จีน’ ออกโรงเตือน ‘สหรัฐฯ’ ตั้งกลุ่มพันธมิตรสไตล์ ‘นาโต’ มีแต่ทำ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ จมลงสู่วังวนแห่งความขัดแย้ง

เมื่อไม่นานนี้ รัฐมนตรีกลาโหมจีน เตือนการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารสไตล์ ‘นาโต’ รังแต่จะทำให้ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เจอกับวังวนความขัดแย้ง ย้ำโลกจะต้องเผชิญหายนะที่ไม่อาจทนทานได้ หากมีการเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างจีนกับอเมริกา กระนั้น เขาก็ย้ำว่าประเทศของเขามุ่งแสวงหาการสนทนากันมากกว่าการเผชิญหน้า สำหรับทางด้านนายใหญ่เพนตากอน แสดงความไม่พอใจที่เรือจีนพุ่งตัดหน้าเรือพิฆาตของสหรัฐฯ ในระยะประชิด ขณะที่กองทัพปักกิ่งโต้ว่า อเมริกาและแคนาดาจงใจยั่วยุให้เกิดความเสี่ยงจากการร่วมกันเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวัน

‘หลี่ ช่างฝู’ รัฐมนตรีกลาโหมจีน กล่าวปราศรัยในเวทีประชุมความมั่นคง แชงกรีลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์เมื่อวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) ว่า ความพยายามในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารในรูปแบบคล้ายกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในเอเชีย-แปซิฟิกรังแต่จะทำให้ภูมิภาคนี้เผชิญวังวนความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

การแสดงความคิดเห็นนี้ตอกย้ำคำวิจารณ์ของจีนต่อความพยายามของอเมริกาในการรวบรวมพันธมิตรในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของปักกิ่ง ขณะที่จีนตอบโต้ว่าเป็นความพยายามของวอชิงตันที่จะรักษาฐานะความเป็นเจ้าใหญ่เหนือใคร ๆ ของพวกเขาเอาไว้

ทั้งนี้ อเมริการิเริ่มผลักดันและเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มออคัส ที่ประกอบด้วยออสเตรเลียและอังกฤษ ตลอดจนกลุ่มควอด ที่มีทั้งออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น

หลี่เสริมว่า เอเชีย-แปซิฟิกวันนี้ต้องการการร่วมมือที่เปิดกว้างและครอบคลุมทุกประเทศ ไม่ใช่การจับกลุ่มยิบย่อยมาต่อต้านชาติอื่น

รัฐมนตรีกลาโหมจีนยังพยายามสร้างภาพให้อเมริกาเป็นผู้ปลุกปั่นให้เอเชียไร้เสถียรภาพ ขณะที่จีนต้องการผ่อนคลายสถานการณ์ โดยกล่าวว่า โลกใหญ่พอที่จีนและอเมริกาจะเติบโตไปพร้อมกัน นอกจากนั้น แม้มีระบบและหลาย ๆ อย่างต่างกัน แต่ไม่ได้ขัดขวางไม่ให้สองประเทศแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการร่วมมือ และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากเกิดความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างจีนกับอเมริกา โลกจะต้องเผชิญหายนะที่ไม่อาจทนทานได้

ก่อนหน้านี้ ในวันเสาร์ (3 มิ.ย.) ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่ร่วมการประชุมแชงกรีลาที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน ประณามจีนที่ปฏิเสธการจัดการหารือทางทหาร โดยระบุว่า การหารือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและการคำนวณผิดพลาด ไม่ใช่การให้รางวัล

วันเดียวกันนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า ได้ส่งเรือพิฆาตยูเอสเอส ชุงฮุน จากกองเรือที่ 7 แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันพร้อมกับเรือฟริเกต เอชเอ็มซีเอส มอนทรีออลของแคนาดา และจีนตอบโต้ด้วยการส่งเรือลำหนึ่งเข้าประชิดเรือยูเอสเอส ชุงฮุน

ต่อมาในวันอาทิตย์ ออสตินกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า อันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากเรือจีนพุ่งตัดหน้าเรือพิฆาตของอเมริกาในระยะห่างแค่ 46 เมตร พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำจีนควบคุมการกระทำในลักษณะดังกล่าวที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ทว่า กองทัพจีนวิจารณ์ว่า อเมริกาและแคนาดาจงใจยั่วยุให้เกิดความเสี่ยงจากการร่วมกันเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวันซึ่งเป็นน่านน้ำที่มีความอ่อนไหว

ทางฝ่ายหลี่สำทับว่า จีนจะไม่ยอมให้อเมริกาและพันธมิตรใช้ข้ออ้างของเสรีภาพในการเดินเรือเพื่อครองอำนาจครอบงำการเดินเรือ

ภายหลังการกล่าวปราศรัยของหลี่ นักวิชาการหลายคนได้ถามย้ำหลี่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงการที่จีนเพิ่มประจำการทางทะเลในทะเลจีนใต้ซึ่งมีข้อพิพาทด้านอธิปไตยกับหลายชาติ ปรากฏว่ารัฐมนตรีกลาโหมจีนไม่ได้ตอบคำถามตรงๆ แต่บอกว่า การเคลื่อนไหวของประเทศนอกภูมิภาคทำให้ความขัดแย้งลุกลาม

ทั้งนี้ ออสติน และหลี่จับมือและคุยกันสั้นๆ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเปิดประชุมในวันศุกร์ (2 มิ.ย.) แต่ไม่ได้หารือกันเป็นเรื่องเป็นราว โดยอเมริกานั้นเชิญหลี่พบปะหารือกับออสตินนอกการประชุมแชงกรีลา แต่ปักกิ่งปฏิเสธ

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของสหรัฐฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า วอชิงตันยังเสนอการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ปักกิ่งไม่ตอบกลับ

ขณะที่สมาชิกคนหนึ่งของคณะผู้แทนจีนบอกกับเอเอฟพีว่า เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการหารือคือ อเมริกาต้องยกเลิกการแซงก์ชันหลี่ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2018 จากกรณีการซื้ออาวุธจากรัสเซีย

นอกจากนั้น ชุ่ย เทียนข่าย อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตัน ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้านนอกการประชุมแชงกรีลาเมื่อวันอาทิตย์เรียกร้องให้อเมริกาถอนปฏิบัติการทางทหารใกล้จีนเพื่อแสดง ‘ความสุจริตใจ’ หากต้องการฟื้นการเจรจาระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็มีสัญญาณบางประการเหมือนกัน ซึ่งแสดงว่าทั้งสองประเทศเริ่มมี ‘การสนทนา’ กันมากขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง

เป็นต้นว่า ‘วิลเลียม เบิร์นส์’ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้เดินทางอย่างลับๆ ไปยังจีนเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งประกาศเรื่องนี้เมื่อวันศุกร์ (2) ที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แดเนียล คริเทนบริงค์ ก็เดินทางไปจีนเมื่อวันอาทิตย์ (4) ในการเยือนซึ่งช่วงหลังๆ นี้เกิดขึ้นมาน้อยครั้ง