Monday, 19 May 2025
ค้นหา พบ 48194 ที่เกี่ยวข้อง

18 มิถุนายน พ.ศ. 2455 เรือรบหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประจำการในกองทัพเรือ สมัย ร.6

วันนี้ เมื่อ 111 ปีก่อน เรือรบหลวงเสือคำรณสินธุ์ (H.T.M.S. Sua Khamronsin) ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือในสมัย รัชกาลที่ 6 เป็นเรือรบระดับเรือพิฆาต ที่ต่อจากอู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

18 มิถุนายน พ.ศ. 2455 เรือรบหลวงเสือคำรณสินธุ์ (H.T.M.S. Sua Khamronsin) ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือในสมัย รัชกาลที่ 6 เป็นเรือรบระดับเรือพิฆาตที่ต่อจากอู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น และเป็นเรือลำแรกที่ทหารเรือไทยขับเรือแล่นมาจากญี่ปุ่น ร.ล. เสือคำรณสินธุ์มีระวางขับน้ำ 375 ตัน ยาว 75.66 เมตร กว้าง 7.15 เมตร กินน้ำลึก 2 เมตร ติดตั้งอาวุธปืนกล 57 มม. 5กระบอก ปืนกล 36 มม. 1 กระบอก และท่อยิงตอร์ปิโด 45 มม. 2 ท่อยิง ใช้เครื่องยนต์กังหันไอน้ำ (เคอร์ติส) จำนวน 2 เครื่อง มีกำลัง 6,000 แรงม้า มีกำลังพลประจำเรือ 73 นาย

ความเป็นมาของ เรือรบหลวงเสือคำรณสินธุ์ สืบเนื่องจากโครงการจัดหาเรือรบ ซึ่งกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) เสนาธิการทหารเรือทรงทำขึ้นถวาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (พระอิสริยยศขณะนั้น) ผู้บัญชาการทหารเรือ ในปี 2448 แต่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ไม่อาจสั่งสร้างเรือทั้งหมดที่ต้องการได้ การจัดหาในครั้งแรกได้แต่เพียงเรือพิฆาตตอร์ปิโด 'เสือทยานชล' 1 ลำ กับ เรือตอร์ปิโด 1,2,3, รวม 4 ลำ เท่านั้น 

จากนั้น 5 ปีต่อมา ผู้แทนของบริษัทอู่คาวาซากิ ได้เดินทางมากรุงเทพเพื่อเจรจากับ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต หลังจากนั้นได้ทรงต่อรองกับกรมหมื่นจันทบุรีนฤนาท เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติหลายครั้ง จนในที่สุดได้มีพระบรมราชานุญาตให้ 'จ่ายเงินค่าสรรพยุทธ' เพื่อสั่งสร้าง เรือพิฆาต ตอร์ปิโด อีก 1 ลำ หลังการรับมอบแล้วได้พระราชทาน ชื่อว่า 'เสือคำรณสินธุ์' เพื่อให้คู่กับเรือ 'เสือทยานชล' ที่ประจำการอยู่แล้ว

19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิดการเดินรถไฟ เส้นทางสายใต้ เป็นครั้งแรก

วันนี้ เมื่อ 120 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดการเดินรถไฟ ในเส้นทางสายใต้ เป็นครั้งแรก ระหว่างสถานีบางกอกน้อย - เพชรบุรี ระยะทาง 150.49 กิโลเมตร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง และขยายกิจการรถไฟ เพิ่มเติม โดยทรงมีพระราชดำริ ให้กระทรวงโยธาธิการ และกรมรถไฟ วางแผนงาน เพื่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.2441 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายนี้ เริ่มตั้งแต่ ปากคลองบางกอกน้อย ถึงเพชรบุรี เป็นทางกว้าง 1 เมตร ระยะทาง 150.49 กิโลเมตร แล้วเสร็จเปิดเดินรถได้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446

ดังปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 ร.ศ. 122 “ด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟจัดสร้างทางรถไฟหลวงตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยไปเมืองเพชรบุรีนั้น บัดนี้การสร้างทางรถไฟสายนี้สำเร็จตลอดถึงเมืองเพชรบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการเปิดรถไฟสายนี้ เพื่อให้มหาชนโดยสารไปได้สะดวกต่อไป….”

ในขณะเดียวกัน โรงซ่อมรถจักรธนบุรี หรือ ที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า 'โรงซ่อมรถไฟ สถานีรถไฟบางกอกน้อย' ก็ทำการสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2466 เช่นกัน ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2485 ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความจำเป็น โดยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะคือเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้ใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งบัญชาการในภูมิภาคนี้เพื่อโจมตีพม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยอาศัยรถไฟเป็นทางลำเลียงหลักของกองทัพ สถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการโจมตีของฝ่ายพันธมิตร และในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2485 ช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นเริ่มอ่อนกำลังลง สถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) ถูกทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องจนเสียหายอย่างย่อยยับ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2485 และเมื่อสงครามโลกยุติลง ตัวอาคารสถานีรถไฟธนบุรีได้รับการบูรณะใหม่จนแล้วเสร็จมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมในปี 2493

20 มิถุนายน พ.ศ. 2520  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มแปลนวนิยาย ‘นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ’

วันนี้ เมื่อ 46 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเริ่มแปลนวนิยายเรื่อง ‘นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ’ หรือ ‘A Man Called Intrepid’ ของ วิลเลียม สตีเวนสัน หน้าแรก 

'นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ' เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์แปลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแปลมาจากหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษ เรื่อง A Man Called Intrepid (ค.ศ. 1976) ของ วิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson) ซึ่งเป็นหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุดเล่มหนึ่งทั้งในยุโรปและอเมริกา พระองค์ทรงแปลหนังสือนี้ในเวลาที่ทรงไม่มีพระราชกรณียกิจ ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 จนถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นระยะเวลาราว 3 ปี 

โดยทรงใช้เวลาและพระราชวิริยะอุตสาหะแปลถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้อ่าน เนื้อหาใจความหลัก ของเรื่องจะเกี่ยวกับ “การทำดีโดยไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทน” อันเป็นหนึ่งในคำสอนที่ทรงสอนให้ประชาชน ชาวไทยยึดมั่นในการทำดี ดังพระบรมราโชวาทที่พระองค์ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็น ก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”

หนังสือพระราชนิพนธ์ นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2482-2488 ซึ่งมีเรื่องราวค่อนข้างละเอียดซับซ้อน เนื้อหาโดยย่อ เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับนายอินทร์ หรือ Intrepid ซึ่งมีความหมายว่า 'ผู้กล้าหาญ' อันเป็นชื่อรหัสของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน (Sir William Stephenson) หัวหน้าฝ่ายจารกรรมหรือหน่วยราชการลับของอังกฤษ นายอินทร์มีหน้าที่ล้วงความลับทางทหารของเยอรมนีเพื่อรายงานต่อ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และแฟรงคลิน ดี รูสเวลส์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมกันต่อต้านการขยายอำนาจของนาซี หรือกองทัพของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนี โดยมีนายอินทร์และผู้ร่วมในงานนี้เป็นตัวอย่างของผู้กล้าหาญที่ยอมอุทิศชีวิต เพื่อความถูกต้อง ยุติธรรม เสรีภาพ และสันติภาพ โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญใด ๆ

‘ชัยวุฒิ’ โพสต์ถึงลูก อยากให้เป็นเด็กดี และอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคม ได้อย่างมีความสุข

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความรู้สึกที่ได้เห็นลูกสาวฝาแฝดของตน ในชุดเครื่องแบบนักเรียนและมีรอยยิ้มน่ารักสดใสตามวัย โดยระบุว่า ...

มีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นลูกใส่ชุดนี้ อยากให้หนูเป็นเด็กดี มีความรู้และสามารถอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างมีความสุข

ปล.ปีนรั้วเข้าโรงเรียนผมไม่ห่วงครับ ผมห่วงเด็กปีนรั้วออกครับ

หลังจากที่ได้มีคนเห็นโพสต์ข้อความนี้แล้ว ก็ได้มีคอมเมนต์ตอบแบบน่ารักๆ ตามมาหลากหลายเช่น 

“เห็นด้วยครับ ลูกผมก็ชอบใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน เหมือนเพื่อนๆ ชีวิตวัยเรียนก็ปกติ มีความสุขดีครับ”

“เด็กน้อยของพ่อแม่น่ารักเสมอ”

“น่ารักที่สุดค่ะสาวน้อย”

“น่ารักจังเลย”

‘ปริญญา ฤกษ์หร่าย’ ว่าที่ ส.ส.กำแพงเพชร เดินหน้า  สานงานต่อในสภาฯเต็มที่ หวังยกระดับคุณภาพชีวิต ให้เกษตรกร

นายปริญญา ฤกษ์หร่าย ว่าที่ ส.ส.เขต 4 จ.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงปัญหาของประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชรที่ต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือยังคงเป็นเรื่องของน้ำ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตร ในการเดินหน้าประสานงานกับกรมชลประทาน และกรมเจ้าท่า เพื่อให้มีการซ่อมบำรุง ฝายกั้นแม่น้ำปิง( ฝายวังบัว)   ที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน เกิดการชำรุด และมีรอยร้าว จึงเป็นห่วง เรื่องของปริมาณน้ำที่อยู่ในช่วงฤดูมรสุม หากมีน้ำมาก  และอาจทำให้ฝายกั้นน้ำพังได้ ส่งผลกระทบต่อการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเชื่อว่าจะมีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการซ่อมบำรุงได้เร็วๆนี้

นายปริญญา กล่าวต่อถึงปัญหาที่ทำกินว่า ต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง ประสานกับหน่วยงาน เพื่อให้สามารถออกโฉนดในการถือครองกรรมสิทธิ์ ที่ดิน เหมือนจังหวัดอื่นๆ เพราะประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ ยังประกอบอาชีพทางการเกษตร ให้เป็นไปตามนโยบายของพรรค ต้องการให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ในที่ดินโดยโฉนดเป็นของตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

นายปริญญา ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ตนขอบคุณประชาชนในพื้นที่ทุกคนสำหรับทุกๆ คะแนนเสียง ทุกๆ ความไว้วางใจที่มอบให้ตนได้เข้าไปทำหน้าที่ตัวแทนในสภาอีก 1 สมัย ซึ่งตนจะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำการพัฒนามาสู่จังหวัดกำแพงเพชรบ้านของพวกเรา รวมถึงการแก้ไขปัญหาให้กับชาวกำแพงเพชรทุกคนด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top