Sunday, 18 May 2025
ค้นหา พบ 48172 ที่เกี่ยวข้อง

‘สว.คำนูณ’ ชวนจับตา!! ‘เส้นเขตผ่ากลางเกาะกูด-แหล่งปิโตรเลียม' หลัง ‘พี่น้องสองแผ่นดิน’ ได้พบปะกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

(23 ก.พ.67) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง พี่น้องสองแผ่นดิน มีเนื้อหาดังนี้

สมเด็จฯ ฮุนเซนมาเยี่ยมพี่ชายที่คบกันมา 32 ปีนับแต่ยุค IBC Cambodia เมื่อวานซืนนี้ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า มีข้อดีอยู่อย่างตรงที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจแผนที่อ่าวไทยลักษณะประมาณนี้อีกครั้ง แล้วเกิดการถามไถ่วิพากษ์วิจารณ์กันตามสมควร

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเกาะกูด!

กัมพูชามาลากเส้นเขตแดนทะเล (เส้นเขตไหล่ทวีป) ผ่ากลางเกาะกูดของไทยมาตั้งแต่ปี 2515 (ค.ศ. 1972) และยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

คำถามคือเกิดขึ้นได้อย่างไร จะมีผลกระทบต่อสิทธิอธิปไตยของไทยแค่ไหน และเกี่ยวข้องกับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียม (หรือที่นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันเรียกใหม่ว่าไฮโดรคาร์บอน) มูลค่า 20 ล้านล้านบาทอย่างไร

เพราะเกาะกูดเป็นของไทยอย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อโต้แย้ง โดยสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ข้อ 2

เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่กัมพูชาสมัยนายพลลอนนอล

จู่ ๆ ก็ประกาศกฤษฎีกากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 โดยลากออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตแดนไทยกัมพูชาที่ 73 บริเวณบ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกผ่ากลางเกาะกูดตรงไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยที่บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา

พูดตรง ๆ เป็น ‘เส้นฮุบปิโตรเลียม’ โดยแท้!

ภูมิหลังของเรื่องคือไทยกับกัมพูชามีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งเป็นช่วงที่สองประเทศเริ่มดำเนินการให้สัมปทานบริษัทต่างชาติผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาหมาด ๆ ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรในยุคสมเด็จนโรดม สีหนุ ก็พอดีเกิดการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงใหญ่ในกัมพูชา นายพลลอนนอลขึ้นมามีอำนาจตั้งตนเป็นประธานาธิบดีได้ 2 ปีก็ประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปทันที

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร บุคคลในประวัติศาสตร์ของไทยท่านหนึ่งทั้งเขียนและเล่าไว้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ

พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มายาวนาน เขียนบทความเรื่อง ‘การเจรจาปัญหาการอ้างเขตไหล่ทวีปทับซ้อนในอ่าวไทยของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน’ เผยแพร่ในเว็บไซต์โครงการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล และนำความทำนองเดียวกันมาเล่าด้วยวาจาในเวทีสัมมนาสาธารณะของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จัดที่สยามสมาคมเมื่อวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 ว่า จอมพลประภาส จารุเสถียรเคยเล่าให้ท่านฟังว่านายพลลอนนอลผู้นำกัมพูชาขณะนั้นบอกท่านว่า เส้นเขตไหล่ทวีปนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนตะวันตกที่ขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเสนอขึ้นมาให้ โดยตัวนายพลลอนนอลและกัมพูชาไม่มีความมุ่งประสงค์ใด ๆ ทั้งสิ้นต่อเกาะกูดของไทย พร้อมที่จะแก้ไข แต่ขอให้ไทยเห็นใจหน่อยว่าการเมืองภายในกัมพูชามีความเปราะบาง หากรัฐบาลทำการใดทำให้ประชาชนไม่พอใจอาจพังได้ ก็เลยไม่มีการแก้ไขใด ๆ ที่ตอบสนองฝ่ายไทยได้

เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ประกาศออกมาสร้างความตะลึงและไม่สบายใจให้กับรัฐบาลไทยและคนไทยในช่วงนั้นมาก

เพราะเป็นห่วงเกาะกูด!

ทำอย่างไรจะให้กัมพูชายกเลิกเส้นเขตไหล่ทวีปนี้ให้ได้ เป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย

คุณูปการของจอมพลประภาส จารุเสถียรคือท่านลงมากำกับการเจรจาเอง และคุยตรงไปตรงมากับนายพลลอนนอล เพราะเป็นทหารด้วยกัน เดินตามยุทธศาสตร์อเมริกันเหมือนกัน ที่สุดเมื่อคุยไม่เป็นผล ท่านก็รักษาสิทธิของไทยโดยการออกประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเส้นไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 90 ตอน 60 หน้า 1-2 วันที่ 1 มิถุนายน 2516

เป็นเส้นที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ลงทะเลตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา

นอกจากประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปแล้ว รัฐบาลไทยสมัยนั้นสั่งการให้กองทัพเรือเข้าดูแลรักษาสิทธิในน่านน้ำอ่าวไทยเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศทันที

นั่นเป็นเหตุการณ์แค่เพียง 5 เดือนก่อนจอมพลประภาส จารุเสถียรพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

การเจรจาระหว่าง 2 ประเทศไม่คืบหน้า

เพราะกัมพูชาตกอยู่ในสภาวะสงครามหลายรูปแบบอยู่ยาวนานจึงค่อยฟื้นคืนสู่สันติภาพ

กว่าจะมาเริ่มเจรจากันจริงจังอีกครั้งก็ปี 2538

ไม่คืบเช่นเคย!

กัมพูชาไม่พยายามจะพูดเรื่องเส้นเขตไหล่ทวีป หรือเรื่องแบ่งเขตแดนทางทะเล จะพูดแต่เฉพาะเรื่องการแบ่งปันปิโตรเลียมใต้ทะเลเท่านั้น ขณะที่ไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศพยายามพูดทั้ง 2 เรื่อง

ในที่สุด MOU 2544 ก็ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544

ลงนามในยุคที่พี่น้อง 2 แผ่นดินต่างขึ้นครองอำนาจทางการเมืองในแผ่นดินของตน

เกิดเป็นกรอบแนวทางการเจรจาตามภาพกราฟิกที่นำมาแสดง

ดูเหมือนการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในปิโตรเลียมจะคืบหน้าไปมาก จนมีตัวแบบและตัวเลขแบ่งผลประโยชน์ออกมา ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนแม้จะถูกจำกัดตามกรอบ MOU 2544 ให้ทำเฉพาะส่วนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือเท่านั้นก็ยังคงไม่คืบหน้าเช่นเดิม

หลังผู้พี่ตกจากบัลลังก์อำนาจฝั่งไทยเมื่อปี 2549 การเจรจาสะดุดไป เพราะมีปัญหาเขตแดนทางบกบริเวณปราสาทพระวิหารเข้ามาแทรกเสียร่วม 10 ปี

วันนี้เมื่อผู้พี่กลับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าอีกครั้ง และหัวหน้าคณะรัฐบาลที่มีพรรคของลูกสาวเป็นแกนนำประกาศนโยบายพลังงานว่าจะพยายามนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ให้ ‘เร็วที่สุด’ โดยบอกว่าจะ ‘แยก’ จากเรื่องเขตแดน แม้ผู้น้องจะเพียงมาเยี่ยมไข้ผู้พี่และถือโอกาสเชิญหลานสาวคนเล็กไปเยือนกัมพูชาเดือนหน้า ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองใด ๆ ก็ตาม

แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปรากฏการณ์พบกันของพี่น้องสองแผ่นดินคู่นี้จะต้องเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งอยู่ดี

เส้นฮุบปิโตรเลียมจะยังอยู่หรือไม่ ?

สองประเทศจะแบ่งผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาทกันได้สำเร็จหรือไม่ตลอดอายุรัฐบาลไทยชุดนี้ และจะมีผลกระทบต่อเขตแดนทางทะเลในอนาคตของไทยหรือไม่อย่างไร ??

ล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

‘จีน’ เตือน!! ‘สหรัฐฯ’ หยุดขายอาวุธให้ ‘ไต้หวัน’ ชี้!! เป็นการบ่อนทำลายอธิปไตย - ละเมิดหลัก ‘จีนเดียว’

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กระตุ้นเตือนสหรัฐฯ หยุดจำหน่ายอาวุธและติดต่อสื่อสารทางทหารกับไต้หวัน

รายงานระบุว่าแถลงการณ์จากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ อนุมัติการจำหน่ายระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีขั้นสูง (TDL) มูลค่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.68 พันล้านบาท) แก่ไต้หวัน

เหมาแถลงข่าวต่อกรณีดังกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ จำหน่ายอาวุธแก่ภูมิภาคไต้หวันของจีนได้ละเมิดหลักการจีนเดียวและข้อกำหนดของแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ ทั้งสามฉบับอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะแถลงการณ์ร่วม 17 สิงหาคม 1982

“การจำหน่ายอาวุธดังกล่าวบ่อนทำลายอธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน และส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ตลอดจนสันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวัน” เหมากล่าว พร้อมชี้ว่าจีนคัดค้านเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เหมากล่าวว่าจีนกระตุ้นเตือนสหรัฐฯ ปฏิบัติตามหลักการจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ ทั้งสามฉบับ หยุดจำหน่ายอาวุธและติดต่อสื่อสารทางทหารกับไต้หวัน รวมถึงหยุดสร้างปัจจัยอันอาจทบทวีความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน

“จีนจะดำเนินมาตรการคุ้มครองอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอย่างแน่วแน่และมั่นคง” เหมากล่าวเสริม

'สุริยะ' เผย!! สาย 'มห.3019' เชื่อมสะพานไทย-ลาว แห่งที่ 2 รุดหน้ากว่า 82% เตรียมเปิดใช้ภายในปีนี้ ช่วยหนุน 'โลจิสติกส์ฮับ-เขตเศรษฐกิจพิเศษ'

(23 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย มห.3019 แยก ทล.212 ถึงบ้านบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ความคืบหน้ากว่า 82% ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างผิวจราจรทางเชื่อม ทางแยก และสะพาน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรอย่างเป็นทางการในปี 2567 นี้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในตัวเมือง รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต เพิ่มศักยภาพการขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกับสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 สู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กาฬสินธุ์ และนครพนม สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) ส่งเสริมการเพิ่มขีดสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย 'ส่งเสริมและยกระดับเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ' และสอดรับกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก อีกทั้งเป็นการเพิ่มโครงข่ายโลจิสติกส์การขนส่งออกสู่ สปป.ลาว 

โครงการดังกล่าวมีระยะทางรวม 14.211 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 804.159 ล้านบาท โดยพื้นที่โครงการตั้งอยู่บริเวณตำบลโพนทราย และตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร มีจุดเริ่มต้นบริเวณ ทล.12 (กม. ที่ 781+000) และไปสิ้นสุดที่บริเวณ ทล.212 (กม. ที่ 414+262) ซึ่งใน 4 กิโลเมตรแรกจะดำเนินการขยายถนนทางหลวงชนบทจาก 2 ช่องจราจร เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร จากนั้นในส่วนที่เหลือจะดำเนินการก่อสร้างถนนใหม่ทั้งหมดจนไปถึงจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมกับสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 โดยก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องจราจร ไป - กลับ มีไหล่ทาง พร้อมสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 แห่ง มีการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัย เพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยและมั่นใจให้แก่ประชาชนที่สัญจรบนเส้นทางดังกล่าว

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มอบผ้าห่มกันหนาว พร้อมสนับสนุนค่าเดินทางให้แก่ผู้พิการ ช่าง และอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ครั้งที่ 166 จังหวัดศรีสะเกษ

วันนี้ (วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567)  มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ร่วมกับมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นำทีมลงพื้นที่ มอบผ้าห่มกันหนาว จำนวน 270 ผืน พร้อมค่าพาหนะให้แก่ผู้พิการ ช่าง และอาสาสมัคร ที่เข้าร่วมโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ครั้งที่ 166 รวม 270 คน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 159,570 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยเจ็ดสิบบาทถ้วน)  โดยมี นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ และคณะกรรมการมูลนิธิขาเทียมฯ ร่วมในพิธี ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

#มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง #ช่วยชีวิต #รักษาชีวิต #สร้างชีวิต

‘สาวไทย’ แชร์ประสบการณ์ หลังเจอ ‘ตม.เกาหลี’ ซักละเอียดยิบ ถามยัน!! ข้าว 3 มื้อจะกินอะไร พอตอบไม่เคลียร์ อดเข้าประเทศ

(23 ก.พ. 67) หญิงสาวรายหนึ่งใช้เฟซบุ๊ก โพสต์ข้อความลงในกลุ่ม กลุ่มคนชอบตะลอนเที่ยวเกาหลี ที่มีสมาชิก 2.2 แสนคน แชร์ประสบการณ์ในการพบกับ ตม.เกาหลี โดยระบุว่า… 

ขออนุญาตแชร์คำถามที่เราเจอนะค้า (ทุกคนเราเข้าใจว่าอ่านเเล้วอาจจะจิตตก ขออภัยมาก ๆ เลย เเต่ขออนุญาตจริง ๆ ค่ะ เผื่อคนที่ซวยต้องเข้าห้องเย็น อาจจะช่วยให้เตรียมตัวตอบคำถามได้บ้าง อยากให้ทุกคนรอดผ่านออกมาได้เที่ยวอย่างมีความสุข)

เนื่องจากมีคนทักหลังไมค์​มาถามเยอะ​เกี่ยวกับคำถามที่ต้องเจอ​ เราเลยพยายามนึก​คำถามที่เราเจอ​ ทั้งหมด​ 3 ด่าน​ เผื่อเป็นเเนวทาง​คนที่ต้องเข้าห้องเย็น​นะค้าจะได้เตรียมตัวไว้

>> ด่านเเรก (ถาม-ตอบ​ Eng) ผู้ชาย

- คุณมากี่วัน
- คุณมากับใคร​ = บอกมากับเพื่อน​ ผ่านออกไปแล้ว​ รอเราอยู่​ ตม.​ ให้เขียนชื่อเพื่อนส่ง​ ตม.​ บอกไม่มีคนชื่อนี้ผ่านออกไป​ ยกพาสปอร์ต​ เรียกเข้าห้อง

>> ด่านสอง​ (ถาม-ตอบ​ Eng)​ ผู้ชาย

- มากี่วัน
- มากับใคร​ กี่คน
- พักโรงแรมอะไร​ เเถวไหน
- มีตั๋ว​ไป​กลับไหม

ตอบได้หมด​ พร้อมยื่นเอกสาร​และเชิญเราไปด่าน 3​ พร้อมเอกสาร​ ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว

>> ด่านสาม​ (มีล่ามไทย​ ขอพูด ​Eng ไม่ยินยอม)​ ผู้ชาย

- ทำไมถึงมาที่นี่
- มากับใคร​ กี่คน
- ตอนนี้เพื่อนอยู่ที่ไหน
- มาอยู่กี่วัน​
- เคยมาเกาหลีมาก่อนไหม
- โสดหรือเเต่งงาน
- เคยไปประเทศไหนมาบ้าง​ พร้อมยืนพาสปอร์ตเล่มเก่า
- พูดภาษาอังกฤษได้ไหม
- พักโรงเเรมอะไร​ เเถวไหน​ ยื่นเอกสารจองรร.
- ตั๋วไป-กลับ​ มาวันไหน​ กลับวันไหน​ สายการบินอะไร​ ​เวลากลับขึ้นเครื่องกี่โมง
- keta​ ลงเองไหม​ ลงวันใหน​ อนุมัติวันไหน
- ล่ามบอก​ ห้ามหยิบโทรศัพท์​ จนกว่าเจ้าหน้าที่จะสั่ง
- ทำงานอะไร​ ตำแหน่งอะไร​ ทำมากี่ปี​ เงินเดือนเท่าไหร่​ พร้อมยื่นเอกสารการทำงาน
- ขอโทรศัพท์ไปดู​ เปิด Line, Facebook และ​ Google​ ว่าเราค้นหาอะไรบ้าง
- วันนี้คุณจะไปไหน​ = ตอบกังนัม
- ไปทำไม​กังนัม มีอะไร​ = ตอบ จะไปถ่ายรูปกับรูปปั้นมือไขว้​ พร้อมทำท่าให้ดู​ เเละไปห้างโคเอ็ก​และห้องสมุด
- จากสนามบิน​เดินทางไปโรงแรมยังไง​ ใช้เวลาเท่าไหร่​ ต่อรถไฟสายไหน​ ค่ารถกี่บาท​ รถประเภทอะไร​ เดินออกช่องทางไหน
- คุณจองตั๋วเครื่องบินมากี่บาท
- จองตั๋วเครื่องบินผ่านช่องทางไหน
- คุณจองโรงเเรมมากี่บาท​ ผ่านช่องทางไหน​ จ่ายเงินเเล้วใช่ไหม
- โรงแรม เช็กอินกี่โมง​ เช็กเอาท์กี่โมง
- จะไปทำไมห้องสมุด​ นั่นมันของคนเกาหลี​
- แล้วจะมากินอะไร​ (ตอบได้เพราะติ่งอาหารเกา)​

- ไปห้องสมุดแล้วไปไหนต่อ​ = เราบอกวัด​พงอึนซา นางถามย้ำวัดอะไรนะ​ ตอบชื่อวัดไม่ได้เหรอ​ ไม่รู้หรือว่าชื่ออะไร​ เราก็บอก​ พงอึนซา​ สะกดถูกไหม
- เดินทางจากโคเอ็กไปวัดยังไง​ เราบอกเดิน​ แล้วเดินกี่นาที​ ระยะเวลายังไง
- เอาเงินมากี่บาท​ บัตรเครดิตมีไหม​ ขอดู
- แล้วตอนเย็นจะไปกินอะไร​ เราบอกปิ้งย่าง​ เราแคปไว้ในโทรศัพท์เเล้ว​ นางถามต่อไปยังไง​ เลยบอกฉันแคปแผนที่ไว้ในมือถือแล้ว​ แค่ดูว่าร้านอยู่แถวไหนฉันก็นั่งรถไฟไปลงและเปิด​ Map
- นางถามต่อ​ ร้านอยู่ที่ไหน​ ทำไมถึงเลือกไปร้านนี้
- คุณไม่เช็กอินเหรอ​ เราบอก​โรงแรม​ มีที่ฝากกระเป๋า​ เช็กกี่โมงก็ได้​ แต่เปิดให้เช็ก​ 15.00 น.
- กินมื้อเย็นเสร็จและไปไหนต่อ​ เราตอบไปโซลทาวเวอร์​ นางถาม​ ไปยังไง
- แล้วจะนอนกี่โมง​ พรุ่งนี้จะตื่นกี่โมง ​และไปไหนต่อ​ บอกแพลนคุณมา
- วันที่ 2​ จะไปไหน​อธิบายมา
- ไหนเปิดในมือถือคุณให้ดูว่าแคปอะไรเกี่ยวกับการมาเที่ยวเกาหลีบ้าง​

คำถามด้านบน เราตอบได้หมดจริง ๆ ค่ะ คือเป็นคนทำแพลน + ชอบอ่านการเดินทางไปที่ต่าง ๆ + กับจองจ่ายเองหมด ยอดเงินก็ตอบได้ประมาณค่าโรงแรม 9000 กว่า ๆ เกือบหมื่น อาจไม่ได้เป๊ะแบบตัวเลขแม่น ๆ ค่ะ แต่คำตอบไม่น่าเกลียดแน่นอนค่ะ

(คิดว่ามีคำถามอีกอะ​ เขาถามเยอะมาก​ เเต่นี่คือเท่าที่คิดออก​ว่าเขาถามอะไรมา​ เพราะคุยนานมาก)

>> คำถามที่ปิดจบบทสนทนา

- มาอยู่ 3 วันใช่ไหม คุณคิดไว้ไหมว่า​ ‘มื้อเช้า-กลางวัน-เย็น’​ จะไปกินร้านอาหารร้านไหน

เราบอกเจอร้านไหนน่ากินก็แวะเลย​ ไม่เคยมาลอง กินได้ทุกร้าน​ และจะกินสตรีทฟู้ดด้วย​ ไก่ทอดร้าน​ BHC เบเกอรี่​ Onion

นางพูดว่า​ ฉันถามว่า​ คุณจะกินร้านอาหารอะไร​ ใน 3 วัน​ 3 มื้อ​ ตอบไม่ได้ใช่ไหม​ (นางย้ำ)​

เราบอก​ เราตอบไปเเล้ว​ ว่าเจออะไรก็กิน​ ต้องการลองทุกอย่าง​ โอเค​ สรุปว่าคุณยังไม่พร้อมเข้าประเทศเรา​ ไม่มีความพร้อมมากพอ​ ปฎิเสธการเข้าประเทศ​ พร้อมยื่นเอกสาร​ ใบยินยอม

เราไม่ยอม​ ขอร้องว่า​ มาเที่ยวจริง ๆ​ เอกสารมีครบฉันไม่ได้มาทำงาน​ ฉันดูเหมือนคนมาทำงานเหรอ

นางบอกคุณตอบคำถามไม่ได้​ (คำถามร้านอาหาร​ 3 มื้อ​ 3 วัน)

เราเลยย้อนถาม​ คุณตอบได้เหรอ​ บอกไปแล้วกินอะไรก็กินได้​ ไม่ได้ฟิกขนาดนั้นว่าต้องกินร้านไหนเวลาไหน​ นางบอกถ้านางมาไทย​ นางจะตอบได้หมดว่ากินร้านไหนที่ไหนยังไงในทุกมื้อ

(ไม่ได้ใส่ร้าย ตม. นะคะ อันนี้เจอเองจริง ๆ ไม่โอเวอร์เเน่นอน ยังจำได้ดีเพราะเพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน เลยอยากให้คนที่ชื่นชอบเกาหลี เตรียมตอบไว้ ในกรณีต้องเข้าห้องเย็นจริง ๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะเจอคำถามขนาดนี้ ถ้าตอบได้หมดจน ตม.เหนื่อยจะถาม อาจปล่อยออกมาก็ได้ค่ะ)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top