Monday, 19 May 2025
ค้นหา พบ 48181 ที่เกี่ยวข้อง

‘อินฟลูฯ ดังสิงคโปร์’ โดน ‘ไต้หวัน’ ลงดาบ!! ห้ามเข้าประเทศ 5 ปี หลังจัดฉากสร้างคอนเทนต์ ‘ถูกปาไข่ใส่’ ทำภาพลักษณ์เสื่อมเสีย

(1 มี.ค.67) สเตรตส์ไทมส์ รายงานว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไต้หวันประกาศห้ามอินฟลูเอนเซอร์สาวชาวสิงคโปร์เข้าไต้หวัน หลังกุเรื่องสร้างความปั่นป่วนเพียงเพื่อทำคอนเทนต์

รายงานระบุว่าเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา น.ส.เฉิง เหว่ง อี้ หรือชื่อในวงการอินฟลูเอนเซอร์บนสื่อสังคมออนไลน์ว่า ‘เคียราคิตตี้’ (KiaraaKitty) กำลังไลฟ์วิดีโอผ่านแพลตฟอร์มทวิตช์ระหว่างเที่ยวเมืองเกาสง ทางตอนใต้ของไต้หวัน อยู่ๆ ก็มีคนปาไข่ใส่ โดยคนที่ลงมือทำร้าย น.ส.เฉิง สวมชุดกระโปรง และตะโกนเป็นภาษาจีนกลางด่าทอ น.ส.เฉิง ว่าอ่อยสามีของตน

น.ส.เฉิงกล่าวว่าถูกทำร้ายเพราะทำคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ซึ่งต้องสมัครเป็นสมาชิกจึงจะเข้าชมภาพวาบหวิวในแพลตฟอร์ม ‘โอนลีแฟนส์’ ได้ อินฟลูเอนเซอร์สาวให้สัมภาษณ์สื่อไต้หวันด้วยว่าไม่รู้จักคนที่ปาไข่ใส่และจะแจ้งความกับตำรวจ แต่ตำรวจเมืองเกาสงยืนยันเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ว่า น.ส.เฉิงไม่เคยเข้าแจ้งความ

ด้านหนังสือพิมพ์ไทเปไทมส์รายงานว่า ตำรวจสอบสวนพบว่าคนที่ปาไข่จริงๆ แล้วเป็นผู้ช่วยของ น.ส.เฉิง เป็นชายชาวสิงคโปร์วัย 32 ปี นามสกุลสเว่ ทั้งน.ส.เฉิงและนายสเว่ทำผิดกฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมจากการแพร่กระจายข่าวปลอม และคดีนี้ส่งถึงศาลแขวงเกาสงแล้วนอกจากนี้ตำรวจยังขอให้น.ส.เฉิงขอโทษต่อสาธารณชนที่กุเรื่องขึ้นมาด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. น.ส.เฉิงไลฟ์สดพร้อมกับร้องไห้น้ำตานองหน้าและยอมรับว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งหมด จากนั้นเมื่อวันที่ 27 ก.พ. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันกล่าวว่า น.ส.เฉิงและนายสเว่ออกจากไต้หวันไปแล้ว

ก่อนศาลแขวงเกาสงตัดสินคดีและลงโทษห้ามเดินทางเข้าไต้หวัน 5 ปี พร้อมยืนยันว่าไต้หวันยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน แต่จะไม่ยอมรับการกระทำที่ผิดกฎหมาย บั่นทอนความสมานฉันท์ และความมั่นคงในสังคม

สำหรับน.ส.เฉิงนั้นเกิดในฮ่องกงเมื่อปี 2545 แต่ย้ายไปอยู่สิงคโปร์ และขึ้นชื่อเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างรายได้จากการขายสินค้าแปลกแหวกแนว เช่น น้ำที่ใช้อาบแล้วหรือชุดชั้นในใช้แล้วและโหลใส่ผายลมราคาหลายร้อยดอลลาร์สหรัฐ

'สกลธี' เสียดาย!! กทม.โอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นคืนให้คมนาคม พร้อมวิเคราะห์ 4 ข้อ 'ถูก-ผิด' ที่อยากให้ กทม.ลองนำไปพิจารณาใหม่

(1 มี.ค.67) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เห็นข่าวที่ผู้บริหาร กทม.จะโอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นทางประกอบด้วย สายสีเทา ระยะที่ 1 (วัชรพล - ทองหล่อ) สายสีเงิน (บางนา - สุวรรณภูมิ) และสายสีฟ้า (ดินแดง - สาทร) คืนกลับให้กระทรวงคมนาคมแล้วบอกตรงๆ ว่าเสียดายครับ

ทั้ง 3 เส้นทางเป็นโครงการที่อยู่ในภารกิจของ กทม. และได้ทำการศึกษามานาน แต่ยังไม่ได้ลงมือทำเพราะใช้งบประมาณเยอะพอสมควร ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทางผู้บริหาร กทม. ได้ให้ข่าวกับทางสื่อสารมวลชน ประกอบกับให้เหตุผลว่าการโอนภารกิจกลับคืนกระทรวงคมนาคมจะได้ประสานคิดค่าตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีอื่นภายใต้กระทรวงคมนาคมง่ายกว่าไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ประโยชน์จะได้เกิดกับประชาชนสูงสุด

อันนี้ผมว่ามีทั้งส่วนถูกและไม่ถูกครับ

1. เรื่องการลงทุนมีส่วนถูกคือถ้าให้ กทม. ลงทุนเพียงฝ่ายเดียวก็คงเกิดยากและกระทบกับงบประมาณในส่วนอื่นที่ต้องดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพฯ แต่โครงการใหญ่แบบนี้โดยเฉพาะทั้ง 3 เส้นทางที่มีผู้อยู่อาศัยและศักยภาพในการใช้บริการจำนวนมากย่อมดึงดูดเอกชนให้มาร่วมทุนได้อย่างแน่นอน รวมถึงยังสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์โดยรอบสถานีในรูปของการเช่า การโฆษณาหรือการเชื่อมต่อสถานีกับอาคารต่างๆ กลับคืนมาได้ไม่มากก็น้อย 

2. หรือถ้าหาเอกชนร่วมทุนไม่ได้จริงๆ (ซึ่งกรณีนี้ผมว่ามีโอกาส แต่ยากมาก เพราะทั้ง 3 เส้นทางมีศักยภาพในการดึงดูดเอกชนมาลงทุน) ด้วยสายสัมพันธ์ของท่านผู้ว่าฯ กับรัฐบาลน่าจะแบ่งงบประมาณ มาลงทุนในโครงการเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย

3. เรื่องค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนอันนี้ถูกครับว่าไม่ควรเก็บ แต่การโอนทั้ง 3 เส้นทางไปให้กระทรวงคมนาคม สมมติว่าก่อสร้างเสร็จทั้ง 3 เส้นทาง ส่วนใหญ่ก็ต้องมาเชื่อมกับสายสีเขียว (ของ กทม.) ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของกรุงเทพฯ อยู่ดี ความซ้ำซ้อนก็ยังคงมีอยู่ ทางที่ถูกควรจะนั่งเจรจากันระหว่าง กทม. กับรัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนและใช้ตั๋วร่วมใบเดียวให้เกิดให้ได้ซักที เหมือน Octopus card ของฮ่องกง ที่ใช้ได้เกือบทุกการคมนาคมขนส่งและร้านสะดวกซื้อ

4. ถึงที่สุดถ้าเลือกโอนไปให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงคมนาคมรับขึ้นมา ก็ใช่ว่าโครงการจะเกิดได้เร็ว เนื่องจากในส่วนของทางกระทรวงคมนาคมก็มีโครงการอีกมากมายของตัวเองที่ต้องผลักดันทั่วประเทศ รวมถึงรถไฟในกรุงเทพฯ อีกหลายเส้นทางที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมก็ยังไม่เกิด ยิ่งโครงการเรือธงของกระทรวงอยากจะทำเรื่อง Land Bridge ซึ่งใช้งบประมาณเป็นล้านๆ บาท ความเร่งด่วนของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายในกรุงเทพฯ น่าจะไม่อยู่ในสายตาของทางกระทรวงแน่นอนครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็อยากจะหวังเห็นทีมผู้บริหาร  กทม. ชุดนี้ใช้ความพยายามสูงสุดทุกทางในการที่จะให้โครงการเกิดเสียก่อน ถ้าเดินแล้วมันไม่ได้หรือติดจริงๆ จะยกโอนให้กระทรวงคมนาคมผมว่าคนกรุงเทพฯ ก็คงไม่ติดใจครับ

เอาไว้วันหลังมีโอกาสจะมาแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่อยากให้เกิดในกรุงเทพฯ ของเราเพื่อให้เมืองของเราอยู่สบายและมีความสุขเหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกครับ

ป.ล. อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้เกิดมากและเยอะๆ คือขนส่งสาธารณะสายรองหรือ Feeder ที่จะพาคนเข้าขนส่งขนาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบ้านหรือคอนโดอยู่ในระยะเดินถึงสถานีรถไฟฟ้าได้ครับ 

‘รทสช.’ รับฟังปัญหา ‘สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย’ ให้คำมั่น!! พร้อมสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมให้เกิดผลสำเร็จ

(1 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา น.ส.นดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้นำตัวแทนสภาเด็กฯ กว่า 20 คน เข้าพบสส.พรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค รศ.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรค เพื่อร่วมพูดคุยและรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากตัวแทนสภาเด็กฯ ที่มาขอให้พรรคช่วยสนับสนุนการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

โดย นายเอกนัฏ เสนอว่า การที่สภาเด็กฯ เข้าพบผู้แทนของพรรครวมไทยสร้างชาติในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี อย่ากลัวฝ่ายการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองไม่ได้น่ากลัว กฎหมายสภาเด็กฯ ก็ออกจากฝ่ายการเมือง ตนเชื่อว่า สส.ทุกคนยินดีให้การสนับสนุน เพื่อให้การทำงานของสภาฯ เด็กบรรลุจุดประสงค์

“ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ สิ่งไหนที่ช่วยเหลือได้ยินดีสานต่อ ไม่ใช่คุยแล้วจบแค่วันนี้ แต่จะต้องพูดคุยติดตามงานกันตลอด โดยมอบหมายให้ คุณพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรค เป็นผู้ประสานงานต่อ” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้าน น.ส.นดา เปิดเผยภายหลังร่วมหารือว่า สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติได้รับข้อเสนอของสภาเด็กฯ เป็นอย่างดี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้เสนอให้สภาเด็กฯ คัดเลือกตัวแทน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการ หรืออนุกรรมาธิการของสภาฯ ถือเป็นข้อเสนอที่ดีมาก และเป็นมิติใหม่ในการทำงาน หลังจากนี้ทางสภาเด็กฯ จะกลับไปคิดโครงการเพื่อมาขับเคลื่อนงานร่วมกับทางพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไป

สำหรับ สิ่งที่สภาเด็กนำเสนอคือ ประเด็นการมีส่วนร่วมของเยาวชน ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นเศรษฐกิจ ประเด็นความรุนแรง และประเด็นสุขภาพ 

“ทางพรรค ก็ตอบรับที่จะนำไปขับเคลื่อน แต่ในส่วนที่ขับเคลื่อนได้เลยคือ ประเด็นด้านเศรษฐกิจการมีงานทำ และประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาพรวมพอใจมากที่ได้พูดคุยกันในวันนี้ เพราะทางพรรครวมไทยสร้างชาติ รับปากจะสนับสนุนการทำงานของสภาเด็กฯ อย่างเต็มที่” น.ส.นดา กล่าว

เธอกล่าวต่อว่า สภาเด็กฯ เดินสายพบทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะเราต้องการทำงานในเชิงรุก แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าพรรคไหนเป็นพรรคที่ทำได้จริงตามที่รับปาก 

“จากการมาคุยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีความหวัง จากการที่จะได้ฟังพี่สส.ให้คำแนะนำ จะกลับไปทำการบ้าน โดยเฉพาะการให้ตัวแทนเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในชั้นกรรมาธิการ หรือคณะอนุกรรมาธิการของสภาฯ” น.ส.นดากล่าว

4 มีนาคม พ.ศ. 2520 ครบรอบ 47 ปี ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนสิริกิติ์’ เขื่อนอเนกประสงค์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้ปชช.นานัปการ

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ ‘เขื่อนผาซ่อม’ ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขนานนามว่า ‘เขื่อนสิริกิติ์’

เขื่อนสิริกิติ์ สร้างปิดกั้นลำน้ำน่านที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทานเมื่อปีพ.ศ. 2506 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดิน แกนกลางเป็นดินเหนียว สูง 113.6 เมตร ยาว 810 เมตร กว้าง 12 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างมากเป็นที่ 3 รองจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพลโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบดำเนินการก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จใน ปี พ.ศ. 2515 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม 4 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520

เขื่อนสิริกิติ์ จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ โดยประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนนี้มีหลายประการ คือ

>> การชลประทาน น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรม

>> การบรรเทาอุทกภัย อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร

>> การผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทานจะผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 4 เครื่อง ให้พลังไฟฟ้า 500,000 กิโลวัตต์ ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

>> การประมง กฟผ. ได้นำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ช่วยเสริมรายได้ให้กับราษฎรบริเวณนั้น

>> การคมนาคมทางน้ำ ช่วยให้การคมนาคมทางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวกและใช้งานได้ตลอดปี

>> การท่องเที่ยว เขื่อนสิริกิติ์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศประกอบกับพืชพันธุ์ไม้ที่งามสะพรั่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสายนอกจากนี้ ในบริเวณเขื่อนยังมีสวนสาธารณะที่ให้ความร่มรื่นอีกแห่งหนึ่งคือ สวนสุมาลัย ซึ่ง กฟผ. สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป ภายในสวนประกอบไป ด้วยพันธุ์ไม้หลากชนิด สระบัว ลานประติมากรรม ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของสวน ชื่อ ‘ประติมากรรมสู่แสงสว่าง’ ลานอเนกประสงค์ และลานสุขภาพ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top