Wednesday, 8 May 2024
สภาผู้แทนราษฎร

สนง.เลขาธิการสภาฯ กางค่าตอบแทน ‘สิระ’ จ่อแจ้งให้ชำระเงินคืนภายใน 30 วัน

ที่ปรึกษาประธานสภาฯ แจงรายละเอียดค่าตอบแทน - สิทธิประโยชน์ “สิระ” หลังศาลรธน. สั่งพ้นสภาพ ส.ส. ระบุ สนง.เลขาธิการสภาฯ กำลังรวบรวมก่อนแจ้งให้ชำระภายใน 30 วัน

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง คือ วันที่ 24 มี.ค. 62 และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 วรรคสอง ระบุในกรณีกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมา แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่า เมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงคำวินิจฉัยเต็มเมื่อไหร่ ก็คงจะได้ดำเนินการ 

ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ โดยสำนักงานการคลัง กำลังดำเนินการรวบรวมจำนวนเงิน เพื่อรายงานไปยังเลขาธิการสภาฯ จากนั้น จะแจ้งไปยังนายสิระให้คืนเงิน ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว ส่วนเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่นั้น วันนี้คงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่สำหรับหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเงินกรณีนี้ ซึ่งเคยใช้กับอดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล ท่านหนึ่งที่มีกรณีใกล้เคียงกัน คือ พ้นจากสมาชิกภาพ และตอนนี้อยู่ระหว่างการคืนเงินให้สภา

สภาฯ เปิดผลสอบ ‘นายกฯ’ แจกเงิน ส.ส. แจงไม่พบหลักฐาน ตามที่ ‘ส.ส.วิสาร’ ปูด

5 ม.ค. 65 - ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จ่ายเงินจำนวน 5 ล้านบาท ที่บริเวณชั้น 3 ภายในอาคารรัฐสภาให้กับส.ส. เพื่อให้ลงคะแนนไว้วางใจให้กับนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64 ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งสภาผู้แทนราษฎร เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเรื่องดังกล่าว จำนวน 5 ราย โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ต่อมาคณะกรรมการฯ ขอขยายระยะเวลาออกไปอีกครั้งละ 30 วัน จำนวน 2 ครั้ง

นพ.สุกิจ กล่าวต่อว่า กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 64 คณะกรรมการส่งรายงานผลการตรวจสอบต่อประธานสภาฯ ผู้แทนราษฎร โดยมีเนื้อหาระบุถึงแนวทางการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ (1.) ได้เชิญนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะบุคคลซึ่งได้อภิปรายมาให้ข้อมูล ซึ่งได้มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 64 (2.) ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาภายในอาคารรัฐสภา การเข้าปฏิบัติภารกิจภายในห้องรับรองนายกฯ ที่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา ของนายกฯ และผู้ติดตามนายกฯ (3.) ตรวจสอบการเข้าพบนายกฯ ของส.ส. ที่ห้องรับรองนายกรัฐมนตรี ชั้น 3 อาคารรัฐสภา ในช่วงเวลาที่มีการกล่าวอ้างจากการอภิปรายของส.ส. ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64

‘พล.อ.ประวิตร’ เดินทางเข้ารายงานตัว ส.ส.บัญชีรายชื่อชุดที่ 26 พร้อมเดินหน้าทำงานให้ประชาชนและประเทศชาติ

วันนี้ (20 มิ.ย. 66) เวลา 14.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เดินทางเข้ารายงานตัวเป็นวันแรก หลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยในวันเดียวกันมีส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐบางส่วนเริ่มทยอยรายงานตัวต่อ สภาผู้แทนราษฎร เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในการเดินทางมาสภาฯครั้งนี้ มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มารอให้การต้อนรับ
       
จากนั้นเมื่อรายงานตัวเสร็จสิ้น พล.อ.ประวิตร ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายงานทีวีสภา โดยระบุว่า ตนขอขอบคุณที่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐเข้ามารับใช้ประชาชน รับใช้ประเทศชาติ รับใช้ประชาชนรวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมืองของเราต่อไป ก็ต้องขอขอบคุณท่านที่มาลงคะแนนเสียงให้พรรคพลังประชารัฐได้เข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในครั้งนี้

"ผมก็อยากจะเห็นร่วมมือของ ส.ส.ทุกท่านได้ร่วมทำงานให้ประชาชนเพื่อประเทศชาติ และ เพื่อแผ่นดินที่รักยิ่งของเราคือสถาบันพระมหากษัตริย์นะ เพื่อที่จะให้พัฒนาชาวราษฎรสืบไป เพราะประเทศเราก็มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ฝากกับทุกท่านด้วยว่า ท่านจะทำงานด้วยความร่วมมือร่วมแรงกันอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือนั้น เพื่อต่อยอดทำให้ประเทศชาติของเราพัฒนาก้าวได้ต่อไป"

พลเอกประวิตร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อยากเห็นความร่วมร่วมมือกันระหว่าง ส.ส. และก็อย่าใช้อารมณ์ซึ่งกันและกันในสภา ทุกอย่างก็เป็นไปตามเรื่องของประชาธิปไตยอันดีงาม อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทุกอย่างก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงอยากจะฝากกับทุกท่านว่า ขอให้ทุกคนทำงานร่วมไม้ร่วมมือกันเพื่อประเทศชาติ และประชาชนของเราให้มีความอยู่ดี กินดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคนนั้นเป็นอยู่ต่อไปครับตราบชั่วกาลนานเทอญ

ทั้งนี้เมื่อ พล.อ.ประวิตร ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับ โชว์ใบรับรอง ส.ส. และบัตรประจำตัวส.ส.ต่อสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี และย้ำว่า ไม่รู้สึกตื่นเต้น เพราะเคยเป็นสมาชิกรัฐสภาเมื่อปี พ.ศ.2551 จึงมีความคุ้นเคยดี 

นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปภาพรวมการรายงานตัว ส.ส. ชุดที่ 26 วันแรก (20 มิ.ย.66)ของการรายตัว โดยในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมารายงานตัวจำนวน 17คนประกอบด้วย จังหวัดสงขลา 1.ร.อ. ธรรมนัส  พรหมเผ่า พรรคพลังประชารัฐ. จังหวัดพะเยา 2. นายไผ่  ลิกค์  พรรคพลังประชารัฐจังหวัดกำแพงเพชร3. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดฉะเชิงเทรา4.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข  พรรคพลังประชารัฐจังหวัดตาก 5.นายคอซีย์ มามุ พรรคพลังประชารัฐจังหวัดปัตตานี 6. นายชัยมงคล ไชยรบ พรรคพลังประชารัฐจังหวัดลพบุรี 7. นายฉกาจ  พัฒนกิจวิบูลย์พรรคพลังประชารัฐจังหวัดพังงา8 . น.ส.กาญจนา  จังหวะ  พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดชัยภูมิ9. นางขวัญเรือน เทียนทอง. พรรคพลังประชารัฐจังหวัดสระแก้ว 10. นายปกรณ์ จีนาคำ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดแม่ฮ่องสอน11. นายสุธรรม จริตงาม  พรรคพลังประชารัฐ   จังหวัดนครศรีธรรมราช  12. นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดสงขลา 13.นางรัชนี พลซื่อ  พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดร้อยเอ็ด14. นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดราชบุรี15.นายนเรศ ธำรงทิพยคุณ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่ 16. นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดนราธิวาส17. นายสัมพันธ์  มะยูโซ๊ะ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดนราธิวาส
 

‘พรเพชร’ เชื่อ ไม่เลื่อนวันโหวตประธานสภาฯ 4 ก.ค. คาดใช้เวลาไม่นาน ชี้ลงมติเลือกนายกฯ เสียง ส.ว. ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน

วันที่ 26 มิ.ย. 2566 – ที่วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา วันที่ 3 ก.ค. ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เวลา 17.00 น. โดยมี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ส.ส. และ ส.ว. สำหรับความพร้อมตนได้ลงพื้นที่ตรวจดูความเรียบร้อยแล้ว จะเป็นห่วงแค่แม้จะเป็นห้องโถงใหญ่ แต่เนื่องจากจะมีผู้เข้ามาร่วมจำนวนมาก เกรงว่าที่จะคับแคบ แต่คิดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย และกำชับส่วนต่างๆ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

ส่วนการรายงานตัว ส.ส. ทราบใกล้จะครบแล้ว และจะประสานไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพราะในวันที่ 4 ก.ค. จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เวลา 09.00 – 09.30 น. สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตประธานสภาฯ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยจะเป็นการประชุมลับและลงมติลับ ส่วนวิธีการโหวตทำได้ 2 แบบ โดยแบบแรก คือการกดปุ่มแสดงตน แต่วิธีนี้สามารถค้นหาย้อนหลังได้ว่าใครเลือกใคร ส่วนวิธีที่ 2 เป็นการหย่อนบัตร ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลานานหน่อย แต่ต้องดูว่าเขาจะใช้วิธีไหน

เมื่อถามว่า วันโหวตเลือกประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี จะมีการเลื่อนวันอีกหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่ดุลพินิจของตน ตนไม่มีดุลพินิจที่จะไปสั่งการอะไรทั้งสิ้น ถ้าสภาฯ พร้อมเมื่อไหร่ก็จะมีการแจ้งมา และก็จะดำเนินการ ทั้งนี้ การโหวตเลือกประธานสภาฯ ยังเป็นวันที่ 4 ก.ค. ยกเว้นหัวหน้าพรรคต่างๆ ไปตกลงกันใหม่ร่วมกัน อาจจะเปลี่ยนก็ได้ แต่ขณะนี้เชื่อว่าจะไม่เปลี่ยน และวันนั้นจะมีการโหวตเลือกรองประธานสภาฯ 2 คนด้วย

ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า คุณสมบัติของประธานสภาฯ ตนไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ว่า เป็นคนอายุน้อยหรือเป็นคนอายุมากที่มีประสบการณ์ เพราะการเลือกประธานสภาแต่ละครั้งมีเหตุผลต่างกัน แต่หลักที่ปฏิบัติกันมาตามปกติประธานสภาฯ จะเป็นของพรรคที่มีเสียงข้างมาก แต่บางครั้งก็ไม่เป็น แต่มันก็ต้องมีเหตุผล ซึ่งเขาก็ต้องอธิบายได้

เมื่อถามว่า ทิศทางการโหวตนายกฯ ของ ส.ว. เสียงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า พูดได้เลยว่าไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรอก ตนไม่ทราบว่าใครคิดยังไง เขามีความคิดของเขา แต่ละคนมีเหตุผลและวุฒิภาวะ เลือกที่จะตอบได้ว่าทำไมถึงเลือกและทำไมถึงไม่เลือกในการออกเสียง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้มาพูดคุยด้วยหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ได้มาพูดคุย เพราะท่านทราบดีว่าตนต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ซึ่งไม่มีพรรคไหนมาคุยกับตน เพราะพวกเขาทราบว่าตนต้องทำหน้าที่อย่างไร

ส่วนวันโหวตนายกฯจะเรียบร้อยหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไรไม่เรียบร้อย แต่อาจจะมีความวุ่นวายในช่วงการอภิปราย ก็คิดว่าทุกท่านก็คงเข้าใจว่าต้องใช้สิทธิ์อยู่ในกรอบในการอภิปรายหรือการชี้แจงตามขอบเขต ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรวุ่นวาย

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทาง ส.ว. จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นายพรเพชร กล่าวว่า ไปทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่ตนคิดเอาเองอาจจะมีการซักถาม หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไร แต่ก็เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯที่จะดูแลเรื่องความเรียบร้อย
สำหรับคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นนายกฯ นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า เลือกคนดีคนเก่ง นี่เป็นหลักอย่างหนึ่ง ดีและเก่งสามารถนำพาประเทศชาติ ให้มีความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย ตนย้ำมาโดยตลอดขอให้ ส.ว. ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ และที่สำคัญต้องคำนึงถึงประเทศชาติ

เมื่อถามว่า สังคมกดดันให้เลือกนายกฯ จากฝั่งรัฐบาลเสียงข้างมาก นายพรเพชร ถามกลับว่า สังคมหมายถึงใคร ผู้สื่อข่าวบอกว่า พรรคที่มีประชาชนเลือกมาเป็นอันดับ 1 นายพรเพชร กล่าวว่า ก็คงเป็นธรรมดาที่ประชาชนอยากให้พรรคที่เลือกได้สมประสงค์ แต่ก็ขอให้อยู่ในขอบเขต

‘อนุทิน’ โพสต์เฟซบุ๊ก โชว์บัตรประจำตัว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ 

26 มิ.ย. 2566-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย(ภท.) และหัวหน้าพรรค ภท. โพสต์เฟซบุ๊ก Anutin Charnvirakul โชว์บัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมระบว่า “เริ่มต้นการเป็น ส.ส. สมัยที่สอง”

‘ชลน่าน’ เชื่อรัฐบาลข้ามขั้วไม่เกิด  ย้ำดัน ‘พิธา’ นั่งนายกฯ ปัดดีลลับ ‘ลุงป้อม’

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 27 มิ.ย.66 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกรรมการบริหารพรรค และประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยวันเดียวกันนี้ จะมีความชัดเจนถึงขั้นมีรายชื่อออกมาเลยหรือไม่ว่า

เรามีคณะเจรจาที่จะไปคุยกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งจะหารือกันวันที่ 28 มิ.ย. วันนี้คงยังยกรายชื่ออะไรออกมาก่อนไม่ได้ ต้องรอให้คุยกับพรรคก้าวไกลก่อน ส่วนจะมีมติพรรคหรือไม่นั้น มติพรรคจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่เราทราบความต้องการของสมาชิกพรรคที่อยากให้พรรคเพื่อไทย ได้ตำแหน่งประธานสภา ซึ่งคณะเจรจาก็มีข้อเสนออีกมุมหนึ่ง จึงจะนำสองมุมมองนี้มาหารือร่วมกันก่อนไปคุยกับพรรคก้าวไกลว่าทั้งสองพรรคจะมีทางออกอย่างไร

เมื่อถามว่าหากคุยกับพรรคก้าวไกลแล้ว ก่อนโหวตเลือกประธานสภาฯ วันที่ 4 ก.ค. พรรคเพื่อไทยต้องมีการประชุมส.ส.กันอีกครั้งหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทุกอย่างต้องจบก่อนวันที่ 4 ก.ค. มั่นใจจบได้ด้วยดี แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นก็อาจมีการประชุม ส.ส.ก่อนวันที่ 4 ก.ค. และเชื่อวันลงมติเสียงพท.จะไม่แตก
เมื่อถามว่าหากมีการลงมติกันแล้วมั่นใจว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย.จะโหวตทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอนนี้เรายังไม่ใช้ที่ประชุมเพื่อลงมติ เพราะการเจรจายังไม่สิ้นสุด หากเอามติพรรคไปเป็นข้อเจรจา การหารือจะลำบาก เราต้องไปฟังคู่เจรจาก่อนว่าจากมุมของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเห็นอย่างไร เราคุยกันแบบพรรคร่วมที่จะต้องจับมือร่วมกันไป เรารู้ว่าเราแยกกันไม่ได้ และเราเองก็ไม่มีทางที่จะแยกกันได้ด้วย ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ถูกมัดด้วยอาณัติของประชาชนเช่นนี้จึงแยกยาก ต้องจับมือร่วมกันไปเพื่อทำงานตามที่ประชาชนมุ่งหวัง คือรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน 

เมื่อถามย้ำว่าไม่ว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภาฯไป เสียง 8 พรรคร่วมจะไม่แตกใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องจับมือกันไป ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ หรือคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันเพื่อจับมือกันไปอย่างมั่นคง เมื่อถามว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้วจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในมุมพท.มั่นใจไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นแต่ในมุมมองของสื่อ

เมื่อถามถึงความกังวลในการเสนอชื่อนายกฯ แข่งของฝ่ายรัฐบาลเดิมในวันโหวตเลือกนายกฯ เมื่อรวมกับเสียงของส.ว.จะได้รัฐบาลเสียงข้างน้อย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็มีความเป็นไปได้เพราะเขามีสิทธิที่จะทำ หากเขาทำเช่นนั้นโอกาสได้นายกฯ สูงมาก เพราะเขามีเสียง 188 บวกกับ ส.ว.250 ก็เกิน 276 เสียง ก็ถือเป็นข้อกังวล แต่หากการโหวตครั้งแรกๆ เขาน่าจะมีความละอาย ไม่เกรงกลัวต่อบาปก็ได้ ดังนั้นเขาน่าจะละอายที่ไม่เสนอชื่อนายกฯ เสียงข้างน้อยมาแข่ง อย่างไรก็ตาม หากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง เรามีหน้าที่รับมือไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

เมื่อถามว่า ส.ว.บางคนแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่โหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คนที่ตัดสินคำนั้นดีที่สุดคือประชาชน เพราะประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เหตุผลที่เขาจะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย คือเขาเป็นนายกฯ เพื่อยุบสภาฯ และสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลเท่านั้น ต้องถามว่าประชาชนเอาหรือไม่ รับได้หรือไม่

เมื่อถามว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะประสานกับ ส.ว.ก่อนการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นหน้าที่หลักโดยเฉพาะของพรรคก้าวไกลที่ต้องพูดคุย หาเสียงจาก ส.ว.และ ส.ส.จากพรรคอื่นที่ไม่ได้ประกาศเข้าร่วมรัฐบาล ให้ได้เสียง 376 เสียงเพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ แต่หากพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็ต้องมีคำตอบให้ประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร เขาจะได้หาวิธีการและช่องทางในการตัดสินอนาคตของประเทศได้ว่าเขาจะทำอย่างไร แต่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะมีแผนสำรองอยู่ตลอด เราเองในฐานะ 8 พรรคร่วมไม่สามารถพูดได้ว่าเรามีแผนสำรอง เรามีแบบแผนหลักคือจะทำอย่างให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนายพิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30 เท่านั้น

เมื่อถามว่าหากวันนั้นโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ไม่สำเร็จ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะทำอย่างไรต่อ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า“ไม่ใช่ว่าพรรคอันดับ 2 เดินอย่างไร แต่ต้องทั้ง 8 พรรคมาคุยกัน”
เมื่อถามว่าหากเป็นพรรคเพื่อไทย จะสามารถรวมเสียงได้ 376 เสียงหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ด้วยความเคารพ ผมพยายามที่จะไม่ตอบคำถามนี้ เพราะผมตอบไม่ได้จริงๆ หากตอบจะกลายเป็นเงื่อนไขที่เราพยายามแย่งจัดตั้งรัฐบาลซึ่งไม่ดี”

เมื่อถามถึงกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อดีลลับกับพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าไม่มีดีลลับ เพราะถ้ามีเขาต้องมาแจ้งผม ซึ่งคนดีลกลับมาแล้ว และในนามหัวหน้าพรรคยืนยันไม่ได้รับการแจ้งเบาะแสเรื่องที่เป็นข่าว โดยสรุปคือเราไม่มีดีลลับ”

เมื่อถามต่อว่าเป็นการดิสเครดิตทำลายพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แล้วแต่จะมอง เราชินชาแล้วแต่ก็คงไปห้ามไม่ให้มีข้อวิจารณ์ไม่ได้ แต่เรายืนยันว่าจะยึดในวิถีประชาธิปไตยและประชาชนเป็นหลัก

‘ลุงป้อม’ ลั่น จะขออยู่ ‘พลังประชารัฐ’ จนวันตาย ติวผู้แทนใหม่ ยึดประโยชน์ชาติ ไม่ยึดประโยชน์ตัวเอง 

วันนี้ (2 ก.ค. 2566) เวลา 14.15 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ กล่าวมอบแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ว่า ก่อนอื่นตนขอแสดงความยินดีกับ ส.ส.ใหม่ รวมไปถึงคณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการนโยบาย รวมไปถึงสมาชิกของพรรค พปชร.ทุกคน ตนและคณะกรรมการบริหารพรรคขอแสดงความยินดีกับ ส.ส.ใหม่ทุกท่านด้วยความยินดียิ่งที่ท่านได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมามีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นมากกว่าทุกครั้ง จากข้อมูลการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองมาเสนอให้กับพี่น้องประชาชนเลือกถึง 67 พรรค และมากกว่า 4,000 หน่วย 400 เขตเลือกตั้ง ซึ่งมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 75% สูงที่สุดในประวัติการณ์ แม้ว่าพรรค พปชร.จะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนมาเป็นอันดับ 4 ก็ตาม แต่ก็ได้รับเลือกตั้งมาเป็นตัวแทนประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาค ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จึงถือได้ว่า พวกเราได้รับความศรัทธาจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะ ส.ส.ที่ได้นั่งอยู่ในห้องนี้ผ่านการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมาก แต่ก็เอาชนะมาได้ เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะต้องนำผลการเลือกตั้งไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า ตนได้แถลงขอบคุณประชาชนทั้งประเทศที่ให้ความไว้วางใจในพรรค พปชร. ไปแล้วตั้งแต่ในวันที่เสร็จสิ้นการเลือกตั้ง และตอนนี้ตนขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพรรค พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่ทำงานอยู่ร่วมกันอย่างเหน็ดเหนื่อย รวมไปถึงผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทุกคน ทุกเขตที่ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ทำงาน และมีส่วนร่วมสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างดี

“ถึงวันนี้พรรคพลังประชารัฐของเราจะต้องเดินไปข้างหน้าตามอุดมการณ์ ตามเจตจำนงของพรรคที่ขออาสาเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นพรรคการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมขอยืนยันว่าจะดูแลพรรคพลังประชารัฐไปตลอดชีวิตของผม เท่าที่ผมมี เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าผมจะลาออกหรือไปที่ไหน อย่างไรก็จะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐตลอดไป”พล.อ.ประวิตร กล่าว

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า หลังจากพิธีเปิดประชุมรัฐสภา 3 ก.ค.จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธาน สภาฯในวันที่ 4 ก.ค. จากนั้นจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาในรูปใดก็ตาม พรรค พปชร. ยังจะเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อรับใช้ประชาชนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า การปฐมนิเทศวันนี้ ตนอยากให้เป็นจุดเริ่มต้นที่รวมบุคลากรคนสำคัญของพรรค ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ก็ตาม จะต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้พรรค พปชร.เป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง และเป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป โดยเฉพาะ ส.ส.ใหม่หรือคนเก่า ไม่ว่าสมัยที่แล้วอยู่พรรคใด แต่วันนี้จะต้องมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวของพรรค พปชร. จะต้องทำหน้าที่ทั้งในและนอกสภาฯอย่างเต็มที่ จะต้องทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม เมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจสนับสนุนพวกเรา เราต้องทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อยากจะให้ข้อคิดกับ ส.ส.ทุกท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติว่า การทำหน้าที่ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติข้อบังคับของพรรค อย่างเคร่งครัด รวมถึงจะต้องมีจริยธรรม โดย ส.ส. พรรค พปชร.จะต้องเป็นเอกภาพ ไม่มีการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทุกอย่างที่ตนพูดในวันนี้ไม่ใช่ว่าจะก่อประโยชน์ให้กับคนใดคนหนึ่ง แต่จะก่อให้เกิดประชาชนและประเทศชาติ ส.ส.ของพรรคเราจะยึดประเทศชาติเป็นที่ตั้งไม่ใช่ผลประโยชน์ของพรรค และจะต้องรักษาผลประโยชน์ของพรรค ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว หากทุกคนปฎิบัติตามนี้แล้ว เชื่อมั่นว่าพรรค พปชร.จะเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง และจะเป็นที่พึ่งของประชาชนตลอดไป การปฐมนิเทศวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ ส.ส.จะได้ทำหน้าที่เป็น ส.ส.ของพรรค พปชร.ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ขอให้กำลังใจแก่ทุกท่านให้ปฎิบัติหน้าที่ ส.ส.อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ทุกประการ

'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาด กรณี 'มติสภาห้ามชงชื่อซ้ำ' พร้อมขอให้ชะลอโหวตนายกฯ

(24 ก.ค. 66) ที่สำนักงาน​ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการ​สำนักงาน​ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ แถลงผลวินิจฉัยกรณีขอให้ยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีรัฐสภาลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ในที่ประชุมรัฐสภาได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์​ หัวหน้า​พรรค​ก้าวไกล​ ให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 แต่มีประเด็นโต้แย้งว่าการเสนอชื่อเป็นญัตติซ้ำเป็นข้อห้ามของข้อบังคับรัฐสภา กรณีที่ญัติใดที่ตกไปแล้วห้ามเสนอชื่ออีกในสมัยประชุมเดียวกัน

โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภา และประชาชนจำนวน 17 คำร้อง ขอให้ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ​ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 จากกรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนว่า เข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 หรือไม่

โดยเห็นว่า รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญและการกระทำของรัฐสภา ในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม มาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญการกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง

โดยผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนี้คำร้องเรียนส่วนหนึ่ง ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ซึ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป

ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะขัดต่อกฎหมาย และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ และยากที่จะเยียวยาแก้ไข จึงเห็นด้วยกับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ​กำหนดการชะลอพิจารณานายกฯ ออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ​จะมีคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตามการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ​ นี้คาดว่าจะเป็นวันพรุ่งนี้ 25 ก.ค. หรือ 26 ก.ค.นี้

ก.แรงงาน ต้อนรับ กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร หารือช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมกับ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ในโอกาสศึกษาดูงานและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และแผนการดำเนินงานตามนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสิรภพ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร 
ในวันนี้ที่ได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ตลอดจนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และแผนการดำเนินงานตามนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการของคณะกรรมาธิการการแรงงาน ถือได้ว่า เป็นการปฏิบัติงานที่เคียงคู่กับกระทรวงแรงงาน มีการเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ไปนำเสนอข้อมูลด้านต่าง ๆ อย่างครอบคลุมทุกมิติในการดูแลและพัฒนาแรงงาน อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ส่งผลให้กระทรวงแรงงานประสบความสำเร็จในด้านความช่วยเหลือให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังจากการประชุมถึงความคืบหน้าสถานการณ์ของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอลว่า ขณะนี้ยังได้รับรายงานจากทูตแรงงานที่กรุงเทลอาวีฟว่ามีผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 9 ราย และมีแรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 ราย 
มีแรงงานแจ้งความประสงค์กลับไทยผ่านช่องทางของสถานทูตเพิ่มเป็น 2,990 คน จากการที่คณะกรรมาธิการการแรงงาน ได้มาศึกษาดูงานที่กระทรวงแรงงานในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจในขณะนี้ ในส่วนของกระทรวงแรงงานท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ได้สั่งการทูตแรงงาน ณ กรุงเทลอาวีฟ เร่งให้ความคุ้มครอง ดูแล และช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเต็มที่และรวดเร็วที่สุด รวมทั้งให้ประสานกระทรวงการต่างประเทศในการนำแรงงานไทยกลับบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งแรงงานชุดแรกจำนวน 15 คน จะเดินทางถึงไทยในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ กระทรวงแรงงานได้เตรียมเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกเพื่อให้แรงงานได้สิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่แรงงานพึงได้รับตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังได้นำคณะกรรมาธิการการแรงงานตรวจเยี่ยมการ
ให้บริการของสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 ตลอด 24 ชั่วโมง และ “ศูนย์ช่วยเหลือแรงงงานและติดตามสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 11 และชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อรับข้อมูลและประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top