Tuesday, 13 May 2025
POLITICS

'พีระพันธุ์' ชี้ ม็อบปฏิรูปผิดอาญาร้ายแรง จี้ ผู้รักษากฎหมายตามเช็กบิลกองหนุน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยระบุว่า จบแล้วแต่ยังไม่จบ!!!

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จับใจความได้ว่าการพูดถึงสถาบันหลักของชาติที่ปวงชนชาวไทยถวายความเคารพสักการะด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 มีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เป็นการเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม เป็นการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อีกทั้งเป็นการเซาะกร่อนเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่คู่กันกับชาติไทยเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทย ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

เป็นคำวินิจฉัยที่บอกว่าสิ่งที่กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องพยายามตะโกนอธิบายว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการกระทำผิดกฎหมายและผิดรัฐธรรมนูญ ที่มิใช่เป็นเพียงแค่อาชญากรรมตามกฎหมายอาญาธรรมดา ๆ หากแต่เป็นการบ่อนทำลายชาติและสถาบันหลักของชาติที่จะต้องดำรงอยู่คู่กันกับชาติเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยตลอดไปให้ต้องสิ้นสลาย อันเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรงยิ่ง 

เป็นการตอกย้ำว่าเมื่อไหร่ที่คนพวกนี้ต้องติดคุก พวกเขาคือ “นักโทษผู้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง” ไม่ใช่ “นักโทษทางความคิด”

มันจบแล้ว...

จากนี้ไปการชุมนุมในลักษณะนี้รวมทั้งท่อน้ำเลี้ยงและอีแอบ ผู้เป็น “ชนกลุ่มน้อย” คือผู้ทำลายล้างรัฐธรรมนูญ คือผู้ทำลายล้างสถาบัน คือผู้ทำลายล้างชาติ คือผู้กระทำผิดอาญาร้ายแรง ไม่ใช่ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ข้อคลางแคลงสงสัยของผู้รักษากฎหมายจนทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นแบบที่ผ่านมาก็จบลงด้วย

'ราเมศ' เลขาประธานรัฐสภาแจง 'ปารีณา' ฟังให้ได้ศัพท์ ก่อนจับไปกระเดียด

นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิง"นายชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภาเรื่องการดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญของ ส.ส.ที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ว่า

หลักการกรณีของนางสาวปารีณา เป็นไปตามคำสั่งศาลที่ได้สั่งในทางคดี เป็นคดีที่ถูกฟ้องต่อศาลฎีกา เรื่อง ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ว่าด้วยเรื่องจริยธรรม และศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องของ ป.ป.ช. ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ เมื่อศาลมีความเห็นเช่นนั้น นางสาวปรีณาก็ต้องปฏิบัติตาม ในฐานะเป็นคู่ความในคดีตามหลักกฎหมาย

ส่วนที่กล่าวพาดพิงนายชวน หลีกภัย ว่าเคยปกป้องคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีนั่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น คุณปารีณาควรฟังให้ครบ ฟังให้ได้ศัพท์ก่อนจับไปกระเดียด กรณีของคุณธนาธรมีผู้สื่อข่าวถามประธานสภาผู้แทนราษฏร ว่าบุคคลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่ไปเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนคนนอกได้หรือไม่ นายชวนตอบว่า ต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก บทบาทการเป็น ส.ส.ทำไม่ได้ แต่บทบาทของกรรมาธิการ วิสามัญ ภายในกรอบว่าถ้าอะไรที่เกี่ยวกับบทบาทของความเป็นผู้แทนก็ทำไม่ได้ และขณะนั้นยังย้ำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวินิจฉัย ประธานสภาผู้แทนราษฏรไม่ใช่ผู้แต่งตั้งกรรมาธิการ สภาเป็นคนตั้งประธานสภาฯไม่มีอำนาจวินิจฉัย 

เรื่องนี้มีหลักการอยู่ชัดเจน ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราไหนให้ประธานสภาวินิจฉัยความชอบของคนที่มาดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญ เป็นเรื่องของสภาที่แต่งตั้ง องค์กรที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็ว่ากันไปตามกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล 

‘อาคม มกรานนท์’ ย้ำคำวินิจฉัยศาลรธน. ลั่น! ถึงเวลาปราบ ‘อีแอบ’ ขั้นเด็ดขาด

นายอาคม มกรานนท์ อดีตพิธีรายการโทรทัศน์ชื่อดัง และอดีตผู้ประกาศข่าว ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Akhom Makaranond" โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

"สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าการพูด เขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่าหรืออ่อนแอลง ย่อมมีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์" (ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลฯ)

บ่ายนี้ คงต้องใช้เวลาคุยกับพี่น้องถึงเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกันอีกครั้ง และยิ่งมาได้ยิน ดร.ณัฐพรฯ เอ่ยชื่อออกมาชัดถ้อยชัดคำว่า ใคร? จะโดนคดี เช่น อีซิ้มหลังม็อบ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย นาทอน ไอ้บูด ฯลฯ พร้อมทั้งยืนยันเรื่องเงินจำนวนมากพอสมควร ที่ถูกโอนมาเพื่อจ่ายค่าเคลื่อนไหวอยู่ในบัญชีของใคร? (ตรวจสอบได้ไหม? อายัติได้ไหม?)

ศาลฯ ท่านยังบอกในคำวินิจฉัยอีกว่า "พระมหากษัตริย์ไทย จะดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป" ได้ยินแล้วขนลุก

ขอบอกไปยังรัฐบาลว่า "หากแจ้งจับคนทำผิดกลุ่มนี้ช้าเกินกาล ละก็ "มันหนีแน่" เพราะโทษสูงมาก อนาคตหมดสิ้น จากการกระทำของพวกมันเอง"

นี่ไม่ใช่มาพูดกันเล่น ๆ นะ ในเมื่อการชุมนุมเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ก็แสดงว่าการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย พวก สส. ที่ไปร่วมกับม็อบ สนับสนุนม็อบ และประกันตัวม็อบ อาจจะโดนยื่นคำร้องให้ถูกถอดถอนจาก สส. และอาจจะลามเลยไปถึงขั้นยุบพรรค ถ้างั้นพรรคไหน? ที่ก้าวไถลลึก อาจจะเจอก็ได้ 

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ขอบอกถึง "ภัยร้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในมหาวิทยาลัย" ให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ทราบไว้ ส่วนจะทำประการใดเป็นเรื่องของท่าน ฟังให้ดีนะ

‘อ.ไชยันต์’ ติงสื่อตัดตอนคำวินิจฉัยศาลรธน. ชี้!! อาจทำให้คนรับ เข้าใจคลาดเคลื่อน

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เตือนนักข่าวสื่อออนไลน์ค่ายดังโควตคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญสั้น ๆ ชี้การสื่อสารโดยยกข้อความสั้นที่ตัดออกจากบริบทอาจทำให้คนรับเข้าใจคลาดเคลื่อน

วันนี้ 11 พ.ย. 64 จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ให้การกระทำของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จัดชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง พร้อมสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวทันที หลังนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องเมื่อ 18 ส.ค. 63 เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัย

โดยศาลเห็นว่าการปราศรัยของบุคคลทั้งสาม มีเจตนาเพื่อทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ นำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย และใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดม ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในสังคม

ล่าสุดเฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความกรณีที่ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ข่าวออนไลน์สำนักหนึ่ง (เวิร์คพอยต์ทูเดย์) โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ระบุว่า "เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนี้ อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด" และอ้างว่าเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นายกฯ-รัฐบาล ประกาศจุดยืน ย้ำชัด ไม่สนับสนุนแก้ ม.112 เด็ดขาด

โฆษกรัฐบาลย้ำ "นายกฯ และรัฐบาล" ประกาศจุดยืน ยืนยันไม่สนับสนุนแก้ไขมาตรา 112 โดยเด็ดขาด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสเรียกร้องจากบุคคลบางกลุ่มเสนอให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงคณะรัฐบาล ได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนและแน่วแน่หลายครั้ง ไม่สนับสนุนการแก้ไขและการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยืนยันรัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดหลักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของชาติไทย และไม่ควรนำมาเป็นประเด็นในการแบ่งข้างให้เกิดความแตกแยกในสังคม และยังถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนในการปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเสาหลักและศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ

'ไพศาล' ชี้ ผลพวงคำตัดสินศาลรธน. อาจมี 2 พรรคถูกยุบ 8-9 นักการเมืองถูกเชือด

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า สิ้นสายฝน ลมหนาวจะปรากฏ เหล่ากบฏจะถูกปราบราบคาบสิ้น!!!!

1.) เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำปราศรัยและการกระทำหลายประการของผู้ถูกร้องและพวก ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลจึงมีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญให้เลิกการกระทำนั้น คำวินิจฉัยนี้ผูกพันทุกองค์กร

2.) ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นครบเป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญาว่าด้วยการกบฏ มีโทษประหารชีวิต!!! ผู้กระทำการทั้งหมดจึงอาจถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหากบฏต่อไป ซึ่งตำรวจท้องที่หรือตำรวจกองปราบมีหน้าที่ต้องดำเนินคดีในฐานความผิดนี้ คาดว่ากองปราบจะเป็นผู้ดำเนินคดีนี้เพราะเกี่ยวพันกับผู้ร่วมทำความผิดในหลายท้องที่ ซึ่งกองปราบมีเขตอำนาจทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้กระทำความผิดคนอื่น ๆ แม้ไม่ได้ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย!!!

'เสกสกล' ซัด 'อดีตนายใหญ่' เป็นตัวพ่อ แบ่งแยกปชช.ภาคอีสาน สร้างความเหลื่อมล้ำ

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นประเด็น ม.112 ว่า นายทักษิณเจตนาบิดเบือน ตีกิน หวังหาเสียงจากประเด็นดังกล่าว พูดจากลับกลอก ไปมา  เพิ่งจะบอกว่าตัวกฎหมายมาตรา 112 ไม่เป็นปัญหา แต่พอถูกกองเชียร์โจมตีว่าสู้ไปกราบไปก็ออกมาบอกกฎหมายมีปัญหาตรงโทษจำคุกหนักไป ต้องรีบแก้ไข พฤติกรรมแบบนี้ ชัดเจนว่าเป็นคนไร้หลักการ เอาแต่หลักกู
 
นายเสกสกล กล่าวว่า ขอให้สำเหนียกว่า ถ้าคิดจะข่มขู่คุกคามใคร หวังจะได้กลับบ้านแบบไม่ต้องเข้าคุก ไม่ต้องรับโทษคดีโกงที่ตนเองกระทำไว้ ความมั่นคงของประเทศชาติและสถาบันหลักของชาติ ไม่ได้มีไว้ต่อรอง ไม่ได้มีไว้ให้คนเนรคุณแผ่นดินนำมาแบ่งแยก แบ่งข้างประชาชน นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนการแก้ไข มาตรา 112 โดยเด็ดขาด สถาบันไม่ควรถูกล่วงละเมิด ใครที่ไปก้าวล่วง ทำเพื่อผลประโยชน์ของใคร หยุดนำเรื่องนี้มาปั่นกระแสสร้างความขัดแย้งในสังคม ควรให้คนในชาติได้ร่วมกันเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจปากท้อง ไม่ใช่จ้องมาทำลายยุแหย่ให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติตลอดเวลา 

 

 

'พิธา' ชี้!! ไม่มีทางสร้างชาติที่มั่นคงได้ หากยังพยายามทำลายอนาคตของชาติ หลังศาลรธน. ตัดสิน 3 แกนนำม็อบราษฎรมีความผิดจริง และสั่งยุติการกระทำ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความ หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ชี้ว่า 3 แกนนำม็อบราษฎร ล้มล้างการปกครอง และสั่งห้ามเครือข่ายให้เลิกกระทำอีก  ว่า... 

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะขีดเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงและคับแคบให้แก่สังคมไทย

ในขณะที่การประชุม Universal Periodic Review หรือ UPR ของสหประชาชาติเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ หลายประเทศตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงถึงท่าทีของประเทศไทยต่อเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยตัวแทนของประเทศไทยพยายามแก้ต่างกับนานาชาติว่าเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่คนไทยสามารถถกเถียงและแก้ไขกฎหมายได้ผ่านกลไกรัฐสภา 

ตัดภาพกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญในเวลาไล่เลี่ยกัน ศาลได้วินิจฉัยให้การกระทำรวมถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเพื่อขอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง ซึ่งคำวินิจฉัยที่น่ากังขานี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ตัวแทนประเทศไทยได้ชี้แจงกับนานาประเทศ

“รองโฆษกรัฐบาล” แจง รัฐบาลแก้ปัญหาปุ๋ยครบวงจร ผลักดัน”ปุ๋ยสั่งตัด-อินทรีย์-ชีวภาพ” ลดต้นทุน

ที่ทำเนียบรัฐบาล รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงปัญหาปุ๋ยราคาสูง ว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น โดยแก้ปัญหาเร่งด่วนและแผนระยะยาว โดยตั้งแต่เดือนก.คที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโครงการ พาณิชย์ลดราคา ปุ๋ยช่วยเกษตรกร” มีปุ๋ยเคมีเข้าร่วมโครงการ 84 สูตร รวม4.5 ล้านกระสอบ มีการสั่งซื้อจากสถาบันเกษตรกรกว่า 2.2 ล้านกระสอบ สำหรับแผนระยะยาว คือ ส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) เป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีได้มากและทำให้ต้นพืชแข็งแรง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน”เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือปุ๋ยสั่งตัด โดยรัฐสนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย และเครื่องผสมปุ๋ย ผ่านกลไกการดำเนินงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน(ศดปช.)ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่ 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯแสนกว่าราย คิดเป็นพื้นที่รวม 1.3 ล้านไร่ ใช้ปุ๋ยสั่งตัดจำนวน 6 แสนไร่ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงร้อยละ 45 ลดต้นได้ร้อยละ 37 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท และกรมฯกำลังเสนอขอดำเนินงานโครงการฯ  ระยะที่ 2 มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว  จำนวน 299 ศูนย์ ใน 58 จังหวัด  เกษตรกร 5.2 หมื่นราย ครอบคลุมพื้นที่ 2.5 แสนไร่  

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนั้นได้กำหนดแผนบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565 - 2569 การดำเนินงานจะครอบคลุมการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยให้ถูกชนิดและถูกวิธี การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน การผสมปุ๋ยใช้เองให้ได้คุณภาพ เป็นต้น ตั้งเป้าปี 2565 ให้ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยฯ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตปุ๋ยสั่งตัด 1.88 แสนตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 2.25 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 1.02 ล้านตัน และยอดรวมของแผน 5 ปี (2565-2569) จะผลิตปุ๋ยสั่งตัด 2.42 ล้านตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 16.32 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 14.19 ล้านตัน จำนวนเกษตรกร 3.6 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 44.01 ล้านไร่  ซึ่งผลลัพธ์คือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้มาก อีกทั้งลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ส่วนระยะยาวช่วยเพิ่มจำนวนเกษตรกรทีทำการเพาะปลูกในรูปแบบ “เกษตรปลอดภัย” ตามมาตฐานสากล GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ 

ศาลรธน. ชี้ รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ล้มล้างการปกครอง ยัน!! ให้เลิกการกระทำในอนาคต

ศาลรธน. อ่านคำวินิจฉัย การชุมนุมปราศรัย ‘รุ้ง-ไมค์-อานนท์’ กระทำเป็นขบวนการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม รธน.มาตรา 49

10 พ.ย. 64 เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย คำร้องขอให้ศาลรธน. วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์), น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง), นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และน.ส.อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

"แรมโบ้" ซัด "ปิยบุตร" โพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบคณะราษฎรหรือไม่ พร้อมแนะทำผิดต้องกล้ารับผิด หากรับกฎหมายไทยไม่ได้ ก็อย่าอยู่บนผืนแผ่นดินไทยเลยดีกว่า

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซ บุ๊กให้จับตาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบคณะราษฎร จะปิดประตูปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ พร้อมยกวลี ปากกาอยู่ที่มัน-ประธานศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา เขียนคำพิพากษาจนพาประเทศสหรัฐไปสู่สงครามกลางเมือง 

โดยนายเสกสกลระบุว่าการออกมาโพสต์ของนายปิยบุตรเช่นนี้ เข้าข่ายการข่มขู่การพิจารณาของศาล และยิ่งเป็นการยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องท้าทายอำนาจตุลาการ ที่คนไทยส่วนให้ยอมรับกติกาอยู่ภายใต้กฎหมาย

นายเสกสกลยังไม่แปลกที่นายปิยบุตร ร้อนรนรีบออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมานายปิยบุตร ก็มักจะออกมาพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบันไม่หยุด และถูกมองอยู่เบื้องหลัง เป็นอีแอบการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎร ม็อบสามกีบ เพราะหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของเยาวชนกลุ่มนี้ ในการคิดล้างสถาบัน ซึ่งไม่มีวันที่คนไทยส่วนใหญ่ที่จงรักภักดีจะยอมนายปิยะบุตรทำลายสถาบันอย่างเด็ดขาด พวกตนและประชาชนส่วนใหญ่จะปกป้องสถาบันด้วยชีวิต และนายกฯและรัฐบาลจะไม่ยินยอมให้แก้ไขม.112 และล้มล้างสถาบันอย่างแน่นอน

'อ.ไชยันต์' ตามชำแหละวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล'  อ้างอิงนสพ.ฉบับ 10 พ.ย. 2490 ที่ก่อตั้งปี 2500

'อ.ไชยันต์' ตามชำแหละวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล ใจจริง' ประเด็น 'ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน' อ้างอิงนสพ.เอกราชวันที่ 10 พ.ย. 2490 แต่นสพ.เอกราชก่อตั้ง 24 มิ.ย. 2500

10 พ.ย. 64 - ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้ 

“ทุ่นดำ-ทุ่นแดง”

กรณีการกล่าวว่า "ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน" ของ ณัฐพล ใจจริง

ประเด็นสำคัญอีกประเด็น คือ “ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน” ซึ่ง ณัฐพล กล่าวว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า 'ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว' ทั้งนี้ พล.ท.กาจ กาจสงคราม ให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร”

โดย ณัฐพล อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พวกเราต้องการบอกทุกท่านเป็นอย่างแรกคือ จะเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือพิมพ์เอกราชจะลงข่าวในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ?

เนื่องจากว่า “หนังสือพิมพ์เอกราชถือกำเนิดขึ้นโดยโรงพิมพ์เอกราชได้ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2500” !

กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งปี พ.ศ. 2500 จะนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปลงข่าว 10 ปีที่แล้วก่อนการก่อตั้งได้อย่างไร!?

(ดูประวัติการก่อตั้งจาก พัชราภรณ์ ครุฑเมือง, การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เอกราช ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ ภาควิชาสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)

มิหนำซ้ำ เรายังรู้สึกแปลกใจที่ ณัฐพล ใช้ปี ค.ศ. 1947 ในการระบุปี ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เขากลับใช้ พ.ศ. ทั้งหมด

ดังนั้น การอ้างถึง “หนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947” ของ ณัฐพลจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีที่มาจากไหนกันแน่?

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่เคยปรากฏหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นในบรรณพิภพในเวลานั้น

ประกอบทั้งการใช้ปี ค.ศ. ที่ไม่ปรากฏความต่อเนื่องสม่ำเสมอ (consistency) กับการเขียนวิทยานิพนธ์ในส่วนอื่น ๆ ของณัฐพล

เราจึงสงสัยว่าณัฐพลเอาข้อมูลในส่วนนี้มาจากไหนกันแน่ ?

หรือถ้ามีจริงทำไมเขาไม่อ้างจากหลักฐานชั้นต้นเช่นในจุดอื่น ๆ ?

นอกจากนี้ ก่อนการรัฐประหาร 2490 บรรยากาศขณะนั้นก็เป็นที่รับรู้ทั่วไป ดังปรากฏข่าวลือว่าจะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแน่ ๆ ไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง

“รองโฆษกปชป.”ขอฟาด “โอ๊ค”โหนน้ำทะเลหนุนท่วมกรุง หากระแสไม่ให้ “พ่อแม้ว-บริวาร”จางหาย  หวังได้กลับบ้านแบบเท่ๆ เย้ยทำสถิติวางมือไม่รู้กี่ครั้งแต่เดินหน้าสืบทอดอำนาจ แนะ ”ทักษิณ”ก่อนบอกคนอื่นให้ปล่อยวาง

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความถึงปัญหาน้ำทะเลหนุนท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ พร้อมแนะนำให้รัฐบาลวางมือหรือยุบสภา เพื่อให้ประชาชนเลือกคนดีและคนเก่งที่มีความสามารถมาทำงานแทน ว่าถือเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่า นายทักษิณและบริวาร ออกอาการดิ้นรนและทุรนทุรายเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะได้กลับบ้านแบบเท่ๆ โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้กระทำการทุจริตและบิดเบือนหลักการประชาธิปไตย ซึ่งล่าสุด การที่นายพานทองแท้ ออกมาโหนเรื่องน้ำทะเลหนุนทำให้ปริมาณในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำและบริเวณใกล้เคียง โดยเรียกร้องให้บุคคลในรัฐบาลลาออกหรือยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อที่จะได้เลือกคนเก่งๆ คนดีๆ คนที่มีความรู้เข้ามาแก้ไขปัญหานั้น ถือได้ว่า นายพานทองแท้ และ นายทักษิณ ได้เผยความในใจออกมาชนิดที่เรียกได้ว่า 'อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่' 

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า การที่บอกให้คนอื่นปล่อยวางจากอำนาจ แต่ตัวเองกลับทำสถิติวางมือไม่รู้กี่สิบครั้ง และยังเดินหน้า 'สืบทอดอำนาจ' โดยผลักดัน น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ เข้ามาควบคุมดูแลภายในพรรคเพื่อไทย และยังพยายามปล่อยชื่อเครือญาติและคนใกล้ชิดของตัวเอง เพื่อหยั่งกระแสสาวกว่า ใครควรที่จะเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ให้ความสำคัญหรือผลักดันให้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริงคือ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์และศักยภาพถึงการเป็นผู้นำพรรคที่จะไปเป็นผู้นำประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งตนเห็นว่า ก่อนจะแนะนำคนอื่น นายพานทองแท้ ควรจะแนะนำให้นายทักษิณ และบรรดาเครือข่ายที่หลบหนี ให้ปล่อยวางและวางมือเสียก่อน โดยการกลับมายอมรับโทษตามกฎหมาย เพราะจะได้เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า นายทักษิณและเครือข่าย เป็นผู้รักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่หมกหมุ่นเล่นละครหรือหาวิธีที่จะหาทางได้อำนาจรัฐ เพื่อสนองความต้องการของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น  

 

'หมอวรงค์' จับตาคดีชี้ชะตา 3 แกนนำม็อบสามนิ้ว ชี้! จะเป็นบรรทัดฐานล้มล้างการปกครองหรือไม่

'หมอวรงค์' ฟันธง คดีนี้ใหญ่มาก! จับตาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นบรรทัดฐานว่าการที่ม็อบเรียกร้องเรื่อง ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จะเข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

10 พ.ย. 64 - นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ระบุว่า #คดีนี้ใหญ่มาก

การที่ม็อบราษฎร มีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ซึ่งมีสาระใหญ่ ๆ เช่นยกเลิกมาตรา 112 ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ (ผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้) รวมทั้งข้อเรียกร้องอื่น ๆ รวม 10 ข้อ

ต่อมา อ.ณฐพร โตประยูร ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ตามกระแสข่าว มีหลักฐานการรับเงินจาก NGO ต่างประเทศด้วย ไปยื่นร้องแกนนำม็อบ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า

"บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้"

'ก้าวไกล’ แนะรัฐหนุน ‘แรงงานข้ามชาติ’ เข้าระบบ ชี้!! ยิ่งจับ ยิ่งส่งเสริม ‘ค้ามนุษย์’ เฟื่องฟู

เปิดประเทศสุดลักลั่น สวนความต้องการภาคเศรษฐกิจ ‘สุเทพ’ ชี้ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ยิ่งเน้นจับ ยิ่งส่งเสริมขบวนการ ‘ค้ามนุษย์’ เฟื่องฟู

วันที่ 9 พ.ย. 64 นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนทัศนะต่อสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ว่า เมื่อรัฐบาลต้องการเปิดประเทศ สิ่งที่ตามมาทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความต้องการแรงงานเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติที่ยังจำเป็นอย่างมากในหลายภาคส่วน ไม่ว่าภาคประมง ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างชาติ ซึ่งเกี่ยวพันซ้อนทับกับปัญหาหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากขบวนการค้ามนุษย์ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ซ้ำรอยกรณีคลัสเตอร์แรงงานต่างชาติจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อกลางเดือนธ.ค. ปีก่อน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เริ่มปรากฏสัญญาณหลายอย่างที่ส่อไปในทางนั้น ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ไม่เคยมีการถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเลย

“กรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร เกิดขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 จากคำสั่งปิดเมืองระลอกแรก ทำให้มีความต้องการแรงงานข้ามชาติสูงในภาคการผลิต แต่ภาครัฐก็ยังดำเนินนโยบายปิดชายแดนอย่างเข้มงวด ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์จริงเพื่อทำให้การเข้ามาของแรงงานต่างชาติเป็นไปอย่างถูกกฎหมายภายใต้มาตรการสาธารณสุข ทั้งที่เรื่องนี้สามารถทำได้ ผลที่ตามมาคือ เกิดขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจสีเทาที่จะเกิดไม่ได้เลย หากไม่มีความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตกินสินบาทคาดสินบน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่าเจ้าหน้าที่ส่วนไหนมีหน้าที่ในการดูแลชายแดน แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเกิดการทะลักเข้ามาของแรงงานเถื่อนได้มหาศาล สุดท้ายจึงเกิดเป็นคลัสเตอร์จังหวัดสมุทรสาครขึ้น นำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับไม่สามารถหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในความบกพร่องเหล่านี้มารับผิดได้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมาก”

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่มีการถอดบทเรียนจนมาถึงการเปิดเมืองในครั้งนี้ จึงยังเห็นนโยบายที่เน้นการปิดชายแดนอย่างเข้มงวดหรือทำให้เป็นเรื่องยากแบบเดิม และสวนทางกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจเหมือนเดิม ช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นสัญญาณการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งในส่วนที่จับกุมได้ เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี วันเดียว 260 คน พบว่ามีการจ่ายกันถึงรายละ 18,000 - 23,000 บาทต่อคน ขณะเดียวกัน ส่วนที่จับกุมไม่ได้ก็มี ดังกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำและถูกเอาไปทิ้งไว้ข้างทางกว่า 20 คน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 3 คน ในจำนวนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ด้วย   

“สัญญาณเหล่านี้ชัดมากว่ากำลังมีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานระลอกใหญ่ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น หากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีวิสัยทัศน์ในการมองแรงงานเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส หันมาส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการและการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อจูงใจให้แรงงานต้องการอยู่ในระบบ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ทั้งแรงงานในประเทศหรือแรงงานข้ามชาติล้วนเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกัน หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาก็จะวนลูปกลับไปเหมือนกรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร”  

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาจากความต้องการของภาคเศรษฐกิจขณะนี้ คาดว่า ไทยยังมีความต้องการแรงงานต่างชาติไม่น้อยกว่า 5 แสนคน เพราะแรงงานกลุ่มเดิมที่กลับภูมิลำเนาไปยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้หรือกลับมาได้ยาก เนื่องจากการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายมีต้นทุนสูง มีต้นทุนจากการตรวจคัดกรองตามระบบสาธารณสุขเพิ่มเข้ามา ขณะเดียวกันระบบราชการที่ล่าช้าก็เป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่ภาคธุรกิจรอไม่ได้ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ตกค้างในประเทศน่าจะอยู่ประมาณหนึ่งล้านคน บางส่วนเมื่อหมดอายุลง การขึ้นทะเบียนใหม่ก็มีภาระต้นทุนแพงกว่าการใช้แรงงานผิดกฎหมาย 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top