เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.67) จากกรณีที่นายวีรพงษ์ กาศรี ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด และ น.ส.นัฏฐนันท์ เต็มโบติโกศล ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เอชดี ช่อง 32 เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ให้ดำเนินคดีต่อบัญชีเฟซบุ๊ก 3 ราย และบัญชี TikTok 1 ราย หลังกล่าวหาว่านักข่าวของไทยรัฐทีวีนั้นใส่เสื้อผ้าชุดดำ ไม่จงรักภักดี ซึ่งไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ ทางบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งยังได้กล่าวหาว่าผู้บริหารช่องไทยรัฐทีวี...ไปแล้ว ผู้เสียหายจึงได้มอบอำนาจให้ผู้แจ้งมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 15 ก.พ.มีการรวมตัวกันของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า จุฬาฯ รักพระเทพ ของศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย นางวิรังรอง ทัพพะรังสี และตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการนัดรวมตัวกันสวมเสื้อสีม่วงทั่วประเทศ เพื่อถวายกำลังใจแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปรากฏว่ารายการข่าวเที่ยงไทยรัฐ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ที่ออกอากาศในวันดังกล่าว ผู้ประกาศข่าว 3 คนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเข้ม ที่ผู้ชมทางบ้านเข้าใจว่าเป็นสีดำ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว แม้หนึ่งในผู้ประกาศข่าวโพสต์ข้อความยืนยันถึงความจงรักภักดี และรายการในวันถัดมาจะสวมเสื้อโทนสีม่วงก็ตาม
ล่าสุดเฟซบุ๊ก Suebsakul Pundee ของนายสืบสกุล พันธุ์ดี ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เอชดี ช่อง 32 โพสต์ภาพเครื่องแต่งกายที่ผู้ประกาศข่าวทั้งสามคนได้ใส่เมื่อวันที่ 15 ก.พ. พร้อมข้อความระบุว่า "ถึงเวลาแล้วที่ต้องชี้แจงเรื่องสีเสื้อ ... อยากให้ช่วยแชร์ ให้ขึ้นฟีด ... วันนี้เอาภาพเสื้อจริงที่ใส่ในวันดังกล่าวมาให้ทุกคนดู
‘กบฏนักข่าว’ พร้อมใจแต่งกายชุดดำ.. นี่คือการกล่าวหาร้ายแรง
• กรณีการที่มีบุคคลบางคนในโลกโซเชียลนำภาพการแต่งกายของผู้ประกาศและระบุข้อความในลักษณะทำให้เกิดความเข้าใจผิดร้ายแรง จนมีการกล่าวหาเลยเถิดว่าเป็น ‘กบฏนักข่าว’ ที่ ‘พร้อมใจ’ กันแต่งกายด้วยชุดสีดำ แชร์ออกไปในวงกว้างนั้น
• ไทยรัฐได้ดำเนินการฟ้องเอาผิดต่อบุคคลที่ดำเนินการหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ ส่วนการแชร์หรือแสดงความคิดเห็นต่อ ถือว่าเป็นสิทธิที่ท่านทำได้ แต่หากการแชร์นั้นย่อมเกิดความเสียหายทวีคูณ และแม้ว่าผู้ประกาศที่ตกเป็นบุคคลที่ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์มิได้ออกมาชี้แจงใด ๆ เพื่อมุ่งหวังว่าจะป็นการลดภาวะทางอารมณ์ของคนในสังคม แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีการแชร์ต่อและคอมเมนต์ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ลุกลาม ขยายวงกว้าง และยังมีคำถามว่าเหตุใดถึงพร้อมใจกัน ‘แต่งชุดดำ’
• ได้เวลาชี้แจงและแสดงภาพหลักฐาน ดังนี้
• การแต่งกายของ ผปก.ในวันดังกล่าว มีการออกแบบโดยเน้นโทนสีน้ำเงิน ฟ้าอมเทา ซึ่งไม่อิงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ๆ ถือเป็นโทนสีกลาง ๆ โทนสีสุภาพ โทนสีที่สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ทุกสถานการณ์และทุกกาลเทศะ...จะมีการแต่งกายของผู้ประกาศชายเท่านั้น ที่มีการสวมใส่เสื้อยืดคอกลมสีดำด้านใน เหตุผลดังนี้ เพราะเป็นเสื้อคอกลมที่ใส่แล้ว สวมสูทสีใดทับได้ง่าย และโดยหลักสากลการแต่งกายผู้ชาย หากมองเรื่องโทนสีหลักของการสวมใส่นั้น จะดูสีของสูทเป็นสีหลัก ซึ่งการใส่สูทในวันนั้นคือสูท ‘สีฟ้าอมเทา’ ดังนั้นจึงมิได้มีเจตนาใส่ ‘สีดำ’ ทั้งชุด หรือให้สีดำเป็นสีหลักของการแต่งกายแต่อย่างใด โดยการสวมเสื้อยืดคอกลมสีดำนั้น จะได้รับการตำหนิจากบุคคลบางท่าน ขอน้อมรับคำ ‘ติเพื่อก่อ’ ในกรณีที่มีการหยิบเสื้อยืดคอกลมสีดำ ตัวที่ "คิดว่าสวมใส่ได้โดยง่าย และเข้ากับสีสูททุกสี" มาสวมใส่ แต่เจตนาที่แท้จริงมิได้เป็นเจตนาที่จะใส่ชุดดำ
• ส่วนสีเสื้อของ ผปก.หญิงทั้ง 2 คน ขอให้ดูตามภาพ และคงไม่ต้องอธิบายว่าคือสีอะไร ที่แน่ๆ คือ ‘ไม่ใช่สีดำ’ ดังที่มีบุคคลวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘นักข่าวพร้อมใจกันใส่ชุดดำ’, ‘กบฏนักข่าวสวมสีดำ’ ซึ่งทำให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจผิด
• จึงเรียนทุกท่านให้ทราบ ด้วยเรามิได้มีเจตนาที่ไม่ดี และเราในฐานะผู้ประกาศ มิได้มีความคิดที่จะยุ่งเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือการแสดงออกทางความคิดที่แตกต่าง เรา..ทำหน้าที่ตรงกลางในฐานะคนอ่านข่าว และเราก็เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป ที่ไม่อาจก้าวล่วงความคิด หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนในสังคม
• ดังนั้น ด้วยความเคารพ โปรดอย่านำเรื่องที่เกิดขึ้นไปเป็นเครื่องมือใดๆ ในการกล่าวอ้างให้เกิดความเสียหายและความเข้าใจผิดต่อสังคม จะด้วยเจตนาใดๆ ของท่านก็ตาม ขอขอบพระคุณ ที่ทุกท่านได้อ่านข้อความนี้ ....
• หมายเหตุ (ที่ควรอ่าน) ..คำชี้แจงนี้ มิได้มุ่งหวังที่จะเอาผิด คิดร้าย หรือต้องการให้เกิดความขัดแย้งเพิ่ม เพียงแต่ต้องการสะท้อนว่า "ความเป็นธรรม" คือพื้นฐานของสังคม เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข และเป็นกรณีตัวอย่าง ที่ควรนำไปเป็นกรณีศึกษา ในภาวะที่สังคมมีความละเอียดอ่อน
• ด้วยความเคารพและนับถือ"
ด้าน นายนพดล พรหมภาสิต แกนนำกลุ่มปกป้องสถาบัน และอดีตผู้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) โพสต์คอมเมนต์ว่า "ในเมื่อชี้แจงแล้ว (ถึงจะมาช้า) ก็สุดแต่ใครจะรับฟัง
ถ้าคิดว่าการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นก็ทำไป แต่การต่อความยาวสาวความยืดรังแต่จะทำให้เกิดรอยปริร้าว
ถ้าศาลรับฟ้องก็เอาเหตุผลแต่ละฝ่ายพร้อมพยานไปชี้แจงให้ศาลฟัง ซึ่งก็น่าแปลกใจ ทำไมคนจำนวนมากถึงคิดไปในทางเดียวกันได้"