สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งสยาม

วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปีคือ ‘วันเด็ก’ แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันสุขของเด็กๆ ที่จะได้สัมผัส รถถัง เครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ เก้าอี้นายกฯ เก้าอี้ผู้ว่า ฯลฯ คือเรียกว่าได้ฝันเป็นอาชีพนั้นๆ อย่างมีความสุข พอนึกถึงมุมนี้ ก็มีอีกมุมหนึ่งที่ผมได้รำลึกถึงคือ เจ้านายที่เป็นยุวชน ซึ่งวัยเด็กของพระองค์คือการเรียนรู้เพื่อปกครองบ้านเมือง เป็นยุวชนที่มีมุมมองของขัตติยะ แม้ในท้ายที่สุดพระองค์จะมิได้ขึ้นครองราชย์เนื่องจากทรงสวรรคตไปเสียก่อน

‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งสยาม คือเจ้านายพระองค์นั้น พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 โดยพระนาม ‘มหาวชิรุณหิศ’ แปลว่า ‘มงกุฎเพชรใหญ่’ ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษได้ว่า ‘Crown Prince’ คือ ‘พระราชสมภพมาเพื่อสวมมงกุฎ’ 

ภายหลังการเสด็จทิวงคตของ ‘กรมพระราชวังบวรวิเศษไชยชาญ’ เมื่อ พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และทรงสถาปนาตำแหน่ง ‘สยามมกุฎราชกุมาร’ เพื่อเป็นองค์รัชทายาทแทน โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน ส่วนพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’ ซึ่งเรียกว่า ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2430 พระชนมายุ 9 พรรษา 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ ให้ ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช’ เป็นอธิบดีอำนวยการพระราชพิธีมหาพิชัยมงคลสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ การพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นการพิธีพิเศษใหญ่ยิ่ง สมควรจะมีการเฉลิมพระเกียรติยศต่อการพระราชพิธีให้สมควรแก่กาลสมัยด้วย 

สมเด็จฯ กรมพระภาณุพันธุวรเดชได้ทรงคิดให้มีการเลียบพระนคร เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ออกประทับพลับพลาหน้าท้องสนามไชย พระราชทานเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธี การแห่เรือกระบวนพยุหยาตราในท้องน้ำ แล้วแข่งเรือคล้ายกับพระราชพิธีกาศวยุช

พระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ทำแพลงสรง เครื่องประดับพระมณฑปและเครื่องพิธีต่างๆ ทั้งยังให้ซ่อมแซมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทสำหรับตั้งการพระราชพิธี รวมทั้งตกแต่งซ่อมแซมเรือกระบวน เครื่องต้นสำหรับทรงแห่สมโภช และให้มีศุภอักษร ท้องตราถึงหัวเมืองประเทศราช เมือง เอก โท ตรี จัตวา ให้ทราบการกำหนดพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระให้ทราบการกำหนดพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธยครั้งนี้ โดยมีพระราชพิธีรวมทั้งสิ้นถึง 9 วัน

เมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระชนมายุครบ 13 พรรษา ในปี พ.ศ. 2433ได้มีพระราชพิธีโสกันต์อย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 8 วัน ก่อนที่ในปีเดียวกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2434 โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศ วริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนถึงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2434 จึงลาผนวช

พระองค์เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น เสด็จฯ ออกรับฎีกาที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย / เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีและพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีเผด็จศกมหาสงกรานต์ / การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก / การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันคล้ายวันประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว / การเชิญพระอัฐิกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) / ทำบุญสดับปกรณ์ / การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา

ต่อมาเมื่อได้สถาปนาพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ นอกจากจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจดังเดิมเหมือนเมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระลูกยาเธอแล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินติดตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองเยี่ยมเยือนทุกข์สุขราษฎร รวมถึงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เช่น เสด็จฯ ออกรับอาร์ชดยุกลิโวโปลด์แห่งออสเตรียและคณะ พร้อมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี / ทรงเป็นสภานายกกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณ / เสด็จ ฯ พระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนโรงเรียนสุนันทาลัย (เพียบเลย) 

และเมื่อ พระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดการทหารบก ทหารเรือ ให้เรียบร้อยเป็นระเบียบแบบแผน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการทั่วไป ซึ่งตรงกับตำแหน่งภาษาอังกฤษว่า ‘คอมมานเดออินชิฟ’ โดยให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รับตำแหน่ง แต่โดยที่ทรงเห็นว่ายังทรงพระเยาว์ จึงให้ตราพระราชบัญญัติตั้งกรมทหารควบคู่ไว้ด้วยเพื่อช่วยการจัดระเบียบให้เป็นแบบแผนเดียวกัน

ด้วยเหตุที่เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ผู้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยและได้ประกอบพระราชกรณียกิจไม่ห่างเบื้องพระยุคลบาทสนิทเสน่หากับพระราชบิดาอย่างยิ่ง จนในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชนิพนธ์ลงหนังสือพิมพ์วชิรญาณความว่า…

รักใครจะรักแม้น ชนกนารถ        รักบ่ออยากจะคลาศ สักน้อย
รักใดจะมิอาจ เทียมเท่า ท่านนา        รักยิ่งมิอยากคล้อย นิราศแคล้วสักวัน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคต ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2437 โดยพระชนมายุเพียง 16 พรรษา 6 เดือน 7 วัน จึงสร้างความทุกข์โทมนัสแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระราชมารดาเป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาความว่า…

“...ลูกชายอันเป็นที่รักยิ่ง เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร อันฉันได้ตั้งใจประคับประคองป้องกันทำนุบำรุงมาโดยลำดับ จนถึงได้ตั้งแต่งไว้ในที่สำคัญเช่นนี้ มามีอันตรายโดยเร็วพลัน ให้ยังเกิดทุกข์โทมนัสอันแรงกล้า ในเวลาเมื่อกำลังที่จะเจริญด้วยไวยแลอายุ ทั้งความรู้ที่ได้เล่าเรียนอันเป็นที่มั่นหมายใจว่าคงจะเปนผู้ที่มีความรู้แลอัธยาไศรยสามารถอาจจะปกป้องวงษ์ตระกูลสืบไว้ การซึ่งได้คิดได้จัดเพื่อจะให้เปนความเจริญแก่ลูกอันเปนที่รัก กับทั้งหวังว่าจะให้เปนประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง โดยที่จะให้เปนผู้อุดหนุนแลป้องกันอันตราย มาลี้ลับดับไปโดยเร็วพลันเช่นนี้ จึ่งเปนที่ทุกข์ร้อนอันยิ่งใหญ่ ไม่สามารถที่จะพรรณาได้...”

ที่สำคัญรัชกาลที่ 5 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันพิเศษเพื่อเป็นการระลึกเฉพาะการพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการบำเพ็ญพระราชกุศลมฤตกวัตร อันเป็นการพระราชกุศลพิเศษต่อจากการบำเพ็ญพระราชกุศลในสมัยที่เสด็จสวรรคตล่วงมาบรรจบรอบ 100 วัน และยังแต่งพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพก่อนจะพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งเป็นการเฉพาะเพียงพระองค์เดียว ไม่มีใครเสมอเหมือน 

โดยประเทศไทยมีการสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รวม 3 พระองค์ คือ...

1. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สถาปนาเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงษ อุกฤษฐพงษวโรภโตสุชาติ ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2430 เมื่อพระชนมายุ 9 พรรษา

2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สถาปนาเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ต่อมาเสด็จสืบราชสันตติวงศ์เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ 

3. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สถาปนาเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2515 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ต่อมาเสด็จสืบราชสันตติวงศ์เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager