Sunday, 18 May 2025
ค้นหา พบ 48168 ที่เกี่ยวข้อง

‘อ.ต่อตระกูล’ ประกาศเลิกดูรายการ ‘เจาะลึกทั่วไทย’ หลัง ‘หมาแก่’ บอกเสียดาย ‘กิตติรัตน์’ ไม่ได้เป็น ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

(25 ธ.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า... “หมาแก่” ช่อง อสมท. ( MCOT 30 ) ออกมาประกาศ ช่วยสนับสนุน กิตติรัตน์ เป็นประธานแบงก์ชาติ โดยเอ่ยคำว่า “เสียดาย กิตติรัตน์” (ถ้าไม่ได้เป็น ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ )

และก็ได้เผยแพร่ เอกสารสำคัญ เป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ แต่งตั้ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็น ประธานที่ปรึกษา ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ลงวันที่ 14 กันยายน 2567

และรายชื่อ 830 บุคคลที่เป็นที่เชื่อถือในวงการวิชาการ ซึ่งรวมทั้งอดีตผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทย อีกถึง 4 คนด้วย

ถึงผมจะไม่ได้ ไปลงชื่อใน 830 รายชื่อนั้นด้วย แต่ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ในเหตุผลต่างๆที่เหล่าผู้ทรงคุณวุฒิ และวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ ได้อธิบายถึงเหตุผลต่างๆ อื่นๆอีกหลายประการ ในการคัดค้าน นอกเหนือจากการที่นายกิตติรัตน์ มีตำแหน่งทางการเมือง

ผมขอแสดงตน ว่าร่วมการสนับสนุน การคัดค้านมิให้ผู้ที่ฝักใฝ่ในการเมืองใดๆ เข้ามารับตำแหน่งสำคัญของประเทศใน ธนาคารชาติ 

โดย หากมีการชุมนุมคัดค้านอีกเมื่อใด ผมจะขอเดินออกจากบ้านไปแสดงตนร่วมคัดค้านต่อไปจนถึงที่สุด

สำหรับวันนี้ 25 ธค 2567 จะเป็นวันสุดท้ายที่ผมขอประกาศเลิกดูรายการ “เจาะลึกทั่วไทย” ยุค ทักษิณ เริงอำนาจ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘กามิน’ บริจาคเงิน 4 แสน ให้ 4 มูลนิธิ มอบเป็นของขวัญวันคริสต์มาส

(25 ธ.ค. 67) แม้ตอนนี้ยังไม่มีงานที่เมืองไทย หลังจากที่เลิกรากับ ‘แน็ก ชาลี ไตรรัตน์’ ไปแล้ว ท่ามกลางมรสุมดรามาต่างๆ นานา ล่าสุด ‘จี กามิน’ ติ๊กต๊อกเกอร์ชาวเกาหลี ก็ยังแสดงออกให้เห็นว่ายังรักแฟนๆ ชาวไทย โดยแฟนคลับได้เผยภาพเจ้าตัวบริจาคเงินให้มูลนิธิไทยเป็นของขวัญคริสต์มาส เป็นจำนวนเงิน 4 แสนบาท ทำแฟนๆ ชื่นชมเป็นอย่างมาก ซึ่ง 4 มูลนิธิที่กามินบริจาคเงินให้ ได้แก่

มูลนิธิสายธารสุขใจ จำนวน 100,000 บาท

มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จำนวน 100,000 บาท

มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จำนวน 100,000 บาท

มูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 100,000 บาท

พีระ...พัง...ปัญหาราคาน้ำมันและไฟฟ้า สะท้อนตัวตนคนทำงานจริง...กับปัญหาที่ไม่มีใครเคยแก้

(26 ธ.ค. 67) เชื่อหรือไม่ว่า ‘การตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี’ ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลนั้น ปราศจากอคติส่วนตัว โดยอ้างว่า เป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานของ ‘ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล’ และเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาลและรัฐมนตรี

การตั้งฉายา ‘รองพีร์’ ว่า ‘พีระพัง’ นั้น เป็นการตั้งฉายาที่ราวกับ ‘จงใจ’ หรือ ‘รับใบสั่งมา’ โดยทำเป็นหลับหู หลับตา ไม่สนใจผลงานจากการทำงานด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจของ ‘รองพีร์’ ในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันและไฟฟ้าที่หมักหมมมาหลายสิบปี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแทบทุกคนที่ผ่านมา ไม่มีใครเลยที่เคยจะพยายามหาหนทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เลย

ทั้งนี้ ปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเกิดขึ้นจากวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 ในปี 1973 (พ.ศ. 2516) ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนั้นสูงขึ้นเกือบ 300% ทำให้รัฐบาลไทยในยุคนั้นต้องหากลไกเครื่องมือในการจัดการจึงเกิดเป็น ‘กองทุนน้ำมัน’ ขึ้นและกลายเป็นกลไกเครื่องมือเพียงอย่างเดียวของทุกรัฐบาลที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงพลังงานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะไม่ว่าจะเป็น บทบาท อำนาจหน้าที่ และกฎหมาย ที่รัฐมีอยู่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อ ‘รองพีร์’ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้ให้ทีมงานทำการศึกษาถึงต้นตอของปัญหาเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง อาทิ (1) ต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่แท้จริง ก่อนประกาศกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลทุกวันที่ 15 ของเดือน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่เคยรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเลย 

(2) ‘รองพีร์’ สั่งการให้หาวิธีที่จะทำให้ ‘ราคาน้ำมัน’ ต้องไม่ขึ้นลงรายวัน ด้วยการ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแจ้งให้กระทรวงฯ ทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง ซึ่งจะทำให้ยุคที่บรรดา ‘ผู้ค้าเชื้อเพลิงพลังงาน’ สามารถกำหนดราคาและขึ้นลงตามอำเภอใจ อาทิ การขึ้นราคาน้ำมันทันทีตามราคาตลาดโลกทั้ง ๆ ที่น้ำมันที่ซื้อขายในประเทศขณะปัจจุบันได้ซื้อมาเมื่อ 3 เดือนก่อนแล้ว 

(3) เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันอย่างยั่งยืน ‘รองพีร์’ จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่ใช้ต้องเงินมากมายและสร้างหนี้สาธารณะ เป็น ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve)’ ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซที่เก็บสำรองเอาไว้จะเป็นทรัพย์สินของประเทศ และไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป 

เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นในอนาคต รัฐบาลสามารถนำปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองที่มีอยู่ใช้ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิง มีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา แต่ความเป็นจริงแล้วในยามเกิดวิกฤตน้ำมัน ‘เงิน’ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องใช้ ‘เงิน’ มากขึ้นในการซื้อน้ำมัน หรือบางสถานการณ์แม้จะมี ‘เงิน’ แต่อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้

นอกจากนี้ ‘SPR’ จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองและเพิ่มการถ่วงดุลในระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอีกด้วย เพราะรัฐบาลจะสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้ตลอดเวลา จึงทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลาที่ซื้อมาหรือจำหน่ายออกไป นอกจากนี้ ‘SPR’ จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้นเมื่อปริมาณการเก็บสำรองจะเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศถึง 90 วัน (จากเดิมที่เก็บไว้สำหรับ 25 วันโดยผู้ค้า) ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างมากมายและยั่งยืน แก่ประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย

ในส่วนของพลังงานไฟฟ้า ‘รองพีร์’ ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องมากว่า 1 ปีแล้ว ทั้งยังสั่งการให้มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ตลอดจนติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากการที่ต้องนำเข้าก๊าซจากแหล่งผลิตนอกประเทศ

นับตั้งแต่ ‘รองพีร์’ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งหวังว่าจะสามารถ ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ปัญหา ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ ที่เหลือทั้งหมดให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี โดยไม่กลัวอิทธิพลอะไรและไม่อยู่ใต้อิทธิพลใดใดทั้งสิ้นโดย ดังนั้นแทนที่ ‘ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล’ จะให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านี้ที่สำคัญและเป็นประโยชน์สูงสุดอย่างมากมายและยั่งยืนแก่ประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย และเมื่อพิจารณาเยี่ยงวิญญูชนแล้ว ฉายาดังกล่าวกลายเป็นการบั่นทอน ด้อยค่า การทำงานของ ‘รองพีร์’ คล้ายกับไม่ต้องการให้สิ่งที่ ‘รองพีร์’ ทำประสบความสำเร็จ แต่ ‘รองพีร์’ เอง ได้ขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยมั่นใจว่า จะพยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องของพลังงานให้ดีที่สุด ทั้งนี้ ‘รองพีร์’ ได้ฝากขอบคุณและขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้ช่วยกันร่วมเป็นผนังกําแพงให้ ‘รองพีร์’ และทีมงานได้พึ่งพิงเพื่อทำงานสำคัญนี้ให้สำเร็จแล้วเสร็จ

เปิดวิธีสมัคร ‘โครงการฝากบ้านกับตำรวจ’ ช่วยเพิ่มความปลอดภัย - เที่ยวสุขใจ เทศกาลปีใหม่ 68

เมื่อวันที่ (25 ธ.ค. 67) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 68 รัฐบาลห่วงใยประชาชน พร้อมดูแลความปลอดภัย และทรัพย์สินในช่วงเทศกาล โดยขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาตรการเข้มป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม ดูแลชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนช่วงเทศกาลคริสต์มาส – ปีใหม่ 68 และดำเนินโครงการ “ฝากบ้านกับตำรวจ “ยุคใหม่ใส่ใจดูแล ซึ่งเป็นโครงการร่วมใจดูแลความปลอดภัยบ้านประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ”  ทั้งนี้ ประชาชนสามารถฝากบ้านได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 2 ม.ค.68 ผ่าน 2 ช่องทาง  ดังนี้

1.แจ้งผ่านออนไลน์ แอปพลิเคชัน ฝากบ้าน 4.0 (OBS) โหลดผ่าน App Store หรือ Googlr play Store เท่านั้น โดยลงทะเบียน ข้อมูลผู้เข้าร่วมโครงการ ใส่รายละเอียด ภาพถ่าย และโลเคชัน พร้อมกับแจ้งสถานีตำรวจใกล้บ้าน แสดงบัตรประชาชนผู้แจ้ง และแนบภาพถ่ายบ้านและโลเคชัน

นายอนุกูล กล่าวด้วยว่า ขอแนะนำ 10 สิ่งต้องทำเมื่อฝากบ้านกับตำรวจ ดังนี้ 1.เตรียมบัตรประชาชน ประสาน สน. / สภ.ผ่านช่องทาง ฝากบ้านกับตำรวจ 2.กรอกแบบฟอร์มยืนยัน แนบภาพถ่ายบ้าน 3.ก่อนออกเดินทางสำรวจทรัพย์สินมีค่า จัดเก็บในที่ปลอดภัย 4.ก่อนออกเดินทางสำรวจไฟฟ้า ธูป เทียน แก๊ส 5.สำรวจความเรียบร้อยของประตู – หน้าต่าง 6. หากติดตั้งกล้องวงจรปิด  ตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน 7.ฝากบ้านข้างเคียงช่วยดูแลเป็นหู เป็นตา 8.ติดตามการอัปเดตข้อมูลรายงาน “ฝากบ้าน” จากตำรวจเสมอ 9. กรณีกลับบ้านล่าช้าเกินเวลาที่ฝากบ้าน แจ้งให้ตำรวจรับทราบ และ 10.เมื่อเดินทางกลับมาแล้วให้รีบแจ้งตำรวจไปพบเพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน

“ก่อนออกเดินทางแนะประชาชนสำรวจทรัพย์สินมีค่า จัดเก็บในที่ปลอดภัย สำรวจไฟฟ้า ธูป เทียน แก๊ส และความเรียบร้อยของประตู – หน้าต่าง หากติดกล่องวงจรปิดไว้ ตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ติดตามการอัปเดตข้อมูลรายงาน “ฝากบ้าน” จากตำรวจเสมอ กรณีกลับบ้านล่าช้าเกินเวลาที่ฝากบ้าน แจ้งให้ตำรวจทราบ เมื่อเดินทางกลับมาแล้วให้รีบแจ้งตำรวจเพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน คริสต์มาส – ปีใหม่ 68 นี้ ขอให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวปลอดภัย หากเกิดเหตุด่วนขอความช่วยเหลือโทร 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชม.” นายอนุกูล ระบุ

กทม.ประกาศ 'ห้ามจุดพลุ' ฉลองปีใหม่ เว้นขออนุญาต ฝ่าฝืนโทษหนักทั้งจำคุก-ปรับ

ผู้ว่าฯกทม.ประกาศ ‘ห้ามจุดพลุ’ ฉลองปีใหม่ ยกเว้นได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนเจอโทษหนักจำคุกไม่เกินสามปี-ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

เมื่อวันที่ (25 ธ.ค. 67) ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงนามประกาศมาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เนื่องด้วยในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีเป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

รวมทั้งประชาชนบางส่วนนิยมที่จะออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามงานเทศกาล สถานบันเทิงและสถานบริการต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บ้านเรือนที่อยู่อาศัยจึงถูกทิ้งไว้ไม่มีผู้ดูแล ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเหตุสาธารณภัย หรืออุบัติภัยเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ อาทิ ภัยจากการคมนาคม อาชญากรรม เหตุการณ์ความไม่สงบ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เนื่องจากมีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมากทำให้สถานที่จัดงานมีความแออัด

อีกทั้งงานเทศกาลและสถานบันเทิงบางแห่งมีการจัดงานเฉลิมฉลอง จุดพลุ หรือดอกไม้เพลิง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศแห้งและแล้ง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 32 และมาตรา 23 วรรคสอง (1) ขอความร่วมมือจากผู้จัดงานเทศกาลปีใหม่ สถานประกอบการสถานบันเทิง ประชาชน รวมถึงผู้ผลิต สะสม จำหน่ายผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอยในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ดังนี้

1.กรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมและกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ของกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2568 และจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์กรุงเทพมหานคร (ศตส.กทม.) ในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ประจำปี 2568 จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับชุมชนที่มีความเสี่ยงหรือพื้นที่ล่อแหลมสูง

โดยเฉพาะจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ จุดเสี่ยงอาชญากรรม ตรวจสอบตรวจตราสถานประกอบการ สถานบันเทิงที่มีการจัดงานหรือกิจกรรม เพื่อวางแผนออกแบบมาตรการจัดกิจกรรมอย่างปลอดภัย กำหนดรูปแบบและลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่เส้นทางหรือจุดเข้าออกพื้นที่จัดงานอย่างเข้มงวด และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรตามสถานที่ต่างๆ ตลอดระยะเวลาจัดงาน โดยประสานงานกับหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมเฝ้าระวังดูแลในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นโดยใช้กล้อง CCTV

รวมถึงการตรวจตราสถานประกอบการที่ผลิต สะสม และจำหน่ายดอกไม้เพลิง สำหรับสถานที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้จำหน่ายดอกไม้เพลิงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การควบคุมและกำกับดูแลการค้าดอกไม้เพลิงตามประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้าการครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตฤที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน

2.ขอความร่วมมือสถานประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดงานและเจ้าของพื้นที่จัดงาน วางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ และแผนงานรองรับความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยทางกายภาพ หากพบจุดเสี่ยงอันตรายหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายให้ดำเนินการแก้ไขให้มีความปลอดภัยหรือประสานผู้รับผิดชอบดำเนินการทันที อาทิ ระบบป้องกันอัคคีภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ประตูทางเข้า-ออก ถังดับเพลิง ระบบสัญญาณเตือนภัย ระบบไฟฟ้าสำรอง ป้ายบอกเส้นทางหนีไฟต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนไม่มีสิ่งกีดขวางตลอดเส้นทาง และสามารถเปิดออกสู่ภายนอกได้อย่างทันที ตลอดจนกำหนดเส้นทางเข้า-ออกที่ชัดเจน จำกัดจำนวนคนภายในงานให้สอดคล้องกับขนาดและสภาพพื้นที่จัดงาน

เพื่อป้องกันความหนาแน่นแออัด และสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อต้องอพยพผู้ใช้บริการกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีเหตุเพลิงไหม้หรือเหตุสาธารณภัยอื่นๆ ให้แจ้งสายด่วน โทร. 199 ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ประสานงานกับสำนักงานเขตอย่างใกล้ชิด

3.แจ้งเตือนประชาชน กรณีวางแผนเดินทางออกต่างจังหวัดขอให้ตรวจสอบสายไฟ ปลั๊กไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หากพบความชำรุดให้แก้ไขทันที ปิดสวิตซ์ ดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งานหรือก่อนออกจากเคหสถาน

รวมถึงกำชับบุตรหลานไม่ให้เล่นไม้ขีดไฟหรือไฟแช็ก และควรเก็บวัสดุที่ติดไฟได้ง่ายให้อยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย ศึกษาวิธีการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดอัคคีภัย ตลอดจนดูแลบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอเพื่อความปลอดภัยและรณรงค์ให้ประชาชน ลด เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้แนวคิด “ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งผู้ขับขี่และผู้สัญจรร่วมทาง หากพบผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน แจ้งศูนย์เอราวัณ 1669 

4.ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะขอจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ให้ยื่นแบบคำขอรับใบอนุญาตพร้อมแผนการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่ และห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง รวมถึง พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่

สำหรับผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top