'ผู้นำสิงคโปร์' เตือน!! สหรัฐฯ อย่าโดดเดี่ยวจีนจากปัญหายูเครน ลั่น!! ทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องนี้ตามทางของตน

ดูเหมือนว่าตอนนี้จะมีประเทศในแถบเอเชีย ที่เริ่มกล้าออกมาแสดงจุดยืนที่ห้าวหาญในประเด็นการเมืองโลก โดยล่าสุด Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีของสิงค์โปร์ ได้ออกคำเตือนไปยังสหรัฐฯ โดยตรงว่า "อย่าพยายาม โดดเดี่ยวจีน จากประเด็นเรื่องยูเครน เพราะทุกวันนี้โลกของเรา "ก็มีปัญหามากพออยู่แล้ว" และยังลั่นอีกด้วยว่าในอนาคต สหรัฐฯ อาจไม่ใช่เบอร์ 1 ของโลกอีกต่อไป 

นายกฯ สิงคโปร์ กล่าวไว้ชัดเจนว่า ถ้าหากสหรัฐฯ ยังหันมาเปิดศึกกับจีน จะยิ่งเป็นการแบ่งแยกระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ปัญหา Supply Chain โลกซับซ้อนเข้าไปอีก และแน่นอนว่าถ้าลุกลามถึงขั้นคว่ำบาตรจีน ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกสูงกว่าการคว่ำบาตรรัสเซียเป็นอย่างมาก

“คุณต้องระวังให้มากที่จะไม่กำหนดปัญหายูเครนในลักษณะที่จะทำให้จีนเป็นฝ่ายผิดตั้งแต่แรกเริ่มโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น การทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและเผด็จการ”

(You have to be very careful not to define the problem with Ukraine in such a way that automatically, China is already on the wrong side, for example, by making this a battle of democracies against autocracies.)

“เราทุกคนมีปัญหาในยูเครน ผมคิดว่าถ้าเราพูดถึงอธิปไตย ความเป็นอิสระ และบูรณภาพแห่งดินแดน หลายประเทศสามารถเข้าร่วมได้ แม้แต่จีนเองก็ยังไม่คัดค้านและยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอย่างแข็งขันเป็นการส่วนตัวด้วย แต่ถ้าคุณ (สหรัฐฯ) บอกว่านี่เป็นเรื่องของประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการของปูติน ผมคิดว่านั่นเป็นเรื่องที่ยากพออยู่แล้ว และถ้าคุณยังบอกอีกว่าประชาธิปไตยต้องสู้กับเผด็จการ นั่นถือเป็นการกำหนดให้ประเทศจีนเป็นฝ่ายที่ผิดตั้งแต่แรก และทำให้สิ่งต่างๆ จะยากขึ้นไปอีก”

(We all have a problem in Ukraine. I think if we talk about sovereignty, independence and territorial integrity, a lot of countries can come along. Even China would not object to that, and would actually privately strongly support that. But if you say it is democracies versus Putin’s autocracy, I think that already is difficult. If you say democracies versus autocracies – plural – that already defines China into the wrong camp, and makes things even more difficult.)

นอกจากนี้ นายกฯ สิงคโปร์ยังสอนมวยสหรัฐฯ อีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีความไว้วางใจกันน้อยมาก และมันไม่ง่ายเลยที่จะหาระดับที่เหมาะสมในความสัมพันธ์ ขณะที่สิงคโปร์จะเลือกเดินตามทางของตัวเองในการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เรื่องทั้งหมดบานปลาย

ดังนั้นสหรัฐฯ ต้องรู้ตัวแล้วว่า ถ้าเศรษฐกิจยังคงต้องพึ่งพากันและกันกับจีน ก็ไม่ควรวาง 80% ของจุดยืนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ในมุมของการเป็นปรปักษ์หรือศัตรูกัน แล้วมาบอกว่าความสัมพันธ์อันดี 20% ที่เหลือคือการ "Win-Win" ทั้ง 2 ฝ่าย

เขากล่าวชัดเจนว่าแนวคิดนี้ "ควรจะครอบงำรัฐบาลสหรัฐฯ" (กล่าวคือสหรัฐฯ ควรตระหนักเรื่องนี้โดยด่วน) และนอกเหนือจากยูเครนแล้ว สหรัฐฯ ควรรู้ด้วยว่าภูมิภาคเอเชียนี้ ถือเป็นสมรภูมิสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องวางจุดยืนของตัวเองให้ดี 

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังกล่าวด้วยว่าสหรัฐฯ ควรหันมามองเรื่อง "ความน่าเชื่อถือของตัวเอง" โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงและความสม่ำเสมอในการทำธุรกิจ (ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงการคว่ำบาตรด้วย) เพราะเรื่องนี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูงมาก และอาจทำให้ประเทศอื่น ๆ ลดความไว้เนื้อเชื่อใจสหรัฐฯ ลงในอนาคต

Lee เสริมว่า ในภายภาคหน้านี้ สหรัฐฯ อาจจะไม่ใช่เบอร์ 1 ของโลกอีกต่อไป แต่จะยังคงเป็น 1 ในแนวหน้าทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ซึ่งเขากล่าวว่ามันอาจเป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่จะทำใจยอมรับได้สำหรับสหรัฐฯ แต่เขาก็ปลอบใจว่าเมื่อเวลาผ่านไป สหรัฐฯ จะปรับตัวได้เอง

เขากล่าวว่าการเสื่อมถอยลงของสหรัฐฯ นั้นยังไม่ใช่สิ่งที่รับรู้กันในทั่วโลก แต่ในบางส่วนของโลกมีการรับรู้กันอย่างค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า อำนาจของตะวันออกกำลังเพิ่มขึ้น และตะวันตกกำลังตกต่ำลง

เขายังกล่าวประโยคที่น่าทึ่งออกมาด้วยว่า...

“โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปสำหรับระบอบอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล” (ซึ่งทำให้ขั้นตอนในการบริหารประเทศทำได้ล่าช้ากว่าระบอบเผด็จการนั่นเอง)

คำกล่าวล่าสุดของผู้นำสิงคโปร์คนนี้ ทำให้ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นอีก 1 ประเทศที่ประกาศจุดยืนแห่งโลกอนาคตไว้ชัดเจนแล้ว (หรือไม่ ??)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปคือ เมื่อมีการประกาศเช่นนี้ อาจได้เห็นประเทศในฝั่งตะวันออกมีการจับกลุ่มเป็นปึกแผ่นกันมากขึ้น โดยในขั้นตอนแรกอาจจะเริ่มจากระบบการเงินและ 'ภาคการค้า-เศรษฐกิจ' ของประเทศใหญ่ๆ เช่น รัสเซีย-จีน-อินเดีย หรือกลุ่ม BRICS ส่วนสิงคโปร์ก็อาจทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งในเอเชียเช่นเดิม แต่จะยกระดับการเชื่อมต่อบริการระหว่างประเทศให้สูงขึ้น


ที่มา : World Maker https://www.facebook.com/109582110645345/posts/501575914779294/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-04-11/singapore-s-lee-warns-u-s-against-isolating-china-over-ukraine
https://www.pmo.gov.sg/Newsroom/PM-Lee-Hsien-Loong-at-the-Dialogue-with-Wall-Street-Journal-Editorial-Board-Apr-2022