Saturday, 5 July 2025
ค้นหา พบ 49200 ที่เกี่ยวข้อง

ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยคดีฆ่า ‘พล.อ.ร่มเกล้า’ เหตุการณ์สลาย นปช. 10 เม.ย. 2553 ชี้พยานโจทก์พิรุธหลายประการ แถมฟ้องซ้อนคดีก่อการร้าย ‘ทนายวิญญัติ’ ถาม ‘ดีเอสไอ’ ถ้าพยานหลักฐานอ่อนอย่าทำลายอิสรภาพ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องพิจารณา 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีขว้างระเบิดสังหาร พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม กับพวก ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วันที่ 10 เม.ย. 2553 หมายเลขดำ อ.857/2562 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1

และนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุขเสก หรือเสก พลตื้อ, นางพรกมล บัวฉัตรขาว หรือนางกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดต และนายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ แนวร่วม นปช. เป็นจำเลยที่ 1 - 3 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าและสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นฯ กับ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ

โจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 2552 - 20 พ.ค. 2553 กลุ่ม นปช. ได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ลาออกจากตำแหน่ง จนวันที่ 7 เม.ย. 2553 นายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ บริเวณ ถ.ราชดำเนินกลาง ตั้งแต่แยกคอกวัวมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยที่ 1 และ 3 กับพวกร่วมกันมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ 88 บ.67 หรือ M67 คนละ 3 ลูก ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน และจัดหาระเบิดให้ โดยพวกจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้อื่นด้วยการขว้างระเบิดสังหาร 2 ลูก ใส่เจ้าหน้าที่ทหารขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รอ.(ขณะนั้น) กับนายทหารรวม 5 นายเสียชีวิต และมีนายทหารอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

วันนี้ศาลเบิกตัวนายสุขเสกกับนายสุรชัย จำเลยที่ 1 และ 3 ซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นด้วยจากเรือนจำมาศาล ส่วนนางพรกมล จำเลยที่ 2 ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล โดยมีทีมทนายความจำเลย กับนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. เดินทางมาศาลร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจด้วย ขณะที่ฝ่ายโจทก์ไม่มีผู้ใดเดินทางมาศาล

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรก ผู้เสียหายและผู้ตายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอาวุธชนิดใด แพทย์พยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับการชันสูตรบาดแผลที่มีเศษชิ้นส่วนโลหะ

ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าเป็นเศษชิ้นส่วนที่เกิดจากการแตกตัวของลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ 88 บ.67 หรือ M67 ตรงกับผลการตรวจพิสูจน์ชิ้นส่วนโลหะจากหลุมระเบิดในที่เกิดเหตุ ฟังได้ว่าผู้เสียหายและผู้ตายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดขว้างชนิดดังกล่าว

ปัญหาวินิจฉัยประการต่อมา คนร้ายใช้สถานที่ใดเป็นที่ขว้างหรือโยนระเบิด จากคำเบิกความของพยานโจทก์ประกอบกับจุดที่เป็นหลุมระเบิดทั้งสองหลุม น่าเชื่อว่าจุดที่เหมาะสมที่สุดในการโยนระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหารคือบ้านเลขที่ 149 ไม่ใช่โรงเรียนสตรีวิทยา

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน มีแสงไฟสลัว และมีความชุลมุนวุ่นวาย ทหารที่ยืนอยู่บนรถลำเลียงพลจึงอาจมองไม่เห็นหรือไม่ทันสังเกตคนร้ายที่เข้ามาในบ้านเลขที่ 149 จึงน่าเชื่อว่าคนร้ายใช้วิธีการโยนระเบิด M67 ออกมาจากบ้านเลขที่ 149 ถ.ดินสอ ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา

ปัญหาวินิจฉัยจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนร้าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนหรือไม่ คำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธอยู่หลายประการ พยานปากนายชุมพล เบิกความได้รับชักชวนจากอาสาทหารพรานค่ายปักธงชัยให้มาเป็นการ์ดของกลุ่ม นปช. และมีผู้แนะนำให้รู้จักกับจำเลยที่ 3

ซึ่งเป็นผู้ติดตาม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง โดยจำเลยที่ 3 ตั้งฉายาให้พยานว่าหวังเฉา และตั้งฉายาให้พยานปากนายนิวัฒน์ว่าหม่าฮั่น แต่พยานทั้งสองไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 3 จึงผิดปกติวิสัยของผู้ติดตามหรือลูกน้องคนสนิทที่จะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้านายหรือผู้ที่ตนติดตามอยู่ ทั้งยังเบิกความไม่สนิทสนม ไม่เคยพูดคุยกัน ทั้งที่เป็นผู้ติดตามจำเลยที่ 3 เช่นเดียวกัน ประกอบพยานโจทก์ปากอื่นไม่รู้จักและไม่เคยเห็นบุคคลทั้งสอง

อีกทั้งพยานปากนายนิวัฒน์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน พยานมาที่ชุมนุมทุกวัน แต่ไม่ทราบจุดประสงค์การชุมนุมของ นปช. ไม่รู้จักแกนนำ ไม่สนใจฟังปราศรัย ไม่น่าเชื่อว่าพยานจะเข้าร่วมการชุมนุมและเป็นการ์ด นปช. ดังที่เบิกความ

ทั้งเบิกความว่าชื่นชอบ พล.ต.ขัตติยะ แต่ไม่ทราบว่า พล.ต.ขัตติยะ เสียชีวิตเมื่อไหร่และที่ไหน แสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ปากนี้หาได้มีความสนใจหรือแรงจูงใจทางการเมือง จึงไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ปากนี้จะเป็นผู้ติดตามหรือลูกน้องคนสนิทของจำเลยที่ 3 ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 3 จะต้องพานายชุมพลและนายนิวัฒน์ไปยังบ้านเลขที่ 149 เพื่อขว้างระเบิด

ประกอบกับพยานได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อ พ.ศ.2560 ภายหลังจากพยานเข้าโครงการคุ้มครองพยาน อันเป็นเวลาหลังเกิดเหตุถึง 7 ปี โดยไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านี้พยานเคยให้ข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ใดว่าจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนร้ายโยนระเบิดแต่อย่างใด เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองให้การทั้งที่มิได้อยู่ในเหตุการณ์หรือรู้เห็น

เนื่องจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าอยู่ในโครงการคุ้มครองพยาน เช่นเดียวกับนายชยุตที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งเบิกความรับว่าได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการที่พยานเข้าโครงการคุ้มครองพยาน จึงน่าเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามปากจึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ 3 กระทำผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากนี้อีก

นอกจากนี้ ศาลได้พิจารณากรณีคำฟ้องต่อจำเลยในคดีนี้ เปรียบเทียบกับในคดี นปช. ที่ถูกฟ้องข้อหาก่อการร้าย ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งมีจำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน มูลเหตุช่วงเวลาเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 - 3

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ในฐานะทีมทนายความจำเลย ให้สัมภาษณ์ว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พล.อ.ร่มเกล้า ครอบครัวทหาร และครอบครัวของประชาชนคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเมืองที่ไม่มีคุณธรรม การเมืองที่ไม่แยกแยะ สะท้อนมาถึงปัจจุบัน

ซึ่งตนก็แสดงความเสียใจในเรื่องนั้น แต่ในส่วนคดีที่ศาลยกฟ้องจำเลย 3 คน ซึ่งจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว โดยศาลยกฟ้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างสู้คดีอยู่ในศาลสูง ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นคนสนับสนุนที่ไม่ใช่การ์ด นปช.หรือลูกน้องเสธ.แดง

คดีนี้ศาลพิเคราะห์การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า เกิดจากระเบิดชนิดใดและที่ใด ซึ่งมีพยานอ้างว่ามีการขว้างระเบิดนั้น ศาลรับฟังว่าเป็นการโยนระเบิดจากบ้านไม้ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา แต่การโยนระเบิดนั้นไม่มีประจักษ์พยานที่น่าเชื่อถือน่ารับฟังได้ว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ทั้งสองคน พยานที่โจทก์อ้างมีพิรุธหลายประการ

กับพิเคราะห์จำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนร้ายลูกน้องเสธ.แดง ได้รับงานจากเสธ.แดง หรือไปตอบโต้ทหารในวันที่ 10 เม.ย. 2553 จริงหรือไม่ จากพยานหลักฐานศาลเห็นว่าไม่มีใครยืนยันชัดเจนและรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองคนอยู่ในที่เกิดเหตุ

นายวิญญัติ กล่าวด้วยว่า ส่วนการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ศาลไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการเสียชีวิต เพราะมีการชันสูตรพลิกศพและรายงานการตรวจศพอย่างชัดเจน ในอดีตที่มีการโต้เถียงกันว่าเหตุเกิดจากระเบิดชนิด M79 หรือระเบิดยิงนั้นเป็นความเชื่อของทหารส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่ผลการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นระเบิดขว้างชนิด M67 และจากรายงานการตรวจศพ

รวมทั้งพยานบุคคลก็ปรากฏว่า ไม่มีประจักษ์พยานที่ยืนยันว่าคนร้ายคือจำเลยทั้งสองคน และคนร้ายที่แท้จริงคือใคร นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุระเบิดนั้นมีชาย 4-5 อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไปเก็บกระเดื่องระเบิดในที่เกิดเหตุ แล้วอันตรธานหายไปไหน ประเด็นสุดท้ายศาลมองว่าเป็นการฟ้องซ้อนกับ คดี อ.2542/2553 นปช.ก่อการร้ายเมื่อปี 2553

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเลยจะได้ปล่อยตัวจากเรือนจำหรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า โดยปกติถ้าศาลไม่สั่งคุมขังระหว่างอุทธรณ์จะต้องปล่อย แต่จำเลยที่ 1 และ 3 ถูกดำเนินคดีอื่นอีก 2 คดี ที่ดีเอสไอนำพยานหลักฐานชุดเดียวกันมาฟ้องจำเลยอีก เราต้องสู้ต่อไป ดังนั้น จำเลยสองคนจึงยังไม่ถูกปล่อยตัววันนี้ แต่เราจะพยายามยื่นประกันเร็วๆ นี้

เมื่อถามถึงสำนวนคดีก่อการร้ายของดีเอสไอมีความผิดปกติหรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า ขอไม่กล่าวถึงตรงนั้น เนื่องจากยังมีการสู้คดีกันต่อในศาลอุทธรณ์และฎีกา รอให้การพิจารณาคดีของศาลสุดทางก่อน สุดท้ายผลจะเป็นอย่างไร อยู่ในบทบัญญัติเรื่องอายุความและการดำเนินคดีอยู่แล้ว

ในส่วนของจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนเสื้อแดงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมนั้น ยังเหลืออีก 2 คดี ส่วนคดีชายชุดดำก็ยังเหลือคดีอื่นที่กำลังตามมา ไม่ทราบว่าทางการคิดอะไรไม่ออกก็เอาจำเลยชุดเดิมหรือไม่ จึงขอถามไปยังดีเอสไอให้ความเป็นธรรม

ถ้าพยานหลักฐานไหนอ่อนหรือไปไม่ถึง หรือไม่ควรเกิดขึ้น ก็อย่าไปทำลายครอบครัวและอิสรภาพของเขา ซึ่งผลของคดีนี้พวกเราไม่ได้ดีใจ เราเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การทำหน้าที่ทนายความ เราต่อสู้มาตามกระบวนการยุติธรรม ก็หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในประเทศไทยอีก

กระทรวงการคลัง เปิดเงื่อนไขมาตรการเยียวยามนุษย์เงินเดือนมาตรา 33 ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีรายได้ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี หรือ 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน มีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ได้หารือร่วมกับกระทรวงแรงงานแล้ว และจะมีการพิจารณาพิจารณารายละเอียด และหลักเกณฑ์กับกระทรวงแรงงานกันอีกครั้ง โดยเฉพาะ จำนวนเงินที่จ่ายชดเชย รวมไปถึงจำนวนผู้ที่จะได้รับสิทธิ เช่นเดียวกับเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจะรีบทำให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด เบื้องต้น ในรูปแบบการจ่ายเงินอาจทำผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งอาจมีรูปแบบคล้าย ๆ กับโครงการเราชนะ

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือดังกล่าว ที่ผ่านมา ทางรมว.แรงงานเคยระบุว่า ได้กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และเงื่อนไข เอาไว้เบื้องต้น คือ 1.) มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

2.) มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปีหรือเฉลี่ยไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท

3.) มีเงินฝากในธนาคารไม่เกิน 500,000 บาท

4.) ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้สิทธิ ซึ่งจะครอบคลุมแรงงานตามมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน

“คลังจะรีบทำให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด ซึ่งการจ่ายเงินอาจมีรูปแบบคล้ายๆ โครงการเราชนะ ที่จ่ายเงินผ่านทางแอพพลิเคชัน โดยพิจารณาจากข้อมูลของผู้ที่มีสิทธิ์ตามฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม จากนั้นจึงเอามาประยุกต์ใช้กับการจ่ายเงินของกระทรวงการคลัง”

นายโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ออกมาแซะ ‘บิ๊กตู่’ และ ‘ทหาร’ จากกรณีดราม่าเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

นายโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ออกมาแซะ ‘บิ๊กตู่’ และ ‘ทหาร’ จากกรณีดราม่าเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุที่ได้รับเงินซ้ำซ้อนกับเงินพิเศษต่างๆ ในทวิตเตอร์ ‘Oak Panthongtae’ ว่า

.

คุณลุง-คุณป้า คุณตา-คุณยาย

คนชราผู้มี “ความยากจน”

รับเงินเดือนละพัน ซ้ำซ้อนกันไม่ได้

.

แต่ลุงตู่..คนชราผู้มี “อำนาจรัฐ”

> อยู่บ้านพักนายก

ควบคู่บ้านพักทหารได้

> รับเงินเดือนกองทัพ ซ้อนกับ

คสช.เดือนละหลายแสนได้

.

อยากเป็นนายกของประชาชน

ควรทำประโยชน์ให้ประชาชน

“ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง”


ที่มา: https://twitter.com/oak_ptt/status/1356165746204659712?s=06

เบอร์ลิน มาร์คุส เซอเดอร์ มุขมนตรีแห่งรัฐบาวาเรียทางตอนใต้ของเยอรมนี ออกมาเรียกร้องทางการยุโรปพิจารณาการใช้งานวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของจีนและรัสเซีย เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนวัคซีนในขณะนี้

"หน่วยงานกำกับดูแลของยุโรปควรทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนของรัสเซียและจีนโดยเร็วที่สุด" เซอเดอร์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ดีเวลท์ (Die Welt) "คุณภาพของกลยุทธ์ป้องกันโรคโควิด-19 ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถควบคุมปัญหาการฉีดวัคซีนได้เร็วเพียงใด"

เซอเดอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคคริสเตียนสังคมประชาธิปไตย (CSU) ของเยอรมนี ได้ปรับใช้มาตรการอันเข้มงวดและเหมาะสมกับการควบคุมโรคระบาดใหญ่ในรัฐบาวาเรีย โดยการเรียกร้องของเซอเดอร์ครั้งนี้เกิดขึ้นขณะยุโรปและผู้ผลิตวัคซีนอย่างแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดส่งวัคซีนล่าช้า ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์ - ไบออนเทค (Pfizer - BioNTech) ถูกจัดส่งมาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้หลายประเทศในยุโรปได้ชะลอหรือระงับการฉีดป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัคซีน ขณะในเยอรมนีประชาชนอาจต้องเผชิญกับความล่าช้าของการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 10 สัปดาห์

ด้านเยนส์ ชปาห์น รัฐมนตรีกระทรวงฯ กล่าวว่าเขายินดีจะใช้งานวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากรัสเซียหรือจีน หลังข้อพิพาทเกี่ยวกับความพร้อมของวัคซีนทวีความรุนแรงมากขึ้น

"หากวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะผลิตในประเทศใดก็สามารถเอาชนะโรคระบาดใหญ่ได้อย่างแน่นอน" ชปาห์น กล่าว


ที่มา: https://www.xinhuathai.com/high/173743_20210201

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์รัฐประหารประเทศเมียนมา ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างกันมากนัก เพราะสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมา ก็ยังเปิดให้บริการเป็นปกติ

ล่าสุดสำนักงานพาณิชย์ไทยในเมียนมา ได้รายงานสถานการณ์ว่า ตอนนี้การค้าบริเวณด่านพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมาได้กลับมาให้ส่งออกและนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ แต่คาดว่าจะมีการจำกัดเวลาบ้าง จึงต้องติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวันกันต่อไป

สำหรับปริมาณการค้าของทั้ง 2 ประเทศในปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 164,000 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าไปเมียนมากว่า 84,000 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากเมียนมากว่า 77,000 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า ซึ่งการค้าระหว่างกันจะผ่านใน 3 ด่าน ได้แก่ ด้านแม่สาย มีมูลค่าการค้าในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท ด่านแม่สอด จังหวัดตาก มีมูลค่าอยู่ที่ 74,000 ล้านบาท และด่านระนองมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท

ขณะที่ภาคเอกชนไทยส่วนใหญ่ ยังขอรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขอประเมินสถานการณ์ก่อน โดยหวังว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะไม่กระทำการใด ๆ ที่กระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ต้องติดตาม สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่าจะมีผลกระทบต่อสินค้าไทยหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องการลงทุนก็ต้องติดตามด้วยเช่นกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top