Sunday, 18 May 2025
ค้นหา พบ 48168 ที่เกี่ยวข้อง

พร้อมสู้ทุกเขต!! ‘ปชป.’ เปิดตัว ‘นายกฯ หนึ่ง’ ผู้สมัคร ส.ส.นครศรีฯ คนที่ 10 ดีกรีเด็กนอก ผลงานแน่น พร้อมนำเมืองคอนสู่เมืองมหานคร

(17 มี.ค. 66) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วยนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคฯ ร่วมกันต้อนรับและมอบบัตรสมาชิกพรรคฯ ตลอดชีพ ให้กับนายทรงศักดิ์ มุสิกอง หรือ ‘นายกหนึ่ง’ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 นครศรีธรรมราช (อำเภอเมือง, อำเภอพระพรหม) ซึ่งถือเป็นเขตเลือกตั้งสุดท้ายที่ทางพรรคฯ ได้มีการเปิดตัวในการสู้ศึกเลือกตั้ง

นายชัยชนะ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทั้งทางศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้วินิจฉัยคำนิยามคำว่า ‘ราษฎร’ ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ทำให้ จ.นครศรีธรรมราช ได้มี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 2 เขต เป็น 10 เขต เหมือนกับในอดีต ซึ่งทางพรรคฯ ก็ได้เร่งคัดเลือกบุคคลที่มีอุดมการณ์และความเหมาะสมที่จะมารับใช้ประชาชนในพื้นที่ จนได้ข้อสรุปว่าพรรคฯ จะส่ง นายทรงศักดิ์ เป็นผู้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในเขตที่เพิ่มขึ้นมา นั่นคือ เขต 2  ที่ประกอบด้วย อ.เมืองนครศรีธรรมราช 9 ตำบล 1 เขตเทศบาล และ อ.พระพรหม

ซึ่งก่อนหน้านี้ อ.พระพรหม เคยเป็นส่วนหนึ่งของ อ.เมือง และในปัจจุบัน อ.พระพรหม ถือเป็นอีก 1 พื้นที่ที่รองรับความเจริญของตัวเมืองนครศรีธรรมราช ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องส่งนักการเมืองที่มีประสบการณ์ และวิสัยทัศน์กว้างไกล อย่างนายทรงศักดิ์ มาลงสมัคร ส.ส.ในเขตนี้ เพื่อที่จะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และผลักดันให้เกิด เมืองมหานครใน จ.นครศรีธรรมราช ตามนโยบายของพรรคฯ ที่มุ่งหวังไว้ว่า จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงภายหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย 

เป็นรูปเป็นร่าง!! ไทยเดินหน้าฮับ EV เร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม หลังค่ายรถสัญชาติจีนยักษ์ใหญ่ เริ่มก่อสร้างโรงงานจริงจัง

(17 มี.ค.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เผยว่า ได้ผลักดันให้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมการผลิตยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท รวมทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ และสามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในอนาคตได้ ตามมติคณะกรรมการบีโอไอเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Roadmap 30@30) ที่มีเป้าหมายในปี 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด

ล่าสุด บีโอไอรายงานว่าผู้ผลิตรถ EV จากจีนสองค่าย ได้แก่ เนต้า (NETA) และบีวายดี (BYD) ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จ 1-2 ปีข้างหน้าโรงงานจะแล้วเสร็จ และยังมีค่ายรถจากจีนและยุโรปยื่นขอรับการสนับสนุนอีกหลายค่าย โดยรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนรถอีวีเพิ่มเติม หรือมาตรการ EV 3.5 ต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3 ที่จะหมดอายุภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวสู่ความเป็นฮับอีวีได้ไม่ยาก

ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของพี่น้องประชาชน นอกจากกระตุ้นธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เกิดการจ้างงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว เมื่อมีการผลิตที่มากขึ้นในไทย จะทำให้ราคาถูกลง ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและลดมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ได้ในระยะยาว

‘กลุ่มสตรี-อสม.น่าน’ ผุดไอเดีย ส่งอาหารให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันน้ำใจ เอื้ออาทรต่อกัน

‘น่าน’ ผุดไอเดียเจ๋ง ‘ไรเดอร์อิป้อ อิแม่’ ส่งข้าวส่งน้ำให้กลุ่มเปราะบาง

(17 มี.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.น่าน ว่า เทศบาลเมืองน่าน ริเริ่มโครงการ ‘ไรเดอร์ อิป้อ อิแม่’ นำโดยนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ทำการส่งข้าวส่งน้ำให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองน่าน โดยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานความร่วมมือไปยังสมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าบ้าน ผู้นำชุมชน กลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน และ อสม. ช่วยคัดกรองหาชาวบ้านกลุ่มเปราะบางที่มีความต้องการปัจจัยจำเป็นในการยังชีพโดยเฉพาะอาหารและน้ำดื่ม เบื้องต้นมีจำนวน 8 ราย จาก 6 ชุมชน

นายสุรพล กล่าวว่า เทศบาลเมืองน่านได้ริเริ่มโครงการ ‘ไรเดอร์ อิป้อ อิแม่’ ขึ้นเป็นครั้งแรก จากการสำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่เทศบาลเมืองน่าน พบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งยังต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอาหาร และปัจจัยในการดำรงชีพ โดยแหล่งงบประมาณมาจากการจัดทำผ้าป่าสามัคคีของกลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน นอกจากนี้กลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน ยังใช้เอกลักษณ์การสวมใส่ผ้าถุง หรือผ้าซิ่น และการฟ้อนล่องน่านประยุกต์ทำการแสดงเปิดรับบริจาคจากนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ณ ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านและงานอีเวนต์ต่าง ๆ เบื้องต้นระดมทุนได้ราว 100,000 บาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าวัตถุดิบปรุงอาหารได้ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ กลุ่มสตรีทั้ง 31 ชุมชน หมุนเวียนทำหน้าที่จิตอาสาประกอบอาหารจัดทำเป็นชุดอาหารกลางวัน เพื่อรอเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่าน มารับชุดอาหารดังกล่าวนำไปส่งให้ชาวบ้าน ที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวแบบ Food Delivery โดยเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 และมีแนวโน้มที่จะขยายการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือให้สังคมมีคุณภาพ สังคมแห่งการแบ่งปันและสังคมแห่งความเอื้ออาทร ตามนโยบาย “เมืองน่าน เมืองมงคล คนใจดี” ต่อไป

‘แพทย์’ ยก ‘วิจัยมะกัน’ เผยเด็กที่สูด PM 2.5 ทำโครงสร้างสมองเปลี่ยน ส่งผลต่อความฉลาด

วันที่ 17 มีนาคม 2566 ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และเลขานุการและกรรมการบริหารศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กผ่าน “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” อ้างถึงผลงานวิจัยเกี่ยวกับเอฟเฟกต์จากการสูดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ว่า เด็กสูด PM2.5 โครงสร้างสมองเปลี่ยนนะครับ

“โง่ลง เพราะ pm 2.5”

คนสูงวัยเจอ pm 2.5 เสี่ยงสมองเสื่อม และ stroke แล้ว เด็กเป็นอย่างไร
งานวิจัย ถึง pm 2.5 ใน อเมริกา ที่อยู่ในถิ่นที่อากาศไม่สู้ดีนัก พบว่า โครงสร้างสมองเปลี่ยนไป เลยทีเดียว การเปลี่ยนแปลง มันรวมถึงความหนาตัวของเซลล์ประสาทนึกคิด ที่มันบางลง ซึ่งเป็นตำแหน่งความฉลาดด้วย

อีกงานวิจัย ดูความจำ ความคิดเร็ว ก็พบว่าเปลี่ยนไป เช่นกัน
pm2.5 เพิ่มอัตราการทุพลภาพผู้สูงวัย
pm 2.5 ลดพัฒนาการสมองเด็ก

‘ศิรินันท์ รทสช.’ ชูนโยบาย ‘ทักษะแห่งโลกอนาคต’ สร้างทักษะ-โอกาสให้คนทำงาน ก้าวสู่ตลาดแรงงานโลก

(17 มี.ค.66) น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการเข้าร่วมงาน ‘CODING ERA Next Wave of Thailand’s Education หรือ ยุคโค้ดดิ้ง คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย’ ว่า จากการที่ตนคร่ำหวอดในวงการการศึกษามากกว่า 10 ปี ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสของพรรค และเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. ได้เตรียมผลักดันนโยบายด้าน Future Skill หรือทักษะแห่งอนาคต ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อเตรียมความพร้อม สร้างทักษะการทำงาน และอาชีพแห่งโลกอนาคต พร้อมสร้างบุคลากรที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก นำมาซึ่งรายได้ที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน 

ดังนั้นจึงทำให้มองย้อนไปว่า ตลาดงาน ต้องการใครไปทํางาน และงานอะไรที่ตอนนี้เป็นที่ต้องการ จนสร้างรายได้ที่สูงขึ้น โดยเห็นว่างานด้าน Coding, Robotic, รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ล้วนแต่เป็นงานที่ตลาดโลกต้องการในปัจจุบัน จึงต้องพัฒนาทักษะ Future Skill ให้คนไทยอย่างเร่งด่วน ให้มีทักษะด้านอาชีพที่ตลาดโลกต้องการ เมื่อมีความต้องการสูง ก็จะทำให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างและพัฒนาทักษะดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

น.ส.ศิรินันท์ กล่าวว่า แนวทางการสร้าง Future Skill สามารถทำได้ 3 แนวทาง คือ 

1. เพิ่ม Future Skill ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน ประสานกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าเพิ่มหลักสูตร ชุดความรู้ Future Skill และทักษะต่าง ๆ ซึ่งหลักสูตรพวกนี้ทำให้เยาวชน หรือคนที่เรียนสามารถนํามาต่อยอดหารายได้ในระหว่างที่เรียนไปพร้อม ๆ กันได้ 

2. Re-Skill ให้กับพนักงานบริษัท รวมถึงนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่และยังไม่มีงานทำ ได้เพิ่มทักษะใหม่ๆ และความเชี่ยวชาญให้กับตัวเองตามที่ตลาดโลกต้องการ โดยใช้หลักการประสานมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึง ภาค เอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาหลักสูตรกับทางรัฐบาล เพื่อให้ได้หลักสูตรการ Re-Skill ที่เหมาะสมและทำได้จริง 

3. ตั้ง ‘สถาบันส่งเสริมทักษะแห่งโลกอนาคต’ รัฐบาลสามารถตั้งสถาบันแห่งการฝึกทักษะแห่งโลกอนาคต ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการจัดทําหลักสูตร เพื่อให้เยาวชน และประชาชน สามารถเข้าเรียนได้ โดยทางสถาบันยังเป็นตัวกลางในการประสานกับผู้ประกอบการ เพื่อรับรองว่าหลังจากจบหลักสูตรจะมีงานรองรับทันที รวมทั้งยังสามารถส่งออกแรงงานในทักษะที่ตลาดงานต้องการอีกด้วย ก็จะช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจระดับมหภาคต่อไป 

“นอกจากนี้ในฐานะนักการเมืองสตรี เราควรเน้นเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล (digital literacy) ในกลุ่มสตรีด้วยค่ะ เพราะผู้หญิงมีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญ คือ บทบาทของความเป็น ‘แม่’ มีความใกล้ชิดกับลูก ถ้าเราส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลในกลุ่มผู้หญิงให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง คุณแม่ทุกท่านก็สามารถใช้ทักษะนี้สร้างอาชีพในขณะที่ต้องหยุดทำงานเพื่อเลี้ยงลูก และขณะเดียวกันก็สามารถสอนทักษะเหล่านี้ให้กับลูกๆ ในช่วงเวลาที่อยู่ที่บ้านได้ด้วยค่ะ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับความเท่าเทียมของเยาวชนหญิงและชาย ซึ่งนักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงแล้ว แต่ยังขาดความรู้ด้านดิจิทัลสำหรับการต่อยอดสู่โลกอนาคตค” น.ส.ศิรินันท์ กล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top