Saturday, 26 April 2025
ค้นหา พบ 47667 ที่เกี่ยวข้อง

‘มาร์โก รูบิโอ’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งยุบ 132 หน่วยงาน-ลดคน 700 หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทูต รับนโยบายใหม่ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’

(23 เม.ย. 68) นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยแผนปรับโครงสร้างกระทรวงการต่างประเทศครั้งใหญ่ โดยจะยุบสำนักงานในประเทศ 132 แห่ง ลดตำแหน่งราว 700 อัตราในกรุงวอชิงตัน ยกเลิกสำนักงานด้านอาชญากรรมสงคราม และยุติบทบาทผู้แทนพิเศษด้านเสรีภาพทางศาสนาและด้านสภาพภูมิอากาศ

กระทรวงฯ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แก้ปัญหาโครงสร้างองค์กรที่ 'ขยายใหญ่เกินความจำเป็น' โดยไม่ส่งผลให้มีการเลิกจ้างในทันที แต่ให้แต่ละหน่วยงานยื่นแผนลดบุคลากรลง 15% ภายใน 30 วัน พร้อมลดจำนวนหน่วยงานสังกัดจาก 734 เหลือ 602 แห่ง ทั้งนี้ มีแผนจัดสรรบุคลากรไปยังหน่วยงานอื่นแทนการปลดออก

รูบิโอระบุว่า การปฏิรูปครั้งนี้มีขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อ “คืนความสามารถในการแข่งขัน” ให้กับการทูตอเมริกัน และเน้นเป้าหมาย 'อเมริกาต้องมาก่อน' โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบัน

เขายังกล่าวว่า หน่วยงานที่เคยเน้น 'สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และแรงงาน' กลับถูกใช้เป็นเวทีของกลุ่มหัวก้าวหน้าในการผลักดันวาระการเมือง เช่น การคว่ำบาตรอิสราเอล ส่งผลกระทบต่อพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ พร้อมย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะ “คืนความเป็นกลางและความแข็งแกร่ง” ให้กับการทูตอเมริกันในเวทีโลก

ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีประดับเครื่องหมายยศ และมอบประกาศนียบัตรให้แก่ นักเรียนจ่า และนักเรียนดุริยางค์ ประจำปีการศึกษา 2567

เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.68) เวลา 14.30 น. พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีประดับเครื่องหมายยศ และมอบประกาศนียบัตรให้แก่ นักเรียนจ่า (นรจ.) และนักเรียนดุริยางค์ (นดย.) ที่สำเร็จการศึกษาประจำปี 2567 จากโรงเรียนชุมพลทหารเรือ โรงเรียนสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนทหารนาวิกโยธิน โรงเรียนอิเล็กทรอนิกส์ โรงเรียนพลาธิการ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ โรงเรียนการขนส่งทหารเรือ และโรงเรียนดุริยางค์ กองดุริยางค์ทหารเรือ ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้มีผู้เข้ารับการประดับเครื่องหมายยศ และมอบประกาศนียบัตร จำนวน 923 นาย ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนจ่าจำนวน 909 นาย และนักเรียนดุริยางค์จำนวน 14 นาย

ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบโอวาทแก่ นักเรียนจ่าและนักเรียนดุริยางค์ทุกนาย โดยมีใจความสำคัญว่า 

"การสำเร็จการศึกษาของนักเรียนจ่า และนักเรียนดุริยางค์ทหารเรือ และได้รับการประดับเครื่องหมายยศเป็น จ่าตรี ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่ควรค่าแก่การชื่นชม ความสำเร็จของทุกท่านในครั้งนี้ ล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นวิริยะอุตสาหะ และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ขอให้มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญของกองทัพเรือ ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ สำนึกในความเป็นทหารเรือ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัย มีคุณธรรม และจริยธรรม และจะต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของท่าน และกองทัพเรือสืบไป"

สำหรับการศึกษาของนักเรียนจ่า และนักเรียนดุริยางค์ มีการศึกษาในรูปแบบภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยนักเรียนจ่าจะใช้ระยะในการศึกษาเป็นเวลา 2 ปี และนักเรียนดุริยางค์จะใช้เวลา 3 ปี ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อย จะได้รับการประดับยศเป็น “จ่าตรี” และจะได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามสาขาวิชาการที่ได้ศึกษาในหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดการสมัครของนักเรียนจ่าได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “นักเรียนจ่าทหารเรือ” หรือสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานนักเรียนจ่าทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2475 3663 ในส่วนของ รายละเอียดการสมัครของนักเรียนดุริยางค์สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ” หรือสามารถติดต่อได้ที่ ธุรการโรงเรียนดุริยางค์ กองดุริยางค์ทหารเรือ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2475 3054

'พล.ต.อ.ธัชชัยฯ' จับมือ UNODC อัปเดตสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงในภูมิภาคอาเซียน พร้อมหารือวิธีการแก้ไขปัญหา

เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.68) พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) และหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 เวลา 19.00 น. ได้รับเชิญไปอภิปรายในงาน Expert Panel on Scam Centers and Cybercrime in the Mekong Region ซึ่งจัดโดย UNODC โดยมีผู้แทนจากสถานทูต ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมรับฟัง ณ Foreign Correspondents Club สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย อาคารมณียา ถ.เพลินจิต แขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มักใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานปฏิบัติการ โดยกลยุทธ์หลักที่ประเทศไทยนำมาใช้  มุ่งเน้นไปที่การทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการก่ออาชญากรรมของแก๊งเหล่านี้คือ “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 
1. ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ (ซิม สาย เสา) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสื่อสารและดำเนินการหลอกลวงผู้เสียหาย 
2. บัญชีธนาคารและบัญชีสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) ที่ถูกใช้เป็นช่องทางในการรับโอนเงินที่ได้จากการหลอกลวงและดำเนินการฟอกเงิน 
3. กลุ่มมิจฉาชีพ (สแกมเมอร์) ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้ปฏิบัติการหลักในการหลอกลวงผู้เสียหายโดยตรง การตัดทำลายรากฐานเหล่านี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อศักยภาพในการก่ออาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้การดำเนินการหลอกลวงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศ เนื่องจากลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นองค์กรข้ามชาติ การทลายเครือข่ายและการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในประเทศที่แก๊งเหล่านี้ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่

ในปีนี้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทสำคัญในการร่วมมือและให้ความช่วยเหลือ ในกระบวนการส่งกลับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี ประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการส่งกลับชาวต่างชาติแล้ว 7,177 ราย จาก 33 ประเทศ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือไปยังประเทศต้นทางให้ทำการสัมภาษณ์และส่งมอบข้อมูล รวมถึงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลในการปราบปรามและดำเนินคดีกับองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับประเทศจีน , ญี่ปุ่น และกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญในการจับกุมกลุ่มขบวนการ ทั้งในระดับหัวหน้าและสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นจำนวนมาก และเชื่อมั่นว่าการประสานงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติอย่างยั่งยืน

ด้าน นายเบเนดิกต์ ฮอฟแมนน์ ผู้แทนภูมิภาค UNODC เปิดเผยว่า UNODC ได้ติดตามและวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวขององค์กรอาชญากรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วและขยายขอบเขตการปฏิบัติงานอย่างมาก ไม่เพียงแต่ขยายวงกว้างการหลอกลวงไปยังผู้เสียหายในหลากหลายภูมิภาคนอกเหนือทวีปเอเชีย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและจิตใจมากขึ้น และขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปยังหลายประเทศทั่วโลกเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือองค์กรเหล่านี้ยังแตกแขนงไปก่ออาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การผลิตและค้ายาเสพติดให้กับเครือข่ายอาชญากรรมในภูมิภาคอื่นๆ

ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ในประเทศไนจีเรีย ซึ่งมีผู้ร่วมขบวนการเป็นชาวจีน , ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีกลุ่มอาชญากรชาวจีนซึ่งเดิมตั้งฐานอยู่ในภูมิภาคอาเซียนเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง UNODC ประเมินว่าปัจจุบันมีผู้ถูกหลอกลวงให้เข้าไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วกว่า 56 ประเทศทั่วโลก โดยมีแนวโน้มการขยายเป้าหมายไปยังประเทศที่ประชากรมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้ดี และในระยะหลังเริ่มปรากฏแนวโน้มการรับสมัครสแกมเมอร์ที่จากประเทศเกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรที่รายได้สูง

สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ นายฮอฟมันน์ฯ ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนผู้ที่สมัครใจ ที่จะเข้าไปทำงานเป็นสแกมเมอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ซับซ้อน นอกจากนี้ องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ยังเริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการหลอกลวงในรูปแบบที่ซับซ้อนและแนบเนียนยิ่งขึ้น เช่น การสร้างภาพและเสียงปลอมแปลง (Deepfake) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของกลุ่มอาชญากรเหล่านี้อย่างน่ากังวล

ผู้แทนภูมิภาค UNODC กล่าวว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้มีความซับซ้อนและมีขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งในการปราบปรามและดำเนินคดี อีกทั้งความพยายามในการกวาดล้างของรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในแต่ละประเทศ ยังนำไปสู่การปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการกระทำความผิด การฟอกเงิน และการสรรหาแสกมเมอร์ ซึ่งอาจทำให้การปราบปรามยากลำบากยิ่งขึ้น

ด้าน นายจอห์น วอยชิค นักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคของ UNODC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิวัฒนาการของอาชญากรรม กล่าวถึงการปรากฏตัวของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่ทำหน้าที่ในการฟอกเงินโดยเฉพาะ ซึ่งเปรียบเสมือน "สถาบันการเงินเถื่อน" ที่ให้บริการทางการเงินแก่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคอาเซียน แต่ปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการให้บริการไปยังภาคส่วนอาชญากรรมอื่นๆ เช่น การค้ายาเสพติด, กลุ่มแฮกเกอร์, กลุ่มค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก และกลุ่มการค้ามนุษย์ ในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายอาชญากรรมที่เชื่อมโยงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

นายวอยชิค ยังได้กล่าวถึงกรณีของ HuiOne Guarantee ซึ่งเป็นตลาดมืดออนไลน์ที่ซื้อขายสินค้าและบริการผิดกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรสำหรับการจัดตั้งและบริหารแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการขายข้อมูลส่วนบุคคล, ซอฟต์แวร์ และระบบที่ใช้ในการหลอกลวง นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการถูกอายัดทรัพย์สินและหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ยังมีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตนเองชื่อ HuiOne Blockchain และ USDH เพื่อใช้เป็นช่องทางในการชำระเงินภายในแพลตฟอร์มอีกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะการฟอกเงินในรูปแบบบริการ (Laundering as a Service) และอาชญากรรมในรูปแบบบริการ (Crime as a Service) นั้น เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้เหล่าอาชญากรสามารถกระทำความผิดได้ง่ายขึ้น ในวงกว้างมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทั้งนี้ นายฮอฟแมนน์ กล่าวเสริมย้ำถึงความรุนแรงของปัญหาว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วในแง่ของเงินทุน, โอกาสในการทำงานที่ล่อลวง, การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการก่ออาชญากรรม และการพัฒนาระบบเครือข่ายที่เข้มแข็งมากขึ้น เป็นสิ่งที่ภูมิภาคอาเซียนไม่เคยเผชิญมาก่อน รัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจึงจำเป็นต้องมีแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถติดตามและจัดการกับอาชญากรเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที และปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามที่ซับซ้อนและขยายวงกว้างนี้

ด้าน นางสาวเจนนิเฟอร์ โซห์ หัวหน้าฝ่ายการสืบสวนคดีอาชญากรรมไซเบอร์ บริษัท Group-IB ซึ่งประกอบธุรกิจด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เปิดเผยถึงกลโกง ภัยคุกคามไซเบอร์รูปแบบใหม่: "Android Malware Scam" ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่น่าจับตามอง และมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยกลโกงดังกล่าวเริ่มต้นจากการหลอกลวงให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมลงบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยแอปพลิเคชันปลอมเหล่านี้อาจเลียนแบบแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ผู้เสียหายคุ้นเคย เมื่อผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว อาชญากรไซเบอร์จะสามารถเข้าควบคุมโทรศัพท์มือถือจากระยะไกล และทำการดูดข้อมูลสำคัญที่อยู่ในเครื่องของผู้เสียหายได้ สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ ภายในแอปพลิเคชันปลอมเหล่านี้ อาจมีการหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งภาพวิดีโอใบหน้าของตนเอง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ซึ่งอาชญากรไซเบอร์จะนำภาพวิดีโอดังกล่าวไปใช้ในการ bypass ระบบสแกนใบหน้า (facial recognition) ของแอปพลิเคชันธนาคาร

ทางด้าน Group-IB พบว่า อาชญากรไซเบอร์ใช้วิธีการ Camera Injection Tool ในการนำภาพวิดีโอใบหน้าที่ถ่ายไว้ล่วงหน้าของเจ้าของบัญชีธนาคาร อัปโหลดเข้าสู่ระบบการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าของธนาคาร ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย และทำการโจรกรรมเงินได้อย่างง่ายดาย ภัยคุกคามนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของอาชญากรไซเบอร์ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อโจมตีระบบความปลอดภัยทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือโดยตรง ผู้ใช้งานจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้น

‘จุลพันธ์-พิชัย’ สองรมต.คลังร่วมย้ำ โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ยังเดินตามแผน กลุ่มวัยรุ่น 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน เริ่มจ่าย เม.ย.-มิ.ย. นี้ ตรวจสอบสิทธิผ่านแอป ‘ทางรัฐ’

(23 เม.ย. 68) รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แจกเงิน 10,000 บาท ตามกำหนดเดิม โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการเฟส 3 สำหรับประชาชนกลุ่มอายุ 16-20 ปี รวม 2.7 ล้านคน

ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินดิจิทัลภายหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยวางแผนทยอยโอนผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2568 ทั้งนี้ จะมีการเปิดให้ตรวจสอบสิทธิผ่านแอป 'ทางรัฐ' และสามารถใช้จ่ายในพื้นที่ที่กำหนดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าโครงการยังเป็นไปตามกำหนดการเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจะเร่งเสนอรายละเอียดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ส่วนเฟสถัดไป ซึ่งครอบคลุมกลุ่มอายุ 21-59 ปีนั้น จะเร่งดำเนินการหลังระบบมีความเสถียรและปลอดภัย โดยตั้งเป้าเสนอ ครม. ภายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

ลาก่อน ‘น้องหมีชมพู’ foodpanda ประกาศยุติกิจการในไทย หลังขาดทุน 5 ปีซ้อน ปิดฉาก 13 ปี มีผลวันที่ 23 พ.ค. 68

(23 เม.ย. 68) เพจอย่างเป็นทางการของ foodpanda ประเทศไทย ประกาศยุติการดำเนินธุรกิจในประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ถือเป็นการปิดตำนานผู้ให้บริการ Food Delivery ต่างชาติรายแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2555

ด้าน Delivery Hero บริษัทแม่จากเยอรมนี ชี้แจงว่า การยุติกิจการเป็นส่วนหนึ่งของการปรับกลยุทธ์ในภูมิภาค เพื่อมุ่งทรัพยากรไปยังตลาดที่มีศักยภาพสูงในเอเชียแปซิฟิก โดยก่อนหน้านี้ก็ได้ถอนตัวจากหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก และกานา มาแล้ว

แม้จะยุติให้บริการในไทย แต่ทีมงานระดับภูมิภาคในไทยจะยังคงปฏิบัติงานต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ จำกัด ขาดทุนต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีรายได้แตะระดับหลายพันล้านบาท โดยในปี 2566 รายได้กว่า 3.8 พันล้านบาท แต่ยังขาดทุนถึง 522 ล้านบาท รวมขาดทุนสะสมตลอด 5 ปี (2562–2566) สูงถึง 13,359 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเป็นเหตุผลหลักที่นำไปสู่การยุติกิจการในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า Grab อาจอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการ foodpanda ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดมูลค่าดีลสูงถึง 1 พันล้านยูโร 

ทั้งนี้ อนาคตของตลาด Food Delivery ไทยยังต้องจับตา หลังผู้เล่นเริ่มทยอยถอนตัวจากการแข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top