดยประชาชน หากแต่มิมี ‘ภาคการเมือง’ คอยสำทับเป็นแรงหนุนให้คนไทย

ด้วยสถานภาพที่สั่นคลอนอย่างรุนแรงที่เป็นวิบากกรมของ 2 พ่อลูกหนนี้ จุดม็อบและภาคประชาชนจนติด แต่มิอาจจุดไฟในตัวเหล่าตัวพ่อตัวแม่ของด้อมส้ม ไม่ว่าจะเป็น เอก-ธนาธร / เท้ง-ณัฐพงษ์ / พิธา / ปิยบุตร / ช่อ / วิโรจน์ / ต้อม-ชัยธวัช และ ติ๋ง-ศรายุทธิ์ เลขาพรรคฯ ได้เลย ไม่มีใครออกตัวแรงๆ ด่า ‘ทักษิณ’ และ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เลยแม้แต่น้อย มีแต่ปล่อยให้ ‘ปวิน’ ออกมาเหวี่ยงจัดพร้อมซัดพวก ‘ส้มอมสาก’ ที่ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ‘ปฏิญญาฮ่องกง’ กำลังซ่องสุมไพร่พล ‘ส้มสีเลือด’ มาแต่อ้อนแต่ออด 

ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ในเวลานั้น มีพรรคที่อ้างตนว่าเป็น ‘พรรคของคนรุ่นใหม่’ ที่ชื่อว่า ‘พรรคอนาคตใหม่’ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล โผล่ขึ้นมาสวมบท ‘ล้างบางการเมืองเก่า อำนาจเก่า’ ประมาณว่าถ้าฟ้ารักพ่อเอก จงเลือกพรรคพ่อเอก ซึ่งตอนนั้นอนาคตใหม่ก็ดันได้ความใหม่ จนกวาดคะแนนเสียงมาเป็นอันดับสาม และผงาดเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในกรุงเทพฯ

แต่อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ก็จบลงด้วยการถูกยุบพรรคจากเหตุ ‘ธุรกรรมอำพราง’ ในการบริจาคเงินเกินวงเงินที่กฎหมายกำหนด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่กระทำการลับ ลวง พราง ว่าเป็นการ ‘ปล่อยกู้’ ให้แก่พรรค แล้วก็สร้างอวตารใหม่ขึ้นมาทดแทนอย่างเร็วไวในชื่อ ‘พรรคก้าวไกล’ แต่แล้วก็มาถูกยุบอีกด้วยพฤติกรรมล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเกิด ‘พรรคประชาชน’ เป็นอวตารจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ‘อนาคตใหม่ – ก้าวไกล’ จวบมาจนถึง ‘พรรคประชาชน’ จะมีอยู่สิ่งหนึ่งคล้ายกันนอกเหนือจากการเป็นได้เพียงพรรคฝ่ายค้าน คือ การมีพฤติกรรมครึ่งๆ กลางๆ ในการวิจารณ์ตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะกับนายทักษิณ ซึ่งภาพนี้ก็ยิ่งชัด เมื่อพฤติการณ์ของ ‘พรรคประชาชน’ ในขณะนี้ ไม่ค้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี ‘ลูกสาว’ อย่าง ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ เป็นหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรีแบบดุเดือด แต่กลับยังเล่นบทเดิม คือ ‘ท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์’ และ’กองทัพ’ แบบไม่ลดละ

คำถาม คือ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้พรรคส้มและหัวเรือส้มเหล่านี้ เริ่มทำให้สงสัยว่า ‘ส้มกำลังอมสีเลือด’ หรือไม่? ภายใต้การเลือกที่จะเป็นฝ่ายค้านแบบ ‘หยิกแกมหยอก’ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งของคุณพ่อทักษิณ แต่กลับไล่บดขยี้ ‘สถาบันและกองทัพ’ ไม่เลิก

ความสุกงอมของปรากฏการณ์นี้ ทำให้อดคิดไม่ได้กับ ข่าวลือเรื่อง ‘ดีลฮ่องกง’ ระหว่าง ‘นายทักษิณ ชินวัตร’ กับ ‘นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่สาระสำคัญของดีลนั้นเป็นการทอดไมตรีจาก ‘ธนาธร’ ที่พร้อมจะหยิบยื่น ‘โอกาส’ ครั้งสำคัญให้กับ ‘ทักษิณ’ ในการฟื้นศรัทธาประชาชน โดยเฉพาะฝั่งที่อ้างตัวเป็นฝ่าย ‘ประชาธิปไตย’ ให้กลับมาเลือก ‘เพื่อไทย’ อีกครั้ง ซึ่งหากทำได้ตามเกมนี้จริง แน่นอนว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมคงอ่อนกำลังลงไปเยอะ และความนิยมในตัว ‘นายใหญ่’ จะกลับมาล้นพ้นอีกครั้งก็เป็นไปได้

เพราะจากยุค รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนถึงยุครัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร มีเรื่องไม่ชอบมาพากล ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เดินไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมมากมาย แต่เหตุใด ‘พรรคส้ม’ ซึ่งมักจะชอบแสดงบทคนรักความเป็นธรรม คนต้องเท่ากัน กลับเพิกเฉย ละเลย และตรวจสอบแค่ ‘หยิกแก้มเล่น’ เท่านั้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่อง ‘ป่วยทิพย์ ชั้น 14’ ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งว่ากันว่ามีการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องนอนคุก แถมได้นอนในห้องวีไอพีของโรงพยาบาลตำรวจแบบสบายๆ และได้รับการพักโทษ ชนิดน่างุนงงสงสัยเป็นที่สุดนั้น เหตุใด พรรคส้ม ไม่เคยไล่บี้? หรือขุดคุ้ยได้ดุเด็ดเผ็ดมันแบบสมัย ‘โรม-รังสิมันต์’ ไล่คุ้ยตั๋วช้างบ้างเลย

นี่ขนาดหมอเก่ง วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.คนหนึ่งของพรรค ได้อภิปรายในสภาถึงพิรุธของการป่วย การส่งตัว การตรวจ และการรักษา ตลอดจนการได้อยู่ในห้องวีไอพีที่ผิดหลักเกณฑ์อย่างละเอียดยิบ จนเป็นที่ชื่นชมของสังคม แต่หัวหน้าพรรคก้าวไกล-ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นอย่าง ‘พ่อว่าว’ และพวก ก็หาได้ดำเนินการเอาผิด ด้วยการยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบไม่

นี่คือพรรคที่คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะวัยใด เพศใด ฝากความหวังไว้ นี่คือพรรคที่คนรุ่นใหม่เชื่อว่าจะไม่มีวันทำการเมืองแบบต่อรองอำนาจ เพื่อหวังอำนาจในภายหลังแบบที่ตนกำลังไล่ด่าการเมืองในอดีต ที่สถาปนาว่าเป็น ‘การเมืองเก่า’

แต่สิ่งที่ผ่านมา ‘คนในพรรคส้มที่เริ่มอมสีเลือด’ นี้ กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ หลายกรณี ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อใด ก็มิได้มีความมุ่งมั่นที่จะตรวจสอบให้กระจ่าง และเอาผิดให้ถึงที่สุด เป็นเพียงแต่ขับออกพ้นพรรค แล้วจบไปหรือบางราย กว่าจะขับออกพ้นพรรค ก็ต้องให้สังคมไล่บี้ ตำหนิ ประณาม ตั้งคำถามถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของพรรค เช่น กรณีนายไชยามพวานมั่นเพียรจิตต์ เป็นต้น

หรืออย่างกรณีขับ ‘อ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกจากพรรค ก็ไม่สามารถอ้างอิงได้ว่า ‘หมออ๋อง’ กระทำการผิดกฎ ผิดระเบียบ ผิดข้อบังคับพรรคข้อใดจนมีความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องขับออกจากพรรคนั้น กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างของ ‘ความฉ้อฉล’ ที่ดีที่สุดหนึ่งว่า ถ้าถึงเวลาต้องการอำนาจ ต้องการตำแหน่ง พรรคคนรุ่นใหม่พรรคนี้ ก็พร้อมที่จะ ‘ซิกแซก’ หาวิธีให้ได้มาซึ่งอำนาจ ไม่ต่างจากนักการเมืองและพรรคการเมืองเก่าๆ เลยนิหว่า 

กลับมาที่ตระกูลชิน ครั้นเมื่อฝ่ายตนเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร เมื่อเดือนมีนาคม 2568 ว่ามีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ กรณีใช้ตั๋วสัญญา PN แบบไม่ระบุวันคืน ไม่มีดอกเบี้ยกับคนในครอบครัวเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีมากกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งบทสรุปก็จบลงที่ฝ่ายค้านลงมติแพ้ในสภา แต่ก็ใช่ว่าพรรคประชาชนจะไม่สามารถใช้กลไกยื่น ปปช. หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยต่อว่า นายกฯ ขาดคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์หรือไม่แต่อย่างใด

เมื่อมีการเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาระหว่างแพทองธารกับฮุนเซน มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำประเทศ เช่น การว่าร้ายแม่ทัพภาค 2 การเสนอว่าอีกฝ่ายอยากได้อะไรให้บอก ซึ่งเหตุการณ์นี้โดยหลักการควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่เมื่อแพทองธารไม่ทำ พรรคประชาชนก็มิได้กดดัน แต่ไปเดินเกมให้เกิดการ ‘ยุบสภา’ เพราะดี๊ด๊าว่า ‘เลือกตั้งใหม่หนนี้’ พรรคส้มจะได้แต้มต่อจนแลนด์สไลด์ของจริง 

ไม่นานมานี้ เมื่อพรรคภูมิใจไทย พยายามใช้ช่องทางการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา แต่เสียงไม่พอเพราะต้องมีเสียง สส.ลงชื่อ 99 เสียง แต่พรรคประชาชน ‘ไม่ทำ’ โดยอ้างว่า ไม่ควรทำพร่ำเพรื่อ เพราะถ้าซักฟอกจะทำให้ยุบสภาไม่ได้

ทำไมฝ่ายการเมืองอย่างพรรคประชาชนไม่แสดงให้เห็นว่า ท่านใช้กลไกทางการเมืองอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา หากแต่กลับไปบอกว่า ประชาชนอย่าลงถนน เพราะเกรงว่าจะเป็นการกวักมือเรียกทหารมายึดอำนาจ ทั้งๆ ที่สาระบนเวทีชุมนุมวันนั้นไม่มีการชี้ชวนในรัฐประหารแม้แต่แอะเดียว หากแต่วันๆ พล่ามแบบแผ่นเสียงตกร่องอยู่อย่างเดียวว่า ‘ให้ยุบสภา’ 

นี่แหละหนา ที่ทำให้คนเริ่มมีปัญหาจะกลับไปย้อนดูว่า ‘ปฏิญญาฮ่องกง’ ระหว่าง ‘ส้ม-แดง’ มันมีอยู่จริงใช่หรือไม่?

ทวนอีกครั้ง!! ทำไมวันนี้ ‘พรรคส้ม-คนส้ม’ ละเว้นการปฏิบัติใดๆ ที่จะเป็น ‘โทษ’ ต่อ ‘ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง’ (ตรวจสอบ-ขุด-แฉ) แต่กลับพร้อมที่จะเลือกเส้นทางที่จะทำให้ พรรคประชาชน ก้าวไปสู่โอกาสในการ ‘ได้อำนาจ’ (ยุบสภา) 

พฤติกรรมและท่าทีทั้งหมดที่มีต่อพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินตั้งแต่สมัย ‘พรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน’ มาจากผู้นำจิตวิญญาณอย่าง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่เคยบอกไว้ว่า “พรรคเพื่อไทยคือมิตร และทางออกที่จะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าต้องมีสองพรรคนี้” จริงแท้แค่ไหน?

สรุปแล้ววันนี้ บทบาท ‘ส้ม’ แบก ‘แดง’ ตาม ‘ดีลฮ่องกง’ ไม่ใช่แค่พูดกันพล่อยๆ จริงหรือเปล่า? 

นี่น่าจะเป็นคำถามที่คนรุ่นใหม่และคนที่กาส้มในการเลือกตั้งที่ผ่านมา น่าจะลองตั้งไว้กับ ‘พรรคประชาชน’ สักหน่อย…

เกาหลีเหนือเตรียมส่งทหารเพิ่ม 30,000 นาย ร่วมรบเคียงข้างรัสเซียในแนวหน้าสมรภูมิยูเครน

(3 ก.ค. 68) เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของยูเครนเปิดเผยว่า เกาหลีเหนือเตรียมส่งทหารระลอกใหม่จำนวน 25,000–30,000 นายไปยังแนวหน้าสมรภูมิยูเครน เพื่อสนับสนุนกองทัพรัสเซีย โดยก่อนหน้านี้มีการส่งทหารแล้ว 11,000 นายเมื่อปลายปี 2024 ซึ่งประสบความสูญเสียอย่างหนักถึง 4,000 นาย

การประเมินของยูเครนระบุว่าทหารเกาหลีเหนือชุดใหม่นี้อาจเริ่มเดินทางภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า และมีแนวโน้มถูกส่งเข้าสู่เขตยึดครองของรัสเซียในยูเครน เพื่อสนับสนุนการรุกขนาดใหญ่ โดยรัสเซียจะจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์ให้ครบถ้วน

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงความเคลื่อนไหวของเรือบรรทุกทหารรัสเซียในท่าเรือดุนาย และเครื่องบินขนส่งสินค้าที่สนามบินซุนอัน (Sunan) ของเกาหลีเหนือ บ่งชี้ถึงการเตรียมเคลื่อนย้ายทหารครั้งใหญ่เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าอาจเป็นการเดินทัพระยะยาวผ่านไซบีเรียซึ่งติดชายแดนเกาหลีเหนือ

ยูเครนและหน่วยข่าวกรองตะวันตกต่างจับตาการฝึกและประจำการของทหารเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิด โดยพบว่าทหารเหล่านี้เริ่มได้รับการฝึกซ้อมร่วมกับกองทัพรัสเซียมากขึ้น ทั้งในด้านยุทธวิธี ภาษาทหาร และการใช้ปืนลูกซองเพื่อต้านโดรนยูเครน

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ารัสเซียเตรียมรับช่างทหารและผู้เก็บกู้กับระเบิดจากเกาหลีเหนืออีก 6,000 นาย เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในแคว้นคูร์สก์ ด้านรัฐมนตรีกลาโหมยูเครนเตือนว่า การพึ่งพาทหารต่างชาติสะท้อนปัญหาการเกณฑ์ทหารภายในรัสเซียที่ย่ำแย่ และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเกาหลีเหนือเอง

‘โดรน’ อุตสาหกรรมความมั่นคงใหม่ของรัสเซีย ภายใต้เงาสงคราม – การคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

(3 ก.ค. 68) ในขณะที่สมรภูมิยูเครนยังคงเป็นพื้นที่สู้รบที่ลุกเป็นไฟและกินเวลานานกว่าสองปี รายงานจากหน่วยงานวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของรัสเซีย (Russian think tank) ได้เผยให้เห็นปรากฏการณ์สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบงันแต่ทรงพลัง การเร่งผลิตโดรนทางทหารในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ความเปลี่ยนแปลงนี้มิใช่เพียงกลไกเสริมยุทธศาสตร์รบหากแต่เป็นบทพิสูจน์ถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของรัสเซียในเงาของการคว่ำบาตรและเป็นการส่งสัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกไม่อาจมองข้าม สงครามรัสเซีย - ยูเครนทำให้ “โดรน” เปลี่ยนสถานะจากเพียงเครื่องมือสนับสนุนกลายเป็นหัวใจของการสู้รบทั้งเชิงรุกและรับ โดยเฉพาะฝั่งรัสเซียที่เริ่มใช้โดรนอย่างเป็นระบบและมียุทธศาสตร์มากขึ้น ตั้งแต่โดรนลาดตระเวนเพื่อเก็บภาพจากแนวหน้า ไปจนถึง “โดรนพลีชีพ” (Kamikaze drones) อย่าง Lancet หรือ Geran-2 ที่สามารถเจาะแนวรับของฝ่ายยูเครนได้อย่างแม่นยำและต้นทุนต่ำ

การผลิตโดรนในรัสเซียช่วงกลางปี ค.ศ. 2025 ทะยานสูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจการผลิตรายงานว่า อัตราการผลิตในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นถึง 16.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดปี 2024 ถึง 1.6 เท่า แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างเข้มข้นของรัฐในการผลักดันโดรนให้เป็นสินค้าหลักในยุทธศาสตร์สงคราม สำหรับปี ค.ศ. 2024 รัสเซียผลิตโดรนพลเรือนกว่า 16,400 ลำ เพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่าจากปีก่อนหน้า พร้อมกับการจัดตั้งโรงงานผลิตโดรนมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ และดึงภาคเอกชนกว่า 200 บริษัทเข้าร่วมโครงการระดับชาติ National Drone Project เพื่อสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีการบินไร้คนขับอย่างครบวงจร ทั้งด้านการผลิต วิจัย ฝึกอบรม และซ่อมบำรุง โดรนจึงกลายเป็น “อุตสาหกรรมใหม่” ที่รัฐใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการเสริมสร้างอธิปไตยทางเทคโนโลยี ท่ามกลางแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก รายงานจากศูนย์วิเคราะห์ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี (CAST) เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2025 ระบุว่า รัสเซียเพิ่มกำลังการผลิตโดรนทหารมากกว่า 400% ในเวลาไม่ถึง 18 เดือน พร้อมก่อตั้งสายการผลิตใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ตาตาร์สถาน อูราล และไซบีเรีย นอกจากนี้ ภาครัฐยังสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางและเล็กให้เข้าร่วมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สร้าง “military startup ecosystem” ในรูปแบบรัสเซีย 

ในที่ประชุมทางยุทธศาสตร์ที่เมืองโตลยัตตี แคว้นซามารา «Самарская область» ประธานาธิบดี
วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศว่าในปี ค.ศ. 2024 การผลิตโดรนพลเรือนของรัสเซียเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นความสำเร็จของนโยบายเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนภายในประเทศ รัฐบาลจึงตั้งเป้าให้โดรนเป็นหัวใจสำคัญในโครงสร้างยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารเท่านั้น แต่ยังเน้นส่งเสริมเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายนี้รัฐบาลรัสเซียได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างมหาศาลผ่านทุนสนับสนุน เงินอุดหนุน และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมมูลค่าหลายพันล้านรูเบิล พร้อมส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการผลิตโดรนในระดับอุตสาหกรรม รายงานจาก CNews ระบุว่าแผนลงทุนพัฒนาด้านโดรนของรัสเซียมีมูลค่าถึง 126 พันล้านรูเบิล ภายใน 7 ปีจนถึงปีค.ศ. 2030 โดยมุ่งผลิตโดรนหลากหลายรูปแบบถึง 59 รุ่น ครอบคลุมทั้งโดรนลาดตระเวน โดรนโจมตี และโดรนพลเรือนสำหรับงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมองโดรนไม่ใช่เพียงเครื่องมือทางทหารแต่ยังเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งอนาคต

เบื้องหลังความสำเร็จในการเร่งผลิตโดรนของรัสเซียไม่ได้เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากยุทธศาสตร์ “สายฟ้าแลบ” ที่ผสมผสานการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ การลักลอบจัดหาชิ้นส่วนผ่านเครือข่ายพันธมิตร และการ “แกะกล่อง” หรือ reverse engineering เทคโนโลยีของต่างชาติอย่างมีระบบ รายงานจากแหล่งข่าวด้านเทคนิคในรัสเซียระบุว่า ในปี ค.ศ. 2024 สัดส่วนของชิ้นส่วนโดรนที่นำเข้าจากจีนมีมากถึง 70% ขณะที่การผลิตในประเทศยังจำกัดอยู่ราว 30% โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญอย่างมอเตอร์ไฟฟ้า (electric motors) ซึ่งผลิตภายในได้เพียง 5% เท่านั้น จุดแข็งของรัสเซียจึงอยู่ที่ความสามารถในการดัดแปลง ปรับใช้ และพัฒนาต้นแบบของต่างชาติให้กลายเป็นอาวุธของตนเอง ตัวอย่างชัดเจนคือโครงการผลิตโดรน Geran-2 ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากต้นแบบของ Shahed-136 ซึ่งได้รับความร่วมมือเชิงเทคนิคจากอิหร่าน โดยมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่เมืองเยลาบูกา «Елабуга»  ในสาธารณรัฐตาตาร์สถาน «Республика Татарстан» เป็นศูนย์กลาง การพัฒนานี้เกิดขึ้นในเวลาเพียงหนึ่งปีหลังจากเริ่มได้รับโดรนจากอิหร่านมาใช้จริงในยูเครน แสดงให้เห็นถึงความเร็วและประสิทธิภาพของระบบการพึ่งพาตนเองเชิงกึ่งอัตโนมัติภายใต้แรงกดดันจากสงครามและการคว่ำบาตร 

รัสเซียจึงไม่เพียงแต่ผลิตโดรนแต่กำลังสร้างระบบอุตสาหกรรมที่สามารถ “ประกอบสงคราม” ได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การลอกแบบจนถึงการนำไปใช้จริงในสนามรบ ในสนามรบยุคใหม่โดรนรัสเซียทำหน้าที่เป็นทั้ง “กองกำลังสนับสนุน” ที่เติมเต็มข้อมูลข่าวสารและความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ให้กับกองกำลังอย่างไม่ขาดสาย และ “อาวุธโจมตี” ที่ใช้โจมตีเป้าหมายสำคัญด้วยความแม่นยำและต้นทุนต่ำ ด้วยการส่งโดรน FPV จำนวนหลายพันเครื่องต่อวันเข้าสู่แนวหน้า รัสเซียสามารถเพิ่มความต่อเนื่องในการลาดตระเวนและเฝ้าระวัง ลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันโดรนพลีชีพอย่าง Geran-2 และ Lancet ถูกใช้ในยุทธวิธีการโจมตีเชิงลึกกับศูนย์บัญชาการ โครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งเก็บอาวุธของฝ่ายตรงข้าม ผลที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในยุทธศาสตร์การป้องกันของยูเครนที่ต้องรับมือกับการโจมตีจากโดรนปริมาณมหาศาลซึ่งเกินกว่าที่เคยประสบมาก่อน รายงานจากสำนักข่าว Kommersant และ TASS ยังยืนยันถึงการใช้งานโดรนอย่างเป็นระบบตั้งแต่การเก็บข้อมูลเชิงลึกไปจนถึงการประสานและโจมตีเป้าหมายที่เจาะจงอย่างแม่นยำ สร้างสมดุลระหว่างการสอดแนมที่ต่อเนื่องและการโจมตีที่มีความลับคมเฉียบซึ่งเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการรบในสนามยุคใหม่อย่างสิ้นเชิง

แม้เผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรด้านเทคโนโลยีขั้นสูงจากตะวันตก รัสเซียสามารถเร่งผลิตโดรนได้อย่างรวดเร็วสะท้อนถึงการก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีชาตินิยม (techno-nationalism) และการสร้างอุตสาหกรรมสงครามพึ่งตนเอง (sovereign military-industrial complex) ซึ่งรัฐผลักดันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 เดิมรัสเซียพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์จากยุโรปและจีนสำหรับอาวุธนำวิถีและโดรน แต่หลังถูกคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รัฐหันมาใช้นโยบายทดแทนการนำเข้า (import substitution) อย่างเร่งด่วน รายงาน FSB ปลายปี ค.ศ. 2024 เผยการลักลอบนำเข้าไมโครชิปและชิ้นส่วนผ่านเครือข่ายในเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงถึงความยืดหยุ่นและการปรับตัวของรัฐในสงครามเศรษฐกิจการเติบโตของอุตสาหกรรมโดรนจึงมิใช่ผลจากภาวะสงครามเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการตอบโต้การครอบงำเทคโนโลยีตะวันตกที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยของตน ภายใต้แรงกดดันจากการถูกตัดขาดในห่วงโซ่อุปทาน รัฐจึงเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภายในประเทศ ผ่านโครงการอย่าง National Drone Project พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นเครือข่ายนวัตกรรมทางทหาร โดยมุ่งลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ ยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้เป็นเพียงการลอกแบบ แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมครอบคลุมตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ผลิต จนถึงการใช้งานจริงในสนามรบ ซึ่งสะท้อนความพยายามของรัสเซียในการแยกตัวจากอิทธิพลตะวันตก สร้างความเข้มแข็งจากภายใน และส่งสัญญาณว่าอนาคตสงครามและความมั่นคงจะขึ้นอยู่กับผู้ควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูงได้ก่อน

นอกจากความหมายด้านเทคโนโลยีและกำลังรบ การเร่งพัฒนาโดรนยังมีนัยสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์อย่างลึกซึ้ง การสร้างระบบผลิตโดรนภายในประเทศช่วยเสริมความมั่นคงยุทธศาสตร์โดยลดการพึ่งพาชิ้นส่วนต่างชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ถูกรุมคว่ำบาตรหนัก โดรนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับภูมิภาคและโลก ผ่านสมรภูมิแบบไฮบริดและสงครามสมัยใหม่ที่เน้นการโจมตีเป้าหมายแม่นยำ เพิ่มศักยภาพควบคุมพื้นที่ ลดต้นทุนการรบ และสะท้อนอำนาจใหม่ในฐานะมหาอำนาจเทคโนโลยีด้านความมั่นคง ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์การพัฒนาโดรนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “อธิปไตยเทคโนโลยี” (technological sovereignty) ที่มุ่งลดความเปราะบางจากการถูกตัดขาดจากระบบเทคโนโลยีโลก พร้อมเป็นเครื่องมือสร้างพันธมิตรและขยายเครือข่ายทางทหารกับพันธมิตร เช่น อิหร่านและจีน ส่งผลต่อการเปลี่ยนสมดุลอำนาจในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง โดยรวมแล้ว การลงทุนในโดรนไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีหรือสงคราม แต่เกี่ยวพันลึกซึ้งกับการรักษาอธิปไตยและการวางตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในเวทีโลกยุคศตวรรษที่ 21

การเติบโตของอุตสาหกรรมโดรนกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจภายในของรัสเซียในลักษณะที่เรียกว่า military Keynesianism หรือการใช้การผลิตทางทหารเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดในปี 2024–2025 ที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบทศวรรษโรงงานผลิตโดรนและศูนย์วิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดึงดูดแรงงานไอที วิศวกร AI และนักพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารเข้าสู่ภาครัฐหรือบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหม เทคโนโลยีของโดรนจึงกลายเป็นพื้นที่บรรจบกันระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ทหารในแบบที่เรียกว่า complex military-civilian innovation networkอย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการ “ทหารนิยม” (militarization) ของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐไหลออกจากภาคพลเรือนไปสู่ภาคสงครามอย่างต่อเนื่อง

การที่รัสเซียผลิตโดรนเองจำนวนมากไม่ได้เป็นเพียงเรื่องภายในประเทศ แต่ยังส่งผลในระดับภูมิรัฐศาสตร์อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในมิติของการปรับความสัมพันธ์กับพันธมิตรนอกตะวันตก เช่น อิหร่าน จีน เบลารุสและกลุ่มประเทศในเอเชียกลาง 

กับอิหร่าน: รัสเซียเคยพึ่งพาโดรน Shahed-131/136 จากอิหร่าน แต่ภายหลังเริ่มมีการ reverse engineering และผลิตในชื่อ Geran-2 เองในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากอิหร่านจึงเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างอุตสาหกรรมโดรนแบบรัสเซีย

กับจีน : แม้จะไม่มีความร่วมมือทางทหารอย่างเปิดเผย แต่บริษัทจีนบางรายถูกพบว่ามีการส่งชิ้นส่วนให้รัสเซียผ่านประเทศที่สาม ซึ่งสะท้อนความคลุมเครือของ “สงครามพรางทางเทคโนโลยี”

กับพันธมิตรอื่น: ความสามารถในการผลิตโดรนของรัสเซียทำให้กลุ่มประเทศต่อต้านตะวันตกเริ่มมองว่ารัสเซียคือแหล่งความรู้และเทคโนโลยีทางทหารทางเลือก อาจนำไปสู่การส่งออกเทคโนโลยีโดรนในอนาคต

บทสรุป การพัฒนาและผลิตโดรนอย่างรวดเร็วของรัสเซียไม่เพียงสะท้อนถึงความพยายามเสริมสร้างอธิปไตยทางเทคโนโลยีและความมั่นคงของชาติในยุคสงครามสมัยใหม่แต่ยังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการทำสงครามในระดับยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์อย่างลึกซึ้ง โดรนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในด้านการลาดตระเวนและการโจมตีที่แม่นยำ ตอกย้ำยุทธศาสตร์เทคโนชาตินิยมและการพึ่งพาตนเองของรัสเซียภายใต้แรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตร การขยายตัวของอุตสาหกรรมโดรนยังช่วยสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมทางทหารที่ผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้รัสเซียมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์เหนือยูเครนในสมรภูมิแห่งอนาคต ในขณะเดียวกัน การพัฒนาโดรนยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่รัฐที่มีเทคโนโลยีโดรนขั้นสูงจะสามารถรักษาอธิปไตยและขยายอิทธิพลได้มากกว่า ในโลกที่สงครามถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสูง โดรนจึงไม่ใช่แค่เครื่องมือสงคราม แต่เป็นตัวชี้วัดและตัวขับเคลื่อนสำคัญของอำนาจรัฐในศตวรรษที่ 21

โพสต์ต่างชาติแฉ ‘จอร์จ โซรอส’ วัย 94 รับเงิน 260 ล้านดอลลาร์ จาก USAID

(3 ก.ค. 68) ปราชญ์ สามสี โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กว่า.. คุณโดมส่งต่อ! โพสต์ร้อนจากต่างประเทศกล่าวหา George Soros รับเงิน 260 ล้านดอลลาร์จาก USAID

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยชื่อ "Dome Wuttipol Khirin" ได้เผยแพร่ภาพโพสต์จากบัญชีต่างประเทศที่กำลังเป็นประเด็นร้อน โดยเป็นโพสต์จากบัญชี “Mila Joy” บนแพลตฟอร์ม X (Twitter เดิม) ที่กล่าวอ้างว่า George Soros มหาเศรษฐีผู้มีบทบาททางการเมืองและสิทธิมนุษยชนระดับโลก ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงาน USAID ของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นจำนวนกว่า 260 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9,500 ล้านบาท

ในโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า “เขาไม่ได้ใช้เงินของตัวเองในการทำลายระบบยุติธรรมของอเมริกา เขาใช้ของเรา”

พร้อมภาพถ่ายของ Soros และคำบรรยายที่อ้างว่า “ก่อนที่โครงการจะถูกปิด USAID ได้โอนเงินทุนไปยัง...”

แม้ยังไม่มีการยืนยันจากทางการสหรัฐฯ หรือ USAID เกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจในวงกว้าง ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะในหมู่ผู้ใช้งานที่ให้ความสนใจเรื่องบทบาทของทุนต่างประเทศต่อการเมืองโลก

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ รายการ 'เหลาครอบครัว Family Talk'

โครงการสื่อสารกิจกรรมและจัดเวทีกลางสื่อสารให้ความรู้แก่ภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการพัฒนาครอบครัวคุณธรรมพลังบวก Positive Parenting ในสังคมไทย ผ่านสื่อออนไลน์ในรายการ 'เหลาครอบครัว Family Talks'
 
โดยวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ อาคารพระพรหมบัณฑิต วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง
กรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์เปิดตัวรายการ 'เหลาครอบครัว Family Talk' พร้อมเวทีเสวนา โดยมีพระครูสมุห์วชิรวิชญ์ ฐิตวํโส ดร., ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน, เสวนาเหลาครอบครัว โดย รศ.นพ.สุรยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), รศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ, ผู้อำนวยการ (ฝ่ายวิชาการ)​ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นางนุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ โดยในงานมีเครือข่ายการศึกษา ภาคประชาสังคม ชุมชน มาร่วมเป็นสักขีพยาน
 
รายการ: 'เหลาครอบครัว Family Talks' มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการสื่อสารสร้างความรู้และความเข้าใจกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ในการสื่อสารกับเด็กและเยาวชนสร้างครอบครัวพลังบวก เป็นพื้นที่กลางให้กับแกนนำ พี่เลี้ยงชุมชนครอบครัวพลังบวก และเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และการเสริมพลังใจในการทำงานเพื่อสังคม เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของนักวิจิตวิทยารุ่นใหม่และผู้ให้คำปรึกษาเพื่อนครอบครัวมีส่วนร่วมสร้างครอบครัวพลังบวกในสังคมไทย และเป็นพื้นที่ส่งเสริมสนับสนุนการนำหลักคำสอนทางศาสนามาใช้ในการส่งเสริมครอบครัวพลังบวกในสังคมไทย

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป แกนนำพี่เลี้ยงชุมชนครอบครัวพลังบวก เครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมครอบครัวพลังบวก ทั้งหน่วยงานในระดับท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เครือข่ายนักวิชาการด้านจิตวิทยา นักจิตวิทยารุ่นใหม่ นักการศาสนา จากมหาวิทยาลัยต่างๆ

จะถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ YouTube และเพจของโครงการ จำนวนตอน​ 14 ตอน โดยออกอากาศรายการทุกเย็นวันพฤหัส เวลา 18.00 -19.30 (พิเศษเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนจะออกอากาศในวันพุธ เริ่มวันที่ เริ่มตอนแรก 24 ก.ค.นี้เป็นต้นไป
 
เนื้อหารายการประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 เหลาเรื่องเล่า: เป็นพื้นที่กลางในการสื่อสารสร้างความรู้และความเข้าใจกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ในการสื่อสารกับเด็กและเยาวชนสร้างครอบครัวพลังบวก ช่วงนี้เน้นการนำเสนอเนื้อหาหลักจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและครอบครัวในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการสื่อสาร การเข้าใจพัฒนาการเด็ก การแก้ไขปัญหาในครอบครัว โดยเน้นให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่นำไปใช้ได้จริงสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป
 
ช่วงที่ 2 พลังบวกส่งต่อ: เป็นพื้นที่กลางให้กับแกนนำ พี่เลี้ยงชุมชนครอบครัวพลังบวก และเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และการเสริมพลังใจในการทำงานเพื่อสังคมช่วงนี้จะเป็นเวทีสำหรับแขกรับเชิญพิเศษ เช่น แกนนำชุมชน พี่เลี้ยงครอบครัวพลังบวก หรือตัวแทนจากหน่วยงานเครือข่าย ให้มาแบ่งปันประสบการณ์จริง ความสำเร็จ ความท้าทาย และแนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้เกิดครอบครัวพลังบวกในชุมชน รวมถึงการเสริมพลังใจให้แก่ผู้ทำงานเพื่อสังคม
 
ช่วงที่ 3 Family Coach ตอบโจทย์:
ช่วงนี้จะเน้นบทบาทของ Family Coach ในการ ให้คำปรึกษา และ พัฒนาทักษะ โดยผู้ชมสามารถถามตอบแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อเจาะลึกเทคนิคการโค้ช/หลักจิตวิทยาบางอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และสร้างพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะสำหรับ นักจิตวิทยารุ่นใหม่ ผู้ให้คำปรึกษาเพื่อนครอบครัวในการมีส่วนร่วมสร้างครอบครัวพลังบวกในสังคมไทย
 
ช่วงที่ 4 สร้างฐานแห่งรักด้วยธรรม (ทำ):
เป็นพื้นที่ส่งเสริมสนับสนุนการนำหลักคำสอนทางศาสนามาใช้ในการส่งเสริมครอบครัวพลังบวกในสังคมไทยช่วงนี้จะนำเสนอการประยุกต์ใช้หลักคำสอนหรือคุณธรรมจากศาสนาต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างความสุข ความเข้าใจ และสันติสุขในครอบครัว

สามารถติดตามรับชมสดผ่านช่องทางยูทูป เฟสบุคส์ ติ๊กต๊อก พิมพ์คำว่า
เหลาครอบครัว Family Talk


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top