คุณแก๊ป นาวาโท ธนเดช จิตร์ประวัติ | THE STUDY TIMES STORY EP.56

บทสัมภาษณ์ คุณแก๊ป นาวาโท ธนเดช จิตต์ประวัติ นักเรียนทุนกองทัพเรือ ศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหาร (Master of Leadership Development) ควบปริญญาโท สาขา M.Sc.(Strategy). Nanyang Technological University. ประเทศสิงคโปร์

หากเราเปลี่ยนคำว่าแข่งขันเป็นคำว่าแบ่งปัน สังคมจะมีแต่ความสุข

จุดเริ่มต้นของการเรียนเตรียมทหาร คุณแก๊ปได้เล่าว่าตัวเองนั้นแบ่งความชื่นชอบของตนเองเป็น 2 แบบ คือ สิ่งที่ตัวเองอยากจะเรียนและสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น โดยสิ่งที่คุณแก๊ปอยากจะเรียนคือ การได้เรียนวิศวะเหมือนกับคุณพ่อ และสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็นคือ การเป็นผู้นำ ทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง 

ในช่วงขณะนั้นโรงเรียนเตรียมทหารประกาศรับสมัครสอบของทหารทุกเหล่าทัพ คุณแก๊ปได้ลองไปสมัครสอบในทุก ๆ สนาม ผลปรากฏว่าติดทุกเหล่าทัพ ก่อนตัดสินใจเลือกเรียนกองทัพเรือ เพราะโรงเรียนนายเรือมีการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะเรียน และได้เป็นทหาร มีวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ ตรงกับสิ่งที่อยากจะเป็น 


โดยเคล็ดลับการเตรียมตัวทำข้อสอบในการเข้าศึกษาของคุณแก๊ปคือ ไปลองสอบสนามสอบหลายที่เพื่อให้รู้ว่าแนวข้อสอบเป็นอย่างไร และฝึกการทำข้อสอบในห้องสอบ เพื่อให้ตัวเองคุ้นชินกับสภาวะกดดันในช่วงระหว่างการสอบ และทำให้รู้ว่าตัวเองยังต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติม วิชาอะไรหรือด้านอะไรที่ตัวเองยังไม่เข้าใจ สอบรอบต่อไปจะทำให้ตัวเองเก่งในด้านนั้นได้ คุณแก๊ปได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการสอบเข้าเรียนว่า ถ้ามีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยประกาศรับสมัคร ให้รีบคว้าโอกาสนั้นไว้ ไปสอบก่อน ถ้าติดแล้วต้องการเรียนหรือไม่เรียนก็พิจารณาดูอีกที

คุณแก๊ปได้เล่าถึงประสบการณ์การเรียนที่โรงเรียนเตรียมทหารว่า ในเรื่องของการเรียนโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนสายสามัญทั่วไปไม่ได้มีความแตกต่างกัน มีมาตรฐานที่เท่ากัน เมื่อจบจากโรงเรียนเตรียมทหารก็ได้รับใบประกาศนียบัตรในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเหมือนกัน สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่อื่นได้ แตกต่างกันแค่การใช้ชีวิต เนื่องจากการเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารจะต้องมีความเป็นระเบียบตั้งแต่ตื่นนอน เข้าเรียน จนไปถึงก่อนเข้านอน ถือเป็นการปลูกฝังความมีระเบียบวินัยของผู้เรียน  

หลังจากเรียนจบที่โรงเรียนเตรียมทหาร คุณแก๊ปได้รับรางวัลการศึกษาดี รางวัลลักษณะทหารดี และรางวัลนักกีฬาดีเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน จากนั้นได้เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่โรงเรียนนายเรือจนคว้าปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ได้รับประกาศนียบัตรเหรียญทองในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และรางวัลเสื้อสามารถ เมื่อเรียนจบคุณแก๊ปได้เข้าทำงานที่กองทัพเรือเป็นระยะเวลาประมาณ 5-6 ปี เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนและกำลังพล ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายทหารเรือชั้นต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้คว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หลังจากนั้นคุณแก๊ปก็ได้กลับเข้าทำงานที่กองทัพเรืออีกประมาณ 5-6 ปี และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรืออีก 1 ปีก็ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งกลับมาเช่นกัน 

เทคนิคการเรียนให้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งนั้น คุณแก๊ปได้ให้ข้อคิดในการเรียนว่า การเรียนนั้นต้องอย่าเอาตัวเองไปแข่งกับใคร ให้คิดว่าเราแข่งกับตัวเอง การเรียนให้ได้รับรางวัลเกียรตินิยมไม่ได้หมายความว่าตัวเองจะต้องเป็นที่หนึ่ง หมายความว่าเราแข่งกับตัวเอง และรางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเป็นเหมือนรางวัลที่ชนะใจตัวเอง ให้เราตั้งเป้าหมายไว้และเราก็เดินตามทางเป้าหมายของเรา หนทางที่ยาวไกล หากเราก้าวเดินไป มันจะสั้นลง แต่ในหนทางที่เราก้าวเดิน เราควรจะมีความสุข 


ส่วนเทคนิคการเรียน ในช่วงสมัยเรียนคุณแก๊ปได้เปิดคอร์สติวเนื้อหาการเรียนให้กับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ถือว่าเป็นการแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อน ๆ คุณแก๊ปได้เล่าว่า ตัวเองต้องเตรียมบทเรียน 2-3 วัน ก่อนที่จะติวเนื้อหาการเรียนกับเพื่อน ๆ และจะชอบมากถ้าเพื่อนถามแล้วตอบไม่ได้ จะรีบไปหาคำตอบและมาสอนเพื่อน ๆ 

ในด้านของกีฬารักบี้ เนื่องจากคุณแก๊ปเคยเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลสมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดม หลังจากที่เข้ามาเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหาร ในสมัยนั้นกีฬารักบี้ถือว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยกีฬารักบี้เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เกิดความสนใจอยากที่จะเล่นกีฬารักบี้ คุณแก๊ปรักและชื่นชอบกีฬานี้มาก ช่วงฝึกซ้อมโค้ชได้ให้ข้อคิดว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราอย่าทำลายสิ่งนั้น ถ้าเรารักกีฬารักบี้ เราก็อย่าทำลายกีฬารักบี้ด้วยน้ำมือของเรา 

คุณแก๊ปกล่าวว่า ถ้าตัวเองเล่นแต่กีฬารักบี้แล้วเสียการเรียนก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่รุ่นน้อง ความสำเร็จในเรื่องของการเรียนคือเรียนให้ได้เกียรตินิยม การเล่นกีฬารักบี้เป้าหมายคือการติดทีมชาติไทย ซึ่งขณะที่เป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายเรือ คุณแก๊ปได้เป็นนักกีฬารักบี้ให้กับสโมสรราชนาวี จนมีคนมาทาบทามให้ไปคัดตัวเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ทำให้มีโอกาสได้เป็นนักกีฬารักบี้ทีมชาติไทยไปแข่งขันในระดับภูมิภาค ได้รับรางวัลชนะเลิศ


จุดเริ่มต้นการเป็นผู้นำของคุณแก๊ป ต้องย้อนไปตอนสมัยมัธยม โดยจุดเริ่มต้นมาจากคุณพ่อส่งคุณแก๊ปไปบวชเรียนในช่วงก่อนขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ช่วงบวชเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันเทศน์ระดับประเทศ มีหัวข้อคือ “ธรรมะของการเป็นผู้นำ” ซึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง หลังจากนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในขณะนั้นให้คุณแก๊ปไปเทศนาให้กับเพื่อน ๆ ฟังตอนปฐมนิเทศเปิดเทอม ต่อมาคุณแก๊ปได้ลงสมัครในตำแหน่งประธานนักเรียน และได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 ถือเป็นจุดเริ่มต้นบทบาทการเป็นผู้นำของคนหมู่มาก 

คุณแก๊ปได้แบ่งปันข้อคิดเกี่ยวกับการเป็นผู้นำคือ ผู้นำจะมี 4 ขั้น ขั้นแรกคือการเป็นผู้นำตัวเอง ขั้นที่สองคือการเป็นผู้นำทีม ขั้นที่สามคือการเป็นหัวหน้าใหญ่คุมผู้นำของแต่ละทีม ขั้นที่สี่คือผู้นำองค์กร โดยคุณแก๊ปได้แชร์ประสบการณ์การเป็นผู้นำตัวเองในสมัยเรียนคือ ในสมัยที่เป็นนักกีฬารักบี้ ขณะนั้นต้องเรียนหนังสือไปด้วย ต้องนำตัวเอง ควบคุมตัวเองให้อ่านหนังสือหลังจากการซ้อมรักบี้ ตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ว่าต้องประสบความสำเร็จทั้งด้านกีฬาและการเรียน

ปัจจุบันหลังจากที่คุณแก๊ปเรียนจบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ ได้สอบชิงทุน กองทัพเรือมาเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารสิงคโปร์และเนื่องจากระบบการศึกษาของโรงเรียนเสนาธิการทหารสิงคโปร์ ที่ยกระดับเป็น World class college and first class experience นักเรียนเสนาธิการทหารสิงคโปร์จะเขารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารร่วมกันกับมหาวิทยาลัย NTU ตามโปรแกรม The SAF-NTU Continuing Education Master's Program คุณแก๊ปต้องเรียนทั้งหมด 3 เทอมด้วยกัน โดยเทอมที่ 1 และเทอมที่ 2 จะเรียนจากมหาวิทยาลัย NTU และเทอมที่ 3 จะเป็นวิชาด้านการทหาร 

อีกทั้งคุณแก๊ปได้ลงทะเบียนเพื่อเรียนเพิ่มเติมและให้มหาวิทยาลัย NTU คิดหน่วยกิตจาก 2 เทอมแรก เพื่อนำไปยื่นศึกษาต่อกับทางมหาวิทยาลัย NTU ในสาขาปริญญาโทที่สนใจ โดย module ที่สามารถลงทะเบียนได้คือ module ที่สอนโดยมหาวิทยาลัย NTU ทั้งหมด โดยสามารถเลือกได้สูงสุด 5 module โดยคุณแก๊ปสนใจลงเรียน M.Sc. (strategy) คุณแก๊ปเล่าให้ฟังว่าแต่ถ้าใครลงทั้งหมด 5 ตัวเลยก็จะได้ Master of Leadership Development ซึ่งใน 5 ตัวนี้มี Module ของ Leadership และ Communication management ด้วย ยังไม่เคยมีใครลง 5 module มาก่อน คุณแก๊ปเลยตัดสินใจลงทะเบียนไป 5 module ในตอนนี้คุณแก๊ปกำลังศึกษาอยู่เทอมที่ 3 เมื่อสำเร็จการศึกษาเทอมนี้จากโรงเรียนเสนาธิการทหารแล้ว ก็จะนำหน่วยกิตไปยื่นกับทางทหาวิทยาลัย NTU ตาม Program ของ Continuing Education 



คุณแก๊ปเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้ทุนมาเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ก็พบว่าเป็นประเทศที่มีการแข่งขันในการเรียนค่อนข้างสูง เพราะประเทศสิงคโปร์ไม่ได้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่ามากนัก ทรัพยากรประเทศสิงคโปร์ที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ ประเทศสิงคโปร์จึงเร่งพัฒนามนุษย์ในประเทศให้มีความสามารถพัฒนาในด้านอื่น ๆ ทุกอย่างจึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน ในมหาวิทยาลัยที่เรียนจึงมีการแข่งขันที่สูงมาก คุณแก๊ปเป็นนักเรียนทุนของประเทศไทยเพียงคนเดียวที่สามารถเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้

“ภาวะผู้นำ (Leadership) กับ ผู้นำ (Leader) ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป” เป็นสิ่งหนึ่งที่คุณแก๊ปได้ศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ ในเรื่องของหัวหน้าหรือผู้นำทีม คุณแก๊ปได้กล่าวว่า การทำงานทุกคนจะต้องมีภาวะผู้นำในตัวเอง และคุณแก๊ปยังได้ให้ข้อคิดคือ การเป็นผู้นำหรือหัวหน้าที่ดีจะต้องเป็นวิตามิน เป็นพลังให้กับลูกน้อง ผู้นำหรือหัวหน้าจะต้องไม่ใช่ยาพิษ หรือ Toxic Leader หัวหน้าหรือผู้นำควรคำนึงถึงผลประโยชน์ที่นอกจากตัวเองแล้วควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกน้องในทีม เพื่อให้ทีมสามารถอยู่รอดและมีความสุขในการทำงานได้ 


และในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตมากขึ้น ในสมัยก่อนลูกน้องอาจจะต้องขอคำปรึกษา หาวิธีการแก้ไขจากหัวหน้า แต่ในปัจจุบันลูกน้องสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเองจากเทคโนโลยี สื่อต่าง ๆ ในบริบทของการเป็นผู้นำหรือหัวหน้าในการให้คำปรึกษาลูกน้องยังมีความจำเป็นหรือไม่ ถือเป็นความท้าทายของผู้นำในยุคปัจจุบัน 

คุณแก๊ปเล่าให้ฟังอีกว่า ในสิ่งที่ได้เรียนเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ อาจารย์ได้ยกสถานการณ์มาว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณเป็นผู้นำ แต่ในทีมของคุณประกอบไปด้วย ทีมมนุษย์ครึ่งหนึ่งและเทคโนโลยีอีกครึ่งหนึ่ง ผู้นำจะมีวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นสิ่งที่คุณแก๊ปได้ศึกษาจากการมาเรียนที่สิงคโปร์ 

สุดท้ายนี้คุณแก๊ปได้ฝากมุมมองที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตไว้ว่า ความสุขที่ยั่งยืนคือกำไรที่มั่นคง ความสุขที่ยืนยงจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราแบ่งปัน หากเราเปลี่ยนคำว่าแข่งขันเป็นคำว่าแบ่งปัน สังคมก็จะมีความสุข เราตั้งเป้าหมายไว้ เราไม่ต้องการแข่งกับใคร เราไม่ได้ต้องการเป็นที่หนึ่ง เราตั้งเป้าหมายไว้เพื่อแข่งกับตัวเราเอง และระยะเวลาที่เราเดินทางถึงเป้าหมายนั้น เราสามารถมีความสุขไปด้วยได้ด้วยคำว่าแบ่งปัน 

.

.

.

.