'ไบเดน' โทษ 'ปูติน' ทำให้ปชช.อเมริกันกระเป๋าฉีก น้ำมัน-อาหาร-ของใช้ ราคาแพง เงินเฟ้อสูงในรอบ 40 ปี

ประชาชนชาวอเมริกาต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น สำหรับซื้อเบนซิน อาหารและข้าวของจำเป็นอื่นๆ ในเดือนที่แล้ว ท่ามกลางตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก จากข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในวันอังคาร (12 เม.ย.) ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวโทษต้นตอไปที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.5% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.1981 เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดัน แม้อีกด้านหนึ่งพวกเขากำลังหาทางลงโทษรัสเซียเพิ่มเติม ต่อกรณีที่เปิดปฏิบัติการทหารรุกรานยูเครน

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นฉุดรั้งคะแนนนิยมของไบเดนให้ลดต่ำลง และประธานาธิบดีรายนี้พยายามกล่าวโทษไปที่ประธานาธิบดีวลาดิมร์ ปูติน และการรุกรานที่ก่อความปั่นป่วนแก่ตลาดพลังงานโลก

"ราคาที่เพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 70% มาจากการขึ้นราคาเบนซินของปูติน" ไบเดนกล่าวอ้างระหว่างปราศรัยในไอโอวา แม้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่ามันคิดเป็นสัดส่วนราวๆ เกือบครึ่งหนึ่งเท่านั้น

ราคาต่างๆ เริ่มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 และในขณะที่รายงานล่าสุดเผยให้เห็นว่าแม้ราคาจะแตะระดับสูงสุดในหลายรายการ แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่ามันอาจกำลังเข้าสู่ระดับคงที่

ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. เป็นไปตามที่พวกนักวิเคราะห์คาดหมายไว้แต่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหลัก ซึ่งไม่รับรวมภาคอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% น้อยกว่าที่คาดหมายไว้

เคที บอสต์จานชิซ นักเศรษฐศาสตร์จากอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า "สงครามรัสเซีย-ยูเครน เติมเชื้อไฟแก่อัตราเงินเฟ้อที่กำลังร้อนระอุ ผ่านราคาพลังงาน อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูง ซึ่งถูกซ้ำเติมจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ"

ราคาผู้บริโภคที่กำลังพุ่งสูง เพิ่มความเป็นไปได้มากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะตัดสินใจใช้มาตรการเชิงรุก ณ ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในเดือนหน้า ท่ามกลางความคาดหมายว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกราวๆ 0.5%

แม้คาดหมายว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดราคาให้ต่ำลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ ลาเอล เบรนาร์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางอเมริกา กล่าวในวันอังคาร (12 เม.ย.) ว่าผลกระทบจากสงครามในยูเครน "เป็นไปได้ที่จะก่อความเสี่ยงบิดเบี้ยวต่างๆ นานา ที่จะทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอีก"

เบรนาร์ดบอกว่านอกจากนี้แล้วมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในจีนเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอาจส่งผลกระทบบางอย่างต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นเวลายาวนาน

ข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ พบว่าประชาชนชาวอเมริกา กำลังเผชิญความเจ็บปวดทางการเงินที่แท้จริง ยามที่ต้องซื้อข้าวของที่จำเป็นต่างๆ ราคาที่พักอาศัย ในนั้นรวมถึงค่าเช่า เพิ่มขึ้น 0.5% ในขณะที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นโดยรวม 1%

ราคาของชำเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 10% เมื่อรวมตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 1981


(ที่มา:เอเอฟพี)
https://mgronline.com/around/detail/9650000035566