Thursday, 28 March 2024
THE STUDY TIMES STORY

คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล | THE STUDY TIMES STORY EP.29

บทสัมภาษณ์ คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ปริญญาโท International Journalism (เกียรตินิยมอันดับ 1), Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร
ไม่แข่งกับใคร แข่งกับตัวเองเท่านั้น ยกระดับความสามารถและวิชาชีพสื่อมวลชน

ปัจจุบันคุณตองเป็นบรรณาธิการดิจิทัลของสำนักข่าว เกี่ยวกับด้านต่างประเทศ ทำคอนเท้นต์ต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ชมมีพื้นที่ในการเสพข่าวต่างประเทศในเชิงลึก มีทั้งบทวิเคราะห์ การนำเสนอภาพนิ่ง และวิดีโอที่ครอบคลุมรอบด้าน

ย้อนกลับไป คุนตองมีความชื่นชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2

นอกจากนี้ช่วงที่เรียน คุณตองได้ต่อยอดทักษะภาษาอังกฤษด้วยการไปทำงานร้านอาหารอิสราเอล ต้องคุยกับฝรั่งทุกวัน ไปสอนคุมอง นำสิ่งที่ได้เรียนไปใช้ในชีวิตจริง จบมาคิดว่าได้ประสบการณ์ในส่วนที่กล้าพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติได้อย่างไม่เคอะเขิน 

ช่วงปี 3 ได้ไป Work & Travel ที่ลาสเวกัส 3-4 เดือน ทำงานเก็บเงินไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น จนกลับมาปี 4 ได้ไปฝึกงานที่ช่อง 7 ในโต๊ะข่าวต่างประเทศ หลังจากนั้นเมื่อเรียนจบ ได้ไปทำงานเกี่ยวกับด้าน management แต่ค้นพบว่าตนเองมีความชอบและความสนใจด้านการสัมภาษณ์ พูดคุยกับแหล่งข่าว เขียนข่าวมากกว่า จนรุ่นพี่ที่ฝึกงานได้ชวนมาทำงานที่ช่อง 7 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักข่าว 

หลังจากทำงานที่ช่อง 7 ได้ประมาณ 2 ปี ค้นพบว่าได้ใช้ทักษะภาษาในการเขียนข่าว แปลข่าว วิเคราะห์ข่าว จนมาถึงจุดที่นั่งคิดว่าตัวเองทำได้มากกว่าการนั่งโต๊ะ เกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักข่าวภาคสนาม การเปิดหน้าทีวีกลายเป็นความฝันใหม่ อยากใช้ทักษะภาษาอังกฤษที่มี นำข้อมูลจากต่างประเทศมาสื่อสารให้ผู้ชม ขวนขวายตัวเองจนได้ไปต่างประเทศบ้าง แต่กลายเป็นว่าการเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามยังไม่โดดเด่นมากพอที่ช่องใหญ่จะนำผลงานมาออกอากาศให้ผู้ชมดู เกิดเป็นความรู้สึกบอบช้ำที่ว่า ‘ฉันยังไม่ดีพอ’ แต่อย่างน้อยได้เปิดโลกใหม่ของการถ่ายเอง ทำเอง เปิดหน้าเอง และตัดต่อเอง

จนมีคนที่เล็งเห็นถึงความพยายามและความสามารถ ชักชวนให้มาเป็นนักข่าวภาคสนามสายต่างประเทศที่สปริงนิวส์ อยู่ในจุดที่ทำแล้วต้องออกอากาศ กลายเป็นแรงผลักให้คุณตองเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามสายต่างประเทศที่ทำได้จริง เปิดหน้ารายงานสดได้จริง สามารถนิยามตัวเองว่าเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามได้ 

สิ่งที่ทำให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความผิดหวังมาได้ คุณตองเล่าว่า มาถึงวันนี้มองกลับไป เข้าใจว่าเราทำดีไม่มากพอให้เขาเห็น ความชอกช้ำหรือความผิดหวังที่ว่าเราทำเต็มที่แต่ไม่ได้ผลในสิ่งที่ต้องการ บางครั้งก็สามารถกลายเป็นแรงผลักได้ เป็นพลังลบที่ถีบเรา ทำให้เราก้าวข้ามอะไรบางอย่างไปได้

งานสื่อสารมวลชนไม่ได้ทำเพื่อให้ตัวเองเติบโต หรือมีหน้ามีตาในสังคมสื่อ แต่ทำเพื่อให้ผู้ชมดู ทำแล้วเป็นประโยชน์อะไรต่อผู้ชม ความคิดนี้เองที่ทำให้คุณตองอยู่ในอาชีพนี้ต่อไปได้   

ชิงทุน Chevening Scholarships
ตอนนั้นคุณตองทำงานที่สปริงนิวส์ได้ปีที่ 2 รุ่นพี่บรรณาธิการแนะนำว่าถ้าอยากดันตัวเองให้โตได้เร็วต้องไปศึกษาต่อปริญญาโท โดยเฉพาะในต่างประเทศ โชคดีที่คุณตองมีพื้นฐานภาษาอังกฤษ พยายามทำข้อสอบ mock-up ทุกวัน ฟังเพลงภาษาอังกฤษ ดูข่าว BBC เตรียมตัวพร้อมมาก แต่สอบสองปีไม่ผ่านในรอบสัมภาษณ์ ซึ่งคุณตองไม่เคยท้อ งานข่าวทำให้รู้สึกว่าต้องเดินหน้าต่อไป กระทั่งสมัครสอบทุนปีที่ 3 รู้สึกว่าชีวิตตัวเองอยู่ในจุดที่ดีมาก ลงตัว สามารถนำเสนอคอนเทนต์ด้วยตัวคนเดียวได้ จนท้ายที่สุดผ่านทุน ได้เข้าเรียนปริญญาโท สาขาวารสารศาสตร์ระหว่างประเทศ MA International Journalism, Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1

ประสบการณ์ทำงานกับ BBC World 
ก่อนจะไปเรียนต่อคุณตองทำงานเป็น Video Journalist ที่ BBC Thai อยู่ก่อนแล้ว ด้วยความที่มีอุปกรณ์พร้อมทำงาน ช่วงไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร มีรุ่นพี่ชักชวนให้ไปช่วยงานที่ BBC World เริ่มจากตัดต่อง่ายๆ เขียนคอนเทนต์ จนไปช่วยถ่ายงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน ได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยระบบการทำงานใน BBC มีลักษณะ “One man, One job”

หลังกลับมาเมืองไทย คุณตองได้เข้ามาทำงานในตำแหน่ง บรรณาธิการข่าวดิจิทัล กับช่องใหญ่ช่องหนึ่ง มีเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้สำนักข่าวต่างประเทศที่มีคนไทยทำ ทำคอนเทนต์ที่คนไทยเข้าถึงได้ และประสบความสำเร็จ ทำให้คนไทยสนใจข่าวต่างประเทศ มองสิ่งที่อยู่นอกประเทศได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย การเสพข่าวอาจเกิดชุดความคิดที่นำไปสู่ทางออกที่ดีขึ้นได้ 

อีกเป้าหมายหนึ่งคือ อยากสร้างทีม ถ่ายทอดทักษะต่างๆ ที่มีให้กับทีมนักข่าวหน้าใหม่ที่ปลุกปั้นขึ้นมาเอง ฝึกฝนบุคลากรสื่อที่อยากทำสิ่งดีๆ ให้สังคม และสุดท้ายคุณตออยากพิสูจน์ตัวเองว่าลิมิตของการเป็นบุคลากรสื่อสามารถเป็นหัวหน้าคนได้ไหม สามารถเป็นคนกำหนดทิศทางการทำงานให้กับน้องๆ สร้างคนที่อาจจะได้โอกาสอย่างเราได้หรือไม่

สุดท้ายสิ่งที่คุณตองอยากผลักดันด้านการศึกษาสื่อสารมวลชนในประเทศไทย อย่างแรกคือ ไม่อยากเห็นแค่คนจากสายวิชาการมาสอนด้านสื่อ อยากจะเห็นบุคลากรด้านสื่อจริงๆ มาเป็นเทรนเนอร์ เมนเทอร์ให้กับน้องๆ รวมทั้งผลักดันเรื่องของ Critical Thinking และนอกเหนือจากเรื่องวิชาการและทักษะที่อาจารย์ได้ถ่ายทอด ควรจะหาโมเดลให้กับลูกศิษย์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรสื่อได้ฟูมฟักสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ให้เป็นสื่อที่ดีในอนาคต

.


.

.

คุณแกม อนัญญา เอกอุรุ | THE STUDY TIMES STORY EP.32

บทสัมภาษณ์ คุณแกม อนัญญา เอกอุรุ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วินัยและไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ทำให้พื้นฐานในการเรียนแน่น โดยไม่ต้องกดดันตัวเองเกินไป

ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย คุณแกมเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 79 ห้องคิง คุณแกมเล่าว่า ตอนช่วงม.ต้น ไม่ได้เก่งเลขเลย แต่อยากสอบติดและเป็นคนที่เก่งเลข จึงฝึกฝนโดยการทำโจทย์ข้อเดิมซ้ำๆ จนกว่าจะทำได้ ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ และอังกฤษ จะไปเรียนพิเศษและอ่านทบทวนเอง จนสามารถสอบติดสายวิทย์-คณิต บริหาร ห้องคิง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นรุ่นที่ 79 

แรงบันดาลใจเลือกเรียนต่อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของคุณแกมมาจากความที่ชอบวิทย์-คณิตมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้ชอบทางด้านภาษา พยายามหาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทย์-คณิต จนได้ดูซีรีส์ที่เกี่ยวกับหมอ แล้วรู้สึกอิน มีอารมณ์ร่วม เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก 

เทคนิคการเตรียมตัวสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ของคุณแกม คือ พยายามเรียนเนื้อหาม.ปลายให้จบภายใน ม.4-5 พอถึงช่วงเปิดเทอมขึ้นม.6 จะเริ่มเรียนคอร์สเอนท์ ไปจนถึงม.6 เทอม 1 รวมทั้งต้องแบ่งเวลาอ่านหนังสือ เตรียมโจทย์ไปทำที่โรงเรียน  พยายามทำการบ้านคอร์สเอนท์ให้หมด ไม่ค้างไว้ ในช่วงปิดเทอมสั้นม.6 จะเริ่มเรียนคอร์สตะลุยโจทย์ต่างๆ และช่วงม.6 เทอม 2 เริ่มเรียนคอร์สความถนัดแพทย์ ตะลุยโจทย์วิชาที่เหลือ และเน้นอ่านเองเป็นหลัก

สังคมที่เตรียมฯ เพื่อนทุกคนจะพากันเรียน หลังเลิกเรียนแยกย้ายกันไปเรียนพิเศษ มีอะไรสงสัยสามารถถามกันได้ เพื่อนๆ ช่วยกันเรียน คุณแกมเป็นคนมีวินัยในการเรียน พยายามไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง อาจไม่ได้เที่ยวเล่นมาก เพราะมีจุดมุ่งหมายคือการสอบติดคณะแพทย์ จึงพยายามเรียนไม่เล่นเยอะ

กิจกรรมในรั้วมหาวิทยลัย 
ครั้งแรกที่คุณแกมเข้าไปเรียนที่จุฬาฯ มีกิจกรรมค่ายรับน้อง เป็นค่ายที่ทำให้รู้จักเพื่อนใหม่ รุ่นพี่ สังคมใหม่ๆ ค้นพบว่าคณะแพทย์จุฬาฯ อบอุ่นมาก ต่อมาคือค่ายเฟรชชี่ และค่ายอยากเป็นหมอ ช่วยแนะแนวทางการศึกษาแพทย์ให้กับน้องม.ปลาย การร่วมกิจกรรมต่างๆ เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเรื่อยมา

ความชื่นชอบในค่ายเฟรชชี่ตอนตัวเองเป็นรุ่นน้อง คุณแกมจึงสมัครเป็นฝ่ายประสานงานของค่าย พอทำแล้วรู้สึกชอบมาก เนื่องจากตอนเรียนมัธยมไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม เพราะมีจุดมุ่งหมายคืออยากเข้าเรียนคณะแพทย์ ทำให้เรียนหนัก แต่เมื่อสอบติดแล้วทำให้รู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องเครียด ลองทำกิจกรรมมากขึ้น ทำให้รู้ว่า ชีวิตไม่ได้มีแค่การเรียน การทำกิจกรรมฝึกพัฒนาตัวเองได้เยอะมาก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากการเรียน

ติวเตอร์สอนพิเศษ
ช่วงที่สอบมหาวิทยาลัยติดแล้ว คุณแกมมีเวลาว่างจึงเริ่มสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์และชีววิทยา แต่ต่อมาเน้นสอนคณิตศาสตร์อย่างเดียว ชอบที่ได้ถ่ายทอดความรู้ไปให้น้องๆ รู้สึกแฮปปี้ การสอนบ่อยๆ ทำให้เริ่มผูกพันธ์กับงานสอน เหมือนเป็นความเคยชิน ทำให้สอนเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1

คุณแกมฝากทิ้งท้ายเป็นกำลังใจสำหรับคนที่เตรียมตัวสอบไว้ว่า ไม่ต้องเครียดมาก พยายามทำให้ดีที่สุด มีวินัยกับตัวเอง  พยายามเตรียมตัวเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเอง เพราะการกดดันตัวเอง เป็นการเพิ่มความเครียดให้ตัวเอง ทำให้ทำอะไรไม่ได้ดีสักอย่าง


.

.

.

คุณแองจี้ ธนธร ศิระพัฒน์ | THE STUDY TIMES STORY EP.31

บทสัมภาษณ์ คุณแองจี้ ธนธร ศิระพัฒน์ นักศึกษา คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัย SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE
จากคนที่ไม่ชอบภาษาจีน แต่เพราะสนใจศาสตร์แพทย์จีน จึงก้าวข้ามอุปสรรคได้

ปัจจุบัน คุณแองจี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัย SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE 

จุดเริ่มต้นจากคนไม่ชอบในภาษาจีน สู่นักศึกษาคณะการแพทย์แผนจีน
ตอนอยู่ชั้นม.ปลาย ด้วยความที่คุณแองจี้เป็นคนหน้าหมวยมาก และที่บ้านชอบพาไปเที่ยวที่ประเทศจีน ทุกคนคิดว่าต้องพูดภาษาจีนได้แน่นอน เกิดความไม่ชอบที่มีคนมาตัดสิน ทำให้ไม่ชอบภาษาจีน ไม่ชอบวัฒนธรรม จนลั่นวาจาไว้กับเพื่อนว่า จะไม่ขอเจอภาษาจีนอีกตลอดชีวิต 

ซึ่งในช่วงนั้นคุณแองจี้มีความสนใจอยากเรียนแพทย์ สมัครทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนที่ประเทศไทย สอบติดทั้งสองที่ แต่ได้แพทย์แผนจีนก่อน คุณพ่อบอกให้ลองเรียนดูก่อนว่าชอบไหม จึงได้เข้าไปเรียนช่วงซัมเมอร์ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ออกหน่วยอาสาแพทย์แผนจีนกับรุ่นพี่พอดี รู้สึกสนุก จนเกิดความชอบและประทับใจ

แพทย์แผนจีนจะเรียนในเรื่องของยาจีน ฝังเข็ม ครอบแก้ว ทุยหนา นวดแผนจีน เป็นหลักองค์ความรู้ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีหลักความรู้ที่แตกต่างออกไปจากแพทย์แผนตะวันตก 
 
ช่วงแรกคุณแองจี้เรียนแพทย์แผนจีนอยู่ที่ประเทศไทย โดยปีแรกจะมีการส่งไปเรียนแลกเปลี่ยนด้านภาษาที่เมืองยู่หลิน玉林  YULIN NORMAL UNIVERSITY ก่อน เมื่อขึ้นชั้นปี 2 จะเรียนเกี่ยวกับเนื้อหา ซึ่งช่วงนั้นมีคนแนะนำให้ลองยื่นสมัครทุนเรียนต่อที่เซียงไฮ้ และคุณพ่อเป็นผู้ผลักดันให้ไป อย่างน้อยก็ได้ในเรื่องของภาษา สุดท้ายคุณแองจี้จึงตัดสินใจซิ่วขอทุนไปเรียนต่อ คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัย SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE 

วิธีการเรียน SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE มีความแตกต่างกับไทยคือ ที่จีนจะมีโรงพยาบาลที่มีทั้งแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนตะวันตกรวมไว้ด้วยกัน และด้วยความที่มหาวิทยาลัยอยู่ติดกับโรงพยาบาล คุณแองจี้จึงมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่โรงพยาบาล เจอคนไข้จริงมากกว่าที่ไทย ส่วนของเนื้อหาการเรียน จะเรียนเป็นภาษาจีน 100% 

ในเรื่องของการใช้ชีวิตที่ประเทศจีน คุณแองจี้เล่าว่า บรรยากาศที่เซียงไฮ้ทุกอย่างดูศิวิไลซ์ โทรศัพท์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น บ้านเมืองสวยงาม ไม่มีขยะวางเกลื่อนกลาด

ออกจาก Comfort Zone สู่นักกิจกรรมตัวยง
ช่วงเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยที่ไทย คุณแองจี้มีความกังวลว่าการทำกิจกรรมจะส่งผลกระทบกับการเรียน จึงพยายามเอาตัวเองออกห่างจากกิจกรรม ทำให้กลายเป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงออก แม้ในการไปเรียนเซียงไฮ้ปีแรก ยังคงติดอยู่ใน Comfort Zone อยู่แต่กับกลุ่มเพื่อนสังคมคนไทย จนรู้สึกว่าบางครั้งการที่เราอยู่ใน Comfort Zone มากเกินไป ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุขกับตรงนั้น ซึ่งคุณแองจี้เจอข้อความหนึ่งในเฟซบุ๊กว่า “อย่าละทิ้งความฝันของตัวเอง เพียงเพราะไม่มีคนไปเป็นเพื่อน” รู้สึกว่าทัชใจ จึงตัดสินใจเปิดตัวเองออกจาก Comfort Zone ไปหากิจกรรมต่างๆ ทำ ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ 

กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คุณแองจี้ต้องเดินทางกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย มีรุ่นพี่ที่รู้จักชวนไปออกหน่วยอาสา เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่แวดวงอาสา โดยเหตุผลที่เลือกทำกิจกรรมอาสานั้น เพราะรู้สึกว่าได้รับมามากพอแล้ว หลายคนพูดว่าอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว ซึ่งคุณแองจี้มองว่า นอกจากเรียนรู้ที่จะทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วแล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะนำน้ำที่มีเทไปให้คนอื่นต่อ แล้วเราค่อยเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามา 

เป้าหมายของคุณแองจี้ คือ อยากทำให้คนรู้จักในแพทย์แผนจีนมากขึ้น สิ่งที่มีอยู่เป็นประโยชน์กับทุกๆ คนได้ ในส่วนของการทำอาสาอยากให้ทุกคนมีจุดศูนย์กลางที่จะมารวมตัวกัน และอยากทำเป็นจิตอาสาแบบต่อเนื่อง พัฒนาคุณภาพชีวิตคน 

นอกจากนี้ คุณแองจี้ยังทำช่อง YouTube กูรูวัยเก๋า ซึ่งเป็นรายการที่ทำร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ จะพาไปพูดคุยกับกูรูที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ อีกทั้งเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย แลกเปลี่ยนความรู้กัน รวมทั้งตีแผ่เรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม

คุณแองจี้ฝากทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากเริ่มทำจิตอาสาว่า มันจะง่ายมาก ถ้ามีความรู้สึกว่าอยากทำ แล้วออกไปทำ เริ่มที่อยากจะทำอะไรสักอย่าง อาสาไม่ได้หมายความว่าจะลงแรงเพียงอย่างเดียว อาจจะช่วยได้ในหลายช่องทาง ถ้าใจเรามา อยากทำอะไรเราทำได้เลย 

.

.

.

THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์ที่เจ็ด พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์นี้

????วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม - วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง

พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.31 วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม

คุณแองจี้ ธนธร ศิระพัฒน์ นักศึกษา คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัย SHANGHAI UNIVERSITY OF TRADITIONAL CHINESE MEDICINE

????EP.32 วันอังคารที่ 1 มิถุนายน

คุณแกม อนัญญา เอกอุรุ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

????EP.33 วันพุธที่ 2 มิถุนายน

คุณเจน ดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช ปริญญาโท จิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การ Roosevelt University, สหรัฐอเมริกา

ปริญญาเอก จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม Brunel University, สหราชอาณาจักร

????EP.34 วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน

คุณปิ่น ธัญชนก ปการัตน์ ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอดอลและนักแสดงวัยรุ่น

????EP.35 วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน

คุณไบร์ท ชนปทิน พลาพิภัทร ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง 2 ใบ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ GPA 4.00 The University of Texas at Austin, สหรัฐอเมริกา

✅ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

????ช่องทางรับชม

Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES

คุณนุ่น สุภาวดี สิริฤกษ์วิภาส | THE STUDY TIMES STORY EP.30

บทสัมภาษณ์ คุณนุ่น สุภาวดี สิริฤกษ์วิภาส ได้รับทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย Cornell University - LL.M, สหรัฐอเมริกา 
จากนักกิจกรรมตัวยง สู่นักเรียนทุนสายกฎหมาย เพราะความสนใจด้านภาษา ช่วยพัฒนาศักยภาพ

ปัจจุบันคุณนุ่นทำงานในตำแหน่ง Associate ที่ Law Firm ทำเกี่ยวกับ corporate รวมถึงการควบรวมกิจการต่างๆ 

ประสบการณ์เรียนภาษาที่ออสเตรเลีย
ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ของคุณนุ่นสนใจในภาษา จึงสนับสนุนให้คุณนุ่นเรียนด้านภาษาตั้งแต่เด็ก ช่วงมัธยมคุณพ่อคุณแม่ส่งไปเรียนใน English Program เรียนอาทิตย์แรกถึงกับเป็นไมเกรน เพราะตามไม่ทันจากที่เรียนโรงเรียนไทยมาตลอด แต่พยายามปรับตัว สุดท้ายเริ่มเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอน 

กระทั่งจบชั้นม.1 คุณแม่ส่งให้ไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลีย จากตอนแรกที่ฟังอะไรไม่รู้เรื่อง แต่พอไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ทำให้พัฒนาทั้งสมอง และหูสามารถปรับรับกับภาษาได้ เกิดความสนใจด้านภาษาอย่างมาก เพราะภาษาอังกฤษเป็นตัวเปิดโลกให้กว้างขึ้น ทำให้เรียนรู้อะไรได้มากกว่า สามารถอ่านวรรณกรรมที่นอกเหนือจากวรรณกรรมไทย หรือบทความภาษาไทย 

เรียนแลกเปลี่ยนสหรัฐอเมริกา จุดก้าวกระโดดทักษะการฟังภาษาอังกฤษ
หลังจากนั้นคุณนุ่นได้สอบชิงทุนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปอยู่เท็กซัส 1 ปี ถึงแม้จะเรียน English Program มา แต่เรียนเฉพาะในแง่ของวิชาการ หลายๆ อย่างยังต้องพัฒนา ที่สำคัญคือการพูดตัวอักษร L R V แต่โชคดีที่โฮสมัมซึ่งเป็นอาจารย์จะมาฝึกพูดให้ทุกวัน รวมทั้งฝึกภาษาจากการดูหนังภาษาอังกฤษแบบไม่เปิดซับ  

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียน ‘นิติศาสตร์’
ตอนป.3 คุณแม่ของเพื่อนสนิทเป็นผู้พิพากษาและมีญาติเป็นทนายความ คุณนุ่นได้ไปสัมผัสแล้วรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงที่เท่มาก จึงมีเขาเป็นไอดอล รู้สึกว่าอยากเป็นแบบนี้ พยายามหาข้อมูลจนรู้สึกว่านิติศาสตร์เป็นอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถเข้าใจได้ และปรับใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิตประจำวัน จึงตัดสินใจสอบตรงเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 

คุณนุ่นเล่าว่า การเรียนกฎหมายไม่ใช่แค่อ่านตัวบทแล้วจะเข้าใจตัวกฎหมาย ต้องมองไปถึงวิธีการตีความ บัญญัติออกมาเป็นอย่างไร เอามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงอย่างไร หากใครมีโอกาส คุณนุ่นแนะนำให้ลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่มี เพื่อศึกษาถึงการนำกฎหมายมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณนุ่นเป็นคนที่ทำกิจกรรมเยอะมาก ด้วยความที่ชื่นชอบภาษา จะเลือกทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ และด้วยความที่เด็กนิติฯ ส่วนใหญ่มีความกลัวภาษาอังกฤษ เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่ไม่กลัวภาษา ซึ่งการทำกิจกรรมสามารถเปิดโลกกว้าง และเปิดมุมมองที่แตกต่าง การแบ่งเวลาของคุณนุ่นคือ ในช่วงปี 1 – ปี 3 ลุยทำกิจกรรมในคณะ และปี 4 ลองออกไปทำกิจกรรมนอกคณะ อย่างการเป็นหลีดมหาวิทยาลัย 

ซึ่งข้อดีของการทำกิจกรรมในรั้วมหาลัย เวลาที่ไปสมัครงาน ไปสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะเห็นว่าเราสามารถทำสิ่งอื่นได้นอกเหนือจากสิ่งที่เรียนในห้อง มีทักษะที่หลากหลายด้าน

คุณนุ่นเคยผ่านการคัดเลือกเป็น Kbank e-Girls เป็นตัวแทน 8 คน จากผู้สมัคร 8,000 คน โดยเริ่มจากดูว่าเขาต้องการอะไร ต้องการคนที่สามารถนำเสนอได้ มีความสมาร์ท ผู้หญิงที่มีความสามารถ ปราดเปรียว รู้สึกว่าอาจจะเหมาะกับคาแรคเตอร์ เลยลองไปสมัคร ตอนนั้นคิดว่าสิ่งที่ทำให้ได้โอกาส มาจากการที่เคยทำกิจกรรม รู้จักนำเสนอ รู้จักคุยกับคนอื่น หลังจากนั้นคุณนุ่นยังใช้ทักษะที่มีไปคว้าตำแหน่งผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ของช่อง 9 มาได้อีกด้วย

คุณนุ่นแนะนำว่า การที่เราไม่มีประสบการณ์ในด้านไหน เราก็สามารถไปคว้าโอกาสดีๆ มาได้ ถ้าเรามีความพยายาม และการฝึกฝน บางทีที่คนต้องการเห็นจากเรา คือความพยายาม และหากเรามีแวว มีความสามารถ เราสามารถไปต่อได้

Cornell University - LL.M (ทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย)
คุณนุ่นเล่าว่า ในการสมัครทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย ต้องมีคะแนน TOEFL และต้องได้เนติบัณฑิต เพราะเป็นทุนของเนติบัณฑิตยสภา ภายใต้ชื่อทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย แต่ละปีจะคัดเลือกไป 1 คนต่อหนึ่งปี เป็นทุนให้เปล่า

เมื่อตรวจเอกสารเรียบร้อย หากใครได้เข้ารอบสัมภาษณ์ จะต้องเขียนแนวทางชีวิต ว่าต้องการทำอะไรต่อ จะทำอะไรให้สังคมได้บ้างในอนาคต และประวัติส่วนตัวสามหน้า ให้เวลาหนึ่งอาทิตย์ และในวันสัมภาษณ์จะต้องเขียน Essay ตามหัวข้อที่ได้มาภายในเวลา 30 นาที โดยกรรมการจะสัมภาษณ์จากในทุกอย่างที่เราเขียนส่งไป

คุณนุ่นคิดว่าสิ่งที่ทำให้ตัวเองได้รับทุนนี้ เพราะประสบการณ์ที่สั่งสมมา และมีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัดว่าอยากทำอะไร สิ่งที่มีมากกว่าคนอื่นคือประสบการณ์และสิ่งที่สะสมไว้จากตอนทำกิจกรรมมากมายในรั้วมหาวิทยาลัย

Cornell University 
คุณนุ่นเล่าว่า การเรียนที่ Cornell University ต่างจากที่ไทยมาก เพราะเน้นให้ฉุกคิด เรียกให้ตอบในห้องเรียน ทำให้นักเรียนอเมริกันมีความกล้าแสดงออก กล้าคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การศึกษาพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประโยชน์ต่อตัวผู้เรียน

สิ่งที่คุณนุ่นประทับใจที่สุดใน Cornell University คืออาจารย์และเพื่อน อาจารย์จะสอนให้ฝึกคิดและมีแนวให้ฝึกปฏิบัติ นำกฎหมายไปปรับใช้ในชีวิตจริง ส่วนเพื่อนแต่ละคนกว่าที่จะมาถึงจุดนี้ก็ผ่านหลายประสบการณ์มา เมื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน พบว่าตัวเองได้ก้าวกระโดดด้านความคิด มีเพื่อนที่จะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ตลอดชีวิตหลังจากนี้

คุณนุ่นฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้นักกฎหมายตามกฎหมายอยู่เรื่อยๆ ตามแนวทางการตีความ เบื้องหลังการออกกฎหมายต่างๆ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

.


.

.

คุณแพรวา กัลยรัตน์ ธุระกิจเสรี | THE STUDY TIMES STORY EP.28

บทสัมภาษณ์ คุณแพรวา กัลยรัตน์ ธุระกิจเสรี นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน
HSK ระดับ 6 ตั้งแต่อายุ 17 ปี ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมแปลนิยายและสอนภาษาจีน

ปัจจุบันคุณแพรวาเรียนอยู่ชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปรับรูปแบบเป็นการเรียนออนไลน์แทน

คุณแพรวาเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่ระดับชั้นม.ต้น สอบได้ HSK6 ตั้งแต่อายุ 17 ปี ในช่วงม.5 มีเพื่อนแนะนำให้ไปสอบทุน AFS จนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองหานตาน ประเทศจีน นาน 10 เดือน เมื่อไปอยู่พบว่านักเรียนที่ประเทศจีนเรียนหนักมาก ตั้งแต่เช้าถึงดึก มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด และเมืองหานตานที่ไปอยู่ค่อนข้างชนบท ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่สิ่งที่ค้นพบคือนักเรียนที่นี่เรียนเก่ง สอบได้คะแนนสูงแทบทุกคน

คุณแพรวาประทับใจการใช้ชีวิตที่ประเทศจีน ชื่นชอบบรรยากาศ ผู้คน และชินกับการใช้ชีวิต เสน่ห์ของจีนที่ค้นพบคือ ในปัจจุบันจีนสะอาดมาก เป็นประเทศที่พัฒนาได้เร็ว จนท้ายที่สุดคุณแพรวาเลือกยื่นคะแนนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน

ตอนปี 1 คุณแพรวาเรียนในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งในมหาวิทยาลัยมีคนไทยเพียงแค่ 2 คนที่เรียน การเรียนการสอนเป็นภาษาจีนทั้งหมด ซึ่งเรียนหนักมาก เริ่มเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า ทุกวันจันทร์-ศุกร์ การเรียนตอนนั้นเครียดมาก ถึงแม้ว่าจะได้ HSK6 แต่เมื่อเลือกคณะนี้แล้วยังรู้สึกว่าภาษาจีนยาก เนื่องจากมีคำศัพท์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับการเมืองและกฎหมาย คุณแพรวาจึงตัดสินใจว่าจะเรียนภาษาจีนให้แน่นกว่านี้ก่อน 

นอกจากเรียนออนไลน์แล้ว ช่วงนี้คุณแพรวายังทำงานพิเศษ ทั้งแปลนิยาย แปลซีรีส์ละครจีน สอนพิเศษภาษาจีน ครั้งแรกที่รับงานแปลได้รับโจทย์ 12,000 ตัว ต้องทำให้เสร็จภายในสองวัน รู้สึกติดขัด เพราะยังไม่เคยทำ ต้องทำทั้งคืน หลังจากนั้นก็รับงานมาทำมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังรับสอนพิเศษภาษาจีนให้กับคนที่สนใจอีกด้วย โดยเริ่มจากการสอนเพื่อนที่เรียนศิลป์จีนมาด้วยกันตอนม.ปลาย หลังจากนั้นจึงเริ่มเปิดรับสมัคร

คุณแพรวากล่าวว่า ภาษาจีนเป็นภาษาที่สองได้ จากประสบการณ์พบว่าภาษาจีนสามารถสื่อสารได้ทั่ว สำหรับใครที่อยากจะคล่องภาษาจีน ต้องฝึกอย่างน้อย 2-3 ปี การเรียนหนึ่งภาษา ไม่มีทางได้ภายในปีเดียว นอกเสียจากจะไปอยู่ที่ประเทศจีน

สำหรับใครที่อยากไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศจีน คุณแพรวาแนะนำให้เตรียมตัวเรียนภาษาจีนเบื้องต้นไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะต้องไปเริ่มใหม่ ทั้งๆ ที่คนอื่นแซงหน้าไปก่อนแล้ว

.

.

.

คุณเสกฬ์ ดร. ศตเนติ เนติภัทรชูโชติ | THE STUDY TIMES STORY EP.27

บทสัมภาษณ์ คุณเสกฬ์ ดร. ศตเนติ เนติภัทรชูโชติ ปริญญาเอก Ph.D in International Law (Criminal & Human Rights Laws), University of Groningen, เนเธอร์แลนด์ 

เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลัง พัฒนาภาษาอังกฤษจาก IELTS 4.00 เป็น 7.5 ภายใน 4 เดือน ชิงทุนเรียนต่อต่างประเทศ

คุณเสกฬ์มีความสนใจ อยากเรียนนิติศาสตร์มาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนนิติศาสตร์มาจากความเท่ จบมามีเงินช่วยพ่อแม่ ดูพูดจาแล้วมีหลักการ มีความมั่นคง จึงเป็นจุดเริ่มต้นเป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งขันตอบปัญหากฎหมาย ถึงไม่เคยได้รางวัล แต่ได้ประสบการณ์

กระทั่งจบชั้น ม.6 สามารถสอบเข้าเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ โดยเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง อีกทั้งยังจบปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย 

เทคนิคในการเรียนของคุณเสกฬ์ คือ อ่านหนังสือเอง ด้วยความที่ปกติเป็นคนปาร์ตี้ เป็นนักกีฬา มีกิจกรรมเยอะ แทบไม่ค่อยได้เข้าเรียน จึงต้องมีการกำหนดเวลาอ่านหนังสือด้วยตัวเองให้ได้อย่างน้อยวันละ 3-4 ชั่วโมง นอกจากนี้การมีกลุ่มเพื่อนที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องของการแบ่งเลกเชอร์ จับกลุ่มติว แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน สิ่งที่คุณเสกฬ์ยึดมั่นมาตลอดคือ ความมีวินัยในตัวเอง และความเคารพตัวเอง ต้องมีการวางแผนที่ชัดเจน 

หลังจากนั้น คุณเสกฬ์ได้ทุนไปเรียนปริญญาโทอีกใบในหลักสูตร LL.M in International and Comparative Criminal Law and Justice, University of London ที่ประเทศอังกฤษ คุณเสกฬ์เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษมาจากแรงผลักดันของแฟนที่มีความสามารถด้านภาษา และทำให้คุณเสกฬ์อยากพัฒนาตัวเองตามไปด้วย ทำให้ตัดสินใจไปสอบ IELTS ทำผลสอบครั้งแรกได้เพียง 4.0 

หลังจากนั้นมีรุ่นพี่นักฟุตบอลที่เคยได้คะแนน IELTS ประมาณนี้มาก่อน แต่เคยไปอยู่ที่เมืองนอก คุณเสกฬ์จึงสอบถามว่าทำอย่างไรถึงได้ไป รุ่นพี่แนะนำว่า ให้ใช้คะแนน IELTS ที่ได้ยื่นไปก่อน และจะมีการนำคะแนนไปยื่นที่โรงเรียนภาษาของมหาวิทยาลัยให้อีกครั้ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษจะมี Pre-sessional Course หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่เปิดสอนสำหรับนักเรียนต่างชาติ ที่มีคะแนน IELTS ไม่ถึงตาม requirement ของมหาวิทยาลัย ซึ่งคุณเสกฬ์ก็ได้เดินทางไป และใช้เวลาเรียนเพียง 3 เดือน สามารถทำคะแนน IELTS ได้ถึงตามเกณฑ์

ต่อมาคุณเสกฬ์ได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอก Ph.D in International Law (Criminal & Human Rights Laws), University of Groningen ที่ประเทศเนเธอแลนด์  ซึ่งการเรียนปริญญาเอกที่เนเธอแลนด์จะมีฐานะเป็น employee ทำงานให้กับมหาวิทยาลัยหรือรัฐบาลของเขา

คุณเสกฬ์เล่าว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดในโลก ระบบการศึกษาในประเทศใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ด้านความแตกต่างของระบบการศึกษาระหว่างไทยและต่างประเทศ สิ่งที่สังเกตได้คือ ในข้อสอบของเมืองนอก ข้อสอบจะเป็นแบบ Analyze ถึงเปิดหนังสือก็ตอบไม่ได้ เป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของประเทศในยุโรป ที่สามารถเนรมิตข้อสอบให้ดีดออกไปจากตำราและความจำ ข้อสอบที่เนเธอร์แลนด์จะเป็นการ Apply มุมความรู้ไปกับเคส และความคิดเห็น

ปัจจุบันคุณเสกฬ์เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยสยาม เป็นอาจารย์ที่หลักสูตรอินเตอร์ของมหาวิทยาลัย เขียนหลักสูตรปริญญาโทของคณะนิติศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการร่างกฎหมายกัญชา

คุณเสกฬ์ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า คนที่ปิดกั้นตัวเองว่าไม่ไปเรียนเมืองนอก เพราะกลัวภาษา จากประสบการณ์ ภาษาเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่เอาชนะได้ ด้วยการอยู่กับมัน และรักมัน ถ้ามีใจ เปลี่ยน Mindset ตัวเองว่าไม่ต้องกลัว เดินหน้าเข้าหามัน ผิดช่างมัน มุ่งหน้าทำ มุ่งหน้าเรียนรู้ พยายามหาเพื่อนฝรั่ง พยายามอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ช่วยได้เยอะมาก หลักๆ คือ การมีวินัยในตัวเอง และอย่าเป็นคนขี้แพ้ 

.


.

.

.

คุณโอ่ง ณัฐชา ปัทมพงศ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.26

บทสัมภาษณ์ คุณโอ่ง ณัฐชา ปัทมพงศ์ ปริญญาตรี Bachelor of Humanities and Arts in International Relations and Music Technology, Carnegie Mellon University, สหรัฐอเมริกา
ทำในสิ่งที่รักและมี Passion จะทำให้มีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในทุกวัน

คุณโอ่ง นักร้องนำวง Mellow Motif ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ปริญญาโทนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่องานบันเทิง (Entertainment Innovation Center หรือ EIC) 

ย้อนกลับไปคุณโอ่งเกิดที่อเมริกา แต่กลับมาโตที่เมืองไทย เข้าเรียนโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นม.3 และไปเรียนต่อไฮสคูลที่อเมริกา หลังจากนั้นได้เข้าเรียนปริญญาตรี Bachelor of Humanities and Arts in International Relations and Music Technology, Carnegie Mellon University สหรัฐอเมริกา

คุณโอ่งเล่าว่า การศึกษาที่อเมริกาส่งเสริมให้คิดนอกกรอบ ให้ลองผสมผสานสิ่งต่างๆ ไม่มีอะไรผิด และการที่ได้เรียนรู้อะไรที่หลากหลาย ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งตอนที่เรียนอยู่ยังไม่รู้ว่าจะเอาความรู้ตรงนั้นไปทำอะไร แต่สิ่งที่เขาพยายามส่งเสริมให้ทำ คือการตามหา Passion อะไรที่ชอบ อะไรที่ทำได้ดี เมื่อออกมาทำงานจริงจะรู้ได้ว่าความรู้ที่สั่งสมมา แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ทำให้การแก้ปัญหา หรือหาทางออกทำได้ไม่เหมือนคนอื่น ด้วยความที่เห็นมามากกว่า หรือทำมามากกว่า 

ความจริงแล้วคุณโอ่งไม่ได้อยากเป็นนักร้อง เข้ามหาวิทยาลัยตั้งเป้าที่จะเรียน Fine Art แต่พอขึ้นชั้นปีที่ 2 เกิดอุบัติเหตุตกบันได เส้นประสาทอักเสบ แขนขวาใช้งานไม่ได้ไปประมาณปีกว่า ซึ่งทำงาน Art ไม่ได้ แต่ไม่อยากทิ้งสิ่งที่เรียนมา และด้วยความที่ไม่อยากจบช้า จึงไปตามหาเมเจอร์ใหม่ จากศิลปินที่ไม่สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ จึงต้องหันไปทางดนตรีด้วยการเรียนร้องเพลง และเริ่มเรียนคลาสแจ๊สที่มหาวิทยาลัย เรียนจนเกิดความรัก กระทั่งได้มาเป็นนักร้องนำวง Mellow Motif 

คุณโอ่งใช้ชีวิตที่อเมริกานานกว่า 10 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทย พบความแตกต่างในด้านการทำงาน ด้วยความที่ปักหมุดไว้กับอาชีพศิลปิน การทำงานในช่วงแรกจะเป็นการทำงานกับวง นักดนตรี ทีมงานคนไทย ซึ่งจากสภาพแวดล้อมที่อเมริกาส่งเสริมให้พูด ทำให้พูดคุณโอ่งเป็นคนเปิดเผย ตรงไปตรงมา แต่สภาพสังคมไทยจะไม่ค่อยคุยกันตรงๆ จึงต้องหาวิธีปรับตัวทางด้านการสื่อสาร

การเป็นนักร้องนำวง Mellow Motif วงแจ๊ซ/บอซซ่าแนวหน้าของเมืองไทย คุณโอ่งได้ใช้ทักษะที่เรียนมาจากอเมริกาแทบทั้งหมด เพราะนอกจากการเป็นนักร้องนำแล้ว คุณโอ่งยังดีลงานภายในวงเอง คุณโอ่งคิดว่าสิ่งที่ทำให้วง Mellow Motif ไปได้ไกล อาจไม่ใช่เรื่องของสกิล แต่เป็นเพราะดนตรีไม่เหมือนใคร มีความพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะตัว

การเป็นนักร้องทำให้ได้เดินทางไปแสดงในหลายๆ ประเทศ คุณโอ่งได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือการไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ศึกษาและให้ความสำคัญกับศาสตร์นั้นๆ อย่างมาก ทำให้เวลาทัวร์มีความสุข เพราะคนที่นั่นจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรานำเสนอ คนฟังจะเงียบ ฟังเป็น และศึกษามา

ปัจจุบันคุณโอ่งเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ปริญญาโทนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่องานบันเทิง (Entertainment Innovation Center หรือ EIC) ที่มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ด้วยความพยายามที่จะทำให้เป็นผู้นำการศึกษาด้านเทคโนโลยี

คุณโอ่งเป็นคนที่รักมหาวิทยาลัยที่จบมาอย่าง Carnegie Mellon University มาก มีความเชื่อและมี Passion ที่อยากให้คนสัมผัสถึงระบบการศึกษาและวัฒนธรรม และด้วยความที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมาอย่างยาวนานทำให้มีคอนเนคชั่น และอยากให้มีโปรแกรมรูปแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นที่มาของบทบาทผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่องานบันเทิง (Entertainment Innovation Center หรือ EIC)

สิ่งที่ช่วยให้คุณโอ่งไม่ละทิ้ง Passion ของตัวเอง โดยที่ไม่ท้อหรือไม่หมดไฟไปก่อน เนื่องจากมีการวางแผนระยะยาว แต่ในภาพใหญ่จะมีเป้าหมายระยะสั้นที่สามารถทำให้สำเร็จได้ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อผลออกมาแล้วจะต้องหาทางทำให้ผลนั้นเอื้อต่อเป้าหมายต่อไป คุณโอ่งกล่าวว่า บางทีที่เราเดินทางตรงไม่ได้ เพราะทางตัน แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าเราต้องไปตรงนี้ เราก็จะยังหาทางไปได้ ถ้าเห็นเป้าหมาย เราจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลเกินเอื้อม 


.

.

.

 

THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์ที่หก พบกับเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????THE STUDY TIMES STORY สัปดาห์นี้

????วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม - วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม

⏰ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มตรง

พบกับเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

????EP.26 วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม

คุณโอ่ง ณัฐชา ปัทมพงศ์ ปริญญาตรี Bachelor of Humanities and Arts in International Relations and Music Technology, Carnegie Mellon University, สหรัฐอเมริกา

????EP.27 วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม

คุณเสกฬ์ ดร. ศตเนติ เนติภัทรชูโชติ ปริญญาเอก Ph.D in International Law (Criminal & Human Rights Laws), University of Groningen, เนเธอร์แลนด์

????EP.28 วันพุธที่ 26 พฤษภาคม

คุณแพรวา กัลยรัตน์ ธุระกิจเสรี นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน

????EP.29 วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม

คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ปริญญาโท International Journalism (เกียรตินิยมอันดับ 1), Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร

????EP.30 วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม

คุณนุ่น สุภาวดี สิริฤกษ์วิภาส ได้รับทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย Cornell University - LL.M, สหรัฐอเมริกา

✅ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of Content Editor THE STUDY TIMES

????ช่องทางรับชม

Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES / THE STATES TIMES

คุณแพรว สุพิชญา สุนทรจิตตานนท์ | THE STUDY TIMES STORY EP.25

บทสัมภาษณ์ คุณแพรว สุพิชญา สุนทรจิตตานนท์ ปริญญาตรีเกียรตินิยมเกรด 4.00 และปริญญาโทเกรด 3.95  Portland State University, สหรัฐอเมริกา
เรียนดี กิจกรรมเด่น เกียรตินิยม 4.00 จาก Portland State University, สหรัฐอเมริกา

ช่วงมัธยมคุณแพรวเรียนอยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เรียนห้อง Gifted ภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ช่วง ม.1-ม.3 เพราะชอบเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก เมื่อขึ้นชั้น ม.4 ได้เข้าเรียนในสายวิทย์-คณิต จากนั้นมีโครงการของ AFS มาแนะแนว จึงได้ลองสมัครสอบเลือกไปอเมริกา ซึ่งคุณแพรวเคยสมัครครั้งแรกไปตั้งแต่ ม.3 แต่ยังไม่ได้ ปีต่อมาก็ยังไม่ยอมแพ้ลองสอบอีกรอบ จนได้เป็นตัวจริง ไปอยู่ที่ Portland กับโฮสแฟมิลี่ 1 ปี หลังจากนั้นกลับมาเข้าเรียนต่อชั้นม.6 จนจบ หลงรักและมีความประทับใจในเมือง Portland เป็นจุดเริ่มต้นให้กลับไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ Portland State University

ครั้งแรกที่ไป คุณแพรวเลือกเรียนในสายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่ที่ Portland State University ถ้าเข้าไปเรียนแล้วยังไม่ชอบก็สามารถเปลี่ยนได้ ซึ่งคุณแพรวรู้สึกว่ายังไม่ชอบมากขนาดนั้น ครั้งที่สองเลยเปลี่ยนไปสายเคมี แต่ก็ยังไม่ใช่ จนสุดท้ายไปลงตัวเรียนด้านคณิตศาสตร์ จนสามารถคว้าปริญญาตรี BACHELOR OF SCIENCE IN MATHEMATICS, GPA 4.0 เกียรตินิยมมาครองได้

เทคนิคการเรียนของคุณแพรวคือการมีทัศนคติที่ดี ต้องมีความสุขกับการเรียน ทำอะไรต้องมีความสุขกับมัน ไม่คิดต่อต้าน หาจุดที่ดีและแฮปปี้ ที่สำคัญคุณแพรวเป็นคนที่ตั้งใจเรียนในห้อง ฟังอาจารย์ จดเลคเชอร์ มีข้อสงสัยก็ถามอาจารย์ในห้อง ทำให้นอกเวลาเรียนไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ สามารถมีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้

เมื่อเรียนจบปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์แล้ว คุณแพรวรู้สึกว่าคณิตศาสตร์เน้นทฤษฎีเยอะมาก ปริญญาโทเลยอยากเรียนในด้านปฏิบัติที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทในสาขา INTERNATIONAL BUSINESS MANAGEMENT ที่ Portland State University GPA 3.95

การใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา
คุณแพรวอยู่ใจกลางเมือง Portland ชีวิตค่อนข้างสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เวลาอยากไปไหนจะใช้รถไฟที่เรียกว่า แม็กซ์ คล้ายกับรถไฟฟ้าบ้านเรา แต่อยู่บนถนน ผู้คนในเมือง Portland มีอัธยาศัยดีมาก ยิ้มแย้ม เฟรนด์ลี่ 

ความแตกต่างด้านการศึกษาไทยและอเมริกา
การศึกษามีข้อดีข้อเสียทั้งสองระบบ ของไทยจะมุ่งเน้นทฤษฎีมาก นักเรียนนั่งเรียนในห้องเป็นหลัก พอไปเรียนที่อเมริกา เราจึงมีความแม่นในเรื่องของทฤษฎี แต่ที่อเมริกาจะมุ่งเน้นให้ได้ปฏิบัติจริง คลาสแล็บ 50-60% ได้ปฏิบัติเยอะกว่า ทำให้เห็นภาพได้เยอะขึ้น และจำได้ดีกว่า

เทคนิคการฝึกภาษา (TOEIC Score: 965) (HSK Level 3) 
คุณแพรวเป็นคนชอบเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก เทคนิคคือเป็นคนชอบปฏิบัติ กล้าที่จะพูด กล้าที่จะเจอผู้คนที่หลากหลาย ตอนอยู่อเมริกาจะออกไปข้างนอก ไปคุยกับผู้คน ได้คำศัพท์ใหม่ๆ และเป็นคนชอบความบันเทิง เรียนจากการฟังเพลง ดูหนัง ทำให้จำได้ บางครั้งไปเจอคำศัพท์เดียวกันใน TOEIC อีกทั้งสิ่งนี้ยังทำให้มีความรู้รอบตัวมากขึ้น และข้อสำคัญคือคุณแพรวเป็นคนใฝ่รู้ ชอบเรียนรู้หลายๆ อย่าง เมื่อมีเวลาว่างแล้วสนใจสิ่งไหนก็จะไปลงเรียนเพิ่มเติม

ส่วนจุดเริ่มต้นในการเรียนภาษาจีนคือ คุณแพรวเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโปรแกรมสั้นๆ ที่สิงคโปร์ เจอเพื่อนสิงคโปร์ที่สามารถพูดภาษาจีนได้ แล้วอยากพูดได้บ้าง ทั้งยังชอบดาราจีนคนหนึ่ง อยากเรียนเพื่อเวลาดูซีรีย์จะได้เข้าใจ คุณแพรวมีความคิดว่าการได้ภาษาจีนเป็นจุดเด่น ไปได้หลายประเทศ และทำให้สื่อสารกับคนได้มากขึ้น ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้อยากเรียนต่อไปเรื่อยๆ 

ช่วงที่อยู่อเมริกาคุณแพรวทำกิจกรรมหลายอย่าง วันแรกของการไปเรียน มีชมรมมาเปิด แต่คุณแพรวไม่พบชมรมนักเรียนไทย Advisor จึงให้คำแนะนำว่าลองตั้งขึ้นมาเอง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากนักเรียนเพียง 4 คน มีคุณแพรวเป็นคนไทยคนเดียว จากนั้นกลุ่มคนที่มีความสนใจในความเป็นไทยก็มารวมตัวกันเป็นกลุ่มชมรมที่ใหญ่ขึ้น

ปัจจุบันคุณแพรวทำงานเกี่ยวกับ International Trading การค้าระหว่างประเทศ ดูแลเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง ติดต่อกับคู่ค้าในหลายๆ ประเทศ ใช้สิ่งที่เรียนมาทางด้าน Business นำสกิลหลายๆ อย่างจากการเรียนและการทำกิจกรรมมาปรับใช้ในการทำงานจริงได้

สิ่งที่อยากผลักดันด้านการศึกษาในประเทศไทย
สิ่งที่คุณแพรวอยากผลักดันในการศึกษาไทย อย่างแรกคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เห็นได้ว่าคนที่มีฐานะดีจะได้รับอภิสิทธิ์ในการเรียนโรงเรียนที่ดี ได้รับการศึกษาที่ดีกว่า แต่คนที่บ้านไม่มีเงิน ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนขนาดนั้น ขณะที่อเมริกาการศึกษาให้โอกาสกับทุกคน โรงเรียนมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ต่อมาคือเรื่องระบบการศึกษา ควรมีทางเลือกมากขึ้น มีการปฏิบัติมากขึ้น ให้เด็กไทยมีความกล้าที่จะถาม มีคลาสที่เปิดให้ Discuss ผลักดันให้เด็กกล้าพูด ไม่วิจารณ์สิ่งที่เด็กพูดว่าถูกหรือผิด เปิดกว้างด้านความคิด

คุณแพรวทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศว่า หากเรามีความพยายาม มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีความคิดที่เป็น Positive สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้

.

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top