Thursday, 3 July 2025
ค้นหา พบ 49172 ที่เกี่ยวข้อง

ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย!!

Take-or-Pay สัญญาผูกมัดบังคับรัฐจ่ายเงินซื้อไฟ ที่เซ็นไว้ระยะยาวกับเอกชนรายใหญ่ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟแพง ที่แฝงอยู่ในค่า Ft

สหรัฐฯ ขอกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ปลดอาวุธ แลกถอนทหารอิสราเอล ให้คำมั่นช่วยฟื้นฟูประเทศ

(2 ก.ค. 68) รัฐบาลเลบานอนกำลังร่างคำตอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้กลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะห์วางอาวุธทั่วประเทศภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อแลกกับการยุติปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในพื้นที่ทางใต้ของเลบานอน ตามรายงานของแหล่งข่าววงในเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ข้อเสนอดังกล่าวถูกส่งถึงเบรุตเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน โดยโธมัส บารัค (Thomas Barrack) ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ประจำซีเรียและทูตประจำตุรกี ซึ่งได้นำเสนอแผนความร่วมมือ 6 หน้ากระดาษ ครอบคลุมการปลดอาวุธของเฮซบอลเลาะห์ การฟื้นฟูสัมพันธ์กับซีเรีย และการปฏิรูประบบการเงิน โดยการวางอาวุธจะเป็นไปแบบเป็นขั้นตอน และสหรัฐฯ ย้ำว่าจะไม่มีการช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศ หากเฮซบอลเลาะห์ยังถืออาวุธ

ภายใต้แผนดังกล่าว ยังมีข้อเสนอให้สหประชาชาติดูแลกลไกการเจรจาแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างอิสราเอลและกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ โดยบารัคย้ำว่าโอกาสนี้ “อาจไม่หวนกลับมาอีก” แม้ยังไม่ได้รับการรับรองจากอิสราเอล ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ และอิสราเอลยังไม่มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการต่อข้อเสนอนี้

เลบานอนได้ตั้งคณะกรรมการร่วมจากทำเนียบนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี และประธานรัฐสภา เพื่อร่างคำตอบเบื้องต้น โดยมีการหารือกับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์อย่างใกล้ชิด แหล่งข่าวเผยว่าเฮซบอลเลาะห์ส่งสัญญาณพร้อมร่วมพูดคุย แต่ยังไม่ให้คำมั่นว่าจะปลดอาวุธ ด้านเลขาธิการกลุ่ม นายม์ กอซเซ็ม (Naim Qassem) กล่าวผ่านโทรทัศน์ว่า “เรามีสิทธิ์ที่จะพูดว่า 'ไม่' กับทั้งอเมริกาและอิสราเอล”

สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของสมดุลอำนาจในตะวันออกกลาง หลังสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในเดือนตุลาคม 2023 ทำให้พันธมิตรของอิหร่านในภูมิภาค รวมถึงเฮซบอลเลาะห์ เสียความได้เปรียบอย่างมาก อาวุธบางส่วนของกลุ่มถูกทำลายในการโจมตีทางอากาศ และคลังแสงบางแห่งถูกส่งมอบให้กองทัพเลบานอนตามข้อตกลงหยุดยิงก่อนหน้านี้

เครื่องบิน MC-21 ของรัสเซีย จ่อเทคออฟ ส.ค. นี้ เผยบินด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทุกชิ้นส่วนผลิตเองไม่ง้อนำเข้า

(2 ก.ค. 68) รัสเซียเตรียมเดินหน้าทดสอบการบินของเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ MC-21 ที่ใช้ชิ้นส่วนและระบบทั้งหมดที่ผลิตภายในประเทศ โดยจะมีกำหนดบินครั้งแรกในเดือนสิงหาคมนี้ ตามการเปิดเผยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ารัสเซีย แอนตอน อลิคานอฟ (Anton Andreyevich Alikhanov)

MC-21 เป็นเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ของรัสเซีย ที่ออกแบบมาให้บินในระยะทางกลางๆ เช่น เส้นทางภายในประเทศหรือระหว่างประเทศใกล้เคียง พัฒนาโดยบริษัท United Aircraft Corporation (UAC) โดยใช้เครื่องยนต์ PD-14 ที่ผลิตในประเทศทั้งหมด ขณะนี้เครื่องบินลำนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการประกอบขั้นสุดท้าย และเริ่มทดสอบการบินที่เมืองชูคอฟสกี ใกล้กรุงมอสโกแล้ว

สำหรับโครงการ MC-21 มุ่งตอบสนองตลาดเดินทางทางอากาศที่มีผู้ใช้งานหนาแน่น ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและการพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้าที่น้อยลง โดยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การทดแทนการนำเข้าของรัสเซียภายใต้แรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตร

บริษัท Rostec ระบุว่าการส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ให้สายการบินจะเริ่มภายในปี 2026 ขณะนี้มีเครื่องบินกว่า 20 ลำอยู่ในขั้นตอนการผลิต โดยกลุ่มแอโรฟลอต (Aeroflot) สายการบินประจำชาติและสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศรัสเซีย มีแผนจัดซื้อ MC-21 จำนวน 108 ลำภายในปี 2030 และขยายฝูงบินรวมเป็น 200 ลำภายในปี 2033

เชียงใหม่-ภ. 5  แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญ 2 คดี ของกลางยาบ้า10,600,000 เม็ด

(1 ก.ค. 68) เวลา 13.30 น. พล.ต.ท. กฤตธาพล ยี่สาคร ผบช.ภ.5 เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วย  พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน  พล.ต.ต.นพดล กรึงไกร พล.ต.ต.พรพิทักษ์ รู้ยืนยง พล.ต.ต.ธนะรัชต์ ชุ่มสวัสดิ์ พล.ต.ต.พิชญา บุญขจร พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย รอง ผบช.ภ.5 พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.5 พล.ต.ต.พงษ์เดช คำใจสู้ ผบก.ภ.จว.แพร่และ พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผบก.ภ.จว.เชียงรายฝ่ายทหาร นบ.ยส.35 โดย พล.ท.กิตติพงศ์ ชื่นใจชน มทน.3/ผบ.นบ.ยส.35 ฝ่ายปกครอง รอง ผวจ.แพร่ และรองผวจ.เชียงราย สำนักงาน ปปส.ภาค 5 

ร่วมกันแถลงผลการจับกุมยาเสพติด  และสืบสวนขยายผลคดียาเสพติดรายสำคัญ ของ สภ.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ บูรณาการร่วมหน่วยเกี่ยวข้อง จับกุมผู้ต้องหา 1 คน รถยนต์บรรทุก 6  ล้อ 1 คัน ยาบ้า 50 กระสอบ รวมประมาณ 10 ล้านเม็ด ซุกซ่อนในลำโพงเครื่องเสียง และกรณีตรวจยึดยาเสพติด จำนวน 600,000 เม็ด บรรจุมาในกล่องพัสดุของขนส่งเอกชน ในพื้นที่ สภ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ณ ลานแถลงข่าว อาคารกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 5 อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

คดีที่ 1 สถานที่จับกุม ด่านตรวจยาเสพติดห้วยไร่ (X-ray) หมู่ 4 ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ผู้ต้องหา นายคำวัง หรือเอ็ม อายุ 30 ปี ภูมิลำเนา อ.แกดำ จ.มหาสารคาม

พฤติการณ์แห่งคดี เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.68 เวลาประมาณ 08.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม สภ.ห้วยไร่ จ.แพร่ ได้รับคำสั่ง จากผู้บังคับบัญชาให้ตั้งจุดตรวจสกัดกั้นยาเสพติด ณ ด่านตรวจยาเสพติดห้วยไร่ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 หมู่ที่ 2 ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ต่อมาได้รับแจ้งจากสายลับ แจ้งว่ามีกลุ่มลำเลียงยาเสพติดใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อ ลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เข้าสู่พื้นที่ตอนใน โดยใช้รถยนต์หกล้อบรรทุกโดยมียาเสพติดซุกซ่อนในท้ายบรรทุกโดยทำช่องลับ จึงนำเรียนให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นและได้สั่งการให้ทำการคัดกรองรถยนต์บรรทุกหกล้อเข้าทำการ X-ray 

ต่อมาจนกระทั่งเวลาประมาณ 10.15 น. พบรถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 70-4183 มหาสารคาม
ขับขี่เข้าด่านตรวจยาเสพติดห้วยไร่(K-ray) ม.4 ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เจ้าที่ตำรวจประจำด่านตรวจได้ให้สัญญาณหยุดรถและได้เรียกเข้าอุโมงค์ X-ray โดยมีนายคำวังหรือเอ็ม (ทราบชื่อภายหลัง) เป็นผู้ขับขี่ จากการสอบถามในบันทึกยินยอมการเข้า X-ray รถ ได้สอบถามว่าสินค้าที่บรรทุกมาคือสินค้าชนิดใด นายคำวังหรือเอ็มฯ แจ้งว่าข้างหลังกระบะบรรทุกเป็นตู้ลำโพงเครื่องเสียง โดยได้คุมผ้าใบปิดบังมิดชิด ขับมาจากพื้นที่ จ.น่าน ไปส่งปลายทางที่ จ.ลพบุรี ผลการ X-ray พบวัตถุต้องสงสัย มีลักษณะคล้ายยาเสพติด วางอยู่เป็นชั้นซ้อนกันอยู่หลังรถบรรทุกจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบตู้ลำโพงเครื่องเสียงจำนวน 50 ตู้ พบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน) ซุกซ่อนอยู่ในตู้ลำโพงจำนวน 50 กระสอบ รวมยาบ้าจำนวน 10,000,000 เม็ด และทำการตรวจปัสสาวะเบื้องต้นของนายคำวังๆ ผลการตรวจเบื้องต้นเป็นลบ จึงได้จับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาให้นายคำวังหรือเอ็ม ทราบว่า "ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า) โดยการมีไว้เพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าและเป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และโดยทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย" เจ้าหน้าที่ดำรวจ จึงได้จัดทำบันทึกการจับกุมแล้วควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมพร้อมของกลางยาเสพติดทั้งหมด นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยไร่ จ.แพร่ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

คดีที่ 2 สถานที่จับกุม ร้าน KEX express สาขาร่องขุ่น เลขที่ 81 หมู่ 1 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย
ผู้ต้องหา อยู่ระหว่างติดตามจับกุม

พฤติการณ์แห่งคดี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.68 เวลาประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนได้รับแจ้งจากเจ้าของร้าน ๅKEX express สาขาร่องขุ่น เลขที่ 81 หมู่ 1 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จ .เชียงราย ว่าพบกล่องพัสดุภายในกล่องมียาเสพติด จำนวน 4 กล่อง จึงน้ำเรียนผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบกล่อง ผลการตรวจสอบภายในกล่องพบเป็นยาเสพติด(ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน) ซุกซ่อนอยู่ภายในกล่องจำนวนกล่องละประมาณ 150,000 เม็ด รวมจำนวน 600,000 เม็ด จากนั้นจึงทำการตรวจยึดนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และทำการขยายผลเพื่อติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้อง

สรุปผลการจับกุมยาเสพติด ของ ตำรวจภูธรภาค 5 ห้วงตั้งแต่ 1 ต.ค.67 - 30 มิ.ย.68  จับกุมคดียาเสพติด จำนวน 17,183 คดี คดียาเสพติดรายสำคัญ 178 คดี ตรวจยึดของกลางยาเสพติด ยาบ้า 169 ล้านเม็ดเศษ ไอซ์ 10,300 กิโลกรัมเศษ เฮโรอีน 150 กิโลกรัมเศษ เคตามีน 1,740 กิโลกรัมเศษ ฝิ่น 79 กิโลกรัมเศษ ตรวจยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับยาเสพติด มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 638 ล้านบาทเศษ

ตำรวจภูธรภาค 5 บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครองสำนักงานป้องกันและ
ปราบปรามยาเสพติด และนำบัญชาข้อสั่งการของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดไม่ให้เข้าไปสู่พื้นที่ตอนในอย่างเข้มข้นและจริงจัง และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

กฟผ. กับภารกิจรักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ด้วยหัวใจของทีมผู้เชี่ยวชาญและนักประดาน้ำ

(2 ก.ค.68) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่เพียงแต่มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งต่อพลังงานสู่บ้านเรือนและภาคเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่เบื้องหลังพลังงานเหล่านี้ ยังเต็มไปด้วยภารกิจที่ท้าทาย และทีมงานที่ทุ่มเทดูแล 'เขื่อน' ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด

เพราะเขื่อนไม่ใช่แค่ที่เก็บน้ำ...

เขื่อนไม่ใช่เพียงแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในด้านชลประทาน การเกษตร อุปโภคบริโภค หรือการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงสร้างที่มีผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานโดยตรง น้ำที่ระบายจากเขื่อนเป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้คนไทยใช้ทุกวัน

ดังนั้น ความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยของเขื่อน จึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญของ กฟผ. ซึ่งแบ่งหน้าที่ตรวจสอบออกเป็นหลายด้าน ทั้งบนบก ใต้ดิน และใต้น้ำ

ตรวจสอบแม่นยำด้วยเทคโนโลยี

การตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนแต่ละแห่ง ดำเนินการอย่างเป็นระบบ เช่น ที่เขื่อนศรีนครินทร์ ทีมผู้เชี่ยวชาญจะเริ่มตรวจด้วยสายตา โดยการเดินสำรวจแนวหินถมบนสันเขื่อน ซึ่งสูงกว่า 140 เมตร เพื่อดูการทรุดตัวของแนวหินและสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงเข้าสู่การตรวจสอบทางเทคนิคด้วยระบบฐานข้อมูล DS-RMS (Dam Safety – Remote Monitoring System) ระบบนี้สามารถวัดพฤติกรรมเขื่อนได้แบบเรียลไทม์ โดยจะเก็บข้อมูลจากเครื่องมือต่าง ๆ ที่ติดตั้งไว้ทั้งในตัวเขื่อนและบริเวณโดยรอบ แล้วแสดงผลออกมาเป็นกราฟ โดยสามารถตรวจสอบครอบคลุมทั้งสภาวะปกติ สภาวะแผ่นดินไหว และสภาวะน้ำหลาก โดยแบ่งสถานะความปลอดภัยเป็น 3 ระดับ คือ

• ปกติ
• แจ้งเตือน
• เฝ้าระวัง
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ทีมวิศวกรสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำว่าควรเข้าดำเนินการหรือไม่

ภารกิจใต้ดินในอุโมงค์ความมั่นคง

นอกจากภายนอกเขื่อนแล้ว ภายในก็ต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดเช่นกัน โดยเฉพาะ 'อุโมงค์ตรวจสอบเขื่อน' ซึ่งเป็นพื้นที่อับอากาศ มีความชื้นสูง และบางจุดมีความแคบมาก เช่น ที่เขื่อนศรีนครินทร์ มีความกว้างของรากฐานกว่า 586 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องลงบันไดชันที่สูงเทียบเท่าตึก 15 ชั้น และต่อด้วยบันไดเวียนอีกกว่า 250 ขั้น

ภารกิจนี้ไม่เพียงแต่ใช้ความแข็งแรงทางร่างกาย แต่ยังต้องมีความละเอียดและชำนาญสูง เพื่อสำรวจสภาพคอนกรีตและโครงสร้างภายในอย่างละเอียดที่สุด

เบื้องหลังใต้น้ำ : ทีม 'นักประดาน้ำ กฟผ.'

ภารกิจสำคัญอีกด้านที่ไม่อาจมองข้าม ก็คือ 'งานใต้น้ำ' ซึ่งต้องพึ่งพาทีมนักประดาน้ำ กฟผ. โดยตรง ซึ่งนักประดาน้ำ กฟผ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานเฉพาะทางขององค์กร ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2519 และในปัจจุบันมีเพียง 48 คนทั่วประเทศ หน้าที่ของพวกเขาคือการ ดำดิ่งลงไปลึกกว่า 50–60 เมตร เพื่อบำรุงรักษาอุปกรณ์ใต้น้ำที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อน

ภารกิจที่ต้องทำในความมืดมิด เช่น

• เชื่อมและตัดต่ออุปกรณ์ใต้น้ำ
• ขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
• ตรวจสอบหอหล่อเย็นในพื้นที่แคบ
• ดูแลอุปกรณ์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายขึ้นมาซ่อมบนบกได้
ประสาทสัมผัสจากมือ ความชำนาญเฉพาะด้าน และการตัดสินใจภายใต้แรงดันน้ำมหาศาล จึงเป็นสิ่งที่ทีมนี้ต้องฝึกฝนอย่างเข้มข้น

ความเสี่ยงที่ต้องซ้อมซ้ำทุกปี

เพื่อให้มั่นใจว่า 'นักประดาน้ำ กฟผ.' พร้อมปฏิบัติงานได้ทุกสถานการณ์ จึงได้จัดฝึกอบรมและทดสอบสมรรถภาพนักประดาน้ำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งในด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่านักประดาน้ำมีความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และความรู้ด้านงานช่างตลอดเวลา

เมื่อมนุษย์ไม่อาจเข้าถึง... กฟผ. จึงใช้ ‘ยานใต้น้ำ’

ในบางจุดที่ลึกเกินไปหรือมีความเสี่ยงเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าถึง กฟผ. ยังมีการใช้ 'ยานสำรวจใต้น้ำ' (ROV – Remotely Operated Vehicle) ซึ่งสามารถบันทึกภาพแบบวิดีโอเพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนบำรุงรักษาต่อไปได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำยิ่งขึ้น

ความปลอดภัยของเขื่อน คือ ความมั่นคงของชาติ

ทุกฟันเฟืองที่ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ผู้ตรวจสอบ นักประดาน้ำ หรือผู้วิเคราะห์ข้อมูล ล้วนมีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญในการรักษาความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน และส่งต่อความมั่นคงทางพลังงานให้คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top