Thursday, 15 May 2025
ค้นหา พบ 48079 ที่เกี่ยวข้อง

เทคนิคการอ่านหนังสือสอบให้จำได้แม่นยำ ง่ายๆ มีอะไรบ้าง? ????????

ช่วงนี้นักศึกษาหลายคนคงจะกำลังเตรียมตัวสอบกลางภาค-ปลายภาคกันแล้วนะคะ ครูพิมพ์เชื่อว่านักศึกษาที่ลงทะเบียนหลายวิชา คงกำลังเลือกรายวิชาที่จะเริ่มอ่านอยู่ หรือบางคนอาจจะเลือกไม่ถูกว่าจะอ่านเล่มไหนก่อนหรือหลังดี วันนี้ครูพิมพ์มีเทคนิคในการอ่านหนังสือสอบที่สามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ ง่ายๆ มาให้นักศึกษาทุกคนได้ลองทำตามกันดูนะคะ 

อันดับแรก นักศึกษาต้องเตรียมความพร้อมก่อนค่ะ โดยการเตรียมตำราเรียนทุกรายวิชาที่จะเข้าสอบให้เรียบร้อย และเช็คตารางสอบให้ดีว่า วิชาไหนสอบก่อน-หลัง ไล่ลำดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวิชาสุดท้ายค่ะ     

 
ตัวอย่างเช่น  วิชาแรก สอบวิชา A, วิชาที่สอง สอบวิชา B, วิชาที่สาม สอบวิชา C, วิชาที่สี่ สอบวิชา D, วิชาที่ห้า สอบวิชา E, วิชาที่หก สอบวิชา F และวิชาที่เจ็ด สอบวิชา G  รวมทั้งสิน 7 วิชา

เมื่อนักศึกษาทราบรายวิชาที่จะเข้าสอบตามลำดับก่อน-หลังแล้ว ให้นักศึกษาเลือกหยิบตำราเล่มที่สอบวิชาสุดท้ายมาเริ่มอ่านก่อนเป็นวิชาแรก ซึ่งก็คือ วิชา G เมื่ออ่านจบแล้วให้หยิบตำราเล่มวิชา F ซึ่งเป็นวิชาที่หก มาอ่านต่อ อ่านไล่ย้อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชา A ที่เป็นวิชาที่จะสอบในวันแรก ซึ่งถ้านักศึกษาอ่านตำราวิชา A จบแล้ว ก็ใกล้ถึงวันที่จะเข้าสอบในวันแรกพอดี เมื่อนักศึกษาสอบวิชาแรกเสร็จสิ้นแล้ว ก็สามารถหยิบวิชาที่จะเข้าสอบเป็นวิชาที่สองที่ได้อ่านไว้ล่วงหน้าแล้วมาทบทวนทำความเข้าใจอีกนิดหน่อยก็เข้าสอบได้เลยค่ะ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชาสุดท้าย 

เห็นไหมคะ เทคนิคง่ายๆ นิดเดียว ดีกว่าที่นักศึกษาจะต้องนั่งอ่านวิชาแรก ไล่ไปจนกระทั่งวิชาสุดท้าย พอถึงวันเวลาที่จะเข้าสอบ ก็อาจจะลืมวิชาแรกที่อ่านไปแล้ว ต้องมานั่งอ่านกันอย่างหนักอีกรอบทำให้เสียเวลานะคะ 

และที่สำคัญที่สุดก่อนที่นักศึกษาจะเริ่มอ่านหนังสือสอบนั้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายและสมองพร้อมที่จะเริ่มคิด วิเคราะห์และจดจำไปกับเรานะคะ และถ้าไม่จำเป็นพยายามอย่าจับสมาร์ทโฟนนะคะ ถ้าปิดเครื่องได้ยิ่งดีค่ะ เพราะอาจทำให้เราเผลอท่องโลกโซเชียลจนไม่ได้อ่านหนังสือสอบนะคะ 

เมื่อพร้อมแล้วเรามาเริ่มลงมือเปิดตำราหน้าแรก โดยเริ่มอ่านประเด็นที่สำคัญตามที่ท่านอาจารย์สอนในรายวิชานั้นๆ ได้เน้นย้ำ หรือตามแนวข้อสอบที่ท่านอาจารย์ได้ให้มาได้เลยค่ะ 

เมื่อนักศึกษาอ่านไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงผ่านไป ให้นักศึกษาหยุดพักและนอนหลับพักผ่อนให้ได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้สมองได้หยุดพัก และตื่นขึ้นมาแล้วหาของว่างเย็นๆ ดื่ม เช่น นม หรือน้ำหวาน จะได้รู้สึกสดชื่นนะคะ แล้วอ่านต่ออีกประมาณ 2 ชั่วโมง และหยุดพัก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชาสุดท้ายนะคะ 


สาเหตุที่ไม่ควรอ่านหนังสือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน เพราะจะทำให้สมองทำงานหนักและล้าจนเกิดความง่วง เบื่อหน่าย เสียสมาธิในการอ่านและการจดจำค่ะ และสิ่งที่อันตรายที่สุดที่สามารถทำลายสมาธิจนอาจทำให้หลายคนสอบตกนั่นก็คือ การแอบเล่นสมาร์ทโฟนจนไม่ได้อ่านหนังสือ สุดท้ายแล้วเมื่อถึงเวลาสอบก็ไม่สามารถทำข้อสอบได้ ผลที่ได้รับคือ สอบตก ค่ะ 

เทคนิคการอ่านหนังสือสอบดังกล่าวที่ครูพิมพ์ได้แนะนำไปแล้วนั้น ครูพิมพ์ได้ทดลองทำด้วยตนเอง ตั้งแต่สมัยที่ศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งสอบครั้งนึงก็ไม่ต่ำกว่า 7-8 รายวิชา จึงคิดว่าทำอย่างไรให้อ่านหนังสือแล้วไม่ง่วง และสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ จึงได้คิดเทคนิคการอ่านวิธีนี้ขึ้นมา ซึ่งฟังดูแล้วอาจเหมือนคนที่ขี้เกียจ แบบอ่านไป นอนไป หลับไป แต่ทำแล้วได้ผลนะคะ 

ซึ่งผลการเรียนที่ได้ในขณะนั้น ในช่วงเรียนปี 1 ครูพิมพ์ได้เกรดเฉลี่ย 3.83 ไปจนกระทั่งได้เกรดเฉลี่ยสูงที่สุดในชีวิต คือ 4.00 ซึ่งเป็นเกรดเฉลี่ยที่สูงที่สุดในระดับห้องและระดับชั้น ทำให้เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ตนเองเป็นอย่างยิ่งและอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ที่สามารถทำเกรดเฉลี่ยได้สูงเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาในระดับมัธยมศึกษา เกรดเฉลี่ยจะต่ำมากๆ ค่ะ ซึ่งครูพิมพ์ก็ใช้เทคนิคนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบันครูพิมพ์จบปริญญาตรี 5 ใบ จบปริญญาโท 1 ใบ และปัจจุบันครูพิมพ์กำลังจะจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการบริหารรัฐกิจ อีก 1 ใบ ค่ะ 

เทคนิคง่ายๆ แค่นี้ ครูพิมพ์ขอแนะนำให้ทุกคนนำไปลองฝึกปฏิบัติกันนะคะ ได้ผลอย่างไรมาเล่าให้ครูพิมพ์ฟังกันด้วยนะคะ 

ท้ายนี้ครูพิมพ์จะขอฝากไว้ให้นักศึกษาทุกคนเพื่อเป็นกำลังใจนะคะ “สิ่งที่วิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้” 

มุ่งต่อยอดความรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด  


เขียนโดย ครูพิมพ์ฑักษอร แสงทองไชย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ 

สุรินทร์ - แม่ทัพภาคที่ 2 ตรวจเยี่ยมความพร้อมหน่วยฝึกทหารใหม่ มทบ.25,ร23.พัน 3 กำชับดูแลทหารใหม่อย่างใกล้ชิด ภายใต้มาตรการ covid-19 อย่างเคร่งครัด

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 พลโทธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วย พลตรีสาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ,พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมรับทหารใหม่ ผลัดที่ 1 ประจำปี 2564 ณ หน่วยฝึกกองร้อยมณฑลทหารบกที่ 25 และหน่วยฝึกทหารใหม่ ร.23 พัน 3 อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมการรับทหารใหม่ จำนวน 111 นาย ที่เข้ามาประจำการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตขั้นตอนการปฏิบัติในการรับทหารใหม่ โดยเน้นย้ำการปฏิบัติต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 อย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้คำแนะนำในการปฏิบัติต่าง ๆ แก่หน่วยฝึก โดยจะมีการกักตัวทหารใหม่ จำนวน 14 วัน ก่อนเริ่มทำการฝึก  และการฝึกจะเป็นในลักษณะปิด (บับเบิ้ลเทรนนิ่งแอเรีย) มีทั้งการตรวจสอบ การคัดกรอง การกักตัวและมาตรการของการควบคุมในการพบปะ โดยจำกัดสถานที่ เพื่อลดการนำเชื้อเข้าสู่หน่วยฝึก และลดการกระจายเชื้อเข้าสู่หน่วยทหาร รวมถึงเพื่อควบคุมการติดเชื้อของหน่วยฝึก ในกรณีที่มีการแพร่ระบาด

โดยมีครูฝึกทหารใหม่ ผู้ช่วยผู้ฝึก ครูนายสิบ ให้การต้อนรับ แม่ทัพภาคที่ 2 ได้เน้นย้ำผู้ฝึกทหารใหม่ ผู้ช่วยผู้ฝึก ครูนายสิบ และครูทหารใหม่ทุกนาย ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งการรับทหารใหม่เข้ามาในหน่วย ทุกคนมีหน้าที่ที่จะฝึกอบรม สอนทหารใหม่มีระเบียบวินัยเป็นทหารของชาติ ทั้งยังกำชับถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ที่มีความรุนแรงในปัจจุบัน ให้หน่วยฝึกปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของกองทัพบก และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยให้หน่วยฝึกวางแผนการปฏิบัติตามระเบียบ ปฏิบัติประจำวัน ให้มีความเหมาะสม


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

เจ็บนี้อีกนาน !! อันตรายจาก “ข้อเท้าแพลง” รับมืออย่างไรให้ถูก ? 

“ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain)” เกิดจากอุบัติเหตุโดยเฉพาะการหกล้ม, การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือ การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับขนาดเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณผู้หญิงที่ใช้รองเท้าส้นสูงจะเพิ่มโอกาสเกิดข้อเท้าแพลงได้ ซึ่งการบาดเจ็บดังกล่าวส่งผลต่อเอ็นข้อเท้าบริเวณตาตุ่ม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยของ American Academy of Orthopedic Surgeons พบว่าหากข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ หรือเกิดข้อเท้าแพลงซ้ำ ๆ อาจนำไปสู่ปัญหาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง ข้อเท้าเสื่อม และเกิดภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงได้ ทำให้การรักษาข้อเท้าแพลงกลายเป็นเรื่องไม่ง่ายและใช้เวลานานกว่าจะหายขาด จนทำให้เป็นที่มาของคำว่า “ข้อเท้าแพลง” 

อาการข้อเท้าแพลงส่วนมากมักเกิดจากการพลิกของข้อเท้าเข้าสู่ด้านในแล้วเกิดอาการบาดเจ็บที่เอ็นข้อเท้าบริเวณตาตุ่มด้านนอก เนื่องจากเส้นเอ็นในบริเวณดังกล่าวเกิดการยืดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ข้อเท้าแพลงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

ระยะแรก มีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

ระยะที่สอง มีอาการบาดเจ็บจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาด แต่ไม่ถึงครึ่งของเส้นเอ็น 

ระยะที่สาม เส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถลงน้ำหนักได้ 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นใช้หลักการของ RICE ได้แก่

>> Rest - พัก หากทำกิจกรรมอะไรอยู่ต้องหยุดพัก ไม่ว่าจะเดินหรือเล่นกีฬา และหลีกเลี่ยงการใช้งาน
>> Ice - น้ำแข็งหรือการประคบด้วยความเย็น ควรรีบทำทันทีเพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้ลดอาการบวมและลดความเจ็บปวด
>> Compression - รัด เพื่อลดอาการบวม
>> Elevation - ยกให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดไหลลงได้สะดวก ช่วยลดอาการบวม

โดยปกติ ถ้าหากมีอาการข้อเท้าแพลงแบบไม่รุนแรง สามารถประคบด้วยความเย็นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด ซึ่งอาการปวดจะลดลงภายใน 2-3 วัน และหายขาดภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้ารุนแรงถึงขั้นข้อเท้าหลวม มีการปวดเรื้อรังเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด 

สำหรับผู้ที่เคยข้อเท้าแพลง มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดข้อเท้าแพลงซ้ำได้อีกภายในปีเดียวกัน เนื่องจากเส้นเอ็นเคยได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับข้อเท้ามีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ข้อเท้าแพลงบ่อย ๆ และลดอาการปวดข้อเท้าเรื้อรังได้ ดังนี้

1.) ยืนเขย่งปลายเท้าสลับกับยืนบนส้นเท้า (Standing heel/toe rocking) ทำ 20 ครั้ง 3 รอบ

2.) ยืนทรงตัวด้วยขาเดียวนาน 1 นาที 

ทำ 3 รอบ (สลับข้างซ้าย-ขวานับเป็น 1 รอบ) ช่วยกระตุ้นการรับรู้ของข้อเท้าในการทรงตัว (Ankle proprioception/balance) อาจยืนบนพื้นปกติ (แบบง่าย) หรือยืนบนพื้นนุ่ม เช่น บนเบาะนิ่ม ๆ หรือบนพื้นทราย เพื่อเพิ่มความยาก

3.) ยืดกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายในท่ายืน

โดยก้าวขาไปข้างหน้า 1 ข้าง ปลายเท้าชี้ตรงไปด้านหน้าทั้งสองเท้า โน้มตัวไปข้างหน้า โดยส้นเท้าหลังไม่ยกจากพื้น และต้องรู้สึกตึงที่น่องของขาที่อยู่ด้านหลัง ยืดค้างไว้ 30 วินาที 3 รอบ (สลับขาและทำแบบเดียวกัน)

โดยทั้ง 3 ท่าที่แนะนำสามารถทำได้ทุกวันหรือหากท่านใดมีการบาดเจ็บของข้อเท้า ควรขอคำปรึกษาและออกกำลังกายภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์หลังจากที่ได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง
- Tran K, McCormack S. Exercise for the Treatment of Ankle Sprain: A Review of Clinical Effectiveness and Guidelines [Internet]. Ottawa (ON): Canadian Agency for Drugs and Technologies in Health; 2020 Apr 3. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK563007/
- Wells B, Allen C, Deyle G, Croy T. MANAGEMENT OF ACUTE GRADE II LATERAL ANKLE SPRAINS WITH AN EMPHASIS ON LIGAMENT PROTECTION: A DESCRIPTIVE CASE SERIES. Int J Sports Phys Ther. 2019;14(3):445-458. doi:10.26603/ijspt20190445
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/อันตรายจาก-ข้อเท้าพลิก/


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ลำปาง - ททท.สำนักงานลำปาง ร่วมกับ ชมรมสนามกอล์ฟลำพูน แถลงเปิดตัว กิจกรรม"เล่นกอล์ฟ ผ่อนคลาย ที่ลำพูน Green Season"

เมื่อวันพฤหัสบดีที่  1 กรกฏาคม 2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมสนามกอล์ฟลำพูน จัดแถลงข่าว กิจกรรม“เล่นกอล์ฟ ผ่อนคลาย ที่ลำพูน Green Season” (Playing Golf at Lamphun in Green Season) โดยมีนางสาวสรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคเหนือ ททท.นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง และนายสุพชฌาย์ เสวตไอยาราม ประธานชมรมสนามกอล์ฟลำพูน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดสนามกอล์ฟและรีสอร์ทในเครือกัชชัน ร่วมแถลงข่าว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนภายใต้มาตรฐาน SHA ณ ห้องฟ้าประทาน คลับเฮาส์ กัซซัน เลกาซี่ กอล์ฟ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยภูมิภาคภาคเหนือ และ ททท. สำนักงานลำปาง ร่วมกับชมรมสนามกอล์ฟลำพูน และ 6 สนามในจังหวัดลำพูน (สนามกอล์ฟอัลไพน์ กอล์ฟ รีสอร์ท เชียงใหม่ (ลำพูน), สนามกอล์ฟอาทิตยา เชียงใหม่ กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท (ลำพูน), สนามกอล์ฟกัซซัน ขุนตาน กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท, สนามกอล์ฟกัซซัน พาโนราม่า กอล์ฟ คลับ, สนามกอล์ฟกัซซันเลกาซี่ กอล์ฟ คลับ และสนามกอล์ฟหริภุญชัย กอล์ฟ คลับ) จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Lover) ในช่วง Green Season “เล่นกอล์ฟ ผ่อนคลาย ที่ลำพูน Green Season” หรือ Playing Golf at Lamphun in Green Season ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564

โดย ททท. มอบสิทธิประโยชน์ คูปองชุดอาหาร จำนวน 700 คูปองต่อสนามกอล์ฟ ทั้งนี้ทุกสนามกอล์ฟดำเนินกิจกรรมภายใต้ มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Safety & Health Administration (SHA) และยึดหลัก D-M-H-T-T นักกอล์ฟสามารถมาออกรอบท่ามกลางความเขียวขจีของ Fairway และ Putting Green ในบรรยากาศสดชื่นสวยงามมีเอกลักษณ์ของแต่ละสนามกอล์ฟ

นางสาวสรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ว่า เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่มีศักยภาพโดยใช้อัตลักษณ์สนามกอล์ฟที่มีมาตรฐานการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้เป็นที่รู้จักและสามารถขยายผลในการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียงได้ ททท.สำนักงานลำปาง และชมรมสนามกอล์ฟลำพูน  

จึงขอเชิญชวนผู้รักกีฬากอล์ฟมาร่วมกิจกรรม “เล่นกอล์ฟ   ผ่อนคลาย ที่ลำพูน Green Season” เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดลำพูนอย่างปลอดภัยผ่านทางกีฬากอล์ฟ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสนามกอล์ฟในหลายภาคส่วนอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก สนามกอล์ฟอัลไพน์ กอล์ฟ รีสอร์ท เชียงใหม่ (ลำพูน) โทร. 053 880 888 สนามกอล์ฟอาทิตยา เชียงใหม่ กอล์ฟ แอนด์  รีสอร์ท (ลำพูน) โทร. 053 096 333  สนามกอล์ฟกัซซัน ขุนตาน กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท โทร. 053 507 006 สนามกอล์ฟกัซซัน พาโนราม่า กอล์ฟ คลับ โทร. 053-921-815  สนามกอล์ฟกัซซันเลกาซี่ กอล์ฟ คลับ โทร. 053 921 846 และ สนามกอล์ฟหริภุญชัย กอล์ฟ คลับ โทร. 053 096 222


ภาพ/ข่าว  วิภาดา / เชียงใหม่

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” (ตอนที่ 4) “รู้เขา รู้เรา” การสร้างโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการยุคใหม่ ในมุมมองของครูบัญชี

“การชนะทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีการอันวิเศษยิ่ง” และ “หากรู้เขา รู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขารู้แต่เพียงเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธ์นั้นแล” หลาย ๆ ท่านคงไม่คุ้นเคยกับประโยคนี้เท่าใดนัก แต่ถ้าได้ยินคำว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” คิดว่าคงจะคุ้นเคยมากกว่า จากประโยคดังกล่าวเป็นข้อคิดเชิงปรัชญาของซุนวู ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของซุนวู ได้ให้ข้อคิดและผู้เขียนได้นำมาเป็นแนวทางสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ว่า ไม่ว่าเราจะกระทำการใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีการเรียนรู้ที่จะรู้จักตนเองและฝ่ายตรงข้ามเพื่อหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจากความเดิมจากตอนที่ 3 ผู้เขียนได้กล่าวถึงการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ โดยการทำ SWOT analysis เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการใหม่พิจารณาสภาพแวดล้อมภายในองค์การที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน และสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อประเมินโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ขององค์การ ถือเป็นการประเมินการ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อสร้างโอกาสและความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการใหม่

สำหรับผู้ประกอบการใหม่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) คงพิจารณาได้แล้วสำหรับวิธีการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่มีอยู่เดิมของครอบครัว (Family business) การก่อตั้งขึ้นใหม่ (New entrepreneurship) การซื้อต่อจากผู้ประกอบการอื่น (Takeover) หรือธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) โดยในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการนั้นควรมีการตรวจสอบความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น ความพร้อมด้านตนเองโดยการประเมินคุณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ การยอมรับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเลือกประเภทธุรกิจ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงการสำรวจฐานะทางการเงินมีเพียงพอเพื่อประกอบธุรกิจหรือไม่

ดังนั้น การบริหารงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะการดำเนินธุรกิจ แต่โดยทั่วไปการบริหารงานของผู้ประกอบการจะมีหน้าที่การบริหารงานที่สำคัญเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามแนวทางทฤษฎีการบริหารจัดการสมัยใหม่ ของ Peter F. Drucker (2005) ดังต่อไปนี้

1.) การวางแผน (Planning)

2.) การจัดองค์การ (Organizing)

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)

4.) การควบคุม (Controlling)

ที่มา : https://www.pinterest.com/njbusinessbuild/management/

สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

1.) การวางแผน (Planning) 

การวางแผนถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญขององค์การ โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานหรือควบคุมให้องค์การดำเนินงานในอนาคต ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย (Goal) หรือวัตถุประสงค์ (Objectives) ขององค์การในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การวางแผนจึงเป็นการผสมผสานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งในบรรดาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ ประกอบด้วย

1.1.) กำลังคน (Man)
คนงาน พนักงาน หรือบุคลากรภายในและภายนอกองค์กรถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด องค์การจะต้องมีการบริหารกำลังคนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับงานมากที่สุด

1.2.) เงินทุน (Money)
เงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจถือเป็นหัวใจของการบริหารงานในทุกระบบขององค์การ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไม่สามารถดำเนินได้ดีหากขาดเงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจและปัจจัยต่าง ๆ ให้ดำเนินการไปได้

1.3.) วัสดุ (Material)
วัสดุ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนอะไหล่ ผลิตภัณฑ์ บริการหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการนำไปใช้ผลิตสินค้าหรือจำหน่าย ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการใช้ในการผลิตและจำหน่าย มีคุณภาพและต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนขาย

1.4.) การบริหารจัดการ (Management)
การบริหารจัดการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกระบวนการจัดการบริหารควบคุม เพื่อให้งานทั้งหมดภายในองค์การมีระบบที่ชัดเจนตลอดจนมีระเบียบขั้นตอน วิธีการต่าง ๆ ในการทำงานที่ส่งให้องค์การประสบความสำเร็จ มีการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ธุรกิจบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.twenty20.com/photos/91bcfe00-556f-4a52-ad05-f7d95c9b31ab
สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

2.) การจัดองค์การ (Organizing)
การจัดองค์การเกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์กรประกอบด้วย การแบ่งส่วนงานย่อยภายในกิจการให้เป็นหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งงานให้ชัดเจน และการกำหนดคำบรรยายลักษณะงาน (Job description) เป็นลายลักษณ์อักษร การจัดองค์การเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากการวางแผนและการควบคุมของกิจการขึ้นอยู่กับระดับของโครงสร้างองค์การ (ศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2555) ดังนั้น ผู้ประกอบการใหม่ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรกำหนดรูปแบบการตัดสินใจและควบคุมว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ (Decentralize) หรือ การรวมอำนาจ (Centralize) กำหนดจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงานตามขนาดของกิจการ รวมถึงความรู้ความสามารถของพนักงานให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานภายในองค์การ 

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)
การชี้นำและการจูงใจเกี่ยวข้องกับการมอบหมายงานให้บุคคลนำไปปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งต้องอาศัยการประสานงาน การมอบหมายงานด้วยการสื่อสาร (Communication) ที่ทั่วถึงทั้งองค์การ ผู้ประกอบการใหม่ในฐานะผู้บริหารต้องจัดองค์การ โดยการจัดทำผังองค์การ (Organization chart) ที่ระบุอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตลอดจนสายการบังคับบัญชาและควรมีการจูงใจอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้พนักงานตั้งใจและกระตือรือร้นและเต็มใจทำงานให้แก่องค์การ

4.) การควบคุม (Controlling)
การควบคุมถือเป็นขั้นตอนการดำเนินงานขั้นสุดท้าย เป็นกิจกรรมการติดตามผลและการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้งานบรรลุตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแผนงานจะนำไปปฏิบัติอย่างประสบความสำเร็จ การควบคุมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะบรรลุผลได้นั้นจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการในฐานะผู้บริหาร (Management control) และการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน (Operational control) โดยการควบคุมจะมีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน (Performance report) เพื่อประเมินผลโดยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานจริงกับแผนงานที่วางไว้ (เมธสิทธิ์ พูลดี, 2550) 

จากที่กล่าวมา ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการใหม่ในกิจการขนาดใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ก็คือ “หน้าที่การบริหาร” เพื่อนำพาให้องค์การอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตเริ่มต้นจากการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับกำลังคน เงินทุน วัสดุ และการบริหารจัดการ หรือ ที่เรารู้จักในคำว่า “4 M” การจัดองค์การ เพื่อออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์การในการใช้ประโยชน์ในการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ การชี้นำและการจูงใจ ในการมอบหมายงานให้บุคลากรนำไปปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนด และท้ายที่สุดคือ การควบคุม เป็นการติดตามและประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่าแผนงานที่วางไว้ได้นำไปปฏิบัติและประสบผลสำเร็จ

 

เอกสารอ้างอิง 
เมธสิทธิ์  พูลดี. การบัญชีบริหาร. กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น, 2550.
ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. การวางแผนและควบคุมทางการบัญชี. กรุงเทพฯ : ทีพีเอ็น เพรส, 2555. 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top