Monday, 7 July 2025
ค้นหา พบ 49254 ที่เกี่ยวข้อง

BOI อนุมัติ 3,893 ล้านบาท โครงการแบตเตอรี่ BYD เสริมแรงเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่อง 'รถยนต์อีวี' ในระยะยาว

(13 ม.ค. 66) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้แถลงข่าวที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยหลังจากการประชุมบอร์ด BOI ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 15,784 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ของบริษัท บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 3,893 ล้านบาท โครงการผลิต Carbon Black ของ บริษัท ไทยโตไกคาร์บอนโปรดักท์ จำกัด มูลค่า 9,490 ล้านบาท และโครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 2,401 ล้านบาท

“โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของบีโอไอ และจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว ทั้งในด้านการสร้างฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ และโครงการที่นำขยะชุมชนมาผ่านการคัดแยกและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง เพื่อนำไปใช้ในโรงปูนซิเมนต์และโรงไฟฟ้าแทนการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน” นายนฤตม์ กล่าว

‘เพื่อไทย’ ให้การต้อนรับคณะทำงาน พรรคคอมมิวนิสต์จีน เผย พร้อมร่วมมือผลักดันทุกนโยบาย เพื่อปชช. ทั้ง 2 ประเทศ

(13 ม.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้แทนพรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และนางนลินี ทวีสิน ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ และวิเทศสัมพันธ์ ให้การต้อนรับการมาเยือนของคณะจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดยนายเฉิน โจว รัฐมนตรีช่วยกระทรวงวิเทศสัมพันธ์แห่งคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนและคณะ 

นายเฉิน โจว กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเข้าเยี่ยมคารวะในครั้งนี้ เพื่อนำคณะมาเพื่อกระชับความสัมพันธ์จีน-ไทย พร้อมชี้แจงแนวทางการนำพาจีนของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ที่ประกาศไว้ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งชาติครั้งที่ 20 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 16 ต.ค.65 ซึ่งถือว่าเป็นวาระสำคัญที่ท่านสี จิ้น ผิง ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้นำสูงสุดของจีนต่อเนื่องเป็นวาระที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจีนอยู่ในตำแหน่งเกิน 2 วาระ ระยะเวลา 10 ปี ซึ่งต้องการเน้นย้ำการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งสยาม

วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปีคือ ‘วันเด็ก’ แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันสุขของเด็กๆ ที่จะได้สัมผัส รถถัง เครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ เก้าอี้นายกฯ เก้าอี้ผู้ว่า ฯลฯ คือเรียกว่าได้ฝันเป็นอาชีพนั้นๆ อย่างมีความสุข พอนึกถึงมุมนี้ ก็มีอีกมุมหนึ่งที่ผมได้รำลึกถึงคือ เจ้านายที่เป็นยุวชน ซึ่งวัยเด็กของพระองค์คือการเรียนรู้เพื่อปกครองบ้านเมือง เป็นยุวชนที่มีมุมมองของขัตติยะ แม้ในท้ายที่สุดพระองค์จะมิได้ขึ้นครองราชย์เนื่องจากทรงสวรรคตไปเสียก่อน

‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งสยาม คือเจ้านายพระองค์นั้น พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 โดยพระนาม ‘มหาวชิรุณหิศ’ แปลว่า ‘มงกุฎเพชรใหญ่’ ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษได้ว่า ‘Crown Prince’ คือ ‘พระราชสมภพมาเพื่อสวมมงกุฎ’ 

ภายหลังการเสด็จทิวงคตของ ‘กรมพระราชวังบวรวิเศษไชยชาญ’ เมื่อ พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และทรงสถาปนาตำแหน่ง ‘สยามมกุฎราชกุมาร’ เพื่อเป็นองค์รัชทายาทแทน โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน ส่วนพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’ ซึ่งเรียกว่า ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2430 พระชนมายุ 9 พรรษา 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ ให้ ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช’ เป็นอธิบดีอำนวยการพระราชพิธีมหาพิชัยมงคลสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ การพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นการพิธีพิเศษใหญ่ยิ่ง สมควรจะมีการเฉลิมพระเกียรติยศต่อการพระราชพิธีให้สมควรแก่กาลสมัยด้วย 

สมเด็จฯ กรมพระภาณุพันธุวรเดชได้ทรงคิดให้มีการเลียบพระนคร เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ออกประทับพลับพลาหน้าท้องสนามไชย พระราชทานเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธี การแห่เรือกระบวนพยุหยาตราในท้องน้ำ แล้วแข่งเรือคล้ายกับพระราชพิธีกาศวยุช

พระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ทำแพลงสรง เครื่องประดับพระมณฑปและเครื่องพิธีต่างๆ ทั้งยังให้ซ่อมแซมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทสำหรับตั้งการพระราชพิธี รวมทั้งตกแต่งซ่อมแซมเรือกระบวน เครื่องต้นสำหรับทรงแห่สมโภช และให้มีศุภอักษร ท้องตราถึงหัวเมืองประเทศราช เมือง เอก โท ตรี จัตวา ให้ทราบการกำหนดพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระให้ทราบการกำหนดพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธยครั้งนี้ โดยมีพระราชพิธีรวมทั้งสิ้นถึง 9 วัน

เมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระชนมายุครบ 13 พรรษา ในปี พ.ศ. 2433ได้มีพระราชพิธีโสกันต์อย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 8 วัน ก่อนที่ในปีเดียวกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2434 โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศ วริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนถึงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2434 จึงลาผนวช

พระองค์เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น เสด็จฯ ออกรับฎีกาที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย / เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีและพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีเผด็จศกมหาสงกรานต์ / การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก / การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันคล้ายวันประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว / การเชิญพระอัฐิกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) / ทำบุญสดับปกรณ์ / การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา

ต่อมาเมื่อได้สถาปนาพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ นอกจากจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจดังเดิมเหมือนเมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระลูกยาเธอแล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินติดตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองเยี่ยมเยือนทุกข์สุขราษฎร รวมถึงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เช่น เสด็จฯ ออกรับอาร์ชดยุกลิโวโปลด์แห่งออสเตรียและคณะ พร้อมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี / ทรงเป็นสภานายกกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณ / เสด็จ ฯ พระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนโรงเรียนสุนันทาลัย (เพียบเลย) 

และเมื่อ พระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดการทหารบก ทหารเรือ ให้เรียบร้อยเป็นระเบียบแบบแผน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการทั่วไป ซึ่งตรงกับตำแหน่งภาษาอังกฤษว่า ‘คอมมานเดออินชิฟ’ โดยให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รับตำแหน่ง แต่โดยที่ทรงเห็นว่ายังทรงพระเยาว์ จึงให้ตราพระราชบัญญัติตั้งกรมทหารควบคู่ไว้ด้วยเพื่อช่วยการจัดระเบียบให้เป็นแบบแผนเดียวกัน

16 มกราคม ของทุกปี เป็น ‘วันครูแห่งชาติ’ น้อมรำลึกพระคุณ ‘แม่พิมพ์ของชาติ’

วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันครูแห่งชาติ’ รำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ ผู้ที่ได้ชื่อว่า แม่พิมพ์ของชาติ

'วันครู' ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 หลังจากพระราชบัญญัติครูประกาศใช้ 12 ปี โดยสถานที่จัดงานวันครั้งแรกเกิดขึ้นในจังหวัดพระนคร และธนบุรี ที่กรีฑาสถานแห่งชาติ

จุดเริ่มต้นของการมีวันครู มาจากการเรียกร้องของครูจำนวนมาก ซึ่งความเห็นของครูที่แสดงออกมาทั้งพยายามที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญของครูและอาชีพครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก จึงควรที่จะมีวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู เปิดโอกาสให้ครูทั้งหลายได้พักผ่อนบำเพ็ญกุศลและตลอดจนดำรงกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของครูและการศึกษาของชาติตามสมควร

จากความต้องการและการเรียกร้องของครูดังกล่าว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้นำเสนอในที่ประชุมผู้แทนคณะครูทั่วประเทศในคราวประชุมวิสามัญของคุรุสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2499 ที่ประชุมสามัญของคุรุสภามีมติเห็นชอบและให้เสนอคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาพิจารณา เพื่อกำหนดให้มีวันครูขึ้น

นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง!! รู้จัก ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ หัวหน้าคณะวิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร หัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนา โครงการ ‘มณีแดง’

สวัสดีนักอ่านที่น่ารักทุกท่าน ใครที่ติดตามเรื่องเล่าของผมเป็นประจำก็จะรู้ว่าหลายครั้งหลายคราผมได้หยิบยกเหตุการณ์ในอดีต หรือแม้แต่บุคคลที่สร้างวีรกรรมต่าง ๆ ในอดีตมาเขียนเล่าเรื่องให้ทุกท่านได้อ่านกัน และส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องหรือบุคคลในต่างประเทศ

พอมานั่งตรึกตรองดูแล้ว ผมอยากจะเล่าเรื่องของคนไทยบ้าง และอยากเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันให้มากขึ้น หันซ้ายหันขวาผมก็เจอเรื่องและบุคคลที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ หัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนา โครงการ ‘มณีแดง’ 

สำหรับใครที่ตามข่าวแนว ๆ วิทยาศาสตร์ก็อาจจะเคยได้ยินชื่อ ‘มณีแดง’ กันมาบ้าง และคงตาลุกวาวเมื่อรู้ว่า ‘มณีแดง’ เปรียบดังยาอายุวัฒนะ

ก่อนจะอธิบายว่าทำไม ‘มณีแดง’ เปรียบดังยาอายุวัฒนะ นั้น ผมขอแนะนำประวัติคร่าว ๆ ของ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ ผู้ค้นพบและวิจัยมณีแดงก่อนนะครับ

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย อาจารย์ประจำ และอดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ผู้เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์ มีผลงานวิจัยดีเด่นทางด้านการศึกษาการอณูพันธุศาสตร์โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก และสภาวะเหนือพันธุกรรม (Epigenetic) ที่เป็นกลไกสำคัญในการเกิดโรคในมนุษย์ ได้แก่ มะเร็ง โรค autoimmune และโรคชรา

ที่สำคัญ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’ หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules) และนอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่สำคัญ เช่น

๑. การค้นพบ DNA ของไวรัสเอพสไตน์บาร์ (Epstein Barr virus, EBV) ในน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก ในปัจจุบันใช้การวัดปริมาณ EBV ของ DNA ในน้ำเหลืองเพื่อติดตามผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก

๒. ศึกษาสภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำเพื่อควบคุมการทำงานของยีนและปกป้องจีโนมของเซลล์ (2-8) ทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการป้องกัน ตรวจกรองวินิจฉัยและรักษา มะเร็งและความชราในอนาคต

๓. ศึกษาสภาวะเหนือพันธุกรรมของยีนที่จำเพราะกับชนิดเนื้อเยื่อหรือชนิดการติดเชื้อไวรัส (9-13) ทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการตรวจกรองและวินิจฉัยมะเร็งในอนาคต

๔. ค้นพบรอยฉีกขาดของ DNA ที่ดี (14-17) ที่อาจมีประโยชน์ป้องกันความไม่เสถียรของจีโนม ความชราและมะเร็ง น่าจะทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการป้องกันการเกิดมะเร็งและความชราในอนาคต

อ่านเพียงเท่านี้ ก็ต้องยกนิ้วโป้งให้ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ เลยทีเดียว เพราะผลงานที่ศึกษานั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก นอกจากผลงานที่ยกมาบอกเล่าข้างต้นแล้ว ผลงานที่เด่นและเป็นที่สนใจของคนในสังคมมากก็คือ การวิจัย ‘มณีแดง’ ที่คนเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนยาชะลอวัย นั่นเอง

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า การวิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’ ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สกว. สวทช. และ วช. สำหรับทีมวิจัยฯ นอกจากบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว มีรายนามคณะนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :

๑. ผศ.ดร. จิรพรรณ  ทองสร้อย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ศึกษาการตรวจวัด รอยแยกของ DNA
๒. ศาสตราจารย์ ดร. นพ. นิพนธ์ ฉัตรธิพากร และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สถานที่และคำแนะนำในเรื่องการย้อนวัยของหนูชรา
๓. บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเลี้ยงและวิเคราะห์หมู
๔. อาจารย์ ดร. สรวงสุดา สุภาสัย ภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาหนูพาร์กินสัน และหนู อัลไซเมอร์
๕. ผศ.ดร.สุกัญญา เจริญพร และคณะ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาลิงแสม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะผู้วิจัยได้รายงานการค้นพบ DNA ของเชื้อไวรัสเอพสไตน์บาร์ (Epstein Barr virus, EBV) หรือ EBVDNA ในน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก การค้นพบนี้ทำให้เกิดการพัฒนาการตรวจติดตามผลการรักษา โดยที่ EBVDNA จะหายหมดไปหากไม่มีเนื้อมะเร็งโพรงหลังจมูกหลงเหลือ และหากพบมี EBVDNA ในน้ำเหลืองแสดงว่ามีการกลับเป็นซ้ำเกิดขึ้น ในปัจจุบัน แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูกประมาณ ๖ แสนคนทั่วโลก ได้ประโยชน์จากการตรวจหา EBVDNA ในน้ำเหลือง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะผู้วิจัยเริ่มรายงานค้นพบการเปลี่ยนแปลงสภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำในเซลล์มะเร็ง ในผู้ชรา และในโรคอื่น ๆ เช่น กระดูกผุ โรค SLE หรือรู้จักกันในชื่อโรคพุ่มพวง การศึกษาต่อเนื่องทำให้รู้กลไกและบทบาทที่ส่งผลต่อการเกิดพยาธิสภาพของโรค ทั้งจาก ความไม่เสถียรของจีโนมและการแสดงออกของยีนที่เปลี่ยนไป ในปัจจุบันคณะผู้วิจัย กำลังศึกษาวิธีการที่จะนำความรู้เกี่ยวกับ สภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำ มาพัฒนาเป็นยารักษามะเร็ง ป้องกันความพิการจากความชรา และการตรวจกรองมะเร็งที่พบบ่อย นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังเป็นผู้ค้นพบสภาวะเหนือพันธุกรรมของยีนที่จำเพราะกับชนิดเนื้อเยื่อหรือชนิดการติดเชื้อไวรัส และกำลังกำลังศึกษาวิธีการที่จะนำความรู้นี้ไปใช้วินิจฉัยและการตรวจกรองมะเร็งในอนาคต

ส่วนผลงานวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะผู้วิจัยรายงานการค้นพบรอยฉีกขาดของ DNA ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน รอยฉีกขาดของ DNA ที่รู้จักกันจะทำให้เซลล์ตายหรือกลายพันธุ์ แต่รอยฉีกขาดที่ค้นพบกลับน่าจะมีประโยชน์ต่อเซลล์ทำให้จีโนมเสถียร ไม่แก่และไม่เป็นมะเร็ง เป็นการค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราบริเวณรอยแยก (youth-DNA-gap) ตรงจุดที่มี DNA แมดทิเลชัน (DNA methylation) ดังนั้นการเข้าใจกลไกการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลที่รอยฉีกขาดนี้อาจนำไปสู่การป้องกันการแก่และมะเร็งในอนาคต 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top