Sunday, 11 May 2025
LITE

รวบรวม ‘คนฮอต’ สู้อุณหภูมิร้อนเดือนเมษายน

ร้อน! ร้อน! ร้อน! เข้าเมษายนกันแล้ว ความร้อนก็ยังระอุต่อไป หันมาดูผู้คน โอ้ว! เดือดไม่เป็นสองรองกัน ช่วงนี้มีใครฮอตพอ ๆ กับอุณหภูมิกันบ้าง ไปดู!

เริ่มต้นจาก ส.ส.เจี๊ยบ นครปฐม ‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ เมื่อมีนาคมเธอก็ว่าร้อนแล้ว เข้าสู่เมษายน เธอก็ยังร้อนต่อไป! หลังจากดุเดือดจากเรื่องแบนร้านสุกี้กันไปแล้ว ยังมีก็อกสองตามมา กับการถูกร้องเรียน เรื่องไปร่วมชุมนุมม็อบ REDEM เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมความเป็นส.ส. หรือไม่ หากตรวจสอบพบว่ามีความผิดทางจริยธรรมจริง จะถูกส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งต่อศาลฎีกา พิจารณาความผิดต่อไป ซี้ดดดดด!

มาถึงคู่แม่ยก & พ่อยกม็อบ เอ้ย! หน่วยสนับสนุนการชุมนุมของเยาวชน นั่นคือ พี่ทราย เจริญปุระ และ พี่บุ๊ง - ปกรณ์ พรชีวางกูร ล่าสุดเจอปมร้อน ๆ กำลังถูกยื่นให้ตรวจสอบภาษี สืบเนื่องจากที่ทั้งคู่ เปิดรับบริจาคเงิน ในการชุมนุมเมื่อเดือนกันยายน 2563 ซึ่งอาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย งานนี้จึงต้องตามดูผลว่า จะรอด หรือจะร่วง!

ด้านรุ่นพี่คนนี้ เขากลับมาแล้ว ณัฐวุฒิคัมแบ็ค! หลังจากครบกำหนดวันต้องโทษ ถอดกำไลอีเอ็มเรียบร้อย เต้น - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ออกแถลงข่าวทันที ไม่มีให้เรตติ้งตกแต่อย่างใด งานนี้เพิ่มดีกรีร้อน ๆ ด้วยการประกาศจะร่วมต่อสู้กับ ‘ม็อบน้อง ๆ’ ด้วยแน่นอน ส่วนจะสร้างตำนาน ‘เผาไปเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง’ อีกหรือไม่ ต้องติดตาม!

อีกหนึ่งรุ่นพี่ที่มาตามนัดเช่นกัน ตู่ - จตุพร พรหมพันธุ์ หลังเต้นฟุตเวิร์ก วิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่วงนอกมาพักใหญ่ ล่าสุดประกาศช่วยสุมไฟ เอ้ย! ประกาศชุมนุม ‘ไล่นายกฯ’ ในวันที่ 4 เดือน 4 นี้ เอาล่ะ! เมื่อตู่ออกมาไล่ตู่ งานนี้มีเดือด!

ปิดท้ายที่รุ่นน้องสายร้อนแรง ‘รังสิมันต์ โรม’ ได้ออกมาขอให้เชิญประธานศาลฎีกา มาชี้แจงเรื่องการไม่ให้ประกันตัวบรรดาแกนนำม็อบ งานนี้เป็นประเด็นร้อนทันที เพราะเชิญมาได้หรือไม่ และขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งเป็นการแทรกแซงการทำงานและการตัดสินของศาลหรือไม่ สังคมต่างจดจ้องการร้องขอนี้ของทั่น ส.ส.โรม กันแบบตาไม่กระพริบเลยทีเดียว

เริ่มต้นเมษายนร้อนได้ใจขนาดนี้ เห็นทีจะเดือดกันยาว ๆ ทั้งเดือนแน่นอน!

วันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นการพยายามก่อการรัฐประหาร รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ก่อการเป็นนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7

หรือมีชื่อเรียกรุ่นว่า ‘ยังเติร์ก’ จนเป็นที่มาของชื่อการก่อการในครั้งนี้ว่า ‘กบฏยังเติร์ก’

‘กบฏยังเติร์ก’ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ‘กบฏเมษาฮาวาย’ เป็นการก่อรัฐประหารระหว่างวันที่ 1 - 3 เมษายน พ.ศ. 2524 โดยผู้ก่อการเป็นนายทหาร จปร. รุ่น 7 ได้แก่ พันเอก มนูญกฤต รูปขจร, พันเอก ชูพงศ์ มัทวพันธุ์, พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร, พันโท พัลลภ ปิ่นมณี, พันเอก ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล, พันเอก แสงศักดิ์ มงคละสิริ, พันเอก บวร งามเกษม, พันเอก สาคร กิจวิริยะ โดยมีพลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ

โดยสาเหตุของการก่อกบฏครั้งนี้ เกิดจากความไม่พอใจของพลเอกสัณห์ ที่มีต่อพลเอกเปรม นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น เนื่องจากทางกองทัพบกมีการต่ออายุราชการให้กับพลเอกเปรม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ออกไปอีก 1 ปี ทำให้พลเอกสัณห์ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบก หมดสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงได้รวบรวมนายทหารสาย จปร.7 ก่อการรัฐประหาร

ทางฝ่ายรัฐบาล นำโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้งกองบัญชาการขึ้นมาตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร พร้อมส่งเครื่องบินเอฟ-5 อี ออกบินสังเกตการณ์ จนในที่สุดก็เคลื่อนกำลังพลเข้าปะทะกัน การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 เมื่อฝ่ายก่อการเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวม 155 คน นับเวลาของการทำรัฐประการครั้งนี้รวมแล้วทั้งสิน 55 ชั่วโมง

‘กบฏยังเติร์ก’ ถือเป็นการก่อการรัฐประหารที่มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต่อมาภายหลัง แกนนำฝ่ายก่อการได้หลบหนีออกนอกประเทศ จนเมื่อเวลาผ่านไป นายทหารผู้ร่วมก่อการหลายคนก็ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ รวมทั้งมีหลายคนที่นำธูปเทียนไปขอขมาพลเอกเปรม ณ บ้านสี่เสาเทเวศน์ ซึ่งเป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

.

ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/กบฏยังเติร์ก,

https://www.thairath.co.th/news/politic/1501676


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ทุกวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถูกยกให้เป็น ‘วันมหาเจษฎาบดินทร์’ หรือวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม หรือตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาลัย

แต่เดิมพระองค์มีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้า พระนามว่า หม่อมเจ้าชายทับ กระทั่งเมื่อสมเด็จพระราชชนกได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ. 2352 พระองค์จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านความมั่นคง การศึกษา โดยในยุคสมัยของพระองค์ มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรก รวมทั้งมีหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศ โดยหมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) นอกจากนี้ยังมีหนังสือบทกลอนที่ชื่อ นิราศลอนดอน ที่ถูกตีพิมพ์ขายเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ในด้านกิจการค้า ที่ถือว่าเป็นยุคทองของประเทศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการค้าขาย ทั้งกับกับชาวเอเชียและชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้ากับชาวจีน โดยมีการแต่งสำเภาทั้งของข้าราชการ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าชาวจีน ไปค้าขายยังเมืองจีนและประเทศใกล้เคียง รวมทั้งเปิดการค้ากับมหาอำนาจตะวันตก ส่งผลให้พระคลังสินค้าตลอดรัชสมัยของพระองค์ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำเพื่อประเทศชาติ ในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น ‘วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ หรือ ‘วันเจษฎาบดินทร์’ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ พระราชสมัญญาว่า ‘พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ มีความหมายว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่’


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

'กบร่อน' พา 'น้องโนฟ' เลือกซื้อรถทัวร์เที่ยววัดและทานกุ้งที่อยุธยา' | กบร่อน EP.12

กบร่อนพาน้องโนฟไปซื้อรถสวย ๆ ที่ Nissan Auto Gallery - อยุธยา พาเที่ยววัดเสริมสิริมงคล ต่อด้วย อิ่มท้องไปกับกุ้งแม่น้ำเผายั่ว ๆ บรรยากาศจะเป็นอย่างไรนั้น ไปร่อนกันได้เลยจ้า

Nissan Auto Gallery - อยุธยา โชว์รูมขายและศูนย์บริการนิสสัน เปิดใหม่ครบวงจรใหญ่ที่สุดในอยุธยา รถสวยถูกใจ บริการดีเยี่ยม

Facebook : Nissan Auto Gallery - อยุธยา โทรศัพท์

???? : 035-782888

ติดตามพิธีกรและแขกรับเชิญ กบ IG : @kobjr007 โน้ฟ ไอศุลี กายวกุล FB : Nove Aisulee IG : noveaisulee

.

.

วันนี้มีความสำคัญทางการแพทย์ และกับประชาชนทั่วไป เนื่องจากถูกยกให้เป็น ‘วันไบโพลาร์โลก’ โรคที่ผู้คนในยุคสมัยใหม่หลายราย กำลังประสบอยู่ ซึ่งนับวันจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น วันนี้จึงมีความสำคัญ เพื่อให้ผู้คนได้ตื่นรู้กับอาการผิดปกติทางอารมณ์

‘ไบโพลาร์’ จัดว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกอีกอย่างว่า ‘โรคอารมณ์สองขั้ว’ เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีการแสดงออกของความผิดปกติทางอารมณ์ กล่าวคือ ประเดี๋ยวมีอารมณ์พลุ่งพล่าน ประเดี๋ยวมีอารมณ์ซึมเศร้า เรียกว่ามีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

มีตัวเลขรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย นับจากปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ มีจำนวนที่สูงขึ้นทุกปี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2558 พบมากถึงกว่า 9,000 ราย ทั้งนี้พบในเพศหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

สาเหตุสำคัญของการเกิดอาการของโรค คือ มีสารเคมีในสมองที่ผิดปกติไป จนเกิดการควบคุมอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ และมีอาการแปรผันทางอารมณ์อย่างสุดขั้ว

อันตรายจากการเกิดโรคไบโพลาร์ อาจนำซึ่งภาวะการฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น จึงควรดูแลผู้ที่กำลังป่วยด้วยอาการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด มากไปกว่านั้น คือการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะร้ายแรงนี้ โดยเฉพาะในยุคที่เต็มไปด้วยข่าวสาร การแข่งขัน ความรวดเร็ว ควรใช้ชีวิตให้ผ่อนคลาย เดินทางสายกลาง ไม่มากไป ไม่น้อยไป ควบคุมเวลานอนหลับให้เพียงพอ พยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้กับตัวเอง ลดความเครียดที่มีอยู่

สำหรับวันนี้ที่เป็นวันไบโพลาร์โลก คงไม่มีใครอยากมีปัญหาทางสุขภาพจิต แต่ชีวิตของแต่ละคนก็พบเจอกับปัญหาไม่เหมือนกัน สิ่งที่ทำได้ คือความเชื่อมั่นในตนเอง และรู้จักปล่อยวางกับปัญหา คิดเสียว่า ไม่มีปัญหาใดที่จะอยู่กับเราไปตลอด เริ่มต้นฝึกวิธีคิดเสียตั้งแต่วันนี้ เมื่อจิตใจดี ชีวิตก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

.

ที่มา: คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการและดูแลโรคอารมณ์สองขั้ว โรงพยาบาลศรีธัญญา, https://th.rajanukul.go.th/preview-3181.html


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

วันนี้เมื่อ 71 ปีก่อน เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระราชชนกทรงเข้าทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐฯ ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขณะที่มีพระชนมพรรษา 9 พรรษา และยังทรงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 โดยระหว่างเวลานั้น ทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนเรียบร้อยแล้ว จึงจะเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวร และจะทรงรับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489

หลังจากเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร

3 วัน 2 คืน พาทัวร์กิน ณ บางแสน ชลบุรี | Aon On Air EP.10

Aon On Air EP. นี้ อ้อนจะพาทุกคนไปตะลอนกินย่านบางแสน 3 วัน 2 คืน มีทั้งคาว ทั้งหวานเลยค่า แต่ละร้านบรรยากาศจะเป็นยังไงนั้น ไปดูกันเลยค่า

.

วันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในพระนาม ‘พระองค์จุล’ เจ้านายชั้นสูงที่ทรงมีเชื้อสายชาวต่างชาติ เป็นพระองค์แรกในพระบรมราชวงศ์จักรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 กับ หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ชายาชาวรัสเซีย

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ระดับประถม) จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ และทรงได้รับปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2477

เมื่อสำเร็จการศึกษา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงลอนดอน ต่อมา ทรงค้นพบว่า มีความสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ จึงทรงพระนิพนธ์หนังสือ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 เล่ม โดยเล่มที่ยังถูกกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน ได้แก่ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง และไทยชนะ

ตลอดพระชนม์ชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประกอบกิจต่าง ๆ มากมาย โดยทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระเจ้าแผ่นดินเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2477 ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ในงานพระบรมศพพระเจ้าจอร์จที่ 5 และงานพระบรมราชาภิเษก พระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมถึงทรงเป็นผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในงานพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ยังทรงมีกิจด้านการศุลมากมาย ตลอดจนบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่าง ๆ เนื่องจากทรงเล็งเห็นในความสำคัญของงานสาธารณสุข กระทั่งช่วงท้ายพระชนมชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประชวรเป็นเนื้องอกที่หลอดอาหารส่วนบน โดยพำนักรักษาพระองค์อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จะทรงสิ้นพระชนม์อย่างสงบ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงที่ทรงประกอบกิจเพื่อแผ่นดิน ตลอดจนมีผลงานทรงพระนิพนธ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างสูง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

เอ่ยชื่อ ‘สนามบินดอนเมือง’ สำหรับคนไทยถือเป็นชื่ออันคุ้นเคย ซึ่งวันนี้เมื่อ 107 ปีก่อน เป็นวันที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้เปิดดำเนินการเป็นครั้งแรก

ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือ สนามบินดอนเมือง ในความคุ้นเคยของคนไทย เป็นท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือราว 24 กิโลเมตร โดยก่อนหน้าที่จะมีสนามบินแห่งนี้ แต่เดิมเคยมีสนามบินแห่งแรกของประเทศ นั่นคือ สนามบินสระปทุม

แต่เนื่องด้วยมีพื้นที่จำกัด และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสม ทางราชการจึงได้คิดหาสถานที่ใหม่ที่มีบริเวณกว้างขวาง และจากการบินสำรวจทางอากาศ จึงได้พบเห็นผืนนาที่อยู่ทางตอนเหนือของอำเภอบางเขน ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม

ต่อมา กรมเกียกกายทหารบกได้เริ่มดำเนินการปรับพื้นที่ให้เป็นสนามหญ้า ที่เครื่องบินสามารถวิ่งและบินขึ้น-ลงได้ พร้อมทั้งสร้างโรงเก็บเครื่องบิน และอาคารสถานที่ทำการตามความจำเป็น การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 กรมเกียกกายทหารบกจึงส่งมอบให้กรมจเรการช่างทหารบกรับช่วงดูแลต่อ และเรียกชื่อสนามบินนี้ว่า ‘สนามบินดอนเมือง’

กระทั่งวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2457 กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งตั้งกองบินทหารบกขึ้น และย้ายเข้าที่ตั้งถาวรที่สนามบินดอนเมือง จึงนับเป็นวันเปิดดำเนินการ และเป็นการเริ่มต้นกิจการการบินของเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรม ต่อมาภายหลัง กองทัพอากาศก็ได้ถือเอาวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกของกองทัพอากาศด้วยเช่นกัน

ท่าอากาศยานดอนเมือง เคยปิดตัวลงเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2549 พร้อมกับการเปิดใช้งานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่ซ่อมเครื่องบิน ฝึกบิน และสำหรับจอดเครื่องบินส่วนตัวของบุคคลสำคัญ แต่ต่อมาก็กลับมาเปิดทำการใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2550 กระทั่งปัจจุบัน สนามบินดอนเมืองได้ชื่อว่า เป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 ของประเทศ เปิดรับเที่ยวบินจากต่างประเทศกว่า 16 ประเทศ และเที่ยวบินภายในประเทศอีกมากมาย

.

ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/ท่าอากาศยานดอนเมือง

https://www.trueplookpanya.com/blog/content/51392/-timhis-tim-


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ย้อนกลับไปราว 105 ปี วันนี้ถือเป็นวันสถาปนา ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐาน ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ขึ้นเป็น ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจาก ‘โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน’ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 โดยมี ‘พระเกี้ยว’ เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนนามของโรงเรียน ไปเป็น ‘โรงเรียนมหาดเล็ก’ เพื่อใช้เป็นรากฐานของสถาบันการศึกษาขั้นสูง

จวบจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ใหม่ว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

และในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย พร้อมพระราชทานนามว่า ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ จึงถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยมีคณะวิชาที่เปิดสอน 19 คณะ ครอบคลุมสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีวิทยาลัย สำนักวิชา รวมทั้งบัณฑิตวิทยาลัย ที่แตกแยกย่อยออกไปอีกมากมาย โดยมีหลักสูตรทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และหลักสูตรนานาชาติรวมกว่า 506 หลักสูตร

ตลอดระยะเวลากว่า 105 ปี ที่มหาวิทยาลัยได้ถูกสร้างสรรค์พัฒนา จนเรียกได้ว่า เป็นสถาบันการศึกษาสำคัญแห่งหนึ่งของชาติ และจะดำรงคุณภาพ เพื่อยกระดับความรู้ให้กับประชาชนของชาติสืบไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

‘1 ปี 7 แบรนด์’ รวบรวมการแบนของกลุ่มราษฎรจากปีก่อนจนถึงปีนี้ มีอะไรบ้าง?

กลายเป็นกระแสให้พูดถึง สำหรับเรื่องราวการประกาศ ‘แบน’ ร้านอาหารของ ส.ส. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แห่งพรรคก้าวไกล ที่ออกมาประกาศ ไม่สนับสนุนให้ใช้บริการร้านอาหารสุกี้แบรนด์ MK และร้านอาหารญี่ปุ่นในเครืออย่าง Yayoi เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับสถานีข่าวดังช่องหนึ่ง

ปรากฎว่า เกิดกระแสตีกลับ เพราะมีลูกค้าไปต่อคิวเข้าร้านสุกี้ดังกล่าวกันเนืองแน่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด เอาเป็นว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของปฏิบัติการ ‘แบน’ เนื่องจากที่ผ่านมา เคยมีการแบนสินค้า ร้านค้า สถานที่ และบุคคล กันมาแล้วหลายครั้ง จากปีก่อนถึงปีนี้ มีอะไรกันบ้าง เรารวบรวมมาให้ดูกัน

23 ส.ค. 64 กลุ่มประชาชนปลดแอก สร้างกระแสแฮชแท็ก ‘แบนเนชั่น’ และ ‘แบนสปอนเซอร์เนชั่น’ เนื่องจากไม่พอใจการนำเสนอข่าวการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกของเนชั่นทีวี จนเป็นที่มาของการให้แนวร่วมเลิกดูสถานีข่าวของช่องดังกล่าว

24 ส.ค. 64 ในเวลาไล่เรี่ยกัน มีกระแสการแบนพิธีกรคนดัง ม้า-อรนภา กฎษฎี เนื่องจากเจ้าตัวออกมาโพสต์ตำหนิผู้ที่ออกมาชุมนุมด้วยประโยคที่รุนแรง เป็นที่มาของกระแสการแบน ไม่ดูในทุกรายการที่พิธีกรคนดังทำหน้าที่อยู่ ต่อมา ม้า-อรนภา จึงประกาศขอหยุดทำหน้าที่พิธีกรรายการเสียเอง หลังจากนั้น เจ้าตัวและครอบครัวก็ผลิตห่อหมกออกมาขาย ปรากฎว่า ขายดีสวนกระแสมากๆ

31 ส.ค. 63 สืบเนื่องจากการแบนช่องเนชั่นทีวี เป็นที่มาของการเข้าไปสนับสนุนโฆษณาช่องของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่นำโดย พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไม่นานนัก กระแส ‘แบน รพ.มงกุฎวัฒนะ’ จึงเกิดขึ้น ทว่าภายหลังหมอเหรียญทอง-เจ้าของรพ. ก็ได้ออกมาประกาศว่า ต้องขยายเวลาตรวจผู้ป่วยนอกออกไป เนื่องจากมีผู้มาใช้บริการที่รพ. เพิ่มเป็นจำนวนมาก

18 พ.ย. 63 คราวนี้มาถึงคิวของสถานีโทรทัศน์อัมรินทร์ทีวี หลังจากที่รายการทุบโต๊ะข่าว รายงานข่าวการปะทะกันของม็อบราษฎรปะทะมวลชนเสื้อเหลือง จากการชุมนุมที่แยกเกียกกาย เป็นที่มาของกระแสความไม่พอใจ จนเกิดแฮชแท็ก ‘แบนช่องอัมรินทร์ทีวี’ ขึ้นมาอีกครั้ง

13 ม.ค. 64 ไมค์ ระยอง หรือ ภาณุพงศ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ได้ออกมาโพสต์พาดพิงถึงมูลนิธิโครงการหลวง จนนำไปสูการไม่สนับสนุนสินค้ามูลนิธิของโครงการ ภายใต้แบรนด์ ‘ดอยคำ’ แต่ปรากฎว่า กระแสตีกลับอีกครั้ง ยอดขายของสินค้าดอยคำกลับขายดีขึ้นเป็นอย่างมาก

7 มี.ค. 64 เกิดกรณีแบรนด์เฟรนช์ฟรายส์ โปเตโต้ คอร์เนอร์ ทำโฆษณาสินค้า คล้ายว่าจะล้อเลียนการถูกจับกุมตัวของ โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ การ์ดของกลุ่ม WEVO จึงเป็นที่มาของแฮชแท็ก #แบนโปเตโต้คอร์เนอร์ พร้อมทั้งมีกลุ่มผู้สนับสนุน ได้ถ่ายคลิปการเทสินค้าของโปเตโต้คอร์เนอร์ทิ้งที่หน้าร้าน แต่ต่อมา เหมือนฉายหนังซ้ำ มีผู้คนมาต่อคิวซื้อสินค้าโปเตโต้คอร์เนอร์กันเนืองแน่น

22 มี.ค. 64 ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ กับการโพสต์ของ ส.ส. อมรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล ที่เชิญชวนไม่ร่วมกันสนับสนุนใช้บริการร้านอาหารในเครือ MK เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนให้กับสถานีข่าวดังแห่งหนึ่ง แต่ผลปรากฎว่า ผู้คนมากินสุกี้เอ็มเคกันแน่นกว่าเดิม เหมือนช่วยประชาสัมพันธ์ร้านกันเลยทีเดียว

ไม่รู้เข้าตำรา ยิ่งแบน ยิ่งขายดี หรืออย่างไร แต่เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะซื้อ จะกิน จะใช้บริการสินค้าใด ๆ โปรดใช้วิจารณญาณของท่านเอง ว่าจะซื้อ หรือไม่ซื้อ ด้วยเหตุผลที่เพียงพอ เพราะทั้งหมดทั้งมวล เงินที่ซื้อนั้น มันเงินในกระเป๋าท่านนั่นเอง

หนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการคู่กับกระบวนการทางกฎหมาย นั่นคือ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งในวันนี้ ถือเป็นวันสำคัญทางกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันก่อตั้ง กระทรวงยุติธรรม ที่มีอายุมากว่า 130 ปี

กระทรวงยุติธรรมของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยการสถาปนากระทรวงยุติธรรมขึ้นนั้น ถือได้ว่าเป็นงานปฏิรูปกฎหมายชิ้นแรกของยุคสมัยก็ว่าได้ ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง

แต่เดิมมีการใช้ชื่อว่า กระทรวงยุตติธรรม และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 โดยในระยะแรกเริ่ม ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ว่าจ้างเนติบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการต่างประเทศ เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ นายกุสตาฟ โรแลง แยกแมงส์ ชาวเบลเยี่ยม ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยราชา สยามนุกูลกิจ

เมื่อเวลาผ่านไป กระทรวงยุติธรรม ในปัจจุบัน ถูกพัฒนาเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ประเภทกระทรวงของไทย มีภารกิจเป็นหน่วยงานหลักของกระบวนการยุติธรรม ในการดำเนินการเพื่อพัฒนากฎหมาย และระบบบริหารจัดการของกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นเอกภาพ โปร่งใส คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชนทางกฎหมาย ป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคมและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การบังคับคดีแพ่ง บังคับคดีล้มละลาย บังคับคดีทางอาญา รวมทั้งบำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

จากวันแรกจนมาสู่วันนี้ เป็นเวลากว่า 130 ปี ที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินการด้วยหลักแห่งความเที่ยงธรรมตลอดมา ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีความสำคัญ และรักษาความเสมอภาคให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ


ที่มา:

https://www.lib.ru.ac.th/journal/oct/oct23_ck_index_6.html

https://th.wikipedia.org/wiki/กระทรวงยุติธรรม

วันนี้เมื่อราว 71 ปีก่อน เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยต่างรอคอย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัตประเทศไทย พร้อมด้วยพระคู่หมั้น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร (พระนาม ณ ขณะนั้น) โดยเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาสู่พระนคร

โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดระยะเวลานั้น ทรงเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2488 พร้อมกับพระเชษฐา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลังการสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ในสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกอบพิธีหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระทั่งในปี พ.ศ. 2493 จึงเสด็จนิวัตประเทศไทยอีกครั้ง ร่วมกับ ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้น โดยการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยพระคู่หมั้น เสด็จออกจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนา ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังท่าเรือวิลล์ฟรังซ์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประทับเรือเดินสมุทรซีแลนเดีย ออกจากฝรั่งเศส ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนลัดคลองสุเอซ สู่มหาสมุทรอินเดีย จนมาถึงสิงคโปร์

เมื่อเรือซีแลนเดียเทียบท่าที่ท่าเรือเกาะสีชัง จึงเปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ เพื่อเสด็จฯ มายังป้อมพระจุลจอมเกล้า แล้วประทับเรือหลวงศรีอยุธยา เทียบที่ท่าราชวรดิฐ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย กรุงเทพมหานคร

การเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งนั้น ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร จากนั้นในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามลำดับ


ที่มา:

https://www.hii.or.th/wiki84/

https://www.blockdit.com/posts/5ea770bcb0cefd12268089e7

http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/TheNationalArchives/index.php/exhibitions-narama9/34-building3/floor2.html

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย และถูกบันทึกกันมากว่า 115 ปี โดยเป็นวันที่ชาติฝรั่งเศส ได้ทำสัญญาคืน ‘จังหวัดตราด’ รวมทั้งเกาะต่าง ๆ ในอาณาบริเวณ ให้กับประเทศไทย หลังจากที่ยึดไว้ในการครอบครองกว่า 3 ปี

ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ขยายอำนาจมาทางตะวันออกของแหลมอินโดจีน โดยครอบครองญวนและเขมรส่วนนอกไว้ทั้งหมด พร้อมทั้งอ้างสิทธิดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเดิม ว่าเป็นของญวนและเขมร ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงมีสิทธิครองครองดินแดนส่วนนี้ด้วย ซึ่งในเวลานั้น พื้นที่ดังกล่าว อยู่ในการครอบครองของอาณาจักรสยาม

จึงเป็นที่มาของการการปะทะกันของกำลังทหารไทยและฝรั่งเศส กระทั่งไทยยอมทำสัญญาสงบศึกในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 โดยถอนทหารจากชายแดนทั้งหมด รวมทั้งเสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส และให้ยอมรับว่า ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ เป็นของฝรั่งเศส ประการที่สำคัญ รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้ยึดครองจังหวัดจันทบุรีไว้จนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนอีกด้วย

เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันท์เอาไว้ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 รัฐบาลไทยจึงได้ทำสัญญากับรัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกเมืองตราดและเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงลงไปถึงเกาะกูด ตลอดจนถึงเมืองประจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อให้ฝ่ายฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจังหวัดจันทบุรี จนต่อมาภายหลัง ฝรั่งเศสยินยอม และเข้าปกครองดินแดนตราดและเกาะกง ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2447 เป็นต้นมา

แต่แล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ไทยก็ได้ทำสัญญากับฝรั่งเศสอีกครั้ง โดยยอมยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองตราดคืนมา โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้ทำพิธีมอบเมืองตราดอย่างเป็นทางการให้กับประเทศไทยตามเดิม รวมเวลาที่จังหวัดตราดตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน 7 วัน

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ จนในที่สุด ฝรั่งเศสยอมทำสัญญายกเมืองตราดคืนให้แก่ประเทศไทย จึงตั้งให้วันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันตราดรำลึก’ ทั้งนี้เพื่อน้อมถวาย และระลึกถึงวันสู่อิสรภาพของเมืองสำคัญแห่งนี้


ที่มา: http://www.trat.go.th/trat100/trat_100/trat50.htm, http://oknation.nationtv.tv/blog/buraphadialysis/2008/07/19/entry-1

วันนี้เมื่อกว่า 237 ปีมาแล้ว ถูกบันทึกว่าเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธีอัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต มาประดิษฐานในพระอุโบสถ วันพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นครั้งแรก

กล่าวถึงพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่สุดของประเทศไทย ถูกจารึกว่าปรากฎเมื่อราวปี พ.ศ.1977 และได้ถูกอัญเชิญไปยังดินแดนต่าง ๆ มากมาย โดยในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงเป็นแม่ทัพตีได้เมืองเวียงจันทน์ และได้เชิญพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรี โดยพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ยังวัดอรุณราชวราราม และมีพิธีสมโพช 3 วัน

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 จึงได้ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี เมื่อพระอุโบสถสร้างเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระแก้วมรกต ที่ประดิษฐานอยู่วัดอรุณฯ ในเวลานั้น มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2327

พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทย และมีความสำคัญ โดยเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร ได้พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระแก้วมรกตว่า ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ ซึ่งแปลโดยย่อได้ว่า เป็น ‘เมืองเทวดาที่มีพระแก้วมรกตเป็นหลักชัย’

นอกจากนี้ ที่มาของคำว่า กรุงรัตนโกสินทร์ เกิดจากคำว่า รัตน์+โกสินทร์ โดย รัตนะ แปลว่า แก้ว ส่วน โกสินทร์ แปลว่า สีเขียว กรุงรัตนโกสินทร์ ก็คือ กรุงแก้วสีเขียว ซึ่งก็คือ เมืองแห่งพระแก้วมรกต นั่นเอง

กว่า 237 ปี นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ยังคงประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทยมายาวนาน เสมือนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว และสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ที่คนไทยทุกหมู่เหล่า เดินทางมากราบไหว้สักการะกันอยู่เสมอ


ที่มา: https://lanpothai.blogspot.com/2019/03/blog-post.html


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top