รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า...
‘ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง’
‘ถ้าปฏิรูป คือ การล้มล้าง แล้วรัฐประหาร คือ อะไร?’
การปฏิรูป ก็คือ ความเหมาะสม คือ การเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมหรือเพื่อทำให้ดีขึ้น จะค่อยเป็นค่อยไป หรือจะทำอย่างรวดเร็วก็ได้
การล้มล้าง คือ การทำลาย การล้มล้างไม่จำเป็นต้องใช้กำลัง ก็เรียกว่าเป็นการล้มล้างได้
รัฐประหาร คือ การใช้กำลัง หรือบีบบังคับเพื่อยึดอำนาจ ส่วนใหญ่จะหมายถึงยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่
ไม่มีใครบอกว่า ‘การปฏิรูป’ เท่ากับ ‘การล้มล้าง’ และไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รู้ว่า ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง แต่เป็นพวกที่เคลื่อนไหวกันในขณะนี้ รวมทั้งสาวก และแนวร่วม ที่ออกมาประสานเสียงกันว่า ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้างนั่นแหละ ที่ไม่รู้ว่าการปฏิรูปแตกต่างกับการล้มล้างอย่างไร
คำพูดที่บอกว่าไม่ใช่เป็นการล้มล้าง ไม่อาจบ่งบอกความจริงได้ แต่การกระทำต่างหากจึงจะบอกได้ เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
ตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ลองมองย้อนกลับไปดูการกระทำและการแสดงออกของกลุ่มคนกลุ่มนี้ว่า พวกเขาทำอะไรกันบ้าง
การแสดงออกในทางเหยียบย่ำ หมิ่นแคลน ข่มขู่ เช่น…
การโจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคาย การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ สาดสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งของสมเด็จพระพันปีหลวงและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ใช้กิโยตินเป็นสัญลักษณ์ข่มขู่ ทั้งในการชุมนุม และใน Social Media ทำทุกวิถีทางผ่านสื่อที่เป็นพวกเดียวกันสร้างและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ทำให้คนเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ขัดขวางความเจริญของประเทศ