สะเทือนใจ!! ทุบประติมากรรมปูนปั้น 'ครูทองร่วง' ทำร้านกาแฟ ช้ำหนัก!! คำพูดเจ้าอาวาสปัจจุบัน "อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง"
(24 ก.ย. 67) นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'วรา จันทร์มณี' ระบุว่า...
การทุบปูนปั้นของครูทองร่วง ศิลปินแห่งชาติทำด้วยมือ แต่กลับถูกลบด้วยเท้า
การทุบประติมากรรมปูนปั้นอันงดงามลึกซึ้งของครูทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) หนึ่งในศิลปินแห่งชาติไม่กี่คนของจังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นตำนานเรื่องการบันทึกระบบสังคมการเมืองวัฒนธรรมมาไว้ในงานศิลปกรรม ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำร้านกาแฟ นับเป็นความสิ้นคิด เป็นความมักง่ายของผู้เกี่ยวข้อง เพชรบุรีเป็นเมืองช่างแท้ๆ ทำไมไม่ตระหนัก
การที่เจ้าอาวาสบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลาย นั่นพูดเหมือนจะเป็นนักธุรกิจ ท่านเป็นพระ จะคิดแต่เรื่องเงินไม่ได้ ท่านต้องตระหนักถึงมิติทางสังคม เรามีวัดก็เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณ ศิลปกรรมส่งเสริมจิตวิญญาณ ท่านจะหาเงินก็หาไป แต่ไม่ควรทำลายศิลปวัฒนธรรม
ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์วัดให้ดีขึ้น เหมาะสมแล้ว เดิมมีห้องน้ำอยู่หน้าวัด ดูไม่ดีเลย และจะไม่มีปัญหาเลยถ้าไม่มีการทุบทำลายศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ หรือเต็มที่ก็หาทางย้ายไปจัดแสดงในที่เหมาะสม จะแก้ตัวอย่างไรก็แล้วแต่ แต่งานประติมากรรมของครูทองร่วงถูกทุบทำลายไปจากความมักง่ายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง และเมื่อถูกทุบทำลายไปแล้ว ได้ยินข่าวว่ามีคนบอกจะปั้นให้ใหม่ จะปั้นใหม่ได้อย่างไร มันคนละเรื่องกัน ศิลปินตายไปแล้ว มือแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว
บ่อยครั้งที่เราเห็นศิลปกรรมถูกทำลายด้วยความโง่ แต่เพื่อถนอมน้ำใจกันเลยต้องพูดให้เพราะหน่อยว่า "เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์" ไม่ได้มีเจตนา แล้วอะไรคือเจตนา ความไม่ใส่ใจ ปัดความผิดให้พ้นตัวคือเจตนาใช่หรือไม่ และถ้าจะมาอ้างว่าของอยู่ในวัด เป็นสิทธิ์ของวัดหรือกรรมการอะไรก็อ้างไม่ได้ วัดไม่ใช่ของเจ้าอาวาส วัดไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร วัดเป็นสมบัติสาธารณะ เขาให้มาดูแล ไม่ใช่ให้มาทำลาย การทำลายสมบัติสาธารณะ เจ้าอาวาสในฐานะผู้ดูแลต้องรับผิดชอบ
ประติมากรรม 2 ชิ้นที่ถูกทุบทำลายไป เป็นปูนปั้นประดับเสารั้วพิพิธภัณฑ์วัดมหาธาตุ หรือที่เรียกกันว่า ศาลานางสาวอัมพร บุญประคอง ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2536 ประติมากรรมชิ้นแรกเป็นภาพ 'ชั่งหัวมัน' มีหนุมานทูนตาชั่งที่เอียง โดยข้างหนึ่งที่มีหัวมันสองหัว กลับมีน้ำหนักมากกว่าข้างที่มีหัวมันสามหัว เป็นการเสียดสีถากถางล้อระบบสังคมและกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล เมื่อเรียงเวลาพบว่าประติมากรรมนี้สร้างก่อนที่จะมีโครงการชั่งหัวมันของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมาทำที่อำเภอท่ายาง เมื่อปี 2552
ส่วนประติมากรรมอีกชิ้นเป็นรูปอาคาร ข้างบนเป็นห้องนอนเตียงนอน มีม่านซ้ายขวาพริ้วไหวงดงาม ตรงกลางมีธรรมจักร รายล้อมด้วยเครื่องอัฐบริขาร ส่วนใต้เตียงมียักษ์ไปขดตัวนอนอยู่อย่างอึดอัด เป็นปริศนาธรรมสื่อถึงเรื่อง 'ธัมมะมัจฉริยะ' คือความตระหนี่ในธรรม มัจฉริยะแปลว่าความตระหนี่ เสียดาย เป็นกิเลสที่ทำให้คนใจแคบเห็นแก่ตัว ขาดความกรุณา การปั้นยักษ์ไปนอนขดอยู่ใต้เตียงที่อึดอัด สื่อถึงความโหดร้ายใจแคบ เป็นยักษ์รูปกายก็ร้ายอยู่แล้ว ใจยังร้าย หวงแหนวิชาความรู้ ไม่อยากให้คนอื่นรู้เท่าตน แทนที่จะนอนบนเตียงให้สบาย ก็ยอมไปขดตัวนอนอยู่ใต้เตียงเพื่ออำพรางความรู้ เดี๋ยวคนอื่นเขาจะรู้ว่าเตียงมีไว้นอนข้างบน เดี๋ยวคนอื่นเขาจะเจอความรู้
ในวัดมหาธาตุมีปูนปั้นอีกมาก ซึ่งเป็นทั้งปริศนาธรรมและการบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมการเมือง วัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยทวารวดี เนื่องจากมีการขุดพบซากอิฐสมัยทวารวดีจำนวนมาก แม้แต่การขุดวางฐานรากเพื่อก่อสร้างร้านกาแฟครั้งนี้ก็ยังเห็นศิลาแลงซึ่งน่าจะอยู่ในยุคเดียวกับวัดกำแพงแลง (ตั้งอยู่ใน ต.ท่าราบ อ.เมือง เพชรบุรี) และเห็นอิฐซึ่งน่าจะอยู่ในสมัยทวารวดีเหมือนที่เจดีย์ทุ่งเศรษฐี (ชะอำ) ข้อมูลเหล่านี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรตระหนัก ไม่ใช่ทุบทำลาย และขุดทิ้งอย่างไม่เห็นค่า ทำอย่างนี้นอกจากจะทำลายคุณค่าประวัติศาสตร์ศิลปกรรมของประเทศ แล้วยังเสียชื่อจังหวัดเพชรบุรี ไม่ไว้หน้าคนเมืองเพชร หลวงพ่อบุญรวม อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุผู้มีคุณูปการต่อศิลปกรรมเมืองเพชรบุรี ท่านรักและใส่ใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมมาก แต่ทำไมพอมาถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันถึงเป็นเช่นนี้
ขณะที่เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.67) จากเฟซบุ๊ก 'นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว' นักวิชาการนักเขียนชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...
"พ่อล้อม เพ็งแก้ว ตายไม่ถึง 2 เดือน ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ตายไปปีกว่าๆ ได้มีการทุบงานปูนปั้นการเมืองของครูทองร่วงทิ้งไปแล้ว ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองเพชรบุรี เพราะวัดมหาธาตุจะใช้พื้นที่ทำร้านกาแฟ หมดพ่อล้อม หมดครูทองร่วง ต่อจากนี้ ใครเล่าจะปกป้องรักษางานปูนปั้นศิลปะการเมือง ของเมืองเพชรบุรีเอาไว้ได้"
หลังจากนั้น ด้าน พระวชิรวาที เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ จังหวัดเพชรบุรี โพสต์ข้อความระบุว่า...
"ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือ 'การปรับตัว' คนที่ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทุกๆ วันของคุณจะกลายเป็น 'โอกาส' โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลาย โอกาสเป็นสิ่งที่ไม่เคยรอเราถ้ามาแล้วไม่รีบคว้าเอาไว้จะกลายเป็นอากาศ และยากที่จะพบกับช่วงเวลาอันควร หรือโอกาสอีกสักครั้ง"