Thursday, 3 July 2025
ค้นหา พบ 49165 ที่เกี่ยวข้อง

'40 ศิลปินไทย' ผนึกกำลังหลอมรวมใจ ร่วมถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ 'เราสู้'

(2 ก.ค.68) เพจเฟซบุ๊ก 'กองบัญชาการกองทัพไทย Royal Thai Armed Forces Headquarters' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ศิลปินไทยกว่า 40 ชีวิต ทุกรุ่น ทุกแนวเพลง พร้อมใจกันถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ 'เราสู้' ในโครงการ '๑ ในล้านความดี' เรียบเรียงดนตรีใหม่โดย หนึ่ง จักรวาล เพื่อส่งกำลังใจให้ทหารแนวหน้าและคนไทยทุกคน มาร่วมรับชมและรับฟังบทเพลงแห่งพลังใจนี้พร้อมกัน วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ทางทุกช่องทางออนไลน์ พลังเล็กๆ ของเราทุกคน สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้! รับชมได้จาก https://youtu.be/b7arRoRNFbk

#เราสู้ #หนึ่งในล้านความดี #คนไทยไม่ทิ้งกัน

3 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนรัสเซีย จุดเริ่มต้นสถาปนาความพันธ์สู่มิตรแท้ที่ยาวนาน

ย้อนอดีต 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัสเซีย นับเป็นปฐมบทความสัมพันธ์ไทย – รัสเซีย มายาวนานครบ 128 ปี

ไทยและรัสเซียได้ยึดถือการเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (3-11 กรกฎาคม พ.ศ. 2440/ค.ศ.1897) เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์มีความใกล้ชิด 

การเสด็จฯ ในครั้งนั้น นับเป็นการเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งต่อมาได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ไทยและรัสเซีย 

โดยก่อนหน้านั้น พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยศที่ "มกุฎราชกุมาร" แห่งรัสเซีย ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนราชอาณาจักรสยามอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระสหายสนิทในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ระหว่างวันที่ 20 - 24 มีนาคม พุทธศักราช 2434 รวมเวลาทั้งสิ้น 5 วันโดยได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกีรยติเช่นกัน 

ว่ากันว่า ด้วยพระราชไมตรีอันแน่นแฟ้นของพระราชวงศ์ทั้งสองนี้ ก็ได้คานอำนาจของประเทศมหาอำนาจในยุโรปอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำให้สยามดำรงเอกราชเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ไทยกับรัสเซียไม่มีการติดต่อกันทางการทูตนับแต่ปี 2460 (ค.ศ.1917) เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบสังคมนิยม ทั้งนี้ ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยครั้งใหม่ ในปี พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948) โดยได้มีการแลกเปลี่ยนคณะทูตชุดแรกระหว่างกันในระดับอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ต่อมา เมื่อสหภาพโซเวียตได้สลายตัวลงในปี 2534 (ค.ศ.1991) สหพันธรัฐรัสเซียได้เป็นผู้สืบสิทธิ์ของสหภาพโซเวียตทั้งหมด จึงถือได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียดำเนินต่อมาโดยไม่หยุดชะงัก

๔ กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม 'จุฬา' ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา  

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ 

พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด 

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก 

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530 ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย 

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีต้าร์ 

พ.ศ.2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง 'กู่เจิง' ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม 'สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน' กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน 

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ 'ถักร้อย สร้อยรัก' และโครงการ 'ดร.น้ำจิต' นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

สะพานโค้ง 90 องศาอินเดีย กลายเป็นเรื่องขำไม่ออก รัฐสั่งฟันวิศวกร 7 คน แบล็กลิสต์ 2 บริษัทผู้รับเหมา

(2 ก.ค. 68) สะพานแห่งใหม่ในเมืองโภปาล ประเทศอินเดีย กำลังเป็นที่วิจารณ์อย่างหนัก หลังออกแบบให้มีทางโค้งเกือบ 90 องศา เสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้รถ โดยสื่อจากนิวเดลีเผยงบก่อสร้างกว่า 200 ล้านรูปี (ราว 95 ล้านบาท) แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้เพราะปัญหาด้านความปลอดภัย

ภาพจากมุมสูงเปิดเผยให้เห็นว่า ผู้ขับขี่ที่ขับรถยนต์ขึ้นมาบนสะพานต้องเบรกกะทันหันเพื่อเลี้ยวเข้าโค้งที่แคบอย่างอันตราย ซึ่งวิศวกรผู้ออกแบบอ้างว่าพื้นที่จำกัดใกล้สถานีรถไฟฟ้าทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น แต่กลายเป็นยิ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นในสังคมออนไลน์

ล่าสุด รัฐบาลอินเดียสั่งพักงานวิศวกร 7 ราย และขึ้นบัญชีดำบริษัทรับเหมา 2 แห่ง พร้อมเปิดเผยผลสอบสวนว่าโครงการนี้ “มีความประมาทร้ายแรงทั้งในขั้นวางแผนและก่อสร้าง” แม้เสนอจำกัดการใช้เฉพาะรถยนต์และลดความเร็ว ก็ยังไม่สามารถคลายความกังวลของประชาชนได้

เหตุการณ์นี้สะท้อนปัญหาด้านการก่อสร้างในอินเดียที่ยังแก้ไม่ตก ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดกรณีสะพานในเมืองบอมเบย์ที่สร้างแล้วแต่ปลายทั้งสองฝั่งกลับไม่เชื่อมต่อกัน ส่วนที่แคว้นพิหาร มีสะพานอีกแห่งที่จากเดิมที่มีกำหนดว่าจะสร้างเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ แต่โครงการกลับไม่แล้วเสร็จตามแผน จึงมีการขอเลื่อนกำหนดสร้างเสร็จออกไปหลายครั้ง รวมทั้งหมดถึง 8 ครั้ง แม้จะเลื่อนมาแล้วหลายรอบ สุดท้ายสะพานก็ยังพังถล่มลงมาอยู่ดีในปี 2023

‘ฮุนเซน’ ไม่ปล่อยโอกาสพูดกรอกหูนายกฯ สิงคโปร์ อ้างทหารไทยยิงทหารเขมรตาย แล้วปิดด่าน -คุกคามสารพัด

‘ฮุนเซน’ ตอนรับนายกฯ สิงคโปร์ที่ไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ไม่วายพูดถึงปัญหาชายแดน อ้างไทยยิงทหารกัมพูชาตายแล้วปิดด่านแถมข่มขู่คุกคามหลายเรื่อง อ้างเขมรไม่อยากทำสงครามกับเพื่อนบ้าน อยากแก้ปัญหาโดยสันติ

(2 ก.ค. 68) นายฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ให้การต้อนรับนายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ณ ทำเนียบวุฒิสภา ในโอกาสที่คณะเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ

นายเจีย ธีริธ โฆษกวุฒิสภากัมพูชา กล่าวภายหลังการพบปะของผู้นำทั้งสองว่า ในโอกาสดังกล่าวนี้นายฮุนเซนแสดงความยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และคณะ ถือว่าการเยือนกัมพูชาครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและสิงคโปร์ให้ดียิ่งขึ้นและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

นายฮุนเซนกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและสิงคโปร์มีความเจริญรุ่งเรืองมายาวนานตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เมื่อ 60 ปีก่อน โดยเริ่มมีความสัมพันธ์กับนายลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ และจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในโอกาสนี้นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้แสดงความขอบคุณนายฮุนเซนสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และยังแสดงความยินดีกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ

นายฮุนเซนยังได้กล่าวถึงการขยายความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการค้า เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ นายฮุนเซนต้องการให้มีเที่ยวบินจากสิงคโปร์ไปยังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกัมพูชาเปิดตัวสนามบินเตโช สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

นายฮุนเซนยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาชายแดนกัมพูชา-ไทย โดยระบุถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เริ่มจากทหารไทยยิงทหารกัมพูชาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 พ.ค. และไทยปิดชายแดนฝ่ายเดียวและข่มขู่คุกคามอื่น ๆ

นายฮุนเซนกล่าวอีกว่ากัมพูชา ทั้งนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต และนายฮุนเซนเองไม่ต้องการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชาต้องการแก้ไขปัญหานี้โดยสันติและยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากไทยยังคงละเมิดและรุกรานกัมพูชาต่อไป เราต้องใช้สิทธิของเราในการปกป้องตนเอง

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวขอบคุณนายฮุนเซนที่ได้อธิบายปัญหาชายแดนและการตัดสินใจของกัมพูชา และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะแก้ไขปัญหานี้โดยสันติและยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top