Monday, 28 April 2025
ค้นหา พบ 47704 ที่เกี่ยวข้อง

‘ปราชญ์ สามสี’ ย้อนรอยเครือข่าย ‘พอล แชมเบอร์-ตั๋วปารีส’ ชี้!! การถูกจับด้วย ม.112 คือจุดจบของเกมที่คนเหล่านี้เริ่มไว้

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก 'ปราชญ์ สามสี' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ย้อนรอยไม่ลืม — จากข้อมูลเครือข่าย ‘ตั๋วปารีส’ สู่วันที่คนเหล่านี้โดนจับ
โดย ป.สามสี

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือ ‘เรื่องเก่า’ ที่ข้าพเจ้าและอีกหลายคนเคยพูด เคยเตือน และเคยเขียนไว้แล้วนับตั้งแต่หลายปีก่อน

ชื่อของ Paul Wesley Chambers และเครือข่ายนักวิชาการต่างชาติ-ไทย ที่สนิทชิดเชื้อกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ไม่ได้โผล่มาแบบไร้ร่องรอย แต่มีประวัติปรากฏชัดเจนในฐานข้อมูลสาธารณะและแหล่งทุนต่างชาติหลายแห่ง

พวกเขาคือขบวนการที่อ้างชื่อวิชาการ แต่แฝงไว้ด้วยแนวคิดแทรกแซงประเทศ ใช้วาทกรรมเสรีนิยมครอบสังคมไทยด้วยการบิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติ บั่นทอนสถาบันหลัก และสร้างภาพจำแบบตะวันตกให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านหนังสือ บทความ สัมมนา และทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติ

ในปี 2564 ชื่อของเขาถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนจาก Taiwan Foundation for Democracy เพื่อผลิตผลงานในเครือข่าย Milk Tea Alliance ซึ่งเราเคยชี้ไว้แล้วว่านี่คือกลไกแทรกแซงทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ ที่แฝงตัวอยู่ในวงวิชาการอาเซียน

และวันนี้ — ปี 2568 — ความจริงที่เคยถูกมองข้ามก็ย้อนกลับมาทวงถาม
เมื่อข่าวออกมาว่า หนึ่งในบุคคลที่เคยได้รับการกล่าวถึงในข้อมูลนี้ ถูก เจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัว และ ตรวจสอบสถานะการพำนัก-การทำงานในประเทศ โดยมีหลักฐานเชื่อมโยงทั้งทางเครือข่าย ทุนต่างชาติ และกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวีซ่า

นี่จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจสำหรับผู้ติดตาม ‘ขบวนการตั๋วปารีส’ และพฤติกรรมแทรกแซงของนักวิชาการข้ามชาติ แต่เป็นเพียง ‘จุดจบของเกม’ ที่คนพวกนี้เริ่มเล่นไว้นานแล้ว

สิ่งที่น่าคิดคือ… ทำไมหน่วยงานไทยเพิ่ง ‘กล้าจับ’ ในวันนี้? หรือว่าวันนี้ เราเริ่มตาสว่างและเลิกกลัวเสียงจากต่างชาติแล้วจริง ๆ

เรื่องนี้ไม่ใช่บทสรุปของการต่อสู้ทางความคิด — แต่มันคือเครื่องเตือนใจว่า หากเราไม่เฝ้าระวัง สิ่งที่เรียกว่า ‘วิชาการ’ อาจกลายเป็นอาวุธที่ย้อนกลับมาทำลายชาติเราเอง

นอกจากนี้ ยังได้แชร์โพสต์ที่ทางเพจเคยโพสต์ไว้เมื่อ 17 ส.ค. 66 ที่ระบุว่า…

เรามารื้อเครือข่ายอาจารย์ ในเครือข่าย #ตั๋วปารีส ที่สนิท ชิดเชื้อ ปวิน กันมั่งดีกว่า 
พอล แชมเบอร์ (Dr. Paul Wesley Chambers)

-อาจารย์ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
-นักวิจัยในสังกัด Peace Research Institute Frankfurt (PRIF)
-เกิดที่เมืองนอร์แมน รัฐโอกลาโฮมา สหรัฐฯ
-จบการศึกษาปริญญาเอกจากคณะ Southeast Asian Studies and Political Science มหาวิทยาลัย Northern Illinois University

-อดีตผู้ช่วยอาจารย์มหาวิทยาลัย Northern Illinois University
-เคยทำงานให้กับ Cambodian Institute for Cooperation and Peace
-อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย Institute of South East Asian Affairs (ISEAS) - Yusof Ishak Institute องค์กร Think Tank ประเทศสิงคโปร์
-อดีตเจ้าหน้าที่ Peace Corps หน่วยงานในสังกัดรัฐบาลสหรัฐฯ

นายพอล แชมเบอร์ เคลื่อนไหวในรูปแบบของนักวิชาการ ร่วมกับเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ มีข้อมูลสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคลและเครือข่ายของ National Endowment for Democracy (NED) คือนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

และเว็บไซต์ the101.world อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดกับคนในขบวนการต่อต้านสถาบันฯ หลายคน เช่น นาย เซอฮัด อูนาลดิ (Serhat Ünaldi) มหาวิทยาลัยฮุมโบลด์แห่งเบอร์ลิน.  ผู้เขียนหนังสือ Working towards the Monarchy: The Politics of Space in Downtown Bangkok

นายเดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss) นายเคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้เขียนหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand (Southeast Asia Studies Monographs), ASEAN-U.S. Relations: What Are the Talking Points, มนุษย์ต่างด้าว, การทูตทักษิณ, Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand เป็นต้น

แล้วถึงแม้ว่านายพอลจะเป็นอดีตผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย ISEAS แต่เมื่อเดือนกันยายน 2565 นายพอลก็ยังเขียนบทความเกี่ยวการเมืองไทยให้กับ ISEAS (บริหารโดย Choi Shing Kwok อดีตผอ.ข่าวกรองฯ กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์) และเดือนกรกฎาคม 2564 นายพอลเป็น 1 ใน 4 คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับทุนจาก The Taiwan Foundation for Democracy (NGO ในเครือพันธมิตร NED ของไต้หวัน) สำหรับงานวิจัย ‘Strengthening the Milk Tea Alliance: Building Democracy and Freedom through Film and Discussion’

จะเห็นได้ว่า เครือข่ายอาจารย์ทั้งไทยและต่างชาติที่ไปปรากฏตัวที่ปารีส ส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งขบวนการ พันธมิตรชานม ที่เข้าแทรกแซง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเอง

ตัวนาย พอล แชมเบอร์ เข้าใจว่า ที่อยู่ในไทยได้เพราะได้รับการสนับสนุน จาก อาจารย์บางท่าน ใน ม.นเรศวร ให้การสนับสนุน ให้ข้าวให้น้ำมากเลยทีเดียว ไม่รู้เป็นไรกันน่อ…

เรื่อง : ปราชญ์ สามสี

‘ราชกิจจาฯ’ ประกาศ ‘ทางพิเศษบูรพาวิถี-กาญจนาภิเษก’ วิ่งฟรี 7 วัน ช่วย ปชช. ลดค่าครองชีพ ลดมลพิษ จราจรคล่องตัวช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.68) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม 2 ฉบับ มีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 นี้ โดยเปิดให้ประชาชน ‘ขึ้นทางด่วนฟรี’ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดังนี้

1.ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2568

2.ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2568

ตามประกาศกระทรวงคมนาคมทั้ง 2 ฉบับ กำหนดการเปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี รวมระยะเวลา 7 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568

เส้นทางที่เปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี
-ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อม ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี

-ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

สำหรับการเปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี 2 เส้นทางดังกล่าว ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ประเมินว่า จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศ 

โดยการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเส้นทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษประมาณ 2,377,669 คัน จะทำให้กทพ.ไม่ได้รับรายได้ประมาณ 86,128,889 บาท 

แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงินประมาณ 153,424,348 บาท ประกอบด้วย

-มูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ 93,664,900 บาท 
-มูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง 59,759,448 บาท

เปิด 4 ประเด็นสำคัญ 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' สื่อสารตรงไปตรงมากับประชาชนสิงคโปร์ ยอมรับความจริง สร้างความมั่นใจ ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

(5 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของประเทศสิงคโปร์ ประกาศเตือนประชาชนผ่านคลิปวิดีโอบนยูทูบ ‘@Lawrence_Wong’ ระบุว่า “เราไม่สามารถคาดหวังได้อีกว่า กฎกติกาที่เคยปกป้องประเทศเล็กๆ อย่างเรา จะยังดำรงอยู่เหมือนเดิม”

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ระบุเพิ่มว่า “โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความจริงอันโหดร้ายที่ประเทศมหาอำนาจจะขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ส่วนตน และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจหรือแรงกดดันเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ…

“เราจะต้องเตรียมพร้อมทั้งทางจิตใจและการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท เราไม่สามารถรอให้ภัยมาถึงหน้าประตูบ้านแล้วค่อยตั้งรับ ความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องจริง และเดิมพันในครั้งนี้สูงมาก”

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างรุนแรงในเวทีการค้าโลก โดยระบุว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้สะท้อนว่า ยุคของโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยกฎเกณฑ์และการค้าเสรีได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังถูกแทนที่ด้วยโลกที่เต็มไปด้วย กำแพงภาษี การกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอน”

เขายกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำในการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎ WTO (องค์การการค้าโลก) ว่า “ขณะนี้กลับกลายเป็นผู้นำในการบ่อนทำลายระบบนั้นด้วยการดำเนินนโยบายแบบทวิภาคีและตอบโต้เชิงภาษี สิ่งที่สหรัฐฯ ทำอยู่ไม่ใช่การปฏิรูประบบ WTO แต่เป็นการละทิ้งระบบที่พวกเขาเองเคยสร้างขึ้น”

แม้สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราภาษีในระดับต่ำ ประมาณ 10% จากโครงสร้างใหม่ของสหรัฐฯ แต่นายหว่องเตือนว่า “ผลกระทบเชิงระบบจะลึกและกว้างกว่านั้นมาก โดยเฉพาะหากประเทศอื่น ๆ เลือกดำเนินรอยตามแนวทางเดียวกัน ประเทศเล็กอย่างเราเสี่ยงที่จะถูกบีบ ถูกมองข้าม และถูกทิ้งไว้ข้างหลังในระบบที่ไม่เอื้อให้กับผู้เล่นขนาดเล็ก”

นายกสิงคโปร์ เน้นย้ำ จุดแข็งของประเทศ คือ ความสามัคคีและเงินสำรอง แม้ภาพรวมของโลกตอนนี้จะมีความน่ากังวล แต่นายหว่องกล่าวย้ำว่า “สิงคโปร์ยังคงมี ‘ข้อได้เปรียบเชิงโครงสร้าง’ ที่ทำให้ประเทศสามารถตั้งรับและปรับตัวได้อย่างแข็งแกร่ง”

“เรามีเงินสำรองที่มั่นคง เรามีความเป็นเอกภาพภายในประเทศ และเรามีความมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดในหลักการของเรา” เขากล่าว “เราจะยังคงเสริมสร้างขีดความสามารถของเรา และขยายเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน”

เขายังย้ำถึงความจำเป็นในการตระหนักรู้ต่อความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งในระดับการค้า การเมือง และความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนมีสติ เตรียมพร้อม และไม่ประมาทต่อคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังซัดเข้ามา

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า…

“#ผู้นำสิงคโปร์ 🇸🇬 นายกฯ สิงคโปร์ #ไม่ชะล่าใจ ออกทีวี เน้นพูดอย่างจริงใจ พูดตรงจุดตรงใจในสิ่งที่ประชาชนกังวล/ต้องการความมั่นใจ (ไม่พูดเยิ่นเย้อ ไม่ใช้สำนวนลิเก ไม่บ้าประดิษฐ์คำ) สรุป 4 ประเด็น ตามนี้ค่ะ

1) ยอมรับปัญหา this troubled world โลกถูกปั่นป่วนไม่เหมือนเดิม กล้าพูดความจริงกับประชาชน #ไม่โลกสวย 

2) #ยอมรับความจริง เศรษฐกิจสิงคโปร์มีขนาดเล็ก small and open economy ยังไงก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก เสี่ยงสูงต่อปัจจัยภายนอก

3) #สร้างความมั่นใจ ในศักยภาพของสิงคโปร์ หากเกิดวิกฤต สิงคโปร์ก็ยังมี #ทุนสำรอง reserves มากพอ (มากติดอันดับ 10 ของโลก) ไว้ใช้ยามฉุกเฉินจำเป็น และจะ #สร้างเครือข่าย ความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดเหมือนกัน 

4) ขอให้เตรียมใจ be mentally prepared ขอให้มี resolute and united แล้วเราจะผ่าน #โลกที่เต็มไปด้วยปัญหา นี้ไปด้วยกัน 🇸🇬 #เน้นความสามัคคีแน่วแน่  ของคนในชาติ

คลิกฟังคลิปเต็ม นายกฯ Lawrence Wong ของสิงคโปร์ 🇸🇬 04.04.2025 https://youtu.be/A3hS93y7C0I?feature=shared

‘อ.เจษฎ์’ ยืนยัน!! ‘ต้นไมยราบ’ ใช้เตือนภัยแผ่นดินไหวไม่ได้ ตอบสนองไวต่อ ‘ลม-น้ำฝน-แมลง’ มากกว่าแรงสั่นแผ่นดินไหว

(5 เม.ย. 68) จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางประเทศเมียนมา แต่ส่งผลกระทบกับไทยในหลายจังหวัดและเป็นสาเหตุของตึก สตง. ถล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและ สูญหายหลายราย หลังจากนั้นในโซเชียลก็ได้มีข้อมูลส่งต่อกันว่า ‘ต้นไมยราบ’ สามารถเตือนแผ่นดินไหวได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ‘อ.เจษฎ์’ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Jessada Denduangboripant’ ว่า….

“ถึงแม้ว่า ต้นไมยราบ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimosa pudica จะถูกตั้งสมญานามให้กว่า เป็น earthquake plant เพราะคิดกันว่ามันน่าจะหุบใบได้ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว พอลองตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่าเป็นความจริงนะครับ ที่บอกว่าคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบเพื่อแจ้งเหตุล่วงหน้า แถมก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ว่า ต้นไมยราบมันสามารถทำเช่นนั้นได้จริง ออกจะเป็นเรื่องเล่า เชื่อตามกันมากกว่า”

“โดยทาง IG ของ wachistudio ซึ่งเป็น content creator ด้านการเพาะพันธุ์และจำหน่ายพืชไม้ประดับ ได้ไปหาข้อมูลและสอบถามคนญี่ปุ่นเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ว่าจริงหรือไม่ที่ชาวญี่ปุ่นปลูกต้นไมยราบเพื่อตรวจเช็กแผ่นดินไหว?”

“ไม่จริงครับ แม้ว่าไมยราบจะเป็นพืชที่ไวต่อการสัมผัส ใบจะหุบเมื่อถูกกระทบ จนบางคนตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเอามาตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้”

“แต่ในความเป็นจริง ไมยราบไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจแผ่นดินไหว เพราะการตอบสนองของมัน อ่อนไหวต่อปัจจัยอื่น ๆ เช่น ลม หรือน้ำฝน หรือการสัมผัสจากสัตว์เล็ก ๆ มากกว่าจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั่นเอง”

“สำหรับการตรวจจับแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นจะใช้เซ็นเซอร์ และระบบเครื่องมือทันสมัย ในการตรวจจับ แทนการที่จะใช้พืช อย่างไมยราบครับสำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ พฤติกรรมของต้นไมยราบกับแผ่นดินไหวนั้น เคยมีการทำในสมัยทศวรรษที่ 1970 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ตามที่มีเรื่องเล่าว่า ใบของต้นไมยราบก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวได้”

“โดยในปี 1977 มีนักวิจัยพยายามวัดค่า Tree Bio-electric Potential (TBP) ด้วยการติดอิเล็กโทรด ขั้วหนึ่งไว้ที่ใบของต้น กับอีกขั้วหนึ่งฝังลงในดิน วัดค่าศักย์ไฟฟ้า electricpotential ระหว่างอิเล็กโทรดทั้งสอง ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ขนาดประมาณ 7.0 จำนวน 28 ครั้ง ซึ่งพบว่ามีอยู่ 17 ครั้งที่แสดงสัญญาณที่ผิดปกติไป และคาดว่าอาจจะเกิดจากการได้รับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า (electric magnetic, EM) ห่างจากดินสู่ราก หรือได้รับประจุไอออนบางอย่างจากอากาศ”

“แต่นักวิจัยก็สรุปว่ายังไม่สามารถจะอธิบายได้ชัดเจนถึงกลไกที่เกิดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะใช้มาทำนายการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่และขนาด นั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก”

“คำสรุปก็คือว่า เรื่อง ‘ต้นไมยราบบอกเหตุแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า’ ก็ไม่น่าจะเป็นความจริง เป็นแค่เรื่องเล่า ไม่ค่อยต่างอะไรกับที่บอกว่าสัตว์ต่าง ๆ สามารถแจ้งเตือนแผ่นดินไหวช่วงหน้าได้ ซึ่งไปทางธรณีวิทยานั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าจริงครับ”

‘พีระพันธุ์’ มอบ ‘เลขา รมต.’ ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ ส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์จากชาวบ้าน พร้อมแนะพัฒนาด้านคุณภาพ-ความปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (5 เม.ย. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ หลังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะยโสธร ขอรับงบประมาณสนับสนุนในการซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะมาใช้ในพื้นที่

ก่อนการลงพื้นที่ในวันนี้ (5 เม.ย. 68) ได้มีการสั่งการให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน พร้อมพลังงานจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ ซึ่งใช้กระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) เป็นกระบวนการสลายตัวด้วยความร้อนที่ไม่สมบูรณ์ในสภาวะปราศจากออกซิเจนหรือมีออกซิเจนน้อยที่สุด อุณหภูมิที่เหมาะสมสําหรับพลาสติกอยู่ในช่วง 300-500 องศาเซลเซียส โดยความร้อนจะทําให้พันธะเคมีสลายตัว 

ส่วนที่เป็นองค์ประกอบคาร์บอนที่ระเหยได้จะกลายเป็นก๊าซเชื้อเพลิงและบางส่วนที่ถูกควบแน่นจะกลายเป็นของเหลวที่มีลักษณะคล้ายนํ้ามันเตา ซึ่งนํ้ามันดังกล่าวสามารถนําไปใช้ประโยซน์และต่อยอดในการใช้งานได้ เนื่องจากมีค่าความร้อนสูง จึงสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพี่อผลิตความร้อนสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ อีกทั้ง หากมีการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะมีคุณสมบัติเทียบเท่านํ้ามันเชื้อเพลิงสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ทางการเกษตรได้

ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีราคาประมาณ 25,000 บาท แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตอาจจะเกิดสารปนเปื้อนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฎิบัติงานในระยะยาว อีกทั้งตำแหน่งการจัดวางเครื่องมีความเสี่ยงที่อาจจจะเกิดการลุกไหม้ได้ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ไม่เหมาะสม 

นอกจากนั้น น้ำมันที่ผลิตได้มีลักษณะเป็นยางเหนียวที่สามารถเกาะเคลือบบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องยนต์ ถึงแม้จะมีการกลั่นเบื้องต้นแล้ว น้ำมันสามารถใช้ได้เฉพาะกับเครื่องยนต์การเกษตร กระทรวงพลังงานจึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงคุณภาพเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยกับเครื่องยนต์และผู้ใช้งาน

“หลังจากได้รับหนังสือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะยโสธร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งปกติท่านให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคน และคิดว่าเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ จึงไม่อยากให้สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ แค่ในอำเภอชัยบาดาล เพราะถ้าเครื่องกลั่นน้ำมันมีคุณภาพ นำไปใช้งานได้จริง ก็จะสามารถขยายผลไปสู่ระดับประเทศและระดับโลกได้ เพราะการนำขยะมาสร้างมูลค่า ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อีกทาง ซึ่งการผลิตน้ำมันได้เองนี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน…

“แต่ทั้งนี้ เพื่อให้เครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และที่สำคัญต้องมีความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้ดิฉันฯ ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เจ้าหน้าที่กรมธุรกิจพลังงาน และพลังงานจังหวัดลพบุรี ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้น เครื่องกลั่นน้ำมันดังกล่าวยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้ผู้แทน พพ. พิจารณาตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมัน และให้ ธพ. ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันที่ได้จากเครื่อง คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ และจะนำเรื่องเสนอท่านรัฐมนตรีต่อไป” นางสาวอรพินทร์ฯ กล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top