‘ไอติม-ปิยบุตร’ ผิดหวังร่างรธน. ไม่ผ่านสภา ขอโทษประชาชน 1.3 แสนคน ดันภารกิจไม่สำเร็จ 

วันที่ 17 พ.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution ในฐานะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ….ฉบับภาคประชาชน ที่มีการเข้าชื่อจำนวน 135,247 คน ร่วมกันแถลงภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติไม่รับหลักการในร่างฯ

นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวัง ตรงที่ข้อเสนอของเราไป ถูกนำไปปฏิบัติในสังคม ขอย้ำอีกครั้งว่า ข้อเสนอเราไม่ได้สุดโต่ง หรือพยายามให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบ เราไม่อยากให้ติดกับดักวาทกรรมสุดโต่ง ที่พูดกันในสภาฯ วานนี้ (16 พ.ย.) หรือมี ส.ว. บางคนทำให้เราเข้าใจผิดเช่นนั้น เพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น คือ 

ค. คืนศักดิ์ศรีให้กับสถาบันการเมือง ที่กำลังเสื่อมศรัทธา โดยให้เป็นสภาฯ เดี่ยว และที่มาของศาล องค์กรอิสระ ให้มีความเป็นกลาง สามารถเป็นที่พึ่งพาของประชาชน 

ว. ไว้ใจ สร้างระบบการเมืองที่ไว้ใจประชาชนให้กำหนดอนาคตตัวเอง มีอิสระเสรีภาพในการเลือกนโยบายพรรคการเมือง สามารถลงโทษพรรคการเมืองที่ไม่ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ มากกว่ามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มาครอบงำ 

และ ร. ระบบกติกาที่เป็นกลาง สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีเป็นธรรม รวมถึงทุกรัฐบาลต้องถูกตรวจสอบโดยศาล องค์กรอิสระที่เป็นกลางจริง ตนต้องขอโทษประชาชน 135,247 คน ที่มาร่วมเดินทางกับเรา รวมถึงที่ติดตามการอภิปราย คาดหวังจะให้ร่างฯ ของเราผ่าน

“ยอมรับว่า ภารกิจเรายังไม่ได้สำเร็จ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ถ้ายังมีรัฐธรรมนูญที่มีที่มา กระบวนการเนื้อหาไม่ชอบธรรม มันไม่สามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้ ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว ตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 มีการแก้ไขร่างฯ มา 3 ครั้ง ผ่านฉบับเดียว คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ นี่หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ว่า เป็นนโยบายเร่งด่วน พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคได้กล่าวไว้ว่าจะเป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาล หวังว่า คงไม่ใช่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ ก็ตาม ที่ไม่แตะ ส.ว. กลไกสืบทอดอำนาจ ก็ไม่สามารถแก้วิกฤตได้” นายพริษฐ์ กล่าว

ด้าน นายปิยบุตร กล่าวว่า การเข้าชื่อของประชาชนเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีเลยที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการ ไม่เคยได้ผ่านเข้าไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการ ไม่เคยผ่านไปถึงวาระที่ 3 เราคาดหวังว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนนอกสภาฯ แล้ว หวังว่า รัฐสภาจะเงี่ยหูฟังเสียงร้องนอกสภาฯ ดัง ๆ บ้าง แต่ผลการลงมติชัดเจนว่าเสียงข้างมาก ยังไม่ยินยอมเปิดประตูให้กับการพิจารณาร่างฯ ภาคประชาชนในครั้งนี้ ดังนั้นเราต้องการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะประชาธิปไตยแบบผู้แทนเพียงอย่างเดียว ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด มีโอกาสที่ผู้แทนจะไม่ทำตาม หรือบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนก็ได้

“ช่องทางประชาธิปไตยทางตรงแบบมีส่วนร่วมถูกปิดลงอีกแล้ว ประชาชนที่เข้าชื่อ 135,247 คน และที่สนับสนุนแต่ไม่ทันลงชื่อ อย่าสิ้นหวัง เรายังมีลมหายใจ มีความคิดที่จะรณรงค์ต่อไป เมื่อรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้ ยอมรับว่าแก้ไขยาก แต่ถ้าเราไม่เคลื่อนไหว พวกเขาก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบมาไปตลอดกาล จึงเป็นภารกิจของพวกเราประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริงเสียงจริง ที่ต้องผลักดันต่อไป แม้ไม่ประสบความสำเร็จ จะต้องล้มอีกกี่ครั้งจะต้องลุกขึ้นยืนใหม่ ต่อสู้ผลักดันแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้ได้ ส.ส. ที่เห็นด้วยกับร่างฯ เรา แม้จะเป็นเสียงข้างน้อย แต่อีกไม่กี่ปีคงจะมีการเลือกตั้งตามมา ผมจึงฝากความหวังว่า ส.ส. เหล่านี้จะนำแนวคิดของร่างฯ ฉบับนี้ไปปรับเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง แล้วประชาชนที่สนับสนุนก็จะเลือกพวกท่านกลับเข้ามา ส.ส. เป็นเสียงข้างมากมาช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จต่อไป” นายปิยบุตร กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากนี้ ปฏิกิริยาทางการเมืองจะรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนประเมินไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่คนตัดสิน หรือควบคุมต่าง ๆ แต่เชื่อว่าสังคม และสมาชิกรัฐสภา คงคาดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาหรือไม่ อย่างไร เพราะหลายเรื่องเป็นความต้องการของประชาชน หลายเรื่องในการชุมนุม ก็เรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เราแก้ได้ แก้ได้เพียงเรื่องเล็กน้อยอย่างระบบเลือกตั้งเท่านั้น


ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9640000114006