Tuesday, 17 September 2024
THE STUDY TIMES STORY

THE STUDY TIMES STORY ⚠️ Come back ‼️ Rerun ↪️  (วันที่ 6 - 8 กันยายน) พบกับเรื่องราวชีวิตและการเรียน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ

???? รายการ THE STUDY TIMES STORY ⚠️ Come back ‼️ Rerun ↪️ 

???? พบกัน 2 ทุ่มตรง

✨จันทร์ที่ 6 ก.ย. 

พบกับเรื่องราว สาวน้อยนักเรียนทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ‘น้ำหวาน’ ภิรมณ กำเนิดมณี ได้ตั้งแต่

ปริญญาตรี-เอก ที่สหรัฐอเมริกา

✨อังคารที่ 7 ก.ย. 

พบกับเรื่องราว ไอดอลสาวสวย ‘ปิ่น’ ธัญชนก ปการัตน์ การเรียนรัฐศาสตร์ทำให้การมอง

โลกเป็นระบบมากขึ้น เอามาใช้กับการทำงานในวงการบันเทิงได้เป็นอย่างดี

✨พุธที่ 8 ก.ย. 

พบกับเรื่องราว ‘แองจี้’ ธนธร ศิระพัฒน์ จากคนที่ไม่ชอบภาษาจีน แต่เพราะสนใจศาสตร์

แพทย์จีน จึงก้าวข้ามอุปสรรคได้

????ติดตามรายการที่ช่อง THE STUDY TIMES

????Facebook : facebook.com/thestudytimes/

????YouTube : youtube.com/channel/UC2Sf0rVFuuSU2aQ5ioU34Lg

????TikTok : tiktok.com/@thestudytimes

คุณหนึ่ง ฐนพงศ์ ลือขจรชัย | THE STUDY TIMES STORY EP.57

บทสัมภาษณ์ คุณหนึ่ง ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ปริญญาโทและเอก คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักเขียน
จากนักกฎหมายสายนิติศาสตร์ สู่นักเขียนผู้ใช้ประสบการณ์และความรู้ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ

ในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย คุณหนึ่งเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่ชื่นชอบในการทำกิจกรรม ซึ่งคุณหนึ่งได้เข้าร่วมชมรมเชียร์ มีกิจกรรมที่โดดเด่น คือ การแปลอักษรในงานจตุรมิตร คุณหนึ่งเป็นสต๊าฟ รับผิดชอบในงานกิจกรรม ทำให้ไม่ค่อยได้เข้าเรียน จึงต้องมีความพยายามมากขึ้นในการเรียน ส่งงาน ส่งการบ้าน เทคนิคในการเรียนของคุณหนึ่งคือ ชื่นชอบในการอ่านหนังสือ ทำความเข้าใจกับตัวเองมากกว่า ทำให้เข้าใจบทเรียนและไม่ลืมในสิ่งที่ได้จากการอ่าน

ก่อนจะเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี คุณหนึ่งยังไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทางสายอาชีพไหน จนได้เข้าร่วมแข่งขันตอบปัญหาวิชาด้านกฎหมาย โดยได้รับโอกาสจากคุณครูท่านหนึ่ง และได้รับรางวัลชนะเลิศมา เลยรู้สึกว่าตัวเองถนัดด้านกฎหมายและคิดว่าเมื่อจบแล้วสามารถทำเป็นวิชาชีพได้ จึงตัดสินใจสอบเข้าในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

เมื่อเข้าไปเรียนในคณะนิติศาสตร์ คุณหนึ่งรู้สึกว่าวิธีเรียนเพื่อไปแข่งขันกฎหมายกับวิธีเรียนในระดับมหาวิทยาลัย มีความแตกต่างแทบจะเป็นคนละเรื่องกัน  เหมือนต้องไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพราะคณะนิติศาสตร์เป็นการเรียนกึ่งวิชาชีพ ไม่ได้มีแค่หลักวิชาการ และการเรียนกฎหมายจะไปอิงกับเรื่องอื่นๆ ทางสังคมค่อนข้างเยอะ โดยคุณหนึ่งได้กล่าวว่า การเรียนนิติศาสตร์ไม่ใช่แค่ว่าชอบกฎหมาย ไม่ชอบกฎหมาย แต่จะต้องรู้ตัวเองด้วยว่ากฎหมายเรื่องอะไรที่เราอยากจะอยู่กับมัน 

เมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี คุณหนึ่งได้เข้าทำงานในสายนิติศาสตร์อย่างเต็มตัว กลับกลายเป็นว่าเป็นสิ่งที่เหมือนทั้งรักและเกลียด เพราะคุณหนึ่งชอบในเรื่องเนื้อหากฎหมาย แต่เมื่อมาทำงานจริง ๆ ได้เห็นผู้คนผิดหวัง เสียใจ ล้มละลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากพบเจอ เลยได้ย้อนกลับมาถามตัวเองว่าจะทำอย่างไรหากไม่ทำสายกฎหมายต่อ กระทั่งย้อนกลับไปในสมัยเรียนนิติศาสตร์ พบว่าวิชาที่ชื่นชอบที่สุดคือ ประวัติศาสตร์กฎหมายและนิติปรัชญา ซึ่งเป็นวิชากฎหมายที่เป็นวิชาการแท้ๆ คุณหนึ่งเลยตัดสินใจอยากที่จะเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายที่ประเทศสก็อตแลนด์ แต่ก็มีเหตุที่ทำให้ไม่ได้ไป สุดท้ายตัดสินใจเรียนต่อประวัติศาสตร์ เพื่อทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมาย ที่ประเทศไทย  

คุณหนึ่งเล่าวว่า การเรียนในช่วงแรกค่อนข้างยาก เพราะยังแยกประวัติศาสตร์กับโบราณคดีไม่ออก แต่เมื่อทำงานจริง ได้นำข้อเด่นของตัวเองจากการเรียนกฎหมายและความชอบในประวัติศาสตร์มารวมกัน พัฒนางานได้ดีจนสามารถคว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ตีพิมพ์เป็นหนังสือออกสู่สาธารณะ ชื่อเรื่องว่า เสียดินแดนมลายู : ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist และในปัจจุบันคุณหนึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอก คณะศิลปศาสตร์ (ประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ระหว่างทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องของเขตแดนแม่น้ำโขง 

จุดเริ่มต้นการเป็นนักเขียน คุณหนึ่งฝึกฝนเริ่มเขียนหนังสือมาตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนิยายแฟนตาซีจากความสนใจในเรื่องแฮรี่พอตเตอร์ เขียนแล้วใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็พยายามเขียนต่อไป รวมถึงการเขียนนิยาย เรื่องสั้น เขียนจดหมายส่งประกวดทางไปรษณีย์ ได้รับรางวัลบ้างก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว หลังจากที่คุณหนึ่งได้รับการตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก และได้รับโอกาสจากทางผู้ใหญ่ คุณหนึ่งตอบรับทุกโอกาสที่เข้ามา พร้อมทั้งหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น คุณหนึ่งได้แชร์ข้อคิดที่ว่า คนเราอาจจะไม่ได้เก่งไปเสียทุกอย่าง รู้ครึ่งหนึ่งไม่รู้ครึ่งหนึ่ง สำคัญคือเวลาโอกาสมาหาเราให้รีบคว้าเอาไว้ เพราะอาจจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดโอกาสในครั้งต่อ ๆ 

คุณหนึ่งแชร์มุมมองว่า นักเขียนหลาย ๆ คนอาจจะคิดในแง่ลบว่าทำไมหนังสือของตัวเองถึงยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับคนที่อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ขั้นแรกคือ ทำต้นฉบับให้ดีที่สุดและส่งให้กับทางสำนักพิมพ์ ถ้ายังไม่ดีก็ส่งเล่มใหม่ ส่งไปเรื่อยๆ แล้วรอการตอบกลับ

สำหรับคุณหนึ่ง สิ่งที่ได้รับจากการเป็นนักเขียน คือ การฝึกวิธีคิดและวินัยในการเขียนให้จบ คุณหนึ่งมองว่า สำคัญที่สุดของการเขียนไม่ใช่เขียนดี แต่ต้องเขียนให้จบ หนังสือเล่มนึงควรเขียนให้จบดราฟแรกภายใน 3 – 4 เดือน หากนานกว่านั้นมีแนวโน้มที่จะไม่จบ เพราะสมาธิหลุด เริ่มมีไอเดียใหม่ อยากที่จะไปเขียนในเรื่องอื่น ๆ งานเขียนหนังสือเป็นงานที่ทำกับตัวเอง ต้องอยู่กับตัวเอง พูดคุยกับตัวเอง ไม่มีใครช่วยได้ 

คุณหนึ่งฝากทิ้งท้ายสำหรับน้องๆ ไว้ว่า ไม่ว่าจะกิจกรรมหรือการเรียน มีอะไรให้ทำไป ลองทุกอย่างจะได้รู้ว่าตัวเองชื่นชอบอะไร การถูกคาดหวังให้เลือกคณะที่ถูกต้องได้ใน ม.6 แทบเป็นไปไม่ได้เลย คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานตรงกับที่ตัวเองได้เรียนในระดับปริญญาตรี ถ้ามีกิจกรรมให้ไปลองให้หมด ค่อยๆ ทำไป ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเจอจุดที่ทำงานเอนจอย ชอบ ดี และหาเงินกับมันได้ ต้องลองทำไปเรื่อย ๆ 

.

.

.

.

คุณแก๊ป นาวาโท ธนเดช จิตร์ประวัติ | THE STUDY TIMES STORY EP.56

บทสัมภาษณ์ คุณแก๊ป นาวาโท ธนเดช จิตต์ประวัติ นักเรียนทุนกองทัพเรือ ศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหาร (Master of Leadership Development) ควบปริญญาโท สาขา M.Sc.(Strategy). Nanyang Technological University. ประเทศสิงคโปร์

หากเราเปลี่ยนคำว่าแข่งขันเป็นคำว่าแบ่งปัน สังคมจะมีแต่ความสุข

จุดเริ่มต้นของการเรียนเตรียมทหาร คุณแก๊ปได้เล่าว่าตัวเองนั้นแบ่งความชื่นชอบของตนเองเป็น 2 แบบ คือ สิ่งที่ตัวเองอยากจะเรียนและสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น โดยสิ่งที่คุณแก๊ปอยากจะเรียนคือ การได้เรียนวิศวะเหมือนกับคุณพ่อ และสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็นคือ การเป็นผู้นำ ทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง 

ในช่วงขณะนั้นโรงเรียนเตรียมทหารประกาศรับสมัครสอบของทหารทุกเหล่าทัพ คุณแก๊ปได้ลองไปสมัครสอบในทุก ๆ สนาม ผลปรากฏว่าติดทุกเหล่าทัพ ก่อนตัดสินใจเลือกเรียนกองทัพเรือ เพราะโรงเรียนนายเรือมีการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะเรียน และได้เป็นทหาร มีวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ ตรงกับสิ่งที่อยากจะเป็น 


โดยเคล็ดลับการเตรียมตัวทำข้อสอบในการเข้าศึกษาของคุณแก๊ปคือ ไปลองสอบสนามสอบหลายที่เพื่อให้รู้ว่าแนวข้อสอบเป็นอย่างไร และฝึกการทำข้อสอบในห้องสอบ เพื่อให้ตัวเองคุ้นชินกับสภาวะกดดันในช่วงระหว่างการสอบ และทำให้รู้ว่าตัวเองยังต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติม วิชาอะไรหรือด้านอะไรที่ตัวเองยังไม่เข้าใจ สอบรอบต่อไปจะทำให้ตัวเองเก่งในด้านนั้นได้ คุณแก๊ปได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการสอบเข้าเรียนว่า ถ้ามีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยประกาศรับสมัคร ให้รีบคว้าโอกาสนั้นไว้ ไปสอบก่อน ถ้าติดแล้วต้องการเรียนหรือไม่เรียนก็พิจารณาดูอีกที

คุณแก๊ปได้เล่าถึงประสบการณ์การเรียนที่โรงเรียนเตรียมทหารว่า ในเรื่องของการเรียนโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนสายสามัญทั่วไปไม่ได้มีความแตกต่างกัน มีมาตรฐานที่เท่ากัน เมื่อจบจากโรงเรียนเตรียมทหารก็ได้รับใบประกาศนียบัตรในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเหมือนกัน สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่อื่นได้ แตกต่างกันแค่การใช้ชีวิต เนื่องจากการเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารจะต้องมีความเป็นระเบียบตั้งแต่ตื่นนอน เข้าเรียน จนไปถึงก่อนเข้านอน ถือเป็นการปลูกฝังความมีระเบียบวินัยของผู้เรียน  

หลังจากเรียนจบที่โรงเรียนเตรียมทหาร คุณแก๊ปได้รับรางวัลการศึกษาดี รางวัลลักษณะทหารดี และรางวัลนักกีฬาดีเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน จากนั้นได้เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่โรงเรียนนายเรือจนคว้าปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ได้รับประกาศนียบัตรเหรียญทองในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และรางวัลเสื้อสามารถ เมื่อเรียนจบคุณแก๊ปได้เข้าทำงานที่กองทัพเรือเป็นระยะเวลาประมาณ 5-6 ปี เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนและกำลังพล ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายทหารเรือชั้นต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้คว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หลังจากนั้นคุณแก๊ปก็ได้กลับเข้าทำงานที่กองทัพเรืออีกประมาณ 5-6 ปี และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรืออีก 1 ปีก็ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งกลับมาเช่นกัน 

เทคนิคการเรียนให้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งนั้น คุณแก๊ปได้ให้ข้อคิดในการเรียนว่า การเรียนนั้นต้องอย่าเอาตัวเองไปแข่งกับใคร ให้คิดว่าเราแข่งกับตัวเอง การเรียนให้ได้รับรางวัลเกียรตินิยมไม่ได้หมายความว่าตัวเองจะต้องเป็นที่หนึ่ง หมายความว่าเราแข่งกับตัวเอง และรางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเป็นเหมือนรางวัลที่ชนะใจตัวเอง ให้เราตั้งเป้าหมายไว้และเราก็เดินตามทางเป้าหมายของเรา หนทางที่ยาวไกล หากเราก้าวเดินไป มันจะสั้นลง แต่ในหนทางที่เราก้าวเดิน เราควรจะมีความสุข 


ส่วนเทคนิคการเรียน ในช่วงสมัยเรียนคุณแก๊ปได้เปิดคอร์สติวเนื้อหาการเรียนให้กับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ถือว่าเป็นการแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อน ๆ คุณแก๊ปได้เล่าว่า ตัวเองต้องเตรียมบทเรียน 2-3 วัน ก่อนที่จะติวเนื้อหาการเรียนกับเพื่อน ๆ และจะชอบมากถ้าเพื่อนถามแล้วตอบไม่ได้ จะรีบไปหาคำตอบและมาสอนเพื่อน ๆ 

ในด้านของกีฬารักบี้ เนื่องจากคุณแก๊ปเคยเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลสมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดม หลังจากที่เข้ามาเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหาร ในสมัยนั้นกีฬารักบี้ถือว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยกีฬารักบี้เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เกิดความสนใจอยากที่จะเล่นกีฬารักบี้ คุณแก๊ปรักและชื่นชอบกีฬานี้มาก ช่วงฝึกซ้อมโค้ชได้ให้ข้อคิดว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราอย่าทำลายสิ่งนั้น ถ้าเรารักกีฬารักบี้ เราก็อย่าทำลายกีฬารักบี้ด้วยน้ำมือของเรา 

คุณแก๊ปกล่าวว่า ถ้าตัวเองเล่นแต่กีฬารักบี้แล้วเสียการเรียนก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่รุ่นน้อง ความสำเร็จในเรื่องของการเรียนคือเรียนให้ได้เกียรตินิยม การเล่นกีฬารักบี้เป้าหมายคือการติดทีมชาติไทย ซึ่งขณะที่เป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายเรือ คุณแก๊ปได้เป็นนักกีฬารักบี้ให้กับสโมสรราชนาวี จนมีคนมาทาบทามให้ไปคัดตัวเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ทำให้มีโอกาสได้เป็นนักกีฬารักบี้ทีมชาติไทยไปแข่งขันในระดับภูมิภาค ได้รับรางวัลชนะเลิศ


จุดเริ่มต้นการเป็นผู้นำของคุณแก๊ป ต้องย้อนไปตอนสมัยมัธยม โดยจุดเริ่มต้นมาจากคุณพ่อส่งคุณแก๊ปไปบวชเรียนในช่วงก่อนขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ช่วงบวชเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันเทศน์ระดับประเทศ มีหัวข้อคือ “ธรรมะของการเป็นผู้นำ” ซึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง หลังจากนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในขณะนั้นให้คุณแก๊ปไปเทศนาให้กับเพื่อน ๆ ฟังตอนปฐมนิเทศเปิดเทอม ต่อมาคุณแก๊ปได้ลงสมัครในตำแหน่งประธานนักเรียน และได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 ถือเป็นจุดเริ่มต้นบทบาทการเป็นผู้นำของคนหมู่มาก 

คุณแก๊ปได้แบ่งปันข้อคิดเกี่ยวกับการเป็นผู้นำคือ ผู้นำจะมี 4 ขั้น ขั้นแรกคือการเป็นผู้นำตัวเอง ขั้นที่สองคือการเป็นผู้นำทีม ขั้นที่สามคือการเป็นหัวหน้าใหญ่คุมผู้นำของแต่ละทีม ขั้นที่สี่คือผู้นำองค์กร โดยคุณแก๊ปได้แชร์ประสบการณ์การเป็นผู้นำตัวเองในสมัยเรียนคือ ในสมัยที่เป็นนักกีฬารักบี้ ขณะนั้นต้องเรียนหนังสือไปด้วย ต้องนำตัวเอง ควบคุมตัวเองให้อ่านหนังสือหลังจากการซ้อมรักบี้ ตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ว่าต้องประสบความสำเร็จทั้งด้านกีฬาและการเรียน

ปัจจุบันหลังจากที่คุณแก๊ปเรียนจบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ ได้สอบชิงทุน กองทัพเรือมาเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารสิงคโปร์และเนื่องจากระบบการศึกษาของโรงเรียนเสนาธิการทหารสิงคโปร์ ที่ยกระดับเป็น World class college and first class experience นักเรียนเสนาธิการทหารสิงคโปร์จะเขารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารร่วมกันกับมหาวิทยาลัย NTU ตามโปรแกรม The SAF-NTU Continuing Education Master's Program คุณแก๊ปต้องเรียนทั้งหมด 3 เทอมด้วยกัน โดยเทอมที่ 1 และเทอมที่ 2 จะเรียนจากมหาวิทยาลัย NTU และเทอมที่ 3 จะเป็นวิชาด้านการทหาร 

อีกทั้งคุณแก๊ปได้ลงทะเบียนเพื่อเรียนเพิ่มเติมและให้มหาวิทยาลัย NTU คิดหน่วยกิตจาก 2 เทอมแรก เพื่อนำไปยื่นศึกษาต่อกับทางมหาวิทยาลัย NTU ในสาขาปริญญาโทที่สนใจ โดย module ที่สามารถลงทะเบียนได้คือ module ที่สอนโดยมหาวิทยาลัย NTU ทั้งหมด โดยสามารถเลือกได้สูงสุด 5 module โดยคุณแก๊ปสนใจลงเรียน M.Sc. (strategy) คุณแก๊ปเล่าให้ฟังว่าแต่ถ้าใครลงทั้งหมด 5 ตัวเลยก็จะได้ Master of Leadership Development ซึ่งใน 5 ตัวนี้มี Module ของ Leadership และ Communication management ด้วย ยังไม่เคยมีใครลง 5 module มาก่อน คุณแก๊ปเลยตัดสินใจลงทะเบียนไป 5 module ในตอนนี้คุณแก๊ปกำลังศึกษาอยู่เทอมที่ 3 เมื่อสำเร็จการศึกษาเทอมนี้จากโรงเรียนเสนาธิการทหารแล้ว ก็จะนำหน่วยกิตไปยื่นกับทางทหาวิทยาลัย NTU ตาม Program ของ Continuing Education 



คุณแก๊ปเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้ทุนมาเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ก็พบว่าเป็นประเทศที่มีการแข่งขันในการเรียนค่อนข้างสูง เพราะประเทศสิงคโปร์ไม่ได้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่ามากนัก ทรัพยากรประเทศสิงคโปร์ที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ ประเทศสิงคโปร์จึงเร่งพัฒนามนุษย์ในประเทศให้มีความสามารถพัฒนาในด้านอื่น ๆ ทุกอย่างจึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน ในมหาวิทยาลัยที่เรียนจึงมีการแข่งขันที่สูงมาก คุณแก๊ปเป็นนักเรียนทุนของประเทศไทยเพียงคนเดียวที่สามารถเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้

“ภาวะผู้นำ (Leadership) กับ ผู้นำ (Leader) ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป” เป็นสิ่งหนึ่งที่คุณแก๊ปได้ศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ ในเรื่องของหัวหน้าหรือผู้นำทีม คุณแก๊ปได้กล่าวว่า การทำงานทุกคนจะต้องมีภาวะผู้นำในตัวเอง และคุณแก๊ปยังได้ให้ข้อคิดคือ การเป็นผู้นำหรือหัวหน้าที่ดีจะต้องเป็นวิตามิน เป็นพลังให้กับลูกน้อง ผู้นำหรือหัวหน้าจะต้องไม่ใช่ยาพิษ หรือ Toxic Leader หัวหน้าหรือผู้นำควรคำนึงถึงผลประโยชน์ที่นอกจากตัวเองแล้วควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกน้องในทีม เพื่อให้ทีมสามารถอยู่รอดและมีความสุขในการทำงานได้ 


และในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตมากขึ้น ในสมัยก่อนลูกน้องอาจจะต้องขอคำปรึกษา หาวิธีการแก้ไขจากหัวหน้า แต่ในปัจจุบันลูกน้องสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเองจากเทคโนโลยี สื่อต่าง ๆ ในบริบทของการเป็นผู้นำหรือหัวหน้าในการให้คำปรึกษาลูกน้องยังมีความจำเป็นหรือไม่ ถือเป็นความท้าทายของผู้นำในยุคปัจจุบัน 

คุณแก๊ปเล่าให้ฟังอีกว่า ในสิ่งที่ได้เรียนเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ อาจารย์ได้ยกสถานการณ์มาว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณเป็นผู้นำ แต่ในทีมของคุณประกอบไปด้วย ทีมมนุษย์ครึ่งหนึ่งและเทคโนโลยีอีกครึ่งหนึ่ง ผู้นำจะมีวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นสิ่งที่คุณแก๊ปได้ศึกษาจากการมาเรียนที่สิงคโปร์ 

สุดท้ายนี้คุณแก๊ปได้ฝากมุมมองที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตไว้ว่า ความสุขที่ยั่งยืนคือกำไรที่มั่นคง ความสุขที่ยืนยงจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราแบ่งปัน หากเราเปลี่ยนคำว่าแข่งขันเป็นคำว่าแบ่งปัน สังคมก็จะมีความสุข เราตั้งเป้าหมายไว้ เราไม่ต้องการแข่งกับใคร เราไม่ได้ต้องการเป็นที่หนึ่ง เราตั้งเป้าหมายไว้เพื่อแข่งกับตัวเราเอง และระยะเวลาที่เราเดินทางถึงเป้าหมายนั้น เราสามารถมีความสุขไปด้วยได้ด้วยคำว่าแบ่งปัน 

.

.

.

.

คุณป้อง จิรพัชร พูลสุวรรณ | THE STUDY TIMES STORY EP.55

บทสัมภาษณ์ คุณป้อง จิรพัชร พูลสุวรรณ ปริญญาโท Public Policy, University of Bristol, สหราชอาณาจักร
เรียนในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่รัก ย่อมประสบความสำเร็จ

คุณป้องผู้ที่มีความสนใจในด้านรัฐศาสตร์ และได้ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ตอนนี้ทำงานในบริษัท food delivery ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ เป็นหน้าด่านของบริษัทในการติดต่อกับภาครัฐ ประสานไปยังทีมที่เกี่ยวข้อง

ย้อนกลับไปในช่วงระดับปริญญาตรี คุณป้องเลือกเรียนในคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุดเริ่มต้นมาจากตัวเลือกที่ขัดแย้งระหว่างแพทย์และสังคมศาสตร์ โดยตัวคุณป้องเองจะเปรียบเทียบกันระหว่างความคาดหวัง และความชื่นชอบ สุดท้ายเลือกความชอบในด้านที่เกี่ยวข้องกับสังคม 

การเรียนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการทูต ต้องเรียนความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชิงภูมิภาค ต้องดูองค์ประกอบความสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

หลังจากนั้นคุณป้องเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในสาขานโยบายสาธารณะ หรือ Public Policy ที่ University of Bristol สหราชอาณาจักร ประสบการณ์การเรียนในต่างประเทศ ในพาร์ทของการใช้ชีวิต คุณป้องเล่าว่า การเรียนหนังสือจะแตกต่างกับที่ประเทศไทยมาก ประเทศไทยคือการเรียนตามตำรา เน้นทฤษฎีเยอะ ขณะที่บรรยากาศห้องเรียนที่ต่างประเทศ เน้นการคิดวิเคราะห์ ออกความคิดเห็น แชร์ประสบการณ์ การเรียนปริญญาโทมีคนจากหลากหลายเชื้อชาติ ข้อดีคือการแสดงความแตกต่างทางความคิด ทำให้เกิดความน่าสนใจ

การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ เพราะคุณป้องมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษในวัยเด็ก ทำให้เกิดความเคยชิน แต่เมื่อโตขึ้น ไม่มีผู้ปกครอง ก็จะมีความอิสระ ทำให้เราต้องเป็นคนกำหนดตัวเอง และการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่นๆ ทำให้ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อปรับตัว 

คุณป้องเล่าว่า ตัวเองนั้นได้รับรู้หลายอย่างจากการเรียนที่อังกฤษ หนึ่งทักษะคือ การทำอาหารรับประทานเอง เพราะต้องพึ่งพาตัวเอง ทำให้เป็นทักษะที่ชื่นชอบมากที่สุด มีการแบ่งปันอาหารรับประทานกับเพื่อนๆ ทำให้ได้สังคม ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน

นอกจากนี้ระหว่างเรียน คุณป้องได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ ตอนอยู่มหาวิทยาลัยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมวงดนตรีออร์เคสตรา เพราะชื่นชอบในการเล่นดนตรีคลาสสิค กิจกรรมทำความรู้จักรุ่นพี่ กิจกรรมจัดค่ายแนะนำคณะให้น้องมัธยม ส่วนกิจกรรมขณะอยู่ประเทศอังกฤษ จะเป็นเข้าวงสังคม ไปสังสรรค์กับเพื่อนในสาขา เข้าร่วมกิจกรรมในสมาคมคนไทยที่อยู่ในประเทศอังกฤษ 

ประสบการณ์การทำงาน ในช่วงที่เรียนจบปริญญาตรี คุณป้องเข้าทำงานในตำแหน่ง นักวิเทศสัมพันธ์ ที่องค์กรซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม มีโอกาสลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัย หลังจากนั้นได้มีโอกาสเปลี่ยนงานไปทำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นพนักงานแอดมิน ดูแลจัดการประชุม หลังจากเรียนจบระดับปริญญาโท คุณป้องได้เข้าทำงานในบริษัทที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวข้องกับรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบายสาธารณะ ให้คำปรึกษากับบริษัทต่างชาติที่ติดต่อเข้ามายังประเทศไทย เปิดประสบการณ์การทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง จากนั้นเข้ามาทำงานอยู่ในบริษัทปัจจุบัน ตำแหน่งเกี่ยวกับรัฐกิจสัมพันธ์ สร้างความสัมพันธ์กับภาครัฐในรูปแบบต่างๆ 

สิ่งที่ได้จากการทำงานคือ มีโอกาสรู้จักผู้คนและการทำงานที่หลากหลายรูปแบบ ได้ฝึกการคิด การเข้าหาคน การปรับตัวเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมให้คุณป้องสามารถทำงานและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้

คุณป้องฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าชอบหรือรักอะไร อย่าให้มีอะไรมากั้น ถ้าเราชอบอะไรสักอย่าง เรามีโอกาสประสบความสำเร็จได้อยู่แล้ว
.

.

.

.

คุณฟ้า ฟ้าฤดี ทรงลักษณ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.54

บทสัมภาษณ์ คุณฟ้า ฟ้าฤดี ทรงลักษณ์ Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS), Georgetown University Law Center, สหรัฐอเมริกา, นิติกรชำนาญการ
นิติกรสาว ดีกรีแน่น ทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม

คุณฟ้าเรียนปริญญา 5 ใบ และได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาล ศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันทำงานอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

จุดเริ่มต้นปริญญา 5 ใบของคุณฟ้า โดยปริญญาใบแรกคุณฟ้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตอนปี 2 คุณฟ้าได้เข้าร่วมโครงการ Work and Travel ทำให้คุณฟ้ารู้ตัวเองว่าชื่นชอบในเรื่องของการท่องเที่ยว จึงศึกษาในระดับปริญญาตรีอีกหนึ่งใบ เกี่ยวกับการบริหารเอกการท่องเที่ยว ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

หลังจากเรียนจบทั้ง 2 ที่แล้ว คุณฟ้าเข้าศึกษาต่อปริญญาโทกฎหมายธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะขณะศึกษาในระดับปริญญาตรีที่จุฬาฯ ได้เรียนเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายมหาชน และปริญญาอีก 1 ใบ คุณฟ้าได้รับทุนรัฐบาล Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS) ศึกษาต่อ ณ Georgetown University Law Center, Washington D.C., สหรัฐอเมริกา และในปัจจุบันคุณฟ้ากำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก

สำหรับการแบ่งเวลาเรียนปริญญาตรี 2 ใบ คุณฟ้าเล่าว่า ในช่วงที่เรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ คุณฟ้าจะศึกษาแนวทางในการเรียนที่ถนัด ถ้าเข้าห้องเรียนและเข้าใจที่อาจารย์สอนจะช่วยลดเวลาในการอ่านเตรียมสอบ และสามารถแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมได้ ส่วนในตอนเรียนการบริหารเอกการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยรามคำแหง สองปีแรกจะเรียนวิชาหลัก สามารถอ่านเตรียมสอบเองได้ ในช่วงสองปีหลัง เน้นการทำกิจกรรมลงพื้นที่จริง และมีการทำงานเป็นทีม โดยจะต้องแบ่งงานกับเพื่อนและช่วยเหลือกัน ต้องเข้าใจความถนัด แบ่งเวลาให้ดี ทำให้คุณฟ้าและเพื่อนๆ สามารถทำงานกันได้อย่างราบรื่น สิ่งสำคัญในการเรียนปริญญาตรี 2 ควบคู่กันของคุณฟ้าคือ การจัดตารางเรียน และการจัดสรรเวลา ให้ความสำคัญทั้ง 2 มหาวิทยาลัย

เทคนิคการเรียนให้ได้เกียรตินิยมจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ คุณฟ้ากล่าวว่า ในทุกครั้งจะจดในสรุปที่ได้จากรุ่นพี่ในปีก่อนๆ  และ จดเนื้อหาเพิ่มเติม จดแนวข้อสอบของอาจารย์ เราจะต้องทำความเข้าใจในตัวโจทย์และเนื้อหาการเรียน ส่วนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อนๆ ของคุณฟ้ามีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะต้องทำงานกันเป็นทีม 

การทำกิจกรรมของคุณฟ้า แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. กิจกรรมในมหาวิทยาลัย 2. กิจกรรมที่ทำร่วมกับมูลนิธิรัฐบุรุษ นำนักเรียนนักศึกษาจากหลายสถาบันมาทำกิจกรรมร่วมกัน 3. กิจกรรมสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร เป็นกระบอกเสียงช่วยเหลือเยาวชนด้วยกัน ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับคนในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ คุณฟ้าได้รับทุนรัฐบาล Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS) ศึกษาต่อ ณ Georgetown University Law Center, Washington D.C., สหรัฐอเมริกา มีการแลกเปลี่ยนหนึ่งเทอมการศึกษา ส่งให้ไปเรียนที่ King's College London คนที่มาเข้าร่วมโครงการมาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย หลากหลายทวีป นอกเหนือจากความรู้ในการเรียนกฎหมาย ยังได้เรียนรู้ระบบกฎหมายในแต่ละประเทศ ได้ความรู้ทางกฎหมายหลากหลายทวีป ทั้งยังได้เที่ยวแทบทุกอาทิตย์ขณะไปอยู่ที่อังกฤษ 

การเข้าร่วมกิจกรรมในต่างประเทศ คุณฟ้าได้เรียนรู้วิถีชีวิตและเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีการเข้าร่วมทำกิจกรรมศาลจำลอง ได้ทำกิจกรรมอาสามสมัครการใช้กฎหมายที่มิชิแกน รับเคสจริง ได้ปรึกษากับลูกความ ลองพูดคุยกับลูกความโดยตรง เป็นการฝึกงานจริง คุณฟ้ากล่าวว่า ในความรู้สึกไม่มีความกดดัน เพราะการที่ได้รับมอบหมายงานมาทำ ความคาดหวังคือเขาต้องการเห็นจุดที่เราเริ่มต้นวันแรก กับจุดสุดท้ายที่จบการฝึกงาน เราได้อะไรมากกว่า 

ปัจจุบัน คุณฟ้าทำงานเป็นนิติกรชำนาญการ อยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตัวคุณฟ้าจะอยู่ในเรื่องของการสืบสวน จับกุม การค้ามนุษย์ การพนัน ยาเสพติด หนี้นอกระบบ คุณฟ้ากล่าวว่า การค้ามนุษย์แท้จริงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง อาจรวมไปถึงการค้าแรงงาน จะต้องมีทักษะในการประสานงาน การบังคับใช้กฎหมาย การจับกุม และมีการประสานงานกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ถ้าหน่วยงานหรือทีมมีจุดประสงค์เดียวกัน ก็จะทำให้งานราบรื่นมากขึ้น 

สุดท้ายนี้คุณฟ้าอยากจะฝากข้อคิดในเรื่องของการใช้ชีวิตว่า วันนี้เรายังไม่จำเป็นต้องรู้ว่า เราอยากทำอะไร แต่ใช้ชีวิตทุกๆ วัน ให้เรารู้สึกว่าเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม สนุกไปกับมัน ล้มเหลวบ้าง สนุกบ้าง แต่อย่าหยุดที่จะไปต่อ
.

.

.

.
 

คุณนาดา นาดา ไชยจิตต์ | THE STUDY TIMES STORY EP.53

บทสัมภาษณ์ คุณนาดา นาดา ไชยจิตต์ ปริญญาโท ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ LL.M International Human Rights Law, School of Law, University of Essex, สหราชอาณาจักร
นักสิทธิมนุษยชน ผู้ขับเคลื่อนและผลักดัน 'ความเท่าเทียมทางเพศ'

จุดเริ่มต้นความสนใจของคุณนาดาที่มีต่อคณะนิติศาสตร์นั้น ในตอนแรกไม่มีความคิดที่จะชอบในสาขาวิชานิติศาสตร์ แต่เกิดจากการที่ไปชุมนุม อยากที่จะให้ประเทศไทยทำกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน คุณนาดามีแรงขับเคลื่อนในด้านนี้ แต่ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย เพราะไม่รู้ว่าภาษาที่เขียนในกฎหมายเป็นอย่างไร จึงตัดสินใจเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มีความตั้งใจที่จะเป็นนักกฎหมายให้ได้

หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่ง คุณนาดาค้นพบว่าความฝันที่อยากทำงานในด้านนี้มีหลายสาย จึงกลับมาทบทวนกับตัวเองว่าวุฒินิติศาสตร์บัณฑิตอาจยังไม่พอ ประกอบกับอัตลักษณ์ที่เป็น สถาบันทางสังคมท้าทายเกิดเป็นแรงผลักให้ต้องไปต่อ จนได้รับทุน Chevening ซึ่งเป็นทุนที่มอบให้กับผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ทุนนี้ไม่ได้มองหาคนที่เก่งหรือฉลาด แต่มองหาคนที่มีความฝัน มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง จนสุดท้ายคุณนาดาได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ LL.M International Human Rights Law, School of Law, University of Essex ณ ประเทศอังกฤษ

คุณนาดากล่าวว่า ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ University of Essex มีชื่อเสียงและโดดเด่นติดอันดับโลก การที่คุณนาดาเลือกเรียนที่นี่เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเองจะได้รับองค์ความรู้มาจัดการปัญหา ทำให้สังคมเข้าใจว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ

สำหรับประสบการณ์การเรียนที่ต่างประเทศหลักสูตร 1 ปี คุณนาดาใช้เวลาในช่วงแรกไปกับการเรียน จนได้เข้าร่วมกิจกรรมศาลจำลอง มีการให้นักศึกษาได้ฝึกเป็นทนายความ มีการจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิความหมายทางเพศโดยตรง ทำให้คุณนาดาได้เจอกับนักกฎหมายที่มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

การใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษ คุณนาดารู้สึกว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความน่าอยู่ มีระบบการจัดการที่ดี มีระบบสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้คุณนาดารู้สึกสบายใจ อีกทั้งมีระบบการดูแลนักศึกษา คอยดูแลและให้คำปรึกษาปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่คุณนาดาประทับใจมาก 

ที่ประเทศอังกฤษ คุณนาดาเล่าว่า สามารถสูดลมหายใจแห่งเสรีภาพเข้าปอดได้ตลอดเวลา ไม่ต้องมานั่งเครียดว่าใครจะมองว่าเราเป็นเพศอะไร ได้รับการปฏิบัติที่ดี ประเทศอังกฤษส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่งเสริมในเรื่องของความหลากหลาย เพราะเชื่อว่าความหลากหลายนำมาซึ่งประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีกลไกในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิที่แข็งแรงมาก

สำหรับจุดเริ่มต้นที่คุณนาดาสนใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นจากการที่คุณนาดาไปสมัครงานด้านเอกสาร แต่ทางบริษัทบอกว่างานนี้รับเฉพาะผู้หญิง เพราะต้องการความละเอียดอ่อน แต่เมื่อจะไปทำงานใช้แรงแบบผู้ชายก็ไม่รับ เพราะต้องการคนที่แข็งแรง คุณนาดามองว่าบทบาททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพถูกผูกติดกับบทบาททางเพศ จึงตัดสินใจที่จะไม่ทำงานที่บริษัทแห่งนั้น และไปสมัครงานเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิบทบาททางเพศ กระทั่งมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ 

ปัจจุบันคุณนาดาเป็นที่ปรึกษางานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Campaign Advisor) ที่มูลนิธิมานุษยะ ดูแลเรื่องของกลไกลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียม ให้กับกรรมการบริหารของสมาคมท้องฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

คุณนาดาฝากทิ้งท้ายว่า ไม่ต้องเร่งรีบหรือท้อถอยกับการตามหาความฝันของตัวเอง ให้เวลากับตัวเอง คือหัวใจสำคัญที่สุด
.

.

.

.

คุณไอซ์ ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.52

บทสัมภาษณ์ คุณไอซ์ ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ได้รับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ไม่ต้องเรียนให้หนัก แต่ให้เรียนในสิ่งที่รัก แล้วจะทำได้ดี

คุณไอซ์จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โดยอยู่ในห้องของเด็กโครงการความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ หรือ Gifted Math

จุดเริ่มต้นความสนใจในวิชาคณิตศาสตร์ คุณไอซ์เล่าว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงเด็กๆ ผ่านการฝึกจากผู้ปกครอง โดยการหลอกล่อให้ฝึกทำวิชาคณิตศาสตร์ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย จนเกิดเป็นความชอบนับแต่นั้นมา

ส่วนวิชาที่คุณไอซ์มีความสนใจและชื่นชอบมาตั้งแต่แรก คือ วิชาประวัติศาสตร์ มีการอ่านหนังสือ ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ออกมาในรูปแบบของตัวเลข จำเหตุการณ์เป็นปี  รู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นการจดจำตัวเลขในรูปแบบหนึ่ง หลังจากได้อ่านไปเรื่อยๆ เริ่มเชื่อมโยงเหตุการณ์ ดูบริบททางประวัติศาสตร์มากขึ้น 

ส่วนภูมิศาสตร์ คุณไอซ์เริ่มต้นมาจากความชอบในสถานที่สวยๆ รอบโลก เลยหาความรู้และลองไปเข้าค่ายที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ เพื่อศึกษามากยิ่งขึ้น จนรู้สึกว่าวิชานี้มีอะไรมากกว่าที่คิด ต้องใช้ความจำ 45% ส่วนอีก 55% เป็นการวิเคราะห์และคำนวณ  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ พาร์ทที่คุณไอซ์ชื่นชอบที่สุดคือภาคสนาม ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์ เป็นพาร์ทที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากการนั่งทำข้อสอบในห้อง

คุณไอซ์เรียนจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.96 สำหรับเทคนิคการเรียนนั้น คุณไอซ์ยกตัวอย่างวิชาวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองไม่ถนัด ว่าจะต้องมีการอ่านหนังสือ ทำข้อสอบย้อนหลัง การฝึกทำข้อสอบคือวิธีที่ดีที่สุด พยายามทำทุกอย่างให้ดี พยุงเกรดให้ได้ 

คุณไอซ์ถือเป็นเด็กสายแข่งขันที่กวาดรางวัลมามากมาย เช่น ช่วงมัธยมต้นแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง ช่วงมัธยมปลายแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง และตอนนี้ยังได้เป็นผู้แทนประเทศไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก นอกจากนี้ยังเคยไปแข่งแต่งบทร้อยกรองทั้งในระดับโรงเรียนและระดับประเทศ

คุณไอซ์เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ตอนแรกก็มีความรู้สึกเหนื่อย และไม่ได้ชอบในการทำกิจกรรม จนได้ลองทำกิจกรรมอาสาแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ มีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ต่อสังคม จึงพยายามหากิจกรรมทำมากยิ่งขึ้น ออกไปช่วยทำจิตอาสาหลายๆ งาน โดยกิจกรรมหลักที่ประทับใจ คือ ได้ไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้เด็กๆ ที่โรงเรียนแถวบ้าน เพื่อเป็นการเตรียมสอบเข้าม.1 และอีกที่หนึ่งคือ ไปช่วยงานที่ศูนย์ฉีดวัคซีนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยต้อนรับ ร้องเพลง แบ่งเบาภาระให้กับพี่ๆ ทีมงาน 

หลังเรียนจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คุณไอซ์สอบชิงทุนและได้รับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา คุณไอซ์ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียน คือ แรงบันดาลใจและหาจุดเริ่มต้นของตัวเองให้เจอ จุดเริ่มต้นของสิ่งที่ตัวเองรักอยู่ตรงไหน ซึ่งจุดนี้ยากที่สุด ถ้าหาเจอแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองสามารถทำงานได้โดยที่ไม่ฝืน ไม่ต้องทำอะไรเยอะ หรือฝืนตัวเอง ให้แรงบันดาลใจเป็นตัวขับเคลื่อนไป
.

.

.

.

คุณแนน ทิวาภรณ์ กาญจนมยูร | THE STUDY TIMES STORY EP.51

บทสัมภาษณ์ คุณแนน ทิวาภรณ์ กาญจนมยูร ปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ
นักสังคมสงเคราะห์ ผู้หวังให้ผู้ทุกข์ยากได้รับการช่วยเหลือ ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของคุณแนนในการเลือกเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มาจากตอนเด็กๆ คุณแนนได้อาศัยอยู่ที่จังหวัดลำปาง ช่วงมัธยมปลายต้องตัดสินใจเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร อยากไปทางไหน จนได้ไปอ่านหนังสือจุดประกายความอยากเป็นนักสังคมศาสตร์ ที่นางเอกในนิยายเป็นนักพัฒนากรได้ช่วยเหลือคนอยู่ในชุมชน เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็น 

เมื่อค้นคว้าหาข้อมูลพร้อมแล้ว จึงตั้งเป้าสอบตรงเข้าคณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในช่วงที่เรียนคุณแนนพบกับคนที่มีความสนใจเหมือนกันมารวมกันอยู่ในคณะ ทุกคนมีเป้าหมายอยากเปลี่ยนแปลงสังคม
 
คุณแนนเล่าว่า คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์แทบจะเป็นคณะเดียวที่เริ่มฝึกงานตั้งแต่ตอนปี 2 มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับชุมชน ในช่วงปี 3 ได้ออกต่างจังหวัด ทุกปิดเทอมไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องอยู่กับพื้นที่จริง มีการเข้าค่ายอยู่ตลอด ทุกๆ ที่มีการให้ความช่วยเหลือแตกต่างกัน ได้เจอกับเหตุการณ์การช่วยเหลือคนจริงๆ ที่มากกว่าในตำรา หัวใจหลักของนักสังคมสงเคราะห์คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ทำให้คุณแนนต้องทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ 

ด้านกิจกรรม คุณแนนได้รับเลือกเป็นทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Ambassador) ตำแหน่ง ผู้อัญเชิญหญิง โดยในช่วงรอบคัดเลือกคุณแนนได้รับแบบทดสอบที่ค่อนหนักทั้งการสอบสัมภาษณ์ ดูผลการเรียน กิจกรรม โดยตัวอย่างคำถามในรอบสอบสัมภาษณ์ คือ อยากเปลี่ยนแปลงอะไรในมหาวิทยาลัย การแข่งขันจะคัดจาก 200 ให้เหลือ 30 และเหลือ 5 คนสุดท้าย 

ต่อมาคุณแนนได้รับทุนไปศึกษาที่ Incheon National University ประเทศเกาหลีใต้ เป็นคอร์สระยะสั้น 6 เดือน ในตอนแรกสาขาที่คุณแนนอยากเรียนมีแต่ภาษาเกาหลีล้วน คุณแนนจึงต้องปรับเปลี่ยนมาเรียนด้านภาษาแทน โดยเรียนภาษาอังกฤษเป็นหลัก และเรียนภาษาเกาหลีพื้นฐาน ในด้านของการใช้ชีวิตคุณแนนเล่าว่าแทบจะไม่ต้องปรับตัวเลย เพราะเกาหลีมีวัฒนธรรมเอเชียที่คล้ายกับของไทย มีการฝึกฝนแลกเปลี่ยนทั้งภาษาไทย ภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษ ได้เพื่อนใหม่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจากทั่วโลก

ในระดับปริญญาโท คุณแนนเลือกเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยสาขาที่คุณแนนเรียนคือ เศรษฐศาสตร์ทางการเมือง สนใจด้านสังคมเป็นหลัก วิเคราะห์เศรษฐกิจหรือตัวเลข ดูปัจจัยหรือมิติอื่น ๆ ทางสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันกับสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่ได้เรียนและฝึกงานมา 

นอกจากนี้ คุณแนนยังเคยได้ตำแหน่งกุลธิดากาชาด ในปี พ.ศ.2556-2557 โดยตำแหน่งนี้คุณแนนเห็นประกาศรับสมัครจากโรงพยาบาลจุฬา ซึ่งต้องมีคุณสมบัติคือ เก่ง รอบรู้ พึ่งพาได้ สุขภาพดี คุณแนนรู้สึกว่าอยากที่จะเป็น หลังจากนั้นก็ได้ลองสมัครเข้าไป ซึ่งตอนสมัครคุณแนนก็ต้องเขียนเรียงความ เข้าค่ายคัดสรร ขึ้นเวทีตอบคำถาม แสดงความสามารถพิเศษต่างๆ 

หลังจากได้รับเลือกเป็นกุลธิดากาชาด หน้าที่หลักที่ต้องทำคือเป็นตัวแทนของเยาวชนในการประชาสัมพันธ์ภารกิจของสภากาชาดไทย ให้ผู้คนรู้จักและเข้าใจ

ปัจจุบันคุณแนนทำงานที่องค์การสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees ) หน้าที่หลักขององค์กรคือปกป้องหรือคุ้มครองช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นทั่วโลก ซึ่งคุณแนนอยู่ในส่วนระดมทุน ยูนิตที่ดูแลคือสร้างการรับรู้ของผู้ลี้ภัยและระดมทุน มีหน้าที่ดูแลทำอย่างไรให้ให้คนไทยรับรู้และเข้าใจในเรื่องนี้ เห็นอกเห็นใจ สามารถร่วมสร้างรอยยิ้ม เปลี่ยนแปลงและช่วยเหลือไปด้วยกัน 

คุณแนนฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ชีวิตของเราต้องดูตามความชอบ เบื้องต้นต้องรู้จุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร ทำสิ่งนั้นให้เต็มที่ ในทุกโอกาสที่เราได้รับ ถ้าเราเต็มที่กับมัน สำเร็จแน่นอน ไม่สำเร็จในปีนี้ ก็ต้องสำเร็จในปีหน้า อยากให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีเส้นทางชีวิตในแบบที่ทำได้และมีความสุข ค้นหาและทำตามในสิ่งที่ใฝ่ฝันและอยากจะเป็น
.

.

.

.
 

คุณนีน่า ณัชชา ติรวัฒนกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.50

บทสัมภาษณ์ คุณนีน่า ณัชชา ติรวัฒนกุล ทนายความอิสระ และติวเตอร์สอนกฎหมาย ที่สถาบัน Bangkok Law
ติวเตอร์กฎหมายสายภาษาอังกฤษ ที่เชื่อว่า ‘ภาษา’ คือ ประตูสู่ ‘โอกาส’

ปัจจุบัน คุณนีน่าเป็นติวเตอร์สอนกฎหมาย ที่สถาบัน Bangkok Law  

แรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นในการเลือกเรียน ‘นิติศาสตร์’ ในตอนแรกคุณนีน่าได้ทุนของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แต่คุณนีน่ารู้สึกไม่ชอบเลยไปค้นหาตัวเองว่าแท้จริงชอบอะไร จนตัดสินใจว่าคณะนิติศาสตร์เป็นสิ่งที่จอบโจทย์มากที่สุด ส่วนเสน่ห์ของการเรียนนิติศาสตร์คือภาษาที่ใช้ และสังคมที่ค่อนข้างแปลกใหม่ ทุกคนที่มาเรียนรักความถูกต้อง และมีความคิดที่แตกต่างกันไป ส่วนการเรียนค่อนข้างยาก แต่โชคดีที่คุณนีน่ามีเพื่อนที่เรียนเก่งมาก ได้ศึกษาเทคนิคจากเพื่อนๆ ทำให้รู้จุดที่ต้องทบทวน และช่วยกันติว ทำให้สามารถเรียนผ่านมาได้

ช่วงที่คุณนีน่าเรียนที่จุฬาฯ ได้ทำกิจกรรมเยอะมากจนไม่ค่อยได้เข้าเรียน เมื่อมาเรียนที่ธรรมศาสตร์จึงตัดสินใจไม่ทำกิจกรรม ตั้งใจศึกเล่าเรียนอย่างเดียว หลังจากเรียนจบคุณนีน่าก็ได้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เช่น โครงการภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย กฎหมายระหว่างประเทศ และได้มีการฝึกล่ามที่กระทรวงยุติธรรม คุณนีน่าชื่นชอบที่จะหาความรู้ ถือว่าเป็นการเปิดโลก ได้ทั้งข้อมูล เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ๆ สิ่งสำคัญมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่ได้มา คือประสบการณ์ในการใช้ชีวิต 

เทคนิคในการเรียนของคุณนีน่า คือ ใช้การถามเทคนิคจากหลายๆ คน และนำมาปรับใช้กับตัวเอง ทำข้อสอบเก่า เพื่อจำกัดขอบเขตในการอ่านหนังสือ ใช้วิธีการจดโน้ตสรุปเป็นรูปแบบของตัวเองแลกเปลี่ยนกับเพื่อน

สำหรับการฝึกทักษะภาษาอังกฤษของคุณนีน่า มีพื้นฐานจากการที่ครอบครัวจะพูดภาษาอังกฤษกัน ทำให้คุณนีน่าคิดว่าถึงเวลาที่ตัวเองต้องฝึกภาษาอังกฤษ โดยเริ่มศึกษาจากการแชร์โพสต์ภาษาอังกฤษที่ง่ายๆ ฝึกภาษาโดยการถามเพื่อนตลอดเวลา ฝึกพูดกับเพื่อน คุณนีน่าเองเคยเจอคำพูดดูถูกที่ว่า ถ้าพูดไม่เป็นก็ไม่ต้องพูด ทำให้คุณนีน่ายิ่งอยากจะพัฒนาตัวเอง ฝึกฟัง พูด ทำตาม ทำซ้ำทุกวัน จนสามารถเก่งภาษาขึ้นมาได้ 

มีครั้งหนึ่งที่คุณนีน่าจะต้องไปเรียนศาลโลกที่เนเธอร์แลนด์ กังวลมากว่าจะพูดได้ไหม แต่พอเรียนจริงๆ ทุกคนไม่ได้พูดสำเนียงอังกฤษ เพราะมาจากหลายประเทศ มีหลากหลายสำเนียง ทำให้คุณนีน่ากล้าพูด และค้นพบว่าไม่จำเป็นต้องสำเนียงดี แค่มั่นใจก็พูดออกมาเลย 

นอกจากนี้คุณนีน่าได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก “Legal English By NN” สอนภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย และเป็นเจ้าของเพจร่วม “กฎหมายไม่ยากอย่างที่คิด” ให้ความรู้ทางกฎหมาย 

ปัจจุบันคุณนีน่าเป็นทนายความอิสระ และติวเตอร์สอนกฎหมาย ที่สถาบัน Bangkok Law ความยากคือการเตรียมตัวพูด ต้องฝึกทั้งทักษะการพูด คุณนีน่ามองว่า ติวเตอร์เป็นงานที่ยากและท้าทาย แต่ช่วยพัฒนาตัวเองได้เยอะมาก 

สุดท้ายคุณนีน่าฝากถึงคนที่อยากเรียนนิติศาสตร์ ให้ถามตัวเอง ค้นหาตัวเองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์กับตัวเอง คนเราเกิดมาทั้งทีควรเกิดมาเพื่อสร้างประโยชน์ นำความรู้มาช่วยเหลือผู้คน เรียนรู้จนสามารถเอาความรู้มาช่วยเหลือผู้อื่นได้ หาทิศทางวิธีการเรียนที่ถูกต้อง นำความรู้จากนิติศาสตร์มาใช้ประโยชน์ช่วยเหลือ ผดุงความยุติธรรมให้ถูกต้อง อยู่ในที่ที่มีความสุข ทำสิ่งที่ความสุข 

.

.

.

.

คุณเน็กส์ ณัฐดนัย องอาจวาจา | THE STUDY TIMES STORY EP.49

บทสัมภาษณ์ คุณเน็กส์ ณัฐดนัย องอาจวาจา นักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, นักเรียนทุนฟิสิกส์ พสวท.
นักเรียนทุนฟิสิกส์ พสวท. ที่โดดเด่นทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม

คุณเน็กส์จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ได้ทุนจาก พสวท. ปริญญาตรี โท เอก กำลังจะไปศึกษาต่อที่อเมริกา

คุณเน็กส์สอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในห้อง GATE Program หรือ Gifted and Talented education Program ยาวตั้งแต่ระดับมัธยมต้นจนถึงมัธยมปลาย เน้นการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตอนที่เรียนช่วงแรกๆ คุณเน็กส์ค่อนข้างรู้สึกตื่นเต้น โดยกล่าวว่า ถ้าอยากเรียนที่สวนกุหลาบอยากให้น้องๆ เตรียมตัวและตั้งใจ 

นอกจากเรื่องการเรียนที่เข้มข้นแล้ว โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยยังเน้นการทำกิจกรรมที่เยอะมาก ซึ่งคุณเน็กส์เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น โรงเรียนจะมีงานสมานมิตรจัดในวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน เหมือนเป็นการเปิดโรงเรียนให้ศิษย์เก่ามามีส่วนร่วม และมีกิจกรรมจตุรมิตร คือการแข่งขันฟุตบอล 4 โรงเรียน มีการแปรอักษร มีกิจกรรมตามระดับชั้น เช่น การรับน้อง การสันทนาการมีกิจกรรมที่ชื่อว่า ละอ่อน ที่พี่ ม.6 จัดให้น้อง ม.1 

นอกจากนี้ในโรงเรียนจะมีการเลือกประธานนักเรียน คุณเน็กส์ก็ได้เข้าไปทำงานร่วมกับกรรมการนักเรียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้คุณเน็กส์ได้ฝึกกระบวนการทำงาน งานเอกสาร มีระบบการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน

สำหรับการแบ่งเวลาเรียนและทำกิจกรรมของคุณเน็กส์นั้นมองว่า ถ้าเราอยากทำอะไร เราจะมีเวลาว่างสำหรับมัน เราสนใจในอะไร จะพยายามทำทุกอย่างให้เสร็จเพื่อเอาเวลาไปทำมัน

จุดเริ่มต้นความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ ย้อนไปในช่วงวัยเด็ก ที่บ้านเล่าให้ฟังว่าคุณเน็กส์เป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับทุกอย่าง มีความอยากรู้อยากเห็น ขี้สงสัย ซึ่งค้นพบว่าสิ่งที่สามารถให้คำตอบได้คือวิทยาศาสตร์ หลายสิ่งสามารถอธิบายและหาคำตอบได้ด้วยหลักการของวิทยาศาสตร์ พอได้มาเรียนตรงนี้ก็ยิ่งตอบโจทย์

คุณเน็กส์มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพสวท. เป็นโครงการของ สสวท.  ต้องการสร้างบุคลากรในการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ คุณเน็กส์ได้เข้าร่วมตอนช่วงม.4 มีนักเรียนจากทั่วประเทศเข้ามาสอบเข้าร่วมโครงการ เมื่อเข้ารอบก็จะมีการเฟ้นหา ทดสอบในด้านวิทยาศาสตร์ลึกยิ่งขึ้น ทั้งการสอบวัดเชิงความคิดสร้างสรรค์ ครั้งหนึ่งโจทย์ที่คุณเน็กส์ได้รับคือ มีแป้งและน้ำหลากหลายชนิด และมีถั่วจำนวนหนึ่ง โจทย์มีอยู่ว่าให้ทำภาชนะใส่ถั่วให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการวัดทักษะทางความคิด ต้องมีทักษะเชิงวิชาการและการประยุกต์ที่ดีด้วย 

เทคนิคการเรียนและการทำคะแนนสอบของคุณเน็กส์ คือ ต้องทำให้การเรียนเป็นสิ่งที่น่าพอใจกับตัวเอง หาวิธีการทำให้วิชาที่เราไม่ชอบเรียน เป็นวิชาที่น่าพอใจกับเรา เช่น เราชื่นชอบศิลปะ ชอบการจดโน้ตสวยๆ อาจพยายามจดโน้ตวิชาที่เราไม่ชอบให้ดูสวยงาม จะทำให้เราอยากกลับมาอ่าน หาสิ่งจูงใจเล็กๆ ที่ทำให้เรายังสนุกกับการเรียนอยู่ได้ ส่วนเรื่องการทำข้อสอบ เป็นเรื่องของการเตรียมตัว 70% ต้องวิเคราะห์ข้อสอบให้ทะลุปรุโปร่ง ดูว่าข้อสอบต้องการวัดอะไร เตรียมตัวหาวิธีการในการทำข้อสอบ ส่วนอีก 30 % คือการทบทวนเนื้อหา จะทำให้เรามีแนวทางและมีเทคนิคในการทำข้อสอบ

นอกจากนี้ ในความสนใจทางด้านดนตรีและกีฬา คุณเน็กส์ชอบเล่นกีฬาบาสเกตบอล มีจุดสนใจมาจากกลุ่มเพื่อนที่มีความชอบเหมือนกันชวนกันไปเล่นช่วงพักกลางวัน จนค้นพบว่าบาสเป็นกีฬาที่ชอบมาก ทำให้ไปศึกษาและฝึกฝนเพิ่มเติม ประกอบกับเป็นช่วงที่โรงเรียนหานักกีฬา ทำให้คุณเน็กส์มีโอกาสเข้าร่วมฝึกซ้อมและแข่งขัน นอกจากนี้กีฬาบาสยังทำให้คุณเน็กส์ปิดมุมมองใหม่ๆ จากที่เคยทำข้อสอบอยู่คนเดียว เป็นการได้ออกมาอยู่ในสังคม รู้จักผู้คนมากขึ้น ได้ฝึกซ้อม ทำงานเป็นทีม 

เรื่องของดนตรี คุณเน็กส์มีความสนใจในกีตาร์ เพราะช่วงเรียนออนไลน์มีเวลาว่างเยอะ ออกไปเล่นกีฬาก็ไม่ได้ เลยหาเครื่องดนตรีมาเล่นคนเดียวที่บ้าน สิ่งที่ทำให้คุณเน็กส์สนใจ คือเบื้องหลังของดนตรี การผลิตกีตาร์ กีตาร์สร้างมาอย่างไร วัสดุที่เขาใช้ทำกีตาร์คืออะไร ถือเป็นการประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ด้วย

ปัจจุบันคุณเน็กส์ได้รับทุนจากพสวท. สอบคัดเลือกในสาขาวิชาฟิสิกส์ ได้ทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรี โท เอก โดยเลือกไปศึกษาที่ประเทศอเมริกา โดยคุณเน็กส์ต้องเดินทางไปเรียนปรับพื้นฐานที่ประเทศอเมริกาก่อน จากนั้นค่อยเลือกศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย 

ในอนาคตคุณเน็กส์มีเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง ได้ใช้ความสามารถที่ได้จากการศึกษาและการพัฒนาตนเองมาช่วยเหลือผู้อื่น และได้ใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ 

สุดท้ายคุณเน็กส์ฝากทริคในเรื่องการค้นหาตัวเอง สิ่งสำคัญคือ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำหลายๆ อย่าง จะรู้ว่าสิ่งไหนชอบ หรือไม่ชอบ ซื่อสัตย์กับตัวเองให้มากพอ ว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่เราชอบจริงหรือเปล่า เราชอบทำสิ่งนี้เพราะอะไร เหตุผลอะไร อย่าคล้อยตามคนอื่นๆ หรือสภาพสังคม ให้โอกาสกับตัวเองและซื่อสัตย์กับตัวเอง
.

.

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top