Friday, 17 May 2024
TODAY SPECIAL

วันเกิดครบรอบ 71 ปี ‘ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายาในตำนาน ‘จอมยุทธขลุ่ย’

‘ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันดีในชื่อ ‘อาจารย์ ดร.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2494 ที่ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาจากวิทยาลัยการศึกษาปทุมวันและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ด้วยความที่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและวิทยาลัยครูจันทรเกษม จึงถูกเรียกติดปากว่า อาจารย์ธนิสร์ ได้เข้าร่วมวงคาราบาว ในปี พ.ศ. 2526 พร้อมกับ เทียรี่ เมฆวัฒนา และเป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ในการเป็นนักดนตรีแบ็กอัปในห้องอัดของอโซน่า เมื่อคาราบาว โดยแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ได้มาอัดเสียงที่นี่ และชักชวนเข้าร่วมวง

บทบาทของ อ.ธนิสร์ในวงคาราบาวนั้นนับว่าโดดเด่นมาก โดยจะเป็นผู้เล่นในตำแหน่ง คีย์บอร์ด และการประสานเสียง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และความสามารถเฉพาะก็คือการเป่าขลุ่ย โดยเฉพาะในเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ ที่อยู่ในอัลบั้มประวัติศาสตร์ของวงนั้น อ.ธนิสร์ได้เป่าทั้งเพลง รวมทั้งการส่งเสียงแซวในเนื้อเพลงด้วย จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกสีสันประจำตัวเมื่อมักจะแซวสมาชิกในวงคนอื่นๆ โดยเฉพาะแอ๊ดเมื่อเล่นคอนเสิร์ตเสมอๆ ทำให้อ.ธนิสร์เปรียบเสมือนสีสันของวง

อ.ธนิสร์ได้แยกตัวออกจากวง เมื่อปี พ.ศ. 2531 ภายหลังวงคาราบาวออกอัลบั้มชุดที่ 9 คือ ทับหลัง โดยขัดแย้งในความเห็นกับแอ๊ด นับเป็นสมาชิกคนแรกที่แยกตัวออกไป จากนั้นเทียรี่และเป้าก็แยกออกจากวงคาราบาวตามอ.ธนิสร์ไปด้วย หลังจากนั้นทั้งสามคนได้ร่วมกันออกอัลบั้มชุดแรกของพวกเขาในปี พ.ศ. 2532 ชื่อชุด ขอเดี่ยวด้วยคนนะ มีเพลงที่ได้รับความนิยม ซึ่งร้องโดย อ.ธนิสร์และเทียรี่ คือ วันเกิด และ เงินปากผี

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2535 อ.ธนิสร์ก็ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตนเองชื่อชุด ‘ลมไผ่’ มีเพลงที่เป็นที่จดจำ มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีความไพเราะมาก คือ ทานตะวัน ที่นำเนื้อร้องมาจากบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งแต่งไว้เมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากการชมทุ่งทานตะวัน ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางไปพร้อมกับวงคาราบาวในการทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ ซึ่งเป็นการร้องประสานเสียงพร้อมเสียงขลุ่ย

วันนี้เมื่อปี 2486 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทาย

โดยผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยพิจารณามาจากศัพท์ “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต โดยได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 โดยมอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ออกข่าวประกาศในวันนี้

คำว่าสวัสดีนั้น จะทำหน้าที่ทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อเรากล่าวคำว่าสวัสดี คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้

วันเกิด "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" ผู้บุกเบิกและก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย บุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ครูเอื้อ นักร้อง นักแต่งเพลง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ" มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่

1.) หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2.) นางเอื้อน แสงอนันต์
3.) นายเอื้อ สุนทรสนาน

ครูเอื้อ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ แล้วจึงมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า) และวิชาดนตรีทุกประเภท (ภาคบ่าย) ครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศร

เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และมีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน ก่อนจะขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 
 

วันนี้เมื่อปี 2545 ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ออกแบบอาคารโดย เฮลมุต ยาห์น (Helmut Jahn) สถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน
 

‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ ทรงกระทำยุทธหัตถี และมีชัยชนะต่อ ‘พระมหาอุปราชา’ ของพม่า

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก ปีเถาะ พ.ศ. 2098 ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอีกด้วย

ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า องค์พระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกัน ณ เมืองหงสา และได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ ความสามารถต่างๆ เพื่อรอวันที่จะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความกตัญญูของสมเด็จพระนเรศวร ที่มีต่อพระเจ้าบุเรงนอง ที่ชุบเลี้ยงดูแลจนเติบใหญ่ จึงไม่ทำการขัดขืนใดๆ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยังมีชีวิตอยู่ แต่ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรได้กลับมาปกครองยังพระนครกรุงศรีอยุธยา และด้วยวิชาความรู้และความสามารถของพระองค์ ได้ทำการรบข้าศึกต่างๆ และชนะเรื่อยมา จนเป็นที่เกรงกลัวของข้าศึกเป็นอย่างมาก  
 

189 ปี การค้นพบครั้งสำคัญของไทย เมื่อ ‘รัชกาลที่ 4’ ทรงค้นพบ ‘ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง’ ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น ‘มรดกแห่งความทรงจำของโลก’

จารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ จารึกหลักที่ 1 เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นผู้ทรงค้นพบขณะผนวชอยู่ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่ 1 บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า "กู" เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า "กู" แต่ใช้ว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย

จารึกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยยูเนสโกบรรยายว่า "[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ”
 

118 ปี กำเนิด ‘โรงเรียนช่างไหม’ โดยกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งพัฒนาเป็น 'มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์' ในปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ แรกเริ่มเป็น ‘โรงเรียนช่างไหม’ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2447 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์อธิบดีกรมช่างไหม ในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ในบริเวณเดียวกันกับสวนหม่อนและสถานีทดลองเลี้ยงไหม 

โดยจัดการศึกษาหลักสูตร 2 ปี สอนเกี่ยวกับวิชาการ เลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ต่อมาใน พ.ศ. 2449 ได้ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี โดยเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชอื่นๆ เข้าในหลักสูตรตลอดจนได้เริ่มสอนวิชาสัตวแพทย์ด้วยและได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูกต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเพาะปลูก 

โดยในปี พ.ศ. 2451 กระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนแผนที่ โรงเรียนกรมคลอง และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกัน เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ และย้ายสถานที่ตั้งมารวมกัน ณ พระราชวังสระปทุม พร้อมกับได้ให้เรียบเรียงหลักสูตรใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาการเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย

พิธีเปิด “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” โดยได้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับพระเทวาภินิมมิต ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น

15 มกราคม พ.ศ. 2477 พิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ซึ่งข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของ ย่าโม โดยได้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับพระเทวาภินิมมิต ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศ 

เมื่อท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปีพุทธศักราช 2395 อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอยซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครั้นเมื่อยังเป็น พระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา

องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2510 

14 มกราคม “วันทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ” (National forest Conservation Day)

ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน ช่วยรักษาความสมดุลของภาวะแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติซึ่งนำความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สาเหตุที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติส่วนหนึ่งมาจากการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่าจนทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่าไม้ของชาติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลทางภาวะแวดล้อม จนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชกำหนดดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลง ทั้งแปลงได้ 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top