Friday, 19 April 2024
THE STUDY TIMES STORY

คุณหนึ่ง จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ | THE STUDY TIMES STORY EP.11

บทสัมภาษณ์ คุณหนึ่ง จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ Minister Counsellor อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ, ประเทศโปแลนด์ เส้นทางและชีวิตของนักการทูต ที่ต้องรอบรู้เรื่องราวข่าวสารรอบโลก

คุณหนึ่งเล่าว่า การจะเป็นนักการทูตได้ ต้องเป็นข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศก่อน การจะเข้ามาในกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องจบรัฐศาสตร์การทูตเท่านั้น ตัวคุณหนึ่งเองจบสายเศรษฐศาสตร์มา คนส่วนใหญ่ในกระทรวงเป็นสายสังคมวิทยา เพราะในทางการทูตต้องหาความหลากหลาย ต้องการองค์ความรู้จำนวนมาก 

หน้าที่ของนักการทูตคือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในโลกนี้มีหลากหลายประเด็นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ หรือแต่ละประเทศมาร่วมมือกัน ผลประโยชน์ของชาติมีหลายมิติ จึงต้องการนักการทูตที่มีความรู้ในหลายมิติเช่นเดียวกัน 

ชีวิตนักการทูตนั้น การมาอยู่ต่างประเทศต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายมาก คุณหนึ่งเล่าว่า โดยปกติคนที่เข้ามาจะต้องใช้เวลาเรียนรู้งานที่เมืองไทยก่อนเฉลี่ยประมาณ 3-4 ปี เมื่อมาอยู่ต่างประเทศได้นำประสบการณ์ในเมืองไทยมาใช้ในการเป็นนักการทูต ขณะเดียวกันก็มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มเติมจากการประจำการในต่างประเทศ เมื่อครบวาระ 4 ปี จึงนำประสบการณ์กลับไปใช้ในเมืองไทย อยู่ประมาณสามปี ก็เดินทางไปอีกประเทศหนึ่ง ชีวิตนักการทูตจะกลับไปกลับมา ควรมีการวางแผนชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว

คุณหนึ่งเผยว่า การทำงานของนักการทูตรุ่นใหม่ในประเทศ ปัจจุบันผู้บริหารกระทรวงเห็นความสำคัญของการรู้งานที่หลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นทางกระทรวงจึงให้ข้าราชการรุ่นใหม่ เวียนงาน ไม่เฉพาะเวียนกรม แต่เวียนข้ามกลุ่มงานด้วย นอกจากนี้ยังมีงานด้านบริหาร งานด้านการคลัง งานบริหารบุคคล เป็นทักษะที่จำเป็นของนักการทูต

ด้านการทำงาน ในกรมจะแบ่งเป็นกองเพื่อดูแลงานต่าง ๆ ในแต่ละกองมีคนเฉลี่ย 8-10 คน ข้อด้อยคือเมื่อคนน้อย งานปริมาณเยอะ ข้อดีคือ นักการทูตแต่ละคน ไม่ว่าจะเด็กขนาดไหน มีโอกาสได้ดูงานในเชิงลึก หลากหลาย และมีความรับผิดชอบในส่วนงานของตัวเอง 

นักการทูตควรมีบุคลิกอย่างไรนั้น คุณหนึ่งให้คำนิยามไว้คำเดียวว่า ‘ครบเครื่อง’ เนื่องจากต้องเจอคนหลากหลายประเภท เพราะฉะนั้นความรู้ที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการจะสื่อสาร มีบทสนทนากับผู้คน ก็จำเป็นต้องรู้ในเรื่องนั้น ๆ พอประมาณ ความรู้ที่หลากหลาย จึงเป็นสิ่งที่นักการทูตควรจะต้องมี

หากอยากเป็นนักการทูต ควรเติมองค์ความรู้ หรือพัฒนาตัวเองอย่างไร คุณหนึ่งแนะนำว่า หนังสือที่ดีที่สุดที่จะใช้ในการสอบ ในการอ่านและทำความเข้าใจ คือ หนังสือพิมพ์ เพราะเป็นความหลากหลาย เป็นความรู้รอบตัว อ่านหนังสือพิมพ์ในไทย จะรู้ว่าเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้โลกไปทิศทางไหนแล้ว ศึกษาประเด็นต่าง ๆ รอบโลก เรื่องที่คนให้ความสนใจ           

ชีวิตนักการทูตสำหรับตัวคุณหนึ่งเองนั้น ประเทศแรกที่ได้ไปประจำการ คือแอฟริกาใต้ กรุงวิคตอเรีย (Victoria) ยุคนั้นในแอฟริกามีสถานทูตอยู่ 4-5 แห่ง นอกจากประเทศที่ดูแลแล้ว ยังดูแลประเทศใกล้เคียงที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย ซึ่งนอกจากแอฟริกาใต้แล้วได้ดูแลอีก 10 ประเทศรอบ ๆ ของแอฟริกาตอนใต้ 

สำหรับคนที่เป็นนักการทูตตอนออกต่างประเทศครั้งแรก แน่นอนว่ายังหนุ่มยังสาว มีข้อจำกัดในชีวิตน้อย ยังมีพลังงานเยอะ การออกต่างประเทศครั้งแรกมักจะพูดกันว่าเป็นเหมือนกับ ‘รักแรกพบ’ ได้ไปประจำการที่ไหนมักจะมีความรัก ความประทับใจให้กับประเทศนั้น ๆ คุณหนึ่งไปแอฟริกาใต้ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน แอฟริกาเป็นทวีปที่มีสีสัน คนไทยไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ เป็น 4 ปีที่มีประสบการณ์ที่ดีมาก และในแอฟริกาใต้ พบว่ามีชุมชนคนไทยอยู่มากกว่าที่คิด จากนั้นกลับมาเมืองไทยได้ 2 ปีครึ่ง ก่อนเดินทางต่อไปยัง ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

คุณหนึ่งเล่าประสบการณ์ในแอฟริกาใต้ ให้ฟังว่า กลุ่มคนผิวสีทั้งหมด จะแยกเป็นเผ่าเล็ก ๆ แต่ละเผ่าจะมีการเมืองระหว่างเผ่า  และมีประวัติของเผ่าที่ไม่เหมือนกัน เช่น เผ่าซูลู ในแอฟริกาใต้ ที่ถือว่าเป็นเผ่าของนักรบ รูปร่างกำยำ อีกเผ่า คือ เผ่าคอร์ซา เป็นเผ่าของคนมีการศึกษา กลุ่มผู้บริหาร ลักษณะของแต่ละเผ่าจะไม่เหมือนกันเลย อีกทั้งวัฒนธรรม การเต้นระบำ ภาษาก็ไม่เหมือนกัน

คุณหนึ่งให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในหนึ่งประเทศมีสถานทูตได้เพียงแห่งเดียว แต่มีสถานกงสุลใหญ่ได้หลายที่ตามความจำเป็นและตามผลประโยชน์ เช่น ในสหัรัฐอเมริกามีหลายแห่ง ในออสเตรเลียมีสองแห่ง คือ แคนเบอร์รา และซิดนีย์

การทำงานเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ, ประเทศโปแลนด์ ในตอนนี้ คุณหนึ่งเล่าว่า ในสถานทูตมีสมาชิก 5 ท่าน คือ ท่านทูต คุณหนึ่ง เจ้าหน้าที่ 2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ทางด้านการคลังอีก 1 ท่าน นอกจากนี้ยังมี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่เป็นคนท้องถิ่นที่ถูกจ้างมา ในกรณีของโปแลนด์ ต้องการคนท้องถิ่นเพื่อมาติดต่อประสานกับงานท้องถิ่น เนื่องจากคนที่นี่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จะใช้ภาษาโปลิชเป็นส่วนใหญ่ ตัวคุณหนึ่งเองมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนท่านทูตในการดูแลงาน กรองงานจากเจ้าหน้าที่ที่เสนอขึ้นมา ดูงานบริหาร การเงิน การบริหารภายในต่าง ๆ 

คุณหนึ่งกล่าวว่า หน้าที่ของสถานทูตไทยที่ไปอยู่ในแต่ละประเทศ มีหน้าที่เดียว คือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยเรากับประเทศนั้นให้ดีขึ้น แต่หน้าที่เดียวนี้จะแตกแขนงออกไปตามกรอบบริบทของประเทศนั้น ๆ ยกตัวอย่างกรณีของโปแลนด์ ต้องมีการหาว่าความสัมพันธ์หรือความสำคัญของโปแลนด์ต่อไทยอยู่ตรงไหน จะทำให้โปแลนด์ตอบโจทย์ผลประโยชน์ของไทยได้อย่างไร 

โดยโปแลนด์เป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 38 ล้านคน แต่เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในยุโรปกลาง สิ่งหนึ่งที่โปแลนด์มีแต่เราคิดไม่ถึง คือ เขามีเทคโนโลยี มีกลุ่มสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Start-Up ที่มีความสามารถ มี ecosystem ที่เหมาะกับการเติบโตของ Start-Up โปแลนด์มีชายแดนติดกับเยอรมัน แต่ค่าแรงโปแลนด์ถูกกว่าเยอรมัน 3 เท่า โดยมากนักลงทุนในกลุ่มยุโรปตะวันตกจะมาสร้างโรงงาน ใช้ทรัพยากรบุคคลของโปแลนด์ เพื่อผลิตและส่งของไปขายในยุโรปตะวันตก ด้วยบริบทของโปแลนด์นี้เอง สถานทูตของไทยจึงมีบทบาทในการผลักดันผลประโยชน์ระหว่างไทยและโปแลนด์ในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม 

คุณหนึ่งทิ้งท้ายไว้ว่า อาชีพอะไรก็ตาม เราทำประโยชน์ให้ชาติได้ทั้งนั้น แต่ถ้าใครที่อยากทำประโยชน์ให้ประเทศชาติด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ไทยกับประเทศต่าง ๆ ได้มีบทบาทที่ดีต่อกันมากขึ้น มีความร่วมมือต่อกันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ สนใจในการใฝ่รู้ เตรียมตัวให้สอดคล้องกับสิ่งกระทรวงต้องการ กระทรวงยังต้องการความคิดใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงและประเทศชาติ 


.

.

คุณต้น รัฐพล ปั้นทองพันธุ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.15

บทสัมภาษณ์ คุณต้น รัฐพล ปั้นทองพันธุ์ ได้รับทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์

ปริญญาโทกฎหมายธุรกิจ Cambridge University, สหราชอาณาจักร

ฝันเป็นจริงเพราะฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศ มหาวิทยาลัย TOP ของโลก

ปัจจุบันคุณต้นดำรงตำแหน่ง Vice President ดูแลด้านกฎหมายในบริษัทเอกชน เพิ่งเรียนจบกลับมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ไปเรียน Corporate Law เน้นที่กฎหมายบริษัท เกี่ยวกับธุรกิจและการค้าโดยตรง จาก University of Cambridge

กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ หรือ Corporate Law ถือว่าเป็นหัวใจ จากการไปเรียนมาทำให้คุณต้นทราบว่าทางอังกฤษสามารถพัฒนาและแก้ปัญหาทางธุรกิจได้ดีกว่าประเทศไทย

ย้อนกลับไป คุณต้นเรียนในโรงเรียนไทยมาโดยตลอด เรื่องของภาษาอังกฤษเรียกว่าไม่ได้เลย จากนั้นได้เรียนต่อเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเรียนควบนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย ในชั้นปี 3 เป็นช่วงที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ได้ไปเรียนที่สถาบันพัฒนาภาษา Fast English อยู่ 2 ปีครึ่ง ต้องปูพื้นใหม่ทั้งหมด หลังจากนั้นได้ไปฝึกงานที่ Law Firm 4 ปี กว่าจะคล่องในการใช้ภาษาอังกฤษ

คุณต้นเชื่อว่า หากไม่ได้เรียนอินเตอร์ การพัฒนาภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยค่อนข้างลำบาก เพราะไม่ได้มีการรวมข้อมูลที่ต้องรู้จริง ๆ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษไว้ สิ่งนี้ถือเป็นจุดอ่อน

คุณต้นเริ่มจุดประกายเรื่องของภาษาอังกฤษช่วงปี 3 เพราะฝันอยากไปเรียนเมืองนอก การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคุณต้นทั้งหมดเรียกว่ามาจากการเรียนที่ Fast English บวกกับความตั้งใจท่องคำศัพท์ มีวินัยในตัวเอง สิ่งสำคัญคือการฝึกฝนด้วยตัวเองต่อ

ทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์

ก่อนที่จะได้ทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์ คุณต้นได้ทุนสหภาพยุโรปก่อน รวมทั้งยื่นสมัครที่ LSE ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องจากทางเนติบัณฑิตเปิดรับสมัครสอบแข่งขันทุน โดยทุนนี้ไม่ได้กำหนดว่าต้องไปมหาวิทยาลัยไหน เพียงแต่กำหนดให้ไปมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น ซึ่งคุณต้นเองได้ใบตอบรับจาก Cambridge พอดี เมื่อสอบแข่งขันผ่าน จึงแจ้งกับทางทุน ไปเรียนต่อได้เลย

จุดอ่อนของคนไทยที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณต้นมองว่า อยู่ที่ภาษาอังกฤษ ภาษาต้องได้ก่อน ใครจะไปเรียนไม่ต้องรีบ เตรียมตัวให้พร้อม ศึกษามหาวิทยาลัยดี ๆ จากมุมมองส่วนตัว คุณต้นคิดว่าที่ตนเองได้ ไม่ใช่เพราะความเรียนเก่ง แต่เพราะความหลากหลาย และมีประสบการณ์ทำงานที่เยอะพอสมควร รวมทั้งมีความก้าวหน้าในการทำงาน สิ่งนี้เป็นจุดที่นักเรียนมักจะมองข้าม

สำหรับคนที่จะสอบทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์ ต้องมีคุณสมบัติ คือ จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ สอบเนผ่าน และมีอายุไม่เกิน 35 ปี โดยทุนนี้ไม่ได้เปิดทุกปี แต่ 4 ปีเปิดครั้ง ต้องสอบแข่งขัน เขียน Essay ภาษาอังกฤษสามข้อ รอบสุดท้ายสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ข้อดีของทุนนี้คือเป็นทุนฟรี ไม่มีภาระผูกพัน สำหรับคนที่จะได้ทุนนี้ คุณต้นมองว่า ต้องรู้จักขายตัวเองให้เป็น ก่อนที่จะไปขายของให้คนอื่น ต้องรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไร ทุกอย่างต้องวางแผนล่วงหน้า สำหรับสายกฎหมาย การทำงานเป็นอีกสิ่งที่ทำให้โตขึ้นและเข้าใจ  

ตอนสัมภาษณ์ คุณต้นเล่าว่า เจอคำถามที่ไม่ใช่คำถามกฎหมายมากนัก เช่น เรื่องอาเซียน คำตอบจึงเป็นสหสาขาวิชา เด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์อาจจะยังตอบคำถามได้ไม่ค่อยดี 

Cambridge University
คุณต้นมีความประทับใจในการไปเรียนที่ Cambridge University มาก เนื่องจากอากาศดี สภาพแวดล้อมเหมือนโรงเรียนประจำ มีแยกออกเป็นบ้านเหมือนแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีกิจกรรมในบ้าน ทั้งกีฬา ดนตรี บอร์ดเกม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการศึกษา ที่แท้จริง มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ 

ในเรื่องการใช้ชีวิตคุณต้นไม่มีปัญหา ช่วงสองอาทิตย์แรก อาจจะมีเรื่องของความเกร็งในการใช้ภาษาอยู่บ้าง เพราะไม่ชินสำเนียงคนอังกฤษ ทำให้ฟังไม่ค่อยออก แต่เมื่อผ่านไปทุกอย่างก็ลงตัว ส่วนการเข้าหาอาจารย์ไม่มีปัญหา เพราะอาจารย์พูดช้าและมีความเข้าใจนักเรียนต่างชาติ

ข้อแตกต่างการศึกษาไทยและอังกฤษ
คุณต้นมองว่า ระบบการศึกษาไทยต้องรื้อใหม่ หัวใจของการไปเรียนอาจารย์ต้องเก่ง ในการเรียนเรื่องหนึ่งไม่ได้มีเพียงศาสตร์เดียว แต่มีปัญหาหลากหลายประเด็น ต้องนำมาประยุกต์กันเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ แต่ของไทยยังเรียนศาสตร์เดียว นี่คือข้อแตกต่าง อีกสิ่งคือระบบการยอมรับฟังความเห็นต่าง และสุดท้ายคือเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่ยังมีปัญหา เช่น จะให้เรียนออนไลน์แต่ไม่มี WiFi เพราะฉะนั้นต้องมีการรื้อทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

สุดท้ายนี้ คุณต้นฝากถึงคนที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศหรืออยากพัฒนาตนเองไว้ว่า ถ้ามีความฝัน เก็บความฝันไว้ในใจ อย่าเอาความฝันนั้นออกไปที่อื่น ถ้าคุณไม่ล้มเลิก ยังไงวันหนึ่งคุณก็สำเร็จในสิ่งที่คุณตั้งใจแน่นอน


.

.


 

คุณก้อย ดร. วรวสา ชัยวรกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.10

บทสัมภาษณ์ คุณก้อย ดร. วรวสา ชัยวรกุล นักวิจัย Post-Doctoral Associate, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา กับเรื่องราว ชีวิตนักวิจัยที่สหรัฐอเมริกา ที่ให้อะไรมากกว่าการเรียน

คุณก้อยจบปริญญาตรีเกี่ยวกับ Biology ชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยบูรพา หลังจากนั้นรู้สึกว่าตัวเองชอบในเรื่องของ Human Anatomy จึงสมัครสอบเรียนปริญญาโทที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช จนได้เรียนสมใจ เมื่อเรียนค้นพบว่าตัวเองชอบในเรื่องระบบประสาทของตัวคน อยากจะรู้เพิ่มมากขึ้น จึงมาเรียนต่อปริญญาเอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านชีวเวชศาสตร์ จากนั้นคุณก้อยได้ไปเป็นนักวิจัย Post-Doctoral Associate อยู่ที่สหรัฐอเมริกา 

จุดเริ่มต้น Post-Doctoral Associate, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา
เนื่องจากปี 2008 มีไข้หวัดนกระบาดเป็นครั้งแรก ซึ่งมีข่าวว่าคนสามารถติดเชื้อได้ และไข้หวัดนกตัวนี้สามารถติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ประสาทสมองและทำให้คนตาย คุณก้อยได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการหาตัวรับของเซลล์ดังกล่าว มีการทำในส่วนของ Animal Science ต้องใช้ตัวไข่ฟัก เพื่อเป็นตัวโมเดลในการเพิ่มจำนวนของไวรัส การไปทำ Postdoc ที่ University of Minnesota ของคุณก้อย จึงอยู่ในส่วนของ Animal Science 

คุณก้อยเล่าว่า เหมือนกับเป็นโชค เพราะเป็นช่วงที่เรียนจบ และมีโอกาสเข้ามาพอดี สิ่งที่สำคัญก็คือ ทุกคนมีโอกาสเข้ามาทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าเราพร้อมแค่ไหน เตรียมตัวพร้อมไหมที่จะรับโอกาสตรงนั้น ณ ตอนนั้นคือคุณก้อยพร้อม จึงมีโอกาสเข้าไปทำงานวิจัย

วิถีชีวิตของนักวิจัย
ชีวิตนักวิจัยของคุณก้อย คือ ต้องอยู่กับตำราและแล็บ เรียกได้ว่าเป็นความหลงใหล จากตอนเด็ก ๆ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เดินทางมาในสายวิทยาศาสตร์เรื่อย ๆ ยิ่งเรียนสูงขึ้น ลึกขึ้น ทำให้ต้องมีการอ่านงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อหาหัวข้อมาทำงานวิจัย ยิ่งได้อ่านเปเปอร์ก็ยิ่งรู้สึกอเมซิ่ง อยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง เจอจุดที่น่าสนใจ และชอบที่จะทำตรงนี้ 

Postdoc คือ
Postdoc เรียกได้สองชื่อ คือ Post-Doctoral Associate และ Postdoctoral Fellow โดย Postdoctoral Fellow เหมือนคนที่ได้ทุนและมาทำวิจัย เป็นทุนของ Professor ที่มีโปรเจคแล้วอยากได้คนมาทำวิจัย โดยต้องรับนักศึกษาที่จบปริญญาเอกแล้ว ในขณะที่ Postdoc มีความหมายว่า นักวิจัยหลังปริญญาเอก ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นการเรียน แต่ความจริงคือเรียนจบแล้ว เรียกว่าเป็นการทำงาน เพราะได้เงินเดือนจากมหาวิทยาลัย แต่ Postdoc จะทำอยู่ได้แค่สามปี จากนั้นต้องเลื่อนเป็น Research Associate

ชีวิต Postdoc ที่ University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา
เพราะเป็นคนปรับตัวได้ง่าย คุณก้อยจึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ก่อนหน้านี้มีความรู้สึกอยากไปทำงานที่ต่างประเทศอยู่แล้ว มี Passion ตั้งแต่ปริญญาตรี เพราะมีญาติอยู่ที่อเมริกา ซึมซับความรู้สึกเวลาที่ญาติกลับมาพร้อมของฝากจากต่างประเทศ รู้สึกถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความคิดอยากไปทำงานที่อเมริกา เพื่อจะได้มีเงินมาเลี้ยงพ่อแม่ 

ช่วงเวลาสามเดือนขณะที่เรียนปริญญาเอก ก่อนไปทำ Postdoc มีโอกาสไปรัฐเพนซิลเวเนีย ไปเป็นคู่กับรุ่นพี่คนหนึ่งที่ต้องไปแลกเปลี่ยนที่แล็บ ครั้งนั้นเหมือนการเตรียมตัวก่อนไปทำจริง สำรวจตัวเองว่าสามารถอยู่ในแล็บต่างประเทศได้ไหม การใช้ชีวิตเป็นยังไง จนรู้สึกว่าตัวเองชอบมาก ๆ 

คุณก้อยไปอยู่อเมริกาทั้งสิ้น 4 ปี โดยเป็น Postdoc 3 ปีและเป็น Research Associate 1 ปี จากนั้นได้กลับมาเมืองไทย วิถีนักวิจัยในต่างประเทศสำหรับคุณก้อย เรียกได้ว่าเกินความคาดหวัง เพราะแตกต่างจากสังคมในเมืองไทย รู้สึกชอบสังคมที่นั่นมากกว่า เพราะให้อิสระทางความคิด ทางการพูด ให้กียรติกัน ไม่ว่าจะจากเพื่อนนักวิจัยด้วยกัน หรือตัว Professor เอง 

ความแตกต่างในการพัฒนางานวิจัยระหว่างไทยและต่างประเทศ
คุณก้อยมองว่าการพัฒนางานวิจัยขึ้นอยู่กับแล็บและอาจารย์ ในประเทศไทยเรามีอาจารย์เก่ง ๆ หลายท่าน การได้อยู่กับอาจารย์ที่เปิดกว้าง ทำงานวิจัยขึ้นห้าง ไม่ใช่การขึ้นหิ้ง กล่าวคือ งานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริง เหมือนกับแนวทางการทำวิจัยที่ต่างประเทศ คือสิ่งที่ดีและมีประโยชน์มากกว่า

ทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักวิจัย
คุณก้อยกล่าวว่า Passion ของนักวิจัย ต้องมีความรู้สึกอยากค้นคว้า อยากหาความจริง อยากหาสิ่งใหม่ ๆ มีพื้นฐานรักการอ่าน เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ในสมัยก่อนนักเรียนจะโดนกดไว้ว่าห้ามตั้งคำถาม ห้ามอยากรู้อยากเห็น ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ทักษะที่ดีสำหรับการจะเป็นนักวิจัยในอนาคต แต่โชคดีที่คุณก้อยมีการสร้างทักษะตรงนี้ขึ้นมาตอนที่ไปเรียนต่างประเทศ

.

.

คุณแจ๊ค น.สพ. ดร. มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย | THE STUDY TIMES STORY EP.14

บทสัมภาษณ์ คุณแจ๊ค น.สพ. ดร. มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย ได้รับทุนส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Post-doctoral researcher, BioTechnology Institute, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา 
เรื่องราวทุนการศึกษาเปลี่ยนชีวิต ต่อยอดความฝันทำงานวิจัยระดับโลก

ปัจจุบัน ดร. แจ๊ค เป็นนักวิจัยอยู่ที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี โดยจุดเริ่มต้น ดร. แจ๊คเรียนจบปริญญาตรี เกียรตินิยม จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสเสนอขอทุนของมหาวิทยาลัย เรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้เลย ซึ่งในปีนั้นทางจุฬาฯ มีอายุครบ 90 ปี มีกองทุนใหม่ชื่อว่า กองทุนจุฬาดุษฎีพิพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดร. แจ๊ค ถือเป็นรุ่นแรกของกองทุนนี้ เงื่อนไขของทุน คือ หากเรียนในคณะที่ประเทศขาดแคลน ต้องได้เกียรตินิยมเป็นอย่างน้อย จึงจะมีสิทธิ์สมัครเข้าไป หากอยู่ในคณะที่ประเทศไม่ขาดแคลน ต้องติด Top10 ของคณะ ซึ่งสายวิทยาศาสตร์ของดร. แจ๊ค ขณะนั้นรับอยู่ 8 คน 

ในการเรียนต่อปริญญาโทและเอก ดร. แจ๊คยังคงเรียนอยู่ในคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ โดยเป็นสัตวแพทย์สาธารณสุข ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดหนักในประเทศไทย 

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ดร. แจ๊คเล่าว่า การเรียนสัตวแพทย์ ที่จุฬาฯ นักศึกษาชั้นปี 1-4 ทุกคน ที่มีอยู่ร้อยกว่าคนในรุ่น จะเรียนเหมือนกันหมด พอถึงปี 5 จะแยกครึ่งนึงไปฝึกงาน ซึ่งดร. แจ๊คได้ไปฝึกงานทั้งในโรงพยาบาลสัตว์ คลินิกสัตว์เลี้ยง ฟาร์ม เพื่อนำมาตัดสินใจว่าชอบทางไหน และเมื่อขึ้นปี 6 อาจารย์ก็จะให้เลือกสาย โดยดร. แจ๊คเลือกไปทางสายฟาร์ม ในช่วงปี 6 มีภาควิชาสัตวแพทย์สาธารณสุข ที่จะเรียนเกี่ยวกับ DNA เล็ก ๆ ต้องใช้จินตนาการสูง ดร. แจ๊คมีความสนใจทางด้านนี้ เป็นที่มาของการสมัครขอทุนเรียนต่อปริญญาโทและเอกในภาคนี้โดยเฉพาะ

จริง ๆ แล้วดร. แจ๊ค แทบไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แต่เมื่อได้รับทุน ข้อบังคับของทุนข้อหนึ่ง คือจะต้องไปทำโปรเจคที่ต่างประเทศ ในที่ที่อาจารย์มี contact ซึ่งอาจารย์ของดร. แจ๊ค จบมาจาก Minnesota, สหรัฐอเมริกา จึงได้ให้ดร. แจ๊คลองสมัครไป ผลคือ Professor ที่นั่นสนใจ จึงได้ไปในฐานะนักเรียน ขณะนั้นดร. แจ๊ค เรียนปริญญาเอกที่เมืองไทยได้สองปีครึ่ง ก่อนจะดรอปเรียนและไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Minnesota หนึ่งปี

เมื่อไปถึงอเมริกาครั้งแรก ดร. แจ๊คถึงกับงง ด้วยความที่ไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน จากนั้นได้แชร์บ้านพักกับนักเรียนจากหลากหลายประเทศจำนวน 12 คน สิ่งที่ทำเมื่อไปถึงคือนำโทรศัพท์มาค้นหาเซเว่นที่ใกล้ที่สุด แต่ใกล้ที่สุดคือห่างจากบ้านพัก 130 ไมล์ เมื่ออยู่ไปสักพักถึงได้รู้ว่าคนที่ Minnesota ค่อนข้างจะเป็นคนอนุรักษนิยม ซัพพอร์ตอะไรที่เป็น Local จึงต้องเรียนรู้ว่าร้านมินิมาร์ท Local ของที่นั่นมีชื่อว่าอะไร

เพราะมีโปรเจคที่ต้องทำให้จบ ในจำนวนเงินและระยะเวลาที่จำกัด ดร. แจ๊คจึงต้องวางแผนคุยกับ Professor ให้แน่นอนว่าอยากทำอะไร และด้วยความที่ยุ่งมากทำให้ไม่มีเวลาไปโฟกัสอย่างอื่น ลืมเรื่อง Homesick ไปเลย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องของภาษา เพราะถูกสอนมาแต่ในเรื่องแกรมม่า ท่องคำศัพท์ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารบทสนทนาที่จะทำให้ต่างชาติเข้าใจได้ ทำให้มีปัญหาในช่วงแรก ใช้เวลาปรับตัวด้านนี้อยู่เป็นปี โชคดีที่ได้รู้จักกับครอบครัวคนอเมริกันที่คอยชวนไปเที่ยวที่ฟาร์ม ทำความรู้จักกับครอบครัว จึงได้ฝึกภาษามากขึ้น และตัวดร. แจ๊คเองก็พยายามผลักดันตัวเอง ฝึกฝนออกเสียงเรื่อยมา

เมื่อทำงานไปได้สักพัก ทาง Professor และพี่เลี้ยงหรือ Senior Scientists สองคน ที่เป็นชาวญี่ปุ่นและชาวจีน เห็นความขยันของดร. แจ๊ค เมื่อเห็นว่ามีตำแหน่ง Postdoc เปิด จึงให้ลองเข้าไปคุยกับ Professor ที่เปิดรับตำแหน่งนี้ ซึ่ง Professor คนนี้มารู้ทีหลังว่าเป็นผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยทาง BioTech ของที่นั่น หลังจากสัมภาษณ์ผ่านก็ได้ทำงานต่อ และอยู่ที่อเมริการวมทั้งสิ้น 4 ปี

อุปสรรคอีกอย่างที่พบตอนไปอเมริกา คือ Professor ของดร. แจ๊คเป็นคนอินเดีย ที่รู้กันดีว่าคนอินเดียส่วนใหญ่จะทำงานโหด เข้มงวดมาก โดนจี้งานเยอะ บางครั้งทำให้ท้อได้เหมือนกัน ดร. แจ๊ค เล่าว่า ต้องทำงานตื่น 7 โมงเช้า เลิกตี 1 ตี 2 ทุกวัน ทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เป็นแบบนี้อยู่ 1 ปี แต่การถูกเค้นศักยภาพออกมา ผลคือทำให้ได้ผลงานที่ค่อนข้างดี

วิธีที่ทำให้ผ่านช่วงเวลากดดันของดร. แจ๊ค คือ การนั่งสมาธิ เพราะการทำงานหนักไปเรื่อย ๆ รู้สึกเหมือนสมองยุ่งเหยิง ทุกคืนก่อนนอน ดร. แจ๊คจะใช้เวลา 5-10 นาทีในการทำสมาธิเพื่อจัดระบบเซลล์สมอง สองอย่างในชีวิตที่ดร. แจ๊คทำแล้วเห็นผล คือการทำสมาธิ และการเล่นกีฬา 

หากพูดถึงความแตกต่างในด้านองค์ความรู้ระหว่างไทยและต่างประเทศ ดร. แจ๊ค มองว่า ในแง่ของวิชาการ ไม่คิดว่าเมืองไทยด้อยกว่า ศักยภาพเด็กไทยเมื่อไปอยู่ตรงนั้นก็ไม่ด้อยกว่าคนอื่น จุดอ่อนอาจมีเพียงเรื่องของภาษาในช่วงแรก 

ทั้งยังบอกอีกว่า จริง ๆ การจบปริญญาเอกไม่ใช่คนพิเศษอะไร เพียงแต่ผ่านการฝึกกระบวนการผิดมาอย่างหนัก ส่วนการเป็น Postdoc เป็นโปรแกรมที่ทำให้แข็งแกร่งมาอีกขั้น มาถึงตอนนี้ Professor จะบอกเสมอว่า คุณไม่ใช่นักเรียนแล้ว คุณต้องจัดการชีวิตตัวเอง ต้องมั่นใจในสิ่งที่จะทำ ในสิ่งที่จะพูด และรับผิดชอบในคำพูด

สุดท้ายดร. แจ๊ค ฝากไว้ว่า เราจะทำอะไรให้สำเร็จ มันสำเร็จมาจาก Passion เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำอะไรแกมบังคับ จะมีเหตุผลมากมายที่บอกว่า หยุดมันเถอะ แต่ถ้าเราทำงานด้วย Passion แรงผลักดันที่จะทำให้สำเร็จ ยังไงมันก็สำเร็จ ไม่ต้องกลัว  พอเราไปเมืองนอกจริง ๆ เราก็จะไปเจอเพื่อนจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งเขาจะเป็นเหมือนเรา


.

.

คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.9

บทสัมภาษณ์ คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล ปริญญาโท European Public Law Organization, กรีซ 
กำลังศึกษาปริญญาเอก Université Toulouse Capitale, ฝรั่งเศส ปรับจิตใจให้แข็งแกร่ง จากความกดดันในประเทศที่ล็อกดาวน์กับการเรียนที่หนักหน่วง

คุณชัช จบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นิติศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มธ., เนติบัณฑิตไทย I.I.LLM. (กฎหมายมหาชนยุโรป) ที่ EPLO กรีซ ปัจจุบันทำงานที่ศาลปกครองสูงสุด ตำแหน่งพนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ อยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ Université Toulouse Capitale, ฝรั่งเศส ซึ่งขณะนี้คุณชัชอยู่ฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 7-8 เดือน ท่ามกลางสถานการณ์การล็อกดาวน์รอบที่ 3 

หลักสูตรที่คุณชัชกำลังศึกษาอยู่ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก คือ หลักสูตรที่เรียกว่า DUEF เป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาฝรั่งเศส ที่ได้ประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาตรี  เพราะในการวัดระดับภาษาจะมีการแบ่งความเชี่ยวชาญเป็นระดับ การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นสูง ปริญญาโท-เอก ระดับภาษาฝรั่งเศสขั้นต่ำที่ต้องได้คือ ระดับ B2 

คุณชัชเล่าว่า เป้าหมายหลักของนักเรียนที่เรียนภาษาที่ 3 คือทำยังไงก็ได้ให้สอบผ่านระดับ B2 อย่างของฝรั่งเศสจะเป็นการสอบ DELF-DALF  แล้วแต่ว่าจะใช้แบบไหน หลักสูตร DUEF ที่คุณชัชเรียนอยู่เป็นประกาศนียบัตรที่สามารถใช้เทียบเท่าได้เหมือนกับการสอบ Delf แต่มีรายละเอียดที่ยากกว่า เนื่องจาก การสอบ Delf คือสอบฟัง พูด อ่าน เขียน แต่การสอบ DUEF สอบฟัง พูด อ่าน เขียนเหมือนกัน แต่โครงสร้างหลักสูตรจะมีรูปแบบคือ เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งครึ่งเช้า ครึ่งบ่าย ครึ่งเช้าจะเป็นคอร์สภาษา แกรมม่า ฟัง พูด อ่าน เขียน โต้ตอบกับอาจารย์เจ้าของภาษา 

ส่วนวิชาภาคบ่าย เป็นวิชาเลือก 4 วิชา บังคับเลือก 1 คือ วิชาเสริมเพิ่มพูนคำศัพท์ ส่วนอีก 3 วิชาจะเลือกอะไรก็ได้ เช่น วิชาวรรณกรรมฝรั่งเศสเบื้องต้น วิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาการเมืองการปกครอง วิชาวัฒนธรรม โดยเรียนเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด 

ความยากก็คือหลักสูตรนี้ถูกคิดมาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่จบชั้นมัธยมและกำลังจะไปรียนต่อในระดับปริญญาตรีของฝรั่งเศส มีการเรียนรวมกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งเด็กที่จบปริญญาตรีจากประเทศอื่นแล้วจะมาเข้าเรียนโทที่ฝรั่งเศส หรือมาเรียนต่อปริญญาเอก หรือผู้ที่ใช้ชีวิตมีครอบครัวอยู่ที่นี่ การมาเรียนที่นี่ได้ประโยชน์คือทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนที่เข้มข้น เรียนรู้วิธีคิด รวมถึงวิชาพื้นฐานของประเทศฝรั่งเศสด้วย ข้อเสียเดียวคือเรียนหนัก    

การเรียนในประเทศฝรั่งเศสนั้น คุณชัชเล่าว่า มีความเป็นแบบแผน การที่จะเขียนงาน นำเสนองาน จะมีการวางแพลนเป็นรากฐานการแสดงความคิดเห็นทุกอย่าง มีการวางโครงสร้างว่าจะพูดเรื่องอะไร ปัญหาที่จะพูดคือเรื่องอะไร ข้อโต้แย้ง การให้เหตุผลสนับสนุน โดยสิ่งนี้จะแทรกซึมอยู่ในทุกเรื่องของการเรียนระดับสูงที่ฝรั่งเศส ตั้งแต่การพูดและการเขียนตอบข้อสอบ เพราะเป็นเรื่องที่เด็กฝรั่งเศสได้ฝึกมาตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม

การเรียนปริญญาโทที่กรีซ 
คุณชัชได้ไปเรียนปริญญาโทที่ European Public Law Organization ประเทศกรีซ ในหลักสูตร Academy of European Public Law เน้นศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายมหาชนยุโรป ลักษณะการเรียนเป็นความรู้ที่บูรณาการสองเรื่อง หัวใจหลักคือ ศึกษาพลวัตของกฎหมายในยุโรปว่าแนวคิดของแต่ละประเทศส่งผ่านไปอีกประเทศนึงได้อย่างไร และแนวคิดของกฎหมายกลางที่เป็น Community Law อย่างสหภาพยุโรป ส่งผลยังไงต่อกฎหมายปกครอง กฎหมายมหาชนภายในประเทศต่าง ๆ โดยเนื้อหาเป็นเรื่องที่คุณชัชสนใจอยากจะศึกษาต่ออยู่แล้ว 

ลักษณะการไปที่กรีซเหมือนกับการไปเอาความรู้เพิ่มกับอาจารย์และไปพรีเซนต์ เพราะ 1 เดือนก่อนจะบินได้ให้เตรียมตัวอ่านทุกอย่างที่มอบหมายมา ไปถึงวันแรกก็ทำการดีเบตเลย

การบริหารจัดการเวลา
การจัดการเวลาสำหรับคุณชัชมีความยากสองอย่าง คือ เรื่องการเตรียมตัวและบินไปเรียน ในปีแรกลักษณะการเตรียมตัวจะแตกต่างกัน รู้อยู่แล้วว่ามีช่วงเวลาที่ต้องลาไปศึกษาต่อ ได้มีการทำเรื่องลาหน่วยงานเจ้าของสังกัด ซึ่งคุณชัชได้รับความกรุณาจากสำนักงานศาลปกครองเป็นอย่างดี ช่วงก่อนการเตรียมตัวหนึ่งเดือน เตรียมสอบ เตรียมเขียนงาน การแบ่งเวลาไม่สามารถเอาเวลาราชการมาทำเรื่องพวกนี้ได้เลย เพราะเป็นเวลางาน จึงต้องรู้เทคนิคตัวเองว่าใช้เวลาเขียนงานนานไหม เตรียมตัวนานหรือไม่ บริหารจัดการเวลาให้ดี รู้จักตัวเองก่อน ว่าเรามีข้อจำกัดอะไร อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ จะช่วยให้เราคิดกลยุทธ์ในการรับมือได้ดีขึ้น แต่ในปีที่สองมีความลำบากเพราะต้องเรียนผ่าน Zoom เวลา Time Zone ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องเรียนช่วงดึกและตื่นไปทำงานเช้า 

แรงผลักดันที่ทำให้ใฝ่รู้
คุณชัชเล่าว่า ความรู้ที่ได้จากการทำงาน เป็นความรู้ที่ไม่เหมือนกับการเรียน แต่ทั้งสองอย่างสอดคล้องกัน หมายความว่า เวลาทำงานไปสักพักเราจะรู้ว่ามีเรื่องที่เราอยากจะรู้มากขึ้น ในขณะที่การเรียนไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มรู้สึกว่า เรื่องที่เราเรียนจะนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงอย่างไร การบาลานซ์สองอย่างคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

Professor ท่านหนึ่งกล่าวว่า นักกฎหมายในศตวรรษใหม่ที่ต้องการ ควรเป็นรูปแบบ T-Shape หมายถึง มีความรู้กว้าง และรู้ลึกในด้านใดด้านหนึ่ง 

ความแตกต่างในการเรียนต่างประเทศเทียบกับในไทย
ในเรื่องของระบบการศึกษานั้น คุณชัชเล่าว่า หากเราเริ่มจากศูนย์โดยที่ไม่รู้อะไรเลย การได้รับข้อมูลหรือการได้รับการปูพื้นฐานที่ถูกต้องก็มีความจำเป็น เพราะฉะนั้น Lecture-based ยังมีความจำเป็นอยู่ในทุกประเทศ เพียงแต่สิ่งที่ต่างคือการผสมกันระหว่างหลักสูตรที่เป็น Lecture-based  กับการแลกเปลี่ยน ตั้งคำถามระหว่างอาจารย์ ถ้าเราไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนก็ไม่สามารถไปดีเบตอะไรกับอาจารย์ได้ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้จากหลากหลายวิธี มีข้อมูลชุดใหม่ ๆ Lecture-based อาจต้องปรับตัวมากขึ้น การเพิ่มความมีส่วนร่วมระหว่างนักศึกษากับอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญ และการให้ความสนใจกับนักศึกษาเป็นรายบุคคลว่าเขามีความสนใจเรื่องอะไรก็สำคัญเช่นกัน

ประเทศกรีซ    
คุณชัชเล่าว่า เมืองเอเธนส์, กรีซ เป็นประเทศที่เหมาะกับการไปเรียนและสัมมนา เป็นสถานที่ที่คุณชัชชอบ อาหารอร่อย แดดแรงทุกวัน คนอาจจะรู้สึกว่ากรีซเป็นประเทศที่ไม้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ความจริงแล้วกรีซเป็นประเทศท่องเที่ยว ผู้คนพูดภาษาอังกฤษได้ คุณชัชไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตที่กรีซแม้แต่นิดเดียว

การใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส ณ ปัจจุบัน
เพราะการไปเรียนต่างประเทศต้องเคยมีประสบการณ์ที่จำไม่ลืม คุณชัชเล่าว่า โควิดทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนมา เรื่องของความแพนิคในใจ แต่เมื่อมาถึง ความรอบคอบจะช่วยให้คุณมีชีวิตประจำวันที่ง่ายขึ้น ดีขึ้น นอกจากนี้คือการบริหารจัดการ

การเรียนปริญญาเอกต้องใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่ง – 4 ปี หรือยาวนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ต้องบริหารจัดการตัวเองให้ดี เป้าหมายของคุณชัช ณ วันนี้คือ อยากทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสัญญาทางปกครอง หลังเรียนจบปริญญาเอกจะนำความรู้ที่ได้พร้อมความรู้จากการทำวิจัยกลับมาใช้กับงานแน่นอน

สุดท้ายสิ่งที่คุณชัชอยากแนะนำน้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อต่างประเทศ คือ อย่ากลัว ศักยภาพของทุกคนมีอยู่แล้ว ทุกคนสามารถเปล่งประกายในทางที่ตัวเองชอบได้ เพราะฉะนั้น อย่ากลัวที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกไปนอกพรมแดนเพื่อสำรวจสิ่งที่ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน เพราะการไปเรียนเมืองนอกคือการออกจาก Comfort Zone มีการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ตัวเองไม่เคยทำเยอะมาก และบางทีเกิดความกลัวว่าเราจะทำได้ไหม เราจะล้มเหลวหรือเปล่า ความผิดหวัง ความผิดพลาด เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง คือ การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่นด้วย 

เพราะฉะนั้น คนที่คิดว่าอยากไปเรียนต่อเพื่อหาโอกาสที่ดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ถามตัวเองว่า พร้อมไหมที่จะออกมาจาก Comfort Zone เพราะการทำอะไรก็ตาม ต้องใช้ความพยายามและความพากเพียร อย่ากลัวที่จะไปถึงตรงนั้น ข้างนอกมีตัวช่วย และโอกาสมากมายที่จะหยิบยื่นมาให้ 

 


.

.

.

คุณแกว่น กวิล นาวานุเคราะห์ | THE STUDY TIMES STORY EP.13

บทสัมภาษณ์ คุณแกว่น กวิล นาวานุเคราะห์ ปริญญาโทด้านสื่อสารทางการเมือง University of Missouri, St.Louis (UMSL), สหรัฐอเมริกา 
วิชาการสื่อสารทางการเมืองที่เข้มข้น เพิ่มศักยภาพการสื่อสารผู้นำรุ่นใหม่

คุณแกว่นเรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นในการเรียนรัฐศาสตร์คือความสนใจเรื่องมหภาค ตอนเด็กเป็นคนไม่ชอบคณิตศาสตร์ คิดว่าชอบด้านภาษามากกว่าคำนวณ พยายามหาข้อมูลว่าอะไรที่ทำให้เราเข้าใจคนหมู่มาก และเข้ากับตัวเองมากที่สุด จนได้มารู้จักด้านรัฐศาสตร์ ที่เป็นความเข้าใจหลักคิด กระบวนการระหว่างคนกับคน คนกับรัฐ รัฐกับรัฐ ศาสตร์พวกนี้จำเป็นต้องมีอาจารย์สอน และส่วนตัวชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบดูละครหรือการ์ตูนมากนัก เลยคิดว่ารัฐศาสตร์น่าจะเหมาะ

ช่วงฝึกงานในชั้นปี 4 คุณแกว่นได้ไปฝึกที่เนชั่นทีวี เริ่มเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในขาของสื่อสารมวลชน เลยรู้สึกว่าเปิดโลก รายการที่ไปฝึกงานคือรายการทีวีที่ชื่อว่า สภากาแฟ ซึ่งนำคนที่อยู่ใน Topic ต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมมานั่งล้อมวงร่วมพูดคุยกัน ทำให้รู้สึกว่าได้ประโยชน์ต่อผู้ชม และเป็นสาขาที่สนใจด้วยเหมือนกัน เมื่อเรียนจบก็ทำการหาข้อมูลว่ามีสาขาวิชาใดบ้างที่สามารถต่อยอดความสนใจทั้งสองอย่างให้อยู่ด้วยกัน ทำให้ไปเจอว่ามีสาขาที่เรียกว่า สื่อสารการเมือง จึงมองหาโอกาสในการเรียนต่อ เพื่อตอบสนองความสนใจและความอยากรู้ของตัวเอง 

กระทั่งไปเจอ Professor ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้คุณแกว่นตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านสื่อสารทางการเมือง ที่ University of Missouri, St.Louis (UMSL) สหรัฐอเมริกา เพราะมีความสนใจและอยากเรียนกับ Professor ท่านนี้ที่สอนอยู่ และรู้สึกว่าตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมอเมริกันได้มากกว่า เพราะเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐโคโลราโดมาก่อน ปักใจว่าเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ ผู้คนหลากหลาย และอเมริกาเปิดโอกาสในการทำงานอย่างอื่นขณะที่เรียนได้ และด้วยระยะเวลาหลักสูตร 2 ปี น่าจะทำให้มีโอกาสในการเห็นโลกและใช้ชีวิตได้มาก

ความคาดหวังเรื่องการเรียนในตอนนั้นคือ ไปเอาวิชาจากผู้ที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก สุดท้ายก็ได้ตามที่คาดหวัง เพราะได้เรียนกับเขา ได้เห็นมุมมอง ได้ช่วยทำงาน ใช้ชีวิตด้วยกันช่วงหนึ่ง ส่วนเรื่องชีวิตไม่ได้คาดหวังความสนุกสนาน เพียงแต่คาดหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยใช้ในเมืองไทยมาก่อน ซึ่งพออยู่ที่อเมริกา สิ่งเย้ายวนมีมาก หากมีวินัยมากพอ ก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ คุณแกว่นได้ฝึกตัวเองในเรื่องของการดูแลตัวเอง ความรับผิดชอบที่มากขึ้น คาดหวังว่าจะโตขึ้น ซึ่งคุณแกว่นคิดว่าได้ตามที่คาดหวังไว้

คุณแกว่นอธิบายว่า Political Communication หรือ สื่อสารการเมือง หลักๆ เรียนเรื่องของทฤษฎีการเมืองก่อน ต้องเข้าใจว่าทฤษฎีการเมืองแต่ละอย่างที่มีเป็นอย่างไร ต่อมาคือทฤษฎีการสื่อสาร การสื่อสารเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่สำคัญคือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทำอย่างไร นำมาประยุกต์กับทฤษฎีการเมืองที่เรียน
เพราะมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมท่ามกลางคนเก่ง ๆ สิ่งที่คุณแกว่นได้มาคือ สกิล  “Learn-Unlearn-Relearn”  โดย Unlearn ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่า Learn เพราะคือการสลายตัวตน ทิ้งอัตตา ทิ้งสิ่งที่เคยเรียน เคยรับรู้ เพื่อจะRelearn คือการเรียนรู้ รับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ นำมาใช้ สุดท้ายแล้วแนวคิดนี้สัมพันธ์และสามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่อง

สำหรับการสื่อสารในประเทศไทยนั้น คุณแกว่นอธิบายว่า การสื่อสารประกอบด้วย 3 สิ่ง คือ ผู้ส่งสาร สาร ผู้รับสาร มองแยกไปทีละส่วน ผู้ส่งสารได้ทำการส่งสารอย่างถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะ มีการคิดคำนวณที่ดีก่อนที่จะส่งไปหรือไม่ ต่อมาคือ สาร เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่นหรือไม่ ชัดเจนตรงประเด็น มีคุณภาพหรือไม่ และผู้รับสาร มีความสามารถในการพิจารณา คิด วิเคราะห์ แยกแยะ สารที่ได้รับ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือทำอะไรกับสารนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงกันทั่วโลก 

ในด้านการสื่อสารของประเทศไทย ตอนนี้มีการกระจายตัวค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ผู้ส่งสาร สาร ผู้รับสาร ค่อนข้างจะเป็น Mass Media (ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์) ซึ่งสามารถควบคุม ตรวจสอบได้ง่าย แต่ในปัจจุบันเริ่มกระจายเป็นโซเชียลมีเดีย หลายแพลตฟอร์ม หลายช่องทาง ในส่วนตัวคุณแกว่นมองว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อมีการกระจายไปในหลายแพลตฟอร์ม บางครั้งสารไม่ได้รับการผลิตออกมาอย่างดี 

คุณแกว่นกล่าวว่า คนเราจะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของสารต่าง ๆ ที่ได้รับมาก่อน เท่าที่คุณแกว่นเห็นมา ส่วนมากเด็กไทยเก่งเรื่องการจำ แต่สิ่งที่เด็กไทยยุคนี้ยังทำได้ไม่ดี คือ การสังเคราะห์ ซึ่งการสังเคราะห์ คือ การนำสิ่งที่เราแยกแยะมาประกอบร่างและสร้างเป็นสิ่งใหม่ 

สิ่งสำคัญที่คุณแกว่นอยากให้เกิดขึ้นในเมืองไทย คือ การพัฒนาความรู้ ความคิดต่อยอด สามารถสังเคราะห์ข้อมูลความรู้ที่เรามี เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งใหม่ได้ 

ย้อนกลับไปช่วงที่ไปเรียนอเมริกา คุณแกว่นเล่าว่าได้ทำงานเยอะมาก เพราะคุณพ่อออกให้แค่ค่าเทอม ฉะนั้นต้องช่วยเหลือตัวเองในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว จึงทำตั้งแต่งานในมหาวิทยาลัย ทั้งเป็นคนเรียงหนังสือในห้องสมุด, proctor, ผู้ช่วยสอน และทำงานที่ร้านอาหารในเมือง

ปัจจุบันหลังจากกลับมาจากต่างประเทศ คุณแกว่นยังคงทำงานที่หลากหลาย เป็น Co-Founder 3 บริษัท หนึ่งคือบริษัททำด้านของพรีเมี่ยมให้แบรนด์ฟอร์ด บริษัทที่สองคือเป็นที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัทที่สามทำเกี่ยวกับ Marketing Agency นอกจากนี้ส่วนตัวคุณแกว่นยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจให้อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์

สุดท้ายคุณแกว่นฝากถึงคนรุ่นใหม่ ในการรับสารและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ไว้ว่า ตอนนี้มีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเยอะ เพราะฉะนั้นสกิลสำคัญที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดี คือรู้จักการแยกแยะ และเลือกที่จะรับข้อมูล อีกอย่างที่จำเป็นมากคือสกิลในการไตร่ตรองพิจารณาข้อมูลที่เข้ามาก่อน ว่าข้อมูลที่เราได้รับมาจริงหรือไม่ก่อนที่เราจะตัดสินใจเชื่อ เพราะข้อมูลในทุกวันนี้มีเยอะ และไม่ได้รับการกรองที่ดีก่อนมาถึงเรา จึงต้องมีทักษะในการพิจารณา หาข้อมูล และตัดสินเมื่อมั่นใจแล้วว่าข้อมูลนั้นจริง

.

.

คุณตั๋น ธนันพัชญ์ รัตนโชติจิรสิน | THE STUDY TIMES STORY EP.12

บทสัมภาษณ์ คุณตั๋น ธนันพัชญ์ รัตนโชติจิรสิน ผู้จัดการด้าน Customer Services บริษัทไอที, ออสเตรเลีย

ปริญญาโทการตลาด Macquarie University, ซิดนีย์, ออสเตรเลีย

กล้าที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone เข้าทำงานบริษัทไอทีประเทศออสเตรเลียมากกว่า 10 ปี

ปัจจุบันคุณตั๋นกลับมาทำงานที่เมืองไทยในบริษัทเดิม สายงานเดิมกับที่ทำในประเทศออสเตรเลีย คือ Operations Customer Service เป็นบริษัทเกี่ยวกับไอที

คุณตั๋นเติบโตและเรียนในโรงเรียนไทยมาโดยตลอด กระทั่งจบปริญญาตรี ศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส ม.ธรรมศาสตร์ จึงเลือกไปเรียนต่อออสเตรเลีย ซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าจะไปเรียนแค่ภาษา แต่พบว่าออสเตรเลียมีสาขาที่น่าสนใจในการเรียนต่อ ในด้านเกี่ยวกับธุรกิจ จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทใน Master of commerce in Business , Macquarie Uni, Sydney Australia เป็นระยะเวลา 2 ปี

คุณตั๋นเล่าว่า สิ่งที่ทำให้เบนเข็มเลือกเรียนต่อออสเตรเลีย จากตอนแรกที่ตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อที่อเมริกานั้น เป็นเพราะสภาพสังคม เพื่อน และความเฟรนด์ลี่ของคนที่ออสเตรเลีย โชคดีที่เจอเพื่อนที่ดี พื้นฐานของคนออสเตรเลียเป็นคนใจดี รีแล็กซ์

การเป็นนักเรียน International Student ที่ออสเตรเลียนั้น คุณตั๋นเล่าว่า ต้องทำเกรดเฉลี่ยให้ได้ 3 ขึ้นไป จึงจะมีโอกาสได้ฝึกงาน โดยคนที่จะขอฝึกงานได้จะต้องมีสกิลด้านภาษาที่สามารถนำไปใช้งานในสายงานที่จะไปขอฝึกได้ เพราะเป็นการลงทำงานจริง ซึ่งการฝึกงานนี้เป็นการต่อยอดให้ไปเริ่มทำงานจริง

ในช่วงที่เรียนอยู่คุณตั๋นก็มีการทำงานเสริมควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะทำในเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพราะวันจันทร์ถึงพฤหัสจะให้เวลากับเรื่องเรียนเป็นหลัก โดยงานที่เริ่มทำช่วงแรกคือ ร้านอาหารไทย ทำทั้งเสิร์ฟ งานในครัว ล้างจาน หุงข้าว เรียกว่าทำมาหมดแล้ว ซึ่งตอนนั้นยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง

หลังเรียนจบแล้วคุณตั๋นตัดสินใจทำงานอยู่ที่ออสเตรเลีย โดยคุณตั๋นเล่าว่า เป็นความโชคดีที่ในตอนนั้นมีวีซ่าสำหรับคนที่เรียนจบมา เพื่อยื่นขออยู่ทำงานต่อ 18 เดือน เมื่อได้วีซ่าดังกล่าว หลังฝึกงานจบแล้วคุณตั๋นมีความคิดว่าอยากได้ประสบการณ์ต่อ เริ่มชอบและมีความสุขกับการอยู่ออสเตรเลีย จึงทำงานต่อมา 18 เดือน กระทั่งสุดท้ายอยู่ที่ออสเตรเลียยาวนานถึง 17 ปี

เสน่ห์ของออสเตรเลียที่ทำให้คุณตั๋นติดใจมากจากหลาย ๆ องค์ประกอบรวมกัน ตั้งแต่สภาพภูมิประเทศ อากาศ ผู้คน วัฒนธรรม ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน บนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกัน อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของงาน เพราะยังเอ็นจอยกับงานที่ทำและได้พัฒนาสกิล ได้ลองอะไรใหม่ ๆ

การทำงานตำแหน่งแรกหลังฝึกงานจบ คุณตั๋นทำในบริษัทไอที เกี่ยวข้องกับที่ทำในปัจจุบัน เพราะในตอนนั้นบริษัทกำลังหาคนที่เป็น Thai support สามารถพูดได้สองภาษา เพราะต้องดูแลลูกค้าไทย จึงไปสมัคร เมื่อทำงานได้ 7-8 เดือน บริษัทมาแจ้งว่าจะยุบศูนย์ที่ซิดนีย์ โดยจะย้ายศูนย์ไปอยู่ที่ประเทศจีน จากนั้นมาได้งานที่สอง ก็ยังอยู่ในสายงานเดิม เป็นบริษัทที่เคยซัพพอร์ตสมัยอยู่บริษัทที่หนึ่ง ซึ่งยังอยู่ในวีซ่า 18 เดือน ทำมาอย่างเต็มที่ได้หนึ่งปีตัดสินใจเดินไปบอกหัวหน้าว่า อีกไม่กี่เดือนวีซ่าจะหมด แต่อยากอยู่ต่อ แฮปปี้กับออสเตรเลีย มีวิธีไหนที่บริษัทจะช่วยสนับสนุน บริษัทจึงได้ทำ Work Permit ให้

หลังจากกลับมาทำงานที่ไทยแล้ว คุณตั๋นเปรียบเทีบความแตกต่างของการทำงานไว้ว่า มีความต่างในเรื่องของการการจัดการเวลา ที่ออสเตรเลียจะพูดเสมอว่าต้องมี work-life balance คนที่นั่นจะมาก่อนเวลา และเมื่อถึงเวลาก็จะเริ่มทำงานทันที ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการทำงานกับต่างชาติ อีกเรื่องที่สำคัญมากคือเรื่องเวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ถ้าไม่จำเป็นห้ามโทรหา เพราะจะถือว่าไม่เคารพ และมีการแยกส่วนแพลตฟอร์มการติดต่อเรื่องงานและส่วนตัวไว้ชัดเจน

ในสังคมออสเตรเลียต่อ LGBT คุณตั๋นเล่าว่า ที่รู้สึกคือสังคมที่นั่นไม่ได้มองคนที่เพศสภาพ แต่มองว่าบุคคลคนนั้นคือบุคคลคนนั้น มีความสามารถด้านไหน มีปฏิสัมพันธ์กันในฐานะอะไร อีกทั้งออสเตรเลียเป็นประเทศที่ผู้หญิงผู้ชายชายค่อนข้างเท่าเทียมกัน

วัฒนธรรมการทำงานร่วมกับคนต่างชาติ สิ่งที่ไม่ควรทำ คุณตั๋นแนะนำว่า เป็นเรื่องของ equality ในที่ทำงาน เราจะไม่พูดถึงเรื่องเพศ อายุ สถานะ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมากในการทำงาน

สุดท้ายคุณตั๋นฝากเป็นกำลังใจสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อหรือไปทำงานต่อที่ต่างประเทศ ไว้ว่า หนึ่งในสิ่งที่คุณตั๋นสังเกตและเห็นจากเพื่อนรอบตัว คือ เพื่อน ๆ คนไทยชอบดูถูกตัวเอง ชอบคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่เก่งภาษาอังกฤษ เลิกดูถูกตัวเอง มองก่อนว่าตัวเองมีความสามารถอะไร เราทำอะไรได้ดี กล้าที่จะลองผิดลองถูก ส่วนใหญ่คนไทยชอบอยู่ใน Comfort Zone ของตัวเอง ทำงานในที่ที่คิดว่าตัวเองถนัดและปลอดภัย ไม่ได้พัฒนาตัวเอง ทั้งหมดมาจากความกลัว อยากจะบอกทุกคนว่า ออกจาก Comfort Zone บางทีการเครียดบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่มันทำให้เราพัฒนาตัวเอง

.

.

คุณตาล วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ | THE STUDY TIMES STORY EP.8

บทสัมภาษณ์ คุณตาล วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ ตำแหน่ง Client form publishing generalist, Privat bank Julius baer, เมืองซูริค, สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อชีวิตในฝัน ตัดสินใจลัดฟ้าใช้ชีวิตหลังแต่งงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มากกว่า 20 ปี

คุณตาล เป็นสาวชาวไทย ที่ตัดสินใจบินลัดฟ้าไปใช้ชีวิตหลังแต่งงานอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Client form publishing generalist, Privat bank Julius baer

คุณตาลเล่าว่าชีวิตที่สวิส เป็นอะไรที่ง่าย เพราะทุกอย่างตรงเวลา ใช้การโดยสารรถไฟเป็นหลักในการเดินทางไปทำงานในเมืองซูริค

ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว
คุณตาลรู้จักกับแฟนตอนอายุ 20 ปี ขณะเรียนอยู่ระดับปวส. ช่วงใกล้จบได้ทบทวนตัวเองแล้วว่าวุฒิปวส. ที่ไทยไม่สามารถนำมาทำอะไรได้ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่ออายุได้ 21 ปี จึงตัดสินใจแต่งงานมาใช้ชีวิตอยู่ที่สวิส ซึ่งเหตุการณ์นี้เองทำให้คุณพ่อของคุณตาลโกรธ จนไม่พูดด้วย แต่มีคุณแม่ที่เข้าใจ และคอยซัพพอร์ต

คุณตาลเล่าว่า เริ่มต้นชีวิตที่สวิส เหมือนการนับจาก -1 เหมือนโดนจับโยนลงใส่น้ำเย็น ต้องจัดการชีวิตตัวเอง ด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องของภาษา จาก เอ บี ซี ของภาษาอังกฤษ ต้องมาเริ่ม อา เบ เซ ในภาษาเยอรมัน คุณตาลเรียนภาษาอยู่ประมาณ 4 เดือน ที่ที่คุณตาลอยู่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาทั่ว ๆ ไปที่ใช้ คือภาษาสวิส ที่นี่ไม่มีภาษาเขียนมีแต่ภาษาพูด ในระหว่างนั้นต้องคิดเป็นภาษาไทย พูดอังกฤษ ฟังสวิส เขียนเยอรมัน พางงไปหมด

ในแง่ของการฝึกภาษา คุณตาลเล่าว่า ตนเรียนรู้จากวิถีชีวิตของทุกคน มีเพื่อนส่วนใหญ่เป็นคนสวิส หากอยากจะเข้าถึงภาษาของเจ้าของภาษาจริง ๆ ต้องคุยกับคนสวิสให้เยอะ คุณตาลมีความเชื่อว่าภาษาต่างประเทศนั้นไม่ใช่ภาษาของเรา การพูดผิดถือว่าไม่แปลก ถ้าเราไม่พูดเราก็จะไม่ผิด แต่เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เลย เพราะฉะนั้นต้องกล้าพูด ฝึกฝนด้วยการคุยกับผู้คนเยอะ ๆ จะได้สำเนียงด้วย 

งานแรกที่คุณตาลไปสมัคร คือ งานล้างจานในร้านอาหารของบริษัทไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในรัฐซูริค ทำในตำแหน่งล้างจานอยู่ 4 เดือน จนได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยแม่ครัว สลับกับแคชเชียร์ ทำอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 15 เดือนก็ต้องลาออก เพราะยังรับกับวัฒนธรรมของที่นี่ไม่ค่อยได้ ยังอ่อนไหวกับสิ่งต่าง ๆ อยู่มาก

ความยากในการไปใช้ชีวิตอยู่ที่สวิสของคุณตาล คือความคิดถึงครอบครัว เพราะในสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต จะติดต่อกับแม่ได้ต้องไปซื้อบัตรโทรศัพท์ ร้องไห้บ่อยแต่กลับไม่เคยรู้สึกท้อ

วัฒนธรรม วิถีชีวิตคนสวิส
คุณตาลเล่าว่า บริบทของคนรอบตัวคุณตาล ไม่มีใครสนใจชุดความคิดที่ว่า เธออ้วนขึ้น ผอมลง ดำไหม ขาวไหม ถือกระเป๋ายี่ห้ออะไร ได้เงินเท่าไหร่ ที่ประเทศไทยอาจมีคนถามว่าทำไมผิวเธอดำจัง แต่ที่สวิสคนจะทักว่า ทำไมสีผิวเธอสวยจัง อยากได้สีผิวแบบนี้ คนสวิสที่คุณตาลรู้จัก ให้ค่ากับชีวิตของตัวเอง ใช้ชีวิตของตัวเองเป็นไปตามครรลอง ตื่นเช้ามาเคยทำอะไรก็ทำ ทำงาน ท่องเที่ยว เข้าฟาร์ม มีความสุขกับสิ่งที่ทำ 

การทำงาน
ที่สวิสจะคิดการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ 100 เปอร์เซ็นต์ คือทำงานปกติ กินเงินเดือนเต็ม ทำงานอยู่ที่ 40-43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือหากจะหางานที่สามารถทำแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ คือทำ 4 วัน หยุด 3 วัน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่คุณตาลกำลังทำอยู่ ตอนเริ่มทำแรก ๆ คุณตาลเริ่มทำเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ คือสองวันครึ่งต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นมา ก็ได้เงินเยอะขึ้น โดยสวัสดิการจะขึ้นอยู่กับรูปแบบงาน ว่าเป็นพนักงานประจำ ชั่วคราว หรือรายชั่วโมง แต่การจ่ายเงิน pension จะจ่ายตามเปอร์เซ็นต์งาน หากเกษียณก็จะได้เงินแค่ส่วนนั้น

บ้านอายุ 151 ปี
ที่สวิสบ้านจะมีอายุเก่าแก่ทั้งนั้น เพราะมีการสร้างที่ดีมาก บ้านที่คุณตาลอยู่มีอายุ 151 ปี เป็นบ้านไม้ โดยส่วนใหญ่บ้านที่สวิสจะมีห้องใต้ดินทุกบ้าน ไว้สำหรับเก็บของ ส่วนหลังบ้านของคุณตาล จะมีส่วนต่อเติมเรียกว่าเป็นห้องหลังบ้าน เหมือนตู้เย็น หน้าหนาวทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็งได้เลย 

ความพอใจกับชีวิต ณ วันนี้
คุณตาลเล่าว่าพึงพอใจกับชีวิต ณ วันนี้มาก อยู่ที่ในอนาคตเรามองเห็นตัวเองยังไง ในวันนั้นคุณตาลมองเห็นตัวเองยืนอยู่ตรงนี้ และนำพาตัวเองไป ไม่ได้รอว่า ฉันอยู่ตรงจุดนั้น แล้ววันนึงฉันจะได้ไปอยู่ เราอยากเป็นคนแบบไหน เราต้องพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น ใกล้ ๆ กับคนแบบนั้น แล้วเราจะกลายเป็นคนแบบนั้นไปด้วย ทำดี คิดดี ไม่ว่าจะทำอะไรหากเรามีความมุ่งมั่นมากพอ เราทำได้หมด

ฟาร์มบนพื้นที่ 44 ไร่
ฟาร์มของสามีคุณตาลนั้นอยู่ห่างจากบ้าน 2 กิโล เป็นพื้นที่พิเศษที่ทางรัซซูริคขีดโซนแดงไว้ว่า ห้ามกระทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ฟาร์มมีต้นไม้ประมาณ 80 กว่าต้น บนเนื้อที่ 44 ไร่ มีแอปเปิ้ล ลูกแพร์ ลูกพลัม เชอรี่ ถั่ววอลนัท แบล็กเบอรี่ ราสเบอรี่ องุ่น มีแพะยี่สิบกว่าตัว มีผลผลิตที่เก็บทานได้ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีเวลาสบาย ๆ ถือว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบและน่าอิจฉาไม่น้อย

.

.

.

คุณชาร์ต สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ | THE STUDY TIMES STORY EP.7

บทสัมภาษณ์ คุณชาร์ต สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ ประถมศึกษา Hughes School, ออสเตรเลีย ปริญญาโททุน JASSO รัฐบาลญี่ปุ่น The University of Tokyo, ญี่ปุ่น เสน่ห์วัฒนธรรมและระบบการศึกษาประเทศญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นทำงานด้านการศึกษา

คุณชาร์ตเกิดที่เมืองไทย แต่เมื่ออายุได้เพียง 10 เดือน ต้องขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต เดินทางไปอยู่ที่ออสเตรเลีย เนื่องจากตามคุณพ่อไปเรียนต่อปริญญาเอก จึงได้ไปใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียตั้งแต่อายุประมาณ 1 ขวบ ถึง 6 ขวบ เข้าศึกษาโรงเรียน Hughes School ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษา รวม 6 ปี

เวลาอยู่ที่บ้านจะใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คุณพ่อคุณแม่จะพูดสลับกัน แต่เพราะการเรียนหนังสือที่นั่นทำให้ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทำให้ตอนที่กลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย ต้องมาเรียนภาษาไทยใหม่กว่าครึ่งปี ถึงจะต่อสายสามัญในไทยได้ตามปกติ 

สิ่งที่คุณชาร์ตประทับใจมากเกี่ยวกับระบบการศึกษาและครูของออสเตรเลีย คือ ในช่วงอนุบาลจะมีการสอนพวก Skills ที่เราสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่เด็ก ๆ โดย Skill ที่คุณชาร์ตเรียนและมาต่อยอดได้จนถึงปัจจุบันคือ การเรียนทำอาหาร ที่ออสเตรเลียสอนเด็กเข้าครัวตั้งแต่อนุบาล สิ่งนี้ทำให้คุณชาร์ตคุ้นเคยกับการทำอาหาร จนกลายเป็นความชอบ

คุณชาร์ตมองว่า สิ่งสำคัญในสังคมคือ การมีทักษะ การที่คนเรามีทักษะ เสมือนเป็นสมบัติล้ำค่าที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต ยิ่งเรามีทักษะเยอะจะยิ่งทำให้เรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทักษะจึงเป็นสิ่งที่ควรจะมี และคนเราสามารถเสริมทักษะได้ตลอดชีวิต 

วิถีชีวิตในออสเตรเลีย สิ่งที่คุณชาร์ตจำได้ฝังใจคือ ตัวเองเป็นเด็กเอเชียตัวเล็กที่โดนบูลลี่หนักมาก โดนเพื่อนแกล้งมาตลอด เข้าใจว่าเป็นสังคมของเด็ก ๆ ที่มีแกล้งมีทะเลาะกันบ้าง ถือเป็นประสบการณ์นึงของชีวิต แต่ไม่ได้มีผลอะไรต่อชีวิตในตอนนี้ 

สิ่งที่คุณชาร์ตสังเกตได้จากการโดนบูลลี่ คือ การบูลลี่ที่ออสเตรเลียแตกต่างจากในไทย โดยของออสเตรเลียเป็นการแกล้งแบบเด็กทั่ว ๆ ไป ส่วนของไทยจะชอบเอาจุดด้อยของคนอื่นมาล้อเลียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าตา พ่อแม่ ครอบครัว ซึ่งมองว่าสิ่งนี้มีผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคตค่อนข้างมาก 

คุณชาร์ตเล่าว่าการปรับตัวหลังกลับมาเรียนต่อในไทย ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ตัวเองเข้ามาตอนป.2 เข้ามาสร้างสังคมใหม่ สิ่งที่ยากที่สุดคือภาษาไทย และวิชาทั่วไปที่เรียนในเมืองไทย เช่น วิชาภาษาไทย วิชาสังคมศึกษา

คุณชาร์ตมองว่าเรื่องภาษามีความยากง่ายแตกต่างกัน อยู่ที่การใช้ และความคุ้นเคยในภาษาของแต่ละสังคม เรื่องภาษาเป็นการเรียนรู้จากความเคยชินและการใช้งานโดยตรง 

ต่อมา เมื่อถึงชั้นป.4 คุณชาร์ตได้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นครั้งแรก ประมาณครึ่งปี เพราะตามคุณพ่อที่เป็นอาจารย์ไปสอนที่เกียวโต อยู่ห้อง international class แต่คนต่างชาติยังไม่เยอะ เพราะอยู่ในเขตเล็ก ๆ ของเมืองเกียวโต
  
การไปญี่ปุ่นรอบแรกทำให้คุณชาร์ตประทับใจจนต่อยอดกลับไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท สิ่งที่ประทับใจคือนิสัยคนญี่ปุ่น ความเป็นระเบียบ การให้ความสำคัญกับทุก ๆ สิ่งที่ทำ ให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง และชอบระบบการศึกษาของญี่ปุ่น ที่นอกจาการเรียนในตำรา ยังเน้นในเรื่อง Skills และประสบการณ์นอกห้องเรียน เช่นในวิชาสังคม ที่นอกจากเรียนในตำรา ยังได้ออกไปศึกษาสังคมจริง ๆ ไปเดินสำรวจตลาด โรงเรียน ห้าง

หลังการไปญี่ปุ่นครั้งแรก คุณชาร์ตกลับมาเรียนต่อที่สาธิตจุฬาฯ จนจบม.6 ได้ไปสอบเข้าม.เกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ แต่ด้วยความที่ชอบการเรียนรู้หลาย ๆ อย่าง ไม่ชอบทำอะไรแค่อย่างเดียว ต้องหาอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น และได้ไปอ่านไอเดียการใช้ gap year ที่เป็นช่วงพักจากเรียน เพื่อออกไปหาประสบการณ์ จึงไปสอบชิงทุนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยซากะ จังหวัดซากะ ค่อนข้างจะเป็นเมืองชนบทที่สุดของญี่ปุ่น 

คุณชารต์มีวัตถุประสงค์หลักคือการไปเรียนรู้วัฒนธรรม เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนที่นั่น การไปอยู่ในชนบททำให้เห็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ คุณชาร์ตเล่าว่ามีเพื่อนเป็นผู้สูงอายุญี่ปุ่นเยอะมาก ทั้งคุณลุงคุณป้าที่น่ารัก เนื่องจากการไปเดินห้าง ไปทำกิจกรรมกับกลุ่มผู้สูงอายุ ได้เรียนรู้ทั้งมารยาทบนโต๊ะอาหาร มารยาทในการทำธุรกิจ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพบเจอได้ในสังคมเมือง

เนื่องจากคุณชาร์ตเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวมาก มองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าสนใจ สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู แต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัดจะมีความน่าสนใจต่างกัน แนะนำให้มือใหม่ควรไปเที่ยวในเมืองใหญ่ ๆ ก่อน แต่เมื่อไรที่คุ้นชินกับญี่ปุ่นแล้ว คุณชาร์ตแนะนำให้ลองไปท่องเที่ยวเมืองเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะจะยังคงความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่

เนื่องจากคุณชาร์ตมีความสนใจเรื่องการศึกษามาก ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมนโยบายด้านการศึกษา พรรคกล้า สิ่งที่อยากผลักดัน คีย์เวิร์ดที่คุณชาร์ตให้คือ การศึกษาเพื่อโลกอนาคต การศึกษาต้องก้าวกระโดด 1 ก้าว 2 ก้าว กว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ การศึกษาต้องเตรียมพร้อมให้กับเด็กในอีก 10 ข้างหน้า โดยสิ่งที่คุณชาร์ตอยากผลักดันมีทั้งหมด 3 เรื่อง คือ

1.) Lean Education ทุกวันนี้เราเป็นการศึกษาแบบมีไขมันส่วนเกิน จากคำพูดเด็กที่ว่า เรียนไปไม่เห็นจะได้ใช้ พบว่ามีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นไขมันส่วนเกิน และสมควรได้รับการลีน เหลือเฉพาะในสิ่งที่สำคัญจริง ๆ 

2.) Up-skill Re-skill เพราะทักษะเป็นสมบัติที่จะติดตัวไปได้ตลอดชีวิต การฝึกทักษะไม่ได้มีเฉพาะในโรงเรียนอีกต่อไป การมีทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต ที่เข้ากับเทรนด์โลกอนาคต จะมีประโยชน์กับเรามาก

3.) การศึกษาที่สามารถสร้างงานได้ เด็กจบมาไม่มีงานทำหลายล้านคน สิ่งที่เป็นปัญหาของเด็กจบใหม่คือ จบมาแล้วยังไม่สามารถทำงานได้ ยังขาดอีกหลาย Skills คุณชารต์จึงอยากผลักดันเรื่องเรียนจบแล้วสามารถสร้างงานได้และทำงานได้ดี โดยอาจเสริมในเรื่องของการฝึกงาน

.

.

.

คุณปอนด์ สุทธินันท์ ดวงภุมเมศร์ | THE STUDY TIMES STORY EP.6

บทสัมภาษณ์ คุณปอนด์ สุทธินันท์ ดวงภุมเมศร์ นักเรียนทุนรัฐบาล UIS ปริญญาโท Master of Public Administration, Cornell University, สหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากความรู้ การเรียนต่างประเทศให้วิธีคิดที่กว้างและประสบการณ์ชีวิตที่หาที่ไหนไม่ได้

ปัจจุบัน คุณปอนด์ เรียนปริญญาโทอยู่ที่ Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาการจัดการภาครัฐและองค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ในภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ โดยได้รับทุน UiS ซึ่งเป็นทุนของรัฐบาลไทย ตั้งแต่ช่วงสมัยเรียนปริญญาตรี กระทั่งเรียนจบได้รับบรรจุเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครอง ปฏิบัติการปลัดอำเภอ ในกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

คุณปอนด์อธิบายว่า ทุนนี้ไม่ได้มีเฉพาะกรมการปกครอง ยังมีอีกหลากหลายหน่วยงานของรัฐบาล แต่จะเปิดในช่วงปีการศึกษาที่ 2 ของการเรียนปี 3 เพื่อให้เด็กมีโอกาสในการรับทุน จบมหาวิทยาลัยช่วงปริญญาตรี จะได้มีโอกาสในการเข้าไปฝึกงานหรือทำงานในภาครัฐ ก่อนที่จะตัดสินใจรับทุนต่อเพื่อไปเรียนต่างประเทศ หรือหากไปทำงานจริงแล้วเกิดไม่ชอบในระบบราชการก็สามารถลาออกก่อนจะรับทุนในช่วงที่ 2 ของการไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้

ในช่วงการคัดเลือกทุน คุณปอนด์เล่าว่า รอบแรกเป็นข้อเขียน สอบวิชาภาษาอังกฤษ วิชาความรู้ทั่วไป หลังจากนั้นจะคัด และมีวิชาสัมภาษณ์ และข้อเขียนรอบ 2 โดยในรอบสองจะเป็นวิชาการแปล การเขียน Essay ส่วนรอบสัมภาษณ์จะมีทั้งสัมภาษณ์เดี่ยว และกลุ่ม

แลกเปลี่ยน AFS
คุณปอนด์เล่าว่า เริ่มต้นช่วงป.6 ได้คุยกับแม่ว่าอยากไปเที่ยวอเมริกา แต่ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้ไม่ได้ไป ช่วงมัธยมตัวเองชอบพูดภาษาอังกฤษ สนุกที่ได้เรียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ พอมีเวลาช่วงม.4 ได้ลองสอบ AFS ดู ปรากฎว่าสอบผ่าน จึงได้ไปอเมริกาครั้งแรก 

การไปต่างประเทศถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตทั้งวิธีการคิด การเรียนรู้ เปลี่ยนทุกอย่างที่เคยประสบมาทั้งการเรียนและการใช้ชีวิต เพราะปกติคุณปอนด์เป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ ไม่เคยขึ้นรถเมล์ ไม่เคยไปเที่ยวบ้านเพื่อน ไม่เคยออกไปไหน การไปอเมริกานับเป็นการออกจากบ้านครั้งแรกในชีวิต ไปอยู่สัปดาห์แรก ต้องกินข้าวในห้องน้ำ เพราะไม่มีเพื่อน อาย มีอุปสรรคในเรื่องภาษา กระทั่งมาคิดได้ว่าการมาแบบนี้ไม่ช่วยอะไร เลยฝ่าความกลัวของตัวเองออกไปลองผิดลองถูก สุดท้ายสิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่เรื่องของภาษา แต่เป็นการกล้าลองทำทุก ๆ อย่าง   

สาเหตุที่คุณปอนด์เลือกเรียนในอเมริกานั้น เพราะเคยมีประสบการณ์อยู่มาแล้ว ทำให้สามารถหันไปโฟกัสที่การเรียนได้มากกว่าการปรับตัว ต่อมาคือเรื่องของความหลากหลายในอเมริกา ทั้งเชื้อชาติ อายุ อุดมการณ์ทางการเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ความหลากหลายนี้ทำให้คุณปอนด์มองว่าการเรียนนโยบายสาธารณะที่สหรัฐอเมริกา จะทำให้สามารถนำกลับไปใช้ในเรื่องของการออกนโยบายสาธารณะในประเทศไทยได้

สิ่งที่ได้นอกเหนือจากความรู้ในการมาเรียนที่อเมริกาของคุณปอน คือ ประสบการณ์ และกระบวนการความคิด มุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม

ช่วงที่ไปอเมริกาครั้งแรกในการแลกเปลี่ยน AFS คุณปอนด์ได้พบกับ Culture shock หลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ความตรงไปตรงมาของทุกคน สิ่งนั้นสอนให้ต้องตรงไปตรงมาในการพูด และอีกสิ่งคือลักษณะการยืนเพื่อตนเอง ต่อสู้เพื่อตัวเองในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง การยืนกรานในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ ไม่เช่นนั้นเราจะถูกเอาเปรียบ สิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของคนอเมริกัน ให้รู้ว่าสิทธิไหนเป็นสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิไหนที่เราต้องต่อสู้

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งไหนที่เห็นว่าดีในอเมริกา อาจไม่สามารถนำไปใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยได้ทั้งหมด เพราะบางครั้งโมเดลที่มีไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง การนำไปปรับใช้ต้องเลือกให้ดี โดยสิ่งที่คุณปอนด์คิดว่าควรมีในระบบการศึกษาไทย คือ กระบวนการคิด ที่มากกว่าการสอนให้เด็กรู้ การฝึกให้เด็กตั้งคำถาม วัฒนธรรมการตั้งคำถามโดยที่ไม่ให้เด็กรู้สึกอาย 

นอกจากเรียนและทำกิจกรรมแล้ว คุณปอนด์ยังได้แบ่งเวลามาทำงาน Part time โดยคุณปอนด์เล่าว่าเพราะมีช่วงที่เรียนหนักและเครียดมาก คุณปอนด์เลยหาช่วงที่จะได้พักผ่อน จากการใช้สมองอย่างหนัก จึงหางาน Part time ทำที่คลินิกในมหาลัย มีหน้าที่รับคนไข้ที่มาติดต่อ นำคนไข้ไปตรวจยังจุดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทำงานในส่วนที่นำผู้ป่วยหรือนักเรียนที่สงสัยว่าเป็นโควิดไปเข้าตรวจ ส่วนตัวมองว่าการทำงานคือการได้พักผ่อนสมองจากเรื่องการเรียน และยังได้เงิน นอกจากนี้ยังได้รับการฉีดวัคซีนโควิดก่อน 

เรื่องของสังคมคนไทย กลุ่มเด็กไทยทุนรัฐบาล ที่ Cornell คุณปอนด์ได้มีบทบาทในการร่วมกิจกรรมมากมาย เล่าให้ฟังว่าด้วยความที่ Cornell ตั้งอยู่ค่อนข้างไกลจากเมือง ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำเยอะ กลุ่มเด็กไทยที่อยู่จึงมีเวลาออกไปเที่ยว ไปเดินป่าด้วยกัน พบปะสังสรรค์ช่วงก่อนโควิด ทำกิจกรรม แลกเปลี่ยนความคิดความรู้ มีทั้งจากระดับปริญญาตรีและโท มีกรุ๊ปที่ชื่อว่า CTA ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนไทย ใครที่มาใหม่อยากจะให้พาทัวร์ พาไปซื้อของ มีเพื่อนๆ พี่ๆ คนไทยคอยช่วยซัพพอร์ต 

Cornell ถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกและของอเมริกา ในแต่ละสายวิชาจะมีความถนัดแตกต่างกันไป เช่น Cornell มีความถนัดในเรื่องของสัตวแพทย์ การโรงแรม นอกเหนือจากนั้นต้องยอมรับว่า Cornell มีแคมปัสสวยเป็นอันดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกา มีวิวที่สวยงาม มีครบทั้ง 4 ฤดู 

ในส่วนของการเตรียมตัวเรียนต่อต่างประเทศนั้น คุณปอนด์แนะนำว่า เรื่องภาษาอังกฤษก็สำคัญ แต่ไม่ใช่ประเด็นเดียว คุณปอนด์เองได้มีการเลือกมหาวิทยาลัยไว้ 3 แบบ คือ 1.มหาวิทยาลัยที่อยากเรียน 2.มหาวิทยาลัยที่มีลุ้น 3.มหาวิทยาลัยที่คิดว่าติดแน่ๆ จากนั้นควรไปสอบวัดภาษาอย่างน้อยสองครั้ง เพื่อครั้งแรกไปลองข้อสอบ ครั้งที่สองดูข้อสอบและใช้ทริคที่ได้จากการสอบรอบแรก แต่ถึงแม้จะมีคะแนนภาษาอังกฤษน้อย ให้ลองแนบกิจกรรม เรซูเม่ เข้าไปด้วย สิ่งเหล่านี้จะสามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนในที่นั้น ๆ ได้

คุณปอนด์ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ของไทยทุกคนกล้าคิด กล้าลอง กล้าพูด กล้าทำ อย่าไปกลัว เพราะอุปสรรคเป็นเรื่องของอนาคต ถ้าไม่ลองเราจะไม่รู้ ประสบการณ์จะเป็นสิ่งที่ช่วยสอนเรา ว่าสิ่งไหนสมควร สิ่งไหนไม่สมควร ดังนั้นกล้าคิด กล้าลอง แล้วเราจะเป็นคนที่ไม่ได้เก่งเฉพาะความรู้เท่านั้น แต่จะเก่งในเรื่องความคิดและการแก้ปัญหา


.

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top