กาฬสินธุ์ - รณรงค์หยุด!! ‘การเผาพื้นที่เกษตร’ ร่วมทำแนวกันไฟ เดินหน้านำร่องหนุนเกษตรกร ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนของเสียให้มีประโยชน์

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายปกครอง องค์กรภาคเอกชน และเครือข่ายเกษตรกร รณรงค์หยุดการเผาในพื้นที่เกษตร เดินหน้านำร่องหนุนเกษตรกรใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนของเสียให้มีประโยชน์ ลดต้นทุนการผลิต เกิดความสมบูรณ์ของดินและอินทรียวัตถุในดิน ได้ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 มกราคม 2565 ที่แปลงเกษตรกร นายสุนัน มิทะรา บ้านโนนตูม หมู่ที่ 4 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผา ในพื้นที่การเกษตร ปี 2565 โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ และหัวหน้าส่วนราชการร่วมงาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่างานนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาดังกล่าว จัดโดยสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับอำเภอยางตลาด สำนักงานเกษตรอำเภอยางตลาด องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตอกแป้น องค์กรภาคเอกชน และเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการทำเกษตรปลอดการเผา รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรนำเอาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสร้างมูลค่าและเพิ่มผลผลิต

นายทรงพลกล่าวอีกว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศ มีสาเหตุหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเผาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง คือทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์และส่งผลให้สูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

“จ.กาฬสินธุ์ จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผา โดยขอความร่วมมือเกษตรกรหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีการหาวิธีการจัดการในไร่นาที่เหมาะสม เช่น การไถกลบตอซังในแปลงนาข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต การทำฟางอัดก้อนเพื่อเพิ่มมูลค่าจากเศษวัสดุและสร้างรายได้หลังจากการทำนา การทำเห็ดฟางจากเศษฟางข้าว เพื่อเป็นรายได้เสริมและลดการเผาฟางข้าว รวมทั้งการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังมีการดำเนินโครงการแปลงนาสาธิตปลอดการเผา เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบผลด้วยการทำนาแบบเผา และไม่เผาตอซัง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรเห็นถึงการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องต้นทุนที่ลดลง ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเกิดความสมบูรณ์ของดินและอินทรียวัตถุในดินอีกด้วย” นายทรงพลกล่าวในที่สุด