Thursday, 10 July 2025
ค้นหา พบ 49330 ที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกให้ปี 64 เป็นปีแห่งการเดินหน้ายกระดับภาษาอังกฤษ วางแผนให้ครูมีสมรรถนะความรู้ด้านภาษาอังกฤษ สอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลัก

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ว่า ในปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะยกให้เป็นปีแห่งการเดินหน้ายกระดับภาษาอังกฤษ ของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนสังกัด สพฐ. โดยในส่วนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้กำหนดกรอบสมรรถนะไว้ ว่า

ครูผู้สอนจะต้องมีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับ A และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานความรู้ภาษาอังกฤษจะต้องอยู่ในระดับ B ตามตัววัดมาตรฐานสากล หรือ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR)

โดยขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างการวางแผนให้ครูมีสมรรถนะความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้ารับการพัฒนาหลักสูตรผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีกระบวนการทดสอบสมรรถนะให้แก่ข้าราชการครู จากนั้นจะมีการไต่ระดับสมรรถนะด้านภาษา รวมถึงจะนำภาษาอังกฤษมากำหนดเป็นค่าคะแนนให้ครูใช้เลื่อนวิทยฐานะด้วย เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้านภาษาให้แก่ครูมากขึ้น ดังนั้นต่อไปนี้ครูทุกคนจะต้องมีทักษะภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น

"ส่วนตัวผู้เรียนจะเริ่มฝึกการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยด้วยการสื่อสารภาษาคำศัพท์ที่เข้าใจง่าย เพราะต้องยอมรับว่าโลกยุคนี้คงไม่สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้เพียงภาษาเดียวแล้ว ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษในโรงเรียนให้มากขึ้น ซึ่งผมจะกำหนดให้โรงเรียนขับเคลื่อนการสื่อสารภาษาอังกฤษในโรงเรียนอย่างเข้มข้น อีกทั้งครูผู้สอนจะต้องสอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลักด้วย"เลขาฯ กพฐ.กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/93107?fbclid=IwAR3G4kD5MLmbw6MfoLL7c7gpVk2vE11BM5rRq---tBTDjBgf1k-D61x5CoU

หนึ่งในตำนาน ‘ตำรวจไทย’ ที่มีชื่อเสียงในการปราบโจรร้าย รวมทั้งยังขึ้นชื่อได้เรื่องวิชาอาคม จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘จอมขมังเวทย์’ วันนี้เป็นวันครบรอบ 118 ปีของตำนานตำรวจไทย ‘ขุนพันธรักษ์ราชเดช’

จากหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ ขุนพันธรักษ์ราชเดช เดิมชื่อ บุตร พันธรักษ์ เป็นชาวนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจในช่วงปี พ.ศ.2468  ครั้นเมื่อออกมาปฏิบัติหน้าที่เป็นนายตำรวจ ก็ออกปราบโจรผู้ร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ จนมีชื่อเสียงและได้รับสมญานามมากมาย อาทิ นายพลตำรวจหนวดเขี้ยว, ขุนพันธ์ดาบแดง, รายอกะจิ(อัศวินพริกขี้หนู) หรือจอมขมังเวทย์

นอกจากความเด็ดเดี่ยว เก่งกล้า ลุยปราบโจรตั้งแต่เหนือจรดใต้ ขุนพันธ์ฯ ยังได้ชื่อว่า เป็นตำรวจที่มีวิชาอาคม เนื่องจากเคยร่ำเรียนและถูกถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ จากพระเกจิชื่อดัง ซึ่งจากหลายเรื่องเล่าปรัมปราก็ได้กล่าวขานกันว่า ขุนพันธ์เป็นมือปราบหนังเหนียว ยิงแทงไม่เข้า แต่นอกเหนือจากเรื่องราวอภินิหารย์เหล่านี้ สิ่งที่จับต้องได้ คือคุณงามความดีที่เจ้าตัวได้สร้างสมเอาไว้มากมาย

ขุนพันธรักษ์ราชเดช ได้รับตำแหน่งทางราชการตำรวจเป็นถึงยศ พลตำรวจตรี และเคยเข้ารับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็น ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราชมาแล้ว เมื่อราวปี พ.ศ. 2512 กระทั่งในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา ปิดตำนานตำรวจมือปราบอันเกรียงไกรด้วยวัย 103 ปี

ขุนพันธรักษ์ราชเดช ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของพลเมืองที่มีความซื่อตรงต่อหน้าที่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดกำลัง เพื่อให้สังคมประเทศปราศจากคนร้าย ด้วยคุณงามความดี จึงทำให้ชื่อ ‘ขุนพันธ์’ ยังถูกกล่าวถึงมาจนถึงทุกวันนี้


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พบนักศึกษาแพทย์ ติดเชื้อโควิด-19 แนะเลี่ยงเดินทางใกล้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

วัน 16 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำ เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) ที่เฟซบุ๊กเพจ Thammasat TODAY ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความระบุว่า นักศึกษาแพทย์ มธ. ศูนย์รังสิต ติดเชื้อโควิด-19 โดยได้รับการยืนยันแล้วว่า “ติดจริง”

ทั้งนี้ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมทางเพจจะอัพเดตให้ทราบอีกครั้ง

เวลาต่อมา ทางเพจได้โพสต์ข้อความระบุว่า “คุณหมอ inbox แจ้งเตือนมาว่า คนไข้ที่มีความเสี่ยงติดโควิดสูง มา รพ. เยอะมาก โปรดหลีกเลี่ยงการเดินทางมาใกล้ รพ.มธ.”


ที่มา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10159141286018814&id=182927663813

รมช. ศึกษาธิการ เร่งสตาร์ท "โครงการวิทย์พลังสิบ" หลัง ครม.อนุมัติ มุ่งสร้างโอกาสเด็กไทยเข้าถึงการเรียนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ ลดเนื้อหา เพิ่มการปฏิบัติ สร้างความเท่าเทียมองค์ความรู้พื้นฐาน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการระยะ 10 ปี ใช้งบประมาณทั้งหมด 9,000 ล้านบาทว่า จะเริ่มดำเนินโครงการทันทีในปีงบประมาณ 2564 โดยจะใช้งบประมาณ จำนวน 200 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาครูในการเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงวิทยศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์รูปแบบใหม่ลดเนื้อหาด้านวิชาการ และเน้นการเรียนแบบปฏิบัติมากขึ้น เพื่อให้เด็กนำไปใช้ชีวิตประจำวันได้จริง

เนื่องจากในอนาคตการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมีบทบาทมากขึ้น อีกทั้งยังมีบทบาทต่อวงการอุตสาหกรรม และการเกษตรอย่างก้าวกระโดด จึงริเริ่มโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบนี้ขึ้น โดยโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้คนไทยทั้งประเทศ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้ตั้งแต่เด็กเล็ก โดยการเพิ่มพลังวิทยาศาสตร์ จาก 10 คน เป็น 100 คน และจาก 100 คน เป็น 1,000 คน

นอกจากนี้ โครงการนี้ถือเป็นการเพิ่มพลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แบบต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้มีพื้นฐานความคิดอย่างเป็นระบบ คิดแบบวิธีวิทยาศาสตร์ ดังนั้น จะมีการต่อยอดเพิ่มการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ชั้น ป.4 – ม.6 โดยมีภาคีเครือข่ายจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มาช่วยเติมเต็มการอบรมให้แก่ครูทั่วประเทศให้สอนในเรื่องนี้ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการเรียนรู้ของเด็กด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในอนาคต

“เบื้องต้นยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศ เนื่องจากต้องมีการพัฒนาครู ซึ่งจะเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีครูที่เชี่ยวชาญเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในรูปแบบใหม่ ที่วิชาเรียนจะน้อยลง เน้นการปฏิบัติมากขึ้น และเพิ่มเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตทั้งการทำงาน และการใช้ชีวิต ที่ประชุม ครม. ขอให้พิจารณาดำเนินการทุกอย่างให้รอบคอบมากที่สุด” รมช. ศึกษาธิการ กล่าว

การอ่านนิทานให้ลูกฟัง ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก

ผลงานวิจัยที่ยาวนานที่สุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ติดตามชีวิตของคนจำนวนหนึ่งถึง 75 ปี ได้เปิดเผยให้เรารู้ว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่มนุษย์ต้องการ คือสายสัมพันธ์ที่ดี และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูกวิธีหนึ่ง คือการเล่านิทานให้ลูกฟัง ในบทนี้อยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟังกันค่ะ

หากเราอยากให้ลูกวัยก่อนเข้าอนุบาลเตรียมพร้อมกับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ดี การให้เด็กดูหนังสือนิทานนั้น เป็นหนึ่งในวิธีสุดคลาสสิคมาช้านาน นิทานช่วยให้ลูกสะสมคลังคำศัพท์และเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กสามารถทำความเข้าใจจากการฟังครูในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ทว่าหนังสือที่ดีของเด็กเล็กอาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับหนังสือที่ดีของเด็กที่อ่านหนังสือได้แล้ว เด็กเล็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นาน ยังคงเห็นโลกแบบที่สดใหม่ แตกต่างและเต็มไปด้วยจินตนาการก่อนจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างเรา

แล้วหนังสือที่ดีสำหรับเด็กเป็นอย่างไร

สมมติว่ามีพลังวิเศษ เสกให้ลูกพูดได้ตั้งแต่แรกเกิด ลูกจะเล่าอะไรให้เราฟัง...

“ในตอนที่หนูเพิ่งลืมตาดูโลกมาได้ไม่ถึงสามเดือน หนูเหมือนคนสายตาสั้นประมาณแปดร้อย รวมถึงเด็กคนอื่นด้วยเช่นกัน หนูมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพเบลอไหวไปมา หนูไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นคืออะไร

ถึงตอนนั้นหนูอาจจะมองเห็นได้ไม่ค่อยถนัดแต่หนูได้ยินเสียงชัด ทุกครั้งที่มีเสียงเกิดขึ้น หนูยังไม่รู้ว่าเสียงนั้นคือเสียงอะไร มาจากไหน แต่หนูสัมผัสได้เสมอว่าเสียงนั้นมาพร้อมกับความรัก โอบกอดที่แสนอบอุ่น และนมอุ่น ๆ ให้หนูดื่มกิน

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้กว่าสี่เดือน หนูเริ่มเห็นชัดขึ้น หนูมองเห็นเสียงแห่งความรักนั้น เสียงของแม่ แม่มาพร้อมกับแผ่นภาพพับทับซ้อนกันเปิดกลับไปมาหน้าหลังได้ แผ่นที่มีสีสันสดใสเต็มไปหมด หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูจ้องรูปภาพ หนูไม่รู้ว่ารูปสื่อความหมายอะไร ทุกครั้งเวลาหนูดูภาพสีสันสดใสนั้น จะมีเสียงแห่งความรักเปล่งบรรยายประกอบไปด้วย หนูเริ่มจับได้ว่าเสียงแบบนี้มากับรูปนี้ หนูเริ่มรู้ความหมายทางภาษา

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้เกือบสิบสองเดือน หนูพบว่าหนูใช้ร่างกายเคลื่อนไหวไปมาได้ หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูอยู่ไม่นิ่ง หยิบจับคว้าทุกอย่างมาเล่นและชิมมัน ทุกอย่างคือของเล่นที่หนูได้เรียนรู้ บางทีของเล่นก็กินได้ หนูเลยชอบชิมมันด้วย

เมื่อหนูครบหนึ่งขวบเต็ม หนูตื่นเต้นอยากเล่นของเล่นใหม่ทุกวัน แม่เอาหนังสือใหม่มาให้เล่น มีภาพที่เปิดออกมาแล้วตั้งขึ้นมาจากหนังสือได้ พอหนูพับหน้าต่อไปภาพที่ตั้งขึ้นก็หดเก็บตัวลงในหนังสือเอง หนูรู้สึกตื่นเต้น ยิ่งหนูได้เล่นสนุก หนูยิ่งจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี

เมื่อหนูเข้าโรงเรียนอนุบาล หนูเจอคุณครูครั้งแรก หนูเข้าใจความหมายของคำที่คุณครูสอนได้ มันอยู่ในนิทานที่แม่อ่านให้ฟังก่อนนอนเต็มไปหมด หนูสามารถจินตนาการในหัวตามสิ่งที่ครูสอนได้ เหมือนกับเอาภาพมากมายในหนังสือนิทานหลายเล่มมาประกอบกันใหม่ หนูเข้าใจสิ่งที่คุณครูสอน”

ตัวอย่างสมมตินี้ เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่อยู่ในโลกของเด็ก เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ที่เรานำข้อมูลทางวิชาการมาเล่าเท่านั้น ในโลกของเด็กนั้นอาจจะเต็มไปด้วยจินตนาการไร้ขีดจำกัด ยากที่ผู้ใหญ่อย่างเราที่หลงลืมช่วงวัยแรกเกิดไปแล้วจะคิดตามได้ ทุกวันสำหรับเด็กคือการเรียนรู้ และทุกวินาทีของลูกที่ได้อยู่กับพ่อแม่คือการสร้างสายสัมพันธ์

หากเราอยากจะจินตนาการตามเด็กที่กำลังเรียนรู้ผ่านการอ่านนิทานให้ลูกฟังได้นั้น คุณหมอแพม หมอกุมารแพทย์ ผู้ที่ทำเพจออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนในโลกโซเซียลมีเดีย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ที่สนใจการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน กล่าวว่า “ผู้ใหญ่จะเน้นอ่านตัวอักษร ใช้คลังคำศัพท์ที่สะสมไว้เอามาจินตนาการได้หมด แต่การดูนิทานของเด็กเล็กจะอาศัยฟังเสียงพ่อแม่เสริมรูปภาพ แล้วเด็กจะจินตนาการเป็นเอนิเมชั่นในหัว”

หมอแพมแนะนำว่า “หนังสือนิทานในท้องตลาดนั้น ต้องยอมรับว่ามีทั้งดีและไม่ดี คร่าว ๆ คือ หนังสือดี ภาพต้องไม่สื่อไปทางที่โหดร้าย เพราะเด็กอารมณ์อ่อนไหวกว่าผู้ใหญ่ หนังสือที่ดีควรมีรูปชัด ๆ เส้นชัด ๆ เส้นน้อย ๆ ส่วนใหญ่ราคาจะแพง หนังสือไม่ดีก็จะพยายามเอาใจคนซื้อคือพ่อแม่ ยัดเส้นเยอะ ๆ รูปเยอะ ๆ ให้ดูคุ้ม ไม่มีประโยชน์กับเด็ก”

คุณหมอบอกอีกว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้น มีแต่ผลดี ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะเล่านิทานไม่เก่ง หนังสือนิทานเด็กถูกออกแบบมาให้ใครอ่านก็สามารถเล่านิทานได้ เพียงเราแบ่งเวลา 5-10 นาทีต่อวันเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ จะเป็นปู่ย่า ตายาย หรือพี่เลี้ยงก็ยังได้ ขอเพียงมีคนที่เด็กสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับคนคนนั้นผ่านกิจกรรมเล่านิทานได้ก็เพียงพอ

ถึงแม้หนังสือจะดีซักเพียงไหนคุณหมอก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะรักการอ่าน หรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กนั้นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ภาพประกอบสีสวยสดใสหรือถ้อยคำจังหวะจะโคลนไพเราะเสนาะใจ หรือว่าส่วนที่ดีที่สุดของหนังสือดีสำหรับเด็กนั้นจะเป็นเสียงที่กำลังเล่า แววตาแห่งความห่วงใย และประสบการณ์สัมผัสอุ่นไอจากพ่อแม่

ทีม The Study Times Family ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูก Style หมอแพม

Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1287921204923232

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top