Sunday, 20 April 2025
กรมศิลปากร

'การรถไฟ' แก้แบบสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาใหม่ ช่วยลดผลกระทบต่อโบราณสถานและมรดกโลก

(28 ก.พ. 66) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้ Update ข้อมูลสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ระบุว่า...

สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา จะอยู่ตรงไหน มีหน้าตาอย่างไร มาช่วยกันหาทางออก เพื่อพัฒนาเมืองในการศึกษา HIA 10 มีนาคม 2566 นี้!!! ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ อยุธยา

ติดตามและแสดงความคิดเห็นได้ที่ Line
https://lin.ee/WU1GxB7 

HIA Historic City of Ayutthaya

เพื่อน ๆ ยังจำการที่ ‘กรมศิลปากร’ ออกมาคัดค้านในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ด้วยเหตุผลการกระทบกับโบราณสถาน และมรดกโลก ซึ่งขอให้การรถไฟ ทำการศึกษา HIA (ศึกษาผลกระทบกับโบราณสถาน) ซึ่งทำให้โครงการเกิดการชะงัก และกับมาพิจารณากันใหม่

โดย กรมศิลปากรเป็นห่วงในเรื่องความสูงของทางวิ่ง และตัวอาคารสถานี ที่อาจจะสูงมากจนทำให้เป็นทรรศนะอุจาด ของเมืองอยุธยาได้

แต่ถ้าดูตามบริบทของพื้นที่ สถานีรถไฟอยุธยา ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสถานีรถไฟความเร็วสูง อยู่นอกเขตเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งจากเขตของมรดกโลก มากกว่า 1 กิโลเมตร

ซึ่งปัจจุบัน การรถไฟได้จ้างที่ปรึกษามาทำการศึกษา HIA (ศึกษาผลกระทบกับโบราณสถาน) เพื่อหารูปแบบ และป้องกันผลกระทบในทุกด้านกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน

คนอยุธยาช่วยกันออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อจะได้สิ่งที่คนอยุธยาต้องการจริง ๆ นะครับ

เผื่อใครยังไม่ได้อ่านรายละเอียด ประเด็นปัญหาสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา

ซึ่งผมเคยพูดถึงดรามานี้ไปจนใหญ่โต เรื่อง สถานีอยุธยา VS กรมศิลป์ฯ ตามลิงก์นี้
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1201611603610650/ 

การทำ HIA ตามที่กรมศิลป์ฯ และ UNESCO ต้องการ ตามลิ้งค์นี้
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1202420353529775/?d=n 

การเปรียบเทียบ โครงการอื่นๆ ที่ผ่านใกล้กับมรดกโลก จากทั่วโลก
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1286300595141750/?mibextid=BfDkjB

ซึ่งหลังจากที่กรมศิลปากร มีข้อเป็นห่วงกับการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ก็มีการปรับปรุงรายละเอียดเพื่อลดผลกระทบ

โดยจะแก้ไขรายละเอียดสถานีและทางวิ่งช่วงผ่านเมืองอยุธยา คือ...

- ปรับลดคานทางวิ่งของทางรถไฟยกระดับลง 
จาก 21.62 เมตร >>> เหลือ 17 เมตร 

- ใช้ระยะสูงสุดของอาคารตาม EIA เดิม

หลังคากลางอาคารสูงสุด อยู่ที่ 37.45 เมตร...
ระดับชั้น 3 ชานชาลารถไฟความเร็วสูง 21.62 เมตร
ระดับชั้น 2 ชานชาลาพื้นที่ยานตั๋วและรอรถ 12.00 เมตร
ระดับชั้น 1 สถานีเดิม ชานชาลารถไฟทางไกล และชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอนาคต 1.50 เมตร

🔍เปิด 5 สถานที่สำคัญ ที่ ‘กรมศิลปากร’ ประกาศรายชื่อ ฉบับที่ 2 ขึ้นบัญชีให้เป็น ‘โบราณสถาน’ ในเขตกรุงเทพมหานคร จะมีที่ไหนบ้าง? และแต่ละที่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไปดูกันเลย!!

🔍เปิด 5 สถานที่สำคัญ ที่ ‘กรมศิลปากร’ ประกาศรายชื่อ ฉบับที่ 2 ขึ้นบัญชีให้เป็น ‘โบราณสถาน’ ในเขตกรุงเทพมหานคร จะมีที่ไหนบ้าง? และแต่ละที่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไปดูกันเลย!!

 

27 มีนาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมศิลปากร’ เป็นครั้งแรก ‘ดูแลคุ้มครอง-อนุรักษ์-เผยแพร่องค์ความรู้’ ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ

ในทุกวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่สำคัญยิ่งสำหรับบุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานที่สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกการช่างจากกระทรวงโยธาธิการและกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ ที่ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มารวมไว้ด้วยกันเป็นกรมใหม่ และพระราชทานนามว่า ‘กรมศิลปากร’ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรคนแรก

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมศิลปากร โดยรวมเข้ากับราชบัณฑิตยสภาและเรียกกรมศิลปากรว่า ‘ศิลปากรสถาน’ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2469 แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติตั้งกระทรวงและกรม เมื่อ พ.ศ.2476 จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ โดยให้สังกัดกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้กำหนดเอาวันที่ประกาศจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด กระทรวงศึกษาธิการ ศธ.0701.9.6/4 เรื่อง วันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ. 2496 ได้กล่าวถึงการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ภายในเอกสาร มีการกล่าวอวยพรข้าราชการในกรมศิลปากร โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีการจัดงานทำบุญ และเชิญพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ช่วงท้ายของงานมีการจัดรายการนิยายอิงประวัติศาสตร์ประกอบดนตรีไทยออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง ราเมศวร ซึ่งเอกสารชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดงานระลึกวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรในช่วงเวลานั้น

ใน พ.ศ. 2522 นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติกรมศิลปากรใหม่ และในที่ประชุมกรมศิลปากร เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 จึงมีมติให้กำหนดวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร โดยยึดตามวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมศิลปากรขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 นับตั้งแต่นั้น วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงกลายเป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร

เนื่องในโอกาสครบรอบ 113 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณูปการที่หน่วยงานแห่งนี้สร้างเอาไว้ ทำให้ในวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงเป็นวันที่ชาวกรมศิลปากรจะระลึกถึงการก่อตั้งกรมศิลปากร หน่วยงานที่เป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของชาติ ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

สะเทือนใจ!! ทุบประติมากรรมปูนปั้น 'ครูทองร่วง' ทำร้านกาแฟ ช้ำหนัก!! คำพูดเจ้าอาวาสปัจจุบัน "อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง"

(24 ก.ย. 67) นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'วรา จันทร์มณี' ระบุว่า...

การทุบปูนปั้นของครูทองร่วง ศิลปินแห่งชาติทำด้วยมือ แต่กลับถูกลบด้วยเท้า

การทุบประติมากรรมปูนปั้นอันงดงามลึกซึ้งของครูทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) หนึ่งในศิลปินแห่งชาติไม่กี่คนของจังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นตำนานเรื่องการบันทึกระบบสังคมการเมืองวัฒนธรรมมาไว้ในงานศิลปกรรม ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำร้านกาแฟ นับเป็นความสิ้นคิด เป็นความมักง่ายของผู้เกี่ยวข้อง เพชรบุรีเป็นเมืองช่างแท้ๆ ทำไมไม่ตระหนัก 

การที่เจ้าอาวาสบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลาย นั่นพูดเหมือนจะเป็นนักธุรกิจ ท่านเป็นพระ จะคิดแต่เรื่องเงินไม่ได้ ท่านต้องตระหนักถึงมิติทางสังคม เรามีวัดก็เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณ ศิลปกรรมส่งเสริมจิตวิญญาณ ท่านจะหาเงินก็หาไป แต่ไม่ควรทำลายศิลปวัฒนธรรม

ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์วัดให้ดีขึ้น เหมาะสมแล้ว เดิมมีห้องน้ำอยู่หน้าวัด ดูไม่ดีเลย และจะไม่มีปัญหาเลยถ้าไม่มีการทุบทำลายศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ หรือเต็มที่ก็หาทางย้ายไปจัดแสดงในที่เหมาะสม จะแก้ตัวอย่างไรก็แล้วแต่ แต่งานประติมากรรมของครูทองร่วงถูกทุบทำลายไปจากความมักง่ายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง และเมื่อถูกทุบทำลายไปแล้ว ได้ยินข่าวว่ามีคนบอกจะปั้นให้ใหม่ จะปั้นใหม่ได้อย่างไร มันคนละเรื่องกัน ศิลปินตายไปแล้ว มือแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว 

บ่อยครั้งที่เราเห็นศิลปกรรมถูกทำลายด้วยความโง่ แต่เพื่อถนอมน้ำใจกันเลยต้องพูดให้เพราะหน่อยว่า "เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์" ไม่ได้มีเจตนา แล้วอะไรคือเจตนา ความไม่ใส่ใจ ปัดความผิดให้พ้นตัวคือเจตนาใช่หรือไม่ และถ้าจะมาอ้างว่าของอยู่ในวัด เป็นสิทธิ์ของวัดหรือกรรมการอะไรก็อ้างไม่ได้ วัดไม่ใช่ของเจ้าอาวาส วัดไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร วัดเป็นสมบัติสาธารณะ เขาให้มาดูแล ไม่ใช่ให้มาทำลาย การทำลายสมบัติสาธารณะ เจ้าอาวาสในฐานะผู้ดูแลต้องรับผิดชอบ

ประติมากรรม 2 ชิ้นที่ถูกทุบทำลายไป เป็นปูนปั้นประดับเสารั้วพิพิธภัณฑ์วัดมหาธาตุ หรือที่เรียกกันว่า ศาลานางสาวอัมพร บุญประคอง ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2536 ประติมากรรมชิ้นแรกเป็นภาพ 'ชั่งหัวมัน' มีหนุมานทูนตาชั่งที่เอียง โดยข้างหนึ่งที่มีหัวมันสองหัว กลับมีน้ำหนักมากกว่าข้างที่มีหัวมันสามหัว เป็นการเสียดสีถากถางล้อระบบสังคมและกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล เมื่อเรียงเวลาพบว่าประติมากรรมนี้สร้างก่อนที่จะมีโครงการชั่งหัวมันของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมาทำที่อำเภอท่ายาง เมื่อปี 2552 

ส่วนประติมากรรมอีกชิ้นเป็นรูปอาคาร ข้างบนเป็นห้องนอนเตียงนอน มีม่านซ้ายขวาพริ้วไหวงดงาม ตรงกลางมีธรรมจักร รายล้อมด้วยเครื่องอัฐบริขาร ส่วนใต้เตียงมียักษ์ไปขดตัวนอนอยู่อย่างอึดอัด เป็นปริศนาธรรมสื่อถึงเรื่อง 'ธัมมะมัจฉริยะ' คือความตระหนี่ในธรรม มัจฉริยะแปลว่าความตระหนี่  เสียดาย เป็นกิเลสที่ทำให้คนใจแคบเห็นแก่ตัว ขาดความกรุณา การปั้นยักษ์ไปนอนขดอยู่ใต้เตียงที่อึดอัด สื่อถึงความโหดร้ายใจแคบ เป็นยักษ์รูปกายก็ร้ายอยู่แล้ว ใจยังร้าย หวงแหนวิชาความรู้ ไม่อยากให้คนอื่นรู้เท่าตน แทนที่จะนอนบนเตียงให้สบาย ก็ยอมไปขดตัวนอนอยู่ใต้เตียงเพื่ออำพรางความรู้ เดี๋ยวคนอื่นเขาจะรู้ว่าเตียงมีไว้นอนข้างบน เดี๋ยวคนอื่นเขาจะเจอความรู้

ในวัดมหาธาตุมีปูนปั้นอีกมาก ซึ่งเป็นทั้งปริศนาธรรมและการบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมการเมือง วัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยทวารวดี เนื่องจากมีการขุดพบซากอิฐสมัยทวารวดีจำนวนมาก แม้แต่การขุดวางฐานรากเพื่อก่อสร้างร้านกาแฟครั้งนี้ก็ยังเห็นศิลาแลงซึ่งน่าจะอยู่ในยุคเดียวกับวัดกำแพงแลง (ตั้งอยู่ใน ต.ท่าราบ อ.เมือง เพชรบุรี) และเห็นอิฐซึ่งน่าจะอยู่ในสมัยทวารวดีเหมือนที่เจดีย์ทุ่งเศรษฐี (ชะอำ) ข้อมูลเหล่านี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรตระหนัก ไม่ใช่ทุบทำลาย และขุดทิ้งอย่างไม่เห็นค่า ทำอย่างนี้นอกจากจะทำลายคุณค่าประวัติศาสตร์ศิลปกรรมของประเทศ แล้วยังเสียชื่อจังหวัดเพชรบุรี ไม่ไว้หน้าคนเมืองเพชร หลวงพ่อบุญรวม อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุผู้มีคุณูปการต่อศิลปกรรมเมืองเพชรบุรี ท่านรักและใส่ใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมมาก แต่ทำไมพอมาถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันถึงเป็นเช่นนี้

ขณะที่เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.67) จากเฟซบุ๊ก 'นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว' นักวิชาการนักเขียนชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

"พ่อล้อม เพ็งแก้ว ตายไม่ถึง 2 เดือน ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ตายไปปีกว่าๆ ได้มีการทุบงานปูนปั้นการเมืองของครูทองร่วงทิ้งไปแล้ว ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองเพชรบุรี เพราะวัดมหาธาตุจะใช้พื้นที่ทำร้านกาแฟ หมดพ่อล้อม หมดครูทองร่วง ต่อจากนี้ ใครเล่าจะปกป้องรักษางานปูนปั้นศิลปะการเมือง ของเมืองเพชรบุรีเอาไว้ได้"

หลังจากนั้น ด้าน พระวชิรวาที เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ จังหวัดเพชรบุรี โพสต์ข้อความระบุว่า...

"ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือ 'การปรับตัว' คนที่ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทุกๆ วันของคุณจะกลายเป็น 'โอกาส' โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลาย โอกาสเป็นสิ่งที่ไม่เคยรอเราถ้ามาแล้วไม่รีบคว้าเอาไว้จะกลายเป็นอากาศ และยากที่จะพบกับช่วงเวลาอันควร หรือโอกาสอีกสักครั้ง"

สหรัฐเตรียมคืนโบราณวัตถุบ้านเชียง กรมศิลปากรจัดงานรับมอบวันที่ 14พ.ย.นี้

(7 พ.ย. 67) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานยูเนสโกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ณ กรุงเทพฯ และกรมศิลปากร จะจัดพิธีส่งมอบโบราณวัตถุจากแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พิธีส่งมอบโบราณวัตถุบ้านเชียงและการเสวนาในโอกาสวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 10:30 - 15:00 น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ ฯพณฯ โรเบิร์ต แฟรงก์ โกเด็ค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ ฯพณฯ ราฟีค แมนซัวร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จะทำพิธีส่งมอบโบราณวัตถุแก่ ฯพณฯ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยมี ซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ เป็นสักขีพยาน พร้อมกับมีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสอบถามข้อมูล

นอกจากนี้ ภายในงานทางยูเนสโกได้จัดการเสวนาผู้เชี่ยวชาญเนื่องในวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย พิพิธภัณฑ์ และองค์กรนานาชาติ มาร่วมพูดคุยถึงความท้าทายและแนวทางแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมดังกล่าว

ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศิลปากร และพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน จากนิวยอร์ก จะร่วมกันอภิปรายในประเด็นกรอบกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างประเทศ และหลักการซื้อขายอย่างมีจริยธรรมในตลาดศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ

24 กุมภาพันธ์ของทุกปี วันศิลปินแห่งชาติ รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 2 และยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์มรดกศิลปะไทย

วันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายด้านของศิลปกรรม อาทิ กวีนิพนธ์ ดนตรี และประติมากรรม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับช่างประติมากรรมสมัยนั้นในการแกะสลักบานประตูไม้พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่ถือเป็นผลงานชั้นเยี่ยม ปัจจุบันบานประตูนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมที่มีคุณค่ามากมาย เช่น "อิเหนา" ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 และยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกอีกถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในสาขาวรรณกรรม เพื่อแสดงถึงความสำคัญในวงการศิลปะและวรรณกรรมโลก

ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ จึงมีการจัดตั้งวันศิลปินแห่งชาติขึ้นเพื่อเชิดชูและยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ โดยในปี พ.ศ. 2527 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำ "โครงการศิลปินแห่งชาติ" เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นในทุกสาขาของศิลปะ

โครงการนี้มีจุดประสงค์ในการส่งเสริมและยกย่องศิลปินที่ช่วยรักษาและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาและคัดเลือกศิลปินที่มีผลงานทรงคุณค่า ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน ได้มีศิลปินหลายท่านที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ

การยกย่องศิลปินแห่งชาติไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของศิลปะในปัจจุบัน แต่ยังช่วยถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติและศิลปะพื้นบ้านทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่ เพื่อสร้างความตระหนักและยกย่องผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top