Saturday, 24 May 2025
SPECIAL

ปทุมธานี – ตลาดสี่มุมเมือง ซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มฉีดแรงงานต่างด้าว พร้อมผู้ค้า 7,000 คน เพื่อแบ่งเบาภาครัฐและอบจ.

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เวลา 09:30 น. ที่ตลาดสี่มุมเมือง ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 4,000 โดส เพื่อฉีดให้แรงงานต่างด้าวจำนวน 2,000 คน หลังจากที่เป็นจุดคลัสเตอร์มีผู้ติดเชื้อจำนวน 1,700 คน ที่ผ่านมาได้ตั้งโรงพยาบาลสนามภายในตลาดเพื่อดูแลแรงงานต่างชาติที่ติดเชื้อจนปลอดจากเชื้อโควิด-19 จนปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยเหลือแล้ว

ด้านบรรยากาศหน่วยฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ทางตลาดสี่มุมเมือง ได้จัดกลุ่มแรงงานต่างชาติเข้าคิวลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีน ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขโดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลแพทย์รังสิต เป็นผู้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ในครั้งนี้ นางสาวปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการ ตลาดสี่มุมเมือง กล่าวว่า ที่ตลาดสี่มุมเมืองมีการตรวจเชิงรุกทุกอาทิตย์ เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดและให้เข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาจนปัจจุบันตลาดสี่มุมเมืองเราปลอดจากเชื้อโควิด-19 แทบจะไม่พบเชื้อแล้ว ในส่วนของบุคลากรภายในตลาดและผู้ค้าประชาชนทั่วไปที่หมุนเวียนเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าประมาณ 40,000 คนต่อวัน และแรงงานต่างด้าว 4,000 คนโดยที่ผ่านมาทางตลาดสีมุมเมืองได้รับการจัดสรรวัคซีนจากสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีมีผู้ค้าคนไทยและแรงงานได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 5,000 คน และวันนี้ทางตลาดได้สนับสนุนค่าวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 4,000 โดส เพื่อฉีดให้แรงงานต่างด้าวจำนวน 2,000โดส โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เรามีมาตรการที่จริงจังโดยให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ผู้ค้าทุกท่านต้องมีใบผลตรวจคัดกรองโชว์อยู่ที่ตัวทุกครั้ง ถ้าพบว่าใครไม่ใส่หน้ากากอนามัยจะต้องถูกปิดแผงค้าทันที รวมถึงทำความสะอาดห้องน้ำทุกวันทุกเวลา ทั้งนี้ภายในตลาดมีอาคารสูงโปร่งอากาศถ่ายเทดี ถือว่าการติดเชื้อภายในตลาดเป็นไปได้น้อยมาก แต่จำนวนที่ติดเชื้อที่ผ่านมาพบว่าเป็นการติดเชื้อจากนอกตลาดคือติดจากภายในที่พักอาศัย โดยการอยู่ด้วยกันหลายคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย จึงจำเป็นต้องจัดซื้อวัคซีนตัวเลือกมาฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงแรงงานต่างด้าว เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ขอเชิญชวนให้ลูกค้าทุกท่านมาซื้อพืชผักและผลไม้ที่เกษตรกรส่งเข้ามาขายได้มีความมั่นใจและเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยจากการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อทำให้เศรษฐกิจเรากับมาให้เหมือนเดิมเร็วที่สุด ตลาดสี่มุมเมืองเราเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้ลูกค้ามั่นใจเราทำเต็มที่เพื่อปกป้องทุกคนจากสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิด-19


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

อยุธยา - วัดสีกุก ประกาศรับฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมปฏิบัติตามขั้นตอนกระทรวงสาธารณสุข

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ​(Covid​-19) ​หลังจากที่เกิดกระแสความกังวลใจมากมายในการฌาปนกิจ​ศพ​ผู้เสียชีวิต​จากปัญหาโควิด-19 ​จนเกิดการปฏิเสธ​จากหลายวัดที่ไม่ดำเนินการในการรับเผาศพผู้เสียชีวิต​จากโควิด-19​ นั้น

ทางด้านพระครูชินธรรมาภรณ์​ เจ้าคณะอำเภอบางบาล​ เจ้าอาวาสวัดสีกุก​ ตำบลน้ำเต้า​ อำเภอ​บางบาล​ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา​ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า​ "เมตตา​ ค้ำจุนโลก​ ช่วงวิกฤติ​โควิด-19​ กำลังระบาดหนักในช่วงสภาวะเศรษฐกิจ​ตกต่ำอยู่ขณะนี้​ หากท่านใดที่มีญาติป่วยด้วยโรคโควิด-19 ​ที่เสียชีวิต​ลง​ โดยทางโรงพยาบาล​รับรอง​ ให้นำศพมาที่วัดสีกุก​ จะอำนวย​ความสะดวก​ช่วยสงเคราะห์​ อุปการะ​ จัดพิธีสวดมาติกา​- บังสุกุล​-ประชุมเพลิง​ (เผาให้ฟรี)​ ปฏิบัติ​ตามขั้นตอน​ของ​กระทรวง​สาธารณสุข​ โดยทางวัดสีกุกจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด​ โทร​ 081-4853397"


ภาพ/ข่าว  ปริญญา​ ดวง​สุวรรณ​ รายงาน

ชลบุรี - ร่วมให้และแบ่งปัน มูลนิธิจำรัส-สุพัตรา สส.สัตหีบ มอบถุงยังชีพ 200 ชุด ให้ชาวบ้านช่องแสมสาร

ที่วัดช่องแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ร่วมให้และแบ่งปัน มูลนิธิจำรัส-สุพัตรา ร่วมกับ ดร.สะถิระ เผือกประพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นำถุงยังชีพที่ประกอบไปด้วย ข้าวสาร หน้ากากอนามัย น้ำดื่ม มามอบให้กับประชาชนชาวแสมสาร จำนวน 200 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วง วิกฤตโควิด-19 โดยมี นายเสน่ห์ พิทักษ์กรณ์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายประเสริฐ พิทักษ์กรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร นายสมประสงค์ วังแก้วหิรัญ ผู้ช่วย สส.เขต 8 ชลบุรี สมาชิกทีมงาน ผู้ใหญ่ใจดี มาร่วมมอบถุงยังชีพให้ประชาชน

ในการนี้ พระครูวิสารทสุตากร เจ้าคณะตำบลพลูตาหลวง เจ้าอาวาสวัดช่องแสมสาร มาร่วมมอบถุงยังชีพเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ให้ประชาชน สู้กับพิษโควิด-19 ท่ามกลางรอยยิ้มและความปลาบปลื้มใจของประชาชน

ดร.สะถิระ เผือกประพันธุ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของ ชาวบ้าน จากสถานการณ์ โควิด-19 ในอำเภอสัตหีบ ที่ยังรุนแรงอยู่ทุกวัน ทาง มูลนิธิจำรัส-สุพัตรา ร่วมกับ ผมดร.สะถิระ เผือกประพันธุ์ และผู้มีจิตศรัทธา เล็งเห็นความเดือดร้อน ในช่วงวิกฤตแบบนี้ จึงจัดถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด มามอบให้กับประชาชน และด้วยความห่วงใยขอความร่วมมือกับประชาชนให้ป้องกันตนเองให้มากขึ้น ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อออกไปพบปะผู้คน ล้างมือด้วยเจลล้างมือทุกครั้ง และควรทำบ่อย ๆ ให้เกิดความชิน ไม่ไปอยู่ในพื้นที่ที่มาความเสี่ยง หรือแออัดจนเกินไป ดังนั้น เราทุกคนต้องสู้ไปด้วยกัน เราจะไม่ทอดทิ้งกัน 


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สุโขทัย - อบจ.สุโขทัย องค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2564

นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย เข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2564 ด้านการส่งเสริมการแก้ไขปัญหายาเสพติด จากนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก

โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณฯ ผ่านระบบการถ่ายทอดสดออนไลน์ จากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564

อบจ.สุโขทัย ได้รับเลือกเป็นองค์กรที่มีผลงานระดับดีเด่น ด้านการส่งเสริมการแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นองค์กรที่ส่งเสริม สนับสนุนบุคลากรและงบประมาณ ของ อบจ.สุโขทัย บูรณาการร่วมกับ ศอ.ปส.จ.สุโขทัย ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จ.สุโขทัย ทั้ง 9 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ได้ดำเนินการบูรณาการด้านกำลังคน ด้านพื้นที่ ด้านข้อมูลข่าวสารต่อเนื่อง และทันต่อเหตุการณ์ 

ทั้งยังได้ให้การสนับสนุนให้ผู้นำชุมชน รวมทั้งเครือข่ายอาสาสมัคร ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังการแพร่กระจายของยาเสพติด โดยการออกสุ่มตรวจปัสสาวะในชุมชน ให้ความรู้และบทลงโทษที่จะตามมาในชีวิตและครอบครัวของคนในพื้นที่เสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง และยังเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในชุมชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งผู้นำชุมชนและหน่วยงานในท้องที่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ โดยการประสานและทาง อบจ.สุโขทัยให้ความร่วมมือและเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการแก้ไข ป้องกันปัญหายาเสพติดในพื้นที่ท้องถิ่นต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัย ณ ห้องประชุมสองแคว สำนักงาน ปปส. ภาค 6 จ.พิษณุโลก


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

วิกฤตหรือโอกาส? พลิกโฉมการศึกษาไทยยุค New Normal

โควิดระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้หากจะพูดถึงผลกระทบของโควิด ทุกคนคงกระจ่างแจ้งอย่างที่ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยกันหลายคำ เพราะทุกคนล้วนเป็นผู้ประสบภัยกันทั่วหน้า แม้ผลกระทบมากน้อยอาจต่างกัน 

โควิดส่งผลกระทบมากมายอย่างคาดไม่ถึง ทั้งด้านชีวิตและสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปจากปกติเดิม จนต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ อย่างคำว่า “New Normal” วิธีชีวิตปกติแบบใหม่ นี้ก็คือการปรับพฤติกรรมของมนุษย์ในชีวิตประจำวันเพื่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดนี้เอง เช่น การทำงานก็เปลี่ยนจากการที่ต้องเดินทางไปที่ออฟฟิศ ไปสำนักงานก็เปลี่ยนมาเป็นการทำงานที่บ้าน หรือที่เราเรียกทับศัพท์กันอย่างติดปากว่า Work From Home การประชุมติดต่อประสานงานนั้นก็ทำได้โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วย 

และไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับขบวนกันยกใหญ่ ภาคการศึกษาก็เช่นกัน ต้องปรับจากการเรียนในสถานศึกษา มาเป็นห้องเรียนออนไลน์กันทุกระดับชั้นต้องแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อมาตรการในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการระบาดของโรค

1 ปีกว่าผ่านมาหากจะชวนคิด ชวนตั้งคำถามว่าการศึกษาในยุค New Normal นี้ โอกาสหรือเป็นวิกฤต กับสังคมไทยนั้นก่อนจะสรุปว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส ลองมาสำรวจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ กันก่อน

จากการเรียนในห้องเรียนที่มีเพื่อนร่วมห้อง มีคุณครู มีประตู หน้าต่าง มีการพบหน้าคาดตา ปรับมาเป็นการเรียนออนไลน์ ต่างคนต่างอยู่บ้าน เจอหน้ากันผ่านจอคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ตไว้เพื่อการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ จากข่าวคราวที่ปรากฎในสื่อเห็นชัดว่าการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายในประเทศไทย เพราะด้วยเหตุผลหลายประการในเชิงโครงสร้าง  

ประการแรก เรายังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้เรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกรูปแบบในระบบการศึกษาไทย จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนของไทยในปี 2563 อยู่ที่ 26018.42 ในขณะที่มีรายจ่ายปี 2562 อยู่ที่ 20,742.12 และล่าสุดรายจ่ายของครัวเรือนของไทยในปี 2563 มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เฉลี่ยเดือนละ 21,329 บาท โดยร้อยละ 87 ของค่าใช้จ่าย ทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค และร้อยละ 13 เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง / หวย ดอกเบี้ย) ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจัดสรรเงินสำรองเพื่อการศึกษาที่ไม่มากนั้น ยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด ที่อาจทำให้รายรับของครอบครัวลดน้อยลงไปอีก จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับครอบครัวที่ถูกซ้ำเติมในยามโควิดระบาดนี้อยู่แล้ว จะจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน การซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ต ซึ่งช่องว่างทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นอีกในระบบการศึกษาไทย  

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาของ TDRI ที่พบว่าปัญหาของครัวเรือนในประเทศไทยที่ใหญ่กว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือ การไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด และหากจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์สูงถึงร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ในภาคกลางร้อยละ 21 ส่วนในภาคเหนือ ร้อยละ 19 ในภาคใต้ ร้อยละ 17 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 14  ซึ่งสถิตเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย 

นอกจากความไม่พร้อมในเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว ประการต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องความไม่พร้อมของการจัดการเรียนการสอน ทั้งในแง่หลักสูตร ความพร้อมของครูอาจารย์ ตลอดจนความพร้อมในการเรียนของนักเรียนนักศึกษาในการเรียนออนไลน์มีมากน้อยเพียงใด 

จากเสียงสะท้อนของทั้งผู้สอน และผู้เรียน ตลอดจนผู้ปกครองต่างต้องรับมือกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ฝั่งผู้สอน ครูอาจารย์ก็รู้สึกท้อแท้กับการไม่มีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษาจากการใช้ระบบออนไลน์ ยิ่งเป็นการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยที่ให้ความไว้วางใจว่านักศึกษาโตพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้ ยิ่งพบว่าบรรดาอาจารย์ต่างปรับทุกข์ในทำนองเดียวกันว่านักศึกษาแทบไม่ค่อยมีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนเท่าที่ควรจะเป็น ไม่เปิดกล้อง ไม่ถามคำถาม ไม่ตอบคำถาม ส่วนในมุมผู้เรียนก็มองว่าเรียนออนไลน์น่าเบื่อ ไม่มีบรรยากาศการเรียนที่กระตุ้นการอยากรู้อยากเห็น ครูอาจารย์ไม่มีกลวิธีการสอนที่ดึงดูดใจพอ 

ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเล็ก ๆ ในชั้นอนุบาลหรือประถมต้นนั้นก็เหนื่อยไม่แพ้กันเพราะเหมือนต้องคอยดูแลกำกับให้ลูก ๆ หลาน ๆ นั่งหน้าจอเรียนออนไลน์ ในยุคก่อน new normal พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจมีหน้าที่ช่วยสอนลูกหลานในการทำการบ้าน แต่เหมือนว่าในยุค new normal นี้ต้องทั้งเรียนด้วย สอนด้วย ดูแลบุตรหลานด้วย ความเครียดจึงบังเกิดแด่พ่อแม่ผู้ปกครองกันทั่วหน้า

ดังนั้นปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่มีพลิกโฉมการเรียนการสอนจากห้องเรียนทางกายภาพสู่ห้องเรียนออนไลน์ หากมองดี ๆ แล้ว จะพบว่าความปกติใหม่ หรือ New normal นี้ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่และกระตุ้นเตือนให้เราหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษามากขึ้น 

ไม่ว่าจะเป็นตัวหลักสูตร ที่ควรตั้งคำถามว่าหลักสูตรที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษานั้นเหมาะสมสำหรับพัฒนาการการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของเด็กและเยาวชนจริงหรือไม่ หลักสูตรที่มีเหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่น ในพื้นที่ของเด็ก ๆ หรือไม่ หรือแม้แต่กฎเกณฑ์กติกาบางอย่างที่แท้จริงแล้วสำคัญหรือไม่อย่างไร หากเด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เช่น การแต่งชุดนักเรียนและการไว้ทรงผม และกติกาหรือระเบียบวินัยแบบไหนที่ควรต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ แทน เป็นต้น 

นอกจากตัวเนื้อหาของหลักสูตรแล้ว กลวิธีการสอนและรูปแบบในการนำเสนอสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์นั้นก็มีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงและต้องถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับเนื้อหาและธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ด้วย การใช้วิธีการเดียวกันกับการสอนในห้องเรียนปกตินั้นคงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

ทั้งนี้ TDRI ได้ทำการศึกษาเราควรใช้ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ มาออกแบบอนาคตของการศึกษาไทย โดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้มากที่สุด ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยมากในหลายประเด็น เช่น 

• ให้น้ำหนักกับปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์

• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่มากกว่า การเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ

• ให้น้ำหนักกับการประเมินผลเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) จากชิ้นงานและพฤติกรรมของนักเรียน มากกว่า การประเมินเพื่อการตัดสิน (summative assessment) เพื่อนำไปใช้ให้คุณให้โทษแก่โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา

• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจ ควบคู่กับการเรียนรู้ด้านวิชาการ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนรวมถึงเด็ก ๆ ทุกวัย 

• ให้น้ำหนักกับการจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับ ทรัพยากรออนไลน์ เช่น จัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัวและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศไปด้วย 

ดังนั้น หากย้อนกลับมาที่คำถามของเราว่า การศึกษาไทยในยุค New normal นี่เป็นวิกฤตหรือโอกาส ก็คงตอบได้อย่างชัดเจนว่ามีทั้งสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นวิกฤต และโอกาส เพราะวิกฤตในวันนี้เราสามารถพลิกให้เป็นบทเรียนเพื่อสร้างโอกาสในวันหน้าได้ เพียงแต่ต้องปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับวิธีคิดของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือกันใหม่ในการมีส่วนช่วยกันยกเครื่องระบบการศึกษา ทั้งพัฒนาหลักสูตร พัฒนาศักยภาพบุคคลกรทางการศึกษา พัฒนาแนวทางและรูปแบบ

โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้อาจจะต้องดึงภาคเอกชนและหน่วยงานนอกระบบราชการ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมาร่วมมือกันออกแบบการจัดการเรียนการสอน รวมถึงถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เพราะเราจะพบว่าแนวโน้มในการความเป็น New normal นี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต เช่น เปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเกิดเทคโนโลยี disruptive หรือแม้แต่การเปลี่ยนด้านการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจของโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการสร้างคน สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศและโลก ซึ่งการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนนั้นเอง 

เขียนโดย: อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ข้อมูลอ้างอิง
http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเป็นประจำตั้งแต่ปี 2500 (nso.go.th)
New Normal ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ - TDRI: Thailand Development Research Institute
วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์ - TDRI: Thailand Development Research Institute

จับได้แล้ว คนร้ายใช้มีดจี้ชิงทองหนัก 60 บาท รับสารภาพเล่นการพนันและติดหนี้เงินกู้นอกระบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 19.30 น.ได้มีคนร้ายใช้อาวุธมีดจี้ชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำรวม 60 บาท จากร้านทองบางกอกโกลด์  ห้างโลตัสลำลูกกา คลอง 2 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ท้องที่ สภ.คูคต และคนร้ายวิ่งหลบหนีไปนั้น ต่อมาภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.

พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.1

พล.ต.ต.สุรพล เปรมบุตร พล.ต.ต.สุภธีร์ บุญครอง พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี

พ.ต.อ.ธรรมนูญ เชาวะวนิชย์ พ.ต.อ.จักริน พันธ์ุทอง รอง ผบก.ฯ

พ.ต.อ.วิษณุรักษ์ พรหมเมศร์ผกก.สภ.คูคต พ.ต.อ.สมศักดิ์ นิเต็ม ผกก.สส.ภ.จว.ปทุมธานี พ.ต.อ.อาสาฬห์ ถมยา ผกก.สส.2 บก.สส.ภ.1 และ จนท.ฝ่ายสืบสวน  สืบสวน และฝ่ายสอบสวนได้ร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานจนทราบว่า คนร้ายที่ก่อเหตุ คือนายสมชาย พวงบุญ อายุ 33 ปี จึงได้ไปขอศาลออกหมายจับ และศาลจังหวัดธัญบุรี ได้ออกหมายจับ ที่ จ.391/2564 ลง 30 มิถุนายน 2564 และในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.คูคต กั กก.สส.ภ.จว.ปทุมธานี และ บก.สส.ภ.1 ได้ร่วมกันจับกุมตัวนายสมชายฯได้พร้อมของกลาง

      1.อาวุธมีด 1 เล่ม

      2.สร้อยคอทองคำ หนักเส้นละ 10 บาท  4 เส้น

       3.ตั๋วรับจำนำสร้อยคอทองคำ จำนวน 2 ฉบับ

ดำเนินคดีในความผิดฐาน

       1.ชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธมีดในเวลากลางคืน

       2.พกพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะฯ

นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.คูคต ดำเนินคดีตามกฎหมาย และต่อมา วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เวลา 17.00 น. พล.ต.ต.ชยุตฯ ได้เดินทางมาที่สภ.คูคต และร่วมกับ พ.ต.อ.วิษณุรักษ์ฯพ.ต.อ.สมศักดิ์ ฯ พ.ต.ท.ประสิทธิ์ สมบุญจิตร รอง ผกก.หน.งานสอบสวน

พ.ต.ท.สัมพันธ์ ทิมอิน รอง ผกก.สืบสวนฯ ทำการสอบปากคำ ซึ่งนายสมชายฯให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ / รายงาน

นอภ.สัตหีบ ร่วมตำรวจ ทหาร จับกุมกลุ่มวัยรุ่น ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มั่วสุมดื่มสุรา 8 ราย ดำเนินคดี

วันที่ 30 มิ.ย. 64 เวลา 20.00 น. นายกิตติพงษ์ กิติคุณ นายอำเภอสัตหีบ บูรณาการสนธิกำลังฝ่ายปกครอง ร่วมกับ พ.ต.อ.ปัญญา ดำเล็ก ผกก.สภ.สัตหีบ จนท.สาธารณะสุขอำเภอสัตหีบ และ จนท.ทหารเรือ จากอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหาร นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สาธารณะสุข ตำรวจ ทหาร เข้าตรวจสอบบริเวณ ริมถนน เส้นทาง กม.10 - ท่าเรือจุกเม็ด หน้าร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) ม.2 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังได้รับแจ้งจากจากประชาชนว่า มีกลุ่มแรงงานวัยรุ่นของ บริษัท แห่งหนึ่งในท่าเรือจุกเสม็ด ตั้งวงดื่มสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

จากการตรวจสอบ พบกลุ่มวัยรุ่น ตั้งวงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริเวณริมฟุตบาธและท้ายรถยนต์กระบะ จำนวน 8 คน จึงควบคุมตัวดำเนินคดีที่ สภ.สัตหีบ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายกิตติพงษ์ กิติคุณ นายอำเภอสัตหีบ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบกลุ่มวัยรุ่นรวมตัวกันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังน่าเป็นห่วง และขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ป้องกันตนเอง ด้วยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามมาตรการและคำสั่งของ ศบค.จังหวัดชลบุรี ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยห้ามไม่ให้มีการมั่วสุม หรือ รวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการตั้งวงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร้านอาหาร ชายหาด และที่สาธารณะ หากได้รับแจ้งหรือตรวจพบ จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่มีข้อยกเว้นเด็ดขาด


ภาพ/ข่าว นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สุรินทร์ – เริ่มวันแรก บรรยากาศการฉีดวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ที่จังหวัดสุรินทร์คึกคัก ประธานหอการค้าสุรินทร์ เผยว่า ยังมีโอกาสนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่น เพื่อเป็นทางเลือก

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ ศูนย์ฉีดวัคซีน ชั้น 2 โรงพยาบาลรวมแพทย์หมออนันต์ นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ และแพทย์หญิง มนัสลักษ์ อริยะชัยพาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรวมแพทย์ (หมออนันต์) เข้าสังเกตการณ์การให้กำลังใจประชาชน และทีมงานจุดฉีดวัคซีนวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม วันแรก ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์

โดยหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ได้สั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 1,200 โดส โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคณะครูโรงเรียนเอกชน ห้างร้าน บริษัท และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ นายนายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ เผยว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ได้รับการจัดสรรมาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 1,200 โดส ในล็อตแรกนี้ ได้นำมาฉีดให้กับประชาชน ภาคเอกชน ในจังหวัดสุรินทร์ ที่มีความต้องการวัคซีนทางเลือก 

โดยหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับโรงพยาบาลรวมแพทย์หมออนันต์ จัดตั้งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนทางเลือกในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะพอบรรเทาความต้องการ จากภาคเอกชนลงได้ไม่มากก็น้อย โดยเห็นได้ว่ามีประชาชนสนใจเข้าจองวัคซีนเป็นอีกจำนวนมาก โดยทางหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ จะทำการสำรวจความต้องการวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม และยี่ห้ออื่น ๆ ของประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์อีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

ชนดับ 3 ศพ ยักษ์ใหญ่รถพ่วงขยี้น้องเล็กรถกระบะ หลังไม่พบตัวคนขับในที่เกิดเหตุแล้ว

เมื่อเวลา 00.30 น.วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ศูนย์วิทยุกู้ภัยสายชล มูลนิธิชุมพรการกุศลสงเคราะห์ รับแจ้งว่าเกิดอุบัติเหตุบริเวณโค้งสายชล บนถนนเพชรเกษม ฝั่งขาขึ้นกรุงเทพฯ หมู่ 3 ต.สลุย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ห่างจากศาลพ่อตาหินช้างประมาณ 1 กิโลเมตร

ร.ต.อ.สนธยา ไทยประเสริฐ พนักงานสอบสวนเวร สภ.สลุย รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมเจ้าหน้าที่กู้ภัย เขต อ.ท่าแซะ พบรถพ่วง 22 ล้อ ยี่ห้อวอลโว่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ หมายเลขทะเบียน 77-4467 กรุงเทพมหานคร ชนทับอยู่บนรถกระบะ ยี่ห้อนิสสัน บิ๊กเอ็ม รุ่นฟรอนเทียร์ สีบรอนซ์เงิน หมายเลขทะเบียน บร 1085 นครปฐม จนทำให้รถกระบะมีสภาพบี้แบนอยู่ด้านล่าง ภายในรถกระบะมีผู้เสียชีวิตที่โดยสารมากับรถกระบะรวม 3 ราย ประกอบด้วย นายวสันต์ เชื้อนุช อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 148/1 ม.4 ต.ทะเลทรัพย์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นผู้โดยสารที่นั่งมาในรถกระบะ นายราเชญ ชาวปากน้ำ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29/2 ม.7 ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร คนขับรถกระบะ และ น.ส.ธิดารัตน์ ตั้งซุยยัง อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6 ม.4 ต.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภรรยาของนายราเชญ ส่วนคนขับรถพ่วงทราบชื่อคือ นายณรงค์ชัย (ไม่ทราบนามสกุล) ไม่พบตัวในที่เกิดเหตุแล้ว

รับแจ้งจากเพื่อน ๆ ของผู้เสียชีวิตที่มาดูที่เกิดเหตุ ทราบว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ทำงานเกี่ยวกับสายเคเบิ้ลซึ่งขณะนี้กำลังทำการซ่อมแซมสายเคเบิ้ลอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้ที่เกิดเหตุ ก่อนเกิดเหตุเพื่อน ๆ ได้โทรถามทีมผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายว่าอยู่ไหนแล้ว ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังเก็บอุปกรณ์เพื่อเตรียมกลับที่พัก จากนั้นเสียงก็เงียบหายไป จนมาทราบว่าเพื่อน ๆ ทั้ง 3 ราย ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตแล้ว

เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่กู้ภัย ต้องช่วยกันนำอุปกรณ์ตัดถ่างงัดซากรถเพื่อนำศพผู้เสียชีวิตออกมาจากใต้ท้องรถพ่วง เพื่อลำเลียงศพไปชันสูตรที่ รพ.ท่าแซะ และแจ้งไปยังญาติ ๆ ให้มารับศพกลับไปบำเพ็ญกุศลทางประเพณี ส่วนพนักงานสอบสวนจะตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และติดตามคนขับรถพ่วงมาสอบปากคำก่อนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

ลำพูน – อธิบดีกรมสุขภาพจิต ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา ‘การฆ่าตัวตาย’ ภายใต้กิจกรรม 4 Plilar

แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิตพร้อมคณะฯ ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย ภายใต้กิจกรรม 4 Plilar ณ ห้องประชุมจามเทวี ศาลากลางจังหวัดลำพูน ถนนอินทยงยศ ตำในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และประชุมติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนในโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย (4 pillar) จังหวัดลำพูน ในวันนี้ (30 มิ.ย. 64) เมื่อเวลา 09:30 น.

นอกจากนี้ ยังได้มีการอภิปรายหัวข้อการป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายประเด็น

1. นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายของจังหวัดลำพูน โดย นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

2. สถานการณ์การฆ่าตัวตายของประเทศไทย และแนวทางแก้ไขปัญหา โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต

3. บทบาทของพระสงฆ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย โดย พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน

4. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายโดยใช้ลำพูนโมเดล (4 pillar) โดย นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน

ดำเนินรายการ โดย นายแพทย์ กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง และ นางบุษบา อนุศักดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน

จากนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมคณะฯ เดินทางไปยังเทศบาลตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชน และ มอบทุนประกอบชีพให้กับผู้เปราะบาง โดย แพทย์หญิงพรรณพิมลฯ ก่อนเดินทางกลับ

นางพรรณพิมล อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า "จากสถานการณ์การฆ่าตัวตายประเทศไทย ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา พบมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อแสนประชากรสูงอยู่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง , 2540 โดยในปี 2540-2542 พบร้อยละ 6.92-8.12 และสูงสุดในปี 2542 ร้อยละ 8.59 ส่วนในปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ต่อแสนประชากร อยู่ที่ร้อยละ 7.37 และจากการรวบรวมข้อมูลตามเขตสุขภาพ ในช่วงเดือน ตุลาคม 2563 ถึง พฤษภาคม 2564 พบเขตสุขภาพที่ 18 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) มีอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จต่อแสนประชากร ร้อยละ 10.01 และ สูงสุดในจังหวัดลำพูน ถึงร้อยละ 14.22"

สำหรับ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายและการลดอัตราการฆ่าตัวตายจะสำเร็จได้นั้น เกิดจากแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ภาคส่วนต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันช่วยเหลือ ค้นหา ผู้ที่มีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายในกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง และแรงงานในชุมชน ด้วยการใช้เครื่องมือ Mental Health Check-In เพื่อตรวจเช็คสุขภาพใจ สำรวจผู้ที่มีภาวะเครียด ซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยข้อมูลที่ได้จะส่งต่อทีมสุขภาพจิตให้คำปรึกษา จะลดผลกระทบดังกล่าวได้ หรืออีกหนึ่งช่องทางการติต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต สามารถติดต่อสายตรง 1323 หรือปรึกษาช่องทางออนไลน์ผ่านแฟนเพจ  Facebook  สายด่วนสุขภาพจิต 1323

ทั้งนี้ การใช้วัคซีนใจในชุมชน 4 สร้าง 2 ใช้ คือ สร้างชุมชนปลอดภัย สร้างชุมชนให้สงบ สร้างชุมชน ให้มีความหวัง สร้างชุมชนที่เข้าใจและให้โอกาส ใช้ศักยภาพชุมชน และใช้สายสัมพันธ์ในชุมชน รวมถึงการสอดส่อง มองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง ในหลัก 3 ส. จะช่วยส่งเสริมป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างยั่งยืน อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยในที่สุด


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดลำพูน

อุบลราชธานี - พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พบปะกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP กิจกรรมที่ 3 สร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้าและเครื่องแต่งกาย  ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

โครงการดังกล่าวกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการจากจังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 50 กลุ่ม/ราย เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เป็นที่ต้องการของตลาด

พร้อมนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กล่าวขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนและคณะวิทยากร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วน บูรณาการการดำเนินงานโครงการให้สำเร็จตามวัถุประสงค์ที่ตั้งไว้


ภาพ/ข่าว  กิตติภณ เรืองแสน

กอ.รมน.สตูล นำกำลังเข้าตรวจยึดป่าชายเลนคืน กว่า 26 ไร่

พ.อ.กิตติ จันทร์เอียด รอง ผอ.รมน.จังหวัดสตูล(ท.),พ.ต.ปิยะเชษฐ์ หนูฉ้ง รอง หัวหน้ากลุ่มงานประสานความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัดสตูล,เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดสตูลร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 ,เจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดสตูล สทช.7 ,สถานีเรือละงู,เจ้าหน้าที่กองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, หน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 452, สถานีตำรวจภูธรทุ่งหว้า, ฝ่ายปกครองอำเภอทุ่งหว้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ได้สนธิกำลังเข้าดำเนินการยึด ทำลาย รื้อถอน หรือทำประการใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ศ. 2559 ลง พฤษภาคม 2559 ท้องที่บ้านขอนคลานตะวันตก หมู่ที่ 3 ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เนื้อที่ จำนวน 26-0-84 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการรื้อถอนพืชผลอาสินที่ปลูกไว้ในพื้นที่ เป็นต้นมะพร้าว จำนวน 46 ต้น ต้นปาล์มน้ำมัน จำนวน 180 ต้น โดยในการนี้ ได้มอบเรื่องราวให้นายนิพนธ์ เต็มแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 26 (ทุ่งหว้า สตูล) นำเรื่องราวรายละเอียดการดำเนินการไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรทุ่งหว้า ไว้เป็นหลักฐานต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

ตำรวจภูธรภาค 5 เร่งรัดการดำเนินคดีกับกลุ่มขบวนการปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อ กรณีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Anti หมวกกันน็อกออนไลน์ ได้นำตัวผู้แทนผู้เสียหายจากการกระทำของขบวนการ Application เงินกู้ออนไลน์ผิดกฎหมาย มาขอความช่วยเหลือจาก ผบช.ภ.5 เนื่องจากกลุ่มผู้เสียหายดังกล่าวเคยเข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเขต จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง และลำพูน แล้ว ถูกเพิกเฉย ไม่รับแจ้งความหรือลงบันทึกประจำวัน 

​ตำรวจภูธรภาค 5 ขอเรียนว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Anti  หมวกกันน็อกออนไลน์ ได้มาพบและยื่นหนังสือต่อ ผบช.ภ.5 โดยแจ้งว่าทางกลุ่ม ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยราชการ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นสื่อกลางในการให้การช่วยเหลือ แนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากกลุ่มขบวนการเงินกู้ผิดกฎหมายดังกล่าว และแจ้งด้วยว่ายังมีประชาชนที่อยู่ในเขตจังหวัดจังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง และลำพูน ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ไม่ทราบถึงวิธีการดำเนินการและแนวทางในการติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือและแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งยังได้พาตัวแทนผู้เสียหายจำนวน 4 รายมาพบเพื่อให้รายละเอียดข้อเท็จจริง

ผบช.ภ.5 จึงสั่งการ ให้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของตำรวจภูธรภาค 5 (ศปอส.ภ.5) ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล สอบถาม ผู้เสียหายทั้ง 4 ราย สรุปได้ว่าทั้งหมดเป็นผู้เสียหาย จาก Application เงินกู้ออนไลน์ และมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ , สันทราย , แม่ออน และเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา โดยทุกสถานีตำรวจดังกล่าว ได้ดำเนินการรับแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไปตามอำนาจหน้าที่แล้ว ทั้งนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศของตำรวจภูธรภาค 5 ได้รวบรวมข้อมูล จากผู้เสียหาย แยกเป็นบัญชี ธนาคาร ที่ Application เงินกู้ ใช้ในการรับโอนเงินกับผู้เสียหาย

โดยได้ทำการตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน และข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ที่กลุ่มทวงเงินใช้ในการกระทำความผิดทวงหนี้โดยการข่มขู่ เพื่อเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานเพิ่มเติมจัดส่งให้พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจที่รับผิดชอบดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป อนึ่ง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 14.00 น. พล.ต.ท.ประจวบ  วงศ์สุข  ผบช.ภ.5 ได้ประชุมสั่งการให้หัวหน้าสถานีตำรวจ ในสังกัด จำนวน 159 สถานี ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ที่จะคิดกู้ยืมเงินผ่าน Application เงินกู้ออนไลน์ ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าได้หลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และได้กำชับให้พนักงานสอบสวน รับแจ้งความ และให้คำแนะนำแก่ผู้เสียหายในทุกคดี “ห้ามปัด ไม่รับแจ้งเหตุ” โดยในรอบปี พ.ศ.2564 นี้ ทางตำรวจภูธรภาค 5 ได้มีการจับกุมดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายแล้ว จำนวน 12 คดี ผู้ต้องหาจำนวน 15 คน มีการตรวจยึดของกลางเช่น เงินสด รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์ บัญชีรายชื่อลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อไว้เพื่อสืบสวนสอบสวนขยายผล

พิจิตร – สาธารณสุขและฝ่ายปกครองเมืองพิจิตร กวาดต้อนแรงงานก่อสร้าง1,389 ราย จับตรวจหาเชื้อโควิด

โควิดระบาดกรุงเทพและปริมณฑลรัฐบาลสั่งล็อกดาวน์รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยวก็ล้วนหากินยากลำบากส่งผลแรงงานก่อสร้างและชาวพิจิตรที่ไปทำมาหากินต่างถิ่นแห่กลับบ้านนับรวมจาก12อำเภอของพิจิตร1,389ราย ล่าสุดสาธารณสุขจับมือฝ่ายปกครอง ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ระดมกวาดต้อนจับตรวจหาเชื้อโควิดปฏิบัติการเชิงรุก

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ที่โรงพยาบาลพิจิตร นายแพทย์กมล กัญญาประสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร,นายแพทย์สุรชัย แก้วหิรัญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร ,นายแพทย์โสภณ โฆษิตวานิชย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร พร้อมด้วย นายไชยา สมถวิล นายอำเภอเมืองพิจิตร ได้ร่วมกันปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นกลุ่มแรงงานก่อสร้างและผู้ประกอบอาชีพสาขาอื่นที่ไปทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวแต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ไซต์งานก่อสร้างและกิจการร้านอาหารและสถานบันเทิง ส่งผลให้ชาวพิจิตรที่ไปทำงานยังที่ต่างๆ ต่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองพิจิตรกันเป็นจำนวนมาก โดยมีสถิติของฝ่ายปกครองและสาธารณสุขแจ้งจำนวนผู้เข้ามาในพิจิตรเมื่อ 29 มิ.ย. 64  พบว่าจากพื้นที่ 12 อำเภอของพิจิตรมีผู้เดินทางเข้ามา 1,388 ราย และเป็นผู้ที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำนวน 550 คน  กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี  สมุทรปราการ และมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 11 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา นราธิวาส  อีกจำนวน 391 ราย  รวมถึงมาจากพื้นที่ควบคุม 9 จังหวัด 177 ราย  พื้นที่เฝ้าระวัง 53 จังหวัด 271 ราย

โดยในวันนี้ นายไชยา สมถวิล นายอำเภอเมืองพิจิตร ได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและ อสม.เมืองพิจิตร ไปทำการค้นหาตัวและกวาดต้อนชุดแรกจำนวน 41 คน มาทำการ Swap หาเชื้อโควิดและวันพรุ่งนี้ก็จะนำพามาอีก 35 คน เช่นเดียวกับอำเภออื่น ๆ ก็ดำเนินการด้วยวิธีแบบนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายสมชาย (นามสมมุติ) เล่าว่าตนเองเป็นชาวบ้านอยู่  ต.บ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร ไปขี่วินมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่ที่จังหวัดระยองให้บริการคนงานก่อสร้างและผู้ใช้บริการทั่วไป ขณะนี้แคมป์คนงานก่อสร้างสั่งหยุดงานกิจการร้านค้า  ร้านอาหาร ก็ต้องปิดกิจการไปตาม ๆ กัน ทำให้ไม่มีผู้ใช้บริการจึงทำให้ขาดรายได้ ฝืนอยู่ที่ จ.ระยอง บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ รายได้ก็ไม่พอกิน จึงตัดสินใจพาตัวเองและภรรยากลับพิจิตรบ้านเกิด แต่ก่อนที่จะเดินทางมาก็โทรประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านทุกระยะและเมื่อกลับมาก็ปฏิบัติตามนโยบายของทางราชการไม่ได้ไปมั่วสุมกับใคร วันนี้ อสม.-ผู้ใหญ่บ้าน ชี้แจงชักชวนให้มา Swapหาเชื้อโควิดตนเองก็เต็มใจมาทั้งนี้เพื่อจะได้นำผลตรวจไปแสดงให้เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องได้รู้ได้เห็นแล้วจะได้สบายใจ ซึ่งถือว่านโยบายของจังหวัดพิจิตรดูแลชาวพิจิตรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

มุกดาหาร - แถลงข่าวการจัดงานมหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ ณ วัดรอยพระพุทธบาทภู โดยงานมหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ Miracle Mukdahan จะจัดขึ้น 3 แห่ง คือ ลานกิจกรรมแก่งกะเบา, ลานกิจกรรมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว, และวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 18.30 น นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ได้ร่วมแถลงข่าวจัดงานมหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ พร้อมผู้ร่วมแถลงข่าว พระราชรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร นายศศิพงศา จันทรสาขา รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร และนายกสมาคมเครือข่ายมุกดาหาร เมืองสามธรรม นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. นางสาวกนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม และประชาชนชาวมุกดาหารเกือบ 200 คน ทั้งนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม นาฏยนาคีศรีมุกดา การแสดงศิลปวัฒนธรรมรำมวยโบราณ และฟ้อนหางนกยูง เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมที่สวยงามของจังหวัดมุกดาหารอีกด้วย

สำหรับการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเมืองสามธรรม "ย้อนตำนาน พญานาคราชออนซอนกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขงจังหวัดมุกดาหาร" และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว เมืองสามธรรมในวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขงจังหวัดมุกดาหารสู่ความยั่งยืน ก่อให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวที่หลากหลาย สำหรับนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป ที่มีความเชื่อความศรัทธา เรื่องพญานาคในลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 รวมทั้งรุ่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเมือง 3 ธรรม (ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม) ในวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขงจังหวัดมุกดาหารสู่ความยั่งยืนสืบไป


ภาพ/ข่าว  ชุด ฉก.พญาอินทรีย์ / เดวิท โชคชัย จ.มุกดาหาร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top