Thursday, 24 April 2025
NEWS FEED

นบ.ยส.24 โชว์ผลงานสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญรอบ 6 เดือนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด Seal Stop Safe ของรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

(4 เม.ย. 68) เวลา 1000 น. พลโทบุญสิน  พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2/ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ สกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24) มอบหมายให้  พลตรีฉัฐชัย  มีชั้นช่วง  ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่210/รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ สกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ผบ.มทบ.210/รอง ผบ.นบ.ยส.24 (2)) เป็นประธานการประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญรอบ 6 เดือน (ต.ค.67 - มี.ค.68) และหารือ ประสานงาน/บูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีหน่วยงาน/ส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวน 15 หน่วย และหน่วยงาน/ส่วนราชการนอกพื้นที่จังหวัดนครพนม ผ่านระบบประชุมทางไกล Video Conference (ผ่าน Zoom meeting) จำนวน 54 หน่วย ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยบัญชาการ สกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 จังหวัด 25 อำเภอชายแดนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพระยอด กองบังคับการมณฑลทหารบกที่210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติด/เข้ามาในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ตอนในอย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบเครือข่ายและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการเชื่อมโยงกับบุคคลจาก สปป.ลาวและมีคนไทยในพื้นที่ชายแดนเป็นผู้ขนส่ง โดยได้รับค่าจ้างในราคาที่สูงซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญโดยพบว่าขบวนการลักลอบ ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ ซึ่งพฤติการณ์ส่วนใหญ่จะนำยาเสพติดมาพักคอยในพื้นที่เมืองชายแดน ของ สปป.ลาว ก่อนจะใช้เรือลำเลียงมาตามแม่น้ำโขง บางพื้นที่จะนำยาเสพติดขึ้นไปพักคอยบนเกาะดอน ก่อนลักลอบนำเข้ามาในฝั่งไทยจะใช้วิธีการนำยาเสพติดที่อำพรางมาในรูปแบบต่างๆ (รูปปั้น สินค้าทางการเกษตร สินค้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริม) ไปกระจายตามพื้นที่ และให้กลุ่มลำเลียงมารับตามจุดที่นัดหมาย เพื่อขนย้ายด้วยยานพาหนะขนาดใหญ่หรือยานพาหนะส่วนบุคคลไปตามเส้นทางชนบทที่ยากต่อการตรวจสอบ ก่อนจะนำยาเสพติดมาพักคอยตามปั๊มน้ำมัน บ้านพัก หรือรีสอร์ทในพื้นที่อำเภอตอนในต่อไป

สรุปสถิติและการปฏิบัติที่สำคัญแต่ละมาตรการตั้งแต่ 1 ตุลาคม2567 ถึง ปัจจุบัน ดังนี้
1. มาตรการสกัดกั้น : มอบให้ กองกำลังป้องกันชายแดน เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก โดยมีสถิติการซุ่มเฝ้าตรวจ 18,838 ครั้ง,ลาดตระเวนทางบก 16,351 ครั้ง,ลาดตระเวนทางน้ำ 169 ครั้ง,จัดตั้งจุดตรวจด่านตรวจ 4,656 ครั้งรายละเอียดตามจอภาพ/ เป็นผลทำให้สามารถสกัดกั้นยาเสพติดที่สำคัญในพื้นที่ ณ แนวชายแดนได้ แยกเป็นยาบ้า จำนวน 64,000,005 เม็ด, ไอซ์ น้ำหนัก 2,603 กก., เฮโรอีน น้ำหนัก 124 กก. 
2. มาตรการปราบปราม : มอบให้ ตำรวจภูธรภาค 3, ภาค 4 และตำรวจปราบปรามยาเสพติดเป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก โดยมีการปิดล้อมตรวจค้น 231 ครั้ง ติดตามจับกุม ขยายผล และยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด จำนวน 73 คดี 
รวมผลการตรวจยึดจับกุมตามมาตรการสกัดกั้นและปราบปราม ณ ปัจจุบัน มีการตรวจยึดจับกุม จำนวน 607 ครั้ง ผู้ต้องหา 848 ราย ของกลาง ยาบ้า 86,767,305 เม็ด,ไอซ์ 3,124.644 กิโลกรัม, เฮโรอีน 124 กก. เคตามีน 776.87 กิโลกรัม และอื่นๆ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นมากถึง ห้าพันเก้าร้อยล้านบาทเศษ (5,936,581,800 บาท)
3. มาตรการป้องกัน : มอบให้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก     โดยมีการปฏิบัติการจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์ จำนวน 1,896 ครั้ง, ฝึกอบรมพัฒนา ชรบ. จำนวน 116 ครั้ง,การปฏิบัติงานของ ชรบ. จำนวน 872 ครั้ง, การจัดระเบียบสังคม จำนวน 748 ครั้ง,  การอบรมและการสร้างชุมชนเข้มแข็ง จำนวน 66 ครั้ง
4. มาตรการบำบัดรักษา : มอบให้ สาธารณสุขจังหวัด เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก โดยมีการดำเนินโครงการชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) จำนวน  2,852 ราย ดำเนินโครงการมินิธัญญารักษ์ จำนวน 1,421 ราย ดำเนินการรายงานในระบบข้อมูลการบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ จำนวน 8,073 ราย ควบคุมตัวบุคคลคลุ้มคลั่ง จำนวน 300 ราย 
5.มาตรการบูรณาการ : เน้นให้ทุกส่วนราชการ บูรณาการร่วมกันทั้งงานด้านการข่าว และแผนงานโครงการ ต่างๆ โดยมีการดำเนินการจัดการประชุมขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหายาเสพติด 245 ครั้ง ดำเนินการประชุมโต๊ะข่าวแลกเปลี่ยนข้อมูล 106 ครั้ง กิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด 94 ครั้ง
6. มาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน : มอบให้ ส่วนบังคับบัญชา, ส่วนอำนวยการ ของ นบ.ยส.24, ปปส.ภาค 3 และ ปปส.ภาค 4 เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก โดยมีการพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 32 ครั้ง ดำเนินการประชุมแลกเปลี่ยนข่าวสาร จำนวน 2 ครั้ง ประสานการจับกุม และส่งมอบผู้ต้องหาข้ามประเทศ จำนวน 1 ครั้ง
ซึ่งมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย ตั้งแต่ห้วงเปิดปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด “Seal Stop Safe” ผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน (1 ก.พ. – 31 ก.ค. 68) หน่วยมีผลการปฏิบัติตามมาตรการสกัดกั้นและปราบปราม ณ แนวชายแดน โดยทำการซุ่มเฝ้าตรวจ 6,540 ครั้ง, ลาดตระเวนทางน้ำ? 64 ครั้ง, ลาดตระเวนทางบก 5,383 ครั้ง, จัดตั้งจุดตรวจด่านตรวจ 1,530 ครั้ง ทำการปิดล้อมตรวจค้น 47 ครั้ง ติดตามจับกุม ขยายผล และยึดทรัพย์สิน คดียาเสพติด จำนวน 28 คดี รวมผลการตรวจยึดจับกุมตั้งแต่ห้วงเปิดปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด “Seal Stop Safe” (1 ก.พ. – 31 ก.ค. 68) มีการตรวจยึดจับกุมจำนวน 216 ครั้ง/ ผู้ต้องหา 272 ราย ของกลาง ยาบ้า 26,970,802 เม็ด,ไอซ์ 1,216.336 กิโลกรัม, และอื่นๆ

เด​วิท​ โชคชัย​ มุกดาหาร​ รายงาน​ 092-5259777​

สมาคมนักรบนิรนาม 333 จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 พร้อมพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่นักรบผู้ล่วงลับ

(5 เม.ย. 68) สมาคมนักรบนิรนาม 333 ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี พร้อมพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่นักรบนิรนามผู้ล่วงลับ ณ สำนักงานรักษาความปลอดภัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) เลขที่ 27 ซอยรามอินทรา 25 เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกของสมาคมเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเคารพ รำลึก และสามัคคี การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอก สายหยุด เกิดผล ที่ปรึกษาอาวุโสกิตติมศักดิ์ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมฯ และ พลเอก วิมล วงศ์วานิช ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ซึ่งให้การสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมมาอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมเริ่มต้นในเวลา 08.00 น. โดยเปิดให้สมาชิกลงทะเบียนเข้าร่วมงานและชำระเงิน จากนั้นเวลา 10.00 น. ได้มีการประกอบพิธีสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่นักรบนิรนามผู้เสียสละ ซึ่งสร้างความสงบและความสำนึกในคุณค่าของผู้ที่เคยอุทิศตนเพื่อชาติ ต่อมาในเวลา 11.00 น. ได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 โดยมีการรายงานผลการดำเนินงานของสมาคมในรอบปี 2567 รวมถึงการนำเสนอรายงานงบดุลและบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตลอดจนการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปี 2568 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอความคิดเห็น และหารือในประเด็นต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาสมาคมให้ก้าวหน้าต่อไป หลังเสร็จสิ้นภารกิจทางวิชาการในช่วงบ่าย สมาชิกทุกท่านได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกิจกรรมสังสรรค์ในบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง โดยมีการร้องเพลงคาราโอเกะ สร้างความสนุกสนานและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สมาคมนักรบนิรนาม 333 ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความสามัคคีระหว่างสมาชิก พร้อมทั้งรำลึกถึงผู้ที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ อันเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ของสมาคมอย่างแท้จริง

ภาพ/ข่าว วะจะนะชัย วาจาพารวย / รายงาน

ผิดมหันต์!! แนวคิด ‘ปล่อยธนาคารยึดคอนโดฯ’ หลังเกิดแผ่นดินไหว เพราะคือจุดเริ่มต้นของ ‘คดีความยืดเยื้อ’ เสียประวัติ-ติดเครดิตบูโร

(5 เม.ย. 68) จากเฟซบุ๊ก Joe Amatyakul ได้โพสต์ข้อความเตือนใจกลุ่มคนที่กำลังผ่อนคอนโดฯ แต่เริ่มมีความคิดจะปล่อยให้ธนาคารยึด หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ว่า…

“หลังแผ่นดินไหว เห็นน้อง ๆ บางคนโพสต์ว่า ย้ายออกจากคอนโด จะไม่ผ่อนต่อแล้ว จะทิ้งให้ ธ.ยึดไปเลย…

“อย่าทำเด็ดขาด…อ่านโพสต์พี่โจก่อนครับ…

“ต้องแยกแยะก่อนว่า การซื้ออสังหาโดยผ่อนกับ ธ. ตัวคุณคือ ‘ผู้ถือกรรมสิทธิ์’ ในบ้าน/คอนโดนั้น ส่วน ธ.อยู่ในฐานะ ‘เจ้าหนี้’ ที่ให้คุณยืมเงินเพื่อไปจ่ายให้ผู้ขาย…

“ธ.ไม่ใช่เจ้าทรัพย์ ธ.ต้องการแค่ ‘ดอกเบี้ย’ (และเงินต้น) จากคุณอย่างครบถ้วน ธ.ไม่ต้องการบ้านของคุณ…

“การที่คุณขนของออกจากคอนโด ปล่อยให้เค้ายึด แล้วคิดว่านั่นคือจบ.. มันไม่จบครับ ‘คดีเพิ่งเริ่มต้น’ 
ธ.ไม่สนว่าคุณจะอยู่จะไป แต่เมื่อคุณหยุดจ่าย ธ.จะทวง พอเยอะเข้า ธ. ก็จะดำเนินคดีให้คุณจ่ายทั้งต้นทั้งดอก…

“เมื่อคุณไม่จ่าย ธ.ก็ฟ้องยึดบ้านไปขายทอดตลาด…

“ส่วนใหญ่ก็จะขายได้ต่ำกว่ายอดหนี้เยอะ ซึ่ง ธ.ไม่หยุดแค่นั้น จะฟ้องคุณซ้ำอีกเพื่อเรียกส่วนที่ยังขาด ถ้าคุณไม่จ่ายอีก ก็จะเข้าสู่ขั้นตอน ‘สืบทรัพย์’ ว่าคุณมีทรัพย์อะไรที่ไหนบ้าง ตามยึดที่ไร่ที่นาบ้าง ตามยึดรถบ้าง โดนอายัดเงินเดือนก็มี จนกว่าเจ้าหนี้จะได้ครบทั้งต้นทั้งดอก…

“สรุปคืออย่าหาทำนะครับ จะเป็นคดีติดตัวเปล่า ๆ ทั้งเครดิตบูโรก็จะพังเละเทะทำอะไรไม่ได้ไปอีกนาน 
จะกัดฟันส่งต่อ จะขาย จะปล่อยเช่า จะลดแลกแจกแถมอะไรก็เหอะ แต่ปล่อยให้ ธ.ยึดไม่ได้เด็ดขาด คดียาว…

“เป็นหนี้ก็ต้องใช้ ไม่มีหนี้คือดีที่สุด แต่ถ้าพลาดไปแล้วก็ต้องหาทางลงแบบถูกวิธี ปล่อยทิ้งไม่ได้นะครับ”

'เจริญชัย' ปฏิวัติด้วยนวัตกรรม (NIA) 'Platform Solar Transformer AI + Solar + Energy Storage + EV' Platform Solar AI ลดค่าไฟฟ้า 5 - 100%

เมื่อวันที่ (21 มี.ค.68) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI-CMU) จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ภาครัฐและเอกชนสนับสนุน มาตรฐานการจัดการพลังงานในอาคารและโรงงานควบคุม ลดค่าไฟฟฟ้า 5-100% ลดคาร์บอน ลดพลังงาน ลดอุณหภูมิโลก พร้อมลงทุน 0 บาท”และ BOI สนับสนุน 50% Platform Solar Transformer AI + Solar + Energy Storage ณ ห้องประชุมประเสริฐฤกษ์เกรียงไกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่แนวทางการจัดการพลังงานยุคใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในสถานประกอบการทุกระดับ โดยไม่ต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้น

คุณประจักษ์  กิตติรัตนวิวัฒน์  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด กล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ดำเนินงานวิจัยหม้อแปลง IoT และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage ด้วยโปรแกรม Energy Management System  ภายใต้โครงการ “Low Carbon Transformer ระบบจัดการหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคง จนประสบความสำเร็จ และตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน โรงงานอุตสาหกรรม, โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย, ห้างสรรพสินค้า, ปั๊มน้ำมัน, สถานีอัดประจุ, โรงเรียน, ร้านค้าและบ้านเรือน ในด้าน Net Zero & Near Zero, Peak Demand และ Demand Response และการประหยัดพลังงาน โดยสามารถลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีระยะเวลาคืนทุนภายในเวลา  2 – 5  ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า 

* การประหยัดอยู่ที่การลงทุนและพื้นที่การติดตั้ง Solar
ภายในงาน รองศาสตราจารย์ ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และเปิดเวทีด้วยวิสัยทัศน์ด้านพลังงานสะอาดที่สถาบันฯ ได้พัฒนาและขับเคลื่อนมาโดยตลอด ต่อจากนั้น คุณมัณลิกา สมพรานนนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยเน้นย้ำถึงความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการผลักดันเป้าหมาย Net Zero อย่างจริงจังและยั่งยืน และในงานสัมมนามีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน อาทิ ดร.ณัฐพล รุ่นประแสง จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ที่กล่าวถึงการบังคับใช้มาตรฐานอาคารควบคุม, ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี และ ดร.ณัฐวุฒิ จารุวสุพันธ์ จาก ERDI-CMU ที่นำเสนอระบบ AI บริหารจัดการพลังงานและหม้อแปลง Low Carbon, คุณวิศรุต จันทน์สุคนธ์ จากบริษัท บ้านปู เน็กซ์ อีโคเสิร์ฟ จำกัด ที่สนับสนุนโครงการลงทุน 0 บาท และคุณสถาปนา พรหมบุญ จาก BOI ภาคเหนือที่นำเสนอนโยบายสนับสนุนการลงทุนสูงถึง 50%

การสัมมนาครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านพลังงานเท่านั้น หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการในการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานสะอาดอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในประเด็นการยกระดับมาตรฐานการจัดการพลังงานในอาคารและโรงงานควบคุม ผ่านนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งทั้งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน, BOI ภาคเหนือ, บริษัท บ้านปู เน็กซ์ อีโคเสิร์ฟ จำกัด และ ERDI-CMU  พร้อมร่วมให้การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านพลังงานและการลงทุน โดยเฉพาะหม้อแปลง IoT, ระบบบริหารจัดการพลังงานด้วย AI, และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม และนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมาย Net Zero ที่ทั้งโลกกำลังมุ่งสู่ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

‘อ.เจษฎ์’ ยืนยัน!! ‘ต้นไมยราบ’ ใช้เตือนภัยแผ่นดินไหวไม่ได้ ตอบสนองไวต่อ ‘ลม-น้ำฝน-แมลง’ มากกว่าแรงสั่นแผ่นดินไหว

(5 เม.ย. 68) จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางประเทศเมียนมา แต่ส่งผลกระทบกับไทยในหลายจังหวัดและเป็นสาเหตุของตึก สตง. ถล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและ สูญหายหลายราย หลังจากนั้นในโซเชียลก็ได้มีข้อมูลส่งต่อกันว่า ‘ต้นไมยราบ’ สามารถเตือนแผ่นดินไหวได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ‘อ.เจษฎ์’ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Jessada Denduangboripant’ ว่า….

“ถึงแม้ว่า ต้นไมยราบ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimosa pudica จะถูกตั้งสมญานามให้กว่า เป็น earthquake plant เพราะคิดกันว่ามันน่าจะหุบใบได้ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว พอลองตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่าเป็นความจริงนะครับ ที่บอกว่าคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบเพื่อแจ้งเหตุล่วงหน้า แถมก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ว่า ต้นไมยราบมันสามารถทำเช่นนั้นได้จริง ออกจะเป็นเรื่องเล่า เชื่อตามกันมากกว่า”

“โดยทาง IG ของ wachistudio ซึ่งเป็น content creator ด้านการเพาะพันธุ์และจำหน่ายพืชไม้ประดับ ได้ไปหาข้อมูลและสอบถามคนญี่ปุ่นเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ว่าจริงหรือไม่ที่ชาวญี่ปุ่นปลูกต้นไมยราบเพื่อตรวจเช็กแผ่นดินไหว?”

“ไม่จริงครับ แม้ว่าไมยราบจะเป็นพืชที่ไวต่อการสัมผัส ใบจะหุบเมื่อถูกกระทบ จนบางคนตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเอามาตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้”

“แต่ในความเป็นจริง ไมยราบไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจแผ่นดินไหว เพราะการตอบสนองของมัน อ่อนไหวต่อปัจจัยอื่น ๆ เช่น ลม หรือน้ำฝน หรือการสัมผัสจากสัตว์เล็ก ๆ มากกว่าจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั่นเอง”

“สำหรับการตรวจจับแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นจะใช้เซ็นเซอร์ และระบบเครื่องมือทันสมัย ในการตรวจจับ แทนการที่จะใช้พืช อย่างไมยราบครับสำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ พฤติกรรมของต้นไมยราบกับแผ่นดินไหวนั้น เคยมีการทำในสมัยทศวรรษที่ 1970 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ตามที่มีเรื่องเล่าว่า ใบของต้นไมยราบก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวได้”

“โดยในปี 1977 มีนักวิจัยพยายามวัดค่า Tree Bio-electric Potential (TBP) ด้วยการติดอิเล็กโทรด ขั้วหนึ่งไว้ที่ใบของต้น กับอีกขั้วหนึ่งฝังลงในดิน วัดค่าศักย์ไฟฟ้า electricpotential ระหว่างอิเล็กโทรดทั้งสอง ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ขนาดประมาณ 7.0 จำนวน 28 ครั้ง ซึ่งพบว่ามีอยู่ 17 ครั้งที่แสดงสัญญาณที่ผิดปกติไป และคาดว่าอาจจะเกิดจากการได้รับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า (electric magnetic, EM) ห่างจากดินสู่ราก หรือได้รับประจุไอออนบางอย่างจากอากาศ”

“แต่นักวิจัยก็สรุปว่ายังไม่สามารถจะอธิบายได้ชัดเจนถึงกลไกที่เกิดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะใช้มาทำนายการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่และขนาด นั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก”

“คำสรุปก็คือว่า เรื่อง ‘ต้นไมยราบบอกเหตุแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า’ ก็ไม่น่าจะเป็นความจริง เป็นแค่เรื่องเล่า ไม่ค่อยต่างอะไรกับที่บอกว่าสัตว์ต่าง ๆ สามารถแจ้งเตือนแผ่นดินไหวช่วงหน้าได้ ซึ่งไปทางธรณีวิทยานั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าจริงครับ”

‘ราชกิจจาฯ’ ประกาศ ‘ทางพิเศษบูรพาวิถี-กาญจนาภิเษก’ วิ่งฟรี 7 วัน ช่วย ปชช. ลดค่าครองชีพ ลดมลพิษ จราจรคล่องตัวช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.68) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม 2 ฉบับ มีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 นี้ โดยเปิดให้ประชาชน ‘ขึ้นทางด่วนฟรี’ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดังนี้

1.ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2568

2.ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2568

ตามประกาศกระทรวงคมนาคมทั้ง 2 ฉบับ กำหนดการเปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี รวมระยะเวลา 7 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568

เส้นทางที่เปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี
-ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อม ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี

-ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

สำหรับการเปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี 2 เส้นทางดังกล่าว ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ประเมินว่า จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศ 

โดยการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเส้นทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษประมาณ 2,377,669 คัน จะทำให้กทพ.ไม่ได้รับรายได้ประมาณ 86,128,889 บาท 

แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงินประมาณ 153,424,348 บาท ประกอบด้วย

-มูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ 93,664,900 บาท 
-มูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง 59,759,448 บาท

‘ยูเน็กซ์ อีวี’ ทุ่ม 12,000 ล้านบาท ผุด!! ‘สถานีสับเปลี่ยนพลังงาน’ ในไทย เดินหน้า!! เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัจฉริยะ วาดฝัน!! เข้าตลาดหุ้น NASDAQ

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย. 68) นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ยูเน็กซ์ อีวี จำกัด (UNEX EV) ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้นำเสนอแพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่ (battery swap) รายแรกในประเทศไทย  โดยเล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตในอนาคต เนื่องจากความนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ อีวี ในประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้บริษัทได้ลงทุนมูล 12,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี จากนี้เพื่อนำเสนอแพลตฟอร์ม และสร้างอีโคซิสเต็ม การเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับอีวีสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ระบบขนส่งทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ

ยูเน็กซ์ อีวี จะเข้ามาช่วย แก้ปัญหาและจุดอ่อนสำคัญ (pain point) ของการใช้ยานยนต์อีวีให้ความสะดวกในการใช้งานโดยเฉพาะการใช้งานเชิงพาณิชย์ ที่ต้องใช้รถเป็นเวลานาน และระยะทางไกลในแต่ละวัน  แต่ต้องเสียเวลาในการชาร์จไฟ

ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะนำ ยูเน็กซ์ อีวี เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของอเมริกา ภายในระยะเวลา 2 ปีจากนี้ด้วย ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัจฉริยะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

ล่าสุดบริษัทลงนามกับพันธมิตรหลายส่วนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระบบนิเวศ และการขยายการบริการอย่างยั่งยืนได้แก่ ทั้ง ผู้ผลิตรถยนต์โดยเริ่มจาก  บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรองรับแพลตฟอร์มสับเปลี่ยนอัจฉริยะ และระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ กับรถยนต์ 2 รุ่นแรกพร้อมจำหน่ายได้แก่ MG EP และ MG MAXUS 7

สถานีสับเปลี่ยนพลังงาน โดยเตรียมขยายเครือข่ายการให้บริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยเริ่มจากซัคโก้ ก่อนโดยจะเป็นการลงทุน 15-20 ล้านบาทต่อสถานี และแต่ละสถานีรองรับรถได้ 100 คัน/วัน โดยหากใช้บริการเต็มจะใช้เวลาคืนทุน ประมาณ 3 ปี – 3 ปีครึ่ง โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะมีไม่น้อยกว่า 1,000  สถานี

ส่วนสถาบันการเงิน อย่าง ซูมิโตโม ลิสซิ่ง เข้ามาสนับสนุนทางการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น สำหรับลูกค้า MG EP ลูกค้าสามารถเลือกเริ่มต้นผ่อนได้เพียง 550 บาท/วัน และวางเงินดาวน์ 0%

สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของยูเน็กซ์ อีวี นั้น นายพิทักษ์ กล่าวว่า  ตั้งเป้าว่ายังมีแผนเตรียมเข้าไปนำเสนอและเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ อีวี และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และเรือขนาดเล็กภายใน 3 ปีนี้ เพื่อขยายเครือข่ายอัจฉริยะของสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยให้ได้มากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ

โดยจะเข้าไปทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มรถยนต์อีวีเชิงพาณิชย์ ในจ. ภูเก็ตก่อน จากนั้นจะขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

‘พีระพันธุ์’ มอบ ‘เลขา รมต.’ ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ ส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์จากชาวบ้าน พร้อมแนะพัฒนาด้านคุณภาพ-ความปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (5 เม.ย. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ หลังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะยโสธร ขอรับงบประมาณสนับสนุนในการซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะมาใช้ในพื้นที่

ก่อนการลงพื้นที่ในวันนี้ (5 เม.ย. 68) ได้มีการสั่งการให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน พร้อมพลังงานจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ ซึ่งใช้กระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) เป็นกระบวนการสลายตัวด้วยความร้อนที่ไม่สมบูรณ์ในสภาวะปราศจากออกซิเจนหรือมีออกซิเจนน้อยที่สุด อุณหภูมิที่เหมาะสมสําหรับพลาสติกอยู่ในช่วง 300-500 องศาเซลเซียส โดยความร้อนจะทําให้พันธะเคมีสลายตัว 

ส่วนที่เป็นองค์ประกอบคาร์บอนที่ระเหยได้จะกลายเป็นก๊าซเชื้อเพลิงและบางส่วนที่ถูกควบแน่นจะกลายเป็นของเหลวที่มีลักษณะคล้ายนํ้ามันเตา ซึ่งนํ้ามันดังกล่าวสามารถนําไปใช้ประโยซน์และต่อยอดในการใช้งานได้ เนื่องจากมีค่าความร้อนสูง จึงสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพี่อผลิตความร้อนสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ อีกทั้ง หากมีการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะมีคุณสมบัติเทียบเท่านํ้ามันเชื้อเพลิงสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ทางการเกษตรได้

ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีราคาประมาณ 25,000 บาท แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตอาจจะเกิดสารปนเปื้อนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฎิบัติงานในระยะยาว อีกทั้งตำแหน่งการจัดวางเครื่องมีความเสี่ยงที่อาจจจะเกิดการลุกไหม้ได้ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ไม่เหมาะสม 

นอกจากนั้น น้ำมันที่ผลิตได้มีลักษณะเป็นยางเหนียวที่สามารถเกาะเคลือบบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องยนต์ ถึงแม้จะมีการกลั่นเบื้องต้นแล้ว น้ำมันสามารถใช้ได้เฉพาะกับเครื่องยนต์การเกษตร กระทรวงพลังงานจึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงคุณภาพเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยกับเครื่องยนต์และผู้ใช้งาน

“หลังจากได้รับหนังสือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะยโสธร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งปกติท่านให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคน และคิดว่าเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ จึงไม่อยากให้สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ แค่ในอำเภอชัยบาดาล เพราะถ้าเครื่องกลั่นน้ำมันมีคุณภาพ นำไปใช้งานได้จริง ก็จะสามารถขยายผลไปสู่ระดับประเทศและระดับโลกได้ เพราะการนำขยะมาสร้างมูลค่า ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อีกทาง ซึ่งการผลิตน้ำมันได้เองนี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน…

“แต่ทั้งนี้ เพื่อให้เครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และที่สำคัญต้องมีความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้ดิฉันฯ ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เจ้าหน้าที่กรมธุรกิจพลังงาน และพลังงานจังหวัดลพบุรี ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้น เครื่องกลั่นน้ำมันดังกล่าวยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้ผู้แทน พพ. พิจารณาตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมัน และให้ ธพ. ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันที่ได้จากเครื่อง คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ และจะนำเรื่องเสนอท่านรัฐมนตรีต่อไป” นางสาวอรพินทร์ฯ กล่าว 

กองบัญชาการกองทัพไทย โดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติฯ จัดงาน 'วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล' ประจำปี 2568

(4 เ.ม.ย.) ที่อาคารนิมมาณกลยุทธ ค่ายนิมมาณกลยุทธ กองพันทหารราบที่ 2กรมทหารราบที่ 12รักษาพระองค์ ตำบลแซร์ออ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พลเอก ศักดิ์สิทธิ์  แสงชนินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ  ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นประธานในงาน “วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล” ประจำปี 2568 ของประเทศไทย  โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม รวมทั้งหน่วยงานต่างประเทศ เข้าร่วมงานด้วย อาทิ เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.), องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ สมาคมเก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย  

สืบเนื่องจากสหประชาชาติ ตระหนักดีว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและสรรพาวุธระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก จึงมีมติกำหนดให้วันที่ 4 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล” เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้ตื่นตัว ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทย 

ภายใต้ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย จึงได้จัดกิจกรรมฯ ครั้งนี้ขึ้น เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้ตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายจากทุ่นระเบิด โดยมีกิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การมอบหนังสือส่งมอบและประกาศรับรองพื้นที่ปลอดภัยให้กับจังหวัดสระแก้ว การมอบรางวัลการประกวดวาดภาพระบายสี การจัดบูธนิทรรศการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายจากทุ่นระเบิด การแจ้งเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของทุ่นระเบิด การจัดแสดงเครื่องมือและยุทธโปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน การมอบถุงยังชีพ ขาเทียม รถโยก และเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้พิการซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยทุ่นระเบิด การมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมฯ รวมทั้งสาธิตการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม “วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล” ดังกล่าว นอกจากเป็นการแสดงออกถึงการให้ความร่วมมือของประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะกระตุ้นเตือนให้ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ได้ตระหนักรู้ว่าปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและสรรพาวุธระเบิดที่ตกค้างจากสงครามยังคงส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งภาครัฐไม่ควรทอดทิ้งและต้องดูแลให้ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเหล่านี้ ได้รับความช่วยเหลือ  เท่าที่จำเป็นอย่างทั่วถึง อาทิ ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน การบริการทางการแพทย์ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย  การสวัสดิการเบื้องต้น รวมทั้งการฝึกอาชีพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

กองบัญชาการกองทัพไทย โดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติฯ พร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้อง มีความมุ่งมั่นพร้อมที่จะดำเนินการในทุกด้านเพื่อทำให้พื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดที่ตกค้างดังกล่าว กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย และส่งมอบคืนให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยจะดำเนินการสำรวจและเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้หมดไปจากประเทศไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้โดยเร็ว

ทัพเรือภาคที่ 1 จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 1 (ระดับผู้บริหาร) ครั้งที่ 1/2568

พลเรือโท อาภา  ชพานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 1/ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 1 (ระดับผู้บริหาร) ครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ 68 ณ โรงแรม แคนทารี เบย์ ศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานตามแนวทางการเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพื้นที่ ภายใต้นโยบายและแผนความมั่นคงที่ 17 การเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพื้นที่ ปีงบประมาณ 68 รวมถึงรับทราบปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้องในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยหน่วยงานระดับนโยบาย (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และ จังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อประสานความร่วมมือ และบูรณาการในการแก้ไขปัญหาร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top