Monday, 19 May 2025
ค้นหา พบ 48193 ที่เกี่ยวข้อง

ลับ ลวง พลาง กับทฤษฎีสมคบคิดเรื่องเมียนมา สร้างสถานการณ์ขัดแย้ง หวังกอบโกยผลประโยชน์

(30 ธ.ค. 67) ช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่แตกต่างกันแต่พอมานั่งขบคิดดีๆโดยฟังกับกลุ่มนักทฤษฎีสมคบคิดกลับทำให้น่าประหลาดใจว่าคนร้ายตัวจริงใน 2 เหตุการณ์นี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน  เอาว่าใกล้ๆปีใหม่แล้วเอย่าว่าเรามาอ่านอะไรสนุกๆไม่เครียดและคิดตามกันให้บันเทิงเริงใจกันบ้างดีกว่านะคะ

เรื่องที่ 1 คือเหตุการณ์สงครามระหว่างไทยกับว้า 

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ณ จนถึงเวลานี้ไม่มีสงครามเกิดขึ้น  แต่ไม่ใช่ใน Tiktok ที่มีคนโพสต์ปั่นกระแสว่าสงครามเกิดขึ้นแล้ว  มีกองพลนั้น กองพันปิศาจ บลาๆเข้ามาช่วยรบบลาๆๆๆๆ  ถ้าคนไม่รู้อะไรก็คิดไปได้นะว่า โห….เหตุการณ์ขนาดนี้รัฐบาลไทยไม่มีนำเสนอข่าวเลยต้องมาเสพข่าวใน Tiktok  เอย่าก็อยากจะบอกนะคะ  คนไทยกูรูเยอะ  แต่กูรูที่เยอะก็เป็นเหยื่อของแกงคอลเซ็นเตอร์ไม่น้อยเช่นกัน  เพราะถ้าคนที่รู้เหตุการณ์ดีจะทราบดีว่าไม่มีสงครามใดๆเกิดขึ้น ทุกอย่างเงียบกริบ

แล้ว…..ทำไมมีการปล่อยข่าวพวกนี้ออกมาละ???

นักวิเคราะห์ทฤษฎีสมคบคิดของไทยหลายคนได้ให้ความเห็นตรงกันดังนี้

1. มีกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามนี้ในการขายอาวุธให้ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายชาติพันธุ์อื่นๆโดยใช้สถานการณ์นี้เป็นตัวขับเคลื่อน

2. มีกลุ่มที่ใช้ไทยเป็นร่างทรงในการสร้างปัญหาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน  เฉกเช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในยูเครนเพื่อที่จะให้ได้สิทธิ์ในการนำอาวุธและกองกำลังเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง  เพราะต้องการจะสร้างให้ไทยเกิดความขัดแย้งกับเมียนมาผ่านการตัวกลางอย่างว้า

3. มีกลุ่มที่ซื้อเหล่าผู้ทำคอนเทนต์คอยชี้นำให้คนในประเทศไทยด้อยค่ากองทัพเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง  และเมื่อกองทัพอ่อนแอ  การเมืองก็จะเข้าควบคุมกองทัพอีกทีเพื่อให้เป็นไปตามที่ผู้สนับสนุนของฝ่ายนั้นต้องการเพราะอย่าลืมว่ากองทัพไทยไม่ได้ต้องการให้เกิดสงครามระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

เรื่องที่ 2 คือเหตุการณ์ของชาวเมียนมาในไทยที่ล่าสุดบีบข้าราชการให้ได้สัญชาติไทย ดังเคสล่าสุดที่เกิดขึ้นกับปลัดอำเภอในจังหวัดสมุทรสาคร  ต้องขอย้อนกลับไปเมื่อสัก 20-30 ปีก่อนเห็นจะได้ ช่วงนั้นเริ่มมีชาวเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเรือประมงที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อการงานดี  การเงินดี คนเมียนมาเริ่มหลั่งไหลเข้ามา  คนที่เข้ามาก่อนเริ่มพูดไทยได้อ่านไทยออกก็เริ่มตั้งตนเป็นหัวโจกหัวหน้า  สวมรอยเป็นประหนึ่งเจ้าหน้าที่ตั้งชมรม สมาคมช่วยเหลือคนต่างด้าวด้วยกันที่ถูกเอาเปรียบ ดูเผินๆก็เหมือนจะไม่มีอะไร  แต่มันไม่ใช่แค่นั้นลับหลังคนเหล่านี้วิ่งเต้นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ตำรวจเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยอ้างว่าตนเป็นชนกลุ่มน้อยเป็นชาติพันธุ์  แถมเมืองไทยก็ให้โอกาสคนกลุ่มนี้ได้ลืมตาอ้าปากง่ายๆเสียด้วย  สุดท้ายพวกเข้ามาก่อนก็อาศัยช่องโหว่ตรงนี้ในการได้มาซึ่งสัญชาติไทย โดยมีคนไทยขายชาติบางคนให้การสนับสนุน

เมื่อมีสัญชาติไทยคนกลุ่มนี้ก็เริ่มคิดการใหญ่ขึ้นยิ่งภายหลังเริ่มมีพรรคการเมืองบางพรรคที่ต้องการให้มีคนสนับสนุนด้วยละก็  เขายิ่งจะผลักดันคนเหล่านี้โดยล่าสุดคนกลุ่มนี้ได้เข้าไปนั่งในสภาในตำแหน่งกรรมาธิการต่างๆเป็นหุ่นเชิดคอยรับงานนักการเมืองในการเขียนแผนงานหาผลประโยชน์ให้แก่นักการเมืองที่เขาสังกัดโดยได้ค่าตอบแทนเป็นเงินทอง  สัญชาติไทยแก่พวกพ้องและการคุ้มครองจากพวกนักการเมืองเหล่านี้ไม่ให้ตำรวจ ทหารเข้ามายุ่ง  ซึ่งพอเกิดเหตุวุ่นวายทีเราจะเห็นทันทีว่ามันจะมีพรรคการเมืองบางพรรคที่รับงานกลุ่มบางกลุ่มมาให้คนออกมาทำกิจกรรมสร้างความเดือดร้อนบ่อนทำลายประเทศไทยในยามที่ผู้นำประเทศไม่ได้ซูฮกหรือคล้อยตามกลุ่มคนกลุ่มนั้น

เอาเป็นว่ากลุ่มคนกลุ่มนั้นคือกลุ่มไหน  เอย่าให้ทุกคนไปลองคิดกันเล่นๆปีใหม่แล้วกันนะคะ  แต่แปลกตรงที่นักทฤษฎีสมคบคิดในไทยหลายท่านต่างบอกว่าคนกลุ่มนั้นใน 2 เหตุการณ์นี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน…..แหมมันช่างน่าประหลาดใจเสียจริงๆ

'เจจูแอร์' 737-800 ตก ผู้เชี่ยวชาญชี้เครื่องรุ่นเก่าแต่ยังปลอดภัยสูง

(30 ธ.ค. 67) เครื่องบินของสายการบินเจจูแอร์ที่ประสบอุบัติเหตุในสนามบินทางตอนใต้ของเกาหลีใต้เป็นรุ่น โบอิ้ง 737-800 ซึ่งเป็นรุ่นที่นิยมใช้กันทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Cirium ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลการบินชี้ว่า มีเครื่องบินรุ่นดังกล่าวราว 28,000 ลำให้บริการอยู่ทั่วโลก ในจำนวนนี้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4,400 ลำ เป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737-800s ซึ่งเป็นเครื่องบินในตระกูล Next-Generation 737 ของบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นคนละรุ่นกับ 737 Max ที่เคยประสบอุบัติเหตุตกช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนต้องสั่งระงับการใช้งานทั่วโลก

รายงานระบุว่า มีสายการบินเกือบ 200 แห่งที่ใช้เครื่องบินรุ่น 737-800 นี้ รวมถึงสายการบิน 5 แห่งในเกาหลีใต้ ได้แก่ เจจูแอร์, ทีเวย์แอร์, จินแอร์, อีสตาร์เจ็ต และโคเรียนแอร์ โดยเครื่องบินรุ่นนี้ยังได้รับความนิยมในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ และนับตั้งแต่ปี 1998 โบอิ้งได้ส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ให้กับลูกค้าประมาณ 5,000 ลำ

Najmedin Meshkati ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ซึ่งศึกษาประวัติด้านความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง 737 ให้สัมภาษณ์ว่า เครื่องบินรุ่น 737-800 นี้มีความปลอดภัยและมีสถิติด้านความปลอดภัยที่ดีมาก

อายุการใช้งานของเครื่องบิน 737-800 ทั่วโลกอยู่ระหว่าง 5 ปี ถึงกว่า 27 ปี โดยเครื่องบินโดยสารที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีสามารถใช้งานได้ 20 ถึง 30 ปี หรือมากกว่านั้น ส่วนข้อมูลเว็บไซต์ติดตามการบิน Flightradar24 รายงานว่า เครื่องบินที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้มีอายุการใช้งาน 15 ปี โดยก่อนหน้านี้สายการบิน Ryanair นำเครื่องบินลำที่เกิดเหตุมาใช้ก่อน และบริษัท SMBC Aviation Capital ได้นำไปปล่อยเช่าให้กับเจจูแอร์ในปี 2017

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า กำลังสืบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงความเป็นไปได้ที่นกชนเครื่องบิน อาจเป็นสาเหตุทำให้ระบบลงจอดเกิดความผิดปกติของล้อ ด้านบริษัทโบอิ้งระบุในแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทได้ติดต่อกับเจจูแอร์และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม นกชนเครื่องบินเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ้างในอุตสาหกรรมการบิน ในบางกรณีอาจทำให้กระจกหน้าต่างแตกร้าว สนามบินบางแห่งจึงใช้วิธีส่งนกล่าเหยื่อ เช่น เหยี่ยว หรือใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการชนของนก อย่างที่สนามบินนานาชาติมูอัน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ใช้วิธีเปิดเสียงที่รบกวนนกและยิงปืนเพื่อขับไล่นก

ศาสตราจารย์ Meshkati เปิดเผยว่า  ระบบลงจอดของเครื่องบินรุ่น 737-800 ได้รับการออกแบบมาอย่างดีและมีประวัติด้านความน่าเชื่อถือ แต่ก็อาจเกิดปัญหาหากการบำรุงรักษาไม่ดีพอ ดังนั้นการบำรุงรักษาจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุทางการบิน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเร่งสรุปเหตุการณ์ดังกล่าว อุบัติเหตุมักเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีในการค้นหาผ่านการสืบสวนเชิงลึก

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน 'อหิวาตกโรค' หลังพบผู้ป่วยพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี"

(30 ธ.ค. 67) องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ "อหิวาตกโรค" เป็น "ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่" หลังจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

นางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การระบาดในครั้งนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องดำเนินการโดยด่วน ทั้งการรณรงค์ฉีดวัคซีนและการปรับปรุงระบบน้ำและสุขอนามัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการระบาด

แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการควบคุมโรคอหิวาตกโรคในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2022 โดยมี 44 ประเทศรายงานพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 25% จาก 35 ประเทศในปี 2021 และแนวโน้มการระบาดยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2023 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงขึ้นอย่างมาก

โดยซูดานใต้กำลังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงที่สุดในศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยบริเวณเมืองเร็งค์ ซึ่งเป็นจุดรับผู้อพยพจากความขัดแย้งในซูดาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในซูดานอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นที่มีสุขาภิบาลไม่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ WHO และรัฐบาลซูดานใต้เร่งแจกจ่ายวัคซีนในพื้นที่กรุงจูบาและบริเวณใกล้เคียง แต่แฮร์ริสระบุว่า การฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

แฮร์ริสเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาอหิวาตกโรคอย่างยั่งยืนต้องมุ่งไปที่การจัดหาน้ำสะอาดและแยกน้ำดื่มออกจากพื้นที่สุขา “วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือช่วยบรรเทาโรค แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้น้ำสะอาดเข้าถึงได้และแยกน้ำสะอาดจากพื้นที่ที่ใช้เป็นห้องน้ำ” เธอกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วเพื่อหยุดการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

นางแฮร์ริสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีทีจีเอ็นของจีนว่า การกลับมาระบาดอีกครั้งของอหิวาตกโรคเกิดจากทรัพยากรที่มีจำกัด โดยเฉพาะในเรื่องของระบบน้ำและสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอในหลายประเทศ ซึ่งทำให้โรคนี้กลายเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก ในเดือนมกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้จัดประเภทการระบาดของโรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

นางแฮร์ริสกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ยังไม่เพียงพอ และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้มั่นใจว่า ระบบน้ำและสุขอนามัยในแต่ละประเทศจะปลอดภัยและสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้

อหิวาตกโรคเป็นโรคติดเชื้อในลำไส้เฉียบพลันที่เกิดจากแบคทีเรีย "ไวบริโอ โคเลอแร" (Vibrio cholerae) ซึ่งแพร่กระจายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระ แม้ว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและการรักษาสุขอนามัยที่เหมาะสม แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจถึงแก่ชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์ป่วยโรคอหิวาต์ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ล่าสุดในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบว่าฝั่งเมียนมาเสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนในเมียวดีและโรงพยาบาลบ้านโก๊กโก๋ จำนวนผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ดังกล่าวมีประมาณ 450 คน ส่วนที่หมู่บ้านส่วยโก๊กโก่ หรือเขตอิทธิพลจีนเทาในจังหวัดเมียวดี ซึ่งตรงข้ามกับตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด และบ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ได้รับการประสานจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคจำนวน 3 ราย ใน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนถุงทอง 1 ราย ชุมชนร่วมแรง 1 ราย และชุมชนมณีไพสณ์ 1 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตเทศบาลนครแม่สอด

รวมผลงานเด่นปี 67 ‘เอกนัฏ’ ขับเคลื่อนกระทรวงอุตฯ “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ – ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา – เซฟยานยนต์ไทย”

(30 ธ.ค. 67) รวมผลงานเด่นปี 67 “เอกนัฏ” ขับเคลื่อนกระทรวงอุตฯ “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ-ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา-เซฟยานยนต์ไทย” โดนใจประชาชน

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลงานกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 5 เรื่องสำคัญ คือ 1) ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขอนุญาตโรงงาน 2) ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา 3) เซฟยานยนต์ไทย 4) จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ 525 ล้านบาท ดูแลชุมชนรอบเหมือง 5) เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ พร้อมชูแผนงาน พร้อมชูการดำเนินงานในปี 2568 เดินเครื่องเต็มกำลังผ่าน 4 เรื่อง คือ 1) สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“ เป็นครั้งแรก 2) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม 3) ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 4) แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ 

สำหรับผลงานเรื่องแรก : ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขออนุญาตโรงงาน โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ...) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลารูฟท็อปทุกกำลังการผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานและไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งการปลดล็อกจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยาก และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอกชนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าสะอาดจากพลังแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองต่อเทรนด์การค้าโลกในอนาคตและช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่สอง : ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา แจ้งมาจับจริง ไม่กลัวอิทธิพล ปราบโรงงานไร้ความรับผิดชอบ กากของเสีย สินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดย อก. ได้บูรณาการกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เปิด “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย”ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง ที่มีกว่า 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยได้เดินหน้าตรวจตั้งแต่ พ.ย. - ธ.ค. 67 กว่า 13 จังหวัด อาทิ 1) โรงงานในเขตฟรีโซนลอบเปิดกิจการ จ.ฉะเชิงเทรา 2) โรงงานผิดกฎหมายเถื่อน จ.ปราจีนบุรี 3) โรงงานลอบเปิดกิจการ จ.ปราจีนบุรี 4) โรงงานสายไฟไม่ได้มาตรฐาน จ.สมุทรสาคร 5) จับสินค้าไร้ มอก. จ.สมุทรปราการ 6) โรงงานลักลอบฝังกลบโลหะหนัก จ.ลพบุรี 7) โรงงานเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐาน จ.ชลบุรี 8) สั่งหยุดโรงงานไฟไหม้ จ.ระยอง 9) โรงงานผลิตสายไฟไม่ตรงมาตรฐาน จ.อยุธยา 10) โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผา จ.ลพบุรี 11) โรงงานน้ำตาลค่ามลพิษทางอากาศ จ.ชัยภูมิ, มุกดาหาร และกาฬสินธุ์   และยังได้ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด “เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี” โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ สู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชน สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” ปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

เรื่องที่สาม : เซฟยานยนต์ไทย จากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ญี่ปุ่น อก. ให้ความสำคัญกับการฟื้นความเชื่อมั่น จึงได้เดินทางโรดโชว์คุยระดับทวิภาคีกับ 6 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่น และได้รับสัญญานบวกในการรักษาฐานการผลิตยานยนต์ในไทยและการลงทุนเพิ่ม ต่อยอด ด้วยเม็ดเงินกว่า 1.2 แสนล้าน และยืนยันสนับสนุนมาตรการส่งเสริมที่เป็นธรรมทั้งทางภาษี และสิทธิประโยชน์ทั้งค่ายรถยนต์สันดาป ICE รถยนต์ไฟฟ้า EV และ XEV พร้อมส่งเสริมให้ใช้ Part Localization ชิ้นส่วนสำคัญให้ผลิตในไทย เพื่อรักษา Supplier และแรงงานคนไทยในระบบ กว่า 4.45 แสนคน ให้มีงานมีรายได้ต่อไป ซึ่งเป็นวาระสำคัญ จึงมั่นใจได้ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า 2568 จะมีการฟื้นตัวอย่างมีสมดุลยภาพขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าโตโยต้าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในไทยและจะนำเม็ดเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุน เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด ซึ่งจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะมีเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ มีการลงทุนเพิ่มซึ่งมีการจ้างงาน ส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้มีการเดินหน้าต่อ และโตโยต้าฯ ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลไทยส่งเสริมภาคการผลิต การส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

เรื่องที่สี่ : จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ ที่ได้จากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ได้รับสิทธิในการสำรวจแร่หรือการทำเหมือง มูลค่ากว่า 525 ล้านบาท มอบให้ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกพื้นที่การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ จำนวน 187 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้นำไปดูแลชุมชนรอบเหมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “เหมืองแร่เพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชนให้เติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยกรมอุตสาหกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จัดสรร “เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ”  มูลค่ารวมกว่า 525 ล้านบาท ให้แก่   จ.สระบุรี 248 ล้านบาท จ.ลำปาง 41 ล้านบาท จ.นครราชสีมา 19 ล้านบาท จ.สุพรรณบุรี 19 ล้านบาท จ.ชลบุรี 16 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 14 ล้านบาท จ.ราชบุรี 11 ล้านบาท เป็นต้น  นอกจากนี้ในปี 2568 กพร. ยังมีแผนที่จะจัดสรรเงินกระจายสู่ชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถจัดสรรเงินได้ปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเร่งให้ชุมชนได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย กพร. มีแนวทางในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากกิจการเหมืองแร่ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งแร่ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการด้วยความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว เพื่อมอบรางวัลให้กับเหมืองแร่ดีเด่นที่สามารถรักษามาตรฐานการประกอบการเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าด้วย

เรื่องที่ห้า : เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหาร การบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดมุสลิมที่มีประชากรจำนวนมาก มีแนวโน้มการบริโภคที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการตรวจการรับรองฮาลาล รวมทั้งการบริการที่ต้องมีกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลตามมติคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 ผ่านกิจกรรม "เรียนแล้ว รับรองได้ ลงทุนง่าย ขายส่งออกเป็น" ภายใต้แนวคิด สานพลังแหล่งเงินทุน รวมพลัง 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมการทดสอบและการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศให้มีศักยภาพ สามารถเติบโต และแข่งขันสู่สากลได้อย่างยั่งยืน

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนการดำเนินงานในปี 2568 ของ อก. เดินหน้า 4 เรื่อง คือ เรื่องแรก : สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และ มาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก อก.ได้ออกคำสั่งให้โรงงานนํ้าตาล 57 โรง ทั่วประเทศ หยุดรับอ้อย 7 วัน ตั้งแต่เมื่อวานนี้ 27 ธ.ค. 2567 จนถึงวันที่ 2 ม.ค.2568 เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้เที่ยวพักผ่อนในช่วงเทศกาลปีใหม่ แบบไร้ฝุ่นควันที่เกิดจากการลักลอบเผาอ้อย และงดการบรรทุกขนส่งอ้อยบนท้องถนน เพื่อการสัญจรอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยส่งคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกท่านเป็นของขวัญในช่วงปีใหม่ รวมถึงมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก โดยเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยในอัตรา 300 บาทต่อตันใบและยอดอ้อย หรือเท่ากับ 51 บาทต่อตันอ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสาเหตการเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่

เรื่องที่สอง : ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม อก. กำหนดนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ผ่านมาตรการสำคัญในการจัดการกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย อากาศที่เป็นพิษเกิดจากการประกอบการอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME รวมทั้งสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นปรับปรุงกฎหมายทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ และได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม" ในระยะเริ่มแรกได้ยกร่างกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ รวมทั้งจัดตั้งและรวบรวมกองทุนใน อก. ให้อยู่ในกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับภารกิจที่เกิดขึ้นใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพของภารกิจที่มีอยู่เดิม ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ....” ซึ่งมีเนื้อหาในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ครอบคลุมกากอุตสาหกรรมจากสถานประกอบการอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากรถยนต์ โดยได้นำสภาพปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม   ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาถอดบทเรียนและพัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อให้ระบบจัดการกับผู้ประกอบกิจการที่กระทำผิดกฎหมาย ไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมและประชาชน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนที่ชื่อว่า “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน” ในร่างกฎหมายมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมทั้งการสนับสนุนและเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นแหล่งเงินทุน การร่วมทุนกับวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ แก้ไขปัญหาเยียวยา ชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม รองรับภารกิจในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ การสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจให้กับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการปรับปรุงเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จำเป็นต้องย้ายพื้นที่ไปประกอบการในบริเวณที่เหมาะสม ทั้งนี้การปรับปรุงทุกองคาพยพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งเน้นการสร้างให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง โดยปัจจุบันการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะสามารถเป็นเครื่องมือที่จะจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานทั้งหมดจะนำไปสู่การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรม พ.ศ... ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปี 2568 อก. จะได้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ ครม.พิจารณาและนำเสนอรัฐสภาเพื่อให้มีผลใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

เรื่องที่สาม : ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จากสถานการณ์การทะลักเข้ามาของสินค้าข้ามชาติราคาถูก แต่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เป็นอันตรายกับประชาชนผู้ใช้งาน กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX)” โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการฯ โดยผลการศึกษาพบว่า ระบบ AI: Artificial Intelligence จะสามารถเพิ่มการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นโดยประมาณการที่ 100,000 รายการ/วัน จากเดิมใช้กำลังคนตรวจที่ 1,600 รายการ/วัน โดยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างสายไฟ-ปลั๊กพ่วง และหมวกกันน๊อคไม่ได้มาตรฐานจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เร่งให้ความสำคัญก่อน ความคืบหน้าของการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางวิธีการดำเนินการของ สำนักวานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการตรวจจับ ใช้ “คน” ในการตรวจสอบการกระทำความผิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และมีเสนอแนะเพิ่มเติมให้ใช้ “AI” ในการตรวจจับ Keyword (ชื่อ/รีวิว) ภาพลักษณะของผลิตภัณฑ์ (ต้นแบบ) ตรวจสอบกับฐานข้อมูล ผู้รับใบอนุญาต / มาตรฐาน มอก. / พิจารณาขอบข่ายเบื้อง ส่วนด้านกฎหมายใช้ “คน” ในการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี นอกจากนี้ยังได้เตรียมวางแนวทางการนำเทคโนโลยี AI มาตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

เรื่องที่สี่ : แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ โดยความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผสานเทคโนโลยี TRAFFY FONDUE นี้ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ รวมถึงติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตประทานบัตร และการขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยมีการแบ่งการใช้งานให้เหมาะสมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งติดตามสถานะคำขอต่าง ๆ 2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเน้นการตรวจสอบและอนุมัติคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงติดตามคำร้องที่ยื่นผ่านระบบ 3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะดูแลการขอรับสินเชื่อและการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านอุตสาหกรรม 4) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะรับผิดชอบการตรวจสอบและติดตามการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ระบบ Dashboard ซึ่งสามารถแสดงสถานะข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งในภาพรวมระดับกระทรวงและแยกย่อยไปยังแต่ละหน่วยงาน ช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะคำร้องหรือบริการที่ต้องการได้อย่างโปร่งใส สะดวก และรวดเร็ว และระบบยังรองรับการจัดการข้อมูลแบบครบวงจร ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

อีลอน มัสก์ชูแนวคิดปกครองดาวอังคาร คาดส่งมนุษย์แตะพื้นในอีก 4 ปี

(30 ธ.ค. 67) อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อ SpaceX เสนอความคิดเห็นว่าหากมนุษย์มีการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารในอนาคต ควรเลือกรูปแบบการปกครองด้วยหลักการประชาธิปไตยทางตรง

มักส์ กล่าวผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า “ชาวดาวอังคารควรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะปกครองกันอย่างไร แต่ผมขอแนะนำให้ใช้ประชาธิปไตยทางตรงแทนที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน”  

มัสก์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ยานอวกาศ Starship แบบไร้คนขับอาจลงจอดบนดาวอังคารได้ภายในสองปีข้างหน้า และยานที่มีมนุษย์โดยสารอาจเดินทางไปถึงในอีกสี่ปีข้างหน้า  

ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน มัสก์ได้กล่าวว่ามนุษยชาติต้องพัฒนาความสามารถในการเดินทางข้ามดวงดาว หากไม่สามารถทำได้ อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต เนื่องจากการขยายตัวของดวงอาทิตย์หรือการชนกันของโลกกับดาวเคราะห์น้อย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top