‘โรม’ ซัด ตร. ยื้อ ‘พรบ.ป้องกันทรมาน - อุ้มหาย’ อ้างอุปกรณ์ไม่พร้อม - เจ้าหน้าที่ขาดความรู้

‘โรม’ จี้ นายกฯ-สตช. อย่าใช้วิชามารเลื่อนกฎหมายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน หลัง ผบ.ตร. ลงนามหนังสือขอเลื่อนปฏิบัติตาม พ.ร.บ. อุ้มหายฯ อ้างต้องจัดซื้อกล้องจำนวนมาก-เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ ย้อนก่อนหน้านี้ ‘สุรเชษฐ์’ รอง ผบ.ตร. เคยบอกพร้อม 

(12 ม.ค. 66) ที่รัฐสภา รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามชะลอการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ว่า กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภามาหลายเดือน แต่กำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัวปฏิบัติตามกฎหมายใหม่

รังสิมันต์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญในฐานะการยกระดับกระบวนการยุติธรรมที่คุ้มครองพี่น้องประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ โดยสาระสำคัญข้อหนึ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ได้ คือการติดกล้องบันทึกภาพระหว่างปฏิบัติภารกิจ ซึ่งจุดประสงค์ของกฎหมายต้องการให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมาน

"หากเราไปดูประเทศที่เจริญแล้ว ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและโปร่งใส อย่างสหรัฐอเมริกา หลายประเทศในยุโรป ก็จะพบว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการติดกล้องประจำตัวไว้ เป็นเรื่องปกติมาก และทำให้ทราบได้ว่า การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายจริงหรือไม่ หากย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย ก็มีการกล่าวอ้างอยู่เป็นระยะว่าการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ มีการซ้อมทรมาน การทำร้ายร่างกาย หรือมีการควบคุมตัวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงมีเจตนารมณ์ที่ดี" รังสิมันต์ กล่าว

โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า หนังสือที่ลงนามโดย ผบ.ตร. กลับอ้างว่า การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ จะต้องมีการจัดซื้อกล้องเพื่อบันทึกภาพและเสียงจำนวนมาก ตนเห็นว่าการขอเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เคยเรียกให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายนี้ เข้ามาชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการฯ หนึ่งในนั้นมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ได้ตอบคำถามอย่างชัดเจนว่า สตช. มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ทุกหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจงก็ยืนยันเช่นนั้น โดยตนก็ได้เสนอว่า หากมีความจำเป็นต้องจัดซื้อกล้องบันทึกภาพ ก็สามารถใช้งบกลางได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ สตช. กลับออกหนังสือขอชะลอการบังคับใช้กฎหมาย

“การปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ล้มเหลวทุกด้าน ทั้งด้านการปราบปรามอาชญากรรม ทุนจีนสีเทา คดีหลงจู้ จึงขอฝากไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแล สตช. อย่าใช้วิชามารเลื่อนกฎหมายที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชน” รังสิมันต์กล่าว