Friday, 9 May 2025
ค้นหา พบ 47981 ที่เกี่ยวข้อง

‘วิโรจน์’ ฉุน ‘วินธัย’ ไม่มาแจง กมธ. ทหาร ตามเรียก ขณะที่ ทบ. อ้างไม่เกี่ยวข้อง กอ.รมน. ในคดี 112 ‘พอล แชมเบอร์ส’

‘วิโรจน์’ ฉุน ‘วินธัย’ ไม่เข้าชี้แจง กมธ. ทหาร ตามที่เรียก ขณะที่ ทบ. อ้าง ไม่เกี่ยวข้อง กอ.รมน. ดำเนินคดี 112 ‘พอล แชมเบอร์ส’

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค. 68) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร นำประชุมในการเรียก พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะช่วยราชการรองผู้อำนวยการสำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กอ.รมน., พลตรีธรรมนูญ ไม้สนธิ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ พ.ต.อ.วัชรพงษ์ สิทธิรุ่งโรจน์ ผู้กำกับ สภ.เมืองพิษณุโลก เข้ามาหารือ กรณี กอ.รมน. ภาค 3 ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก กับนายพอล แชมเบอร์ส อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร สัญชาติอเมริกัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งวันนี้ปรากฏว่าทั้ง 3 คนที่ถูกเชิญ ไม่ได้เดินทางมาชี้แจงแต่อย่างใด

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ในส่วนของ พล.ต.วินธัย เราได้หารือกันถึงอำนาจกรอบหน้าที่ของสำนักกิจการมวลชนฯ ว่าเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ แต่ไม่ปรากฏอำนาจหน้าที่ที่มอบให้รองผู้อำนวยการทำหน้าที่เป็นโฆษก กอ.รมน. จึงหารือว่า ปกติแล้วตามระเบียบราชการและวินัยทหาร ถ้ามอบอำนาจให้ไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการที่ใด ก็ต้องเคารพในเนื้อหาสาระตามที่ตามหนังสือที่ส่งไปช่วยราชการ ไม่ได้หมายความว่าส่งไปช่วยราชการและจะทำได้ทุกหน้าที่

ดังนั้น จึงเสนอให้ กอ.รมน.ควรตั้งเพิ่มอีกหนึ่งสำนัก คือสำนักอเนกประสงค์ และทำหนังสือช่วยราชการท่านมาที่สำนักนี้น่าจะเกิดประโยชน์กว่า ครอบคลุมหน้าที่

นายวิโรจน์ยังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ทบ.ระบุว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่ได้เดินทางมา กมธ. ซึ่งจริง ๆ แล้ว กมธ.การทหารก็งง เพราะเราคิดว่า หาก ทบ.ไม่ได้เกี่ยวข้องจริง ๆ ทำไมไม่แจ้ง พล.ต.วินธัย ล่วงหน้าตั้งแต่ 2-3 อาทิตย์ก่อน

ดังนั้น จะทำหนังสือถึง พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. รับทราบว่า ทบ. ไม่ได้เกี่ยวข้อง และต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงตาม พ.ร.บ.กอ.รมน.

นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งจากผู้กำกับฯ สภ.เมืองพิษณุโลก ว่า ลาพักผ่อน ไม่สามารถเข้าร่วมได้ สรุปว่าติดภารกิจ

‘อังกฤษ’ บรรลุข้อตกลงการค้ากับ ‘สหรัฐฯ’ ลดภาษีนำเข้ารถยนต์เหลือ 10% พร้อมผ่อนคลายภาษีเหล็ก–เอทานอล แต่ยังคงภาษีสินค้าสำคัญหลายรายการ

(9 พ.ค. 68) สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลงการค้าทวิภาคีในขอบเขตจำกัด โดยยังคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของอังกฤษไว้ที่ 10% แต่เปิดทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรได้มากขึ้น พร้อมลดภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ

ข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวแรกของชุดความร่วมมือทางการค้าหลายฉบับที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนจะประกาศในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยทรัมป์ชื่นชมความร่วมมือจากอังกฤษ ขณะที่นายกรัฐมนตรีคีร์ สตาร์เมอร์ ย้ำว่านี่คือ 'วันประวัติศาสตร์' ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานของทั้งสองชาติ

สำหรับข้อตกลงนี้จะช่วยลดภาษีนำเข้ารถยนต์อังกฤษในสหรัฐฯ จาก 27.5% เหลือ 10% สำหรับโควตา 100,000 คัน และยกเลิกภาษีนำเข้าเหล็กและเอทานอลบางส่วน พร้อมเปิดตลาดเนื้อวัวแบบแลกเปลี่ยน โดยอังกฤษจะได้โควตาปลอดภาษีครั้งแรกสำหรับเนื้อวัว 13,000 เมตริกตัน แต่ยังคงห้ามนำเข้าเนื้อวัวอเมริกันที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต

ภาคธุรกิจบางส่วนในอังกฤษแสดงความผิดหวังที่ยังคงมีอัตราภาษี 10% สำหรับสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะรถยนต์ ขณะที่บริษัทในสหรัฐฯ เช่น เดลต้าแอร์ไลน์และผู้ผลิตเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ทันทีจากการลดภาษี และรัฐบาลอังกฤษย้ำว่าการเจรจายังไม่จบ โดยมีหลายประเด็นสำคัญ เช่น ภาษีบริการด้านดิจิทัล ที่ยังต้องหารือเพิ่มเติม

แม้จะมีข้อจำกัด แต่ข้อตกลงนี้ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางการค้าที่ลึกซึ้งขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลอังกฤษพยายามรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป หลังเบร็กซิต (Brexit) หรือการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ในช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนการส่งออกที่สูงและการเติบโตที่ชะลอตัว

'กฟผ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ฝ่าย' นำสื่อมวลชนภาคอีสาน เยี่ยมชมการผลิตกระแสไฟฟ้า พร้อมส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้ ปชช

กฟผ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ฝ่าย ร่วมกับ กฟผ. กชส-ย. จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ ประจำปี 2568 นำสื่อมวลชนจากจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา จำนวน 42 คน เข้าเยี่ยมชมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา, ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และโรงไฟฟ้าศรีราชา (GSRC) จ.ชลบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธ์ร่วมกับสื่อมวลชนที่มีการจัดกิจกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเสนอภารกิจ กฟผ. ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อส่งต่อไปยังประชาชนต่อไป

เมื่อวันที่ (7 พ.ค.68) ที่ สฟ. นครราชสีมา 1 นายสหชาติ พิลาออน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ. ) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธาน ในพิธีเปิดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2568 และบรรยายเรื่อง 'กฟผ. ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง' โดยโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2568  นำสื่อมวลชนจากจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา จำนวน 42 คน เข้าเยี่ยมชมการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา, ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และโรงไฟฟ้าศรีราชา (GSRC) จ.ชลบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธ์ร่วมกับสื่อมวลชนที่มีการจัดกิจกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเสนอภารกิจ กฟผ. ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อส่งต่อไปยังประชาชนต่อไป, สถานการณ์ ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย

ปัจจุบันและอนาคต สาธิตการบำรุงรักษาเสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และขอความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูล กฟผ. ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนให้ช่วยดูแลรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ป้องกันไฟฟ้าดับจากการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาทิ ข้อกำหนดความปลอดภัยในเขตเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูง การงดปลูกต้นไม้ยืนต้น และบ้านเรือนใกล้แนวสายส่งฯ, งดเผาหญ้าไร่อ้อยใต้สายส่งฯ, การระมัดระวังอันตรายต่อชีวิตในการขับรถแม็คโคร รถขุด รถตัก ต้องลดระดับลงเมื่อลอดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ 

ในโอกาสนี้มี คณะผู้บริหาร และคณะทีมงาน กฟผ. ร่วมให้การต้อนรับและร่วมเดินทางไปกับคณะสื่อมวลชน อาทิ นายวิษณุ วัฒนเวชรัตน์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฎิบัติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 (ช.อปอ.2), นางสาวเกษณภา มหารัตนวงศ์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน 1, นายพลากร บุญห่อ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ระบบส่ง (กชส-ย.), นายอนุพงษ์  เมืองครุธ หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟ้าน้ำพอง(หชฟพ-ย.), นายจีราวัฒน์ กมลวิศาล หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หชฟอ-ย.) และ น.ส. อภิสราธรณ์ ปัณณะมณีธนโชติ วิทยากรระดับ 8  แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ระบบส่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หชสอ-ย.) ฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  (อปอ.) ร่วมด้วย คณะ กฟผ. จาก สถานีไฟฟ้าแรงสูงนครราชสีมา 1 คือ นายวิโรจน์ มณีเนตร หัวหน้าสำนักงานนครราชสีมา และ หัวหน้าแผนกบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้าแรงสูง 2 , นายปรีชา สุขสวาท หัวหน้าแผนกบำรุงรักษาสายส่ง 2, นายมานพ หิรัญพิศ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการและบำรุงรักษาสายส่งนครราชสีมา 1, นายบุญเชิด กระจายกลาง หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการและบำรุงรักษาสายส่งชัยภูมิ พร้อมทีมงาน

การจัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ประจำปี 2568 ดำเนินการโดย แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ระบบส่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หชสอ-ย.), แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟัาน้ำพอง (หชฟพ-ย.) และ แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หชฟอ-ย.) ร่วมกับ กองประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ระบบส่ง (กชส-ย.) ฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน (อกย.) ซึ่งสื่อมวลชนที่ร่วมโครงการฯ ได้ให้ความสนใจ มีความเข้าใจตามวัตถุประสงค์โครงการฯ และยินดีจะนำข้อมูลของ กฟผ.ไปเผยแพร่ต่อประชาชนผ่านสื่อในสังกัดตนเองต่อไป

ด้าน นายสหชาติ พิลาออน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.มีหน้าที่ผลิต และส่งจ่ายไฟฟ้า เพราะส่วนมากโรงไฟฟ้าหลักๆ จะอยู่ห่างไกลจากผู้ใช้ไฟฟ้า ต้องอาศัยสายส่งไฟฟ้าเป็นตัวเชื่อมในการทำงานที่นี้ใช้ส่งไฟฟ้าแรงสูง เพราะกว่าจะได้มาต้องอาศัย การใช้รอนสิทธิ์จากพี่น้องประชาชน กว่าจะได้ใช้ส่งไฟฟ้าแรงสูงมา เพราะสายส่งเราเชื่อมโยงรับไฟมา และเชื่อมโยงระหว่างกัน จากสถานีไฟฟ้าเชื่อมโยงไปยังสถานีจังหวัด และอำเภอ ต่างๆและส่งให้ไฟฟ้าไปจำหน่าย ส่วนในการดูแลสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เราต้องอาศัยในการดูแลจากพี่น้องประชาชนในชุมชนใกล้ๆ เพื่อช่วยเหลือสายส่งในการทำหน้าที่ ขนส่งไฟฟ้า เพื่อหลีกเลี่ยงในการทำให้สายส่งไฟฟ้าทำงานไม่ได้ เช่นไปจุดไฟใต้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง การเผาอ้อย หรือแม้แต่ไปปลูกต้นไม้ใกล้เกินไป ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องประชาชนช่วยดูแล สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของกฟผ.ด้วยกัน

นายสหชาติ  กล่าวอีกว่า ส่วนความต้องการในการใช้ไฟฟ้าถ้ามองตาม GDP แล้ว ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากการนับ ณ ปัจจุบัน การสร้างโรงงานไฟฟ้า นั้นจะกระจุกอยู่ในตัวในพื้นที่ที่เหมาะสม กับเชื้อเพลิงที่จะผลิตไฟฟ้านั้น โดยการส่งไฟฟ้าแรงสูงอีกมาก ซึ่งสายส่งไฟฟ้าแรงสูงถ้าจะส่งไฟฟ้าได้จำนวนมาก จะต้องใช้แรงดันไฟฟ้าสูง ๆ เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดความมั่นคง ตอนนี้มีสายส่งทีเชื่อมโยงใกล้ที่จะมั่นคงมาก ๆ แล้ว  โดยมีการเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว เชื่อมโยงกับ ภาคเหนือ ภาคกลาง เมื่อได้สายส่งที่เชื่อมโยงอย่างนี้แล้วจะมีความมั่นคงอย่างมาก 

นายสหชาติ กล่าวท้ายสุดว่า จากสถานการณ์ไฟฟ้าดับในยุโรป คือโปรตุเกส และสเปน นั้นส่วนหนึ่งมากจากการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มาก เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าหลักและประเทศนั้น ๆ มีสายส่งเชื่อมโยงกับประเทศฝรั่งเศส แต่เผอิญว่าพลังงานที่มันหายไปมันเยอะ กว่าพลังงานที่อื่นจะส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าเข้ามาได้ ในส่วนของ กฟผ.เรามีสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงกันที่แข็งแกร่ง ค่อนข้างมาก มันทำให้สามารถที่จะส่งไฟอีกภาคหนึ่งมาช่วยอีกภาคหนึ่งได้ เช่น ถ้าภาคอีสานมีฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหญ่ ๆ หายไปแต่เรายังสามารถรับไฟจากภาคเหนือ หรือภาคกลาง มาช่วยเสริมความมั่นคงในภาคอีสานได้

OR จับมือ บางกอกแอร์เวยส์ ใช้เชื้อเพลิง SAF ผลิตในไทย ก้าวสำคัญสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

OR ร่วมกับ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศไทยมาใช้ในการบินเป็นครั้งแรก ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท พร้อมก้าวสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นายชัยพฤฒิ วัชรีคุปต์ ผู้จัดการฝ่ายตลาดอากาศยานและเรือขนส่ง บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และนายเดชิศร์ เจริญวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ / รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการบิน บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) เรื่อง การซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) โดยผู้ผลิตภายในประเทศเป็นครั้งแรกของประเทศไทย สำหรับใช้ปฏิบัติการบินในเที่ยวบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ณ สำนักงานใหญ่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถนนวิภาวดีรังสิต ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยก้าวสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นายชัยพฤฒิ เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ บางกอกแอร์เวยส์ ครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่าง OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย และบางกอกแอร์เวยส์ ในฐานะสายการบินชั้นนำ ในการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ได้พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับการผสม SAF ด้วยการนำกระบวนการ Co – Processing มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับนโยบายการบังคับใช้ SAF ของประเทศไทยในอนาคต โดย OR มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่สำคัญนี้ และมุ่งมั่นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยการจัดหาน้ำมัน SAF ให้กับบางกอกแอร์เวย์นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจของ OR เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2065 อีกด้วย

นายเดชิศร์ กล่าวว่า นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในความร่วมมือกับ OR เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยสู่เส้นทางบินสีเขียว โดยการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF โดยผู้ผลิตภายในประเทศเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าสานต่อแคมเปญ “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การผลักดันและเตรียมความพร้อมในการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยในอนาคต ที่จะสามารถตอบสนองต่อแนวโน้มธุรกิจการบินของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมการบินไทย และเป็นไปตามเป้าหมายของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593  

วาติกันได้ผู้นำองค์ใหม่ ‘เลโอที่ 14’ อดีตบิชอปแห่งเปรู ชาวอเมริกันองค์แรกในประวัติศาสตร์ ทรงประกาศวิสัยทัศน์ ‘สันติภาพและความรัก’ สะท้อนจิตวิญญาณของฟรานซิสผู้ล่วงลับ

(9 พ.ค. 68) สมเด็จพระสันตปาปาองค์ใหม่ 'เลโอที่ 14' ปรากฏพระองค์ครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนหลายพันคนในจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดี หลังควันขาวพวยพุ่งจากโบสถ์ซิสติน แสดงสัญญาณว่าพระคาร์ดินัลลงคะแนนเสียงเลือกผู้นำคาทอลิกคนใหม่ได้เรียบร้อย ภายในเวลาเพียง 1.5 ชั่วโมง

สมเด็จพระสันตปาปาเลโอที่ 14 หรือ โรเบิร์ต พรีโวสต์ วัย 69 ปี อดีตบิชอปแห่งเปรู และเป็นชาวอเมริกันจากเมืองชิคาโก ทรงเลือกพระนามที่สื่อถึงความต่อเนื่องของหลักคำสอนทางสังคม โดยยึดแนวทางผสมผสานระหว่างการสานต่อนโยบายของสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิสและการยึดถือประเพณีของวาติกัน

ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรก พระองค์เน้นย้ำคำว่า 'สันติภาพ' และเรียกร้องให้คริสตชนทั่วโลกร่วมกันสร้างสะพานแห่งการสนทนา พร้อมย้ำว่าพระเจ้าทรงรักทุกคนและความชั่วร้ายจะไม่ชนะ จากนั้นเสียงโห่ร้อง “ลีโอน! ลีโอน!” ดังกึกก้องไปทั่วจัตุรัส

ผู้คนจากหลากหลายประเทศเดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ โดยหลายคนกล่าวถึงความหวังที่มีต่อพระสันตปาปาองค์ใหม่ว่าจะนำความมั่นคงมาสู่คริสตจักรในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี และศาสนา

แม้ทรงมาจากสหรัฐฯ แต่สมเด็จพระสันตปาปาเลโอที่ 14 หลีกเลี่ยงการอ้างถึงชาติบ้านเกิดอย่างชัดเจน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นสัญญาณของการเป็นพระสันตปาปา 'ของโลก' ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยหลายฝ่ายคาดหวังว่าพระองค์จะทรงสร้างสมดุลระหว่างการปฏิรูปกับการรักษาเอกลักษณ์ของคริสตจักรคาทอลิก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top