Monday, 19 May 2025
ค้นหา พบ 48202 ที่เกี่ยวข้อง

เปิดตัว “ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ” และร่วมหารือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เพื่อ ยกระดับงานสอบสวน พัฒนาคุณภาพชีวิต แก้วิกฤติอำนวยความยุติธรรม

วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2567) พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ได้มีการจัดตั้ง “ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ” ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนางานสอบสวน และพนักงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยมี พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ 
เป็นประธานชมรมฯ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ (ผู้ริเริ่มก่อตั้ง) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร พล.ต.อ.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ พล.ต.ท.วุฒิ วิทิตานนท์ และ พล.ต.ท.วสันต์ วัสสานนท์ เป็นที่ปรึกษา

ในส่วนของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ นิตยวิมล พล.ต.ต.เจนกมล คํานวล พล.ต.ต.เศรษฐศักดิ์ ยิ้มเจริญ พล.ต.ต.ดร.ศิริวัฒน์ ดีพอ พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ พ.ต.อ.กีรติ ตรีวัย พ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ และผู้แทนจากกองบัญชาการที่มีอำนาจสอบสวน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการบริหาร และคณะที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหางานสอบสวน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วน มีมติในเสนอมาตรการถึงท่านผู้บัญชาการ
ตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

1. เรื่องระบบตำแหน่งควบ สายงานสืบสวนสอบสวน โดยแบ่งเป็น “พนักงานสอบสวนปกติ” ที่มีการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เหมือนกับตำรวจสายงานอื่นทั่วไป และ “พนักงานสอบสวนตำแหน่งควบ” ที่มีตำแหน่งปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเอง มีแท่งเลื่อนไหลตั้งแต่ระดับ รองสารวัตร ถึงระดับรองผู้บังคับการ โดยใช้การประเมินเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

2. เรื่องการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกวดขัน
ห้ามพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการในสายงานอื่น

3. เรื่องการเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนการทำสำนวนการสอบสวน 
โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน และการดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมได้อย่างมีเกียรติ โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนที่รัฐจ่ายให้แก่ข้าราชการฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม

4. เรื่องการแก้ไขคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 และระเบียบคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน

5. เรื่องการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำช่วยเหลือประชาชนและพนักงานสอบสวน
ในการอำนวยความยุติธรรม เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนและพนักงานสอบสวนสอบถามปัญหา หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน

ซึ่งในวันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 09.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจได้เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ผู้บังคับการกองอัตรากำลัง และผู้บังคับการกองทะเบียนพล เพื่อร่วมหารือ และยื่นหนังสือถึงท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขและพัฒนางานสอบสวนตามมาตรการดังกล่าว

เบื้องต้น ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความยินดีและเห็นชอบกับมาตรการดังกล่าว โดยหลังจากนี้ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหางานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับ
งานสอบสวน พัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานสอบสวน และแก้ไขปัญหาในการ
อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนต่อไป

มุกดาหาร -กองบังคับการตำรวจน้ำ เปิดยุทธการฟ้าสางที่ฝั่งโขง จับกุมผู้กระทำความผิด ยาบ้า 43 ราย ยึด ยาบ้าร่วม 1 ล้านเม็ด คนเข้าเมือง 8 ราย ผู้ต้องหา 23 คน และหมายจับจำนวน 25 ราย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์  ที่ห้องประชุมกองกำกับการ 10 กองบังคับการตำรวจน้ำ พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผู้บังคับการตำรวจน้ำ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน. ภายใต้การอำนวยการของ 

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. 
พล.ต.ต.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบช.ก.
พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผบก.รน.
พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.รน.
พ.ต.อ.ราม รสหอม รอง ผบก.รน.
พ.ต.อ.อดิศักดิ์ มีศิลป์ ผกก.10 บก.รน.
พ.ต.อ.ศษณวรรฐ รัตนเศวตรวงศ์ ผกก.11 บก.รน.
พ.ต.อ.อนรรฆ ประสงค์สุข ผกก.12 บก.รน.  

ร่วมแถลงข่าวกองบังคับการตำรวจน้ำเปิดยุทธการ “ฟ้าสางที่ฝั่งโขง” เพื่อเป็นการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ กองกำกับการ 10 - 12 กองบังคับการตำรวจน้ำ รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดเชียงรายทั้งหมด (กก.12), จังหวัดเลย, จังหวัดหนองคาย, จังหวัดบึงกาฬ (กก.11), จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัด อุบลราชธานี (กก.10) ตามแนวแม่น้ำโขง กั้นระหว่างเขตแดนรวมระยะทางทั้งสิ้น 957 กิโลเมตร โดยได้สืบสวนหาข่าวและกำหนดเป้าหมายในป้องกันปราบปรามจับกุม เป็นเป้าหมายทางบกรวม 76 เป้าหมาย เป้าหมายทางน้ำ 23 เป้าหมาย ได้ออกปฏิบัติการตามยุทธการฟ้าสางที่ฝั่งโขง ตั้งแต่วันที่ 13 - 20 กุมภาพันธ์ สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดกฎหมายตามยุทธการฟ้าสางที่ฝั่งโขงได้จำนวน 43 คน ยึดยาบ้าจำนวน 913,723 เม็ด คนเข้าเมือง 8 ราย ผู้ต้องหา 23 คน และหมายจับจำนวน 25 ราย

ภาพ/ข่าว เดวิท โชคชัย มุกดาหาร รายงาน 092-5259-777

‘พีระพันธุ์ FC’ ปล่อยคลิป ‘จุดไฟในพายุ เดอะซีรีส์’  เปิดปูมชีวิต - การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ 

ช่องยูทูบ ‘พีระพันธุ์ FC’ ปล่อยคลิป ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ ในวันเกิดครบรอบ 65 ปี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เปิดปูมชีวิต หลักการและเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ย้ำชัด ไม่ต้องการเล่นการเมือง แต่อยากทำงานให้บ้านเมือง สมดั่งปณิธานที่ยึดมั่น ‘ยุติธรรมค้ำจุนชาติ’

ช่องยูทูบ ‘พีระพันธุ์ FC’ ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอ ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการทำงานของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในโอกาสวันเกิดครบรอบ 65 ปี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้ ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ มี 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 รากเหง้า ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตระกูล ‘สาลีรัฐวิภาค’

ตอนที่ 2 เบ้าหลอม บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเด็กที่ผ่านการหล่อหลอม จาก ‘พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค’ คุณพ่อ ผู้เป็นต้นแบบความเห็นอกเห็นใจและการทำงานเพื่อส่วนรวม และ ‘โสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค’ ผู้ปลูกฝังเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ยึดมั่นจวบจนปัจจุบัน

ตอนที่ 3 ตัวตน ซึ่งบอกเล่าการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความถูกต้องชอบธรรมในฐานะนักกฎหมาย ที่ทำให้เห็นปัญหาด้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการและต้องการแก้ไขให้ถูกต้อง 

และตอนที่ 4 หลักการ ซึ่งบอกเล่าถึงแนวคิดการทำงานที่ยึดแนวทางการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้คนและสังคม ด้วยปณิธานที่ยึดมั่นมาตลอดชีวิต นั่นก็คือ ‘ยุติธรรมค้ำจุนชาติ’

ในซีรีส์ ชุดนี้ จะสะท้อนให้เห็นว่า ในอุปสรรคท้าทายยังมีความหวัง ในกระแสพายุแรงยังมีแสงแห่งดวงไฟ พร้อมบอกเล่าตัวตนและเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่เปรียบเสมือนการถือคบไฟนำทางท่ามกลางอุปสรรคท้าทาย โดยย้ำว่า การเข้ามาทำงานการเมืองนั้น ไม่ใช่เพื่อเล่นการเมือง แต่ของการทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองและประชาชน 

>> ประวัติ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย เป็นบุตรของ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร และโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ส่วนชีวิตครอบครัว สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน 

นายพีระพันธุ์ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้น เรียนต่อปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา จบปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) และเรียนปริญญาโทอีกใบ ด้านกฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) ที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา

โดย นายพีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อนเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.เขต 3 กรุงเทพมหานคร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นฝ่ายค้าน ในปี 2550 นายพีระพันธุ์ ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเงา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จริง ๆ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551

ขณะที่ผลงานอันโดดเด่น คือ การสอบสวนการทุจริต ‘ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท’ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีผลงานชิ้นสำคัญที่ช่วยปกป้องเงินภาษีของประชาชนหลายหมื่นล้านบาท โดยนายพีระพันธุ์ ได้นำทีมต่อสู้คดี ‘ค่าโง่’ โฮปเวลล์ หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2533 แต่มีปัญหาสร้างไม่เสร็จ และถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกเสียหายจำนวนมหาศาลจากการยกเลิกสัมปทาน แถมรัฐบาลยังแพ้คดีทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 และในชั้นศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2562  ซึ่งทำให้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องนำเงินภาษีไปจ่ายให้กับบริษัทโฮปเวลล์รวม 2.4 หมื่นล้านบาท และเป็นตำนาน ‘ค่าโง่’ ที่อาจทำให้คนไทยต้องเสียเงินค่าภาษีหลายหมื่นล้านบาทกับโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์

นายพีระพันธุ์ ได้ติดตามศึกษาคดีมหากาพย์โฮปเวลล์อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562 หลังจากที่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ แต่ก่อนหน้านั้น ศาลปกครองกลางที่เป็นศาลชั้นต้นของศาลปกครองเคยมีคำตัดสินคดีเดียวกันนี้ว่า คดีโฮปเวลล์ขาดอายุความ

ท้ายที่สุด ศาลปกครองกลาง มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายค่าโง่หลายหมื่นล้านบาท แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการทำงานอย่างมุ่งมั่นของ นายพีระพันธุ์ และทีมงานนั่นเอง 

สำหรับ ‘พีระพันธุ์ FC’ เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนนายพีระพันธุ์ คอยติดตามรายงานกิจกรรมของนายพีระพันธุ์ มาตลอด โดยซีรีส์ชุดนี้ ทางแฟนคลับกลุ่มดังกล่าว ได้ถ่ายทำไว้นานแล้ว แต่เพิ่งเผยแพร่ออกมาในวันเกิดนายพีระพันธุ์ในปีนี้

ที่มา : ในอุปสรรคท้าทายยังมีความหวัง ในกระแสพายุแรงยังมีแสงแห่งดวงไฟ ติดตามเรื่องราวและแรงบันดาลใจใน ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ เปิดปูมชีวิต ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ตอนที่ 1 - รากเหง้า  
(https://youtu.be/YGGM_7YwiaI) ตอนที่ 2 - เบ้าหลอม (https://youtu.be/NK6a0gE2DD0) ตอนที่ 3 - ตัวตน (https://youtu.be/jxv3JjqGtQk) ตอนที่ 4 - หลักการ (https://youtu.be/vJcQaYxQm3A)
 

‘รัฐบาลสิงคโปร์’ รับ!! ให้เงินหนุนจัดคอนเสิร์ต ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ แต่ปัดบอกยอดเงิน-ข้อตกลงพิเศษ เหตุเป็นความลับทางธุรกิจ

(21 ก.พ. 67) รัฐบาลสิงคโปร์ออกมายอมรับว่า ได้ให้เงินสนับสนุนเพื่อให้ใช้สิงคโปร์เป็นสถานที่ในการจัดคอนเสิร์ต The Eras Tour ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่กลายเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักร้องชื่อดังเปิดแสดง ขณะกำลังเดินสายแสดงคอนเสิร์ตทั่วโลก

ซึ่งด้าน กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่า ทางการได้ทำงานร่วมกับผู้จัดคอนเสิร์ตโดยตรง แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยถึงยอดเงินสนับสนุน และไม่ได้บอกว่าได้บรรลุข้อตกลงพิเศษหรือไม่ โดยระบุว่าเป็นความลับทางธุรกิจ

โดยการแถลงร่วมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมากล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สิงคโปร์ได้ทำข้อตกลงมูลค่าสูงถึง 500 ล้านบาท ให้สวิฟต์แสดงคอนเสิร์ต The Eras Tour ที่สิงคโปร์เพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อที่จะได้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะหลั่งไหลเข้ามา

แถลงการณ์ดังกล่าวอ้างไม่ได้พูดถึงคำกล่าวของผู้นำไทยโดยตรง แต่ระบุว่า การเดินทางมาจัดคอนเสิร์ตของสวิฟต์มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจบันเทิงรายหนึ่งซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อระบุว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการร้องขอข้อตกลงพิเศษ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติเช่นกันที่ศิลปินจะทำตามคำขอ พร้อมกับรับว่าผู้จัดรายใหญ่ย่อมมีอิทธิพลครอบงำค่อนข้างมาก นับตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 สิงคโปร์ดึงดูดศิลปินต่างชาติมากมายให้มาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศ รวมถึง Blackpink, Harry Styles, Ed Sheeran และ Coldplay

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศิลปินทั้งหมดนี้ก็เดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตในไทยด้วยเช่นกัน ยกเว้นเพียงสวิฟต์เท่านั้น

ขณะที่สวิฟต์จะเล่นคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาแห่งชาติของสิงคโปร์ทั้งหมด 6 รอบในต้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งบัตรขายเกลี้ยงทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะมีแฟนเพลงมาร่วมชมคอนเสิร์ตดังกล่าวมากกว่า 300,000 คน

หลังจากสิงคโปร์ สวิฟต์มีกำหนดจะเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตต่อในยุโรป ซึ่งคาดว่าเธอจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 72,000 ล้านบาท

เปิดอาคารรัฐสภาไทย ถกปัญหาความมั่นคง ‘เมียนมา’  น่ากังวลใจไหม? หากพลาดสะเทือนความสัมพันธ์ 2 ชาติ

ช่วงนี้ประเด็นข่าววัยหนุ่มสาวจากเมียนมาทยอยเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอพยพ สะพัดหนัก ภายหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร โดยชาวเมียนมาทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 18-27 ปีต้องถูกเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งหลังสงกรานต์จะเริ่มขั้นตอนการเกณฑ์ทหารโดยตั้งเป้าไว้ปีละ 5 หมื่นคนหรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 พันคน 

แน่นอนว่า พลันที่มีข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มมีแรงขานรับจากบรรดา NGO, นักวิชาการฝ่ายซ้าย และ สส.สายส้มในไทย ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการต้องบังคับสตรีมาเกณฑ์ทหารด้วย แม้ล่าสุดทาง โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC จะแถลงว่า แม้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน SAC ยังไม่มีแผนที่จะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร ก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไร

แต่ก็นั่นแหละ!! ข่าวสารที่ถูกตีฟองให้ก้องทั่ว และมีขั้วตรงข้างในประเทศต่าง ๆ รับลูกต่อเพื่อไปไล่บดขยี้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเมียนมาให้ล่ม มักไม่น่าสนใจเท่าทหารเมียนมาออกจากจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และรวมถึงมีการลงพื้นที่บอกกล่าวความจริงกับแนวทางของรัฐบาลทหารในหลายเรื่อง แต่อย่างใด

จริง ๆ เรื่องราวตลอด 3 ปีของเมียนมา ถูกเขย่าให้เห็นภาพของความรุนแรง เผด็จการ กดขี่ จากสื่อฝั่งตะวันตกเสมอมา ไม่ต่างกันกับประเทศไทย เพียงแต่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘อำนาจ’ ที่อยู่ในมือคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพังพินาศแต่อย่างใด แต่กลับมีความเจริญรุดหน้ามากกว่าใครได้อย่างประจักษ์ 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่คนในเมียนมาโดยตรง จะไปชี้วัดว่าอะไรดี หรือไม่ดี ก็ไม่ใช่สิทธิที่ควรไปตัดสิน และไม่ควรไปยุ่มย่ามด้วย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการไหน!! หรือ หาวิธีการมาวิจารณ์บนเวทีสัมมนา-เสวนา ไม่ว่าจะวงย่อยหรือวงใหญ่ใด เราต้องไม่พยายามดัดจริตอยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศเพื่อนบ้านว่าควรไปในทิศทางนั้นหรือทิศทางนี้ 

เพราะทุก ๆ การถกเถียงเชิงวิจารณ์แบบสนุกปาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘เนื้อใน’ ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร มันอาจไปสะเทือนความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเอาได้ง่าย ๆ

ล่าสุด ได้ไปเจอโปรโมตประชาสัมพันธ์งานสัมมนางานหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ หรือถ้าจะแปลกันคร่าว ๆ ก็ 3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยเมียนมาและผลกระทบ ว่าด้วยความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย นั่นแล!!

ทว่า แว่บแรก!! ที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากรในงาน ก็พอเดาได้ว่า นี่มันเวทีแซะเพื่อนบ้านตามสไตล์อีเวนต์ที่อ้างอิงถึงการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะจัดกันในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 … แต่ๆๆ มาสะดุดเล็ก ๆ ตรงงานนี้ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการไทยด้วยนี่สิ!!

ทันทีที่งานนี้มีการแพร่กระจาย ก็พลันทำให้ผู้ใหญ่ในเมียนมาที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากร ก็เกิดความรู้สึกกังวลใจในระดับที่มีการส่งข้อความมาหาผู้ใหญ่ในเมืองไทยว่า “I worry will potentially hurt Thai / Myanmar relations.”

อะไรกัน!! กะอีแค่การระดมความคิดผู้คนเพื่อพูดคุยถึงมิติประชาธิปไตยและผลกระทบชายแดนในเมียนมาในเชิงสร้างสรรค์ มันจะไปสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรขนาดนั้น!!

อยากให้ลองนึกภาพตาม!! งานที่จัดขึ้นที่รัฐสภา หรือสถานที่สำคัญของประเทศ หากเป็นการพูดคุยกันระหว่างคนของ ประเทศ กับ ประเทศ หรือ รัฐบาล กับ รัฐบาล หรือ รัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการเจรจาพูดคุยและหารือกันในเชิงความร่วมมือได้อย่างแท้จริง

แต่หากสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มีการดึงเอาทั้งนักวิชาการอิสระทั้งนอกและในประเทศ รวมไปถึงนักการเมืองที่เรียกว่ามีชื่อชั้นต่อต้านเรื่องของเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม / กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม อีกทั้งยังมีสำนักข่าวอย่าง มิซซิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยเพื่อพม่า และสำนักข่าว The Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่มีการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง แถมพ่วงด้วยสื่อไทยอย่าง The Reporters อีกหัว มาร่วมเสวนาในหัวข้อในงานนี้ด้วยนั้น…

คงไม่น่าจะต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้ง ก็คงเดาออกได้ถึงบทสนทนาและเนื้อความที่จะหลุดรอดออกมาได้ไม่ยาก

- ประชาธิปไตย จะเบ่งบานได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลทหาร?
- การยึดอำนาจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมาถูกประชาคมโลกมองแบบไหน?
- ปัญหาชนกลุ่มน้อย (เชิงตื้นเขิน) ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียม?
- และที่สำคัญ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ ‘นายพล มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่เข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
- ฯลฯ

ประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชัดเจนในเรื่องของการไปก้าวก่ายกิจการภายในประเทศต่าง โดยไทยมักจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปยุ่มย่ามกับการบริหารจัดการของประเทศใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ และนั่นก็ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและระดับโลก

แต่หากใครที่ไม่ได้มีบทบาทต่อการรับผิดชอบผลดีผลเสียของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสะเทือนในสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วพอพูดจบก็สะบัดก้นหนี โยนขี้ให้ภาครัฐ และหน่วยความมั่นคงไปรับหน้าต่อ คงมิใช่เรื่องดีเป็นแน่ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดูอย่างเมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ก็น่าจะรู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรกับไทย เมื่ออยู่ ๆ ก็มีภาพการจัด ‘คอนเสิร์ตต้าน มิน อ่อง หล่าย’ ที่สมุทรปราการ เพื่อระดมทุนกลับเมียนมา จากกลุ่มที่ชื่อว่า GenerationZ ที่มีผู้ติดตามทางเพจกว่าครึ่งแสน คาดว่าเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งในเพจนี้มีเนื้อหาระดมกำลัง มีอาวุธสงคราม และเป็นกองกำลังต่อต้าน พลเอก มิน อ่อง หล่าย ด้วย โดยในบริเวณจัดงาน มีการเก็บค่าผ่านประตู คนละ 299 บาท และมีการตะโกนชื่อ มิน อ่อง หล่าย เสียงดังกึกก้อง แต่ยังดีที่เรื่องนี้ ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้เข้าระงับเหตุทันก่อนคอนเสิร์ตจะเล่น ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องปรบมือให้

ดังนั้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ที่ อาคารรัฐสภา กับงาน ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีวิทยากรที่มาจากคนในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนรวมอยู่ด้วยนั้น คงรู้ตัวดีว่างานนี้จะให้อะไรกับประเทศไทยและเมียนมา

จะสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านจริงตามที่กล่าวอ้างว่ามาร่วมกันหาทางออก หรือ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เมียนมา’ 

เตือนไว้ ไม่ได้ขัดขวาง!! แต่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อม ๆ ไปกับศึกในประเทศ จากผู้หมายมั่นที่จะทำให้ประเทศไทย ลุกเป็นไฟ? ก็เชิญ!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top