Friday, 9 May 2025
POLITICS NEWS

"วิโรจน์" ซัด คำสั่ง สธ. ไม่นับผลตรวจ Antigen Test Kit เป็นผู้ติดเชื้อ มุ่งปกปิดอำพรางตัวเลข หวั่นลอยแพทำคนป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา  จี้ "นายกฯ"หยุดอำมหิต ยึดติดระเบียบราชการทำคนล้มตายได้แล้ว 

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีหนังสือเวียนของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 23 ก.ค. ที่ระบุในตอนหนึ่งว่า ให้ยกเลิกการทำการตรวจคัดกรองเชิงรุก ด้วยวิธี RT-PCR โดยให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งให้ผลเร็วกว่าแทน และหากพบผลเป็นบวก จะยังไม่นับรวมเป็นผู้ป่วย ไม่ต้องรายงานในระบบโรคติดเชื้อนั้นว่า ในการใช้ ATK ที่ทราบผลภายในระยะเวลาเพียง 30 นาที เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุก จะทำให้สามารถแยกเอาผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัวและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เขาสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้โดยเร็ว ทั้งยังเป็นการสกัดกั้นการระบาดของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนได้ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอแนวคิดนี้มาโดยตลอด เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้รัฐบาลสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสและยารักษาโรคตามอาการต่างๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์ได้ โดยที่ไม่ต้องรอผลตรวจจากวิธี RT-PCR ซึ่งหลายกรณีต้องใช้เวลารอคอยนานกว่า 3 วัน

"จากแนวเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์เมื่อวันที่ 21 ก.ค.64 ระบุชัดว่าผู้ติดเชื้อหากได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ภายใน 4 วันนับจากวันเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยจะมีแนวโน้มตอบสนองต่อการรักษาได้ดี นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะเปลี่ยนจากผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวเป็นกลุ่มสีเหลือง หรือกลายเป็นผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการหนัก ก็จะลดลง รวมถึงโอกาสที่จะเสียชีวิตก็จะลดลงตามไปด้วย และในแนวเวชปฏิบัติฉบับนี้ ยังระบุอีกด้วยว่า ผู้ที่ตรวจด้วยชุด ATK แล้วพบผลเป็นบวก จะต้องได้รับการรักษาเสมือนผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ระหว่างที่รอตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วยวิธี RT-PCR หรือการวินิจฉัยอื่นๆ" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตามสภาพการณ์จริงในปัจจุบัน แม้มีสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์จำนวนหนึ่งได้ปรับระบบงานธุรการ โดยเฉพาะระบบการจ่ายยา เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ได้เร็วขึ้นแล้ว แต่ยังพบว่าโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากไม่ยึดตามแนวปฏิบัตินี้ ทำให้กว่าแพทย์จะพิจารณาจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ได้ แม้ผู้ติดเชื้อจะรู้ผลจากการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วก็ตาม แต่การจ่ายยายังคงต้องรอคอยงานเอกสารธุรการการลงทะเบียน และการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งกินระยะเวลาการรอคอยที่ยาวนาน ทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว มีอาการหนักขึ้น และเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเสียชีวิต ในประเด็นดังกล่าวนี้พรรคจึงขอเรียกร้อง ไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. และนายกรัฐมนตรี ให้เร่งสั่งการอย่างเป็นทางการเพื่อทำให้ระบบการจ่ายยา และระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ต่างสังกัดก็ต่างทำ แบบที่เป็นอยู่

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า หากไม่วางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้ติดเชื้อ กันตัวเองออกจากครอบครัวและชุมชนได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงยา และการรักษาตามการวินิจฉัยของแพทย์อย่างทันท่วงที การควบคุมการระบาด ก็จะขาดประสิทธิภาพ กลายเป็นภาระของระบบสาธารณสุข และการสูญเสียชีวิตของประชาชนก็จะเพิ่มมากขึ้นจากการที่กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแดง

เรื่องหนึ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับหนังสือ สธ 0211.021/15965 ก็คือ เมื่ออ่านดูในข้อที่ 5 เนื้อหาในคำสั่งนี้เหมือนมีเจตนาที่จะไม่บันทึกผลตรวจจากชุดตรวจ ATK ในสารบบเลย จึงอาจเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมที่พยายามปกปิดอำพรางจํานวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ซึ่งนอกจาก จะเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงกับประชาชนแล้ว ยังจะเกิดความเสียหายอย่างมากกับการตัดสินใจเชิงนโยบายในอนาคต โดยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำระบบรายงานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ชัดเจนโดยแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 
1. รายงานการตรวจ และผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR 
2. รายงานการตรวจ และผลตรวจด้วยชุดตรวจ ATK อย่างเดียว โดยไม่ได้ยืนยันซ้ำด้วยวิธี RT-PCR
3. รายงานการตรวจ RT-PCR ยืนยันผลตรวจจากชุดตรวจ ATK เพื่อที่ประชาชนจะได้ทราบถึงอัตราการเกิด False Positive

นายวิโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า การที่จะประคับประคองสถานการณ์ในช่วงวิกฤติระหว่างการรอคอยวัคซีนที่มีคุณภาพสูงต่อเชื้อกลายพันธุ์เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชน ต้องอาศัยความรวดเร็ว และความจริงเท่านั้นที่จะนำพาประชาชนผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และเกิดความสูญเสียที่น้อยที่สุด แต่ถ้ารัฐบาลยังคงใช้การปกปิดอำพราง และยังคงยึดติดกับระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่มีแต่ความเชื่องช้า ต่างสังกัดต่างทำไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ก็จะเป็นการก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนแบบไม่สิ้นสุดและจะทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ต้องล้มตายเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ซึ่งยืนยันได้ว่านี่ไม่ใช่ความโชคร้ายของพวกเขาเอง แต่เกิดจากเป็นความบกพร่องอย่างอำมหิตของรัฐบาล

โฆษกฯรัฐฯ เผย ”บิ๊กตู่” พร้อมหนุนเอกชนตั้งรพ.สนามภายในโรงงานลดการแพร่ระบาด “ยัน” รัฐยังทำงานอย่างเข้มแข็งร่วมกัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด 13 จังหวัด โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่า จินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมด้วย โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การหารือวันนี้ เป็นการพูดคุยในระดับพื้นที่ เพราะต้องการรับทราบแนวปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ ที่อาจจะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน และขอชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ที่มีความเข้มแข็งในการดำเนินการตามที่ ศบค. ได้กำหนดมาตรการและข้อบังคับ  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันโดยมีข้อเสนอมาจากคณะอนุกรรมฝ่ายต่างๆ โดยยืนยันทุกมาตรการมีเหตุผลและจำเป็นสอดคล้องสถานการณ์

นายอนุชา กล่าวว่า ในที่ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดได้รายงานว่ายังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้นในระยะนี้  ทำให้แต่ละพื้นที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ปัญหาหน้างานในขณะนี้จึงคล้ายคลึงกัน คือ ความล่าช้าในการคัดกรอง คัดแยกผู้ป่วย การนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา การขาดแคลนเตียงในระดับผู้ป่วยที่มีการอาการหนักและอาการรุนแรง รวมทั้งการบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขทำการปลดล็อกการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจเร็ว Antigen Test Kit เมื่อพบผลเป็นบวก ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาทั้งศูนย์พักคอย ระบบดูแลตนเองที่บ้าน (Home Isolation-HI) หรือระดับชุมชน (Community Isolation-CI) ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยแยกผู้ที่ป่วยออกจากผู้ที่ไม่ป่วยได้เร็วขึ้น ลดจำนวนผู้ป่วย ผู้รอเตียงที่บ้าน รวมทั้งลดการเสียชีวิตที่บ้าน  

สำหรับในพื้นที่จังหวัดที่เป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรม ก็ขอให้มีการหารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อเข้าระบบ Bubble and Seal  เพิ่มเติมจากระบบดูแลตนเองที่บ้าน HI และที่ชุมชน CI  โดยให้จัดระบบการดูแลที่โรงงาน (Factory Isolation-FI ) ลดการแพร่ระบาดนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ ขณะนี้ รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในกลุ่มผู้ประกันสังคมอยู่แล้ว โดยนายจ้างจะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท/ลูกจ้าง ไม่เกิน 200 คน ขณะที่ลูกจ้างผู้ประกันตน ม. 33 จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 3,000 บาท ถือว่าเป็นเงินหมุนเวียนในเบื้องต้น พร้อมฝากผู้ว่าราชการจังหวัด หากมีคำสั่งปิดสถานที่หรือปิดตลาด ก็ขอให้มีมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนด้วย 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาเตียงผู้ป่วย ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด จัดพื้นที่ที่เป็นโรงพยาบาลหลัก สามารถจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ทีมหมอและพยาบาลที่มีอยู่สามารถดูแลได้เพิ่มเติม รวมทั้งให้มีการยกระดับขีดความสามารถเตียงในโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองหรือสีแดงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสนับสนุนภาคเอกชนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในโรงงานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ นายกรัฐมนตรียืนยันด้วยว่า เวชภัณท์ต่างๆ ทั้งยารักษา ยาฟาวิพิราเวียร์ ออกซิเจนและถังออกซิเจน มีเพียงพอ รวมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลป้องกันการกักตุนสินค้าด้วย หากจังหวัดไหนขาดเหลือสิ่งใดก็สามารถยื่นของบประมาณ ตามลำดับขั้นตอนได้  รวมทั้งแผนการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆยังคงเป็นไปตามนโยบาย

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าสิ่งสำคัญในขณะนี้คือ การเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง ซึ่งจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข DMHTT อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องดูและประสิทธิภาพการให้บริการทั้งในส่วนของโทรศัพท์สายด่วน Call Center ศูนย์พักคอย การจัดให้มีทีมดูแลประชาชนตามหมู่บ้าน เพื่อนำผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษาให้มากขึ้น ลำดับต่อไปที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอยากเห็นคือ หมู่บ้านสีฟ้าที่ ประชาชนและชุมชน ช่วยเหลือแบ่งปันดูแลซึ่งกันแลกัน ร่วมกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

“ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ ทุกคนคือทีมประเทศไทย ขอชื่นชมความเสียสละ ความร่วมมือในการช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาด ทุกคน คือ คนไทย รวมไทย สร้างชีวิต ต้านภัยโควิด  ซึ่งได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลมาตลอด ยืนยันรัฐบาลยังทำงานอย่างเข็มแข็มร่วมกัน” นายอนุขากล่าว

‘ราเมศ’ เผย เปิด เพิ่ม 3 ช่องทาง ร้องทุกข์ถึง ‘นายชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภา

นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงการร้องทุกข์ต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ได้มีการเปิดเพิ่มอีก 3 ช่องทางว่า

ที่ผ่านมามีการร้องทุกข์ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของนายชวน ที่ได้กล่าวไว้นับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง คือต้องการให้รัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติเป็นศูนย์กลางในการรับฟังปัญหาประชาชน ที่ได้มาเสนอต่อสภา เพื่อส่งต่อไปยังฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารก็ใช้สภา ส่งผ่านไปยังประชาชนได้ ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นผู้เลือกฝ่ายบริหาร และเป็นศูนย์กลางรับฟังปัญหาของประชาชน ซึ่งปัญหาชาวบ้านจะต้องได้รับการแก้ไข ส่งต่อ ประสาน ติดตาม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐดำเนินการแก้ปัญหาให้กับประชาชนต่อไป
และในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ช่องทางในการสื่อสาร การรับฟังเสียงของประชาชนไม่ใช่มีเพียงช่องทางที่เป็นการส่งเอกสารเป็นหนังสือมายังประธานรัฐสภา แต่ประชาชนจำนวนมากใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย  เป็นจำนวนมากในการสื่อสาร เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร เรื่องการเดินทาง 
นายราเมศ กล่าวต่อว่า จึงเป็นที่มาให้มีการเปิดเพิ่มช่องทางโซเชียลมีเดีย  เพื่อมารองรับในการร้องทุกข์ของประชาชน โดยเพิ่มอีก 3 ช่องทาง

1. ทางเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ชื่อว่า “ร้องทุกข์ ถึง ประธานรัฐสภา” https://www.facebook.com/ร้องทุกข์-ถึง-ประธานรัฐสภา-708223946639537/  

2.ทาง LINE Official Account ชื่อว่า “ร้องทุกข์ – ปธ รัฐสภา” https://lin.ee/1p41ny1 

3.ทาง ทวิตเตอร์ ชื่อว่า “ร้องทุกข์ ถึง ประธานรัฐสภา”   @chuanforpeople 

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ก็จะเป็นอีกช่องทางที่จะได้อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน โดยนายราเมศกล่าวตอนท้ายว่า ตนจะเป็นผู้ดูแลรับเรื่องราวร้องทุกข์ด้วยตนเอง ยินดีรับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยให้เขียนข้อความ 
-ถึง ประธานรัฐสภา
-เล่าเรื่องราวที่ต้องการร้องทุกข์
-ระบุที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อติดต่อกลับ
ย้ำว่าทุกเรื่องราว จะถึงมือ ประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ทุกเรื่อง

'ศ.ดร.กนก' ยกเคส สธ.ทวงงบ 6.8 พันล้าน สะท้อน การทำงาน สงป. ไม่ตอบโจทย์ภาวะวิกฤต ชี้ อนุมัติงบล่าช้าในยุคโรคระบาด เดินพันถึงชีวิต ปชช. แนะ ครม. ออกกติกายกเว้นระเบียบที่เป็นอุปสรรค หวัง ขรก.ยึด ปชช.เป็นที่ตั้ง พาชาติพ้นภัย

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าในการเบิกงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 6.8 พันล้านบาท จนมีการทำหนังสือทวงถามไปยังสำนักงบประมาณ และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะว่า เป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาระบบราชการและการปฏิบัติงานของข้าราชการที่รัฐบาลต้องนำมาทบทวน เพื่อปรับปรุงให้การอนุมัติงบประมาณในยามวิกฤต ให้สอดรับกับสถานการณ์ ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับระเบียบราชการ จนลืมนึกถึงชีวิตประชาชน จากคำชี้แจงของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่ระบุว่า “…เราไม่สามารถอนุมัติงบประมาณสำหรับการดูแลคนไข้ที่มากขึ้นได้ เพราะในระเบียบกำหนดว่าหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 1 คน ทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน ก็จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายหรือค่าล่วงเวลาให้ตามจำนวนเวลาที่ทำงานแต่ไม่สามารถเบิกได้เพิ่มขึ้นหากหมอต้องดูแลคนไข้มากขึ้น” ยิ่งสะท้อนว่า สำนักงบประมาณยึดระเบียบราชการเป็นสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือสำนักงบประมาณคิดถึงความปลอดภัยของประชาชนบ้างหรือไม่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณยืนยันชัดเจนว่าสำนักงบประมาณถือความถูกต้องของกระบวนการปฏิบัติงานตามระเบียบราชการมาก่อนผลลัพธ์ที่จะเกิดกับประชาชน

ศ.ดร.กนก กล่าวด้วยว่า การตอบโต้ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าความไว้วางใจระหว่างส่วนราชการมีน้อย กรณีนี้คือสำนักงบประมาณไม่เชื่อเรื่องความถูกต้องของการขอเบิกงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเอกสารชี้แจงไม่ถูกต้องและครบถ้วนสำนักงบประมาณไม่สามารถที่จะอนุมัติการเบิกจ่ายนั้นได้ คำถามของประชาชนต่อเรื่องนี้คือ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไม่ได้อยู่ในความคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาของสำนักงบประมาณเลยหรือ ระเบียบราชการและกฎเกณฑ์ของการบริหารราชการเป็นเรื่องจำเป็น และถ้าออกแบบมาเพื่อใช้ในสถานการณ์ปกติทั่วไปที่เวลาหรือความรวดเร็วไม่ส่งผลต่อการแก้ปัญหา แต่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ความเร็วของการแก้ปัญหาสำคัญมากเพราะภายในระยะเวลาเพียง 15 วัน ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้มาก คำถามคือสำนักงบประมาณคิดถึงเรื่องความเร่งด่วนของการอนุมัติงบประมาณแค่ไหน ถ้ากฎระเบียบปัจจุบันเป็นอุปสรรคทำให้สำนักงบประมาณทำงานได้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์ ทำไมสำนักงบประมาณไม่หารือรัฐบาล เพื่อขอมติครม.ยกเว้นการใช้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคนั้น

“ตัวอย่างกฎระเบียบการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายหรือค่าล่วงเวลาของแพทย์กำหนดตามชั่วโมงการทำงานในสถานการณ์ปกติกฎระเบียบนี้ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในสถานการณ์วิกฤติขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยมากมหาศาลความเร็วของการตรวจผู้ป่วยสร้างแรงกดดันต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก สำนักงบประมาณไม่คิดที่จะปรับกฎระเบียบว่าด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าล่วงเวลาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤตนี้บ้างเลยหรือผมนำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาอธิบาย เพื่อตั้งประเด็นเกี่ยวกับระบบราชการและการปฏิบัติราชการของข้าราชการที่ตามไม่ทันสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เหมือนเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครที่ทนไม่ไหวกับระเบียบราชการ จึงออกมาพูดว่า“ถ้าระเบียบทำให้ประชาชนต้องตายโปรดจงก้าวข้ามระเบียบนั้น ผมมั่นใจว่าสำนักงบประมาณมีคนเก่งจำนวนมากที่จะเสนอแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคและสร้างปัญหาความล่าช้าได้ในเวลาอันสั้น ผมเชื่อว่าถ้าข้าราชการประจำ มีใจอยู่กับประชาชนและยึดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ ประเทศไทยไม่เพียงแต่จะผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้แต่ยังจะเจริญก้าวหน้าอีกมาก” ศ.ดร.กนก ล่าว

“ตั๊น จิตภัสร์” สั่งลุย อุดหนุนมังคุดเกษตรกรเมืองคอน ไม่ผ่านล้ง 4 ตัน ให้ทีม ส.ก.ปชป. ส่งต่อปันน้ำใจ ให้ผู้รับผลกระทบในชุมชนต่างๆ ทั่วกทม.สู้โควิด-19  ได้สองต่อช่วยระบายผลผลิตชาวสวนได้เงิน-ชาวกทม.ได้ทานผลไม้สด

ที่พรรคประชาธิปัตย์ น.ส. จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์มังคุดในจ.นครศรีธรรมราชราคาตกต่ำจากผลลิตล้นตลาด ว่า  ตนได้จัดทำโครงการ “อุดหนุนเกษตรกร ซื้อมังคุดเมืองคอน ปันน้ำใจ สู่ชุมชน กทม. สู้โควิด-19”  โดยการช่วยรับซื้อมังคุดจากเกษตรกรชาวสวนมังคุดในจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง หรือล้งผลไม้ จำนวน4,000 กิโลกรัม(กก.)หรือ4 ตัน

เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวสวนมังคุดก่อนที่จะเน่าเสีย และเป็นการช่วยระบายผลผลิต เป็นส่งนหนึ่งของแก้ไขปัญหามังคุดราคาตกต่ำ เพื่อนำมาส่งมอบให้อดีต สก. และทีมงานสมาชิกพรรคเพื่อนำไปกระจายแจกจ่าย แบ่งปันความสุขต่อให้แก่พี่น้องประชาชนผู้กักตัวอยู่ที่บ้าน และผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ในชุมชนต่างๆทั่วกรุงเทพฯ โดยจัดเตรียมไว้กว่า 2,000 ชุด ในเวบา 15.00 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค.นี้ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ถ.เศรษฐศิริ ทั้งนี้ มังคุดเป็นผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซี สูงเหมาะต่อการรับประทานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ตามหลักทานอาหารผลไม้ให้เป็นยาด้วย

"กรณ์" ย้ำ 5 ข้อเสนอ ปลดล็อก “ระบบราชการรวมศูนย์” ทางออกช่วยคนไทยแก้วิกฤตโควิด  แนะนำเทคโนโลยีและ Data Management มาใช้ทุกขั้นตอน เพื่อให้ทันต่อการรับมือวิกฤตเร็วที่สุด 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงการบริหารจัดการในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 โดยใช้ระบบราชการรวมศูนย์ ว่ากำลังจะทำให้คนไทยตาย เพราะแม้หลายเรื่อง นโยบายออกมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงประชาชนก็ยังเข้าไม่ถึงผลลัพธ์ของทางออกดังกล่าวเลย การรวมศูนย์อำนาจทำการแก้ปัญหาให้อุ้ยอ้าย ล่าช้า และสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด ช้าไปวันสองวันอาจมีผลถึงชีวิตได้ 

ซึ่งที่ผ่านมา พรรคกล้าพยายามผลักดันมาอย่างน้อย 2 เดือนให้รัฐบาล “ปลดล็อคระบบราชการรวมศูนย์” มาแล้วหลายเรื่อง ตั้งแต่การยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกฯ ไปจนถึงข้อเสนออื่นๆ ซึ่งตระหนักดีว่า หลายข้อทำแล้ว แต่ผลยังไม่ปรากฎชัดในภาคปฏิบัติ ได้แก่
1. ปลดล็อก การเข้าถึงยาฟาวิพิราเวีย 
2. ปลดล็อก ระบบการตรวจโควิดด้วย antigen test แทนคอขวด PCR 
3. ปลดล็อก ระบบ Home Isolation 

แทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาทีละปม ซึ่งช้าเกินไปมาก รัฐบาลต้อง "โอนอำนาจหน้าที่ดูแลประชาชนลงไปในระดับท้องถิ่นโดยด่วน” ซึ่งคำว่า ‘ท้องถิ่น’ นี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่สั่งงานไปให้ผู้ว่าฯ แต่ต้องลงไปถึงระดับ อปท. เลย เขาใกล้ปัญหามากกว่า ใกล้ประชาชนมากกว่า และงบประมาณก็มีในมือ วิธีการทางกฎหมายที่จะทำได้คือ การออกพระราชกำหนดเร่งด่วน ซึ่งคือ 

4. ออก พ.ร.ก.ปลดล็อก เงื่อนไขอุปสรรคทางราชการเพื่อแก้วิกฤตโควิด 

มองง่ายๆ คือ ทุกศูนย์ตรวจ Rapid Antigen Test ในทุกพื้นที่ เมื่อตรวจพบเชื้อ เขาควรมีสิทธิมอบ ‘กล่องรักษาโควิด’ ถึงมือผู้มีผลติดเชื้อได้ทันที ในกล่องนี้ ควรมีทั้งยารักษาอาการต่างๆ สมุนไพรไทย และยา favipiravia พร้อมอุปกรณ์วัดไข้และวัดออกซิเจน แต่วันนี้กลับต้องรอส่วนกลางเป็นผู้มาตามแจก ช้าก็ช้า มาถึงก็ต้องแจกทีละบ้าน ขอความร่วมมือจากท้องถิ่นอยู่ดีว่าบ้านผู้ป่วยอยู่ไหน 

แม้แต่ระบบการฉีดวัคซีน ภาพความแออัดที่ปรากฏที่บางซื่อนั้นสะเทือนใจทุกคนที่เห็นมาก
นอกจากระบบจัดคิว ทำไมรัฐบาลไม่กระจายการฉีดลงไปให้เขตหรือแม้แต่เอกชนดูแล หรือเป็นเพราะการเมืองระหว่างพรรคยังเป็นอุปสรรค 

5. ปลดล็อก ระบบจัดการคิววัคซีนให้เอกชนบริหารจัดการ 

ลองดูสถิติการฉีดวัคซีน วันธรรมดาฉีดได้ 300,000 เข็มหรือมากกว่า พอวันหยุดเสาร์อาทิตย์ลดลงเหลือวันละ 80,000! ถ้าราชการไม่ไหว วันหยุดต้องพัก ก็ควรเปิดให้คนอื่นเข้ามาช่วย นี่คือ สงครามโรคระบาด และเป็นสงครามที่ข้าศึกโควิดไม่พักรบตามเวลาราชการ 

หัวหน้าพรรคกล้า เน้นย้ำว่า ทั้ง 5 ข้อนี้จะปลดล็อกให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รัฐต้องนำเทคโนโลยีและ Data Management มาใช้ในทุกขั้นตอนต่อจากนี้ เพื่อให้ทันต่อการรับมือวิกฤตโดยเร็วที่สุด 

(ลิงค์ ข้อเสนอ 5 ข้อ https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=366522731502961&id=100044357112719&sfnsn=mo)
( ลิงค์จดหมายเปิดผนึก https://www.facebook.com/100044357112719/posts/351006703054564/?d=n
( ลิงค์ปลดล็อก Antigen test kit https://www.facebook.com/100044357112719/posts/355768149245086/?d=n )

'วราวุธ' สั่งด่วน ผ่อนมาตรการ ปิดอุทยานฯทั่วประเทศนาน 2 เดือน ลดผลกระทบโควิด-19

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นางสริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด ร้องเรียนถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้ทบทวนยกเลิกคำสั่งปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ดประจำปี เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ประกอบด้วย เกาะเสม็ด เขาแหลมหญ้า และหาดแม่รำพึง เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.64 ถึง 30 ก.ย.64 เป็นการปิดเพื่อฟื้นฟูเหมือนกันทั่วประเทศ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และชาวบ้านกว่า 900 หลังคาเรือน ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ขณะนี้ ว่า 

ตนได้รับทราบเรื่องดังกล่าวก่อนอื่นต้องขอโทษประชาชนและผู้ประกอบการ และต้องขอขอบคุณที่ได้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าว จึงได้รีบสั่งการไปยังนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แล้วว่า ขอให้ทางกรมอุทยานพิจารณายกเว้นมาตรการดังกล่าวไปจนกว่าสถานการณ์ โควิด-19 และการท่องเที่ยวจะกลับมาได้เป็นปกติ "ต้องขอโทษพี่น้องประชาชนที่กรมอุทยานทำให้ต้องเดือดร้อนแต่เมื่อทราบความเดือดร้อนก็ได้สั่งการเพื่อแก้ปัญหาในทันที" 

นายวราวุธ กล่าวว่า ฉะนั้นจะเปิดการท่องเที่ยวอุทยานให้ได้เหมือนเดิม โดยยกเว้นมาตรการที่ให้ปิดอุทยานเพื่อฟื้นฟูเป็นเวลา 2 เดือนนี้ไปก่อน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเคยออกมาในช่วง สถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังเป็นปกติ มีการท่องเที่ยวมากตลอดทั้งปี ได้กำชับไปยังอธิบดีกรมอุทยานเพื่อแจ้งทุกอุทยานทั่วประเทศให้ดำเนินการในทันที แต่อย่างไรก็ตามอุทยานบางแห่งที่จะต้องปิดตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น หมู่เกาะสิมิลันที่เป็นฤดูมรสุม ภูกระดึงเป็นช่วงฤดูฝน ก็ให้ปิดไปตามปกติ และขอย้ำว่า ถึงแม้จะเปิดอุทยานให้ท่องเที่ยวได้ตามปกติก็ต้องเข้มงวดมาตรการป้องกัน โควิด-19 ดูแลเรื่องความสะอาดให้ดี

“บิ๊กตู่” เรียกถก ผู้ว่าฯ13 จังหวัดสีแดง รับมือ-เร่งแก้โควิด เผยวานนี้ บ่นกลางที่ประชุม ครม.ขอโฆษกฯทุกกระทรวงเร่งสื่อสารทำความเข้าใจ “เคือง” ใครไม่อยากทำงานก็ลาออกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรึ และ รมว.กลาโหม ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ว่า วันที่ 28 ก.ค.ภายหลังเสร็จภารกิจ เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่ม ถวายพระพรชัยมงคล และถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 08.30 น.แล้ว เวลา 13.00 น.พล.อ.ประยุทธ์ เรียกประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดสีแดงเข้ม 13 จังหวัดผ่านระบบ zoom จากบ้านพัก ภายในกรมทราบราบ มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) เพื่อหารือถึงแนวทางการรับมือกับการแพร่ระบาด รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การตั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วานนี้ (27 ก.ค.) ช่วงหนึ่งในการประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะทีมโฆษกกระทรวงทุกกระทรวง ช่วยกันสื่อสารทำความเข้าใจข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรการการแก้ปัญหา โควิด-19 ขอให้ทุกคนช่วยกันสื่อสาร แต่ถ้าไม่อยากทำก็ให้ลาออกกันไป 

'บิ๊กตู่' สั่ง ใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปราบ 'เฟกนิวส์' เด็ดขาด

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุมครม. วันนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน หรือข่าวปลอม ซึ่งปัจจุบันแต่ละกระทรวงก็มีภารกิจคอยมอนิเตอร์ข่าวสารที่บิดเบือน หรือเฟกนิวส์ อยู่แล้ว โดยบางกระทรวงได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมหรือศูนย์การชี้แจงข่าวต่างๆ แล้ว โดยนายกฯ ขอให้ทุกกระทรวงได้ดำเนินการอย่างแข็งขัน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันเรื่องข่าวปลอมเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความกังวล 

"นอกจากนี้ จากข้อกำหนดฉบับที่ 27 ตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน ที่ได้ประกาศใช้แล้ว ได้ระบุถึงการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน นายกฯ จึงได้ให้นำมาตรการนี้มาใช้ให้มีประสิทธิภาพและให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด" นายอนุชา กล่าว 

“บิ๊กป้อม” ย้ำ มท. ประสาน กทม.-พม. ลงช่วยดูแลคนเร่ร่อน พร้อม เร่งจัดตั้งพื้นที่แยกรักษาตัวในชุมชน ( CI ) ในทุกเขต 

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับกระทรวงมหาดไทย  และให้ประสาน กทม. เร่งจัดตั้งพื้นที่พักแยกรักษาตัว ( Community Isolation / CI ) เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยสีเขียวในชุมชนต่างๆให้ครอบคลุมทุกจังหวัดเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.ต้องเร่งจัดหาพื้นที่ตั้ง CI ให้ได้อย่างน้อย 1 แห่งในทุกเขต รวมทั้งให้เปิดพื้นที่พักคอย ดูแลและคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อในทุกชุมชน ที่ร้องขอการสนับสนุนมากขึ้น พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ มกระมทรวงมหาดไทย ประสานกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ตำรวจ ร่วมกันลงพื้นที่ไปช่วยเหลือดูแลคนเร่ร่อน คนด้อยโอกาสใน กทม. นำเข้าพื้นที่ควบคุมโรคดูแลคุณภาพชีวิต เพื่อมิให้เกิดปัญหาการติดกระจายเชื้อหรือเจ็บป่วยถึงชีวิตในที่สาธารณะ  

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำฝ่ายปกครอง ประสานขอให้ กทม. โดยเขตต่างๆ เป็นหลัก ตอบสนองประชาชนต่อสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคด้วยความตื่นตัวต่อเนื่องกันไป โดยประสานการทำงานกับทุกส่วนราชการในพื้นที่อย่างใกล้ชิดมากขึ้น รวมทั้งลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้การสนับสนุนและร่วมช่วยเหลือดูแลกันและกัน ในการจำกัดและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค กทม.ให้ได้โดยเร็ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top