Sunday, 11 May 2025
ค้นหา พบ 47997 ที่เกี่ยวข้อง

‘สกลธี’ เผย ‘สุวัฒน์ ม่วงศิริ’ ทิ้ง พลังประชารัฐ ยอมรับ!! กระทบฐานเสียง - เร่งหาผู้สมัครลงแทน

(22 มี.ค.66) นายสกลธี ภัททิยกุล หัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยอมรับว่า นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ ได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ แล้ว หลังจากเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครส.ส. กทม. ของพรรคไปก่อนหน้านี้ ซึ่งแจ้งกระชั้นชิดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เพราะตอนที่เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพลังประชารัฐทั้ง 33 คน ก็คิดว่าทุกคนลงตัวหมดแล้ว และเตรียมเข้าสู่กระบวนการไพรมารีของของพรรค และเตรียมไปสมัคร

“หลังการยุบสภาเปิดช่องให้ย้ายพรรค จึงคิดว่าได้มีการพูดจา หรือเจรจาโดยบางคนอาจได้รับเงื่อนไขที่ดีกว่า จึงตัดสินใจย้ายพรรค ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เสียดาย เพราะจะกระทบต่อฐานเสียง เนื่องจากเป็นพื้นที่เป้าหมาย และเห็นว่าควรจะบอกกันตั้งแต่เนิ่น ๆ การมาบอกกระชั้นชิดถึงแม้จะหาตัวคนใหม่มาแทนได้ แต่จะเหนื่อยหน่อย ซึ่งพรรคพลังประชารัฐกำลังพูดคุยเพื่อหาตัวว่าที่ผู้สมัครมาแทน โดยจะพิจารณาจากคนที่อยู่ในบัญชีสำรอง” นายสกลธี กล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่านายสุวัฒน์ น่าจะไปร่วมงานทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
 

‘จีน - รัสเซีย’ 2 มหาอำนาจกระชากหน้ากากโจร ชี้ โลกต้องได้รู้ ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ล้มแผนเจรจา ‘รัสเซีย - ยูเครน’

(22 มี.ค.66) Proactive PR : Strategy to win the game สองมหาอำนาจจับมือมั่นเพื่อกลยุทธ์ใช้สื่อกระชากหน้ากากโจร

หากใครได้ติดตามข่าวใหญ่สัปดาห์นี้เรื่องการเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย เรื่องความร่วมมือระหว่างทั้งสองมหาอำนาจในหลากมิติและหลายเรื่องที่จะทำให้ทั้งสองประเทศกระชับมิตรภาพให้แน่นแฟ้นมากขึ้น แต่ไฮไลท์สำคัญของการหารือคือ การเสนอแผนเจรจาสันติภาพและการหยุดยิงระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยจีนจะเป็นคนกลางในการเจรจา ภาพการสนทนาของผู้นำทั้งสองคนมีนัยสำคัญในเชิงบวก ทั้งสารัตถะในการเจรจา การจัดสถานที่ในการจัดเจรจาที่ให้เกียรติเสมอกันและดูถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน 

ตัดภาพไปอีกภาพอีกคนละทวีป เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายหลายระดับของสหรัฐอเมริกาได้แถลงข่าวในทำนองเดียวกันทุกส่วนว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของจีนในการเสนอแผนเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทุกหน่วยออกข่าวออกมาในเชิงกร้าวร้าว ไม่เห็นด้วย และจะไม่ยอมให้เกิดการเจรจาได้อย่างแน่นอน

ในมุมมองของการประชาสัมพันธ์ ตัวแสดงในเรื่องนี้มี 2 ฝั่ง

ฝั่งระเบียบโลกเก่า ที่มีอเมริกาเป็นคนสั่งซ้ายหันขวาหันมาตลอดหลายสิบปีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อีกฝั่งคือผู้ท้าทายที่จะกำหนดให้มีระเบียบโลกหลายขั้ว เพื่อความเสมอภาคและเพื่อความร่วมมือทางความมั่นคงและเศรษฐกิจการค้าที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและไม่อยู่ในความควบคุมจากระเบียบโลกขั้วเดียวแบบเดิม ๆ 

เฉพาะในกรณีของการทำข่าวในช่วงเวลาเดียวกันและประเด็นข่าวเดียวกันคือ #แผนเจรจาสันติภาพ

ทางฝ่ายรัสเซีย เป็นคู่กรณีโดยตรงกับยูเครน โดยมีจีนเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นเสนอตัวเป็นตัวกลางในการเสนอกรอบการเจรจาสันติภาพ ในขณะที่อีกฝ่ายนั้นคือ ยูเครนที่เป็นคู่กรณีโดยตรงในกรณีพิพาท โดยมีนาโต้หลายสิบชาติที่มีเขตแดนติดกันและร่วมทวีปยุโรปด้วยกันทำหน้าที่ให้การสนับสนุนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และเงินกู้ยืมเพื่อการสนับสนุน โดยมีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นผู้คุมเกม ที่ก่อนหน้าแสดงตัวอยู่เบื้องหลัง แต่จากกรณีนี้จำเป็นต้องมาแสดงเบื้องหน้าอย่างโจ่งแจ้งว่าเป็นหัวโจกตัวจริง ออกมาแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการเสนอแผนเจรจาสันติภาพโดยจีนเด็ดขาด จะเจรจาหรือไม่ฝ่ายที่จะต้องเป็นผู้กำหนดกติกาต่างๆ คือ อเมริกา (ที่ไม่ใช่เจ้าของดินแดน และไม่ใช่สมาชิกของทวีปยุโรปแต่อย่างใด)

ในมุมการออกข่าวให้สาธารณชนรับรู้และให้โลกได้คำนึงถึงว่า คู่กรณีตัวจริงฝ่ายหนึ่งที่พร้อมจะเปิดทางให้มีการเจรจาสันติภาพ กับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ไม่ใช่เจ้าของดินแดน และไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง แต่พยายามจะรับบทผู้นำในการเจรจา ในที่สุดก็ทำให้ทุกคนได้รับรู้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการทำสงครามกันคือ ผู้ที่ต้องการกุมอำนาจในการกำหนดทิศทางโลกแต่เพียงผู้เดียว

'ธนกร’ เผย งานเปิดตัวทีม ศก.รทสช. มีบิ๊กเนมร่วมทัพ พร้อมดันคนรุ่นใหม่-ผู้เชี่ยวชาญ ผนึกกำลังนำพรรคเดินหน้า

(22 มี.ค. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยถึงการเปิดตัวทีมเศรษฐกิจของพรรค รทสช. ในวันที่ 23 มี.ค.นี้ ว่า สำหรับงานที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มี.ค.นี้ มีบิ๊กเนมเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจแน่นอน แต่ตนไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในด้านเศรษฐกิจมีทีมคณะที่ปรึกษากว่า 20 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ ฉะนั้น จะมี 2 ส่วน บางคนเมื่อเข้าสู่วงการการเมือง อาจจะไม่อยากอยู่เบื้องหน้า จึงอยู่ช่วยบริหารอยู่เบื้องหลัง และอีกส่วนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจที่ต้องการมาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ ฉะนั้น พรุ่งนี้อาจจะมีการเปิดตัวทีมเศรษฐกิจของพรรค ที่มาจากหลายฝ่ายทั้งคนรุ่นใหม่ ผู้มีประสบการณ์ ผสมผสานกัน

บรรยากาศภายในพรรคที่มีผู้สนใจลงสมัคร ส.ส. ขณะนี้เป็นไปด้วยความคึกคักในทุกพื้นที่ โดยมีผู้สมัครจากทั่วประเทศทยอยเดินทางมาสมัครที่พรรค ตอนนี้กระแสความนิยมใน พล.อ.ประยุทธ์ที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้มีการขึ้นป้ายหาเสียง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ส่วนภาคอีสานและภาคเหนือ ถือว่ากำลังไปได้ดี

เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ปิดข่าว 'กัมมันตภาพรังสี' 1.4 ล้านลิตร รั่ว!! ปนเปื้อนในน้ำที่รัฐมินนิโซตา ตั้งแต่เดือน 11 ปี 2022

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางการรัฐมินนิโซตา รายงานเหตุน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีกว่า 4 แสนแกลลอน (1.4 ล้านลิตร) รั่วออกจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของบริษัท Xcel Energy ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมอนติเซลโล ในรัฐมินนิโซตา 

การรั่วไหลเกิดขึ้นภายในท่อส่งน้ำใต้ดินที่เชื่อมต่อระหว่าง 2 อาคาร หลังผ่านกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์และมีปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของไฮโดรเจน และ ทริเทียม ซึ่งน้ำกัมมันตรังสีที่รั่วไหลนี้มีปริมาณเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกกว่าครึ่งสระ 

แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว (2565) โดยบริษัท Xcel Energy ได้ทำรายงานส่งไปถึงรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 65 แต่ทว่ารัฐบาลกลางสหรัฐสั่งให้ปิดข่าวก่อนจนกว่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งชาวอเมริกันก็เพิ่งทราบข่าวการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีนี้เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เองผ่านสื่อของสหรัฐฯ

Xcel Energy มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในรัฐมินนิโซตาถึง 2 แห่ง ส่วนโรงงานที่มีปัญหา ตั้งอยู่ในเมืองมอนติเซลโลที่มีประชากรมากถึง 15,000 คน และอยู่ห่างจากเมือง มินนีแอโพลิส เมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐเพียง 40 ไมล์เท่านั้น แถมโรงงานยังตั้งอยู่บนต้นแม่น้ำมิสซิสสิปปี ที่ไหลผ่านด้านหลังโรงงานอีกด้วย ทำให้ชาวเมืองกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยิ่งหวาดวิตกที่ทราบว่าทางรัฐบาลกลางตั้งใจที่จะปิดข่าวไม่ให้สาธารณชนรับรู้ 

แต่ทางโรงไฟฟ้า Xcel ได้ให้เหตุผลว่าการที่ปกปิดข่าวการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้า Xcel เพราะน้ำที่รั่วไหลไม่ได้มีปริมาณมากจนถึงเกณฑ์ที่ต้องประกาศออกสื่อ 

นอกจากนี้ทางบริษัทยังทำงานร่วมกับ คณะกรรมการกำกับกิจการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการติดตามข้อมูล จัดเก็บน้ำที่รั่วซึมสู่ชั้นบาดาล แล้วนำมาแปรรูปกลับมาใช้ใหม่แล้ว โดยยืนยันว่าไม่มีรังสีปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต 

แต่เหตุที่ทำให้การรั่วไหลของน้ำกัมมันตรังสีกลายเป็นข่าว เนื่องจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐมินนิโซตา เคยเข้าไปสุ่มตรวจน้ำในบ่อน้ำแห่งหนึ่งของเมือง และพบสารทริเทียมปนเปื้อนอยู่ในบ่อน้ำ ซึ่งตอนนั้นทาง Xcel ยังไม่ได้แถลงข่าวเรื่องการรั่วไหลของน้ำเสียดังกล่าว หลังจากที่ปิดข้อมูลมานานกว่า 4 เดือน 

‘ศธ.’ สั่ง เฝ้าสังเกตอาการนักเรียน-ครู ในพื้นที่เสี่ยง หวั่น ‘สารซีเซียม-137’ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

(22 มี.ค. 66) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า  ได้เสนอแนะต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีเหตุการณ์ที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี และได้ตรวจพบสารปนเปื้อนชนิดเดียวกันนี้ไปอยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กในรูปแบบฝุ่นโลหะ โดยมีความเป็นห่วงอย่างมากและต้องการให้เกิดมาตราการที่เข้มงวด ชัดเจน และเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ การควบคุมสารกัมมันตรังสีจะต้องมีการตรวจเช็กอยู่ตลอดเวลา ต้องไม่มีการสูญหาย หรือกรณีที่เกิดสูญหายขึ้นมา ระหว่างทางต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหน สถานที่ไหน และบุคคลไหนเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงบ้าง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ขบวนการทำงานของภาครัฐไปมุ่งเน้นที่ปลายเหตุ เช่น ไปตรวจสอบซีเซียมยังไม่ฟุ้งกระจายในอากาศ ยังไม่พบปริมาณรังสีในคนงาน เป็นต้น

รวมไปถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้สารกัมมันตรังสี ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจตราสารกัมมันตรังสีที่ใช้ไม่ให้เกิดการสูญหาย และหากตรวจพบว่าสูญหาย ต้องมีมาตรการหรือแผนเผชิญเหตุ ว่าจะกระจายไปที่ไหน อย่างไร จากการเคลื่อนย้าย และต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน เพื่อให้เขาได้รู้เข้าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเปล่า เพราะคุณสมบัติของสารกัมมันตรังสี คือ มีครึ่งชีวิต (Half Life) ที่ยาวนานเป็นเวลา 30 ปี และอยู่ได้นับ 100 ปี เพราะฉะนั้น มีอันตรายมากหากไม่สามารถตรวจสอบได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ทุกคนไปมองที่ปลายเหตุหมด เพราะฉะนั้น ภาครัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตราการที่เข้มงวดไม่เฉพาะกรณีซีเซียม-137 แต่รวมถึงสารกัมมันตรังสีที่มีอันตรายทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ที่รับใบอนุญาตมา และวันนี้ที่ซีเซียม-137 สูญหายระหว่างทางจนไปถึงโรงหลอม ระหว่างทางไปตรงไหนบ้าง ต้องตรวจสอบให้หมด ไม่ใช่ไปดูแค่ปลายทางว่าพบแล้ว และยังไม่มีผู้ได้รับอันตราย ดังนั้นย้ำ ว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนต้องให้ความสำคัญกับต้นเหตุ และต้นตอให้มากที่สุด” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top