Monday, 20 May 2024
NEWS FEED

ที่ประชุมครม. อนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 64 โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1 – 3% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูงหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ทำให้ทาง ครม. มีการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1 – 3% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ยังมีหลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น นั้น มีเป้าหมายหลัก เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายปี 64 ได้กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแบบช่วง คือ 1 – 3% ให้เป็นรูปแบบเดียวกับปี 63 เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปอาจมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศ การกีดกันทางการค้า ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะร่วมกัน ติดตามความเคลื่อนไหวเป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2565 - 2568 เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ รองรับสถานการณ์และความเสี่ยง พร้อมลดการขาดดุล มุ่งสู่การทำงบประมาณสมดุลในระยะยาว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 – 2568) รายละเอียด ดังนี้

1.) สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.7-3.7 โดยจะเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9-3.9 ในปี 2567 และร้อยละ 3.2-4.2 ในปี 2568 ตามลำดับ

2.) สถานะและประมาณการการคลัง ประมาณการรายได้สุทธิ ปี 2565 - 2568 จะอยู่ที่ 2,400,000 ล้านบาท 2,490,000 ล้านบาท 2,619,500 ล้านบาทและ 2,750,500 ล้านบาท ตามลำดับ โดยประมาณการรายได้สุทธิดังกล่าวมีสมมติฐานด้านนโยบายภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service)

รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC)

สำหรับประมาณการงบประมาณรายจ่าย ปี 2565-2568 อยู่ที่ 3,100,000 ล้านบาท 3,200,000 ล้านบาท 3,310,00 ล้านบาท และ 3,420,000 ล้านบาท ตามลำดับ ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0 - 3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 - 4 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 700,000 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 710,000 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 690,500 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 669,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นงบประมาณ 2563 จำนวน 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.3 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2565-2568 เท่ากับร้อยละ 57.6, 58.6, 59.0 และ 58.7 ตามลำดับ

3.) เป้าหมายและนโยบายการคลัง เป้าหมายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์และพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ยังกำหนดให้มีการปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด

พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบแนวทาง 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย

(1) Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร ทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้

(2) Reshape คือ การปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น และ

(3) Resilience การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนด้วย

กบง.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจีต่ออีก 3 เดือน ขยายเพิ่มจากมาตรการเดิมทที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 64

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบมาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ขายส่งหน้าโรงกลั่น ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ออกไปอีก 3 เดือน

จากเดิมมาตรการสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 64 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพและภาระค่าครองชีพจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ภาระเกิดขึ้นกับประชาชน ที่ประชุมเลยขยายมาตรการต่ออีก 3 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวเดิมได้ต่ออายุตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.และจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63

ซึ่งการคงราคาครั้งนี้ได้มอบให้ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปดูว่ามีเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแลอย่างไรบ้าง โดยทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางทั้งหมด

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ โควิด-19 ที่ระบาดขึ้นเป็นระลอก 2 โดยระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงทำให้หลายคนวิตกว่าจะย้อนกลับไปเหมือนต้นปีที่ผ่านมาหรือไม่ ไม่ว่าการต้องอยู่ภายใต้พื้นที่จำกัด

เกิดการกักตุนและขึ้นราคาหน้ากากอนามัย กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก บ้านเมืองเงียบเหงามาแทนการฉลองเทศกาลปีใหม่กับครอบครัว ซึ่งดูจะเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่สำหรับปีหน้า

“อยากขอส่งกำลังใจไปถึงทุกคนด้วยความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ระลอกนี้ก็จะผ่านพ้นไปได้ หากเราเผชิญหน้ากับมันอย่างเข้มแข็ง ด้วยสติ และด้วยการถอดบทเรียนจากการอยู่ร่วมกับโควิดตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด สับสน และไม่ชัดเจนของรัฐบาล จนนำไปสู่ความกลัว แน่นอนว่า โควิด-19 ไม่ใช่เชื้อกระจอกหรือไวรัสธรรมดาดังที่รัฐมนตรีบางท่านพูด แต่ไม่ได้หมายความว่าการกลับมาเจอตัวเลขผู้ติดเชื้อจะหมายถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายเสมอไป”

พิธา ยังมองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ควรดูแลการแพร่กระจายเชื้อควบคู่กับการประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องวางเป้าหมายมีผู้ติดเชื้อเป็น 0 ไปตลอด แต่ต้องมีเป้าหมายที่สามารถการรุกตรวจได้เร็วขึ้น พบผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น

ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการได้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อมองศักยภาพต่าง ในระดับชุมชนยังมี อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ช่วยคัดกรอง ส่วนระบบสาธารณสุขในเวลานี้เชื่อมั่นว่ามีความเข้มแข็งและมีศักยภาพเพียงพอในการรุกตรวจและคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว จึงอยากให้สบายใจมากขึ้นว่า แม้จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น หรือตัวเลขไม่เป็น 0 แต่จะยังสามารถรับมือได้ไปพร้อม ๆ กับการดูแลความสมดุลของภาคเศรษฐกิจ

“จากข้อมูลเมื่อต้นปี เรามีแพทย์และพยาบาลรวมกันเกือบ 190,000 คน จำนวนเตียงรองรับทั้งประเทศ 7,000 กว่าเตียง และเรายังไม่มีเงินกู้จาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนแผนงานด้านสาธารณสุขที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายแม้แต่บาทเดียวในตอนนั้น แต่ตอนนี้เปลี่ยนไป เรามีศักยภาพเพียงพอที่จะรับมือสถานการณ์ได้ แต่อาจต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในบางพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เช่นในจังหวัดสมุทรสาคร”

พิธา ยังย้ำว่า "มาตราการดูแลโควิดที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดพิษเศรษฐกิจที่ได้ทำร้ายหลายล้านคนตั้งแต่เมื่อต้นปี หลายครอบครัวยังไม่สามารถกลับมาฟิ้นคืนสู่สภาพเดิมได้ รัฐบาลจึงต้องระวังอย่างยิ่ง และต้องตระหนักว่าพิษเศรษฐกิจที่เกิดจากการล็อคดาวน์ ถ้าหนักหนาและเข้มงวดเกินไป จะเป็นภัยร้ายแรงกว่าโควิด-19"

"นอกจากนี้ ควรต้องสื่อสารให้สังคมไทยเปลี่ยนมุมมองต่อแรงงานข้ามชาติ โดยมองว่าเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้อีกแล้ว แต่นโยบายรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา กลับไม่มีการปรับตัวอะไร ทั้งยังทำให้การนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้องและควบคุมได้มีต้นทุนที่สูงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ผลักให้ต้องไปนำเข้าแรงงานข้ามชาติด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย

นี้ยังไม่นับรวมขบวนการหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งนี้ จึงควรใช้เป็นโอกาสในการปฏิรูปการจัดการแรงงานข้ามชาติใหม่ มีนโยบายที่เอื้อต่อการเข้ามาอย่างถูกต้อง ตรวจเชื้อ กักตัวและติดตามตัวได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมกับนายจ้าง ต้องทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบและเสียภาษีอย่างถูกต้อง"

"อีกเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไทยไม่ควรละเลยคือ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติหลายล้านคนโดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานมายาวนาน ต้องอยู่ในที่แออัดและเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดของไวรัสในครั้งนี้

ซึ่งในเรื่องนี้แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่นั่งใน ศบค.ก็เคยเตือนไว้ รวมถึงพรรคก้าวไกลก็เคยแสดงความกังวลเรื่องนี้มาตลอด เพราะข้อมูลจากการลงพื้นที่ทำให้รู้ว่า การติดเชื้อเพียงเคสเดียวในสถานที่แบบนี้ก็สามารถลุกลามได้กว้าง ดังที่มีบทเรียนให้เห็นจากเวียดนามและสิงคโปร์ โดยพรรคก้าวไกลได้เตือนเรื่องนี้พร้อมข้อเสนอมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 เดือน แต่ปรากฏว่าการขยับเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพเสี่ยงนี้จากภาครัฐกลับยังไม่มีการขยับมากเท่าที่ควร"

"เรื่องสุดท้ายที่หลายคนเป็นกังวลกันคือมาตรการล็อคดาวน์ ว่าจะเกิดการล็อคดาวน์ขึ้นทั่วประเทศหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลควรให้ความชัดเจนโดยเร็ว โดยมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าการล็อคดาวน์นั้นจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ไหน ผมคิดว่าการล็อคดาวน์ทำได้ในลักษณะจำกัดวงหรือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และควรมาพร้อมกับการเยียวยาที่ชัดเจน

จะต้องไม่มีคำถามว่าทำไมไม่ได้ห้าพันอีก เพราะการล็อคดาวน์ทำร้ายเศรษฐกิจปากท้องมากมายเหลือเกิน และกิจกรรมช่วงปีใหม่ควรจะสามารถทำได้หากมีการประเมินถึงความเสี่ยงน้อย มีมาตรการคัดกรองและ Social Distancing ที่ชัดเจน"

"ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราในฐานะประชาชนจะนิ่งนอนใจ อย่าลืมการป้องกันตัวเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยและการรักษาระยะห่างอย่างเข้มงวด ล้างมือด้วยสบู่และหมั่นใช้เจลแอลกอฮอล์ เมื่อพบอาการเสี่ยงติดเชื้อต้องรีบไปพบแพทย์และไม่ปิดบังข้อมูล ทั้งหมดนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านและบุคคลที่ท่านรัก เราจะผ่านเรื่องนี้กันไปได้ครับ" หัวหน้าพรรคก้าวไกลทิ้งท้าย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เห็นชอบให้มีการเวิกฟอร์มโฮมในส่วนของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ช่วงประมาณวันที่ 24 - 27 ธ.ค.

โดยที่ทำเนียบรัฐบาล วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ว่าในอีก 2 - 4 ข้างหน้าจะมีสภาพอากาศกดทับทำให้มีฝุ่นพิษเกิดขึ้นอีกว่า เรื่องนี้มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เห็นชอบให้มีการเวิกฟอร์มโฮมในส่วนของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ช่วงประมาณวันที่ 24 - 27 ธ.ค.

ทั้งนี้จำนวนวันให้ยึดข้อมูลการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหลัก ส่วนมาตรการอื่นเช่น การปิดโรงเรียน ต้องหารือก่อนเนื่องจากจะให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ตนได้ให้ศูนย์บริหารมลพิษทำโพลกับประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่หากจะมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น ปิดโรงเรียน ลดปริมาณรถยนต์ แล้วจึงมาพิจารณาว่ามาตรการดังกล่าวนั้นจะสามารถลดปริมาณPM 2.5 ในสภาพอากาศกดทับได้มากเพียงใด ถ้ายังไม่พอก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปอีก

แต่ขอย้ำว่ารัฐบาลมีแนวทางในการลดPM 2.5 โดยนายกฯให้ความสำคัญเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ไม่อยากให้มีผลกระทบกับชีวิตของประชาชนมากเกินไป

เวทีมวยราชดำเนินออกมาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 ด้วยการหยุดทำการแข่งขันไม่มีกำหนด

สืบเนื่องจากคู่สามีภรรยาสัญชาติไทย อายุ 39 ปี และ 37 ปี อาชีพค้าขาย ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ถูกตรวจพบติดโควิด-19 ทั้งคู่ได้เดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ในจังหวัดนนทบุรี รวมถึงค่ายมวยจิตรเมืองนนท์

เพื่อความปลอดภัย และเพื่อภาพลักษณ์ของวงการหมัดมวยไทย ที่จะไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำอีกครั้ง ล่าสุด สนามมวยเวทีมวยราชดำเนิน ได้ออกแถลงการณ์ผ่านหน้าเพจ ประกาศยกเลิกการจัดมวยทุกรายการตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

"จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดอีกครั้ง สนามมวยเวทีราชดำเนิน ได้ประชุมกับทีมงานจิตรเมืองนนท์และทีมงานของสนามมวยสยามอ้อมน้อยแล้ว สรุปได้ว่าเพื่อความปลอดภัยของคนในวงการมวยรวมถึงภาพลักษณ์ของวงการมวยไทย สนามมวยเวทีราชดำเนิน จึงขอประกาศยกเลิกการจัดมวยทุกรายการตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกลับมาคลี่คลาย อนึ่งสนามมวยราชดำเนิน จะกลับมาจัดมวยได้อีกเมื่อไหร่นั่น ขอให้แฟน ๆ ติดตามความคืบหน้าต่อไป"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยให้รอฟังแถลงการณ์สถานการณ์โควิดเย็นนี้ พร้อมย้ำขอให้เชื่อมั่น ทุกอย่างยังควบคุมได้

ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี(ครม. )บางส่วนได้หารือกันนอกรอบที่ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรีโดยใช้เวลาเกือบ 10 นาที โดยไม่มีการแถลงข่าวเหมือนทุกครั้ง

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ให้ฟังผลประชุมครม.จากคณะโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรอฟังเย็นนี้จะมีแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์โควิด ขอให้เชื่อมั่นว่าเรายังคอนโทรลได้อยู่ และ เมื่อวานก็ได้บอกไปแล้ว ว่า 7 - 10 วัน ดูระยะความปลอดภัย" จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปทันทีเพื่อบันทึกเทปแถลงการณ์สถานการณ์โควิดที่จะออกในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตามในเวลา 15.00 น. นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเป็นประธานเปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่าเรือแคท ทาวน์เวอร์ กสท. และเปิดโครงการนำร่องท่าเรืออัจฉริยะ (SmartPier) และในเวลา 16.00 น. นายกฯ จะเยี่ยมชมโครงการนำร่องในการพัฒนา ท่าเรืออัจฉริยะ(Smart Pier) ที่ท่าเทียบเรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า

รัฐมนตรีว่าการกระทราวงอุตสาหกรรม ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ยืนยัน อาหารทะเลไม่ใช่แหล่งแพร่โควิด-19 พร้อมเผย รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่น กุ้ง-อาหารทะเลกินได้ หวั่นกระทบส่งออก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทราวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีถึงข้อกังวลของภาคอุตสาหกรรมจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครว่า ขณะมีข่าวว่าตัวของอาหารทะเล เช่น กุ้ง และอาหารอื่น ๆ จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคหรือไม่นั้น ขอยืนยันในข้อเท็จจริงว่า อาหารทะเลไม่ใช่ตัวแพร่เชื้อ แต่ตัวที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อนั่นคือบรรจุภัณฑ์

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำข้อมูลชี้แจงคณะรัฐมนตรีแล้วว่า อาหารทะเลทั้งหลายไม่ทำให้เกิดโรคระบาด เวลานี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น หากสามารถชี้แจงได้ และประชาชนมีความเชื่อมั่นด้วยก็จะไม่กระทบต่อการส่งออกด้วย

ด้านนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมครม.ให้กระทรวงสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้อง เร่งสร้างความเชื่อมั่นเรื่องการบริโภคกุ้งว่าสามารถรับประทานได้ โดยเวลานี้ผู้เลี้ยงกุ้งกลุ่มได้รับผลกระทบ เช่น ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อ และส่งผลต่อเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งจำนวนมาก

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (22 ธันวาคม พ.ศ.2563)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 427 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 5,716 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 25 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,078 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,578 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 382 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จาก สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย , บาห์เรน 1 ราย , ปากีสถาน 4 ราย , ซูดาน 2 ราย , เยอรมนี 1 ราย ,ฝรั่งเศส 1 ราย , คูเวต 1 ราย และ สหรัฐอเมริกา 3 ราย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน จำนวน 16 ราย จาก จ.สระบุรี 3 ราย ฉะเชิงเทรา 1 รายกทม. 5 ราย ปทุมธานี 2 ราย เพชรบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 2 ราย อุตรติตถ์ 1 ราย และ นครปฐม 1 ราย และผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุกในชุมชน) จำนวน 397 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 363 ราย รักษาหายแล้ว 347 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 6.72 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.47 แสน เสียชีวิต 20,085 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 37 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 95,327 ราย รักษาหายแล้ว 78,393 ราย เสียชีวิต 438 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.17 แสน ราย รักษาหายแล้ว 96,685 ราย เสียชีวิต 2,465 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.62 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.29 แสน ราย เสียชีวิต 8,957ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,432 ราย รักษาหายแล้ว 58,287 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,414 ราย รักษาหายแล้ว1,269 ราย เสียชีวิต 35 ราย

เจ้าประคุณ สมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล ถึงแก่การมรณภาพแล้วที่ โรงพยาบาลกรุงเทพ สิริอายุ 100 ปี 11 เดือน 15 วัน 80 พรรษา

เจ้าประคุณ สมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล/ประธานกรรมการคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศแคนาดา ได้ถึงแก่การมรณภาพ ในวันอังคารที่ 22 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 07.32 น. สิริอายุ 100 ปี 11 เดือน 15 วัน 80 พรรษา

วัดธรรมมงคลและคณะแพทย์ผู้ดูแลรักษา จึงขอประกาศแจ้งข่าวการมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ให้ได้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ กำหนดการอื่น ๆ ทางวัดจักแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

ในประกาศของวัดธรรมมงคล ระบุว่า หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ได้เข้ารักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลกรุงเทพมาตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.63 โดยคณะแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างเต็มที่ ควบคู่กับการกายภาพบำบัดทำให้อาการดีขึ้นสลับคงที่เรื่อยมา แต่เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ธ.ค.63 อาการหลวงพ่อกลับทรุดลง และมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 22 เดือนธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 07.32 น. สิริอายุ 100 ปี 11 เดือน 15 วัน 80 พรรษา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top