Friday, 9 May 2025
POLITICS NEWS

"สมศักดิ์" ตรวจ คก.ขับเคลื่อนไทย รัฐหนุน ขุดคลองยม-น่าน หวังแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม จ.สุโขทัย ระยะยาว จี้ กรมชลฯ ออกแบบแก้ปัญหา เตรียมพร้อมเผื่ออนาคต

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่ 3 จังหวัด (กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย ) เปิดเผยว่า จังหวัดสุโขทัยมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งทุกปี เมื่อภาคเหนือมีฝนตกมาก ต้นน้ำจาก จ.พะเยา และจ.แพร่ น้ำจะไหลตามแม่น้ำยมมาท่วมที่สุโขทัย แต่โดยปกติแล้วฝนที่ตกใน จ.สุโขทัย มีปริมาณน้อยมาก ประมาณ 1,000 ลบ.มม.ต่อปี เป็นปริมาณที่น้อยกว่าหลายจังหวัดในภาคอีสานด้วยซ้ำ แต่ผู้คนอาจจะเห็นว่าในหน้าน้ำ จ.สุโขทัยมีโอกาสน้ำท่วมบ่อยที่สุด ซึ่งเป็นเพราะน้ำฝนตกที่ตกหนักในจังหวัดอื่นแล้วรวมมาที่สุโขทัย ในขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะจัดการในระบบป้องกันน้ำท่วมให้ ในส่วนของฝั่งซ้ายแม่น้ำยม เรามีคลองยมเก่าที่ไหลจาก อ.สวรรคโลก ผ่าน อ.กงไกรลาศ ไปยัง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่เรียกว่า วอเตอร์เวย์ แต่ปริมาณการไหลของน้ำยังไม่พอ รัฐบาลจึงได้ให้ขุดคลองยม-น่าน เพิ่มเติมอีก 40 กิโลเมตร ตนได้มีโอกาสไปติดตามดูอย่างต่อเนื่อง ที่รัฐบาลดำเนินการตรงนี้ วัตถุประสงค์ข้อแรกคือการระบายน้ำจากสุโขทัย ไป อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ แต่ส่วนที่ตนคิดว่าน่าจะทำเพิ่มเติมคือการสูบน้ำจาก แม่น้ำน่านมายังสุโขทัยในช่วงหน้าแล้งได้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนจะเสนอให้รัฐบาลติดตั้งการสูบน้ำไหลกลับ ให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้น้ำในหน้าแล้งได้ ส่วนในฝั่งขวาแม่น้ำยมก็แห้งแล้งมากเช่นกัน มีคลองน้ำโจนในระบบของชลประทานที่กำลังออกแบบ ซึ่งตนได้เร่งรัดในโครงการการขับเคลื่อนไทยฯ อยากให้เร่งรัดการออกแบบรอไว้ให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุด เมื่อมีงบประมาณเมื่อไรจะสามารถลงมือทำได้ทันที รวมทั้งการจัดระบบน้ำประปา การจัดระบบในหน้าน้ำไม่ให้น้ำท่วม และการกักเก็บน้ำเพื่อให้ทำการเพาะปลูกได้บ้างในหน้าแล้ง ซึ่งการดำเนินการแบบนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ตนจึงอยากนำเอาเรื่องนี้ไปประสานผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เตรียมความพร้อมต่อไปในอนาคตได้ด้วย

รัฐบาล สั่งซื้อ ชุดตรวจโควิด จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ใช้ตรวจเอง คาดได้ ส.ค.-ก.ย.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และเร่งลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากผู้ติดเชื้อโควิด-19  ที่ไม่แสดงอาการ และไม่ได้รับการคัดแยกหรือกักตัว ทำให้เกิดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและในชุมชนที่พักอาศัยมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีจึงได้มีนโยบายให้มีการดำเนินการ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ครอบคลุมที่สุด ด้วยการใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด - 19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำต้องกระจายชุดตรวจ ATK นี้ อย่างทั่วถึงและด้วยความโปร่งใสด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564  ที่ผ่านมา จึงได้อนุมัติจัดซื้อชุดตรวจโควิดกว่า 8.5 ล้านชุด วงเงิน 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้ตรวจเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดหา และกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนจะกระจายชุดตรวจให้ประชาชนได้ใช้ต่อไป ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาภายใต้โครงการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ทั้งนี้ สปสช. คาดว่าจะสามารถแจกชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit (ATK) ให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้เองในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. - ก.ย. 2564 นี้

นายอนุชา กล่าวว่า ขณะเดียวกัน การใช้ชุดตรวจ ATK ก็จะมีการใช้ตรวจในหน่วยบริการปฐมภูมิด้วย โดยจะขยายไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่น 200 กว่าแห่งใน กรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. 69 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ สำหรับประชาชนที่จะใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้ว หากผลการตรวจเป็นบวกและอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จะได้รับการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือดูแลรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) ตามความสมัครใจ 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยมีทีมแพทย์ติดตามและประเมินอาการของผู้ป่วย โดยจัดให้มีช่องทางสื่อสารกับผู้ป่วย (Telemonitor) เพื่อติดตามอาการทุกวัน รวมทั้ง ช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน พร้อมทั้งจัดให้มีระบบ รับ-ส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น รวมทั้งจะได้รับเครื่องตรวจอุณหภูมิสำหรับใช้วัดไข้ เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด รวมถึงยาที่จำเป็น ทั้งฟาวิฟิราเวียร์และสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และมีส่งอาหารให้ทั้ง 3 มื้อด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจคัดกรอง Antigen Test Kit ยังไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ตรวจกับทุกคน โดยแพทย์แนะนำให้ใช้ตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตามความจำเป็น เช่น มีญาติ คนใกล้ชิดติดโควิด-19 หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและมีอาการคล้ายไข้หวัดเท่านั้น

ศปฉ. ปชป. ลงพื้นที่ย่านคลองเตยช่วยชาวบ้านหลังตรวจ Rapid Test พบผลบวก เจรจาโรงพยาบาลต้นสังกัดให้ช่วยตรวจ PCR เพื่อใช้ส่งตัวเข้ารับการรักษา หลังอาการแย่ลง

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) เปิดเผยว่าศูนย์ฯ ได้รับการประสานงานจากนายปานชัย แก้วอัมพรดี ประธาน อพม. กรุงเทพมหานคร และอดีต สข. พรรคประชาธิปัตย์ว่ามีครอบครัวผู้ติดเชื้อ 7 รายในชุมชนคลองเตยที่ได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเชิงรุกของ สปสช.ภายใต้ความร่วมมือจากชมรมแพทย์ชนบท ในการระดมตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกตามพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในกทม. 

โดยผลตรวจพบว่าครอบครัวดังกล่าว มี 2 รายเป็นผู้สูงอายุ ที่เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ และต้องการเข้าไปรับการรักษาต่อในสถานพยาบาล แต่เนื่องจากต้องใช้ผลการตรวจแบบ PCR เพื่อใช้ประกอบในการประสานเตียงจึงพบปัญหาตามมาทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจ สถานที่ที่จะไปตรวจ รวมถึงการเดินทางไปตรวจเพราะเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนได้เนื่องจากอยู่รวมกันอย่างแออัด อาจเป็นส่วนหนึ่งในการแพร่กระจายเชื้อต่อได้ ครอบครัวผู้ป่วยจึงร้องขอความช่วยเหลือมายัง ศปฉ.ปชป. ให้ลงพื้นที่ช่วยเจรจากับโรงพยาบาลต้นสังกัดในย่านกล้วยน้ำไทที่ผู้ป่วยมีสิทธิในการรักษาพยาบาลบัตรทองเพื่อขอรับการตรวจดังกล่าว เนื่องจากถูกปฏิเสธการตรวจเพราะยังไม่มีคิวให้ตรวจ 

นางดรุณวรรณ จึงได้ลงพื้นที่ทันทีร่วมกับนายปานชัยพร้อมด้วยทีมงานของศูนย์ฯ และที่ปรึกษา รมช. สาธารณสุขเพื่อขอเจรจากับตัวแทนผู้บริหารของโรงพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว ภายหลังการเจรจาอยู่ระยะหนึ่งตัวแทนโรงพยาบาล จึงตอบรับที่จะให้ผู้ติดเชื้อสองรายที่เป็นผู้สูงอายุ สามารถขอรับการตรวจ PCR ได้ โดยเห็นใจว่าเป็นผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องรีบตรวจ เพื่อรักษาตัวต่อ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องใช้เวลารอผล 2-3 วัน ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็ได้ขอความเห็นใจจากคนในชุมชนด้วยเช่นกันในสถานการณ์ปัจจุบันที่โรงพยาบาลเองก็ประสบปัญหาเตียงไม่พอ และอุปกรณ์ก็ไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงสถานที่เพื่อให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น   

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อด้วยว่าการตรวจ Rapid Test เป็นเรื่องที่ดีในการช่วยคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดให้ครบว่าถ้าตรวจพบเป็นบวกแล้วจะต้องไปอย่างไรต่อ  โดยเฉพาะคนในชุมชนที่อยู่รวมกันแบบแออัด จะคัดแยกออกไปอยู่ที่ไหน หรือถ้าต้องตรวจแบบ PCR ต่อ ใครจะตรวจให้ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกรณีที่โรงพยาบาลต้นสังกัดไม่สามารถรองรับการตรวจให้ได้ และหากการตรวจแบบ PCR แล้วพบ Positive จะจัดการเรื่องเตียงอย่างไรด้วย

“เมื่อประชาชนเดือดร้อน ขอความช่วยเหลือมา หน้าที่เราคือต้องช่วยในส่วนที่ทำได้ แต่อยากให้แก้ปัญหาเชิงระบบมากกว่าการแก้ปัญหาแบบรายวัน วันนี้โชคดีที่เราช่วยแก้ปัญหาได้ 2 ราย แต่ยังมีคนอีกมากที่รอการช่วยเหลือและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงอยากส่งเสียงไปยังภาครัฐที่มีอำนาจและเป็นผู้รับผิดชอบได้ลงมาดูปัญหาที่หน้างานด้วย จะได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น ” นางดรุณวรรณ กล่าว

รมต.อนุชา เผย จำนวนวัด ร่วมเจตนารมณ์ “เผาศพโควิดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย” สั่ง พศ. เร่งรัดฉีดวัคซีน พระ-สัปเหร่อ บอก มีวัดพร้อมตั้งรพ.สนาม ศูนย์พักคอย

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่อง และมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น จากการตรวจสอบ พบว่าปัจจุบันมีหลายวัดทยอยร่วมเจตนารมณ์ "เผาศพโควิดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย" โดยมีวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 62 วัด วัดในจังหวัดปริมณฑล จำนวน 124 วัด วัดในส่วนภูมิภาค จำนวน 407 วัด รวมทั้งสิ้น 593 วัด 

นายอนุชา กล่าวว่า ยังมีวัดที่มีศักยภาพและมีพื้นที่เพียงพอให้การสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้พื้นที่วัดจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และสถานที่กักตัวรอดูอาการผู้ติดเชื้อ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน ปัจจุบันพบว่ามีวัดและสถานที่ในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทั่วประเทศได้ดำเนินการปรับพื้นที่แล้ว จำนวน 118 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมรองรับและสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

นายอนุชา กล่าวว่า ได้สั่งการให้ พศ. ดูแลคณะสงฆ์และผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดอย่างเต็มที่ โดยให้พิจารณาจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อให้ทางวัด อาทิ ชุด PPE และอุปกรณ์ทำความสะอาด อีกทั้งให้เร่งประสานขอฉีดวัคซีนให้พระสงฆ์ สัปเหร่อและผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดอย่างเร่งด่วน

"เสกสกล" ยัน "บิ๊กตู่" นำทัพ สู้สงคราม โควิด-19 จวก คนอคติ เล่นการเมืองในวิกฤตทำประเทศย่อยยับ

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมมาตรการเข้มในการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วย ตนเห็นด้วยกับมาตรการที่ออกมา ถือเป็นการยกระดับมาตรการต่างๆให้เข้มขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญทั้งการบริหารสถานการณ์ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น การจัดสรรบุคลากร และการบริหารจัดการสถานที่ต่างๆ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลให้ทุกฝ่ายได้เห็นภาพรวมและขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ในที่ประชุมนายกฯให้ความสำคัญหลายเรื่อง เช่น เรื่องของโรงพยาบาลสนาม โดยนายกฯเห็นว่าต้องเร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการให้เข้าถึงการรักษาให้มากที่สุดและเร็วที่สุด และให้เพิ่มขีดความสามารถโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้มากขึ้น รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation – HI) และการดูแลผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation – CI) อย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีทีมแพทย์คอยติดตามอาการ ชุดเวชภัณท์และยาที่จำเป็นเพี่อคัดแยกผู้ป่วย ลดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและชุมชน สำหรับผู้ป่วยที่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (HI) จะมีการจ่ายยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้จะนำส่งศูนย์พักคอย หรือ (CI) ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อให้ครบทั้ง 50 เขต

นอกจากนี้นายกฯยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาร่วมช่วยเหลือ สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงการจัดส่งอาหารและยาให้ผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวที่บ้านและที่ชุมชนในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง ให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยประสานผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนาได้ ตามมาตรการสาธารณสุขที่กำกับการเคลื่อนย้ายทุกขั้นตอน เพี่อลดปัญหาการได้เข้ารับการรักษาในพื้นที่ กทม. ที่มีข้อจำกัดเรื่องเตียง และสนับสนุนทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (Comprehensive Covid-19 Response Team) หรือ CCRT อย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการลงพื้นที่ทั้ง 50 เขตเพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนให้ครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

นายกฯ ยังได้เน้นเรื่องการปรับปรุงระบบการรับเรื่องผ่านโทรศัพท์สายด่วนต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถประสานข้อมูลร่วมกัน เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริง ควบคู่ไปพร้อมกับการเดินหน้าจัดหาวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อเร่งฉีดให้กับประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งในขณะนี้ในพื้นที่ กทม. ได้มีการฉีดวัคซีนเกินกว่าร้อยละ 50 ของประชากรแล้ว

สิ่งที่นายกฯไม่เคยลืมคือการให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานกันอย่างหนัก ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข และคนทำงานจากทุกหน่วยงานที่ร่วมใจดูแลผู้ป่วยอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย  นายกรัฐมนตรียินดีและพร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรค เพี่อจะได้ร่วมช่วยหาวิธีแก้ไขและนำไปสู่แนวทางที่เหมาะสมในการทำงานของทุกหน่วยงาน

นายกฯและรัฐบาลทำงานกันอย่างหนัก หามรุ่งหามค่ำขนาดนี้ก็ยังไม่พอใจคนที่คิดอคติ เอาการเมืองมาเล่นในสถานการณ์วิกฤตโควิดในขณะนี้ โดยไม่คิดว่าความเสียหายที่ตัวเองคอยแซะ คอยวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะเป็นอย่างไร ประเทศจะเสียหายย่อยยับขนาดไหน ไม่ว่านายกฯหรือรัฐบาลจะทำอะไร ก็คอยตั้งท่าตำหนิติเตียนตลอด จึงอยากเตือนสติฝ่ายค้านฝ่ายเห็นต่างทั้งหลาย ช่วยนึกถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อนาคตลูกหลานเราจะเป็นอย่างไร ญาติพี่น้องเราจะเป็นอย่างไร ต้องนึกถึงเขาด้วย อย่าเห็นแก่ตัวนึกถึงแต่ตัวเอง ด่าเอามันปากเอาสนุกอย่างเดียวไม่ได้ สุดท้ายถ้าเกิดกับญาติพี่น้อง ลูกหลาน หรือบุคคลใกล้ตัว เมื่อคิดได้ก็อาจจะสายไปแล้ว

วันนี้เป็นการต่อสู้กับสงครามโควิด มหันตภัยไวรัสที่ไม่เห็นตัว เราคนไทยจะมามัวทะเลาะกันไม่ได้แล้ว นายกฯและรัฐบาลอยากเห็นความร่วมมือร่วมใจเสียสละร่วมกัน จับมือกันสามัคคีกัน ไม่มีเวลามาทะเลาะขัดแย้งกัน เพื่อปกป้องรักษาชีวิตคนไทยทุกคนให้ผ่านสงครามโควิดนี้ไปให้ได้ ประเทศไทยจึงจะชนะด้วยพลังสามัคคีของคนไทยทุกคน

“พิจารณ์” เผยอนุกมธ.ครุภัณฑ์ ปรับลดงบแล้ว 1,630 ล้านบาท มั่นใจยังปรับลดงบกองทัพได้อีก งงไม่มีรายการจัดซื้อเครื่องแต่งกายทหารเกณฑ์ในงบครุภัณฑ์ 

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์และไอซีที ในคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 เปิดเผยว่า ขณะนี้อนุกมธ.ฯ พิจารณาเกือบเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงงบประมาณส่วนของกองทัพเรือ ทั้งนี้ ภาพรวมการปรับลดของอนุกมธ.ฯ ขณะนี้ปรับลดแล้ว 1,630 ล้านบาท โดยเห็นว่างบประมาณครุภัณฑ์ของกระทรวงกลาโหม สามารถปรับลดลงได้อีก เนื่องจากยังมีการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่ราคาสูงเกินจริง

นายพิจารณ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับรายการจัดซื้อครุภัณฑ์ ยังไม่มีเวลาตรวจสอบที่เพียงพอเนื่องจากมีระยะเวลาสั้น เพราะหน่วยงานนำเอกสารให้กมธ.พิจารณาล่าช้า อีกทั้งตั้งข้อสังเกตว่ากมธ.พยายามรวบรัดการพิจารณางบประมาณ โดยทำการตัดลดงบประมาณ และผ่านความเห็นชอบไปอย่างรวดเร็ว 

“การตัดลดงบประมาณของกองทัพบก 1,100 ล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่ายังมีรายการที่สามารถตัดได้อีก เช่น การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ปี 65 อย่างเฮลิคอปเตอร์ ที่ของบประมาณ 700 ล้านบาท หัวลากรถรวมแล้วประมาณเกือบ 881 ล้านบาท ซึ่งหากกมธ.อนุมัติเห็นชอบก็จะทำให้ต้องจ่ายงบประมาณผูกพันในปีถัดไปอีก 1,700 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่กว่าปีนี้” นายพิจารณ์ กล่าว

นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณของกองทัพอากาศที่มีการปรับลดไป 510 ล้านบาท โดยการจัดซื้อปีนี้ไม่มีการซื้อยุทโธปกรณ์ใหญ่ แต่เป็นงบผูกพันต่อเนื่องตั้งแต่ปี 62 ส่วนปี 64 ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพัน เพราะสถานการณ์โควิด - 19 ทำให้ยังไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ เช่น โครงการพัฒนาระบบสื่อสาร ที่มีการแก้ไขรายละเอียดในทีโออาร์ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ ส่วนตัวเห็นว่าสามารถเลื่อนออกไปก่อน พร้อมย้ำว่ารายละเอียดข้อสังเกตในการพิจารณางบประมาณครั้งนี้ จะรวบรวมนำไปอภิปรายในวาระ 2  และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อแฉให้เห็นว่า ยังมีโครงการอะไรที่สามารถปรับลดได้อีก เพราะไม่จำเป็นในสถานการณ์โควิด - 19 ครั้งนี้ ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่าการตั้งงบประมาณของกองบัญชาการกองทัพไทยในการปรับปรุงระบบเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ชี้แจงรายละเอียดไม่ครบถ้วน เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆในลักษณะเดียวกัน  และยังเห็นว่ามีการจ้างที่ปรึกษาในวงเงินงบประมาณที่สูงกว่าหลักเกณฑ์  ในท้ายที่สุดหน่วยงานอ้างเรื่องความมั่นคง และเรียกเก็บเอกสารคืน 
       
“รอบนี้เป็นเรื่องตลก เพราะรายการจัดซื้อของกองทัพบก ชุดแต่งกายของทหารเกณฑ์ไม่ปรากฏในเอกสารรายการจัดซื้อครุภัณฑ์ ยังหาไม่เจอว่าซ่อนอยู่ที่ไหนหรือว่าเลิกซื้อแล้ว” นายพิจารณ์กล่าว 

รองโฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ติดตาม คืบ มาตรการ“พักทรัพย์ พักหนี้” ฟังเสียงสะท้อนจากเอกชน - มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู คาดต.ค.นี้ ธนาคารปล่อยถึงแสนล้าน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการ  “มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้”  ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของ COVID-19 ให้มีภาระหนี้ลดลงและสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผ่านกลไกการรับโอนสินทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้ของสถาบันการเงิน พร้อมให้สิทธิซื้อทรัพย์คืน และต่อมา ครม. ยังได้เห็นชอบมาตรการภาษีอากรเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้อีกด้วย

สอดรับมติครม.ดังกล่าว กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่อง ‘กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้’ และได้มีผลบังคับใช้เมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีแก่สถาบันการเงินและลูกหนี้ธุรกิจที่ร่วมโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” คาดว่าจะมีผลให้ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่ต้องกังวลกับภาระภาษี เป็นการลดต้นทุนให้กับลูกหนี้และสถาบันการเงิน

อีกทั้งสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆได้เพิ่มขึ้น และสำหรับภาคการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  (ธ.ก.ส.) ได้มีมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เช่นกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ(บุคคล หรือ นิติบุคคล) สหกรณ์ภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม บริการ และธุรกิจเกษตร ที่มีหนี้เงินกู้หรือมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงิน ก่อน 1 มี.ค. 2564 ผู้สนใจสามารถติดต่อ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

ในส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอดการปล่อยสินเชื่อทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ วันที่ 19 ก.ค. มียอดรวมทั้งสิ้น 7.8 หมื่นล้านบาท  ครอบคลุมลูกหนี้  2.5 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย ซึ่งทาง ธปท.วิเคราะห์ว่า การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเป็นตามเป้าหมายร่วมของธปท.และสมาคมธนาคารไทยที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนต.ค.นี้ อีกทั้งสินเชื่อมีการกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจและภูมิภาค จำนวน 46% กระจายไปยัง SMEs ขนาดเล็ก ขณะที่ 68% อยู่ในภาคพาณิชย์และบริการ และ 68% เป็นธุรกิจในต่างจังหวัด

นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือต่างๆที่ได้ออกมาโดยตลอด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยประเมินผลการดำเนินงาน และรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน ผ่านการหารือในหลายวาระด้วยกัน เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ราเมศ สนับสนุน พาณิชย์ จัดการเด็ดขาด ผู้ค้าออนไลน์ที่ฉวยโอกาส เอาเปรียบหลอกลวง ปชช. ร้อง สายด่วน 1569  ได้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการเข้มงวดเรื่องราคาสินค้าและบริการเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบประชาชนว่าพรรคได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเรื่องการฉวยโอกาสเอาเปรียบและหลอกลวงประชาชนในเรื่องการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะช่องทางการซื้อขายทางออนไลน์ ที่ขณะนี้เป็นช่องทางที่สำคัญเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงทำให้มีการสั่งซื้อช่องทางนี้เป็นจำนวนมาก มีทั้งกรณีสั่งซื้อแล้วไม่ได้สินค้า สั่งซื้อแล้วเมื่อของมาส่งสินค้าก็ไม่ตรงตามที่ได้สั่งซื้อ บางรายกลับได้รับอีกชนิดหนึ่งซ้ำร้ายกว่านั้นไม่มีคุณภาพด้วย ติดต่อกลับไปก็ไม่สามารถติดต่อกลับได้ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก 

นายราเมศ กล่าวต่อว่า พรรคได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ตลอดเพื่อช่วยเหลือประชาชน  ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 

ที่ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ติดตามให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด รวมถึงเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เกี่ยวกับการแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือบริการนั้นต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ อย่างเคร่งครัด

เพราะหากผู้ใดทำการฝ่าฝืนจะเป็นความผิด และมีโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ด้วย บางรายที่หลอกลวงประชาชนเข้าลักษณะการฉ้อโกงในความผิดอาญาก็มีไม่อยากให้มีการซ้ำเติมวิกฤติด้วยการเอาเปรียบประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ 

ขอเตือนว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์เข้มงวด ทำงานเชิงรุกในการสำรวจตรวจสอบ มีการตักเตือนบางรายที่ยังไม่รายแรงก็มีมาก มีดำเนินคดีก็หลายราย ร้านค้าบนสื่อออนไลน์ทุกประเภทต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เช่น การแสดงราคา รายละเอียดสินค้า จำหน่ายไม่ตรงราคาที่แสดง ไม่แจ้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น 

ประชาชนสามารถร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการผ่านสายด่วน 1569 กรมการค้าภายในได้ ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบเชิงรุก ในสภานการณ์ควบคุมโควิด 19 เราคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน การฉวยโอกาสเอาเปรียบกัน เสมือนเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนในทุกๆเรื่อง

“กรณ์” กระตุก สธ.-ดีอีเอส บริหารข้อมูลผู้ป่วยโควิดล้มเหลว แนะปลดล็อคระบบราชการ ดึงสกิลเอกชน ใช้ดาต้า เร่งช่วยชีวิตคน 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ไลฟ์สด บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของพรรคกล้า โครงการ กล้าหาเตียง โดยระบุว่า พบปัญหาอุปสรรคมากมาย เชื่อว่าภาระต่างจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน กว่าที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลในระดับต่างๆ ได้ ทั้งนี้ จากสถิติการฉีดวัคซีนวันละ 250,000 โดส ถือว่ามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขณะนี้สามารถฉีดให้กับประชาชนแล้ว 15 ล้านคน แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้จะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี หมายความว่าในอีก 160 วันที่เหลือ จะต้องฉีดให้ได้วันละ 500,000 โดส จึงจะสามารถครอบคลุมได้ตามเป้าหมาย  

นายกรณ์ บอกว่า จากที่ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วยท่านหนึ่ง เมื่อกลางดึกวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ป่วยสูงวัยมีโรคประจำตัวทั้งโรคไตและเบาหวาน ทีมอาสาพรรคกล้าาพยายามช่วยเต็มที่ แต่ถูกโรงพยาบาลประจำของผู้ป่วยปฏิเสธที่จะรับดูแล เราพยายามหาช่องทางอื่น และโทรเบอร์ 1669 ตามคำแนะนำของโรงพยาบาล แต่ถูกตัดสายทุก 4 นาที ส่วนเบอร์ 02-2705685-9 ของกองทัพบกที่แจ้งว่าเปิดรับสายตลอด 24 ชั่วโมง ก็โทรไม่เคยติด วันต่อมาผู้ป่วยอาการผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจส่งรถไปรับเพื่อจะพาไปโรงพยาบาลแต่รถไปไม่ทัน จนเช้าตรู่วันที่ 23 กรกฎาคม ทราบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว และได้ทำการฌาปณกิจในทันที สร้างความสลดหดหู่ใจของกลุ่มอาสา แต่ก็เทียบไม่ได้กับความรู้สึกของครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่รัก  

“ผมต่อสายไปคุยกับภรรยาผู้เสียชีวิต ท่านไม่ได้ติดใจกับระบบการช่วยเหลือ ท่านเข้าใจว่าเป็นช่วงสถานการณ์วิกฤต หากระบบดี เชื่อว่าวันนี้ผู้ป่วยก็ยังคงมีชีวิตอยู่ เรื่องราวเหล่านี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ ที่เรารับทราบทุกวัน พวกเรามานั่งสุมหัวกัน เพื่อทบทวนถึงระบบระเบียบราชการ และขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคมากมาย ที่อาจใช้ได้ในภาวะปกติ แต่ในภาวะวิกฤตควรจะปรับปรุง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีการตรวจ Rapid Antigen แล้วพบว่าติดโควิด หลังตรวจวัดค่าออกซิเจนแล้ว ก็ควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในทันที ไม่ต้องมาตรวจ PCR ตามเงื่อนไขของทางราชการอีก ตอนนี้การตรวจก็ยาก ผู้ตรวจออกไปหาพื้นที่ที่ต้องตรวจ นอกจากเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่เดินทางมาตรวจด้วย ตอนนี้การตรวจเริ่มผ่อนคลาย แต่ก็มีผลแค่การรู้เท่านั้น แต่ยังไม่มีผลกับการใช้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล  เราก็ยังขอเรียกร้องว่าการตรวจให้กับประชาชนในพื้นที่เสียง ต้องฟรี” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว 

นายกรณ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การเข้าถึงระบบการรักษา ผ่านช่องทาง Call Center รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มจำนวนผู้รับสาย เพิ่มข้อมูลให้กับผู้รับสายให้เขามีข้อมูลเพียงพอให้คำปรึกษากับผู้ป่วย เช่นเดียวกับประเด็นยา ที่ยังถกเถียงกัน ข้อเท็จจริงวันนี้คือ ระบบสาธารณสุขของรัฐ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามได้  ผู้ป่วยที่ติดค้างอยู่ตามวัด ตามชุมชน จำนวนมากเข้าไม่ถึงยา วันนี้รัฐบาลมีนโยบายแยกตัวผู้ป่วยออกจากครอบครัว โดยให้ สปสช.ดูแลเรื่องยา อาหารสามมื้อ และให้คำปรึกษาทางการแพทย์ แต่หลังจากตรวจสอบพบว่า ผู้ที่เข้าระบบของเราแทบไม่เจอใครได้รับยา หรือรับการช่วยเหลือจากราชการ ตามนโยบายที่กำหนดไว้  นโยบายก็เรื่องหนึ่ง แต่ผลในทางปฏิบัติ เป็นหนังคนละม้วน จึงขอให้ผู้มีอำนาจช่วยลงมาดูด้วยตัวเอง ว่านโยบายของท่านนำไปสู่การปฏิบัติได้ไหม และที่ยังทำไม่ได้มันติดอะไร สามารถปลดล็อค ปลดแอกได้ไหม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายที่ท่านกำหนดให้โดยสะดวกมากขึ้น อีกเรื่องคือศูนย์พักคอย พรรคกล้าได้ให้ความร่วมมือสร้างศูนย์พักคอย  2 แห่ง เพราะเรามองว่าแนววิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อการตัดวงจรการแพร่เชื้อในชุมชนกันเอง เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่กันอย่างแออัดในครอบครัว ดังนั้นจึงให้คำแนะนำกับชุมชน ในการใช้พื้นที่ส่วนกลาง สร้างศูนย์พักคอย แยกตัวผู้ป่วยมาได้อย่างปลอดภัย  แต่ศูนย์พักคอยที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ 

“วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 150,000 คน ทั่วประเทศ รักษาหาย 7,500 คน ขณะที่เรามีผู้ป่วยต่อวันเกือบหมื่นคน ที่ต้องเข้ารับการรักษา จึงต้องเร่งสร้างศูนย์พักคอยเพิ่มขึ้น กทม. ประกาศจะสร้างศูนย์พักคอยทั้ง 50 เขต จำนวน 5,000 เตียง มันไม่พออยู่แล้ว เราต้องเผื่อไว้อย่างน้อย 100,000 เตียง คำนวณง่าย ๆ  ในแต่ละวันมีผู้ป่วย 5,000 คน ใช้เวลารักษาฟื้นตัว 20 วัน ถึงจะออกไป และให้ผู้ป่วยท่านใหม่เข้ามาแทนที่ จำนวนเตียงที่ต้องเตรียมคือ 100,000 เตียง วันนี้แถวบ้านผม ทราบว่ามีคนงาน  20 คนนอนติดเชื้อโควิด ไม่ได้อยู่ในระบบการรักษา และเราไม่รู้เลยว่า ทั้ง 20 คนนั้นสลับกันไปจ่ายตลาดเพื่อหาอาหารสิ่งของจำเป็นประทังชีวิต ผมรู้สึกอึดอัดกับเรื่องราวที่รับทราบในแต่ละวัน” นายกรณ์ กล่าว  

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า จากข้อเสนอข้างต้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หน่วยราชการจะทำ แต่อยู่ในวิสัยที่ปรับปรุงแก้ไขได้และต้องเร่งทำ โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ล้มเหลวเรื่องระบบการจัดการข้อมูล วันนี้เราไม่รู้เลยว่า ผู้ป่วยอยู่ไหน ใครอยูในพื้นที่เสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกี่คน เขาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน โรงพยาบาลมีเตียงว่างกี่เตียงและอยู่ที่ไหน การบริหารจัดการที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ปรับปรุงระบบการจัดการและนี่คือภาระสำคัญเร่งด่วน ของ กระทรวงดีอีเอส ที่ต้องสร้างอีโคซิสเต็มให้ผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ต้องรู้ว่าผู้ป่วยอยู่ไหน เตียงว่างกี่เตียงและอยู่ที่ไหน กลุ่มเสี่ยงรอการฉีดวัคซีนกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง ข้อมูลเหล่านี้รัฐต้องมีอยู่ในมือ และต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย 

นอกจากนี้ เรื่องการทำมาหากิน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเยียวยา ควรสร้างแพลตฟอร์มอีโคซิสเต็ม สร้างโอกาสการทำมาหากินในช่วงล็อคดาวน์ วันนี้กระทรวงดีอีเอสทำน้อยไป ทั้งที่มีเครื่องมือในมือ วันก่อนได้พูดคุยกับ คุณเชาว์ หรือนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ออกแบบแอป 'เป๋าตัง' วันนี้ประชาชนโหลดแอปเป๋าตังอยู่ในมือถือจำนวน  30 ล้านคน เป็นแพลตฟอร์มที่ควรจะขยายผลให้มีการจองวัคซีน โดยไม่จำเป็นต้องไปออกแบบแอปใหม่ให้ยุ่งยาก วันนี้ร้านอาหารที่ถูกสั่งปิด ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่อยู่ในระบบดิลิเวอรี่ เพราะเขาทำไม่เป็น กระทรวงดีอีเอส ก็ควรจะทำให้เขาเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ 

“ท่านนายกรัฐมนตรี เชิญ 40 ซีอีโอ รวมถึงประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม เข้ามาพูดคุยปรึกษาที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันก่อน เป็นเรื่องที่ดี แต่คิดว่าการพูดคุยทำมาแล้วหลายครั้ง เขาก็ฝากรัฐหลายครั้ง สุดท้ายรัฐก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง พวกเราทุกคนที่อยู่หน้าด่าน เราพบขีดจำกัดของระบบราชการ นายกฯ ควรมองข้ามระบบราชการ ไปสู่เครื่องมืออื่น ๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ว่ามีภารกิจอะไรบ้างที่มอบให้หน่วยราชการไปทำ แต่ไม่สามารถทำได้ ยกตัวอย่าง call center เบอร์ที่จัดมา หลักการมันดีอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถจัดการให้รองรับความต้องการของประชาชนได้ ถึงเวลาแล้ว ที่ทาจะไปปรึกษาผู้ประกอบการว่า เอกชนรับไปทำได้ไหม ยกตัวอย่าง AIS TRUE รับภาระไปได้ไหม ศูนย์พักคอย หน่วยราการ อาจสร้างไม่ทัน กลุ่ม เอสซีจี ทำได้ไหม เขาก็ทำเตียงกระดาษบริจาคให้รัฐอยู่แล้ว ลองดูทักษะการบริหารจัดการของเขา สามารถช่วยสมทบ หรือ ทำหน้าที่แทนระบบสาธารณสุขของรัฐ ได้แค่ไหน ศูนย์พักคอย ขณะนี้มีหลักแสนเตียง หามรุ่งหามค่ำ ประเด็นอาหาร ท่านมอบให้ซีพีเลยได้ไหม เซเว่นมี 10,000 สาขา ทั่วประเทศเขามีอาหารอยู่แล้ว เขาสามารถจัดส่งได้ถึงมือผู้ป่วยได้ทันที  สถานการณ์วันนี้จึงไม่ใช่แค่รับฟังข้อเสนอแนะ แต่ต้องเป็นการระดมผู้รู้ ที่มีความสามารถ มีทรัพยากรในมือ เพื่อช่วยกันนำพาพวกเราผ่านด่านอุปสรรคนี้ไปให้ได้ เชื่อว่า กว่าที่จะถึงวันที่เราประกาศเอาชนะโควิด คงต้องมีการสูญเสียคนอีกหลายร้อยหลายพันชีวิต แต่จะสูญเสียมากน้อยแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับการทำงานของทางราชการเป็นหลัก วันนี้ต่อให้มีเงินหลักแสน ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ขอเป็นกำลังให้ทุกคน อย่าป่วย อย่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สตางค์ไม่สามารถซื้อความปลอดภัยได้ ” นายกรณ์ กล่าวพร้อมกับย้ำว่า พรรคกล้ายังคงเป็นหน่วยประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยหาเตียง สามารถติดต่อไปได้ที่เพจ Kla party  จะมีกลุ่มอาสารอรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง

กห.เห็นชอบสนับสนุนร่วมภารกิจสร้างเสถียรภาพของสหประชาชาติ 

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมผ่านรูปแบบการประชุม สื่ออิเล็กทรอนิกส์  โดยภายหลังการประชุม พ.อ.วีรยุทธ์ น้อมศิริ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม  แถลงผลการประชุม ว่า สภากลาโหมมีมติให้ความเห็นชอบในการสนับสนุนกําลังเข้าร่วมภารกิจสร้างเสถียรภาพของสหประชาชาติ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตย (MONUSCO) 

โดยกองทัพไทยได้สนับสนุนกําลังเข้าปฏิบัติการร่วมกับนานาประเทศในภารกิจรักษาสันติภาพของ สหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่องในทุกรัฐบาล โดยภารกิจ MONUSCO เป็นภารกิจสังเกตการณ์ตามข้อตกลงหยุดยิงและ ใช้กําลังเมื่อจําเป็น เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงหยุดยิงและสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวเชลยศึก เพื่ออํานวยความสะดวก ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนและผู้ผลัดถิ่นในพื้นที่ ตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่ง สหประชาชาติ ที่ 1925 (2010) โดยภารกิจดังกล่าว ได้จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ทางทหาร จํานวน 18,316 นาย โดยมีประเทศจากท่ัวทุกภูมิภาคของโลกท่ีให้การสนับสนุนกําลังพลรวม 63 ประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top