‘กรมควบคุมมลพิษ’ เผย ค่าฝุ่นเกินกว่ามาตรฐาน 21 จังหวัด หนักสุด!! ‘แม่สาย’ วัดได้ 590 มคก. ส่งผลต่อสุขภาพต่อเนื่อง

(27 มี.ค. 66) กรมควบคุมมลพิษรายงานภาพรวมค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กทั่วประเทศ เกินค่ามาตรฐาน 21 จังหวัด โดยภาคเหนือเผชิญค่า PM2.5 พุ่งสูงชนิดสาหัส 28 พื้นที่ หนักสุดที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย เชียงรายวัดได้ 590 มคก. รองลงมาเป็นภาคอีสานสูงสุดที่อ.บึงกาฬ จ.บึงกาฬ วัดได้ 277 มคก. เตือนภาคเหนือตอนบนเฝ้าระวังต่อเนื่องระหว่าง 27 มีค.-2 เมย. โดยเฉพาะจว.ติดประเทศเพื่อนบ้าน สธ.ห่วง PM2.5 เชียงรายสูงกว่ามาตรฐานอนามัยโลก 32 เท่า

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศประจำวันว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีมากถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือPM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบค่าฝุ่นระหว่าง 10-590 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน 21จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.นครพนม จ.มุกดาหารและจ.อุบลราชธานี

สำหรับภาคเหนือ พบเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 50-590 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน 28 พื้นที่ สูงสุดที่ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 590 มคก./ลบ.ม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 33-277มคก./ลบ.ม.สูงสุดที่ ต.บึงกาฬ อ.บึงกาฬ จ.บึงกาฬ 277 มคก./ลบ.ม.ส่วนภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 18-59 มคก./ลบ.ม.ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 10-30มคก./ลบ.ม.ภาคใต้ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 13-21 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ.ร่วมกับกทม.ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 16-76 มคก./ลบ.ม.อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองถ้าจำเป็น

นอกจากนี้ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-2 เมษายน ดังนี้ วันที่ 27 มีนาคมเป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศเปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดฝุ่นออกจากพื้นที่ ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-2 เมษายน

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงาน สภาพอากาศทั่วไปในพื้นที่ จ.เชียงราย โดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และด้าน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.แม่จัน มีฝุ่นละอองหนามากเป็นประวัติการณ์ โดยมีลักษณะเหมือนหมอกในฤดูฝน แต่เป็นฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษรายงานผลการตรวจวัดค่าฝุ่นใน ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ติดกับจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา มีปริมาณ PM 2.5 สูงถึง 459 มคก./ลบ.ม. และค่า PM 10 และอื่นๆ พบดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) มีสูงถึง 569 AQI เช่นเดียวกับด้านอ.เชียงของ ติดกับแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว พบค่า PM 2.5 สูงถึง 219 มคก./ลบ.ม. และเขต อ.เมืองเชียงราย วัดค่าได้ 211 มคก./ลบ.ม.ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพติดต่อกันมาหลายวัน

อย่างไรก็ตาม การตรวจวัดคุณภาพอากาศจากเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าภาคสนามแต่ละพื้นที่พบค่า PM 2.5 ที่มากกว่านั้นอีกมาก โดยค่าเฉลี่ยของปริมาณฝุ่นตั้งแต่พื้นที่ชั้นในของศูนย์ไฟป่าเชียงราย-144 ไปถึงชาวแดน ทั้งที่ภูชี้ฟ้า อ.เทิง อ.เชียงของ ดอยแม่สลอง อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวงอ.แม่สาย จนไปถึงป่าไม้ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา พบค่า PM 2.5 บางจุดสูงถึง 500-900 มคก./ลบ.ม. มีอัตราเฉลี่ยจากศูนย์ดับไฟป่าประมาณ 27 แห่งตลอดแนวชายแดนพบค่าเฉลี่ย PM 2.5 อยู่ระหว่าง 200-900 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่การเผาป่าในประเทศเพื่อนบ้านยังมีต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ของไทยต้องเฝ้าระวังตลอดแนวไม่ให้ลุกลามเข้ามาฝั่งไทย แต่ผลกระทบที่ไทยได้รับคือ เกิดฝุ่นปลิวไปทั่วบริเวณ ขณะที่พื้นที่ในประเทศมีไฟป่าลุกไหม้ขึ้นหลายจุด โดยเฉพาะบนดอยปุยและอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก อ.เมืองเชียงราย โดยคืนวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดไฟไหม้อย่างหนักบนดอยหมู่บ้านแม่สาด ต.แม่กรณ์ อ.เมืองเชียงราย โดยลุกไหม้เต็มขุนเขาใกล้หมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าและชาวบ้านเข้าสกัดไฟไม่ให้ลามเข้าที่อยู่อาศัยตลอดทั้งคืน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ออกประกาศห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดเป็นเวลา 90 วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 เมษายน โดยแจ้งให้หน่วยงานภาคส่วนได้เข้มงวดและหากพบการฝ่าฝืนต้องดำเนินคดี ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีลักลอบเผาในเขตพื้นที่ป่า โทษจำคุก 1 ปี-30 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-3,000,000 บาท

ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่วันนี้ (26 มีนาคม) พบค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 480 มคก./ลบ.ม.ในพื้นที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 32 เท่า นอกจากนี้ ยังมีอีก 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ หนองคาย นครพนม มีค่าฝุ่นอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ

“ซึ่งสัปดาห์นี้พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีแนวโน้มการสะสมฝุ่น PM2.5 เนื่องจากลมนิ่ง รวมทั้งการเผาทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบจุดความร้อนสะสมเดือนมีนาคมสูงถึง 25,209 จุด ทำให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า

ระดับค่าฝุ่นละอองดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้มีอาการแสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอกแล้ว ผู้ที่ป่วยโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น และหากได้รับในปริมาณมากในระยะยาว ฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เข้าไปทำลายระบบต่างๆ ในเซลล์ของปอด ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งในระยะยาว

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวอีกว่า ข้อมูลจากการเฝ้าระวังอาการตัวเองของประชาชน ผ่านระบบ 4Health PM 2.5 ในภาคเหนือ ช่วงเดือนมีนาคมพบ ประชาชนมีอาการเกี่ยวกับการรับสัมผัสฝุ่นถึงร้อยละ 73.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 5-14 ปีและผู้สูงอายุ จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพตนเอง โดยลดระยะเวลาหรืองดออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น ถ้าต้องออกไปควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น งดออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ 3.อยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หากทำห้องปลอดฝุ่นได้ ให้อยู่ในห้องปลอดฝุ่นและควรงดการเผาในชุมชน


ที่มา : https://www.naewna.com/local/720067