Oxford ยัน!! ฉีดเชื้อตายแล้วบูสต่อด้วยเชื้อเป็น สร้างภูมิต้านทานได้ดีกับทุกสายพันธุ์โควิด

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) และทีมนักวิจัยในบราซิล ยืนยันแล้วว่า ผู้ที่รับวัคซีน Sinovac ครบโดส หรือวัคซีนที่พัฒนาจากเชื้อตาย เมื่อมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นจากวัคซีนที่สร้างจากชิ้นส่วน โมเลกุลของเชื้อไวรัส หรือ DNA สกัดอย่าง mRNA อาทิ AstraZeneca, Pfizer หรือ Johnson & Johnson สามารถเพิ่มภูมิต้านทานได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการต้านทานโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ทั้ง Delta และ Omicron ได้ดีอีกด้วย

เรื่องนี้นับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศที่ใช้วัคซีนประเภทเชื้อตายเป็นพื้นฐานอย่าง Sinovac ที่ฉีดกันอย่างแพร่หลายในประเทศจีน และอีกมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, บราซิล, อาร์เจนตินา, ตุรกี ส่งผลให้การวางแผนการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ของภาครัฐเป็นไปในทิศทางที่ง่ายขึ้นได้ 

ทั้งนี้รายงานวิจัยดังกล่าวของทางมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีความสอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเคยได้รับรองการใช้วัคซีน Sinovac เพื่อการป้องกัน Covid-19 ได้ทั่วไป รวมถึงต่อมาได้แนะนำให้เพิ่มเติมฉีด Sinovac ไขว้กับวัคซีนเทคโนโลยีรุ่นใหม่เป็นเข็ม 2 ได้เลย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มกันโรค 

โดยได้แนะนำให้ผู้รับวัคซีนเชื้อตาย เช่น Sinovac หรือ Sinopharm ควรฉีดบูสเตอร์ด้วยวัคซีนที่สกัดจากเซลล์ไวรัสเชื้อเป็น เพื่อสกัดการระบาดของสายพันธุ์ใหม่อย่าง Delta และ Omicron 

ทันทีที่ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผย ทางกระทรวงสาธารณสุขบราซิล ก็ได้ตัดสินใจใช้วัคซีนสกัดจากชิ้นส่วนโปรตีน หรือ DNA เป็นวัคซีนกระตุ้นให้กับประชาชน ซึ่งข้อดีของการฉีดวัคซีนไขว้นั้นเหมาะกับประเทศที่มีรายได้น้อย - ปานกลาง ที่ช่วยประหยัดงบประมาณการจัดซื้อวัคซีน และสามารถเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานได้รวดเร็วกว่า แล้วจึงมากระตุ้นด้วยวัคซีนเชื้อเป็นในภายหลัง ก็ยังได้ประสิทธิภาพที่ทัดเทียมกับฉีดวัคซีน mRNA ที่มีค่าใช้จ่ายสูง และยังกระจายวัคซีนไปไม่ถึงกลุ่มประเทศโลกที่ 3 นั่นเอง


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: Reuters / Channel News Asia