Friday, 9 May 2025
ค้นหา พบ 47963 ที่เกี่ยวข้อง

‘ไทย’ ในห่วงโซ่ค้าวัวเถื่อนข้ามแดน ไร้การควบคุม เผาป่าสร้าง ‘หญ้าระบัด’ เป็นอาหาร เสี่ยง!! โรคระบาด จาก ‘วัวเถื่อน’ ที่ทะลักเข้าไทย ภัยเงียบต่อ ‘อุตสาหกรรมปศุสัตว์’

(3 พ.ค. 68) ท่ามกลางความต้องการบริโภคเนื้อวัวของจีนที่พุ่งสูงในปี 2566 ถึงเกือบ 11 ล้านตัน ในขณะที่จีนผลิตได้เพียง 7.5 ล้านตัน ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งทางตรงและทางเลี่ยงผ่านเครือข่ายลักลอบจากลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะผ่านมณฑลยูนนานและกว่างซีจ้วงที่ติดกับเมียนมา ลาว และเวียดนาม

วัวทะลักเข้าไทย: แรงดันจากความต้องการระดับภูมิภาค

การศึกษาหลายชิ้นระบุว่า จีนเคยลักลอบนำเข้าวัวจากเมียนมาผ่านไทยมากถึง 4,000 ตัวต่อวันในช่วงก่อนโควิด และยังมีข้อมูลระบุว่า ในปีเดียว (2561) วัวมากกว่า 150,000 ตัว ถูกขนผ่านเส้นทางเมียนมา–ไทย–ลาว เพื่อส่งต่อไปยังจีน

จากสถิติด่านศุลกากรแม่สอดเพียงแห่งเดียว พบว่ามีวัวและกระบือมีชีวิตนำเข้าถูกกฎหมายจากเมียนมาถึง 97,324 ตัวในปี 2565 มูลค่ารวมกว่า 1,200 ล้านบาท ขณะที่จำนวนวัวลักลอบซึ่งไม่อยู่ในระบบการควบคุมโรค อาจสูงกว่านี้หลายเท่าตัว โดยมีการประเมินว่า จุดลักลอบใน จ.ตาก เพียงจุดเดียว อาจมีวัวเล็ดลอดเข้าไทยไม่ต่ำกว่าหลายพันตัวต่อปี จากการสืบข่าว พบว่าระหว่างปี 2565 ถึงกลางปี 2566 มีรายงานการจับวัวลักลอบในไทยราว 23 ครั้ง รวมวัวของกลาง 1,182 ตัว — แต่จำนวนนี้อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของวัวลักลอบจริงที่เข้าสู่ไทยในแต่ละปี

วัวเถื่อนเร่รอน: อาศัยในป่าอนุรักษ์จำนวนมากกว่าชาวบ้านในหมู่บ้าน 

วัวลักลอบจำนวนมากไม่ได้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง แต่ถูกเลี้ยงกระจายอยู่ตามแนวชายแดน — โดยเฉพาะในเขตที่อยู่ติดป่าอนุรักษ์ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่เหล่านี้มักไม่ได้รับการควบคุมที่เข้มงวดจากการขาดทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่และงบประมาณ และถูกใช้เลี้ยงวัวแบบเร่ร่อนเพื่อประหยัดต้นทุน โดยเฉพาะในฤดูแล้งเมื่อหญ้าแห้งตาย

การเผาหญ้า: กลไกที่จุดไฟป่าแบบตั้งใจและซ้ำซาก

ก่อนฤดูฝนในแต่ละปี ผู้เลี้ยงวัวเหล่านี้มักจุดไฟเผาพื้นป่าเพื่อเร่งให้หญ้าแตกใบใหม่ หรือที่เรียกว่า 'หญ้าระบัด' ซึ่งเป็นอาหารวัวคุณภาพดีในช่วงต้นฤดูฝน แม้การเผาจะเป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน แต่การกระทำในพื้นที่อนุรักษ์จำนวนมากและพร้อมกันทั่วแนวชายแดน ได้ก่อให้เกิดไฟป่าขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถควบคุมได้กระจายไปทั่วป่าในภาคเหนือและภาคตะวันตก

แม้การเผาหญ้าเพื่อเลี้ยงวัวจะดูเป็นวิธีดั้งเดิมและมีเป้าหมายจำกัด แต่เมื่อวัวหลายหมื่นตัวถูกปล่อยเลี้ยงในป่าอนุรักษ์ทั่วแนวชายแดน การจุดไฟพร้อมกันในพื้นที่เหล่านี้จึงกลายเป็น มรสุมไฟป่าเถื่อน ที่ไม่มีใครควบคุมได้

• พื้นที่ป่าถูกทำลายซ้ำ ๆ ทุกปีจนสูญเสียความสามารถในการฟื้นตัว
• สัตว์ป่าถูกเผาตายหรือไร้ที่อยู่อาศัย
• ดินกลายเป็นดินเสื่อมสภาพและไม่ซึมน้ำ เกิดโคลนถล่มเมื่อฝนมา
• ควันพิษ PM2.5 จากการเผา ลอยเข้าสู่เมืองใหญ่ในภาคเหนือ สร้างวิกฤตสุขภาพเรื้อรังแก่ประชาชน

ฝากเลี้ยงในป่าแล้วแบ่งผลประโยชน์
ชาวบ้านที่รับเลี้ยงวัวในป่าจะได้รับผลประโยชน์เป็นลูกวัวที่เกิดใหม่ในป่าครึ่งหนึ่ง ตัวอย่างเช่นหากฝูงวัวที่ฝากเลี้ยงเป็นเวลา 2 ปีนั้นคลอดลูกใหม่ 30 ตัว ชาวบ้านก็จะได้รับลูกวัวฟรีๆ 15 ตัว และหากขุนลูกวัวเหล่านี้ในป่าไปจนโตก็จะขายได้เงินราวตัวละ 4,000 บาท ทั้งหมดคิดเป็นรายได้ระดับครึ่งแสน

เชื้อโรคข้ามพรมแดน: เมื่อระบบควบคุมโรคไม่ตามทัน

นอกจากไฟป่า ปัญหาวัวเถื่อนยังเชื่อมโยงกับโรคระบาดที่อาจทะลักเข้าประเทศ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) และลัมปีสกิน (LSD) โดยวัวที่ไม่มีใบรับรองสุขภาพ ไม่เคยได้รับวัคซีน และไม่ได้ถูกกักตัว คือภัยเงียบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

วัวที่ลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ผ่านการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด อาจเป็นพาหะของโรคติดต่อร้ายแรงที่แพร่กระจายได้รวดเร็วในฝูงสัตว์ หนึ่งในนั้นคือ โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease - FMD) ซึ่งเป็นโรคไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายมากในสัตว์กีบคู่ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ โดยติดต่อผ่านน้ำลาย ลมหายใจ หรือพื้นดินและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เมื่อระบาดจะทำให้สัตว์มีแผลพุพองในปาก เท้า เดินไม่ได้ กินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว และอัตราการเติบโตลดลง

ผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล เพราะฟาร์มต้องกักตัวสัตว์ ปิดตลาด และอาจต้องฆ่าทำลายฝูงวัวทั้งคอกเพื่อควบคุมโรค ขณะที่โรค ลัมปีสกิน (Lumpy Skin Disease - LSD) ซึ่งระบาดในเมียนมาตั้งแต่ปี 2563 ก็กำลังเป็นปัญหาใหม่ในไทย เกิดจากไวรัสในตระกูล Poxvirus ทำให้วัวมีตุ่มบวมทั่วตัว มีไข้ น้ำนมลด และแท้งลูกได้ง่าย

แม้โรคเหล่านี้จะไม่ติดต่อสู่คนโดยตรง แต่ 'ฟาร์มปิด–ตลาดแตก–รายได้หาย–ต้นทุนพุ่ง' คือผลกระทบต่อเกษตรกรไทยในวงกว้าง นอกจากนี้ วัวเถื่อนอาจเป็นพาหะของแบคทีเรียหรือไวรัสในระบบทางเดินหายใจ เช่น Brucellosis หรือ Tuberculosis ซึ่งในบางกรณีสามารถ 'ข้ามสปีชีส์' สู่คนได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น คนเลี้ยงวัว พนักงานโรงเชือด หรือคนที่บริโภคเนื้อวัวที่ปรุงไม่สุก

โรคเหล่านี้อาจเริ่มจากฝูงสัตว์ที่ไม่มีอาการชัดเจน แต่หากปล่อยให้แพร่ระบาด จะกลายเป็นโรคติดต่อสู่คนที่คุกคามทั้งสุขภาพและความมั่นคงทางอาหารในระดับประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่ภาวะโลกร้อนกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมของเชื้อโรคให้รุนแรงและหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลังการรัฐประหารในเมียนมา ระบบควบคุมโรคในฝั่งนั้นแทบล่มสลาย เพราะรัฐบาลทหารทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปกับสงครามภายใน แทบไม่เหลือกำลังดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงหรือส่งออก

แม้ไทยจะมีแนวคิดเปิดนำเข้าวัวจากเมียนมาอย่างเป็นทางการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลน แต่ยังคงเผชิญแรงต้านจากเกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เพราะเส้นทางนี้ยังเต็มไปด้วยช่องโหว่ ความไม่โปร่งใส และอันตรายต่อระบบนิเวศและสุขภาพคนไทยในระยะยาว

จากชายแดนสู่ระบบนิเวศ: วิกฤตที่ต้องมองเป็นหนึ่งเดียว

การแก้ปัญหา 'ไฟป่าชายแดน' จึงต้องไม่มองเพียงว่าเป็นปัญหาป่าไม้ แต่ต้องเข้าใจว่ามันเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจลับของวัวเถื่อน การค้าไร้ใบอนุญาต และการบริหารชายแดนที่ยังไม่มีดุลยภาพระหว่างความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ปัญหานี้จะไม่มีวันแก้ได้ หากรัฐมองแยก 'การค้า' ออกจาก 'สิ่งแวดล้อม' และ 'สาธารณสุข'

‘หมอวรงค์’ เปิด 9 ปม!! เคลือบแคลง ‘นักโทษชั้น 14’ น่าสงสัย ‘การส่งตัว - ห้องพัก - วิธีรักษา’ ชี้!! แค่ข้ออ้าง

(3 พ.ค. 68)  นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ 'ข้อสงสัยนักโทษชั้น14' ระบุว่า ช่วงนี้จะเห็นข่าว พวกนักวิชาการ นักกฎหมายที่ปกป้องนักโทษชั้น14 พยายามออกมาสื่อสารกับประชาชนว่า การที่นักโทษไปป่วยอยู่ชั้น 14 นานถึง 6 เดือนนั้น ถือว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งถือว่าถูกคุมขังแล้ว

แต่ประเด็นที่ประชาชนสงสัย ประชาชนเขาสงสัยว่า ถ้าป่วยทำไมไม่รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพ ไม่แพ้รพ.จังหวัดทั่วประเทศ ขีดความสามารถ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมี CT scan ที่ทันสมัยมาก

ถ้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่สามารถรักษาตัวนักโทษรายนี้ได้ แสดงว่าน่าจะป่วยวิกฤติ จึงต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ สิ่งที่ประชาชนสงสัย มีการช่วยเหลือเพื่อให้นักโทษ ไปนอนเล่นสบายๆ ที่ชั้น14 รพ.ตำรวจหรือไม่ โดยใช้ข้ออ้างเจ็บป่วยหนัก เพราะ

1.ทำไมแพทย์เวรคืนนั้น ที่เป็นอายุรแพทย์ ถือว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรค ความดัน หัวใจขาดเลือด ไม่ไปดูแล แต่ปล่อยให้พยาบาลเวรโทรไปปรึกษา และปล่อยให้พยาบาลเวรเป็นผู้ดูแล และเป็นผู้ส่งนักโทษต่อร.พ.ตำรวจ จึงเกิดข้อสงสัยว่าวางแผนกันไว้ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ให้ใครเข้ามาเกี่ยวข้องมาก

2.จริงหรือที่โรคเหล่านี้ที่อ้าง ทั้งหัวใจขาดเลือด ความดันสูง ปอดเรื้อรัง สันหลังเสื่อม ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง และมีประวัติการรักษามาแล้วจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชทัณฑ์จะรักษาไม่ได้ และต้องส่งต่อโรงพยาบาลตำรวจ เพราะเกรงอันตรายต่อชีวิต

3.การส่งต่อแบบฉุกเฉินว่า เกรงอันตรายต่อชีวิต ด้วยหลักทางการแพทย์นั้น ต้องใช้รถ ambulance ส่งต่อไปรพ.ตำรวจ แต่ตามข่าวทำไมใช้รถของราชทัณฑ์

4.ด้วยหลักทางการแพทย์ การส่งต่อแบบฉุกเฉินเวลาดึก และเกรงว่าเกิดอันตรายต่อชีวิต ทำไมไม่ส่งนักโทษผ่าน ER ก่อน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติจริง

5.ด้วยหลักทางการแพทย์ การป่วยที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะโรคหัวใจ หลังจากส่งมาถึงรพ.ตำรวจ ทำไมไม่ให้รักษาตัวที่ICU หรือ CCU แต่ให้ไปนอนที่ชั้น14 ซึ่งประชาชนรับรู้ว่านี่คือห้อง VVIP ซึ่งไม่ใช่สถานที่รักษาผู้ป่วยวิกฤติ

6.จากรายชื่อแพทย์ที่อ้างว่า เป็นแพทย์เจ้าของไข้ แพทย์ที่ทำการรักษา ที่ทางป.ป.ช.เรียกสอบ ล้วนเป็นทีมแพทย์ทางด้านศัลยกรรมเช่น ศัลยกรรมประสาท ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ทำไมไม่ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเป็นผู้ดูแลหลัก

7.ด้วยหลักทางการแพทย์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการวิกฤติ การผ่าตัดเอ็น ด้วยการใช้กล้องที่หัวไหล่ จะไม่ทำกันในผู้ป่วยวิกฤติ รวมทั้งการทำMRI

ที่ต้องถามต่อ หลังผ่าตัดทำไมจึงนำนักโทษไปพักที่ห้อง หลังผ่าตัดศัลยกรรมประสาท ไม่ไปพักที่ห้องหลังผ่าตัด ศัลยกรรมกระดูก เอ็นและข้อ (orthopedics) หรือเกรงว่าคนอื่นจะเห็นว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติ

8.โรคอะไรที่ต้องรักษานานถึง180 วัน อาการไม่ดีขึ้น ไม่สามารถย้ายตัวกลับมา รักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ แต่ครบ 180 ได้พักโทษอาการหายทันที หลักทางการแพทย์มีด้วยหรือ โรคประหลาดแบบนี้

9.นี่ยังไม่นับรวมข้อสงสัย ที่ป่วยวิกฤตินอนติดเตียง 180 วัน ทำไมแขนขาไม่ลีบลง เพราะผู้สูงอายุ เกิน70 ปี นอนติดเตียง1ถึง 2สัปดาห์ ล้วนสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ แขนขาจะลีบลง

จึงเกิดข้อสงสัยว่า แอบไปเดินเล่นที่อื่นหรือไม่ แขนขาจึงไม่ลีบ และที่แปลกใจมาก อาการป่วยวิกฤติ อันตรายต่อชีวิต ไม่มีข่าวว่า ครอบครัวไปนอนเฝ้าเลย

ความจริงยังมีอีกหลายประเด็นมาก ที่ควรไต่สวน เพื่อเอาความจริงออกมาให้ประชาชนทราบ ยกเว้นถ้าได้คำตอบว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติ แต่มีการช่วยเหลือ เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่เรือนจำ ถ้าผลออกมาแบบนี้ ก็อธิบายข้อสงสัยได้หมด ซึ่งเท่ากับว่ายังไม่ได้ติดคุก ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล นี่ยังไม่นับรวมการขอศาลตามป.วิอาญามาตรา 246

‘รัฐบาล’ จัดงาน!! สโมสรสันนิบาต เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พ.ค.นี้ เชิญชวนพสกนิกร ร่วมถวายพระพรชัยมงคล

(3 พ.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวัน ที่ 4 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรี จะถวายราชสักการะสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร และถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง จากนั้น เวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

จากนั้น ในช่วงค่ำวันเดียวกัน รัฐบาลได้จัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล เวลา 19.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในงานสโมสรสันนิบาตฯ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พร้อมเชิญชวนพสกนิกรร่วมถวายพระพรชัยมงคล

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เชิญคณะองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี องค์กรตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการการเมืองในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต กงสุลกิตติมศักดิ์ต่างประเทศประจำประเทศไทย กงสุลอาชีพ องค์การระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย พร้อมคู่สมรส เข้าร่วมในงานสโมสรสันนิบาตฯ

สำหรับการจัดงานสโมสรสันนิบาตฯ จะมีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่เวลา 18.50 น. เป็นต้นไป รัฐบาล ขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พ.ค.2568 โดยพร้อมเพรียงกัน

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งเร่งตรวจสอบกรณีมีตำรวจพาผู้ต้องหาลักลอบนำข้อสอบฯ ออกจากโรงพักทั้งที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ย้ำใครผิดว่าไปตามผิด

เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.68) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับรายงานกรณีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มีข้าราชการตำรวจนายหนึ่งเดินทางไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อเจรจากับ ดร.ขนิษฐาฯ หรือ ดร.นิด ผู้ต้องหาคดีลักลอบนำข้อสอบคณะนิติศาสตร์ ไปช่วยอดีตนายพลตำรวจ และพาตัวผู้ต้องหาออกจาก สน.ทุ่งสองห้อง โดยไม่ได้แจ้งพนักงานสอบสวนหรือนำทนายความติดตามไปด้วย ทำให้สอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้ โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าว และรายงานให้ทราบโดยด่วน

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำชับให้ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง ในข้อหาใด ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดทั้งทางวินัย ปกครอง และอาญา และหากมีความเกี่ยวข้องกับข้าราชการตำรวจรายใดก็ให้ตรวจสอบทุกคน อย่างไรก็ตาม พร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา หากใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด ต้องดำเนินการทุกรายไม่มียกเว้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top