Saturday, 10 May 2025
ค้นหา พบ 47995 ที่เกี่ยวข้อง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#20 'ทำไมสหรัฐฯ จึงไม่ชนะในสงครามอินโดจีน'

สงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมคงต้องใช้คำว่า “ไม่ชนะ” แทนคำว่า “พ่ายแพ้” เพราะอันที่จริงแล้วศักยภาพของกองทัพอเมริกันและพันธมิตรสามารถเอาชนะสงครามอินโดจีนได้ หากเป็นการรบตามแบบ และไม่คำนึงถึงปัญหาอุปสรรคอันเกิดจากข้อจำกัดต่าง ๆ ตลอดจนการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศของสหรัฐฯ เอง รวมทั้งการไม่สามารถเอาชนะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และจิตวิทยาภายในเวียตนามทั้งเหนือและใต้อีกด้วย สงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ผ่านการบริหารประเทศโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 5 คน ได้แก่ Truman, Eisenhower, Kennedy, Johnson และ Nixon

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หน่วย OSS (ต้นกำเนิดของ CIA ในปัจจุบัน) ได้ขบวนการเวียตมินห์ (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นกองทัพประชาชนเวียตนาม) ซึ่งโฮจินมินห์เป็นผู้ก่อตั้งเป็นพันธมิตรในการสู้รบกับญี่ปุ่น ด้วยการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้เวียตมินห์ช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกและหาข่าวให้กับ OSS หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงในปี 1945 ความผิดพลาดของสหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1946 เมื่อประธานาธิบดี Truman ได้ปฏิเสธคำขอความช่วยเหลือของโฮจิมินห์ในการขับไล่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม โดยเลือกที่จะสนับสนุนฝรั่งเศสแทน ทั้ง ๆ ที่ตัวโฮจิมินห์เองรู้สึกขอบคุณและชื่นชมสหรัฐฯ ที่ช่วยขบวนการเวียตมินห์จนสามารถขับไล่ญี่ปุ่นจากการยึดครองเวียตนามต่อจากฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเดิม อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สหรัฐฯไม่สามารถเอาชนะทั้ง “จิตใจและแนวคิด” ของชาวเวียตนามได้ ซ้ำร้ายผลจากสงครามเย็นทำให้สังคมอเมริกันโดยรวมถูกกระแสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเวียตนามเหนือไม่เป็นไปด้วยดีตาม แล้วก็เข้าสู่สงครามในที่สุด

ประธานาธิบดี Harry S. Truman จึงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ทำให้สหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับเวียตนาม ในปี 1945 เขาได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศด้านกิจการเอเชีย ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt (ผู้ซึ่งต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมหรือการล่าอาณานิคม) ซึ่งเสียชีวิตในตำแหน่ง ว่า การกลับมาปกครองเวียตนามของฝรั่งเศสจะนำไปสู่ "การนองเลือดและความไม่สงบ" แต่ประธานาธิบดี Truman กลับยอมรับต่อการกลับเข้าปกครองอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสอีกครั้ง ด้วยหวังว่า เรื่องดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนเศรษฐกิจและเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับฝรั่งเศส (ซึ่งพ่ายแพ้ต่อเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหมดรูป) อีกครั้งหนึ่ง ไม่ช้าฝรั่งเศสก็กลับมาปกครองเวียตนามพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปิดฉากสู้รบกับกองทัพประชาชนเวียตนามหรือเวียตมินห์ของของโฮจิมินห์ในทันที โดยแรก ๆ นั้น สหรัฐอเมริกายังคงดำรงความเป็นกลางอย่างเป็นทางการ หลีกเลี่ยงการติดต่อใด ๆ กับโฮจิมินห์ อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 1947 ประธานาธิบดี Truman ยืนยันว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ คือการช่วยเหลือประเทศที่ยืนหยัดต่อการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ สงครามเกาหลีในปี 1950 รวมถึงความช่วยเหลือจากจีนและสหภาพโซเวียตต่อเวียตหมินห์ทำให้ประธานาธิบดี Truman กลับมาพิจารณาและให้จัดเวียตนามเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำสงครามเย็น ด้วยความกลัวว่า ที่สุดเวียตนามจะกลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ เขาได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมกับที่ปรึกษาทางทหารจำนวน 35 นาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดความช่วยเหลือมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ มอบให้แก่ฝรั่งเศส และยิ่งถลำลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปลายสมัยที่สองของประธานาธิบดี Truman สหรัฐฯ ได้ทุ่มงบมากกว่าหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายในการทำสงครามในเวียตนามให้กับฝรั่งเศส และในที่สุดได้เพิ่มจำนวนเงินงบประมาณเป็นประมาณ 80% ของค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม

ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 2 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนาม ในปี 1954 ฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้ชนิดหมดรูปที่เดียนเบียนฟู ทำให้ความพยามในการครอบครองอาณานิคมของพวกเขาสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนได้เสนอให้ทำการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อรักษาสถานภาพของฝรั่งเศส แต่ประธานาธิบดี Eisenhower ปฏิเสธ เพราะสงครามเกาหลีพึ่งจะสงบลงได้ไม่นานนัก ประธานาธิบดี Eisenhower ได้เขียนไว้ในบันทึกของเขา ว่า “ผมเชื่อมั่นว่าจะไม่มีชัยชนะทางทหารเกิดขึ้นเหมือนอดีตอีกแล้ว” แต่ด้วยเขาเป็นผู้ที่เชื่อใน "ทฤษฎีโดมิโน" ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า หากประเทศใดประเทศหนึ่งพ่ายแพ้ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามมา จึงปฏิเสธที่ปล่อยเวียตนามโดยสิ้นเชิง ที่สุดเวียตนามถูกแบ่งเป็นสองประเทศโดยมีโฮจินมินห์เป็นผู้นำเวียตนามเหนือ และ Ngo Dinh Diem ผู้ซึ่งเป็นพวกนิยมชาติตะวันตกได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานาธิบดีของเวียตนามใต้ แต่เขาเป็นชาวเวียตนามเชื้อสายจีนจากตระกูลที่มั่งคั่ง ซ้ำยังเป็นแคทอลิก ในขณะที่ชาวเวียตนามใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและมีฐานะยากจน การเลือกตั้งซึ่งควรจะเกิดขึ้นเพื่อรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน แต่ถูกประธานาธิบดี Diem หยุดไว้ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วยเกรงว่า โฮจินมินห์จะชนะการเลือกตั้งและมีความชอบธรรมที่จะรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน

แม้ว่า ประธานาธิบดี Diem จะถูกขุดคุ้ยตรวจสอบและประจักษ์ชัดว่า เป็นพวกเผด็จการและทุจริตโกงกิน แต่ประธานาธิบดี Eisenhower ก็เรียกเขาว่า "รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด" และ "ตัวอย่างของผู้คนที่เกลียดชังทรราชและรักเสรีภาพ" ที่สำคัญกว่านั้นเขายังได้จัดหาเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ ประธานาธิบดี Diem โดยมอบเงินช่วยเหลือจำนวนมากในระหว่างปี 1955 ถึง 1960 และเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาทางทหารเพิ่มเป็น 1,000 นาย เมื่อประธานาธิบดี Eisenhower หมดวาระการดำรงตำแหน่ง การสู้รบอย่างเปิดเผยระหว่างกองกำลังทหารของประธานาธิบดี Diem กับเวียตกง ในเวียตนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียตนามเหนือก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนามคือ ประธานาธิบดี John F. Kennedy หลังจากไปเยือนเวียตนามในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1951 เขาได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ฝรั่งเศสในเวียตนาม โดยเขากล่าวว่า การกระทำนั้น “เป็นการท้าทายความเป็นชาตินิยมโดยรู้ล่วงหน้าว่าจะล้มเหลวอยู่แล้ว” และอีก 3 ปีต่อมาเขาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ผมเชื่อในความเชื่อที่ว่า ไม่มีความช่วยเหลือทางทหารของอเมริกันจำนวนมาก…จะสามารถพิชิตศัตรูได้ทุกที่ในเวลาเดียวกัน” ท่าทีของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1960 ด้วยความกังวลว่า จะถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Kennedy ได้จัดหาเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินลำเลียง เรือลาดตระเวนลำน้ำ และอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ให้กับเวียตนามใต้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้ Napalm และ สารพิษ เช่น ฝนเหลือง (Agent Orange) และเพิ่มที่ปรึกษาทางทหารเป็น 16,000 คน บางนายมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการรบอย่างลับ ๆ ต่อมาประธานาธิบดี Diem ผู้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนถูกรัฐประหารและสังหารในปี 1963 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดี Kennedy จะถูกลอบสังหาร โดยก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน เขาเคยบอกกับคณะทำงานของเขาว่า เขาอาจจะถอนกำลังและการสนับสนุนออกจากเวียตนามภายหลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า เขาจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่

ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 4 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนาม หลังการลอบสังหารของประธานาธิบดี Kennedy การมีส่วนร่วมในสงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ยังค่อนข้างจำกัด แต่สิ่งนั้นได้เปลี่ยนไปในเดือนสิงหาคม 1964 “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย” ทำให้รัฐสภาอเมริกันมอบอำนาจในการทำสงครามอย่างไม่จำกัดให้กับประธานาธิบดี Johnson ผู้ซึ่งพึ่งเข้าดำรงตำแหน่ง เพราะตระหนักว่า รัฐบาลและกองทัพเวียตนามใต้กำลังจะล่มสลาย ประธานาธิบดี Johnson ได้ส่งกำลังรบสหรัฐเข้าสู่สนามรบในเวียตนามเป็นครั้งแรกในต้นปี 1965 และให้มีการทิ้งระเบิดขนานใหญ่ในชื่อรหัสว่า Operation Rolling Thunder ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องมาอีกหลายปี ในไม่ช้าร่างรัฐบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสงครามเวียตนามใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย พร้อมกับการต่อต้านร่างกฎหมายเหล่านั้น ในปี 1967 มีทหารอเมริกันราว 500,000 นายในเวียตนามใต้ และในปีเดียวกันนั้นมีก็การประท้วงต่อต้านสงครามครั้งใหญ่ในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ต่างยืนยันกับประธานาธิบดี Johnson ว่า ชัยชนะกำลังใกล้เข้ามา แต่ต่อมาเมื่อเอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถูกเปิดเผยในภายหลังกลายเป็นว่า ความคิดเห็นเหล่านี้ทำให้เข้าใจผิดอย่างมากมาย ในความเป็นจริงแล้วการสู้รบในเวียตนามใต้นั้นได้กลายเป็นหลุมใหญ่และลึกไปเสียแล้ว สงครามเวียตนามกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก และประธานาธิบดี Johnson ก็กลายเป็นพวกกระหายสงคราม ในที่สุดประธานาธิบดี Johnson ก็ตัดสินใจที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1968

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 5 คนสุดท้ายที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนามคือ ประธานาธิบดี Richard Nixon ในการรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี Nixon สัญญาว่า จะยุติสงครามเวียตนาม อย่างไรก็ตามภายหลังปรากฏว่า มีพยายามขัดขวางการเจรจาสันติภาพเพื่อทำให้คะแนนเสียงของเขาดีขึ้น ในฐานะประธานาธิบดี ประธานาธิบดี Nixon ค่อยๆ ทยอยถอนทหารอเมริกันออกจากเวียตนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “Vietnamization” แต่เขาก็เพิ่มความขัดแย้งในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การอนุมัติการโจมตีทางอากาศอย่างลับ ๆ ในกัมพูชาในปี 1969 ต่อมาส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปยังกัมพูชาในปี 1970 และอนุมัติการบุกลาวในปี 1971 ทั้งหมดล้วนแต่เป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์อย่างยิ่งในการทำลายเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัยกองกำลังเวียตกง นอกจากนั้นแล้วประธานาธิบดี Nixon ยังสั่งให้มีการโจมตีทางอากาศที่รุนแรงที่สุดในสงคราม ซึ่งส่งผลเวียตนามเหนือถูกทิ้งระเบิดถึง 36,000 ตัน ในช่วงปลายปี 1972 ในเดือนมกราคมปี 1973 เมื่อกรณีอื้อฉาว Watergate ถูกเปิดเผย ประธานาธิบดี Nixon จึงยุติบทบาทการมีส่วนร่วมโดยตรงของสหรัฐฯ ในเวียตนาม โดยกล่าวว่า ปฏิบัติการ "สันติภาพอย่างมีเกียรติ" ประสบความสำเร็จ แม้จะปรากฏว่า การสู้รบในเวียตนามยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 1975 กระทั่งกองกำลังทหารเวียตนามเหนือและกองกำลังเวียตกงสามารถยึดกรุงไซ่ง่อนได้เมื่อ 30 เมษายน 1975 เมืองหลวงของเวียตนามใต้ และรวมประเทศเข้าด้วยกันภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม

สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในอินโดจีนด้วยเหตุผลคือ การป้องกันการแผ่อำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ โดยยอมละเลยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยของตนด้วยการสนับสนุนให้กองทัพที่เป็นพวกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและยอมทำตามสหรัฐฯ ทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นี้คือ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ พ่ายแพ้ในภูมิภาคนี้ด้วยผู้นำทางทหารเหล่านั้นเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้วแทนที่จะพัฒนาชาติบ้านเมือง กลับกลายเป็นเผด็จการทรราชทำการทุจริตโกงกินคอร์รัปชันกันอย่างมากมายมหาศาล เมื่อนายทหารใหญ่ ๆ กลายเป็นเผด็จการทรราชทุจริตโกงกินแล้ว คุณภาพของกองทัพก็ลดลงทั้งวินัย ขวัญกำลังใจ และความสามารถในการรบ อุดมการณ์รักชาติกลายเป็นอุดมกินแสวงหาผลประโยชน์เงินทองในหมู่ทหารทุกระดับชั้น เมื่อมีความสุขสบาย ความรักตัวกลัวตายจึงเกิด อีกทั้งความช่วยเหลือที่ได้รับจากสหรัฐฯ นั้นมากมายมหาศาล ในขณะที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยังคงยึดถืออุดมการณ์รักชาติ เพื่อชาติ อยู่เช่นเดิม

เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโดจีนถูกเผยแพร่ตีแผ่ในสื่อต่าง ๆ ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะโทรทัศน์ ชาวอเมริกันได้เห็นปฏิบัติการรบ ทำให้ส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจจึงการเกิดการประท้วงต่อต้านสงครามอยู่ตามมหาวิทยาลัยและตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เด็กหนุ่มอเมริกันซึ่งแต่เดิมสหรัฐฯ ใช้ระบบการเกณฑ์ทหารต่างก็หวาดกลัวจึงพากันต่อต้านและอพยพหลบหนีออกจากประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ไปรบในเวียตนาม ความเบื่อหน่ายต่อสงครามซึ่งสหรัฐฯ เข้าร่วมตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องมา ทั้งอเมริกันชนไม่เห็นประโยชน์ในการทำสงครามเวียตนาม ทั้งสูญเสียชีวิตทหารอเมริกันเกือบหกหมื่นนาย รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยอมเจรจาสงบศึกและทยอยถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกจากเวียตนามในปี 1973 แต่ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลเวียตนามใต้ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาล โดยหวังว่า กองทัพเวียตนามใต้จะนำประชาชนจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพเวียตนามเหนือและกองกำลังเวียตกง ด้วยความผิดพลาดจากการทำให้กองทัพเวียตนามใต้เสพติดการทุจริตคอร์รัปชันโกงกิน ใช้อำนาจในการรังแกประชาชนจนขาดความยกย่อง นับถือ และเชื่อมั่น จึงไม่มีใครร่วมที่จะต่อสู้เลย ซ้ำร้ายทหารเวียตนามใต้เองเมื่อขาดวินัย ขวัญกำลังใจต่ำมาก ๆ จึงพากันถอดเครื่องแบบหนีทัพ ที่สุดแล้วอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาลเหล่านั้นก็ตกอยู่มือของกองทัพเวียตนามเหนือ (กองทัพเวียดนามในปัจจุบัน) แม้จะสูญเสียไปในการรบกับจีนในสงครามจีนสั่งสอนเวียตนาม สงครามในกัมพูชา รบกับกองทัพไทย ไปเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ก็ยังคงมีเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมากและบางส่วนยังไม่เคยได้นำออกมาใช้งานเลย

การที่สหรัฐฯ ไม่สามารถเอาชนะในสงครามครั้งนั้นได้ ด้วยเพราะการบริหารที่ผิดพลาดทั้งการทหารและการเมือง เมื่อบริหารร่วมกันในการทำสงครามเวียตนามแล้วยิ่งผิดพลาดจนไปกันใหญ่ แม้จนปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯ จะยังคงเป็นกองทัพอันดับหนึ่งของโลกก็ตาม หากแต่พิจารณาถึงสงครามที่สงครามต่าง ๆ ในระยะหลังที่กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทนั้น กองทัพสหรัฐฯ จะถูกมองในบทบาทของผู้รุกรานมากกว่าบทบาทของผู้ช่วยเหลือหรือผู้ปลดปล่อย ภาพปรากฏจึงกลายเป็นศัตรูมากกว่ามิตร เปรียบเหมือนกับกองทัพสหรัฐฯ นั้นใช้พระเดช (อำนาจ) มากกว่าพระคุณ (ไมตรีจิต-มิตรภาพ-จริงใจ-ช่วยเหลือ-ห่วงใย-ใส่ใจ) ความสำเร็จในการทำสงครามในมุมมองของผู้เขียนคือ การบริหารพระเดชและพระคุณให้เกิดความเหมาะสมสมดุล ไม่ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งมากหรือน้อยจนเกินไป แต่ใช้ทั้งสองอย่างให้เหมาะสม ตามแต่บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น ๆ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) คือ สัจธรรมที่มนุษยชาติต้องประสบพบเจอ ไม่เว้นแม้แต่ สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเราท่านน่าจะมีโอกาสได้เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไป

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำบทบาทของสื่อในฐานะรากฐานประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชนในฐานะที่เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย วันนี้เป็นโอกาสให้ทั่วโลกได้ร่วมกันรำลึกถึงหลักการพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล และบทบาทอันสำคัญยิ่งของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารที่เป็นจริงและรอบด้านแก่ประชาชน

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) โดยสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมเป็นวันสำคัญดังกล่าว ตามข้อเสนอแนะที่ได้รับการรับรองในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 26 ในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียกร้องของนักข่าวชาวแอฟริกันในการประชุมที่เมืองวินด์ฮุก ประเทศนามิเบีย ในปีเดียวกัน

วัตถุประสงค์หลักของการกำหนดวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกคือการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องสื่อมวลชนจากการถูกคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การจับกุม หรือการเซ็นเซอร์ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้รัฐบาลและสังคมตระหนักถึงหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของสื่อมวลชนอย่างอิสระและปลอดภัย เพื่อให้สื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบอำนาจ เปิดโปงการทุจริต และเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ที่ไม่มีเสียงได้อย่างเต็มที่ วันนี้ยังเป็นโอกาสในการประเมินสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก และให้การสนับสนุนสื่อที่ตกเป็นเป้าของการจำกัดเสรีภาพ รวมถึงเป็นการรำลึกถึงนักข่าวที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่

ความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชนนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในแวดวงสื่อเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน สื่อมวลชนที่เสรีและเป็นอิสระมีบทบาทในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและหลากหลายแก่ประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งในระดับส่วนตัวและระดับสังคม นอกจากนี้ สื่อยังเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการถกเถียงในประเด็นสาธารณะ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อจึงเป็นรากฐานสำคัญของการมีสังคมที่เปิดกว้างและตรวจสอบได้

ในปัจจุบัน สื่อมวลชนทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งจากการแทรกแซงทางการเมืองและเศรษฐกิจ การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (Disinformation) และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน การเฉลิมฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกจึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพของสื่อ เพื่อให้สื่อสามารถทำหน้าที่ในการนำเสนอความจริงและเป็นปากเสียงให้กับสังคมได้อย่างยั่งยืน ยูเนสโกยังได้มอบรางวัลเสรีภาพสื่อโลกยูเนสโก/กีลเลร์โม กาโน (UNESCO/Guillermo Cano World Press Freedom Prize) เป็นประจำทุกปี เพื่อยกย่องบุคคล องค์กร หรือสถาบันที่มีผลงานโดดเด่นในการปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชน

‘วันฉัตรมงคล’ ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ‘ในหลวง ร.10’ แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

วันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติอย่างเป็นทางการ โดยมีพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2562 ถือเป็นวันสำคัญแห่งราชประเพณีที่เปี่ยมไปด้วยความหมายและความศักดิ์สิทธิ์

ในวันนี้จะมีพิธีถวายพระพรชัยมงคลทั่วประเทศ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นหลักชัยของแผ่นดิน พิธีการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสง่างามตามขนบธรรมเนียมราชสำนัก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นไปตามโบราณราชประเพณีอันยิ่งใหญ่ ทั้งทางพุทธศาสนาและพราหมณ์ เพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจและพระราชฐานะอย่างสมบูรณ์ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย

วันฉัตรมงคลจึงถือเป็นโอกาสสำคัญให้ประชาชนได้ร่วมกันรำลึกถึงพระราชพิธีอันทรงเกียรติ และแสดงความสามัคคีของชาติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร การประดับธงชาติและธงพระราชสัญลักษณ์ตามอาคารบ้านเรือน

ทั้งนี้ วันฉัตรมงคลยังเป็นการย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนไทย ซึ่งดำรงอยู่อย่างมั่นคงและเปี่ยมด้วยความเคารพตลอดมา

‘ทรัมป์’ เผย ‘ปูติน’ พร้อมยุติสงครามกับยูเครน แต่โยนความผิดให้ ‘ไบเดน’ ทำสถานการณ์เลวร้ายตั้งแต่เริ่มต้น

(30 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความเต็มใจที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News ในวาระดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน

ทรัมป์กล่าวว่า ปูตินอาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อโน้มน้าวให้ยุติสงคราม และย้ำว่า “เขาเต็มใจที่จะยุติการสู้รบ” พร้อมกันนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์อดีตประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ว่าเป็นผู้ทำให้สงครามปะทุ โดยเชื่อว่าหากตนชนะเลือกตั้งในปี 2020 ปูตินอาจยึดยูเครนได้ทั้งหมด

ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังตำหนิคำพูดของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ว่าเป็นการ 'ปลุกระดม' โดยเฉพาะการปฏิเสธที่จะยอมรับไครเมียเป็นของรัสเซีย ซึ่งเขามองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพและทำให้สงครามยืดเยื้อ

ทั้งนี้ในช่วงเมื่อต้นสัปดาห์ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับเกล็น เบ็ค (Glenn Lee Beck) นักวิจารณ์การเมือง อนุรักษ์นิยมชาวอเมริกัน โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเรียกร้องมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีอำนาจต่อรอง พร้อมระบุว่าปูติน “จัดการได้ง่ายกว่าเซเลนสกี” และเปิดกว้างต่อการบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามในภูมิภาคนี้

ถอดรหัส 'การส่งออกก๊าซระหว่างรัสเซียและอิหร่าน' การสร้างพันธมิตรทางพลังงานและผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์

ในระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในแง่ของการค้าพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก การตกลงของรัสเซียที่จะเริ่มการส่งก๊าซไปยังอิหร่านในปีนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่ในความร่วมมือทางพลังงานระหว่างสองประเทศนี้ ข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและอิหร่าน แต่ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อทิศทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจในระดับโลกได้

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรพลังงานสำคัญ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในขณะที่รัสเซียก็เป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก การที่ทั้งสองประเทศสามารถทำข้อตกลงในเรื่องการส่งก๊าซจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจในการควบคุมตลาดพลังงานในภูมิภาคและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันการร่วมมือด้านพลังงานนี้ยังช่วยเสริมสร้างบทบาทของทั้งสองประเทศในฐานะ "ผู้เล่นสำคัญ" ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความขัดแย้งและการแทรกแซงจากประเทศภายนอกรวมถึงสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก

จากมุมมองของรัสเซียการส่งก๊าซไปยังอิหร่านไม่เพียงแต่เป็นการเสริมสร้างพันธมิตรทางพลังงานที่สามารถช่วยให้รัสเซียมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวแต่ยังเป็นการแสดงออกถึงอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ซึ่งการมีอำนาจในตลาดพลังงานเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกันอิหร่านก็จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มการจัดหาก๊าซในตลาดภายในประเทศและเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองภายในสองประเทศเท่านั้นแต่ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะในแง่ของการยกระดับความตึงเครียดกับชาติตะวันตกและการสร้างแนวทางใหม่ในการคัดค้านการแทรกแซงจากมหาอำนาจต่างๆ การขยายตัวของความสัมพันธ์พลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่เพียงแต่ในแง่ของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่ยังมีผลต่อการปรับเปลี่ยนทิศทาง ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในด้านเศรษฐกิจรัสเซียได้เผชิญกับผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่เข้มข้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในด้านการส่งออกพลังงาน ทำให้ต้องหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนการสูญเสียตลาดยุโรปที่มีมูลค่าสูง ขณะเดียวกันการขยายตลาดไปยังเอเชียกลางและตะวันออกกลางช่วยให้รัสเซียสามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดพลังงานโลก อิหร่านเองก็มีสถานการณ์คล้ายกัน เนื่องจากการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรทำให้การส่งออกก๊าซและน้ำมันของประเทศถูกจำกัด การมีพันธมิตรในรัสเซียจึงเป็นโอกาสที่อิหร่านสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการคว่ำบาตรและเพิ่มการเข้าถึงตลาดพลังงานใหม่ๆ ทั้งในแง่ของการส่งออกและการบริโภคในประเทศ การตกลงเพื่อส่งก๊าซระหว่างทั้งสองประเทศจึงมีความสำคัญในฐานะการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจของทั้งรัสเซียและอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การกดดันทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตกยังคงมีอยู่

ผลประโยชน์ที่ทั้งสองชาติจะได้รับจากการส่งออกก๊าซ
รัสเซีย: การส่งก๊าซไปยังอิหร่านถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการขยายตลาดไปยังภูมิภาคที่มีความต้องการพลังงานสูงในช่วงนี้ การมีตลาดพลังงานใหม่ในอิหร่านและพื้นที่ตะวันออกกลางจะทำให้รัสเซียสามารถกระจายการพึ่งพาตลาดยุโรปได้มากขึ้น นอกจากนี้การเป็นผู้ส่งออกก๊าซหลักไปยังอิหร่านจะช่วยเพิ่มบทบาทของรัสเซียในฐานะผู้นำทางพลังงานของโลกในระดับภูมิภาคและทั่วโลก

อิหร่าน: สำหรับอิหร่านการรับก๊าซจากรัสเซียจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานภายในประเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตพลังงานภายในที่ลดลงจากการคว่ำบาตรต่างๆ การมีรัสเซียเป็นพันธมิตรทางพลังงานจะช่วยให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกและสะดวกสบายยิ่งขึ้นซึ่งจะมีผลดีต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานภายในประเทศและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ความร่วมมือทางพลังงานนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างรัสเซียและอิหร่าน โดยทำให้ทั้งสองประเทศสามารถรับมือกับการแทรกแซงจากต่างชาติได้ดีขึ้นทั้งในระดับเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้พวกเขามีอิทธิพลมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

การตอบสนองของโลกตะวันตกต่อการขยายอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาค
ข้อตกลงระหว่างรัสเซียและอิหร่านในเรื่องการส่งออกก๊าซธรรมชาติได้สร้างความวิตกกังวลในหมู่ประเทศตะวันตกที่อาจมองว่าการร่วมมือทางพลังงานระหว่างสองประเทศนี้อาจเสริมสร้างอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่รัสเซียและอิหร่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความมั่นคงทางทหารและภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสองประเทศต่างมีความมุ่งมั่นที่จะท้าทายอิทธิพลของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกในตะวันออกกลางและพื้นที่อื่น ๆ การที่รัสเซียสามารถส่งออกก๊าซให้กับอิหร่านได้มากขึ้น น่าจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกัน ซึ่งสามารถมีผลต่ออำนาจการต่อรองในหลาย ๆ สนาม

การขยายความสัมพันธ์ทางพลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านคงจะไม่ได้ผ่านไปอย่างราบรื่น เนื่องจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปมีท่าทีต่อต้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการส่งออกพลังงานในปริมาณมาก สิ่งนี้สามารถเสริมสร้างสถานะของอิหร่านในฐานะผู้ผลิตพลังงานสำคัญในภูมิภาคและลดผลกระทบของการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ และ EU ได้ใช้กับอิหร่านมาก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรในยุโรปอาจตอบสนองด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เช่น การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงาน หรือการห้ามการลงทุนในโครงสร้างพลังงานของอิหร่าน นอกจากนี้อาจมีการใช้มาตรการทางการทูตเพื่อกดดันรัสเซียและอิหร่านให้ลดความร่วมมือในภาคพลังงานรวมถึงการขยายการคว่ำบาตรจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติหรือ G7 เพื่อลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ

การร่วมมือระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานสร้างความท้าทายทางการทูตที่ซับซ้อนสำหรับโลกตะวันตก โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ และพันธมิตรไม่สามารถหาทางออกที่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของความสัมพันธ์นี้ได้ ความพยายามที่จะจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรพลังงานและการส่งออกของอิหร่านอาจทำให้เกิดปัญหาทางการทูตในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การขยายบทบาทของรัสเซียในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น ในซีเรีย หรือลงลึกไปในการช่วยเหลือด้านพลังงานที่อาจสนับสนุนโครงการทางทหารของอิหร่านที่มีความเสี่ยงสูง

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสองขั้วอำนาจนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรอาจมีการปรับกลยุทธ์ทางการทูตเพื่อเผชิญหน้ากับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางพลังงานของรัสเซียและอิหร่าน โดยการเจรจากับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือการสนับสนุนการดำเนินการทางการทูตที่มีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น การขยายมาตรการคว่ำบาตรและเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งรัสเซียและอิหร่านอาจกลายเป็นเครื่องมือหลักในการปกป้องผลประโยชน์ของโลกตะวันตกและสกัดกั้นการเติบโตของอิทธิพลรัสเซียในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ การพัฒนาความสัมพันธ์ทางพลังงานนี้ยังอาจเป็นการทดสอบการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงประเทศในเอเชียกลางที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ในบริเวณนี้ ท่ามกลางความกังวลที่มีต่อการขยายอิทธิพลของรัสเซียและอิหร่านในเชิงพลังงานและการเมือง

ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
การตกลงระหว่างรัสเซียและอิหร่านในการส่งออกก๊าซธรรมชาติอาจเสริมสร้างอำนาจของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประเทศในภูมิภาคมีความเข้มแข็งขึ้น รัสเซียได้เข้ามามีบทบาทในหลายพื้นที่สำคัญของตะวันออกกลาง อาทิเช่น ซีเรีย โดยที่การสนับสนุนของรัสเซียต่อรัฐบาลของบาชาร์ อัล-อัสซาดยังคงมีบทบาทสำคัญในการคงอำนาจของรัฐบาลในดามัสกัสและการป้องกันไม่ให้กลุ่มอำนาจตะวันตกขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้การที่รัสเซียสามารถส่งออกก๊าซไปยังอิหร่านได้มากขึ้นยิ่งทำให้รัสเซียกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักทางเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งสามารถขยายอิทธิพลในระดับภูมิรัฐศาสตร์โดยการใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการต่อรองและการสร้างพันธมิตรกับประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง การมีส่วนร่วมของรัสเซียในการดำเนินการทางพลังงานของอิหร่านและการส่งออกก๊าซยังช่วยเสริมความสามารถของรัสเซียในการเข้าถึงตลาดพลังงานที่สำคัญของโลกซึ่งจะทำให้รัสเซียสามารถใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการปรับกลยุทธ์ทางการทูตและภูมิรัฐศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในขณะที่การขยายความร่วมมือทางพลังงานกับรัสเซียจะมีผลกระทบสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายพลังงานของอิหร่านโดยเฉพาะในด้านการส่งออกก๊าซและน้ำมันที่สำคัญ อิหร่านที่เคยต้องพึ่งพาความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคและตะวันตกในการค้าขายพลังงานอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งพารัสเซียมากขึ้นในการพัฒนาและส่งออกก๊าซธรรมชาติ การร่วมมือในโครงการพลังงานกับรัสเซียจะช่วยให้การส่งออกพลังงานของอิหร่านเติบโตขึ้นขณะเดียวกันก็ช่วยลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่โลกตะวันตกได้ใช้กับอิหร่านก่อนหน้านี้ นอกจากนี้อิหร่านยังสามารถใช้ความสัมพันธ์ทางพลังงานกับรัสเซียเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน เช่น การขุดเจาะและขนส่งก๊าซรวมถึงการสร้างงานในภาคพลังงานภายในประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่อิหร่านมีความพยายามในการหลีกเลี่ยงการพึ่งพิงจากประเทศตะวันตก

การขยายความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อรัสเซียและอิหร่านเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อลักษณะของความสัมพันธ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางในหลาย ๆ ด้าน ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หรือชาติในยุโรปอาจรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการขยายอำนาจของรัสเซียและอิหร่าน การเพิ่มขึ้นของอิทธิพลรัสเซียในภูมิภาคอาจทำให้ประเทศเหล่านี้มองว่าการร่วมมือระหว่างรัสเซียและอิหร่านเป็นการท้าทายอำนาจของตะวันตกในตะวันออกกลาง สำหรับประเทศที่เคยพึ่งพาพลังงานจากอิหร่านหรือรัสเซีย เช่น ประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซีย ประเทศเหล่านี้อาจต้องปรับตัวในด้านการพัฒนาพลังงานและการตลาดใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการขยายตัวของความสัมพันธ์ทางพลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านที่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดพลังงานเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มความร่วมมือในด้านพลังงานระหว่างสองประเทศนี้ยังอาจทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคที่มีอยู่แล้วระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ทวีความรุนแรงขึ้นและอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนในโครงสร้างพลังงานของประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

บทสรุป ข้อตกลงการส่งก๊าซระหว่างรัสเซียและอิหร่านในปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่มีผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในด้านพลังงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแค่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศแต่ยังเพิ่มความแข็งแกร่งในการเจรจาทางการทูตของทั้งรัสเซียและอิหร่านในเวทีโลก นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างอำนาจของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางและสามารถปรับสมดุลพลังงานในตลาดโลกได้ การส่งออกก๊าซไปยังอิหร่านไม่เพียงแค่ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองประเทศ แต่ยังเสริมสร้างอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีการแข่งขันสูง ข้อตกลงนี้ยังสามารถเป็นเครื่องมือในการลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของตะวันตกและช่วยให้รัสเซียและอิหร่านมีความสามารถในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการทูต ในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งขึ้นโดยเฉพาะในด้านพลังงานและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การส่งออกก๊าซจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างอิทธิพลของทั้งสองประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้เกิดการปรับตัวของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อรักษาความสมดุลและผลประโยชน์ทางพลังงานของตนเอง ความร่วมมือนี้อาจมีผลต่อทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคในระยะยาวและกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของการเมืองโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top